พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากจดหมายถึงคริสเตียนในเทสซาโลนิเกและถึงติโมเธียว
ประชาคมใหม่ในเมืองเทสซาโลนิเกถูกต่อต้านนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประชาคมเมื่ออัครสาวกเปาโลเยี่ยมที่นั่น. ดังนั้น เมื่อติโมเธียว—ซึ่งตอนนั้นอาจอายุ 20 กว่า ๆ—กลับจากที่นั่นพร้อมกับรายงานที่ดี เปาโลจึงถูกกระตุ้นใจให้เขียนจดหมายถึงคริสเตียนในเทสซาโลนิเกเพื่อชมเชยและหนุนใจพวกเขา. จดหมายนี้ซึ่งคงเขียนในช่วงปลายปีสากลศักราช 50 เป็นจดหมายฉบับแรกที่เปาโลเขียนโดยการดลใจ. ไม่นานหลังจากนั้น ท่านเขียนจดหมายฉบับที่สองถึงคริสเตียนในเมืองเทสซาโลนิเก. คราวนี้ ท่านแก้ไขทัศนะที่ผิดพลาดของบางคน และหนุนใจพวกพี่น้องให้ยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อ.
ประมาณสิบปีต่อมา เปาโลอยู่ที่มาซิโดเนียและติโมเธียวอยู่ในเมืองเอเฟโซส์. เปาโลเขียนถึงติโมเธียว สนับสนุนท่านให้อยู่ต่อไปในเอเฟโซส์และช่วยพี่น้องให้รักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาแม้ว่ามีอิทธิพลของผู้สอนเท็จในประชาคม. เมื่อคริสเตียนถูกข่มเหงหลังจากเกิดไฟไหม้ซึ่งเผากรุงโรมวอดวายในปีสากลศักราช 64 เปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองถึงติโมเธียว. จดหมายฉบับนี้เป็นข้อเขียนที่มีขึ้นโดยการดลใจฉบับสุดท้ายที่ท่านเขียน. พวกเราในทุกวันนี้ได้รับประโยชน์จากการหนุนใจและคำแนะนำในจดหมายของเปาโลทั้งสี่ฉบับนี้.—ฮีบรู 4:12.
‘จงตื่นอยู่’
เปาโลชมเชยคริสเตียนในเทสซาโลนิเกสำหรับ ‘งานที่พวกเขาทำด้วยความเชื่อ, งานหนักที่พวกเขาทำด้วยความรัก, และที่พวกเขาเพียรอดทน.’ ท่านบอกพวกเขาว่าพวกเขาเป็น ‘ความหวังและความยินดีและมงกุฎแห่งความปลื้มปีติ’ ของท่าน.—1 เทส. 1:3; 2:19.
หลังจากสนับสนุนคริสเตียนในเมืองเทสซาโลนิเกให้ปลอบโยนกันและกันด้วยความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย เปาโลกล่าวว่า “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืน.” ท่านแนะนำพวกเขาให้ “ตื่นอยู่และมีสติอยู่เสมอ.”—1 เทส. 4:16-18; 5:2, 6.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
4:15-17—ใครถูก “รับไปในเมฆ . . . เพื่อไปพบองค์พระผู้เป็นเจ้าในท้องฟ้า” และเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร? คนเหล่านี้คือคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่มีชีวิตในช่วงการประทับด้วยขัตติยอำนาจของพระคริสต์. พวกเขา “พบองค์พระผู้เป็นเจ้า” หรือพระเยซูในอาณาจักรสวรรค์ที่ไม่เห็นด้วยตา. แต่เพื่อจะถูกรับไปอย่างนั้น พวกเขาต้องตายและถูกปลุกเป็นขึ้นจากตายเป็นกายวิญญาณก่อน. (โรม 6:3-5; 1 โค. 15:35, 44) การประทับของพระคริสต์เริ่มขึ้นแล้ว ดังนั้นคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ตายในทุกวันนี้จะไม่อยู่ในสภาพคนตาย. พวกเขาถูก “รับไป” หรือถูกปลุกทันที.—1 โค. 15:51, 52.
5:23—เปาโลหมายถึงอะไรเมื่อท่านอธิษฐานว่า “ขอ [พระเจ้า] ทรงรักษาทั้งจิตใจ ชีวิต และกาย” ของพวกพี่น้อง? เปาโลกำลังกล่าวถึงจิตใจ ชีวิต และกายของคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งประกอบขึ้นเป็นประชาคมคริสเตียน ซึ่งรวมถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณในเมืองเทสซาโลนิเกด้วย. แทนที่จะเพียงอธิษฐานขอให้ประชาคมได้รับการรักษา ท่านอธิษฐานขอให้ “จิตใจ” หรือทัศนคติของประชาคมได้รับการรักษาไว้. ท่านยังอธิษฐานขอเพื่อ “ชีวิต” หรือการดำรงอยู่ของประชาคม และขอเพื่อ “กาย” ของประชาคมซึ่งได้แก่คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ประกอบกันเป็นกายเดียว. (1 โค. 12:12, 13) คำอธิษฐานดังกล่าวจึงเน้นให้เห็นความห่วงใยอย่างยิ่งที่เปาโลมีต่อประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิม.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:3, 7; 2:13; 4:1-12; 5:15. วิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการให้คำแนะนำคือชมเชยผู้รับคำแนะนำตามที่เขาสมควรได้รับและสนับสนุนให้เขาทำดีขึ้น.
4:1, 9, 10. ผู้นมัสการพระยะโฮวาควรทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณต่อ ๆ ไป.
5:1-3, 8, 20, 21. ขณะที่วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา เราควร “มีสติอยู่เสมอ เอาความเชื่อและความรักสวมเป็นเกราะป้องกันอก และเอาความหวังเรื่องความรอดสวมเป็นหมวกเกราะ.” นอกจากนั้น เราควรเอาใจใส่ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้า คือคัมภีร์ไบเบิล.
“จงยืนหยัดมั่นคง”
โดยบิดเบือนสิ่งที่เปาโลกล่าวในจดหมายฉบับแรก ดูเหมือนบางคนในประชาคมยืนยันว่า ‘การประทับขององค์พระผู้เป็นเจ้า’ ใกล้จะถึงแล้ว. เพื่อแก้ไขทัศนะของพวกเขาให้ถูกต้อง เปาโลบอกว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้น “เสียก่อน.”—2 เทส. 2:1-3.
เปาโลกระตุ้นเตือนว่า “จงยืนหยัดมั่นคงและยึดถือคำสอนที่พวกท่านได้เรียน.” ท่านสั่งพวกเขาให้ “ปลีกตัวจากพี่น้องทุกคนที่ประพฤติเกะกะ.”—2 เทส. 2:15; 3:6.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
2:3, 8—“ผู้ละเมิดกฎหมายของพระเจ้า” คือใคร และจะถูกประหารอย่างไร? คนเหล่านี้ได้แก่ชนชั้นนักเทศน์นักบวชแห่งคริสต์ศาสนจักร. ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้ประกาศการพิพากษาของพระเจ้าต่อคนชั่วเหล่านี้และเป็นผู้ออกคำสั่งให้สำเร็จโทษพวกเขาได้แก่ “พระวาทะ”—โฆษกองค์เอกของพระเจ้า คือพระเยซูคริสต์. (โย. 1:1) ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวได้ว่าพระเยซูจะทรงประหารผู้ละเมิดกฎหมายของพระเจ้า “ด้วยลมพระโอษฐ์ [พลังปฏิบัติการ] ของพระองค์.”
2:13, 14—คริสเตียนผู้ถูกเจิมถูก ‘เลือกตั้งแต่ต้นให้ได้รับความรอด’ อย่างไร? ผู้ถูกเจิมทั้งกลุ่มได้รับการกำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อความรอดเมื่อพระยะโฮวาทรงมีพระประสงค์ให้ผู้สืบเชื้อสายของหญิงบดขยี้หัวของซาตาน. (เย. 3:15) พระยะโฮวายังแจ้งให้ทราบด้วยว่าพวกเขาต้องบรรลุข้อเรียกร้องอะไร, ต้องทำงานอะไร, และต้องพบกับการทดสอบอะไร. โดยวิธีนั้น พระองค์ทรงเรียกพวกเขาเพื่อ “มารับความรอด.”
บทเรียนสำหรับเรา:
1:6-9. พระยะโฮวาทรงพิพากษาลงโทษเฉพาะคนที่สมควรถูกทำลาย.
3:8-12. วันของพระยะโฮวาที่ใกล้เข้ามาไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัว. ความเฉื่อยอาจทำให้เราขี้เกียจและชักนำเราให้กลายเป็น “คนที่ชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่น.”—1 เป. 4:15.
“จงรักษาสิ่งที่ฝากไว้กับท่าน”
เปาโลแนะนำติโมเธียวให้ “ต่อสู้อย่างดีต่อไป . . . โดยรักษาความเชื่อและสติรู้สึกผิดชอบอันดีเอาไว้.” ท่านอัครสาวกระบุคุณสมบัติหลัก ๆ ของชายที่จะได้รับการแต่งตั้งในประชาคม. เปาโลยังกำชับติโมเธียวด้วยให้ “ปฏิเสธเรื่องเท็จซึ่งดูหมิ่นสิ่งบริสุทธิ์.”—1 ติโม. 1:18, 19; 3:1-10, 12, 13; 4:7.
เปาโลเขียนว่า “อย่าติเตียนชายสูงอายุ.” ท่านกระตุ้นติโมเธียวว่า “จงรักษาสิ่งที่ฝากไว้กับท่าน จงหันหนีเสียจากการพูดไร้สาระซึ่งดูหมิ่นสิ่งบริสุทธิ์และจากข้อขัดแย้งที่เรียกกันผิด ๆ ว่า ‘ความรู้.’ ”—1 ติโม. 5:1; 6:20.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:18; 4:14—มีการกล่าว “คำพยากรณ์” อะไรเกี่ยวกับติโมเธียว? อาจเป็นคำพยากรณ์บางอย่างเกี่ยวกับบทบาทในอนาคตที่ติโมเธียวจะได้รับในประชาคมคริสเตียน ซึ่งถูกกล่าวออกมาโดยได้รับการดลใจเมื่อเปาโลเยี่ยมเมืองลิสตราระหว่างการเดินทางรอบที่สองของท่านในฐานะมิชชันนารี. (กิจ. 16:1, 2) โดยอาศัย “คำพยากรณ์” เหล่านี้ พวกผู้เฒ่าผู้แก่ของประชาคม “วางมือ” บนชายหนุ่มติโมเธียว ตั้งเขาไว้เป็นพิเศษเพื่องานรับใช้อย่างหนึ่งโดยเฉพาะ.
2:15—ผู้หญิงจะ “อยู่รอดปลอดภัยด้วยการคลอดบุตร” อย่างไร? การคลอดบุตร, การดูแลบุตร, และการดูแลบ้านเรือนอาจทำให้ผู้หญิง “ปลอดภัย” จากการกลายเป็นคนไม่รู้จักทำการทำงานและเป็น “คนชอบซุบซิบนินทาและเข้าไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่น.”—1 ติโม. 5:11-15.
3:16—ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับความเลื่อมใสพระเจ้าคืออะไร? ข้อที่ว่ามนุษย์สามารถอ่อนน้อมต่อพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอย่างสมบูรณ์แบบได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่เป็นความลับมาเนิ่นนาน. พระเยซูทรงให้คำตอบด้วยการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบจนกระทั่งสิ้นพระชนม์.
6:15, 16—ถ้อยคำเหล่านี้ใช้กับพระยะโฮวาพระเจ้าหรือกับพระเยซูคริสต์? ถ้อยคำเหล่านี้ใช้กับบุคคลที่มาปรากฏตามที่พรรณนาไว้ในที่นี้ ซึ่งก็คือ พระเยซูคริสต์. (1 ติโม. 6:14) เมื่อเทียบกับมนุษย์ที่ปกครองเป็นกษัตริย์และเจ้านายทั้งหลาย พระเยซูทรงเป็น ‘ผู้ทรงอำนาจยิ่งแต่องค์เดียว’ และทรงเป็นผู้เดียวที่ทรงเป็นอมตะ. (ดานิ. 7:14; โรม 6:9) นับตั้งแต่พระองค์เสด็จสู่สวรรค์ที่ไม่ประจักษ์แก่ตา ไม่มีมนุษย์คนใดบนโลก “เห็น” พระองค์ได้ด้วยตาในความหมายตรงตัว.
บทเรียนสำหรับเรา:
4:15. ไม่ว่าเราเริ่มเป็นคริสเตียนเมื่อไม่นานมานี้หรือนานมาแล้ว เราควรพยายามทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณต่อไปเรื่อย ๆ.
6:2. ถ้านายจ้างของเราเป็นเพื่อนร่วมความเชื่อ แทนที่จะฉวยประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งจากเขา เราควรพร้อมจะรับใช้เขายิ่งกว่าที่เราจะทำเมื่อทำงานกับคนภายนอกประชาคมเสียด้วยซ้ำ.
“จงประกาศพระคำ จงประกาศอย่างรีบด่วน”
เพื่อเตรียมติโมเธียวไว้ให้พร้อมรับมือช่วงเวลาที่ลำบากในวันข้างหน้า เปาโลเขียนว่า “พระเจ้าไม่ได้ทรงโปรดให้เรามีใจขลาดกลัว แต่ให้มีใจที่มีพลัง ใจที่มีความรัก และมีจิตใจที่สุขุม.” ติโมเธียวได้รับคำแนะนำว่า “ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ควรทะเลาะวิวาท แต่ต้องสุภาพอ่อนโยนต่อทุกคน มีคุณวุฒิที่จะสอน.”—2 ติโม. 1:7; 2:24.
เปาโลกระตุ้นเตือนติโมเธียวว่า “จงทำตามสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และสิ่งที่ท่านได้รับการช่วยให้เชื่อมั่นว่าเป็นความจริงต่อ ๆ ไป.” คำสอนออกหากกำลังแพร่ไป ดังนั้น ท่านอัครสาวกแนะนำผู้ดูแลที่อายุน้อยกว่าท่านว่า “จงประกาศพระคำ จงประกาศอย่างรีบด่วน . . . จงว่ากล่าว ตักเตือนแรง ๆ กระตุ้นเตือน.”—2 ติโม. 3:14; 4:2.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:13—“แบบแผนถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” คืออะไร? “ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” คือ “ถ้อยคำของพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา”—คำสอนของคริสเตียนแท้. (1 ติโม. 6:3) สิ่งที่พระเยซูทรงสอนและทำสอดคล้องกับพระคำของพระเจ้า ด้วยเหตุนั้น “ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” จึงมีความหมายครอบคลุมไปถึงคำสอนทุกอย่างในคัมภีร์ไบเบิล. คำสอนเหล่านี้ช่วยเราเห็นว่าพระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไรจากเรา. เรายึดมั่นกับแบบแผนนี้โดยปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคัมภีร์ไบเบิล.
4:13—“แผ่นหนัง” คืออะไร? คำ “แผ่นหนัง” หมายถึงวัสดุที่ใช้เขียนซึ่งทำจากหนังสัตว์. เป็นไปได้ว่าเปาโลกำลังขอให้นำบางส่วนของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมาให้ท่าน เพื่อท่านจะสามารถศึกษาจากแผ่นหนังเหล่านั้นระหว่างที่ถูกกักขังในกรุงโรม. ม้วนหนังสือบางม้วนอาจทำจากกระดาษพาไพรัส แต่ม้วนหนังสืออื่น ๆ ทำจากแผ่นหนัง.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:5; 3:15. เหตุผลสำคัญที่ทำให้ติโมเธียวเชื่อพระคริสต์เยซู ซึ่งเป็นความเชื่อที่ส่งผลต่อทุกสิ่งที่ติโมเธียวทำ ได้แก่การศึกษาพระคัมภีร์ที่ท่านได้รับที่บ้านตั้งแต่ยังเล็ก ๆ. นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่บิดามารดาจะคิดอย่างจริงจังถึงวิธีที่เขาจะทำหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าวนี้ต่อพระเจ้าและต่อบุตร!
1:16-18. เมื่อเพื่อนร่วมความเชื่อถูกทดสอบ, ถูกข่มเหง, หรือถูกจำคุก ขอให้เราอธิษฐานเพื่อพวกเขาและทำทุกสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยพวกเขา.—สุภา. 3:27; 1 เทส. 5:25.
2:22. คริสเตียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ไม่ควรหมกมุ่นเกินไปกับการเพาะกาย, กีฬา, ดนตรี, ความบันเทิง, งานอดิเรก, การท่องเที่ยว, การสนทนาในเรื่องสัพเพเหระ, และสิ่งอื่น ๆ ที่คล้าย ๆ กัน จนทำให้เขามีเวลาเหลือเพียงเล็กน้อยสำหรับการทำกิจกรรมของคริสเตียน.
[ภาพหน้า 31]
อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนจดหมายฉบับใดเป็นฉบับสุดท้าย?