‘จงสวมตัวท่านด้วยความอดกลั้นไว้นาน’
“จงสวมตัวท่านด้วยความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน . . . และความอดกลั้นไว้นาน.”—โกโลซาย 3:12, ล.ม.
1. จงเล่าตัวอย่างหนึ่งที่ดีเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นาน.
เรชีส ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ได้รับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาในปี 1952. เป็นเวลาหลายปีที่ภรรยาของเขาทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อขัดขวางความพยายามของเขาในการรับใช้พระยะโฮวา. เธอพยายามเจาะยางรถยนต์เพื่อเขาจะไปร่วมประชุมไม่ได้ และมีอยู่ครั้งหนึ่งเธอถึงกับตามเขาไปขณะที่เขาประกาศข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน พูดเยาะเย้ยเขาขณะที่เขาคุยกับเจ้าของบ้านเกี่ยวกับข่าวดีแห่งราชอาณาจักร. แม้ถูกต่อต้านอยู่เสมออย่างนี้ เรชีสก็ยังแสดงความอดกลั้นไว้นานต่อไป. ดังนั้น เรชีสเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคริสเตียนทุกคน เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเรียกร้องผู้นมัสการพระองค์ทุกคนให้มีความอดกลั้นไว้นานในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น.
2. ความหมายตามตัวอักษรของคำภาษากรีกสำหรับ “ความอดกลั้นไว้นาน” คืออะไร และคำนี้บ่งชี้ถึงอะไร?
2 คำภาษากรีกสำหรับ “ความอดกลั้นไว้นาน” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ความยาวของน้ำใจ.” ในคัมภีร์ไทย มีการแปลคำนี้ไว้หลายอย่าง เช่น อดกลั้นใจ (พระทัย), อดกลั้นไว้นาน, ความเพียร (พยายาม), ไม่โกรธเร็ว, โปรดงดโทษไว้นาน. ทั้งคำภาษาฮีบรูและกรีกที่แปลว่า “อดกลั้นไว้นาน” มีความหมายรวมไปถึงความคิดเกี่ยวกับความเพียร, การระงับยับยั้งตัวเองไว้, และความโกรธช้า.
3. คริสเตียนมีทัศนะในเรื่องความอดกลั้นไว้นานต่างกับชาวกรีกในศตวรรษแรกอย่างไร?
3 ในศตวรรษแรก สำหรับชาวกรีกแล้วความอดกลั้นไว้นานไม่ถือว่าเป็นคุณธรรม. นักปรัชญาสำนักสโตอิกไม่เคยใช้คำนี้. ตามที่ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล วิลเลียม บาร์เคลย์ ได้กล่าวไว้ ความอดกลั้นไว้นานเป็นสิ่งที่ “ตรงกันข้ามกับคุณธรรมของชาวกรีก” ซึ่งหนึ่งในบรรดาคุณธรรมที่โอ้อวดกันก็คือ “การไม่ยอมทนต่อการดูถูกหรือการประทุษร้ายใด ๆ.” เขากล่าวว่า “สำหรับชาวกรีกแล้ว คนเก่งคือคนที่ทำทุกสิ่งเพื่อแก้แค้น. สำหรับคริสเตียน คนเก่งคือคนที่ไม่ยอมทำอย่างนั้น แม้ว่าสามารถทำได้.” ชาวกรีกอาจถือว่าความอดกลั้นไว้นานแสดงถึงความอ่อนแอ แต่ในเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ “ความเขลาของพระเจ้า ก็ยังมีปัญญามากกว่าปัญญามนุษย์, และพระกำลังอ่อนของพระเจ้าก็ยังมีกำลังมากยิ่งกว่ากำลังมนุษย์.”—1 โกรินโธ 1:25.
แบบอย่างความอดกลั้นไว้นานของพระคริสต์
4, 5. พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมอะไรเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นาน?
4 พระคริสต์เยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นาน จะเป็นรองก็แต่พระยะโฮวาเท่านั้น. เมื่อทรงตกอยู่ในความกดดันอย่างหนัก พระเยซูทรงเหนี่ยวรั้งพระองค์เองอย่างน่าทึ่ง. มีคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระองค์ดังนี้: “เขาถูกข่มขี่, แต่ขณะเมื่อกำลังถูกทรมานเขาก็หาได้ปริปากไม่; เหมือนดังแกะที่ถูกนำไปฆ่า, เหมือนอย่างแกะตัวเมียไม่อ้าปากร้องต่อหน้าคนตัดขนฉันใด, เขาผู้นั้นก็ไม่ปริปากฉันนั้น.”—ยะซายา 53:7.
5 ความอดกลั้นไว้นานที่พระเยซูทรงแสดงออกตลอดช่วงที่พระองค์รับใช้บนแผ่นดินโลกนั้นน่าทึ่งจริง ๆ! พระองค์ทรงอดทนกับคำถามที่แฝงอันตรายของศัตรูและคำดูหมิ่นของพวกผู้ต่อต้าน. (มัดธาย 22:15-46; 1 เปโตร 2:23) พระองค์ทรงอดกลั้นต่อเหล่าสาวก แม้แต่เมื่อพวกเขาทะเลาะกันอยู่ร่ำไปว่าใครเป็นใหญ่ที่สุด. (มาระโก 9:33-37; 10:35-45; ลูกา 22:24-27) และพระเยซูทรงเหนี่ยวรั้งพระองค์เองอย่างน่ายกย่องสักเพียงไรในคืนที่พระองค์ถูกทรยศ เมื่อเปโตรและโยฮันผล็อยหลับไปหลังจากที่พระองค์ทรงบอกว่า “จงเฝ้าระวัง”!—มัดธาย 26:36-41.
6. เปาโลได้รับประโยชน์อย่างไรจากความอดกลั้นไว้นานของพระเยซู และเราเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
6 หลังจากที่พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ พระองค์ทรงแสดงความอดกลั้นไว้นานต่อไป. อัครสาวกเปาโลสำนึกเรื่องนี้ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากท่านเคยเป็นผู้ข่มเหงคริสเตียน. เปาโลเขียนว่า “คำนี้เป็นคำสัตย์จริงและสมควรที่คนทั้งปวงจะรับเอาไว้, คือว่าพระเยซูคริสต์ได้เสด็จเข้ามาในโลกเพื่อจะได้ทรงช่วยคนบาปให้รอด, และในพวกคนบาปนั้นข้าพเจ้าเป็นตัวเอ้. แต่ว่าเพราะเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงได้รับพระกรุณา, คือว่าเพื่อพระเยซูคริสต์จะได้ทรงสำแดงความอดกลั้นพระทัยทุกอย่างให้เห็นในตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นตัวเอ้นั้น, ให้เป็นแบบแผนแก่คนทั้งปวงที่ภายหลังจะเชื่อในพระองค์, จึงจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (1 ติโมเธียว 1:15, 16) ไม่ว่าอดีตของเราเป็นอย่างไร หากเรามีความเชื่อในพระเยซู พระองค์จะทรงอดกลั้นไว้นานต่อเรา—และแน่นอน ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงคาดหมายเราให้กระทำ “การซึ่งสมกับที่กลับใจเสียใหม่แล้ว.” (กิจการ 26:20; โรม 2:4) ข่าวสารที่พระคริสต์ส่งไปถึงประชาคมทั้งเจ็ดในเอเชียน้อยแสดงว่าในขณะที่พระองค์ทรงอดกลั้นไว้นาน พระองค์ทรงคาดหมายที่จะเห็นความก้าวหน้า.—วิวรณ์บท 2 และ 3.
ผลแห่งพระวิญญาณ
7. ความอดกลั้นไว้นานกับพระวิญญาณบริสุทธิ์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
7 ในบทที่ 5 ของจดหมายที่เปาโลเขียนถึงชาวฆะลาเตีย ท่านเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการของเนื้อหนังกับผลแห่งพระวิญญาณ. (ฆะลาเตีย 5:19-23) เนื่องจากความอดกลั้นไว้นานเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของพระยะโฮวา คุณลักษณะนี้เกิดมาจากพระองค์และเป็นผลอย่างหนึ่งแห่งพระวิญญาณของพระองค์. (เอ็กโซโด 34:6, 7) ที่จริง ความอดกลั้นไว้นานถูกจัดไว้ในลำดับที่สี่ในคำพรรณนาของเปาโลเกี่ยวกับผลแห่งพระวิญญาณ ร่วมกับ “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, . . . ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น เมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าแสดงความอดทนหรือความอดกลั้นไว้นานแบบเดียวกับที่พระเจ้าทรงแสดงออก พวกเขาทำอย่างนั้นโดยการโน้มนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์.
8. อะไรจะช่วยเราให้สามารถปลูกฝังผลแห่งพระวิญญาณ รวมทั้งความอดกลั้นไว้นาน?
8 อย่างไรก็ตาม นี่มิได้หมายความว่าพระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์บังคับคนเรา. เราต้องเต็มใจยอมให้พระวิญญาณโน้มนำ. (2 โกรินโธ 3:17; เอเฟโซ 4:30) เรายอมให้พระวิญญาณดำเนินกิจในชีวิตเราโดยการปลูกฝังผลแห่งพระวิญญาณในทุกสิ่งที่เราทำ. หลังจากที่กล่าวถึงการของเนื้อหนังและผลแห่งพระวิญญาณแล้ว เปาโลกล่าวเสริมอีกว่า “ถ้าเรามีชีวิตอยู่โดยพระวิญญาณก็ให้เราดำเนินตามพระวิญญาณด้วย. อย่าหลงเลย จะหลอกพระเจ้าเล่นไม่ได้ เพราะว่า คนใดหว่านพืชอย่างใดลง, ก็จะเกี่ยวเก็บผลอย่างนั้น. ด้วยว่าผู้ใดที่หว่านสำหรับเนื้อหนังของตนเอง, จะเกี่ยวเก็บผลอนิจจังจากเนื้อหนังนั้น แต่ผู้ใดที่หว่านสำหรับพระวิญญาณ, จะเกี่ยวเก็บชีวิตนิรันดร์จากพระวิญญาณนั้น.” (ฆะลาเตีย 5:25; 6:7, 8) หากเราต้องการปลูกฝังความอดกลั้นไว้นานให้สำเร็จ เราต้องปลูกฝังผลแห่งพระวิญญาณที่เหลือทั้งหมดซึ่งเกิดผลในตัวคริสเตียนโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์.
“ความรักอดกลั้นไว้นาน”
9. อาจเป็นได้ว่าเพราะเหตุใดเปาโลจึงบอกพี่น้องชาวโกรินโธว่า “ความรักอดกลั้นไว้นาน”?
9 เปาโลชี้ว่ามีความสัมพันธ์เป็นพิเศษระหว่างความรักกับความอดกลั้นไว้นานเมื่อท่านกล่าวว่า “ความรักอดกลั้นไว้นาน.” (1 โกรินโธ 13:4, ล.ม.) อัลเบิร์ต บานส์ ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งเสนอแนะว่าเปาโลเน้นเรื่องนี้โดยคำนึงถึงการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันซึ่งมีอยู่ในประชาคมคริสเตียนเมืองโกรินโธ. (1 โกรินโธ 1:11, 12) บานส์ชี้ว่า “คำซึ่งใช้ในที่นี้ [สำหรับความอดกลั้นไว้นาน] ตรงข้ามกับความรีบร้อน: ตรงข้ามกับการแสดงออกและความคิดที่เต็มด้วยความโกรธ, และตรงข้ามกับความฉุนเฉียวง่าย. คำนี้แสดงถึงสภาพจิตใจที่สามารถทนได้นาน เมื่อถูกข่มเหงหรือถูกยั่วให้โกรธ.” ความรักและความอดกลั้นไว้นานยังคงช่วยเสริมสันติสุขของประชาคมคริสเตียนได้มาก.
10. (ก) ความรักช่วยเราอย่างไรให้อดกลั้นไว้นาน และอัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำอะไรในเรื่องนี้? (ข) ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลให้ความเห็นเช่นไรเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นานและความกรุณาของพระเจ้า? (ดูเชิงอรรถ.)
10 “ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา. ความรัก . . . ไม่แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเอง, ไม่ปล่อยตัวให้เกิดโทโส.” ดังนั้น ความรักช่วยเราในหลายทางให้อดกลั้นไว้นาน.a (1 โกรินโธ 13:4, 5, ล.ม.) ความรักช่วยเราให้อดทนกันและกัน และระลึกเสมอว่าเราทุกคนไม่สมบูรณ์และมีข้อผิดพลาดและข้อบกพร่อง. ความรักช่วยเราให้คำนึงถึงผู้อื่นและให้อภัย. อัครสาวกเปาโลสนับสนุนเราให้ดำเนิน “ด้วยใจถ่อมลงทุกอย่างและด้วยใจอ่อนสุภาพ, ด้วยอดกลั้นใจ, และผ่อนหนักผ่อนเบาซึ่งกันและกันด้วยความรัก . . . เพียรพยายามเอาสันติสุขผูกมัดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวซึ่งพระวิญญาณทรงประทานให้นั้น.”—เอเฟโซ 4:1-3.
11. เหตุใดความอดกลั้นไว้นานในสังคมคริสเตียนจึงนับว่าสำคัญเป็นพิเศษ?
11 ความอดกลั้นไว้นานที่คริสเตียนแต่ละคนแสดงออกก่อให้เกิดสันติสุขและความสุขในสังคมของพวกเขา ไม่ว่าจะในประชาคม, บ้านเบเธล, บ้านมิชชันนารี, ทีมงานก่อสร้าง, หรือโรงเรียนต่าง ๆ. เนื่องจากมีความแตกต่างกันด้านบุคลิกภาพ, รสนิยม, การอบรมจากครอบครัว, มาตรฐานเกี่ยวกับความสุภาพ, และแม้แต่สุขอนามัย จึงอาจเกิดเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดได้ในบางครั้ง. เป็นเช่นนี้ด้วยในครอบครัว. การโกรธช้านับว่าสำคัญ. (สุภาษิต 14:29; 15:18; 19:11) การแสดงความอดกลั้นไว้นาน โดยหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จำเป็นสำหรับทุกคน.—โรม 15:1-6.
ความอดกลั้นไว้นานช่วยเราให้อดทน
12. เหตุใดความอดกลั้นไว้นานจึงสำคัญในช่วงที่เกิดสภาพการณ์ยุ่งยาก?
12 ความอดกลั้นไว้นานช่วยเราให้อดทนสภาพการณ์ที่ยุ่งยากซึ่งดูเหมือนไม่รู้จักจบสิ้นหรือไม่มีทางแก้โดยเร็ว. นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นกับเรชีส ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น. เป็นเวลาหลายปี ภรรยาต่อต้านความพยายามของเขาในการรับใช้พระยะโฮวา. อย่างไรก็ดี วันหนึ่งเธอเข้ามาหาเขาทั้งน้ำตาและกล่าวว่า “ฉันรู้แล้วว่านี่เป็นแนวทางแห่งความจริง. ช่วยฉันด้วยเถอะ. ฉันอยากศึกษาคัมภีร์ไบเบิล.” ในที่สุด เธอก็รับบัพติสมาเป็นพยานฯ. เรชีสกล่าวว่า “นี่พิสูจน์ว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรความอุตสาหะ, ความอดกลั้น, และความอดทนตลอดหลายปีนั้น.” ความอดกลั้นไว้นานของเขาได้รับผลตอบแทน.
13. อะไรช่วยเปาโลให้อดทนได้ และตัวอย่างของท่านช่วยเราได้อย่างไรให้อดทน?
13 ย้อนไปในศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความอดกลั้นไว้นาน. (2 โกรินโธ 6:3-10; 1 ติโมเธียว 1:16) ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต เมื่อท่านให้คำแนะนำแก่ติโมเธียว เพื่อนร่วมงานผู้อ่อนวัยกว่า เปาโลเตือนติโมเธียวว่าคริสเตียนทุกคนจะเผชิญการทดลอง. เปาโลอ้างถึงตัวอย่างของท่านเองและแนะนำคุณลักษณะขั้นพื้นฐานบางอย่างของคริสเตียนที่จำเป็นเพื่อจะอดทน. ท่านเขียนดังนี้: “ท่านได้ดำเนินตามคำสอน, การประพฤติ, ความมุ่งหมาย, ความเชื่อ, ความบากบั่นอดทน, ความรัก, ความเพียร, การถูกข่มเหง, และการทนทุกข์ยากลำบากของข้าพเจ้า คือเหตุการณ์อะไร ๆ ซึ่งได้เกิดแก่ข้าพเจ้าที่เมืองอันติโอเกีย, เมืองอิโกนิอัน, และเมืองลุศตรา คือการข่มเหงที่ข้าพเจ้าได้ทนเอานั้นสักเท่าไร แต่ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดช่วยข้าพเจ้าให้รอดพ้นมาจากการนั้นทั้งหมด. แท้จริงบรรดาคนที่ตั้งใจประพฤติตามธรรมในพระเยซูคริสต์ก็จะต้องอดทนการข่มเหงด้วยกันทั้งนั้น.” (2 ติโมเธียว 3:10-12; กิจการ 13:49-51; 14:19-22) เพื่อจะอดทนได้ เราทุกคนต้องมีความเชื่อ, ความรัก, และความอดกลั้นไว้นาน.
จงสวมตัวด้วยความอดกลั้นไว้นาน
14. เปาโลเปรียบคุณลักษณะแบบพระเจ้าอย่างเช่นความอดกลั้นไว้นานว่าเหมือนกับอะไร และท่านให้คำแนะนำอะไรแก่คริสเตียนชาวโกโลซาย?
14 อัครสาวกเปาโลเปรียบความอดกลั้นไว้นานและคุณลักษณะอื่น ๆ แบบพระเจ้าว่าเป็นเหมือนกับเสื้อผ้าที่คริสเตียนควรสวมใส่หลังจากที่ถอดทิ้งกิจปฏิบัติที่เป็นของ “บุคลิกภาพเก่า.” (โกโลซาย 3:5-10, ล.ม.) ท่านเขียนดังนี้: “ในฐานะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร บริสุทธิ์และเป็นที่รัก จงสวมตัวท่านด้วยความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน, ความกรุณา, จิตใจอ่อนน้อม, ความอ่อนโยน, และความอดกลั้นไว้นาน. จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น. แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จงสวมตัวท่านด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องผูกพันอันสมบูรณ์ที่ทำให้เป็นหนึ่งเดียว.”—โกโลซาย 3:12-14, ล.ม.
15. ผลเป็นเช่นไรเมื่อคริสเตียน “สวมตัว” ด้วยความอดกลั้นไว้นานและคุณลักษณะอื่น ๆ แบบพระเจ้า?
15 เมื่อสมาชิกของประชาคม “สวมตัว” ด้วยความเมตตา, ความกรุณา, จิตใจอ่อนน้อม, ความอ่อนโยน, ความอดกลั้นไว้นาน, และความรัก พวกเขาสามารถแก้ปัญหาและรุดหน้าไปในการรับใช้พระยะโฮวาอย่างมีเอกภาพ. โดยเฉพาะคริสเตียนผู้ดูแลจำเป็นต้องอดกลั้นไว้นาน. อาจมีบางครั้งที่เขาจำเป็นต้องว่ากล่าวคริสเตียนบางคน แต่มีหลายวิธีที่จะทำได้. เปาโลพรรณนาเกี่ยวกับเจตคติที่ดีเยี่ยมเมื่อท่านเขียนถึงติโมเธียวว่า “จงว่ากล่าว, ตำหนิ, กระตุ้นเตือน, ด้วยความอดกลั้นไว้นานทุกอย่าง และด้วยศิลปะแห่งการสอน.” (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) ถูกแล้ว แกะของพระยะโฮวาควรได้รับการปฏิบัติด้วยความอดกลั้นไว้นาน, อย่างมีศักดิ์ศรี, และด้วยความอ่อนโยนเสมอ.—มัดธาย 7:12; 11:28; กิจการ 20:28, 29; โรม 12:10.
“อดกลั้นไว้นานต่อคนทั้งปวง”
16. อาจเกิดอะไรขึ้นเมื่อเรา “อดกลั้นไว้นานต่อคนทั้งปวง”?
16 ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาต่อมนุษยชาติทำให้เราอยู่ภายใต้พันธะทางศีลธรรมที่จะ “อดกลั้นไว้นานต่อคนทั้งปวง.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) นี่หมายถึงการอดกลั้นต่อสมาชิกครอบครัว, เพื่อนบ้าน, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ไม่ใช่พยานฯ. พยานฯ ที่ทนคำพูดกระทบกระเทียบหรือการต่อต้านโดยตรงจากหลายคนในที่ทำงานหรือที่โรงเรียนสามารถเอาชนะอคติต่าง ๆ นานา ซึ่งบางครั้งต้องทนเป็นเวลาหลายปี. (โกโลซาย 4:5, 6) อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ เพื่อว่า ในสิ่งที่เขาพูดต่อต้านท่านทั้งหลายว่าเป็นคนทำชั่วนั้น เนื่องด้วยการกระทำที่ดีงามของท่านซึ่งเขาเป็นประจักษ์พยานนั้น เขาอาจสรรเสริญพระเจ้าในวันสำหรับการตรวจตราของพระองค์.”—1 เปโตร 2:12, ล.ม.
17. เราจะเลียนแบบความรักและความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาได้อย่างไร และเหตุใดเราควรทำอย่างนั้น?
17 ความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาจะหมายถึงความรอดสำหรับหลายล้านคน. (2 เปโตร 3:9, 15) หากเราเลียนแบบความรักและความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา เราจะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าและสอนผู้อื่นให้อ่อนน้อมต่อการปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระคริสต์ต่อ ๆ ไปอย่างอดทน. (มัดธาย 28:18-20; มาระโก 13:10) หากเราเลิกประกาศ นั่นย่อมเหมือนกับว่าเราต้องการจำกัดความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาและไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของความอดกลั้นไว้นาน ซึ่งก็คือเพื่อนำผู้คนให้กลับใจ.—โรม 2:4.
18. เปาโลอธิษฐานเพื่อชาวโกโลซายเช่นไร?
18 ในจดหมายที่มีไปถึงคริสเตียนในเมืองโกโลซาย เอเชียน้อย เปาโลเขียนว่า “นั่นก็เป็นเหตุที่ตั้งแต่วันที่เราได้ยินเรื่องนี้ เราไม่ได้เลิกอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลายและทูลขอให้ท่านประกอบด้วยความรู้ถ่องแท้เรื่องพระทัยประสงค์ของพระองค์ในสรรพปัญญาและความเข้าใจฝ่ายวิญญาณ เพื่อจะดำเนินคู่ควรกับพระยะโฮวา เพื่อทำให้พระองค์พอพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม ขณะที่ท่านทั้งหลายเกิดผลต่อไปในการงานที่ดีทุกอย่าง และเพิ่มพูนในความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับพระเจ้า ได้รับพลังด้วยพลังทุกอย่างจนถึงขนาดฤทธิ์เดชอันรุ่งโรจน์ของพระองค์เพื่อจะเพียรอดทนเต็มที่และอดกลั้นไว้นานด้วยความยินดี.”—โกโลซาย 1:9-11, ล.ม.
19, 20. (ก) โดยวิธีใดที่เราจะหลีกเลี่ยงการถือว่าความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวาที่ยังคงมีอยู่เป็นการทดลอง? (ข) เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากการที่เราแสดงความอดกลั้นไว้นาน?
19 ความอดกลั้นไว้นานหรือความอดทนของพระยะโฮวาซึ่งมีอยู่เรื่อยมาจะไม่เป็นการทดลองเรา หากเรา “ประกอบด้วยความรู้ถ่องแท้เรื่องพระทัยประสงค์ของพระองค์” ซึ่งก็คือทรงประสงค์ให้ “คนทุกชนิดได้ความรอดและบรรลุความรู้ถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:4, ล.ม.) เราจะ “เกิดผลต่อไปในการงานที่ดีทุกอย่าง” โดยเฉพาะผลในการประกาศ “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) หากเราทำเช่นนี้อย่างซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไป พระยะโฮวาจะทรงทำให้เรา “ได้รับพลังด้วยพลังทุกอย่าง” ช่วยเราให้สามารถ “เพียรอดทนเต็มที่และอดกลั้นไว้นานด้วยความยินดี.” เมื่อเราทำดังนั้น เราจะ “ดำเนินคู่ควรกับพระยะโฮวา” และเราจะมีสันติสุขซึ่งมาจากการที่ทราบว่าเรากำลัง “ทำให้พระองค์พอพระทัยอย่างเต็มเปี่ยม.”
20 ขอให้เราเชื่อมั่นเต็มที่ในสติปัญญาแห่งความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา. ความอดกลั้นไว้นานของพระองค์ก่อผลเป็นความรอดสำหรับคนที่ฟังการประกาศและการสอนของเรา. (1 ติโมเธียว 4:16) การปลูกฝังผลแห่งพระวิญญาณ คือความรัก, ความกรุณา, ความดี, ความอ่อนโยน, และการรู้จักบังคับตน จะทำให้เราสามารถมีความอดกลั้นไว้นานด้วยความยินดี. เราจะสามารถอยู่อย่างสันติยิ่งขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งกับพี่น้องในประชาคม. ความอดกลั้นไว้นานจะช่วยเราด้วยให้อดทนกับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนนักเรียน. และความอดกลั้นไว้นานของเราก็จะเป็นแบบที่มีจุดมุ่งหมาย คือเพื่อช่วยผู้ทำผิดให้ได้รับความรอดและเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงอดกลั้นไว้นาน.
[เชิงอรรถ]
a ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิล กอร์ดอน ดี. ฟี ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำกล่าวของเปาโลที่ว่า “ความรักอดกลั้นไว้นานและแสดงความกรุณา” โดยเขียนดังนี้: “ในหลักเทววิทยาซึ่งอ้างอิงคำสอนของเปาโล คุณลักษณะทั้งสองนี้ [ความอดกลั้นไว้นานและความกรุณา] แสดงเจตคติของพระเจ้าต่อมนุษยชาติในสองด้าน (เทียบกับโรม 2:4). ในด้านหนึ่ง ความอดกลั้นด้วยความรักของพระเจ้าแสดงออกโดยที่พระองค์ทรงระงับพระพิโรธต่อการขืนอำนาจของมนุษย์; ในอีกด้านหนึ่ง ความกรุณาของพระองค์นั้นพบได้ในคำกล่าวนับพันที่แสดงถึงความเมตตาของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น คำพรรณนาของเปาโลเกี่ยวกับความรักเริ่มด้วยคำพรรณนาคุณลักษณะสองประการของพระเจ้า ซึ่งโดยทางพระคริสต์ ได้แสดงพระองค์เองว่าทรงอดกลั้นและกรุณาต่อคนที่สมควรถูกพระองค์ตัดสินลงโทษ.”
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมอย่างไรเกี่ยวกับความอดกลั้นไว้นาน?
• อะไรจะช่วยเราให้ปลูกฝังความอดกลั้นไว้นาน?
• ความอดกลั้นไว้นานช่วยครอบครัว, สังคมคริสเตียน, และผู้ปกครองอย่างไร?
• การที่เราแสดงความอดกลั้นไว้นานจะก่อประโยชน์อย่างไรต่อตัวเราเองและผู้อื่น?
[ภาพหน้า 15]
แม้แต่เมื่อถูกกดดันอย่างหนัก พระเยซูทรงแสดงความอดทนต่อเหล่าสาวก
[ภาพหน้า 16]
คริสเตียนผู้ดูแลได้รับการกระตุ้นให้วางแบบอย่างที่ดีที่จะอดกลั้นไว้นานในการติดต่อสัมพันธ์กับพี่น้อง
[ภาพหน้า 17]
หากเราเลียนแบบความรักและความอดกลั้นไว้นานของพระยะโฮวา เราจะประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไป
[ภาพหน้า 18]
เปาโลอธิษฐานขอให้ คริสเตียน “อดกลั้นไว้นานด้วยความยินดี”