จงป้องกันรักษาหัวใจของคุณ
“จงป้องกันรักษาหัวใจของเจ้าไว้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นที่ควรปกป้อง เพราะแหล่งแห่งชีวิตเกิดจากหัวใจ.”—สุภาษิต 4:23, ล.ม.
1, 2. เหตุใดเราจำเป็นต้องป้องกันรักษาหัวใจของเรา?
ชายสูงอายุที่เกาะแห่งหนึ่งในทะเลแคริบเบียนออกจากที่หลบภัยหลังจากพายุเฮอร์ริเคนผ่านไป. เมื่อมองดูความเสียหายที่เกิดขึ้นรอบตัว เขาก็เห็นว่าต้นไม้ขนาดมหึมาซึ่งยืนต้นมาหลายสิบปีใกล้ ๆ ประตูหน้าบ้านของเขาหายไป. เขานึกสงสัยว่า ‘เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อต้นไม้ที่เล็กกว่าแถว ๆ นี้ยังรอดได้?’ เมื่อดูที่ตอของต้นที่ถูกพายุพัดล้มก็ได้คำตอบ. ส่วนข้างในของต้นไม้ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีทางเขยื้อนนี้ผุไปหมดแล้ว และพายุนี้เพียงแต่ช่วยเปิดเผยให้เห็นความเสื่อมที่มองไม่เห็นนั้น.
2 นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าจริง ๆ เมื่อผู้นมัสการแท้ซึ่งดูเหมือนว่ามีรากฐานมั่นคงในวิถีชีวิตของคริสเตียนพ่ายแพ้แก่การทดสอบความเชื่อ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “ความเอนเอียงแห่งหัวใจของมนุษย์นั้นชั่วตั้งแต่เด็กมา.” (เยเนซิศ 8:21, ล.ม.) นี่ย่อมหมายความว่าหากไม่ระวังระไวอยู่เสมอ แม้แต่ผู้ที่มีหัวใจดีเยี่ยมก็อาจถูกล่อลวงให้ทำสิ่งชั่วได้. เนื่องจากไม่มีหัวใจมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์คนใดมีภูมิคุ้มกันความเสื่อมทราม เราจำเป็นต้องเอาใจใส่คำแนะนำที่ว่า “จงป้องกันรักษาหัวใจของเจ้าไว้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นที่ควรปกป้อง.” (สุภาษิต 4:23, ล.ม.) เราอาจป้องกันรักษาหัวใจโดยนัยของเราอย่างไร?
ต้องตรวจสอบเป็นประจำ
3, 4. (ก) อาจถามเช่นไรเกี่ยวกับหัวใจตามตัวอักษร? (ข) อะไรจะช่วยเราให้ตรวจสอบหัวใจโดยนัยของเรา?
3 หากคุณไปหาแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย แพทย์คงจะตรวจหัวใจให้คุณ. สุขภาพทั่วไปของคุณ รวมทั้งหัวใจของคุณ บ่งบอกไหมว่าคุณได้รับสารอาหารเพียงพอ? ความดันโลหิตของคุณเป็นอย่างไร? จังหวะการเต้นของหัวใจคุณสม่ำเสมอและแข็งแรงไหม? คุณออกกำลังกายเพียงพอไหม? หัวใจของคุณทำงานหนักเกินควรไหม?
4 หากหัวใจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเป็นประจำ จะว่าอย่างไรสำหรับหัวใจโดยนัยของคุณ? พระยะโฮวาทรงตรวจดูหัวใจโดยนัย. (1 โครนิกา 29:17) ดังนั้น เราควรทำแบบเดียวกัน. โดยวิธีใด? โดยถามตัวเองด้วยคำถามอย่างเช่น หัวใจฉันได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างเพียงพอโดยการศึกษาส่วนตัวและการเข้าร่วมประชุมเป็นประจำไหม? (บทเพลงสรรเสริญ 1:1, 2; เฮ็บราย 10:24, 25) ข่าวสารของพระยะโฮวาเป็นสิ่งที่ชิดใกล้กับหัวใจของฉันดุจดัง “ไฟปิดไว้ในกะดูกทั้งปวงของตัว [ฉัน]” กระตุ้นฉันให้ร่วมในการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานช่วยคนให้เป็นสาวกไหม? (ยิระมะยา 20:9; มัดธาย 28:19, 20; โรม 1:15, 16) ฉันถูกกระตุ้นให้ออกแรงแข็งขัน โดยร่วมในงานรับใช้เต็มเวลาบางประเภทเมื่อเป็นไปได้ไหม? (ลูกา 13:24) ฉันนำพาหัวใจโดยนัยของฉันให้อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน? ฉันเลือกคบหาสมาคมกับคนที่หัวใจเป็นหนึ่งเดียวในการนมัสการแท้ไหม? (สุภาษิต 13:20; 1 โกรินโธ 15:33) ขอให้เราไวที่จะสังเกตข้อบกพร่องและลงมือแก้ไขทันที.
5. การทดสอบความเชื่ออาจมีประโยชน์เช่นไร?
5 การทดสอบความเชื่อมักเกิดขึ้นกับเรา. การทดสอบเหล่านี้ทำให้เรามีโอกาสสังเกตสภาพหัวใจของเรา. โมเซกล่าวแก่ชาวยิศราเอลซึ่งกำลังจะเข้าไปในแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าได้ทรงนำเจ้ามาในป่าสี่สิบปีมาแล้ว, เพื่อจะให้เจ้าเจียมตัว, และเพื่อจะลองใจเจ้า, จะได้รู้ว่าใจของเจ้าเป็นอย่างไร, ว่าจะรักษาข้อบัญญัติของพระองค์, หรือไม่.” (พระบัญญัติ 8:2) บ่อยครั้งเรารู้สึกแปลกใจมิใช่หรือที่ความรู้สึก, ความปรารถนา, หรือปฏิกิริยาบางอย่างปรากฏออกมา เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์หรือการล่อใจที่ไม่คาดหมาย? การทดลองซึ่งพระยะโฮวาทรงยอมให้เกิดขึ้นทำให้เราสำนึกถึงข้อบกพร่องของตัวเอง ทำให้เรามีโอกาสที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นได้แน่นอน. (ยาโกโบ 1:2-4) ขอเราอย่าลืมคิดใคร่ครวญและอธิษฐานเกี่ยวกับปฏิกิริยาของเราต่อการทดลอง!
คำพูดของเราเผยอะไร?
6. เรื่องที่เราชอบคุยอาจเผยเช่นไรเกี่ยวกับหัวใจเรา?
6 เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราสะสมอะไรไว้ในหัวใจเรา? พระเยซูตรัสว่า “คนดีก็ย่อมเอาของดีออกจากคลังดีแห่งใจของตน, และคนชั่วก็ย่อมเอาของชั่วออกจากคลังชั่วแห่งใจของตน เพราะว่าใจเต็มบริบูรณ์อย่างไรปากก็พูดออกอย่างนั้น.” (ลูกา 6:45) สิ่งที่เรามักจะพูดออกมาบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าเรามีความมุ่งมั่นในทางใด. เรามักพูดคุยเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุและความสำเร็จฝ่ายโลกไหม? หรือว่าการสนทนาของเรามักจะมุ่งไปที่สิ่งฝ่ายวิญญาณและเป้าหมายตามระบอบของพระเจ้า? แทนที่จะเที่ยวโพนทะนาข้อผิดพลาดของผู้อื่น เรามักจะปกปิดเรื่องนั้นไว้ด้วยความรักไหม? (สุภาษิต 10:11, 12) เรามักพูดมากเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่นและความเป็นไปในชีวิตของเขา แต่แทบจะไม่พูดถึงเรื่องฝ่ายวิญญาณและศีลธรรมไหม? นี่อาจเป็นข้อบ่งชี้ไหมว่าเรากำลังสนใจเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นอย่างไม่บังควร?—1 เปโตร 4:15.
7. เราอาจเรียนอะไรได้เกี่ยวกับการป้องกันรักษาหัวใจของเราจากบันทึกเรื่องพี่ชายสิบคนของโยเซฟ?
7 ขอให้พิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง. บุตรชายสิบคนของยาโคบ ‘หาได้พูดดีต่อโยเซฟซึ่งเป็นน้องชายคนเล็กไม่.’ เพราะเหตุใด? พวกเขารู้สึกอิจฉาเพราะโยเซฟเป็นบุตรที่บิดารักเป็นพิเศษ. ต่อมา เมื่อโยเซฟได้รับการอวยพรจากพระเจ้าทางความฝัน ซึ่งแสดงว่าท่านเป็นที่ชอบในสายพระเนตรพระเจ้า พวกเขาก็ “ยิ่งชังโยเซฟมากขึ้นกว่าแต่ก่อน.” (เยเนซิศ 37:4, 5, 11) พวกเขาปฏิบัติต่อน้องชายของตนอย่างโหดร้ายโดยขายเขาให้เป็นทาส. จากนั้น โดยพยายามจะปกปิดความผิด พวกเขาหลอกบิดาให้เข้าใจว่าโยเซฟถูกสัตว์ป่าฆ่าตาย. ในเหตุการณ์ดังกล่าว พี่ชายสิบคนของโยเซฟไม่ได้ป้องกันรักษาหัวใจของตนไว้. หากเราชอบวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น นั่นอาจเป็นหลักฐานว่าเรามีความอิจฉาริษยาในหัวใจไหม? เราจำเป็นต้องระวังระไวเพื่อตรวจสอบสิ่งที่ออกมาจากปากของเราและไม่รอช้าที่จะขุดรากถอนโคนแนวโน้มที่ไม่ถูกต้อง.
8. อะไรจะช่วยเราให้ตรวจสอบหัวใจของเราหากเราไม่สามารถยับยั้งตัวเองไม่ให้พูดเท็จ?
8 แม้ว่า “เป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะตรัสมุสา” มนุษย์ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มจะพูดเท็จ. (เฮ็บราย 6:18, ล.ม.) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องครวญว่า “คนเราโกหกทั้งนั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 116:11) แม้แต่อัครสาวกเปโตรก็ปฏิเสธพระเยซูด้วยการโกหกถึงสามครั้ง. (มัดธาย 26:69-75) เห็นได้ชัด เราต้องระมัดระวังเพื่อจะไม่โกหก เพราะพระยะโฮวาทรงเกลียด “ลิ้นพูดปด.” (สุภาษิต 6:16-19) หากเราไม่สามารถยับยั้งตัวเองไม่ให้พูดเท็จ คงนับว่าสุขุมที่จะวิเคราะห์หาสาเหตุ. เป็นเพราะความกลัวหน้ามนุษย์ไหม? ความกลัวว่าจะถูกลงโทษเป็นเหตุให้เราทำอย่างนั้นไหม? อาจเป็นได้ไหมว่ารากเหง้าของปัญหาคือการรักษาหน้าหรือความเห็นแก่ตัวแบบที่เห็นได้ชัด? ไม่ว่าสาเหตุคืออะไร เหมาะสมเพียงไรที่เราจะใคร่ครวญเรื่องนี้, ยอมรับข้อบกพร่องของเราอย่างถ่อมใจ, และทูลขอการให้อภัยจากพระยะโฮวา ขอความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอนี้! “บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคม” อาจอยู่ในฐานะดีที่สุดที่จะให้ความช่วยเหลือเช่นนั้น.—ยาโกโบ 5:14, ล.ม.
9. คำอธิษฐานของเราสามารถเผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับหัวใจของเรา?
9 เพื่อตอบซะโลโมกษัตริย์หนุ่มที่ทูลขอสติปัญญาและความรู้ พระยะโฮวาตรัสว่า “เพราะว่าสิ่งนี้อยู่ในจิตใจของเจ้า และเจ้ามิได้ขอทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งและเกียรติ . . . เราประสาทสติปัญญาและความรู้ให้แก่เจ้า เราจะให้ทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งและเกียรติแก่เจ้าด้วย.” (2 โครนิกา 1:11, 12, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงทราบว่าซะโลโมสนใจอะไรอย่างแท้จริงจากสิ่งที่ซะโลโมขอและสิ่งที่ท่านไม่ได้ขอ. คำอธิษฐานของเราเผยเช่นไรเกี่ยวกับหัวใจเรา? คำอธิษฐานของเราเผยว่าเรากระหายที่จะได้ความรู้, สติปัญญา, และความสังเกตเข้าใจไหม? (สุภาษิต 2:1-6; มัดธาย 5:3) ผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรคือสิ่งที่เราสนใจอย่างแท้จริงไหม? (มัดธาย 6:9, 10) หากคำอธิษฐานของเรากลายเป็นแบบอัตโนมัติและไม่มีชีวิตชีวา นี่อาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะใช้เวลาคิดรำพึงเกี่ยวกับราชกิจทั้งหลายของพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 103:2) คริสเตียนทุกคนควรตื่นตัวเพื่อสังเกตให้ออกว่าคำอธิษฐานของตนเผยให้เห็นอะไร.
การกระทำของเราบอกอะไร?
10, 11. (ก) การเล่นชู้และการผิดประเวณีเกิดขึ้นเนื่องจากอะไร? (ข) อะไรจะช่วยเราไม่ให้ ‘ทำผิดประเวณีในใจ’?
10 กล่าวกันว่า การกระทำดังกว่าคำพูด. แน่นอน การกระทำของเราเผยให้เห็นได้มากเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ภายใน. ตัวอย่างเช่น ในเรื่องศีลธรรม การป้องกันรักษาหัวใจเกี่ยวข้องไม่เฉพาะแต่การที่เราไม่ทำผิดประเวณีหรือไม่เล่นชู้. ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดแลดูผู้หญิงด้วยใจกำหนัดในหญิงนั้น, ผู้นั้นได้ล่วงประเวณีในใจกับหญิงนั้นแล้ว.” (มัดธาย 5:28) เราจะหลีกเลี่ยงการทำผิดประเวณีแม้แต่ในใจของเราได้อย่างไร?
11 โยบ ปฐมบรรพบุรุษผู้ซื่อสัตย์ วางตัวอย่างสำหรับคริสเตียนทั้งชายและหญิงที่สมรสแล้ว. ไม่ต้องสงสัยว่าโยบติดต่อเกี่ยวข้องตามปกติธรรมดากับพวกผู้หญิงสาว ๆ และถึงกับให้ความช่วยเหลืออย่างกรุณาด้วยเมื่อพวกเธอจำเป็นต้องได้รับ. แต่ความคิดที่จะมีความสนใจในทางรัก ๆ ใคร่ ๆ กับผู้หญิงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตัดออกไปได้เลยสำหรับชายผู้สัตย์ซื่อมั่นคงคนนี้. เพราะเหตุใด? เพราะท่านตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะไม่จ้องมองผู้หญิงด้วยใจกำหนัด. ท่านกล่าวว่า “ข้าฯ ได้ตั้งคำมั่นสัญญากับตาของข้าฯ ไว้; ข้าฯ จะไปเหลือบดูหญิงสาวอย่างไรได้?” (โยบ 31:1) ขอให้เราตั้งคำมั่นสัญญาคล้าย ๆ กันนี้กับตาของเราและป้องกันรักษาหัวใจของเรา.
12. คุณจะใช้ลูกา 16:10 ในการป้องกันรักษาหัวใจคุณอย่างไร?
12 พระบุตรของพระเจ้าทรงประกาศว่า “คนที่สัตย์ซื่อในของเล็กที่สุดจะสัตย์ซื่อในของมากด้วย, และคนที่อสัตย์ในของเล็กที่สุดจะอสัตย์ในของมากด้วย.” (ลูกา 16:10) ใช่แล้ว เราจำเป็นต้องตรวจสอบความประพฤติของเราในเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน แม้แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในที่ส่วนตัว เช่น ที่บ้าน. (บทเพลงสรรเสริญ 101:2) ขณะนั่งอยู่ในบ้าน ดูโทรทัศน์หรือใช้อินเทอร์เน็ต เราเอาใจใส่ที่จะทำตามคำเตือนสติของพระคัมภีร์ไหมที่ว่า “การล่วงประเวณี, การลามกต่าง ๆ, และความโลภ, อย่าให้เอ่ยชื่อท่ามกลางท่านเลย, จะได้สมกับท่านที่เป็นสิทธชน. ทั้งอย่าให้มีการน่าอัปยศอดสู, และการพูดเล่นไม่เข้าเรื่อง, และการพูดตลกโลนเกเร, ซึ่งเป็นการไม่สมควร”? (เอเฟโซ 5:3, 4) และจะว่าอย่างไรสำหรับความรุนแรงที่อาจมีอยู่ในโทรทัศน์หรือในวิดีโอเกม? ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญกล่าวว่า “พระยะโฮวาเองทรงตรวจสอบคนชอบธรรมและคนอธรรมด้วย และคนใดที่รักความรุนแรงนั้นจิตวิญญาณของพระองค์ทรงเกลียดชังอย่างแน่นอน.”—บทเพลงสรรเสริญ 11:5, ล.ม.
13. จำเป็นต้องระมัดระวังในเรื่องใดเมื่อใคร่ครวญสิ่งที่ออกมาจากหัวใจของเรา?
13 ยิระมะยาเตือนว่า “หัวใจทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด.” (ยิระมะยา 17:9, ล.ม.) หัวใจที่ทรยศอาจแสดงออกมาให้เห็นเมื่อเราแก้ตัวสำหรับข้อผิดพลาดของเรา, กลบเกลื่อนข้อบกพร่อง, อำพรางข้อบกพร่องร้ายแรงด้านบุคลิกภาพ, หรือยกย่องความสำเร็จผลของตนเองจนเลิศลอย. หัวใจที่สิ้นคิดยังสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมแบบปากกับใจไม่ตรงกัน—ปากพูดในสิ่งที่ดี แต่การกระทำบ่งบอกอีกอย่างหนึ่ง. (บทเพลงสรรเสริญ 12:2; สุภาษิต 23:7) สำคัญสักเพียงไรที่เราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองเมื่อเราตรวจสอบสิ่งที่ออกมาจากหัวใจ!
ตาของเราปกติไหม?
14, 15. (ก) ตาที่ “ปกติ” เป็นเช่นไร? (ข) การรักษาตาให้ปกติช่วยเราอย่างไรในการป้องกันรักษาหัวใจ?
14 พระเยซูตรัสว่า “ตาเป็นดวงสว่างของร่างกาย.” พระองค์ตรัสเสริมอีกว่า “เหตุฉะนั้นถ้าตาของท่านปกติ, ทั้งตัวก็พลอยสว่างไปด้วย.” (มัดธาย 6:22) ตาที่ปกติเพ่งเล็งเป้าหมายหรือเป้าประสงค์เพียงอย่างเดียว ไม่เขวหรือหันเหออกนอกเป้าหมาย. อันที่จริง ตาของเราควรเพ่งมองไปที่การ “แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของ [พระเจ้า] ก่อน.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) อาจเกิดอะไรขึ้นกับหัวใจโดยนัยของเราหากเราไม่ได้รักษาตาของเราให้ปกติ?
15 ขอให้พิจารณาเรื่องการทำงานเลี้ยงชีพ. การจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวเป็นข้อเรียกร้องอย่างหนึ่งตามหลักการคริสเตียน. (1 ติโมเธียว 5:8) แต่จะว่าอย่างไรหากเราถูกล่อใจด้วยความปรารถนาจะมีสิ่งใหม่ล่าสุด, ดีที่สุด, และสิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของคนทั่วไปในเรื่องอาหาร, เสื้อผ้า, ที่พักอาศัย, และสิ่งอื่น ๆ? นั่นอาจทำให้หัวใจและจิตใจของเราตกเป็นทาสไปอย่างแท้จริง และทำให้เราครึ่ง ๆ กลาง ๆ ในการนมัสการได้ไหม? (บทเพลงสรรเสริญ 119:113; โรม 16:18) ทำไมเราจึงจะหมกมุ่นกับการดูแลความจำเป็นฝ่ายกายมากถึงขนาดที่ชีวิตเราสาละวนอยู่แต่เรื่องของครอบครัว, ธุรกิจ, และสิ่งฝ่ายวัตถุ? ควรระลึกเสมอถึงคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจ ที่ว่า “จงระวังตัวให้ดี, เกลือกว่าใจของท่านจะล้นไปด้วยอาการดื่มเหล้าองุ่นมากและด้วยการเมา, และด้วยคิดกังวลถึงชีวิตนี้, แล้วเวลานั้นจะมาถึงท่านดุจบ่วงแร้วเมื่อท่านไม่ทันคิด เพราะว่าวันนั้นจะมาถึงคนทั้งปวงที่อยู่ทั่วแผ่นดินโลก.”—ลูกา 21:34, 35.
16. พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวกับตา และเพราะเหตุใด?
16 ตาเป็นช่องทางสำคัญทางหนึ่งในการสื่อสารกับจิตใจและหัวใจ. สิ่งที่ตาจ้องมองอาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อความคิด, อารมณ์, และการกระทำของเรา. ด้วยภาษาที่ทำให้เห็นภาพชัด พระเยซูตรัสพาดพิงถึงอำนาจของการล่อใจซึ่งเกิดจากสิ่งที่มองเห็นว่า “ถ้าตาข้างขวาของท่านทำให้ตัวหลงผิด, จงควักออกทิ้งเสียเพราะว่าจะเสียอวัยวะอันหนึ่งก็ดีกว่าทั้งตัวของท่านจะต้องทิ้งในนรก [“เกเฮนนา,” ล.ม.].” (มัดธาย 5:29) จำเป็นต้องหักห้ามตาไว้ไม่ให้เพ่งมองสิ่งที่ไม่เหมาะสม. ตัวอย่างเช่น ต้องไม่ปล่อยให้ตามองดูสิ่งซึ่งมุ่งหมายจะกระตุ้นราคะและความปรารถนาผิด ๆ.
17. การใช้โกโลซาย 3:5 ช่วยเราอย่างไรให้ป้องกันรักษาหัวใจ?
17 แน่นอน การมองเห็นไม่ใช่ประสาทสัมผัสเพียงอย่างเดียวที่สื่อสารกับโลกภายนอก. ประสาทสัมผัสอื่น ๆ เช่น การสัมผัสและการได้ยิน ก็มีบทบาทด้วย และเราจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันกับอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสเหล่านั้นด้วยเช่นกัน. อัครสาวกเปาโลเตือนสติดังนี้: “เหตุฉะนั้น จงประหารอวัยวะแห่งร่างกายของท่านทั้งหลายซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลกนี้ในเรื่องการล่วงประเวณี, การโสโครก, ราคะตัณหา, ความปรารถนาที่ก่อความเสียหาย, และความละโมบ, ซึ่งเป็นการไหว้รูปเคารพ.”—โกโลซาย 3:5, ล.ม.
18. เราควรลงมือทำเช่นไรเมื่อเกิดความคิดที่ไม่ถูกต้องขึ้นมา?
18 ความปรารถนาที่ไม่ถูกต้องอาจเกิดขึ้นในส่วนที่ซ่อนเร้นแห่งจิตใจของเรา. การเก็บความปรารถนาเช่นนั้นไว้ในจิตใจมักทำให้ความปรารถนาผิด ๆ นั้นรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อหัวใจ. “ครั้นเมื่อความปรารถนาปฏิสนธิแล้ว ความปรารถนานั้นก่อให้เกิดบาป.” (ยาโกโบ 1:14, 15, ล.ม.) หลายคนยอมรับว่านี่คือแนวทางที่มักนำไปสู่การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง. เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่เราต้องเติมจิตใจด้วยสิ่งต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ! (ฟิลิปปอย 4:8) และหากความคิดที่ไม่ถูกต้องเข้ามาในจิตใจเมื่อใด เราควรพยายามขับไล่มันออกไป.
‘จงปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยหัวใจครบถ้วน’
19, 20. เราอาจประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยหัวใจครบถ้วนได้อย่างไร?
19 เมื่อชราแล้ว กษัตริย์ดาวิดกล่าวแก่ราชบุตรว่า “ซะโลโม บุตรของเราเอ๋ย จงรู้จักพระเจ้าแห่งบิดาของเจ้า และจงปฏิบัติพระองค์ด้วยหัวใจครบถ้วน และด้วยจิตวิญญาณชื่นบาน ด้วยว่าพระยะโฮวาทรงตรวจพิจารณาหัวใจทุกคนและทรงสังเกตบรรดาแนวโน้มแห่งความคิด.” (1 โครนิกา 28:9, ล.ม.) ซะโลโมเองอธิษฐานขอ “หัวใจที่เชื่อฟัง.” (1 กษัตริย์ 3:9, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม ท่านมีปัญหาในการรักษาหัวใจเช่นนั้นไว้ตลอดชีวิตของท่าน.
20 หากเราต้องการประสบผลสำเร็จในเรื่องนี้ เราต้องไม่เพียงแต่พยายามให้ได้มาซึ่งหัวใจที่พระยะโฮวาทรงชอบพระทัยเท่านั้น แต่ต้องป้องกันรักษาไว้ให้ดีด้วย. เพื่อจะทำได้อย่างนี้ เราต้องรักษาข้อเตือนใจแห่งพระคำของพระเจ้าไว้ให้แนบชิดอยู่กับหัวใจของเรา—‘ในท่ามกลางดวงใจ.’ (สุภาษิต 4:20-22) นอกจากนั้น สิ่งที่เราควรทำเป็นประจำคือ ตรวจสอบหัวใจของเรา คิดใคร่ครวญพร้อมกับอธิษฐานเกี่ยวกับสิ่งที่คำพูดและการกระทำของเราเผยให้เห็น. จะมีประโยชน์อะไรหากเราคิดใคร่ครวญเช่นนั้นแต่ไม่แสวงหาความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขข้ออ่อนแอใด ๆ ที่เราตรวจพบ? และสำคัญเพียงไรที่เราจะระวังอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งที่เรารับเข้าไปทางประสาทสัมผัสทั้งหลาย! ในการทำอย่างนี้ เราได้รับคำรับรองว่า “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของ [เรา] ไว้โดยพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.) ถูกแล้ว ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่จะป้องกันรักษาหัวใจของเราไว้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดที่จะต้องรักษา และปฏิบัติพระยะโฮวาด้วยหัวใจครบถ้วน.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดจึงสำคัญที่จะป้องกันรักษาหัวใจ?
• การวิเคราะห์สิ่งที่เราพูดช่วยเราอย่างไรให้ป้องกันรักษาหัวใจของเรา?
• เหตุใดเราควรรักษาตาของเราให้ “ปกติ”?
[ภาพหน้า 23]
เรามักพูดคุยเรื่องอะไรในเขตประกาศ, ณ การประชุม, และที่บ้าน?
[ภาพหน้า 25]
ตาที่ปกติไม่ถูกชักนำให้เขว