ให้เราพิจารณาและชูใจกันและกัน
“ให้เราพิจารณากันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการดี.”—ฮีบรู 10:24
1, 2. อะไรช่วยพยานฯ 230 คนให้รอดชีวิตจาก “การเดินแถวสู่ความตาย” ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง?
สงครามโลกครั้งที่สองใกล้จะจบลง. กองทัพของฮิตเลอร์กำลังจะแพ้สงคราม. รัฐบาลนาซีวางแผนจะฆ่านักโทษนับหมื่นที่ยังอยู่ในค่ายกักกัน. แผนที่วางไว้ก็คือบังคับนักโทษให้เดินไปที่ท่าเรือแล้วให้ขึ้นเรือซึ่งจะออกไปจมในทะเล. ในภายหลัง มีการเรียกแผนอันร้ายกาจนี้ว่า “การเดินแถวสู่ความตาย.”
2 นักโทษ 33,000 คนจากค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซนถูกสั่งให้เดินแถวเป็นระยะทางไกลถึง 250 กิโลเมตรไปที่ลือเบค เมืองท่าแห่งหนึ่งของเยอรมนี. มีพยานพระยะโฮวา 230 คนจากหกประเทศรวมอยู่ในนักโทษกลุ่มนี้ด้วย. พวกทหารสั่งพยานฯ ให้เดินแถวไปด้วยกัน. ทุกคนอ่อนระโหยโรยแรงเพราะขาดอาหารและติดโรค. พี่น้องของเรารอดชีวิตจากการเดินในครั้งนั้นได้อย่างไร? พี่น้องคนหนึ่งบอกว่า “เราคอยให้กำลังใจกันอยู่เสมอ.” นอกเหนือจาก “กำลังที่มากกว่าปกติ” ซึ่งได้รับจากพระเจ้าแล้ว ความรักที่พวกเขามีต่อกันได้ช่วยพวกเขาให้รอดชีวิตจากการทดสอบอันแสนทรหดนั้นมาได้.—2 โค. 4:7
3. ทำไมเราจำเป็นต้องชูใจกัน?
3 ปัจจุบัน เราไม่ได้อยู่ในขบวนที่เดินไปสู่ความตาย แต่เราก็ยังต้องอดทนรับมือปัญหาหลายอย่าง. หลังจากที่ราชอาณาจักรของพระเจ้าเริ่มปกครองในปี 1914 ซาตานถูกขับไล่จากสวรรค์และถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในบริเวณโลกนี้. มันโกรธมากเพราะรู้ว่า “เวลาของมันมีน้อย.” (วิ. 12:7-9, 12) ขณะที่อาร์มาเก็ดดอนใกล้เข้ามา ซาตานใช้ความทุกข์ยากต่าง ๆ เพื่อทำให้สายสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาอ่อนลง. นอกจากนั้น ยังมีความเครียดที่เกิดขึ้นกับชีวิตเราในแต่ละวันอีกด้วย. (โยบ 14:1; ผู้ป. 2:23) บางครั้ง ปัญหาที่สะสมมาเรื่อย ๆ อาจทำให้เราหมดแรงจนถึงกับรู้สึกว่าสู้กับความท้อแท้ต่อไปไม่ไหวแล้ว. ขอให้พิจารณากรณีของพี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งได้ช่วยหลายคนให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวามาเป็นเวลาหลายสิบปี. แต่เมื่ออายุมากแล้ว เขากับภรรยาสุขภาพไม่ดีและเขาเริ่มรู้สึกท้อแท้อย่างมาก. เช่นเดียวกับพี่น้องชายคนนี้ เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับ “กำลังที่มากกว่าปกติ” จากพระยะโฮวา. นอกจากนั้น เราจำเป็นต้องชูใจกันด้วย.
4. เพื่อจะชูใจคนอื่นได้ เราต้องทำตามคำแนะนำอะไรของอัครสาวกเปาโล?
4 เพื่อจะชูใจคนอื่นได้ เราต้องทำตามคำแนะนำที่อัครสาวกเปาโลให้แก่คริสเตียนชาวฮีบรู. ท่านกล่าวว่า “ให้เราพิจารณากันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการดี อย่าขาดการประชุมกันอย่างที่บางคนทำเป็นนิสัย แต่ให้ชูใจกัน และทำอย่างนั้นให้มากขึ้นเมื่อพวกท่านเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (ฮีบรู 10:24, 25) เราจะทำตามคำแนะนำที่สำคัญนี้ได้อย่างไร?
“ให้เราพิจารณากันและกัน”
5. การ “พิจารณากันและกัน” หมายถึงอะไร และเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
5 วลี “พิจารณากันและกัน” หมายถึงการคิดถึงความจำเป็นของคนอื่น. เราคงไม่รู้ว่าพี่น้องของเรามีความจำเป็นอะไรถ้าเราเพียงแต่ทักทายพวกเขาสั้น ๆ ที่หอประชุมหรือคุยกับพวกเขาแค่เรื่องสัพเพเหระ. แน่นอน เราต้องระวังที่จะไม่ “เข้าไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น.” (1 เทส. 4:11; 1 ติโม. 5:13) แต่ถ้าเราต้องการชูใจพี่น้อง เราจำเป็นต้องรู้ว่าชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร. เราต้องรู้ว่านิสัย จุดอ่อน จุดแข็ง และความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับความจริงเป็นอย่างไร. พวกเขาต้องรู้ว่าเราเป็นเพื่อนและเรารักพวกเขา. เราต้องให้เวลากับพวกเขาไม่เพียงแต่เมื่อพวกเขามีปัญหาและท้อใจ แต่ในโอกาสอื่น ๆ ด้วย.—โรม 12:13
6. อะไรจะช่วยผู้ปกครองให้ “พิจารณา” พี่น้องในประชาคม?
6 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าผู้ปกครองต้องเต็มใจและกระตือรือร้นที่จะ “บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าซึ่งอยู่ในความดูแล” ของพวกเขา. (1 เป. 5:1-3) พวกเขาจะบำรุงเลี้ยงพี่น้องเป็นอย่างดีได้อย่างไรถ้าพวกเขาไม่รู้จักพี่น้องจริง ๆ? (อ่านสุภาษิต 27:23 ) ถ้าผู้ปกครองแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพร้อมจะช่วยและยินดีให้เวลากับพี่น้อง พี่น้องในประชาคมก็จะรู้สึกสะดวกใจที่จะขอความช่วยเหลือจากพวกเขาเมื่อจำเป็น. และเป็นเรื่องง่ายกว่าด้วยที่พี่น้องจะบอกความรู้สึกและความกังวลของพวกเขากับผู้ปกครอง. ผลก็คือ ผู้ปกครองจะสามารถช่วยแต่ละคนตามที่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับ.
7. เราควรจำอะไรไว้เมื่อคนที่ท้อแท้ “พูดไม่ยั้งคิด”?
7 เปาโลบอกประชาคมเทสซาโลนิเกให้ “ช่วยเหลือคนอ่อนแอ.” (อ่าน 1 เทสซาโลนิเก 5:14 ) “คนอ่อนแอ” ในที่นี้รวมถึงคนที่ซึมเศร้าและคนที่รู้สึกท้อแท้. สุภาษิต 24:10 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) กล่าวว่า “หากเจ้าท้อแท้ในยามทุกข์ร้อน ก็แสดงว่ากำลังของเจ้าน้อยนัก.” ถ้าเราต้องการจะช่วยเหลือคนที่ท้อแท้อย่างหนัก เราต้องจำไว้ว่าบางครั้งเขาอาจ “พูดไม่ยั้งคิด.” (โยบ 6:2, 3, ฉบับมาตรฐาน) เขาอาจพูดอะไรบางอย่างที่เขาไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริง ๆ. ราเชล ซึ่งแม่ของเธอเป็นโรคซึมเศร้า เรียนรู้เรื่องนี้จากประสบการณ์ของเธอเอง. เธอกล่าวว่า “หลายครั้งที่แม่พูดอะไรออกมาซึ่งน่าเกลียดมาก. ดิฉันต้องคอยเตือนตัวเองว่าจริง ๆ แล้ว แม่เป็นคนที่มีความรัก กรุณา และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่. ดิฉันได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่าคนที่ซึมเศร้าอาจพูดอะไรหลายอย่าง แต่พวกเขาไม่ได้หมายความอย่างที่พูดจริง ๆ. จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่เราจะโต้ตอบด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ดี.” สุภาษิต 19:11 (ล.ม.) กล่าวว่า “คนที่เข้าใจเรื่องราวอย่างถ่องแท้ย่อมไม่โกรธง่าย และเมื่อเขามองข้ามการผิดก็ทำให้เขาเป็นที่น่านับถือ.”
8. ใครเป็นพิเศษที่เราจำเป็นต้อง “ทำให้เขาแน่ใจ” ว่าเรารักเขา และทำไม?
8 เราจะ “พิจารณา” คนที่ท้อใจเพราะความผิดที่เขาเคยทำในอดีตได้อย่างไร? แม้ว่าเขาได้แก้ไขข้อผิดพลาดของเขาแล้ว แต่เขาอาจยังรู้สึกละอายใจในสิ่งที่เขาได้ทำไป. เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองโครินท์เกี่ยวกับคนหนึ่งในประชาคมนี้ที่ได้กลับใจจากบาป. ท่านกล่าวว่า “พวกท่านน่าจะเต็มใจให้อภัยและปลอบโยนเขามากกว่า เขาจะได้ไม่จมอยู่ในความทุกข์ใจเหลือล้น. ดังนั้น ข้าพเจ้าขอกระตุ้นเตือนพวกท่าน จงทำให้เขาแน่ใจว่าพวกท่านรักเขา.” (2 โค. 2:7, 8) วลี “ทำให้เขาแน่ใจ” ในที่นี้หมายถึง “แสดงให้เขาเห็น” หรือ “พิสูจน์ให้เขาเห็น.” พี่น้องไม่รู้ว่าเรารักและห่วงใยเขาถ้าเราไม่ได้แสดงให้เขาเห็นด้วยคำพูดและการกระทำของเรา.
“เร้าใจให้เกิดความรักและการดี”
9. วลี “เร้าใจให้เกิดความรักและการดี” หมายความว่าอย่างไร?
9 เปาโลเขียนว่า “ให้เราพิจารณากันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการดี.” เมื่อไฟใกล้มอด เราจำเป็นต้องเขี่ยถ่านและพัดให้ไฟลุกไหม้ต่อไป. (2 ติโม. 1:6) คล้ายกัน มีหลายสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยกระตุ้นใจพี่น้องให้รับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไปอย่างกระตือรือร้น. วิธีหนึ่งที่ดีที่สุดก็คือชมเชยพี่น้องสำหรับสิ่งดี ๆ ที่พวกเขาได้ทำ.
10, 11. (ก) มีใครบ้างในพวกเราที่จำเป็นต้องได้รับคำชมเชย? (ข) จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าคำชมเชยช่วยคนที่ “ก้าวพลาด” ได้.
10 ไม่ว่าเรารู้สึกท้อใจหรือไม่ก็ตาม เราทุกคนต้องการคำชมเชย. ผู้ปกครองคนหนึ่งเขียนว่า “พ่อไม่เคยชมผมเลยเมื่อผมทำอะไรได้ดี. ผมจึงโตขึ้นมาเป็นคนที่ขาดความนับถือตัวเอง. . . . แม้ตอนนี้ผมอายุ 50 ปีแล้ว แต่ผมก็ยังรู้สึกดีเมื่อคนอื่นช่วยให้ผมมั่นใจโดยบอกว่าผมกำลังทำงานที่ดีในฐานะผู้ปกครอง. . . . ประสบการณ์ในชีวิตสอนผมว่าเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่จะให้กำลังใจคนอื่น ๆ และผมพยายามหาโอกาสที่จะทำอย่างนั้น.” คำชมเชยสามารถกระตุ้นหนุนใจทุกคน รวมถึง ไพโอเนียร์ ผู้สูงอายุ และคนที่รู้สึกท้อใจ.—โรม 12:10
11 เมื่อผู้ปกครองพยายามช่วยคนที่ “ก้าวพลาด” การชมคนนั้นโดยพูดถึงเรื่องดี ๆ ที่เขาได้ทำในอดีตอาจช่วยเขาให้เปลี่ยนทัศนะและหันกลับมาทำสิ่งที่ถูกต้อง. (กลา. 6:1) นั่นคือสิ่งที่ได้ช่วยพี่น้องหญิงคนหนึ่งที่ชื่อมิเรียม. เธอเขียนว่า “ดิฉันเคยผ่านช่วงเวลาที่ทรมานใจมากในชีวิตเมื่อเพื่อนสนิทบางคนทิ้งความจริงไป และในช่วงเดียวกันนั้น พ่อดิฉันก็ยังป่วยเป็นโรคเลือดตกในสมองอีก. ดิฉันรู้สึกท้อแท้มาก.” เธอเริ่มคบหาเป็นแฟนกับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งไม่ได้นมัสการพระยะโฮวาเพราะเธอคิดว่านั่นจะทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น. แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เธอกลับรู้สึกว่าเธอไม่คู่ควรที่พระยะโฮวาจะรักเธอและคิดจะทิ้งความจริง. อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองคนหนึ่งเตือนสติเธอให้นึกถึงการรับใช้อย่างซื่อสัตย์ที่เธอได้ทำในอดีตและช่วยให้เธอมั่นใจว่าพระยะโฮวายังรักเธอ. ผลก็คือ เธอกลับมามีความรักต่อพระยะโฮวาอย่างแรงกล้าอีกครั้งหนึ่ง. เธอเลิกคบหากับชายที่ไม่มีความเชื่อคนนั้นและรับใช้พระยะโฮวาต่อไป.
12. อาจเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเปรียบเทียบพี่น้องกับคนอื่น ตำหนิพวกเขา หรือทำให้พวกเขารู้สึกผิด?
12 เราต้องระวังเกี่ยวกับวิธีที่เรา “เร้าใจ” พี่น้องของเราให้รับใช้พระเจ้าต่อ ๆ ไปอย่างกระตือรือร้น. เราไม่ควรเปรียบเทียบพวกเขากับคนอื่น ตำหนิพวกเขาที่ไม่ได้ทำตามกฎที่เราตั้ง หรือทำให้พวกเขารู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำมากกว่าที่พวกเขากำลังทำอยู่. การทำแบบนี้อาจทำให้พวกเขาดีขึ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ผลจะไม่ยั่งยืน. วิธีที่ดีที่สุดในการ “เร้าใจ” พี่น้องก็คือชมเชยพวกเขาและช่วยพวกเขาให้สำนึกว่าเราต้องการรับใช้อย่างดีที่สุดเพราะเรารักพระเจ้า.—อ่านฟิลิปปอย 2:1-4
“ชูใจกัน”
13. การชูใจผู้อื่นหมายความว่าอย่างไร? (ดูภาพแรก)
13 ในส่วนสุดท้าย เปาโลกล่าวว่าเราควร ‘ชูใจกันให้มากขึ้นเมื่อเราเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.’ การชูใจผู้อื่นอาจเปรียบเหมือนกับการเติมเชื้อเพลิงเพื่อให้ไฟลุกไหม้ต่อไปหรือลุกโชนยิ่งขึ้น. การชูใจคนอื่นหมายถึงการช่วยพวกเขาให้เข้มแข็งและปลอบโยนพวกเขาให้รับใช้พระเจ้าต่อ ๆ ไปได้. เมื่อเราพยายามช่วยคนที่ท้อใจ เราต้องพูดกับเขาด้วยความรักและกรุณา. (สุภา. 12:18) เราควร “ไวในการฟัง” และ “ช้าในการพูด” ด้วย. (ยโก. 1:19) ถ้าเราตั้งใจฟังพี่น้องพูดและพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา นั่นอาจช่วยให้เรารู้สาเหตุที่เขาท้อใจและสามารถพูดอะไรบางอย่างที่ช่วยเขาได้.
14. ผู้ปกครองคนหนึ่งได้ช่วยพี่น้องชายคนหนึ่งที่ท้อแท้ด้วยวิธีใด?
14 ขอให้พิจารณาวิธีที่ผู้ปกครองที่กรุณาคนหนึ่งสามารถช่วยพี่น้องชายคนหนึ่งซึ่งเลิกประกาศไปหลายปี. เมื่อผู้ปกครองฟังเขาพูด เห็นได้ชัดว่าพี่น้องคนนี้ยังมีความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระยะโฮวา. เขาศึกษาทุกบทความในหอสังเกตการณ์ และพยายามเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ. แต่บางคนในประชาคมได้ทำสิ่งที่ทำให้เขาผิดหวังและไม่พอใจอย่างมาก. ผู้ปกครองตั้งใจฟังและพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขาโดยไม่ตัดสินเขา และพูดให้เขามั่นใจว่าพี่น้องรักเขา. ในที่สุด พี่น้องคนนี้ก็ตระหนักว่าเขาได้ปล่อยให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีตมาขัดขวางเขาจนไม่ได้รับใช้พระเจ้าที่เขารัก. ผู้ปกครองเชิญพี่น้องคนนี้ไปประกาศด้วยกัน. โดยได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวจากผู้ปกครอง พี่น้องคนนี้กลับมาทำงานประกาศต่อไปและในที่สุดก็มีคุณสมบัติที่จะรับใช้เป็นผู้ปกครองอีกครั้งหนึ่ง.
15. เราเรียนอะไรได้จากพระยะโฮวาในเรื่องการชูใจผู้อื่น?
15 คนที่ท้อแท้อาจไม่รู้สึกดีขึ้นทันทีหรือไม่ตอบรับความช่วยเหลือของเราในตอนแรก. เราอาจจำเป็นต้องช่วยเขาต่อ ๆ ไป. เปาโลสนับสนุนเราให้ “ช่วยเหลือคนอ่อนแอ แสดงความอดกลั้นต่อคนทั้งปวง.” (1 เทส. 5:14) แทนที่จะหมดความอดทนและเลิกไปเสียก่อน ให้เราพยายาม “ช่วยเหลือ” คนอ่อนแออย่างต่อเนื่อง. ในอดีต พระยะโฮวาทรงอดทนกับผู้รับใช้ของพระองค์ที่ท้อแท้. ตัวอย่างเช่น พระเจ้าทรงอดทนอย่างมากกับเอลียาห์และคำนึงถึงความรู้สึกของท่าน. พระองค์ประทานสิ่งที่เอลียาห์จำเป็นต้องมีเพื่อจะทำงานรับใช้ต่อไปได้. (1 กษัต. 19:1-18) อีกตัวอย่างหนึ่งคือดาวิด. ท่านเสียใจอย่างแท้จริงที่ได้ทำผิด. พระยะโฮวาทรงมองเห็นและแสดงความเมตตาโดยให้อภัยท่าน. (เพลง. 51:7, 17) นอกจากนั้น พระเจ้าทรงช่วยผู้เขียนเพลงสรรเสริญบท 73 ซึ่งเกือบเลิกรับใช้พระองค์. (เพลง. 73:13, 16, 17) พระยะโฮวาทรงเมตตาและอดทนกับเรา โดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกท้อแท้. (เอ็ก. 34:6) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าความเมตตาของพระยะโฮวา “มีมาใหม่ทุก ๆ เช้า” และ “ไม่ขาดตอน.” (ทุกข์. 3:22, 23) พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เราทำตามแบบอย่างของพระองค์และปฏิบัติต่อคนที่ท้อแท้ด้วยความกรุณา.
ชูใจกันให้อยู่บนเส้นทางสู่ชีวิตเสมอ
16, 17. ขณะที่อวสานของระบบนี้ใกล้จะมาถึง เราต้องทำอะไร และทำไม?
16 ในบรรดานักโทษทั้งหมด 33,000 คนที่เดินออกจากค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซน มีคนเป็นหมื่นที่ต้องตายไป. แต่พยานพระยะโฮวา 230 คนที่ออกจากค่ายนี้รอดชีวิตทุกคน. พวกเขาไม่สามารถรอดชีวิตทั้งหมดได้ถ้าพวกเขาไม่ได้ชูใจและช่วยเหลือกันและกัน.
17 ในทุกวันนี้ เราอยู่บน “ทางที่นำไปสู่ชีวิต.” (มัด. 7:14) ในไม่ช้า ผู้นมัสการพระยะโฮวาทั้งหมดจะร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในการเดินเข้าสู่โลกใหม่ที่ชอบธรรม. (2 เป. 3:13) ขณะที่อวสานของระบบชั่วนี้ใกล้จะมาถึง ขอให้เราช่วยกันเพื่อจะรักษาตัวอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.