การประกาศข่าวดีด้วยความมั่นใจเต็มที่
1 ตอนต้นศตวรรษที่หนึ่ง พระเยซูคริสต์ทรงบัญชาเหล่าผู้ติดตามพระองค์ให้ประกาศข่าวดีแห่งราชอาณาจักรและ “สั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก.” (มัด. 24:14; 28:19, 20) พยานพระยะโฮวาถือพระบัญชาของพระองค์เป็นเรื่องจริงจัง ถึงขนาดที่ตอนปลายศตวรรษที่ 20 สังคมพี่น้องคริสเตียนมีสาวกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5,900,000 คนใน 234 ดินแดน. ช่างเป็นการร้องสรรเสริญพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราอย่างมโหฬารจริง ๆ!
2 ตอนนี้เราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว. ศัตรูของเราพยายามอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมที่จะขัดขวางงานหลักของเราในการประกาศราชอาณาจักรและทำคนให้เป็นสาวก. มันใช้ความกดดันจากระบบนี้เพื่อพยายามหันเหความสนใจ, กินเวลาของเรา, และทำให้เราสูญเสียกำลังไปกับหลายสิ่งที่ไม่สำคัญ. แทนที่จะปล่อยให้ระบบนี้กำหนดว่าอะไรสำคัญในชีวิต เราพิสูจน์ให้เห็นโดยใช้พระคำของพระเจ้าว่าอะไรสำคัญที่สุด นั่นคือการทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา. (โรม 12:2) นี่หมายถึงการเชื่อฟังคำกระตุ้นเตือนของพระคัมภีร์ที่ให้ ‘ประกาศพระคำทั้งในยามเอื้ออำนวยและยามยากลำบากและทำให้งานรับใช้ของท่านสำเร็จครบถ้วน.’—2 ติโม. 4:2, 5, ล.ม.
3 พัฒนาความเชื่อมั่นอันหนักแน่น: คริสเตียนต้อง “ยืนหยัดอย่างครบถ้วนและด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระทัยประสงค์ทุกประการของพระเจ้า.” (โกโล. 4:12, ล.ม.) คำ “ความเชื่อมั่น” ได้รับการนิยามว่า “ความมั่นใจหรือความเชื่ออันเข้มแข็ง; สภาพของความเชื่อมั่น.” ในฐานะคริสเตียนเราต้องเชื่อมั่นว่าพระคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้าเป็นเรื่องแน่นอนและเชื่อมั่นว่าสมัยอวสานล่วงเลยมามากแล้ว. เราต้องมีความเชื่อที่เข้มแข็งเหมือนอย่างอัครสาวกเปาโล ผู้ซึ่งกล่าวว่า “แท้จริง ข่าวดีนั้นเป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้าเพื่อทุกคนที่มีความเชื่อจะได้ความรอด.”—โรม 1:16, ล.ม.
4 พญามารใช้คนชั่วและคนเจ้าเล่ห์ ผู้ซึ่งตัวเองก็ถูกทำให้หลงผิด ให้แผ่อิทธิพลและทำให้ผู้อื่นหลงผิด. (2 ติโม. 3:13) เพราะเราได้รับคำเตือนเรื่องนี้ล่วงหน้า เราจึงดำเนินตามขั้นตอนเพื่อจะเสริมความเชื่อมั่นที่ว่าเรามีความจริงอยู่. แทนที่จะปล่อยให้ความกระวนกระวายของชีวิตทำให้ความกระตือรือร้นแรงกล้าของเราลดน้อยลง เราถือเอาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรก. (มัด. 6:33, 34) อีกทั้งเราไม่อยากเสียภาพความเร่งด่วนของยุคสมัย คือบางทีอาจรู้สึกว่าอวสานของระบบนี้ยังคงอยู่อีกนาน. อวสานนั้นยิ่งใกล้เข้ามามากกว่าแต่ก่อน. (1 เป. 4:7) แม้เราจะรู้สึกว่าการเผยแพร่ข่าวดีเกิดผลน้อยมากในบางดินแดนเมื่อคำนึงถึงว่ามีการให้คำพยานไปเท่าใดแล้ว แต่งานให้คำเตือนก็ต้องดำเนินต่อไป.—ยเอศ. 33:7-9.
5 คำถามสำคัญในช่วงใกล้อวสานนี้คือ: ‘ฉันถือว่างานที่พระเยซูมอบหมายให้ทำคนเป็นสาวกเป็นเรื่องจริงจังไหม? เมื่อฉันประกาศข่าวดี ฉันแสดงความมั่นใจเต็มที่ว่าราชอาณาจักรเป็นเรื่องจริงไหม? ฉันตั้งใจแน่วแน่จะมีส่วนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในงานรับใช้ที่ช่วยชีวิตคนไหม?’ โดยตระหนักว่าเวลาอวสานล่วงเลยไปมากเท่าใดแล้ว เราต้องเอาใจใส่ตัวเราเองและภารกิจแห่งการประกาศและการสอนของเรา. การทำเช่นนี้เราจะช่วยทั้งตัวเราและคนที่ฟังเราให้รอด. (1 ติโม. 4:16) เราทุกคนจะเสริมความเชื่อมั่นของเราในฐานะผู้รับใช้ได้อย่างไร?
6 เลียนแบบชาวเธซะโลนิเก: อัครสาวกเปาโลกล่าวแก่พี่น้องในเมืองเธซะโลนิเกเมื่อระลึกถึงงานหนักของพวกเขาว่า “ข่าวดีที่เราประกาศไม่ได้มาถึงท่ามกลางท่านทั้งหลายโดยวาจาเท่านั้นแต่โดยฤทธิ์และโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์และความมั่นใจเต็มที่ ด้วย ดังที่ท่านทั้งหลายรู้ว่าเรากลายเป็นคนชนิดใดแก่พวกท่านเพื่อเห็นแก่ท่าน; และท่านทั้งหลายได้มาเป็นผู้เลียนแบบอย่างของเราและขององค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะเหตุว่าท่านได้ยอมรับถ้อยคำนั้นในความยากลำบากเป็นอันมากด้วยความยินดีในพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (1 เธ. 1:5, 6, ล.ม.) ใช่แล้ว เปาโลชมเชยประชาคมของชาวเธซะโลนิเกเพราะแม้จะมีความยากลำบากมาก แต่พวกเขาก็ประกาศด้วยความมีใจแรงกล้าและความมั่นใจเต็มที่. อะไรช่วยให้เขาทำเช่นนั้นได้? ความมีใจแรงกล้าและความเชื่อมั่นที่พวกเขาเห็นในตัวอัครสาวกเปาโลและเพื่อนร่วมงานของท่านมีผลกระทบในทางบวกต่อพวกเขามากทีเดียว. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
7 ชีวิตของเปาโลและเพื่อนร่วมเดินทางของท่านแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าและพวกเขาเชื่อสุดหัวใจในสิ่งที่พวกเขาประกาศ. ก่อนที่จะมาถึงเมืองเธซะโลนิเก เปาโลและซีลาถูกปฏิบัติด้วยความดูหมิ่นเหยียดหยามที่เมืองฟิลิปปอย. ทั้งสองคนถูกเฆี่ยน, จำคุก, และใส่ขื่อโดยไม่มีการพิจารณาคดี. อย่างไรก็ดี ประสบการณ์อันยากลำบากนี้ไม่ได้บั่นทอนความมีใจแรงกล้าต่อข่าวดีของทั้งสองเลย. พระเจ้าทรงเข้าแทรกแซงเพื่อปล่อยตัวพวกเขา นั่นทำให้นายคุกและครัวเรือนเปลี่ยนความเชื่อ และเปิดทางให้พี่น้องทั้งสองทำงานรับใช้ต่อไป.—กิจ. 16:19-34.
8 ด้วยกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า เปาโลมาถึงเมืองเธซะโลนิเก. ที่นี่ท่านทำงานเพื่อจัดหาสิ่งจำเป็นในชีวิตแล้วท่านก็ทุ่มเทตัวเองเต็มที่ในการสอนความจริงแก่ชาวเธซะโลนิเก. ท่านไม่ลังเลที่จะประกาศข่าวดีในทุกโอกาส. (1 เธ. 2:9) การประกาศของเปาโลด้วยความมั่นใจเต็มที่ส่งผลกระทบอันทรงพลังกับคนในท้องถิ่นถึงขนาดที่พวกเขาบางคนเลิกการนมัสการรูปเคารพซึ่งเคยทำเมื่อก่อน และกลายมาเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา พระเจ้าเที่ยงแท้.—1 เธ. 1:8-10.
9 การกดขี่ข่มเหงไม่ได้ระงับผู้มีความเชื่อใหม่ไว้จากการประกาศข่าวดี. โดยถูกกระตุ้นจากความเชื่อที่พบใหม่และด้วยความเชื่อมั่นเต็มที่ว่าตนจะได้รับพระพรถาวร ชาวเธซะโลนิเกจึงถูกผลักดันให้ประกาศความจริงซึ่งพวกเขารับมาด้วยความกระตือรือร้น. ประชาคมนั้นขันแข็งถึงขนาดที่ข่าวเกี่ยวกับความเชื่อและความมีใจแรงกล้าของเขาแพร่ไปถึงส่วนอื่น ๆ ของมณฑลมากะโดเนียและไปถึงมณฑลอะฆายะด้วยซ้ำ. โดยวิธีนี้ เมื่อเปาโลเขียนจดหมายฉบับแรกไปถึงชาวเธซะโลนิเก งานที่ดีของพวกเขาก็เป็นที่รู้จักกันทั่วแล้ว. (1 เธ. 1:7) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีเสียนี่กระไร!
10 ถูกกระตุ้นด้วยความรักพระเจ้าและประชาชน: เราจะรักษาความมั่นใจเต็มที่เป็นส่วนตัวเมื่อประกาศข่าวดีในปัจจุบันนี้เหมือนชาวเธซะโลนิเกได้อย่างไร? เปาโลเขียนเกี่ยวกับพวกเขาว่า “เราคำนึงถึงการงานอันซื่อสัตย์ของท่านเสมอและการทำงานหนักด้วยความรัก.” (1 เธ. 1:3, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่าพวกเขามีความรักอันสุดซึ้งจากหัวใจต่อพระยะโฮวาพระเจ้าและต่อผู้คนที่เขาประกาศให้ฟัง. ความรักชนิดเดียวกันนั้นเองกระตุ้นเปาโลและเพื่อนร่วมงานของท่านที่จะให้ ‘ไม่เพียงแต่ข่าวดีของพระเจ้าเท่านั้น แต่ให้จิตวิญญาณของตน’ แก่ชาวเธซะโลนิเกด้วย.—1 เธ. 2:8, ล.ม.
11 คล้ายกัน ความรักอันลึกซึ้งที่เรามีต่อพระยะโฮวาและเพื่อนมนุษย์กระตุ้นให้เราอยากจะมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานประกาศซึ่งพระเจ้ามอบหมายให้เราทำ. เพราะความรักเช่นนั้น เราจึงตระหนักว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบส่วนตัวซึ่งเราได้รับจากพระเจ้าให้เผยแพร่ข่าวดีออกไป. ด้วยการคิดรำพึงในแง่บวกและด้วยความหยั่งรู้ค่าทุกสิ่งที่พระยะโฮวาทรงทำเพื่อเราในการนำเราสู่ “ชีวิตแท้” เราจึงถูกกระตุ้นให้บอกคนอื่นถึงความจริงอันวิเศษที่เราเชื่อสุดหัวใจ.—1 ติโม. 6:19, ล.ม.
12 ขณะที่เราเอาการเอางานในงานประกาศต่อไป ความรักต่อพระยะโฮวา และต่อผู้คนต้องมีมากขึ้นเรื่อย ๆ. หากเป็นเช่นนั้น เราจะถูกกระตุ้นให้เข้าส่วนมากขึ้นในงานรับใช้ตามบ้านและการให้คำพยานในรูปแบบอื่น ๆ ทุกแบบที่เรามีโอกาสทำได้. เราจะฉวยโอกาสให้คำพยานอย่างไม่เป็นทางการแก่ญาติ, เพื่อนบ้าน, และคนรู้จัก. แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจปฏิเสธข่าวดีที่เราเสนอและบางคนอาจพยายามขัดขวางการประกาศราชอาณาจักรก็ตาม เราก็ประสบกับความยินดีที่เกิดขึ้นภายใน. ทำไม? เพราะเรารู้ว่าเราได้ทำเต็มที่แล้วในการให้คำพยานถึงราชอาณาจักรและช่วยให้ผู้คนได้รับความรอด. และพระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรความพยายามของเราให้พบผู้มีหัวใจชอบธรรม. แม้เมื่อความกดดันของชีวิตบีบคั้นเรา และซาตานหาทางเซาะกร่อนความยินดีของเราไป เราก็สามารถรักษาความมั่นใจเต็มที่และความมีใจแรงกล้าในการให้คำพยานแก่คนอื่นได้. เมื่อเราทุกคนทำส่วนของเรา นี่ยังผลให้มีประชาคมที่เข้มแข็ง, กระตือรือร้นแรงกล้าเหมือนประชาคมในเมืองเธซะโลนิเก.
13 อย่ายอมแพ้การทดลอง: ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเมื่อเราพบการทดลองต่าง ๆ. (1 เป. 1:6, 7) พระเยซูทรงบอกแก่เหล่าสาวกของพระองค์อย่างชัดแจ้งว่าถ้าพวกเขาติดตามพระองค์ไป “ชาติต่าง ๆ จะเกลียดชัง” พวกเขา. (มัด. 24:9) เปาโลและซีลาประสบสิ่งนี้เมื่ออยู่ในเมืองฟิลิปปอย. บันทึกในกิจการบท 16 บอกว่าเปาโลและซีลาถูกจับตัวเข้าคุกชั้นในและใส่ขื่อไว้. โดยทั่วไปแล้ว คุกหลักเป็นลานที่มีกำแพงล้อมหรือห้องขังที่ติดกำแพง ซึ่งได้รับแสงและมีอากาศถ่ายเท. แต่คุกชั้นในไม่ได้รับแสงและมีการระบายอากาศเพียงเล็กน้อย. เปาโลและซีลาต้องอยู่ในความมืด, ความร้อน, และกลิ่นเหม็นอับของสถานที่คุมขังอันเลวร้ายนี้. คุณนึกภาพออกไหมถึงความเจ็บปวดที่พวกเขาต้องรู้สึกเมื่อถูกใส่ขื่อนานหลายชั่วโมงพร้อมกับมีแผลถลอกและมีเลือดออกที่หลังเนื่องจากการเฆี่ยน?
14 ทั้ง ๆ ที่ประสบการทดลองเหล่านี้ เปาโลและซีลาคงความซื่อสัตย์ต่อไป. พวกเขาสำแดงความเชื่อมั่นสุดหัวใจ ซึ่งเสริมกำลังทั้งสองให้รับใช้พระยะโฮวาไม่ว่าจะประสบการทดลองอะไร. ความเชื่อมั่นของพวกเขามีการเน้นที่ข้อ 25 ของบท 16 ซึ่งบอกว่าเปาโลและซีลาก็ “อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า.” ที่จริง แม้ว่าพวกเขาอยู่ในคุกชั้นใน เขาก็แน่ใจว่าตนได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าถึงขนาดที่ร้องเพลงเสียงดังจนนักโทษคนอื่นได้ยิน! เราต้องมีความเชื่อมั่นแบบเดียวกันในทุกวันนี้เมื่อประสบการทดสอบความเชื่อ.
15 การทดลองที่พญามารโจมตีเรามีหลายแบบ. สำหรับบางคนอาจเป็นการข่มเหงจากครอบครัว. พี่น้องของเราหลายคนถูกกล่าวหาทางกฎหมาย. อาจมีการต่อต้านจากผู้ออกหาก. มีภาระทางเศรษฐกิจและความกังวลใจเรื่องการหาเลี้ยงชีพ. เยาวชนประสบกับความกดดันจากคนรุ่นเดียวกันที่โรงเรียน. เราจะเผชิญหน้ากับการทดลองเหล่านี้อย่างประสบความสำเร็จได้อย่างไร? อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะสำแดงความเชื่อมั่น?
16 สิ่งแรกและสำคัญที่สุด เราต้องรักษาสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวา. เมื่อเปาโลและซีลาอยู่ในคุกชั้นใน ทั้งสองไม่ได้ใช้เวลานั้นเพื่อโอดครวญเกี่ยวกับชีวิตของตนหรือรู้สึกสงสารตัวเอง. พวกเขาหันเข้าหาพระเจ้าทันทีโดยการอธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระองค์. ทำไม? เนื่องจากพวกเขามีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระบิดาฝ่ายสวรรค์. พวกเขาตระหนักว่าตนกำลังอดทนเพื่อความชอบธรรมและตระหนักว่าความรอดของตนอยู่ในพระหัตถ์ของพระยะโฮวา.—เพลง. 3:8.
17 เมื่อเราประสบการทดลองในปัจจุบัน เราก็ต้องหมายพึ่งพระยะโฮวาเช่นกัน. เปาโลสนับสนุนเราในฐานะคริสเตียนให้ ‘ทูลขอต่อพระเจ้า; แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของเราไว้.’ (ฟิลิป. 4:6, 7, ล.ม.) ช่างเป็นการปลอบประโลมใจสักเพียงไรที่ได้รู้ว่าพระยะโฮวาจะไม่ทรงปล่อยให้เราประสบการทดลองตามลำพัง! (ยซา. 41:10) พระองค์ทรงสถิตกับเราเสมอตราบใดที่เรารับใช้พระองค์ด้วยความเชื่อมั่นอย่างแท้จริง.—เพลง. 46:7.
18 เครื่องช่วยที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งที่จะสำแดงความเชื่อมั่นคือการเอาการเอางานอยู่เสมอในการทำงานรับใช้พระยะโฮวา. (1 โก. 15:58) เปาโลและซีลาถูกจับเข้าคุกเนื่องจากพวกเขาประกาศข่าวดีอย่างเอาการเอางาน. พวกเขาเลิกการประกาศเพราะการทดลองที่เขาประสบไหม? ไม่ พวกเขาประกาศต่อไปแม้แต่ตอนที่ยังอยู่ในคุก และหลังจากถูกปล่อยตัวแล้ว พวกเขาเดินทางไปเมืองเธซะโลนิเกและไปยังธรรมศาลาของชาวยิวเพื่อ “อ้างข้อความในพระคัมภีร์โต้ตอบกับเขา.” (กิจ. 17:1-3) เมื่อเรามีความมั่นใจหรือความเชื่ออันเข้มแข็งในพระยะโฮวาและเชื่อมั่นว่าเรามีความจริง ก็ไม่มีอะไร “อาจกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้าซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย.”—โรม 8:35-39.
19 ตัวอย่างในสมัยปัจจุบันเรื่องความมั่นใจเต็มที่: มีตัวอย่างโดดเด่นมากมายของผู้ที่อยู่ในสมัยของเราซึ่งได้สำแดงความมั่นใจเต็มที่เหมือนเปาโลและซีลา. พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งรอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์เล่าถึงความเชื่อและความมั่นใจอันไม่สั่นคลอนของพี่น้องที่นั่น. เธอเล่าว่า “ครั้งหนึ่งระหว่างการซักถาม เจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาหาดิฉันโดยที่กำหมัดไว้แน่น. เขาร้องว่า ‘เราจะทำอย่างไรกับพวกคุณดี? ถ้าเราจับคุณ คุณก็ไม่สนใจ. ถ้าเราส่งพวกคุณเข้าคุก คุณก็ไม่สนใจแม้แต่น้อย. ถ้าเราส่งพวกคุณไปค่ายกักกัน มันก็ไม่กวนใจคุณ. เมื่อเราสั่งประหารชีวิตพวกคุณ คุณก็เพียงแต่ยืนอยู่ที่นั่นไม่ไยดีอะไรเลย. เราจะทำอย่างไรกับพวกคุณดี?’” ช่างเป็นการเสริมกำลังเพียงไรที่เห็นความเชื่อของพี่น้องภายใต้สภาพการณ์อันทารุณโหดร้ายเช่นนั้น! พวกเขาหมายพึ่งพระยะโฮวาเสมอเพื่อจะได้รับความช่วยเหลือให้อดทน.
20 แน่นอนว่าเราระลึกถึงความเชื่อมั่นของพี่น้องหลายคนที่เผชิญความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติซึ่งปรากฏขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้. ทั้ง ๆ ที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย พี่น้องชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ยังมุ่งหมายจะดูแลให้พี่น้องของตนได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณ. ทุกคนซื่อสัตย์ต่อ ๆ ไปด้วยความมั่นใจเต็มที่ว่า “อาวุธใดก็ตามที่จะสร้างขึ้นต่อสู้เจ้าจะไม่ประสบผลสำเร็จ.”—ยซา. 54:17, ล.ม.
21 พี่น้องของเราหลายคนที่มีคู่สมรสที่ไม่เชื่อต่างสำแสดงความเชื่อและการอดทนเต็มที่เช่นกัน. พี่น้องชายคนหนึ่งในกวาเดอลูปถูกต่อต้านอย่างหนักจากภรรยาที่ไม่เชื่อ. เพื่อจะทำให้เขาท้อถอยและขัดขวางการเข้าร่วมประชุมคริสเตียน เธอจะไม่ทำอาหารให้เขา หรือซัก, รีด, และซ่อมเสื้อผ้าให้เขา. เธอไม่ยอมพูดกับเขานานหลายวัน. แต่โดยการสำแดงความเชื่อมั่นสุดหัวใจในการรับใช้พระยะโฮวาและหันเข้าหาพระองค์ในการอธิษฐานขอการช่วยเหลือ พี่น้องคนนี้ก็สามารถทนทุกสิ่งได้. นานเท่าใด? ประมาณ 20 ปี ครั้นแล้วภรรยาของเขาก็ค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงในหัวใจ. ในที่สุด เขาก็ชื่นชมยินดีจริง ๆ เนื่องจากเธอรับเอาความหวังเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.
22 ท้ายที่สุด เราต้องไม่ลืมความมั่นใจเต็มที่ของพี่น้องวัยหนุ่มสาวของเราซึ่งไปโรงเรียนทุก ๆ วันและรับมือกับความกดดันจากคนรุ่นเดียวกันและปัญหาอื่น ๆ. เด็กสาวพยานคนหนึ่งเล่าถึงความกดดันให้ทำตามคนอื่น ๆ ในโรงเรียนดังนี้: “เมื่อคุณอยู่ที่โรงเรียน ทุกคนจะกระตุ้นคุณอยู่เสมอให้หัดแข็งข้อบ้าง. พวกเด็ก ๆ จะนับถือคุณมากขึ้นถ้าคุณทำอะไรที่เกือบ ๆ จะล้ำเส้น.” คนหนุ่มสาวเผชิญความกดดันมากสักเพียงไร! พวกเขาต้องแน่วแน่ในจิตใจและหัวใจเพื่อจะต้านทานการล่อใจได้.
23 เยาวชนหลายคนของเราทำได้ดีในการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงแม้เผชิญการทดลอง. ตัวอย่างหนึ่งเป็นของพี่น้องสาวคนหนึ่งที่อยู่ในฝรั่งเศส. วันหนึ่งหลังอาหารกลางวัน มีเด็กหนุ่มบางคนพยายามบังคับเธอให้จูบพวกเขา แต่เธออธิษฐานและขัดขืนเต็มที่ เด็กผู้ชายพวกนั้นจึงปล่อยเธอไว้ตามลำพัง. ต่อมา เด็กคนหนึ่งในกลุ่มนั้นกลับมาและบอกเธอว่าเขานับถือเธอมากเนื่องจากความกล้าของเธอ. เธอสามารถให้คำพยานที่ดีกับเขาเกี่ยวกับราชอาณาจักร และอธิบายถึงมาตรฐานสูงทางศีลธรรมที่พระยะโฮวาทรงตั้งไว้สำหรับทุกคนที่ต้องการได้รับพระพรจากพระองค์. ระหว่างภาคการศึกษานั้น เธอยังได้อธิบายความเชื่อของเธอต่อชั้นเรียนทั้งชั้นอีกด้วย.
24 ช่างเป็นสิทธิพิเศษอันล้ำค่าจริง ๆ ที่เราถูกนับรวมอยู่ในหมู่ผู้ที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัยจะใช้ให้พูดเกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระองค์ด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่น! (โกโล. 4:12) นอกจากนั้น เรามีโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะพิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคงเมื่อถูกโจมตีโดยซาตานพญามาร ผู้ต่อต้านที่เป็นดุจสิงโต. (1 เป. 5:8, 9) อย่าลืมว่าพระยะโฮวาทรงใช้ข่าวราชอาณาจักรเพื่อนำความรอดมาสู่ตัวเราผู้ประกาศข่าวนี้รวมทั้งคนที่ฟังเรา. ขอให้การตัดสินใจที่เราทำและแนวทางชีวิตของเราพิสูจน์ว่าเราถือเอาราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรก. ขอให้เราประกาศข่าวดีต่อ ๆ ไปด้วยความมั่นใจเต็มที่!