ถูกยึดไว้โดยความหวัง ถูกผลักดันโดยความรัก
“ยังคงมีความเชื่อ, ความหวัง, ความรัก, สามอย่างนี้; แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือความรัก.”—1 โกรินโธ 13:13, ล.ม.
1. อัครสาวกเปาโลให้คำเตือนอะไรแก่เรา?
อัครสาวกเปาโลเตือนเราว่า ความเชื่อของเรานั้นเหมือนกับเรือ อาจอับปางได้. ท่านกล่าวถึงการ “ยึดความเชื่อไว้, และมีใจวินิจฉัยผิดและชอบอันดี. สิ่งเหล่านั้นบางคนได้ละทิ้งเสียแล้ว, จึงเสียความเชื่อนั้นเหมือนเรืออับปาง.” (1 ติโมเธียว 1:19) ในศตวรรษแรกสากลศักราช เรือเดินทะเลสร้างด้วยไม้. ความปลอดภัยในการออกทะเลขึ้นอยู่กับคุณภาพของไม้และการต่อเรือที่ชำนาญ.
2. เหตุใดนาวาแห่งความเชื่อของเราต้องสร้างอย่างดี และในเรื่องนี้เราจำเป็นต้องทำอะไร?
2 สิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นนาวาแห่งความเชื่อของเราต้องลอยอยู่ได้ท่ามกลางสภาพทะเลแห่งมนุษยชาติที่ปั่นป่วน. (ยะซายา 57:20; วิวรณ์ 17:15) ดังนั้น นาวานี้ต้องสร้างอย่างดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเรา. เมื่อ “ทะเล” แห่งสังคมชาวยิวและสังคมชาวโรมันปั่นป่วนมากเป็นพิเศษสำหรับคริสเตียนในยุคแรก ยูดาเขียนดังนี้: “ท่านที่รักทั้งหลาย โดยเสริมสร้างตัวท่านเองขึ้นในความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่งของท่านและอธิษฐานด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จงรักษาตัวท่านให้อยู่ในความรักของพระเจ้า ขณะที่ท่านทั้งหลายรอคอยความเมตตาขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระเยซูคริสต์ พร้อมด้วยความหวังว่าจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (ยูดา 20, 21, ล.ม.) เนื่องจากยูดากล่าวถึงการต่อสู้เพื่อ ‘ความเชื่อซึ่งได้มอบให้แก่ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย’ วลี “ความเชื่ออันบริสุทธิ์ยิ่ง” จึงอาจหมายถึงขอบเขตทั้งสิ้นแห่งการสอนของคริสเตียน รวมทั้งข่าวดีแห่งความรอดด้วย. (ยูดา 3, ล.ม.) พระคริสต์ทรงเป็นรากฐานของความเชื่อนั้น. จำเป็นต้องมีความเชื่อที่เข้มแข็งเพื่อที่เราจะติดสนิทอยู่กับความเชื่อของคริสเตียนแท้.
การฟันฝ่าพายุแห่ง “ความกลัวลัทธินิกาย”
3. บางคนกำลังใช้ “ความกลัวลัทธินิกาย” อย่างไร?
3 ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยที่มีการฆ่าตัวตายหมู่, ฆาตกรรม, และการโจมตีของพวกผู้ก่อการร้ายซึ่งพัวพันอยู่กับลัทธินิกายซึ่งจำกัดอยู่ในวงเล็ก ๆ. จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า หลายคนซึ่งก็รวมทั้งพวกผู้นำทางการเมืองที่สุจริตใจได้แสดงความเป็นห่วงในอันที่จะปกป้องประชาชนคนบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เยาว์ จากลัทธินิกายที่เป็นอันตรายเช่นนั้น. ด้วยเหตุนี้เอง “พระเจ้าของระบบนี้” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมที่น่าชิงชังรังเกียจเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่บางคนเรียกว่าความกลัวลัทธินิกาย และมันกำลังใช้ความกลัวเช่นนี้โจมตีไพร่พลของพระยะโฮวา. (2 โกรินโธ 4:4, ล.ม.; วิวรณ์ 12:12) บางคนฉวยประโยชน์จากสถานการณ์แบบนี้เพื่อเร้าให้เกิดการต่อต้านงานของเรา. ในบางประเทศ พวกเขาทำการรณรงค์ซึ่งเปลือกนอกมุ่งหมายจะปกป้องประชาชนไว้จาก “ลัทธินิกายอันตราย” แต่กลับขนานนามพยานพระยะโฮวาอย่างผิด ๆ และโดยวิธีนี้เราจึงถูกกล่าวหาไปด้วยโดยปริยาย. การกล่าวหาอย่างนี้ได้ทำให้การให้คำพยานตามบ้านในบางประเทศทางยุโรปทำได้ยาก และได้ทำให้บางคนที่เคยศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเราเลิกศึกษา. ผลสืบเนื่องก็คือ เรื่องนี้ได้ทำให้พี่น้องของเราบางคนรู้สึกท้อใจ.
4. เหตุใดการต่อต้านไม่ควรทำให้เราท้อใจ?
4 แต่แทนที่จะทำให้เราท้อใจ การต่อต้านน่าจะทำให้เราเชื่อมั่นหนักแน่นยิ่งขึ้นว่าเรากำลังปฏิบัติศาสนาคริสเตียนแท้. (มัดธาย 5:11, 12) คริสเตียนในยุคแรกถูกกล่าวหาว่าเป็นลัทธิที่ปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง และพวกเขา “ถูกติเตียน” ทุกแห่ง. (กิจการ 24:5; 28:22) แต่อัครสาวกเปโตรรับรองกับเพื่อนร่วมความเชื่อโดยเขียนว่า “ดูก่อนพวกที่รัก, อย่าคิดประหลาดใจที่ท่านต้องมีความทุกข์อย่างสาหัสเป็นที่ลองใจของท่าน, เหมือนหนึ่งว่าเหตุการณ์แปลกประหลาดได้บังเกิดแก่ท่าน. แต่ว่าท่านทั้งหลายจงมีใจยินดีในการซึ่งท่านได้มีส่วนในความทุกข์ลำบากของพระคริสต์ เพื่อว่าเมื่อสง่าราศีของพระองค์จะปรากฏ, ท่านทั้งหลายจะได้โสมนัสยินดีเป็นอันมากด้วย.” (1 เปโตร 4:12, 13) สมาชิกผู้หนึ่งของคณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกเขียนคล้าย ๆ กันดังนี้: “พี่น้องของข้าพเจ้า จงถือว่าเป็นความยินดีทั้งสิ้นเมื่อท่านทั้งหลายเผชิญกับการทดลองต่าง ๆ เพราะอย่างที่ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่า คุณภาพของความเชื่อของท่านที่ผ่านการทดสอบแล้วทำให้เกิดความอดทน. แต่จงให้ความอดทนกระทำการจนสำเร็จครบถ้วน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ครบถ้วนและดีพร้อมไม่ขาดตกบกพร่องเลย.” (ยาโกโบ 1:2-4, ล.ม.) เช่นเดียวกับที่ลมพายุเป็นเครื่องทดสอบความปลอดภัยของเรือในการออกทะเล พายุแห่งการต่อต้านก็จะเผยให้เห็นข้ออ่อนแอต่าง ๆ ที่มีอยู่ในนาวาแห่งความเชื่อของเรา.
ความทุกข์ลำบากทำให้เกิดความอดทน
5. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าความเชื่อของเราจะตั้งมั่นคงภายใต้ความทุกข์ลำบาก?
5 คริสเตียนจะแน่ใจในความอดทนและความมั่นคงของความเชื่อของตนได้ก็ต่อเมื่อได้ฟันฝ่าพายุแห่งความทุกข์ลำบากแล้วเท่านั้น. ความอดทนของเราจะ “กระทำการจนสำเร็จครบถ้วน” ในทะเลที่มีพายุจัดก็ต่อเมื่อเรา “ครบถ้วนและดีพร้อมไม่ขาดตกบกพร่องเลย” ซึ่งก็รวมถึงความเชื่ออันเข้มแข็งด้วย. เปาโลเขียนดังนี้: “ในการทั้งปวงเราได้กระทำตัวให้เป็นที่ชอบ, เหมือนคนรับใช้ของพระเจ้า, โดยความเพียรอดทนเป็นอันมาก ในความทุกข์, ในความขัดสน, ในเหตุวิบัติ.”—2 โกรินโธ 6:4.
6. เหตุใดเราควร “ชื่นชมยินดีในความทุกข์ยาก” และความชื่นชมยินดีอย่างนี้เสริมความหวังของเราให้เข้มแข็งอย่างไร?
6 ควรถือว่าพายุแห่งความทุกข์ลำบากที่เราอาจเผชิญในบางครั้งนั้นเป็นโอกาสที่จะพิสูจน์ว่านาวาแห่งความเชื่อของเราหนักแน่นและมั่นคง. เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมดังนี้: “เราชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากของเราด้วยเพราะเรารู้ว่าความทุกข์ยากนั้นทำให้เกิดความอดทน และความอดทนทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้และการที่เราเห็นเช่นนั้นทำให้เกิดมีความหวังใจ และความหวังใจมิได้ทำให้เกิดความเสียใจเพราะผิดหวัง.” (โรม 5:3-5, ฉบับแปลใหม่) การยืนหยัดภายใต้การทดลองทำให้เราได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา. เมื่อเป็นอย่างนั้น ความหวังของเราจึงเข้มแข็งขึ้น.
เหตุที่บางคนกลายเป็นเรืออับปาง
7. (ก) ดังที่คำพูดของเปาโลแสดงให้เห็น บางคนตกอยู่ในสภาพเรืออับปางทางฝ่ายวิญญาณอย่างไร? (ข) บางคนในปัจจุบันได้หันเหไปจากความจริงอย่างไร?
7 เมื่อเปาโลเตือนถึงการตกอยู่ในสภาพ “เรืออับปาง” ท่านคิดถึงบางคนที่ได้ “ละทิ้ง” สติรู้สึกผิดชอบที่ดีและสูญเสียความเชื่อของตน. (1 ติโมเธียว 1:19) ในกลุ่มนี้ก็มีฮุเมนายและอาเล็กซันดะโรซึ่งได้ตกเข้าสู่การออกหาก หันเหไปจากความจริงและพูดจาหยาบหยาม. (1 ติโมเธียว 1:20, ล.ม. เชิงอรรถ; 2 ติโมเธียว 2:17, 18) ปัจจุบัน พวกผู้ออกหากที่ได้หันเหไปจากความจริงใช้คำพูดโจมตี “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า กัดมือที่เคยป้อนอาหารฝ่ายวิญญาณแก่เขา. บางคนเป็นเหมือน “ทาสชั่ว” ซึ่งพูดในทำนองว่า “นายของเรามาช้า.” (มัดธาย 24:44-49, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 4:14, 15) พวกเขาไม่ยอมรับว่าอวสานของระบบชั่วนี้ใกล้จะถึงแล้ว และวิพากษ์วิจารณ์ชนจำพวกทาสที่ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณในการที่พวกเขารักษาไว้ซึ่งความสำนึกถึงความเร่งด่วนในท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา. (ยะซายา 1:3) ผู้ออกหากเหล่านี้ประสบผลสำเร็จในการ “ทำลายความเชื่อของบางคน” ชักนำให้อับปางฝ่ายวิญญาณ.—2 ติโมเธียว 2:18.
8. อะไรที่เป็นเหตุให้บางคนนำนาวาแห่งความเชื่อของตนล่มลง หรือ เจาะ นาวา นั้นให้จมลง?
8 คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วคนอื่น ๆ ได้ทำให้นาวาแห่งความเชื่อของตนอับปางลงด้วยการละเลยสติรู้สึกผิดชอบของตนและหมกมุ่นในการแสวงหาความเพลิดเพลินอย่างไม่มีการเหนี่ยวรั้งและการผิดศีลธรรมทางเพศของโลกนี้. (2 เปโตร 2:20-22) ยังมีบางคนอีกด้วยที่เจาะนาวาแห่งความเชื่อของตนให้จมลง เนื่องจากในมุมมองของเขา ท่าเรือแห่งระบบใหม่ดูเหมือนจะยังไม่มาปรากฏที่ขอบฟ้า. เนื่องจากไม่สามารถคำนวณเวลาเกี่ยวกับความสำเร็จของคำพยากรณ์บางเรื่อง และใจก็คิดผัดเลื่อน “วันของพระยะโฮวา” ออกไป พวกเขาจึงละทิ้งการนมัสการแท้เสีย. (2 เปโตร 3:10-13, ล.ม.; 1 เปโตร 1:9) ไม่นานนักพวกเขาก็พบว่าตนกลับไปอยู่ในห้วงน้ำอันปั่นป่วนและขุ่นมัวของระบบปัจจุบัน. (ยะซายา 17:12, 13; 57:20) บางคนที่ได้เลิกสมทบกับประชาคมคริสเตียนยังคงเชื่อว่านี่เป็นศาสนาแท้. อย่างไรก็ตาม พวกเขาขาดความเพียรอดทนที่จำเป็นในการคอยท่าโลกใหม่ที่พระยะโฮวาพระเจ้าได้ทรงสัญญา. ชีวิตในอุทยานไม่ได้มาเร็วทันใจพวกเขา.
9. คริสเตียนบางคนที่อุทิศตัวแล้วกำลังทำอะไร และข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้น่าจะทำให้เราใคร่ครวญในเรื่องใด?
9 มีคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วบางคนในบางส่วนของโลกซึ่งดูเหมือนว่าได้ลดใบเรือของนาวาแห่งความเชื่อของตนลง. เรือยังคงลอยอยู่ แต่แทนที่จะเร่งรุดไปข้างหน้าเต็มกำลังความเชื่อ เรือเหล่านี้แล่นไปแบบเรื่อย ๆ สบาย ๆ. โดยถูกชักนำจากความหวังที่ว่า “อุทยานจะมาเร็ว ๆ นี้” บางคนพร้อมที่จะบากบั่นพยายามเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายนี้—กล่าวคือทำด้วยใจแรงกล้าในงานประกาศและเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำทุกรายการ รวมทั้งการประชุมหมวด, การประชุมพิเศษ, และการประชุมภาค. บัดนี้ เมื่อคิดว่าความหวังของเขากว่าจะสำเร็จเป็นจริงก็นานกว่าที่เขาคาดเอาไว้ เขาจึงไม่อยากจะทุ่มเทตัวเองเหมือนที่เคย. เรื่องนี้เห็นได้จากงานการประกาศที่ลดน้อยลง, ความไม่สม่ำเสมอในการเข้าร่วมประชุม, และการที่เขาพร้อมจะพลาดบางส่วนของรายการการประชุมหมวดหรือการประชุมภาค. ส่วนคนอื่นก็ใช้เวลามากขึ้นกับนันทนาการและการหาความสะดวกสบายทางวัตถุ. ข้อเท็จจริงเหล่านี้นำเราให้พิจารณาถึงสิ่งที่ควรเป็นแรงผลักดันในชีวิตของเราซึ่งสอดคล้องกับการอุทิศตัวของเราแด่พระยะโฮวา. ความมีใจแรงกล้าของเราในงานรับใช้ควรขึ้นอยู่กับความหวังที่ว่า “อุทยานจะมาเร็ว ๆ นี้” ไหม?
ความหวังซึ่งเปรียบกับสมอเรือ
10, 11. เปาโลเปรียบความหวังของเรากับอะไร และเหตุใดการเปรียบเทียบดังกล่าวจึงเหมาะสม?
10 เปาโลชี้ว่าพระยะโฮวาทรงสัญญาเกี่ยวกับพระพรที่จะมาทางอับราฮาม. จากนั้นท่านอัครสาวกอธิบายว่า “พระเจ้า . . . ทรงให้คำปฏิญาณแถมไว้ด้วย, เพื่อด้วยลักษณะสองประการนั้นที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ [พระดำรัสและคำปฏิญาณของพระองค์] ในซึ่งพระองค์จะตรัสมุสาไม่ได้นั้น, เราซึ่งได้หนีมาพึ่งนั้นจึงจะได้มีการหนุนน้ำใจมากมายที่จะฉวยเอาความหวังซึ่งมีอยู่ตรงหน้าเรา. ความหวังนั้นเรายึดไว้ต่างสมอของจิตต์วิญญาณ, เป็นความหวังทั้งแน่และมั่นคง.” (เฮ็บราย 6:17-19; เยเนซิศ 22:16-18) ความหวังที่ตั้งไว้ตรงหน้าคริสเตียนผู้ถูกเจิมคือชีวิตอมตะในสวรรค์. ปัจจุบัน ผู้รับใช้พระยะโฮวาส่วนใหญ่มีความหวังอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (ลูกา 23:43) หากปราศจากความหวังเช่นนั้น คนเราก็ไม่อาจมีความเชื่อได้.
11 สมอเรือเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่ทรงพลัง จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับยึดเรือไว้ให้อยู่กับที่และป้องกันการลอยไปตามกระแสน้ำ. ไม่มีนักเดินเรือคนใดยอมออกจากท่าโดยไม่มีสมอเรือ. เนื่องจากเปาโลเผชิญภัยเรือแตกหลายครั้ง ท่านทราบจากประสบการณ์ของตัวเองว่าชีวิตของนักเดินเรือบ่อยครั้งขึ้นอยู่กับสมอเรือ. (กิจการ 27:29, 39, 40; 2 โกรินโธ 11:25) ในศตวรรษแรก เรือไม่มีเครื่องยนต์ให้กัปตันเรือสามารถบังคับควบคุมเรือได้อย่างใจ. นอกจากเรือสงครามซึ่งใช้กำลังฝีพายแล้ว เรือทั้งหลายล้วนอาศัยลมเป็นกำลังขับเคลื่อนหลัก. หากเรือลำใดตกอยู่ในอันตรายอาจถูกซัดไปชนเข้ากับหิน ทางเดียวที่กัปตันจำเป็นต้องทำคือทิ้งสมอเรือเพื่อจะผ่านมรสุมร้ายไปได้อย่างปลอดภัย โดยหวังว่าสมอเรือจะไม่หลุดจากการเกาะท้องทะเล. ด้วยเหตุนั้น เปาโลเปรียบเทียบความหวังของคริสเตียนกับ “สมอของจิตต์วิญญาณ, เป็นความหวังทั้งแน่และมั่นคง.” (เฮ็บราย 6:19) เมื่อเราถูกโจมตีอย่างรุนแรงด้วยพายุแห่งการต่อต้านขัดขวางหรือประสบการทดลองอย่างอื่น ความหวังอันมหัศจรรย์ของเราเป็นเหมือนสมอเรือที่ทำให้ยืนหยัดมั่นคงในฐานะจิตวิญญาณซึ่งมีชีวิตอยู่ เพื่อนาวาแห่งความเชื่อของเราจะไม่ลอยไปเกยหาดทรายแห่งความสงสัยที่เป็นอันตรายหรือชนเข้ากับหินโสโครกแห่งการออกหากอันนำมาซึ่งความหายนะ.—เฮ็บราย 2:1; ยูดา 8-13.
12. เราจะหลีกเลี่ยงการเอาตัวออกห่างจากพระยะโฮวาได้อย่างไร?
12 เปาโลเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูว่า “พี่น้องทั้งหลาย จงระวังให้ดี ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ใดผู้หนึ่งในพวกท่านเกิดมีหัวใจชั่ว ซึ่งขาดความเชื่อโดยเอาตัวออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” (เฮ็บราย 3:12, ล.ม.) ในข้อความภาษากรีก วลี “เอาตัวออกห่าง” ตามตัวอักษรหมายถึง “ยืนห่าง ๆ” ซึ่งก็คือการออกหากนั่นเอง. แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงการอับปางอย่างสิ้นเชิงเช่นนั้น. ความเชื่อและความหวังจะช่วยเราให้ติดสนิทกับพระยะโฮวาแม้แต่ในช่วงที่มีพายุแห่งการทดสอบที่รุนแรงที่สุด. (พระบัญญัติ 4:4; 30:19, 20) ความเชื่อของเราจะไม่เป็นเหมือนเรือที่ถูกซัดไปซัดมาด้วยลมปากแห่งคำสอนออกหาก. (เอเฟโซ 4:13, 14) และด้วยความหวังที่เป็นเช่นสมอเรือของเรานั่นเอง เราจะสามารถฟันฝ่าพายุแห่งชีวิตในฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวา.
ถูกผลักดันโดยความรักและพระวิญญาณบริสุทธิ์
13, 14. (ก) เหตุใดการมีเฉพาะแต่สมอเรือแห่งความหวังของเรายังไม่เพียงพอ? (ข) อะไรควรเป็นแรงกระตุ้นในการถวายการรับใช้ศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวา และเพราะเหตุใด?
13 คริสเตียนจะไม่ก้าวรุดหน้าสู่ระบบใหม่ถ้าแรงกระตุ้นอย่างเดียวที่ทำให้รับใช้พระยะโฮวาคือความหวังที่จะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. ขณะที่รักษาสมอเรือแห่งความหวังไว้เพื่อเป็นปัจจัยที่ช่วยรักษาความแน่วแน่มั่นคงในชีวิต เขาจำเป็นต้องเสริมชีวิตและความเชื่อของเขาด้วยแรงผลักดันแห่งความรัก. เปาโลเน้นข้อเท็จจริงนี้เมื่อท่านเขียนว่า “ยังคงมีความเชื่อ, ความหวัง, ความรัก, สามอย่างนี้; แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือความรัก.”—1 โกรินโธ 13:13, ล.ม.
14 แรงกระตุ้นของเราในการถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ควรเป็นความรักจากหัวใจต่อพระยะโฮวา เพื่อตอบสนองความรักอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงแสดงต่อเรา. อัครสาวกโยฮันเขียนดังนี้: “ผู้ที่ไม่รักก็ไม่รู้จักพระเจ้า, เพราะว่าพระเจ้าทรงเป็นความรัก. ในข้อนี้แหละความรักของพระเจ้าจึงได้ปรากฏเกี่ยวกับเราทั้งหลาย, คือว่าพระเจ้าได้ทรงใช้พระบุตรองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลก, เพื่อเราทั้งหลายจะได้ชีวิตโดยพระบุตรนั้น. เราทั้งหลายเกิดความรัก. ก็เพราะพระองค์ได้ทรงรักเราก่อน.” (1 โยฮัน 4:8, 9, 19) ด้วยความสำนึกขอบคุณพระยะโฮวา ความสนใจหลักของเราไม่ควรจะเป็นเพื่อได้รับความรอดในส่วนของตัวเอง แต่เพื่อให้คำพยานถึงการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และพิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพอันชอบธรรมของพระองค์.
15. ความรักของเราต่อพระยะโฮวาเกี่ยวข้องอย่างไรกับประเด็นเกี่ยวกับพระบรมเดชานุภาพของพระองค์?
15 พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เรารับใช้พระองค์เพราะเรารักพระองค์ ไม่ใช่เพียงเพราะรักอุทยาน. สารานุกรมคัมภีร์ไบเบิลการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ)a กล่าวดังนี้: “พระยะโฮวาทรงยินดีด้วยความภาคภูมิในข้อเท็จจริงที่ว่า พระบรมเดชานุภาพและการเชิดชูพระบรมเดชานุภาพนั้นโดยสิ่งทรงสร้างของพระองค์อาศัยความรักเป็นฐานประการสำคัญ. พระองค์ทรงปรารถนาเฉพาะคนที่รักพระบรมเดชานุภาพของพระองค์เนื่องด้วยคุณลักษณะที่ดีของพระองค์และเนื่องจากพระบรมเดชานุภาพนั้นชอบธรรม คนที่เต็มใจอยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ยิ่งกว่าอำนาจอื่นใด. (1 โก. 29) พวกเขาเลือกรับใช้ภายใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์มากกว่าจะพยายามหมายพึ่งตัวเอง—ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยความรู้เกี่ยวกับพระองค์และความรัก, ความยุติธรรม, และสติปัญญาของพระองค์ ซึ่งพวกเขาตระหนักว่าสูงเยี่ยมกว่าของตนเองอย่างลิบลับ. (เพลง. 84:10, 11)”—เล่ม 2 หน้า 275.
16. ความรักที่มีต่อพระเยซูเป็นแรงผลักดันในชีวิตของเราอย่างไร?
16 ในฐานะคริสเตียน เรายังแสดงความรักต่อพระเยซูด้วยเพื่อตอบสนองความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา. เปาโลหาเหตุผลดังนี้: “ความรักของพระคริสต์ผลักดันเราอยู่ เพราะเราได้ลงความเห็นอย่างนี้ คือว่ามนุษย์ผู้หนึ่งตายเพื่อคนทั้งปวง; ด้วยเหตุนั้น ทุกคนจึงได้ตายแล้ว; และพระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อคนทั้งปวงเพื่อคนที่มีชีวิตจะไม่อยู่เพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์เพื่อพวกเขาและถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว.” (2 โกรินโธ 5:14, 15, ล.ม.) พระคริสต์ทรงเป็นรากฐานนั้นแหละที่ชีวิตฝ่ายวิญญาณ, ความเชื่อ, และความหวังของเราสร้างขึ้นบนนั้น. ความรักของเราต่อพระคริสต์เยซูรองรับความหวังของเราไว้และทำให้ความเชื่อของเรามั่นคง โดยเฉพาะในยามที่มีการทดสอบอย่างรุนแรง.—1 โกรินโธ 3:11; โกโลซาย 1:23; 2:6, 7.
17. แรงขับเคลื่อนซึ่งพระยะโฮวาทรงประทานแก่เรานั้นคืออะไร และกิจการ 1:8 และเอเฟโซ 3:16 แสดงความสำคัญของแรงดังกล่าวอย่างไร?
17 ขณะที่ความรักของเราต่อพระเจ้าและพระบุตรเป็นแรงผลักดันหลักในชีวิตเราฐานะเป็นคริสเตียน พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมสิ่งอื่นอีกที่ผลักดันเรา, ให้พลังแก่เรา, และให้ความเข้มแข็งแก่เราที่จะรุดหน้าต่อไปในงานรับใช้ของพระองค์. สิ่งนั้นคือพลังปฏิบัติการของพระองค์ หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์. คำภาษาฮีบรูและกรีกที่ได้รับการแปลว่า “วิญญาณ” โดยพื้นฐานแล้วหมายถึงการเคลื่อนไหวของอากาศซึ่งเกิดจากแรงต่าง ๆ อาทิเช่น ลม. เรือใบอย่างที่เปาโลเคยโดยสารอาศัยแรงที่ไม่ประจักษ์ด้วยตาของลมเพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทาง. ในทำนองเดียวกัน เราก็จำเป็นต้องอาศัยความรักและการดำเนินงานแห่งพลังปฏิบัติการที่ไม่ประจักษ์ด้วยตาของพระเจ้าเพื่อให้นาวาแห่งความเชื่อของเราผลักดันเราให้รุดหน้าต่อไปในการรับใช้พระยะโฮวา.—กิจการ 1:8; เอเฟโซ 3:16.
รุดหน้าต่อไปสู่จุดหมายปลายทางของเรา!
18. อะไรจะทำให้เราสามารถอดทนการทดสอบความเชื่อใด ๆ ที่อาจมีมาในอนาคต?
18 ความเชื่อและความรักของเราอาจถูกทดสอบอย่างรุนแรงก่อนที่เราจะบรรลุถึงระบบใหม่. แต่พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมสมอเรือที่ “ทั้งแน่และมั่นคง” ไว้ให้เรา ซึ่งก็คือความหวังอันยอดเยี่ยมของเรานั่นเอง. (เฮ็บราย 6:19; โรม 15:4, 13) เมื่อเราถูกกระหน่ำด้วยการต่อต้านหรือการทดลองอื่น ๆ เราอดทนได้ถ้าเรามีความหวังที่ยึดเราไว้อย่างมั่นคงดุจสมอเรือ. หลังจากพายุลูกหนึ่งสงบลง แต่ก่อนที่พายุอีกลูกหนึ่งจะเกิดขึ้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะเสริมสร้างความหวังของเราให้มั่นคงและทำให้ความเชื่อของเราเข้มแข็งขึ้น.
19. เราจะรักษานาวาแห่งความเชื่อของเราให้คงอยู่ในเส้นทางต่อ ๆ ไปจนบรรลุท่าเรือแห่งโลกใหม่ของพระเจ้าได้อย่างไร?
19 ก่อนที่จะกล่าวถึง “สมอของจิตต์วิญญาณ” เปาโลกล่าวว่า “เราปรารถนาให้ท่านแต่ละคนสำแดงความอุตส่าห์เช่นเดียวกัน [“ให้เร่งเร็วขึ้น,” เชิงอรรถ] เพื่อมีความมั่นใจเต็มที่เกี่ยวกับความหวังจนถึงที่สุด เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่เป็นคนเงื่องหงอย แต่เป็นผู้เลียนแบบคนเหล่านั้น ซึ่งโดยทางความเชื่อและความเพียรได้รับคำสัญญาเป็นมรดก.” (เฮ็บราย 6:11, 12, ล.ม.) โดยถูกผลักดันจากความรักต่อพระยะโฮวาและต่อพระบุตรและได้รับกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้เรารักษานาวาแห่งความเชื่อของเราให้คงอยู่ในเส้นทางต่อ ๆ ไปจนกระทั่งเราบรรลุถึงท่าเรือแห่งโลกใหม่ตามคำสัญญาของพระเจ้า.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
เพื่อเป็นการทบทวน
▫ เมื่อคำนึงถึงความเชื่อของเรา เปาโลให้คำเตือนอะไรแก่เรา?
▫ บางคนได้กลายเป็นเรืออับปางฝ่ายวิญญาณไปอย่างไร และคนอื่น ๆ กำลังช้าลงอย่างไร?
▫ คุณลักษณะอะไรที่เป็นแบบพระเจ้าซึ่งจำเป็นต้องเสริมเข้ากับความเชื่อของเรา?
▫ อะไรจะช่วยเราให้สามารถบรรลุท่าเรือแห่งโลกใหม่ตามคำสัญญาของพระเจ้า?
[รูปภาพหน้า 16]
นาวาแห่งความเชื่อของเราต้องสร้างอย่างดีเพื่อจะทนทานพายุแห่งชีวิตได้
[รูปภาพหน้า 17]
ความเชื่อของเราอาจเป็นเหมือนเรือที่อับปางได้
[รูปภาพหน้า 18]
ความหวังเป็นดุจสมอเรือสำหรับชีวิตของเราในฐานะคริสเตียน