คุณออกกำลังกายเพียงพอไหม?
“ไม่มียาชนิดใดในปัจจุบันหรือในอนาคตที่จะมีสรรพคุณในการทำให้สุขภาพดีมากเท่ากับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต.”
ดร. วอลเตอร์ บอร์ซที่ 2 ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านเวชศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ได้เขียนข้อความข้างต้นไว้ตั้งแต่ปี 1982. ในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรด้านสุขภาพมากมายได้ยกถ้อยคำนี้ไปกล่าวในหนังสือ, วารสาร, และเว็บเพจต่าง ๆ. เห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันนี้คำแนะนำของ ดร. บอร์ซก็ยังคงทันสมัยเหมือนในปี 1982 และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขว้างว่าเป็นคำแนะนำที่มีเหตุผลและถูกต้อง. ดังนั้นเราสมควรถามตัวเองว่า ‘ฉันออกกำลังกายเพียงพอไหม?’
บางคนลงความเห็นผิด ๆ ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายเพราะพวกเขาไม่ได้มีน้ำหนักมากเกินไป. คนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการออกกำลังกายเป็นประจำ แต่แม้ว่าคุณไม่ได้มีน้ำหนักเกิน การเพิ่มกิจกรรมที่ต้องออกแรงก็จะช่วยปรับปรุงสุขภาพโดยรวมของคุณให้ดีขึ้นและช่วยป้องกันโรคร้ายแรง รวมทั้งมะเร็งบางชนิดด้วย. นอกจากนั้นการศึกษาวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ยังแสดงว่า การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงอาจลดความกังวลและอาจถึงกับป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วย. ข้อเท็จจริงคือ หลายคนที่มีรูปร่างดีก็มีความเครียดทางจิตใจและอารมณ์, โรคหัวใจร่วมหลอดเลือด, โรคเบาหวาน, และความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งมีอาการรุนแรงขึ้นเนื่องจากออกกำลังกายไม่เพียงพอ. ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าคุณจะมีน้ำหนักเกินหรือไม่ ถ้าคุณชอบใช้ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ นับว่าดีที่คุณจะทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงให้มากขึ้น.
ชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ เป็นเช่นไร?
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากพอหรือไม่? มีความเห็นหลากหลายในเรื่องที่ว่าชีวิตแบบนั่ง ๆ นอน ๆ เป็นเช่นไร. อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพส่วนใหญ่เห็นพ้องกันในเรื่องหลักกว้าง ๆ ซึ่งใช้ได้กับคนส่วนใหญ่. องค์กรทางสุขภาพหลายแห่งอธิบายว่า จะถือว่าคุณเป็นคนที่นั่ง ๆ นอน ๆ ถ้าคุณ (1) ไม่ได้ออกกำลังกายหรือทำอะไรที่ต้องออกแรงหนัก ๆ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีสามครั้งต่อสัปดาห์, (2) ไม่ได้เคลื่อนไหวขณะทำกิจกรรมยามว่าง, (3) แทบไม่เคยเดินไกลกว่า 100 เมตรเลยตลอดทั้งวัน, (4) ช่วงเวลาที่ตื่นอยู่ส่วนใหญ่จะอยู่ในท่านั่ง, (5) ทำงานซึ่งแทบไม่ต้องออกแรงอะไร.
คุณออกกำลังกายเพียงพอไหม? ถ้าไม่ คุณอาจเริ่มทำอะไรสักอย่างตั้งแต่ตอนนี้ได้เลย. คุณอาจบอกว่า ‘แต่ฉันไม่มีเวลานี่.’ เมื่อคุณตื่นนอนตอนเช้า คุณก็รู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน. ในตอนเช้า คุณก็แทบไม่มีเวลาพอที่จะเตรียมตัวและไปทำงานให้ทัน. จากนั้น หลังจากทำงานมาทั้งวัน คุณก็อิดโรยเกินกว่าจะออกกำลังกายอีก ทั้งมีสิ่งอื่น ๆ มากมายที่จะต้องทำ.
บางทีคุณอาจเป็นคนหนึ่งที่เริ่มออกกำลังกายแล้ว แต่เลิกไปหลังจากทำได้เพียงไม่กี่วัน เพราะพบว่ามันเหนื่อยเกินไป หรืออาจถึงกับรู้สึกไม่สบายหลังจากออกกำลังกาย. ส่วนบางคนก็ไม่อยากออกกำลังกายเพราะพวกเขาคิดว่าการออกกำลังกายที่ดีนั้นหมายถึงการบริหารร่างกายอย่างหนัก เช่น การยกน้ำหนัก, การวิ่งวันละหลายกิโลเมตร, และการยืดกล้ามเนื้อตามท่าที่กำหนดไว้อย่างละเอียด.—ดูกรอบ “การยกน้ำหนักและการยืดกล้ามเนื้อ.”
นอกจากนั้นก็มีค่าใช้จ่ายและความไม่สะดวกตามที่คิดกัน. คนที่จะวิ่งจ๊อกกิ้ง (วิ่งเหยาะ) ก็ต้องมีเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะสม. สำหรับการฝึกพละกำลัง ก็ต้องมีลูกตุ้มน้ำหนักหรือเครื่องออกกำลังกายพิเศษ. การเป็นสมาชิกสโมสรกีฬาก็อาจมีค่าใช้จ่ายสูง. การเดินทางไปโรงยิมก็อาจต้องใช้เวลามาก. กระนั้น สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ไม่น่าจะเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้คุณมีชีวิตที่ไม่อยู่นิ่งและก่อผลดีต่อสุขภาพ.
ตั้งเป้าที่ทำได้จริง
ก่อนอื่น ถ้าคุณวางแผนจะเริ่มออกกำลังกาย อย่าตั้งเป้าที่ทำไม่ได้จริง. จงเริ่มจากแบบเบา ๆ และค่อยเพิ่มความหนักขึ้น. เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ยอมรับว่าการออกกำลังกายเบา ๆ ถึงปานกลางนั้นก็มีประโยชน์ และพวกเขาแนะนำคนที่เคยเอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ ให้ค่อย ๆ เพิ่มกิจกรรมขึ้นทีละน้อย. ตัวอย่างเช่น จดหมายข่าวเวลล์เนสของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กลีย์ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นจดหมายข่าวเกี่ยวกับเรื่องโภชนาการ, ความแข็งแรงของร่างกาย, และการควบคุมความเครียดซึ่งจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แนะนำว่า “จงเริ่มโดยทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้นานขึ้นอีกไม่กี่นาทีในแต่ละวัน และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึง 30 นาที และจะดีถ้าทำได้ทุกวันในสัปดาห์.” จดหมายข่าวนี้ชี้แจงว่า “ที่คุณต้องทำก็เป็นเพียงสิ่งธรรมดา ๆ เช่น การเดินและการขึ้นบันได เพียงแต่ทำให้บ่อยขึ้น, นานขึ้นอีกหน่อย, และ/หรือเร็วขึ้นอีกเล็กน้อย.”
ผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายควรเน้นที่จะทำอย่างสม่ำเสมอมากกว่าที่จะออกกำลังกายหนัก ๆ. เมื่อคุณมีความแข็งแรงและความทรหดมากขึ้น คุณอาจออกกำลังกายให้หนักขึ้นได้. จะทำเช่นนี้ได้โดยการออกกำลังกายนานขึ้นและหนักขึ้น เช่น เดินเร็ว, วิ่งจ๊อกกิ้ง, ขึ้นบันได, ปั่นจักรยาน. ในที่สุด เพื่อจะออกกำลังกายให้ได้ครบสมบูรณ์ คุณอาจยกน้ำหนักและฝึกกายบริหารแบบยืดกล้ามเนื้อบ้าง. อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพหลายคนไม่ได้เห็นด้วยอีกต่อไปกับแนวคิดที่ว่า ถ้าไม่ออกกำลังกายจนเจ็บตัวก็จะไม่ได้ประโยชน์. ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บและเพื่อไม่ให้เหนื่อยจนหมดเรี่ยวแรงและท้อใจจนมักจะทำให้เลิกออกกำลังกายไปเลย จงพยายามออกกำลังกายในระดับที่ไม่หนักเกินไป.
จงทำเป็นประจำ
คนที่ดูเหมือนว่าไม่เคยมีเวลาออกกำลังกายเลยก็คงจะยินดีรับคำแนะนำจากจดหมายข่าวเวลล์เนส. จดหมายข่าวนี้บอกว่า “การออกกำลังกายช่วงสั้น ๆ หลายช่วงในหนึ่งวันก็มีผลสะสมจนเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพได้. หมายความว่า การออกกำลังกายช่วงละ 10 นาทีสามช่วงก็มีประโยชน์เกือบจะพอ ๆ กับการออกกำลังกาย 30 นาทีติดต่อกัน.” ด้วยเหตุนี้ คุณไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานในการออกกำลังกายอย่างหักโหมเพื่อจะให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ. วารสารแพทยสมาคมแห่งอเมริกา รายงานว่า นักวิจัยพบว่า “การออกกำลังกายเบา ๆ จนถึงระดับปานกลาง รวมทั้งกิจกรรมที่ออกแรงหนัก ๆ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยลง.”
แต่ที่จำเป็นคือการทำเป็นประจำ. เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ คุณอาจจะอยากดูปฏิทินและกำหนดวันเวลาที่แน่นอนที่คุณจะออกกำลังกาย. หลังจากออกกำลังกายติดต่อกันสักสองสามสัปดาห์ คุณจะพบว่าสิ่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ. เมื่อคุณเริ่มได้รับผลประโยชน์ต่อสุขภาพ คุณอาจจะเฝ้ารอให้ถึงเวลาที่จะได้ออกกำลังก็เป็นได้.
ชีวิตที่ไม่อยู่นิ่งเป็นชีวิตที่ดีกว่า
แม้ว่าเป็นเรื่องจริงที่ว่า การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเพียงวันละ 30 นาทีก็อาจส่งผลดีต่อสุขภาพได้ แต่ตามคำแนะนำทางการแพทย์ล่าสุดบอกว่า ถ้าออกกำลังกายมากกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี. ตอนนี้มีคำแนะนำว่า เพื่อจะรักษาสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดให้อยู่ในระดับที่ดีที่สุด คุณควรออกกำลังให้ได้รวมกันแล้วถึง 60 นาทีทุกวัน. ดังที่กล่าวไปแล้ว คุณอาจทำได้โดยแบ่งการออกกำลังกายเป็นช่วงสั้น ๆ หลาย ๆ ช่วงตลอดวัน. วารสารแพทย์ประจำครอบครัวชาวแคนาดา (ภาษาอังกฤษ) อธิบายว่า “ข้อแนะในปัจจุบันคือควรออกกำลังให้ได้ถึง 60 นาทีในแต่ละวัน. เพื่อจะได้รับประโยชน์ทางสุขภาพในระดับหนึ่ง ดูเหมือนไม่สำคัญว่าจะแบ่งเวลาออกกำลังเป็นกี่ช่วง.” วารสารการแพทย์นี้ยังกล่าวด้วยว่า “แม้ว่าการศึกษาวิจัยหลายรายได้ยืนยันว่า การทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนัก ๆ มีส่วนทำให้ความเสี่ยงต่อการตายไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามลดลง แต่ปัจจุบันนี้มีการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่ออกแรงพอประมาณ.”
จุดสำคัญคือ ร่างกายของคุณได้รับการออกแบบให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวและทำงานที่ต้องออกแรงเป็นประจำ. รูปแบบชีวิตที่นั่งอยู่นาน ๆ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ. และไม่มีวิตามิน, ยา, อาหาร, หรือการผ่าตัดใด ๆ ที่จะเข้ามาทดแทนความจำเป็นที่คุณจะไม่อยู่เฉย ๆ. นอกจากนั้น เราทุกคนต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงที่ว่าการออกกำลังกายอย่างเพียงพอเป็นประจำ ไม่ว่าจะในระดับปานกลางหรือหนัก ๆ, ไม่ว่าจะทำเป็นช่วงสั้นหรือช่วงยาว ก็จำเป็นต้องใช้เวลา. เช่นเดียวกับที่คุณจัดเวลาไว้สำหรับการกินอาหารและการนอนหลับ นับว่าสำคัญที่คุณจะจัดเวลาไว้สำหรับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง. เรื่องนี้จำเป็นต้องมีวินัยกับตัวเองและการจัดระเบียบส่วนตัวอย่างดี.
การออกกำลังกายทุกชนิดต้องใช้ความพยายาม. อย่างไรก็ตาม ความไม่สะดวกและการเสียสละใด ๆ เพื่อจะรักษารูปแบบชีวิตที่ไม่นั่งอยู่เฉยถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับอันตรายของการใช้ชีวิตแบบนั่งอยู่เฉย ๆ ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต. จงอย่าอยู่เฉย, ทำอะไรให้เหงื่อออกบ้าง, ใช้กล้ามเนื้อของคุณ—แล้วคุณอาจจะมีชีวิตยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น!
[กรอบ/ภาพหน้า 8]
การออกกำลังกายที่หนักขึ้น
แม้ว่าการทำงานประจำวันที่ต้องออกแรงให้มากขึ้นพอประมาณก็อาจมีผลดีต่อสุขภาพ แต่นักวิจัยก็กล่าวว่าจะมีผลดีมากขึ้นถ้ามีการออกกำลังกายหนักขึ้น. ต่อไปนี้เป็นทางเลือกบางอย่าง.
ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนจะเริ่มออกกำลังกายอย่างหนัก.
● เดินเร็ว: การเดินเร็วเป็นวิธีหนึ่งที่สะดวกมากในการออกกำลังกาย. ที่คุณต้องมีก็แค่รองเท้าสำหรับเดินที่ใส่สบายและมีทางเดิน. ให้เดินก้าวยาว ๆ และเดินเร็วกว่าการเดินเล่น. จงพยายามเดินให้ได้ความเร็วประมาณสี่ถึงเก้ากิโลเมตรต่อชั่วโมง.
● วิ่งจ๊อกกิ้ง (วิ่งเหยาะ): พูดง่าย ๆ การวิ่งจ๊อกกิ้งก็คือการวิ่งช้า ๆ. มีการกล่าวว่าการวิ่งแบบนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อจะทำให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีแรงกระแทกสูง การวิ่งจ๊อกกิ้งจึงอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและข้อ. ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเตือนว่านักวิ่งจ๊อกกิ้งต้องมีรองเท้าที่เหมาะสม, มีการยืดกล้ามเนื้อ, และอย่าหักโหม.
● ขี่จักรยาน: ถ้าคุณมีจักรยาน คุณก็สามารถออกกำลังกายอย่างมีประสิทธิภาพได้. การขี่จักรยานสามารถทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้มากถึง 700 แคลอรีต่อชั่วโมง. แต่ก็เช่นเดียวกับการเดินและการวิ่งจ๊อกกิ้ง การขี่จักรยานก็มักต้องใช้ถนน. ด้วยเหตุนี้ คุณต้องตื่นตัวอยู่เสมอเมื่อคุณขี่จักรยาน จงใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ.
● ว่ายน้ำ: คุณสามารถบริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายได้โดยการว่ายน้ำ. การว่ายน้ำยังรักษาข้อของคุณให้ยืดหยุ่นอยู่เสมอ และเป็นประโยชน์ต่อหัวใจและหลอดเลือดของคุณพอ ๆ กับการวิ่งจ๊อกกิ้งเลยทีเดียว. เนื่องจากการว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายแบบที่นุ่มนวลกว่า จึงมักมีการแนะนำวิธีออกกำลังกายแบบนี้แก่คนที่เป็นโรคข้ออักเสบ, ปวดหลัง, หรือมีปัญหาด้านน้ำหนักตัว รวมทั้งหญิงมีครรภ์. อย่าว่ายน้ำตามลำพัง.
● กระโดด: การออกกำลังกายแบบแอโรบิคชนิดนี้ก็คือการกระโดดบนอุปกรณ์ที่เรียกว่าแทรมโปลีนขนาดเล็ก (แป้นติดสปริงสำหรับกระโดด). ผู้สนับสนุนการออกกำลังกายชนิดนี้อ้างว่าการกระโดดทำให้เลือดและน้ำเหลืองไหลเวียนดีขึ้น, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอด, อีกทั้งเสริมสร้างกล้ามเนื้อ, การประสานงาน, และการทรงตัว.
[กรอบ/ภาพหน้า 9]
การยกน้ำหนักและการยืดกล้ามเนื้อ
นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงแบบที่สมดุลนั้นควรมีการฝึกพละกำลังบางอย่างด้วย เช่น การยกน้ำหนัก. ถ้าทำอย่างถูกต้อง การยกน้ำหนักไม่เพียงแต่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อแต่ยังเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและลดไขมันในร่างกายอีกด้วย.
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนยังแนะนำให้ฝึกยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและการไหลเวียนของโลหิต. การยืดกล้ามเนื้อยังช่วยให้ข้อเคลื่อนไหวได้เต็มที่ด้วย.
อย่างไรก็ตาม เพื่อจะไม่เกิดการบาดเจ็บ ทั้งการยกน้ำหนักและการยืดกล้ามเนื้อต้องทำอย่างถูกวิธี. คุณอาจต้องการเรียนรู้หลักการพื้นฐานบางอย่างโดยอ่านคำแนะนำที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือปรึกษาแพทย์.
[กรอบ/ภาพ หน้า 9]
การออกกำลังกายกับจิตใจ
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงอย่างหนักอาจส่งผลกระทบต่อเคมีหลายชนิดในสมองที่เปลี่ยนแปลงอารมณ์ได้ เช่น โดพามีน, นอเรพีเนฟรีน, และเซโรโทนิน. นี่อาจเป็นเหตุผลที่หลายคนบอกว่ารู้สึกสดชื่นหลังจากออกกำลังกาย. การศึกษาวิจัยบางรายถึงกับบอกว่า คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่มักจะนั่งอยู่เฉย ๆ. ขณะที่การศึกษาเหล่านี้บางอย่างไม่สามารถยืนยันได้ แต่แพทย์หลายคนก็แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อลดความตึงเครียดและความกังวล.
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
กิจกรรมประจำวันที่อาจช่วยให้คุณมีสุขภาพดีขึ้นได้
ตามการศึกษาวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คนที่ไม่ค่อยออกแรงทำอะไรอาจจะได้รับประโยชน์ถ้าเขาเพียงแต่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันซึ่งต้องใช้แรงพอสมควรนั้นให้บ่อยขึ้น. คุณอาจต้องการลองทำสิ่งต่อไปนี้.
● คุณอาจเดินขึ้นบันไดแทนที่จะขึ้นลิฟต์ หรือขึ้นลิฟต์แต่ไม่ต้องไปถึงชั้นที่ต้องการ แล้วเดินขึ้นบันไดต่อจนถึงชั้นนั้น.
● ถ้าคุณใช้รถโดยสารสาธารณะ ให้ลงรถก่อนถึงที่หมายสักสองสามป้าย แล้วเดินต่อ.
● เมื่อคุณใช้รถยนต์ของตัวเอง พยายามทำให้เป็นนิสัยที่จะจอดรถห่างจากที่หมายของคุณระยะหนึ่ง. ในอาคารจอดรถที่มีหลายชั้น ให้จอดในชั้นที่ทำให้คุณต้องขึ้นบันได.
● ให้เดินไปด้วยขณะที่พูดคุยกัน. คุณไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่เสมอไปเวลาที่คุณพูดคุยตามสบายกับเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัว.
● ถ้าคุณทำงานแบบที่ต้องนั่งอยู่กับที่ จงหาโอกาสยืนทำงานบ้าง และเดินไปเดินมาเมื่อเป็นไปได้.
[กรอบ/ภาพหน้า 10]
คุณดื่มน้ำพอไหม?
การดื่มน้ำไม่เพียงพอระหว่างการออกกำลังกายอาจเป็นอันตราย. นั่นอาจทำให้เกิดความล้า, การประสานงานของร่างกายไม่ดี, และเป็นตะคริว. เมื่อคุณออกกำลังกาย คุณจะเสียเหงื่อเร็วกว่าปกติ และทำให้ปริมาตรเลือดของคุณลดลง. ถ้าคุณไม่ชดเชยน้ำในร่างกายที่เสียไปกับเหงื่อ หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิต. มีการแนะว่า เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ คุณควรดื่มน้ำก่อน, ระหว่าง, และหลังจากออกกำลังกาย.
[กรอบหน้า 11]
จงทะนุถนอมร่างกายของคุณ ซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า
คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนให้เรามีความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อร่างกายและชีวิตอันเป็นของประทานจากพระเจ้า. กษัตริย์ดาวิดแห่งชาติอิสราเอลโบราณเขียนว่า “ข้าพเจ้าถูกสร้างให้เกิดมาอย่างน่าพึงกลัวและน่าประหลาด.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:14) เช่นเดียวกับดาวิด คริสเตียนแท้แสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างสุดซึ้งต่อชีวิตซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า. พวกเขาถือว่าการดูแลร่างกายของตัวเองอย่างเหมาะสมเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง.
ประมาณสองพันปีที่แล้ว พระเจ้าทรงดลใจให้อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “การฝึกหัดกายนั้นมีประโยชน์ชั่วคราว, แต่ว่าธรรมนั้นมีประโยชน์ทุกอย่าง, คือมีคำสัญญาสำหรับชีวิตปัจจุบันนี้และชีวิตในอนาคต.” (1 ติโมเธียว 4:8) ถ้อยคำของเปาโลแสดงว่า การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์จริง แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับผลประโยชน์ถาวรอันเกิดจากการมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ คริสเตียนแท้จึงพยายามจะมีความสมดุลในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพให้ดี โดยไม่ยอมให้ “การฝึกหัดกาย” สำคัญยิ่งกว่าการนมัสการพระเจ้า.
คริสเตียนตระหนักว่า ยิ่งพวกเขามีสุขภาพดีเพียงไร พวกเขาก็ยิ่งมีโอกาสแสดงความรักต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนบ้านได้มากขึ้นเท่านั้น. การไม่อยู่นิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพดี เช่นเดียวกับการกินอาหารที่มีประโยชน์และการพักผ่อนให้เพียงพอ. เพื่อจะทะนุถนอมร่างกายอันเป็นของประทานจากพระเจ้า คริสเตียนแท้จึงพยายามรักษานิสัยที่ดีในแง่มุมเหล่านี้.