‘จงให้ความก้าวหน้าของท่านปรากฏแจ้ง’
“ครั้นข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ข้าพเจ้าจึงเลิกธรรมเนียมอย่างเด็กเสีย.”—1 โกรินโธ 13:11.
1. ความเจริญเติบโตเป็นพยานหลักฐานถึงความน่าประหลาดเกี่ยวด้วยการสร้างของพระเจ้าอย่างไร?
จากไข่ฟองหนึ่งซึ่งเล็กมากจนต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เท่านั้นจึงจะเห็นได้ ปลาวาฬอาจเติบโตขึ้นมีความยาวกว่าสามสิบเมตร มีน้ำหนักมากกว่าแปดสิบตัน. ในทำนองเดียวกัน จากเมล็ดที่เล็กที่สุดชนิดหนึ่งต้นสนซีโคยาอาจเติบโตสูงกว่าเก้าสิบเมตร. จริงทีเดียว การเจริญเติบโตเป็นสิ่งอัศจรรย์ของชีวิต. ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ เราอาจจะปลูกและรดน้ำ แต่ “พระเจ้าผู้ทรงโปรดให้เติบโต.”—1 โกรินโธ 3:7, ฉบับแปลใหม่.
2. การเติบโตชนิดไหนที่ได้บอกไว้ล่วงหน้าในคัมภีร์ไบเบิล?
2 อย่างไรก็ดี มีการเติบโตอีกชนิดหนึ่งซึ่งยังความประหลาดใจพอ ๆ กัน. มันเป็นการเติบโตอย่างที่ผู้พยากรณ์ยะซายาบอกล่วงหน้า: “คนจิ๋วจะเพิ่มเป็นจำนวนพัน และคนตัวเล็กจะเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่. เราเอง ยะโฮวา จะเร่งกระทำการนี้ในเวลาอันควร.” (ยะซายา 60:22, ล.ม.) คำพยากรณ์ข้อนี้เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตแห่งไพร่พลของพระเจ้า และกำลังสมจริงในสมัยของเรา.
3. รายงานปีรับใช้ 1991 แสดงอย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงเร่งงานแห่งไพร่พลของพระองค์?
3 รายงานประจำปีรับใช้ 1991 แห่งกิจกรรมของพยานพระยะโฮวาทั่วโลกแสดงให้เห็นยอดใหม่ในจำนวนผู้ประกาศราชอาณาจักร 4,278,820 คน และมีผู้รับบัพติสมาทั้งสิ้นในระหว่างปี 300,945 คน. พร้อมด้วยคนใหม่หลั่งไหลเข้ามา จึงได้มีการตั้งประชาคมใหม่ขึ้น 3,191 ประชาคม ขณะเดียวกันก็จำต้องมีหมวดและภาคเพิ่มขึ้นตามลำดับ. นั่นก็คือทุกวันมีประชาคมใหม่ตั้งขึ้นมากกว่าแปดแห่ง มีหมวดใหม่เพิ่มเข้ามาเกือบทุกสองวัน. ช่างเป็นการเจริญเติบโตอย่างน่าทึ่งจริง ๆ! เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาทรงเร่งสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว และพระองค์ทรงอวยพรความพยายามแห่งไพร่พลของพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 127:1.
เวลาสำหรับการตรวจสอบตัวเอง
4. เมื่อเรามองไกลในอนาคต มีคำถามอะไรบ้างที่ต้องพิจารณา?
4 แม้รู้สึกอบอุ่นใจที่ได้แลเห็น, พระพรเช่นนี้นำความรับผิดชอบบางประการให้เราด้วย. จะมีบุคคลที่พร้อมด้วยวุฒิภาวะและเต็มใจเพียงพอไหมที่จะดูแลเอาใจใส่ต่อความต้องการฝ่ายวิญญาณของคนใหม่เหล่านี้? ขณะที่เรามองไกลในอนาคต มันเป็นเรื่องใหญ่โตมากเมื่อคิดถึงความจำเป็นต้องมีไพโอเนียร์, ผู้รับใช้ที่รับการแต่งตั้ง, ผู้ปกครอง, และผู้ดูแลเดินทาง เพื่อดูแลให้ทันกับความเจริญเติบโตและการแผ่ขยาย อีกทั้งความต้องการด้านจำนวนคนอาสาสมัครในสำนักงานสาขาและสำนักเบเธลที่อยู่ทั่วโลกเพื่อหนุนหลังกิจการนั้น. จำนวนคนมากมายเช่นนี้จะมาจากที่ไหน? ไม่ต้องสงสัย การเก็บเกี่ยวนั้นใหญ่โตนัก. แต่ใครล่ะในทุกวันนี้อยู่ในฐานะจะเอาใจใส่ดูแลบรรดาคนงานทั้งสิ้นที่จำเป็นเพื่องานเก็บเกี่ยว?—มัดธาย 9:37, 38.
5. มีสภาวการณ์อะไรในภูมิภาคบางส่วนอันเนื่องมาแต่การเติบโตที่รวดเร็ว?
5 ยกตัวอย่าง มีรายงานแจ้งมาว่า ในภูมิภาคบางส่วน มีประชาคมซึ่งมีผู้ประกาศราชอาณาจักรนับร้อยคน แต่มีผู้ปกครองหนึ่งคนกับผู้รับใช้ที่ถูกแต่งตั้งหนึ่งหรือสองคนเท่านั้นที่รับใช้ผู้ประกาศเหล่านั้น. บางครั้งผู้ปกครองหนึ่งคนต้องทำงานช่วยสองประชาคม. ในบางท้องที่ ความต้องการคริสเตียนผู้รับใช้ที่มีคุณวุฒิเพื่อนำการศึกษาพระคัมภีร์กับคนสนใจนั้นมีมากจริง ๆ จนต้องจัดให้คนใหม่รอไปก่อน กระทั่งมีคนจะนำการศึกษากับเขา. บางพื้นที่มีการตั้งประชาคมใหม่ในอัตราที่เร็วมาก ซึ่งทำให้สาม, สี่, หรือห้าประชาคมด้วยซ้ำใช้หอประชุมแห่งเดียวกัน. บางทีคุณได้เห็นการเจริญเติบโตอย่างนี้ในท้องถิ่นของคุณอยู่แล้ว.
6. เหตุใดการสำรวจดูตัวเองจึงเหมาะกับเวลา?
6 สิ่งที่กล่าวข้างต้นบอกอะไรแก่เรา? เมื่อคำนึงถึงกาลเวลา พวกเราทุกคนจำต้องตรวจสอบสถานะของตัวเองเพื่อดูว่าเราใช้เวลารวมทั้งสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ไปอย่างดีที่สุดหรือไม่ เพื่อตอบสนองความจำเป็น. (เอเฟโซ 5:15-17) อัครสาวกเปาโลได้เขียนถึงคริสเตียนชาวฮีบรูสมัยศตวรรษที่หนึ่งว่า “ด้วยว่า ครั้นท่านทั้งหลายควรจะเป็นครูได้แล้ว แต่ท่านก็ยังต้องการให้คนอื่นสอนท่านอีกให้รู้ถึงประถมโอวาทตอนต้น ๆ ของพระเจ้า และท่านทั้งหลายกลายเป็นคนที่ยังต้องการน้ำนม ไม่ใช่อาหารแข็ง.” (เฮ็บราย 5:12) ดังระบุในถ้อยคำเหล่านั้น คริสเตียนแต่ละคนจำเป็นต้องเติบโตเช่นกัน. และนับว่ามีอันตรายจริง ๆ ที่คนเราจะอ้อยอิ่งในสภาพทารกฝ่ายวิญญาณแทนที่จะก้าวหน้าถึงขั้นอาวุโสฝ่ายคริสเตียน. ประสานกับเรื่องนี้ เปาโลกระตุ้นเราดังนี้: “จงพิจารณาตัวของท่านเองว่า ท่านตั้งอยู่ในความเชื่อหรือไม่.” (2 โกรินโธ 13:5) คุณได้ตรวจสอบตัวเองไหมเพื่อจะรู้ว่าคุณเติบโตทางด้านวิญญาณหรือไม่ นับตั้งแต่คุณได้รับบัพติสมาเป็นต้นมา? หรือคุณเคยเป็นอย่างไรก็ยังเป็นอย่างนั้น? แต่คนเราจะบอกได้โดยวิธีใด?
“ธรรมเนียมอย่างเด็ก”
7. เพื่อความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณจะปรากฏแจ้ง เราต้องทำอะไร?
7 อัครสาวกเปาโลพูดว่า “เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้พูดอย่างเด็ก ได้คิดอย่างเด็ก ได้ใคร่ครวญหาเหตุผลอย่างเด็ก; แต่ครั้นข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แล้ว ข้าพเจ้าจึงเลิกธรรมเนียมอย่างเด็กเสีย.” (1 โกรินโธ 13:11) ในความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ พวกเราทุกคนครั้งหนึ่งเคยเป็นเหมือนเด็กในด้านการคิดและการกระทำ. แต่เพื่อความก้าวหน้าจะปรากฏแจ้ง เราจำต้องเลิก “ธรรมเนียมอย่างเด็ก” ดังที่เปาโลกล่าวไว้. ธรรมเนียมเหล่านี้ได้แก่อะไรบ้าง?
8. ตามถ้อยแถลงของเปาโลที่เฮ็บราย 5:13, 14, ลักษณะอาการอย่างหนึ่งของทารกฝ่ายวิญญาณได้แก่อะไร?
8 ก่อนอื่น โปรดสังเกตคำพูดของเปาโลที่เฮ็บราย 5:13, 14, (ล.ม.) “ทุกคนที่ยังกินน้ำนมอยู่ย่อมไม่คุ้นเคยกับถ้อยคำแห่งความชอบธรรม เพราะเขาเป็นทารกอยู่. แต่อาหารแข็งเป็นของผู้อาวุโส ของผู้ซึ่งได้ฝึกฝนความสามารถของตนในการสังเกตเข้าใจด้วยการใช้เพื่อจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด.” คุณ ‘คุ้นเคยกับการใช้ถ้อยคำแห่งความชอบธรรม’ ไหม? คุณรู้คัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นพระคำของพระเจ้าดีพอไหม ถึงขนาดจะใช้พระคำ “รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด”? เปาโลบอกว่าคนอาวุโสสามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะเขาได้รับ “อาหารแข็ง” เป็นประจำ. ดังนั้น ความปรารถนาหรือความอยากได้อาหารแข็งฝ่ายวิญญาณของคนเราจึงเป็นสิ่งบ่งชี้ที่ดีว่าคนนั้นได้เติบโตขึ้นทางด้านวิญญาณหรือไม่ หรือยังเป็นแค่ทารกฝ่ายวิญญาณอย่างเดิม.
9. ความอยากอาหารฝ่ายวิญญาณของคนเราเป็นเครื่องชี้บอกการก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณอย่างไร?
9 เช่นนั้นแล้ว ความอยากฝ่ายวิญญาณของคุณเป็นอย่างไร? คุณมีแง่คิดเช่นไรต่ออาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอุดมบริบูรณ์ ซึ่งพระยะโฮวาทรงจัดให้เป็นประจำ โดยทางหนังสือคู่มือศึกษาพระคัมภีร์ และการประชุมคริสเตียนในรอบสัปดาห์และการประชุมหมวด การประชุมภาค? (ยะซายา 65:13) ไม่ต้องสงสัย คุณปีติยินดีมากถ้ามีการออกหนังสือใหม่คราวการประชุมภาคประจำปี. แต่คุณทำอะไรกับหนังสือใหม่เหล่านั้นเมื่อกลับถึงบ้าน? คุณทำอย่างไรเมื่อวารสารหอสังเกตการณ์ หรือตื่นเถิด ฉบับล่าสุดมาถึงมือคุณ? คุณปลีกเวลาอ่านไหม หรือว่าคุณเพียงแต่พลิกผ่าน ๆ ไปแล้วดูแค่ชื่อเรื่อง และเก็บกองสุมไว้บนชั้นหนังสือ? อาจตั้งคำถามคล้ายกันนี้ในเรื่องการประชุมคริสเตียน. คุณเข้าร่วมการประชุมทุกวาระเป็นประจำไหม? คุณเตรียมตัวและเตรียมเข้าส่วนในการประชุมไหม? ดูเหมือนว่า บางคนกลายเป็นคนมีนิสัยไม่ดีในการรับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณโดยอ่านอย่างเผิน ๆ และเร่งรีบ. ช่างแตกต่างกันเพียงไรกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารักพระนามของพระองค์มากสักเท่าใด! เป็นข้อภาวนาของข้าพเจ้าวันยังค่ำ.” กษัตริย์ดาวิดได้ตรัสอีกว่า “ข้าพเจ้าจะขอบพระเดชพระคุณพระองค์ในมหาสันนิบาต จะถวายคำสรรเสริญแก่พระองค์ท่ามกลางมหาชน.” (บทเพลงสรรเสริญ 35:18; 119:97) เห็นได้ชัดว่า ระดับความหยั่งรู้ค่าที่เรามีต่อการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณนั้นเป็นตัวบ่งชี้ถึงการก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของเราทีเดียว.
10. มีการระบุลักษณะอาการอะไรของทารกฝ่ายวิญญาณที่เอเฟโซ 4:14?
10 เปาโลได้ชี้อาการอีกอย่างหนึ่งของทารกฝ่ายวิญญาณเมื่อท่านเตือนสติดังนี้: “เพื่อเราจะไม่เป็นเด็กต่อไป ถูกซัดไปซัดมา และหันไปเหมาด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง และด้วยเล่ห์กลของมนุษย์ ตามอุบายฉลาดอันเป็นการล่อลวง.” (เอเฟโซ 4:14) อย่างที่บิดามารดาย่อมตระหนักดี เด็กใคร่รู้ใคร่เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง. ในทางหนึ่งก็ถือว่าเป็นลักษณะนิสัยที่ดี เพราะส่งเสริมเด็กที่จะสำรวจและเรียนรู้ แล้วค่อย ๆ พัฒนาเติบโตเป็นผู้อาวุโส. อย่างไรก็ดี มีอันตรายอยู่ที่ใจวอกแวก หันไปสนใจทางนั้นบ้าง ทางนี้บ้าง. ร้ายกว่านั้น เนื่องจากขาดประสบการณ์ ความอยากรู้อยากลองจึงมักทำให้เด็กตกเข้าสู่ความยุ่งยากสาหัส เกิดอันตรายแก่ตัวเองและแก่คนอื่นเสียด้วยซ้ำ.ทั้งนี้ก็เป็นจริงกับทารกฝ่ายวิญญาณเช่นเดียวกัน.
11. (ก) เปาโลนึกถึงสิ่งใดเมื่อท่านใช้คำพูด “ลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง”? (ข) ทุกวันนี้ เราปะทะกับ ‘ลม’ ชนิดใด?
11 ถึงกระนั้น เปาโลนึกถึงอะไรเมื่อท่านพูดว่า ทารกฝ่ายวิญญาณนั้นถูกซัดไปซัดมา “ด้วยลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง”? “ลม” ณ ที่นี้แปลมาจากคำกรีก อาʹเนมอส ซึ่งหนังสือความเห็นเชิงวิจารณ์แห่งนานาชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือน “ถูกเลือกเอามาให้ตรงกับความคิดเห็นในเชิงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นไปได้.” นี้แสดงภาพชัดในถ้อยคำของเปาโลต่อจากนั้นที่ว่า “ด้วยเล่ห์กลของมนุษย์.” คำ “เล่ห์กล” ในรากศัพท์ภาษาเดิมหมายถึง “ลูกเต๋า” หรือ “การเล่นลูกเต๋า” ซึ่งได้แก่การเล่นเสี่ยงโชคนั้นเอง. จุดสำคัญของเรื่องนี้คือว่า เราเผชิญกับแนวคิดใหม่และการแสวงหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ ซึ่งดูเหมือนว่าไม่มีอันตราย, น่าลอง, และคุ้มค่าด้วยซ้ำ. ถ้อยคำของเปาโลใช้กับเรื่องที่เกี่ยวข้องความเชื่อของเราเป็นประการสำคัญ—ขบวนการส่งเสริมความปรองดองท่ามกลางคริสต์จักรทั่วโลก, จุดมุ่งหมายด้านสังคมและการเมือง, และอื่น ๆ ทำนองนั้น. (เทียบกับ 1 โยฮัน 4:1.) แต่หลักการนั้นใช้ได้กับความคลั่งไคล้และตื่นตามสมัยนิยมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแห่งโลกนี้ เช่น แบบแผนการแต่งกาย, การบันเทิง, อาหาร, สุขอนามัย, และการออกกำลังกายเป็นกิจวัตร และอื่น ๆ. เนื่องจากขาดประสบการณ์และการวินิจฉัยที่ดี ทารกฝ่ายวิญญาณจึงอาจไขว้เขวและติดตามสิ่งเหล่านี้เกินควร และด้วยเหตุนั้น การทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณและการทำให้พันธกรณีเยี่ยงคริสเตียนที่สำคัญกว่านั้นสำเร็จนั้นจึงอาจชะงักไป.—มัดธาย 6:22-25.
12. ในเรื่องความรับผิดชอบ เด็กในวัยเยาว์ต่างกันอย่างไรกับผู้ใหญ่?
12 ธรรมเนียมหรืออาการอีกอย่างหนึ่งของเด็กเล็ก ๆ คือ เขามักจะต้องการความช่วยเหลือและความเอาใจใส่อยู่ร่ำไป. เขาไม่ตระหนักหรือคำนึงถึงความรับผิดชอบ วัยเด็กเป็นช่วงชีวิตเมื่อเกือบทุกสิ่งเป็นการสนุกและการเล่น. ดังที่เปาโลกล่าวไว้ว่า พวกเขา ‘พูดอย่างเด็ก, คิดอย่างเด็ก, ใคร่ครวญหาเหตุผลอย่างเด็ก.’ เด็กทึกทักเอาว่าคนอื่นจะดูแลพวกเขา. อาจกล่าวได้ว่าทารกฝ่ายวิญญาณก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน. เมื่อคนใหม่ขึ้นบรรยายจากเวทีครั้งแรก หรือเริ่มออกไปในงานประกาศครั้งแรก บิดามารดาฝ่ายวิญญาณยินดีทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือ. แต่จะเป็นอย่างไรถ้าคนใหม่ยังคงหมายพึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวและปรากฏว่าไม่สามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองได้? เห็นได้ชัดว่าขาดเสียซึ่งการใช้ตัวเองให้เป็นประโยชน์.
13. ทำไมแต่ละคนต้องเรียนที่จะแบกภาระของตัวเอง?
13 ในเรื่องนี้จงนึกถึงคำแนะนำของอัครสาวกเปาโลที่ว่า แม้ว่าเราควร “แบกภาระหนักของกันและกันต่อไป” กระนั้น “แต่ละคนจะแบกภาระของตนเอง.” (ฆะลาเตีย 6:2, 5, ล.ม.) ถูกแล้ว ที่คนเราเรียนที่จะแบกความรับผิดชอบผ่ายคริสเตียนของตนนั้นจำต้องใช้เวลาและความบากบั่น ทั้งอาจหมายถึงการเสียสละบางสิ่งบางอย่างด้วย. อย่างไรก็ดี คงเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงทีเดียว หากปล่อยตัวเองพัวพันกับความสนุกสนานและการละเล่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ, การท่องเที่ยว, ของกระจุกกระจิกเพื่อความสะดวก, หรือแม้แต่การมุ่งงานอาชีพโดยไม่จำเป็น ซึ่งผู้นั้น ‘ยืนชมอยู่นอกสนาม’ โดยไม่อยากจะเพิ่มส่วนของตนในงานทำให้คนเข้ามาเป็นสาวก หรือไม่อยากก้าวหน้าและไม่อยากมีหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายวิญญาณ. สาวกยาโกโบกล่าวเตือนว่า “จงเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามพระคำ และไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ฟังเท่านั้น โดยหลอกตัวเองด้วยการคิดหาเหตุผลผิด ๆ.”—ยาโกโบ 1:22, ล.ม.; 1 โกรินโธ 16:13.
14. ทำไมเราไม่ควรรู้สึกพอใจกับการแสดงออกซึ่งลักษณะอาการเยี่ยงทารกฝ่ายวิญญาณ?
14 ใช่แล้ว มีลักษณะอาการหลายอย่างที่มองเห็นได้ง่ายซึ่งชี้ถึงความแตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่. อย่างไรก็ตาม ตามถ้อยคำของเปาโล สิ่งสำคัญคือ เราควรเลิกธรรมเนียมอย่างเด็กไปทีละเล็กละน้อยแล้วเติบโตขึ้น. (1 โกรินโธ 13:11; 14:20) มิฉะนั้น เราอาจเป็นเด็กปัญญาอ่อนฝ่ายวิญญาณก็ได้. แต่คนเราจะทำความก้าวหน้าโดยวิธีใด? มีอะไรเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการคงความเติบโตฝ่ายวิญญาณจนกระทั่งเป็นผู้อาวุโส?
วิธีทำให้ความก้าวหน้าปรากฏแจ้ง
15. มีขั้นตอนพื้นฐานอะไรบ้างในขบวนการเติบโต?
15 เอาละ การเจริญเติบโตตามธรรมชาติบังเกิดขึ้นโดยวิธีใดในโลกนี้? คำชี้แจงในสารานุกรม เวิลด์ บุ๊ก ว่าดังนี้: “แต่ละคนเริ่มชีวิตขณะที่เป็นเซลล์เดียว. เซลล์นี้รับสารต่าง ๆ เข้าไปแล้วเปลี่ยนเป็นวัสดุก่อสร้างซึ่งเซลล์จำต้องมีเพื่อเติบโต. ดังนั้น เซลล์เดียวนี้เติบโตจากภายใน. เซลล์นี้สามารถทวีจำนวน และแบ่งตัวเกิดเป็นเซลล์อื่น ๆ ขึ้นมา. ขบวนการก่อตัว, การเพิ่มทวี, และการแบ่งตัวนี้แหละคือการเจริญเติบโต.” จุดที่น่าเอาใจ ณ ที่นี้คือความเติบโตนั้นเป็นมาจากภายใน. เมื่อได้รับอาหารบำรุงที่เหมาะสม ถูกดูดซึมเข้าไปและถูกนำไปใช้เลี้ยงร่างกาย แล้วผลคือความเติบโต. ทั้งนี้เห็นได้ชัดในทารกแรกเกิด. อย่างที่ทราบกัน เด็กเกิดใหม่จะกินอาหารประเภทที่ปรุงสำเร็จอย่างพิเศษ คือนมที่อุดมด้วยไขมันและโปรตีน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของร่างกาย. ผลเป็นอย่างไร? การเติบใหญ่ของทารกวัยขวบแรกนั้นเจริญรวดเร็วมาก ทั้งในด้านน้ำหนักตัวหรือความสูง ซึ่งไม่มีช่วงขวบปีใดในชีวิตจะเทียบกันได้กับสัดส่วนนั้น.
16. การเติบโตแบบไหนซึ่งแลเห็นได้ในนักศึกษาพระคัมภีร์คนใหม่ ๆ เป็นส่วนใหญ่ และการเติบโตถึงขีดนั้นเป็นไปได้โดยวิธีใด?
16 มีหลายอย่างที่เราเรียนได้จากขบวนการเติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งเราจะนำมาใช้กับการก้าวหน้าของเราฝ่ายวิญญาณจากพื้นฐานไปจนถึงการเป็นผู้อาวุโส. ประการแรก โครงการรับอาหารบำรุงเลี้ยงเป็นสิ่งจำเป็น. นึกย้อนตอนที่คุณเริ่มต้นศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. ถ้าคุณเป็นเหมือนคนอื่นส่วนใหญ่ คุณอาจไม่เคยรู้อะไรเลยเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า. แต่ว่าแต่ละสัปดาห์คุณได้เตรียมบทเรียนและศึกษาพระคัมภีร์ แล้วไม่นานเท่าไรคุณก็ได้รับความเข้าใจหลักคำสอนพื้นฐานทั้งหมดของคัมภีร์ไบเบิล. คุณต้องยอมรับว่านั้นเป็นการเติบโตอันน่าประหลาด และทั้งหมดเป็นผลที่มาจากการบำรุงเลี้ยงด้วยพระคำของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ.
17. ทำไมการจัดโครงการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็น?
17 แต่เวลานี้ล่ะเป็นอย่างไร? คุณยังติดตามโครงการรับอาหารบำรุงเลี้ยงเป็นประจำไหม? คนเราไม่ควรคิดว่าเพียงเพราะตนได้รับบัพติสมาแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะศึกษาเป็นประจำและอย่างมีระบบอีกต่อไปเพื่อรับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณที่บำรุงเลี้ยงเรา. แม้ว่าติโมเธียวเป็นถึงคริสเตียนผู้ดูแลที่อาวุโส เปาโลก็ยังกระตุ้นท่านดังนี้: “จงไตร่ตรองสิ่งเหล่านี้ จงฝังตัวในสิ่งเหล่านี้; เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะได้ปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง.” (1 ติโมเธียว 4:15, ล.ม.) พวกเราแต่ละคนจำต้องกระทำเช่นเดียวกันมากยิ่งกว่านั้นเพียงใด! หากคุณใฝ่ใจจะทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณให้ปรากฏแจ้ง ความบากบั่นพยายามที่จะทำเช่นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น.
18. ความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของคนเราปรากฏแจ้งโดยวิธีใด?
18 การให้ความก้าวหน้าปรากฏแจ้งไม่หมายถึงการมุ่งเพียงแต่จะโอ้อวดสิ่งที่ตนรู้หรือพยายามทำให้คนอื่นทึ่ง. พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก. เมืองซึ่งสร้างไว้บนภูเขาจะปิดบังไว้ไม่ได้” และ “ด้วยว่าใจบริบูรณ์ด้วยอะไร ปากก็พูดอย่างนั้น.” (มัดธาย 5:14; 12:34) เมื่อหัวใจและจิตใจของเราเต็มไปด้วยสิ่งดี ๆ เกี่ยวด้วยพระคำของพระเจ้า เราอดไม่ได้ แต่จะทำให้สิ่งนี้ปรากฏแจ้งโดยสิ่งที่เราทำและพูด.
19. เราควรตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไรในด้านความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ และด้วยการคำนึงถึงผลอะไร?
19 ดังนั้น จึงมีคำถามว่า คุณศึกษาพระคัมภีร์และเข้าร่วมการประชุมของคริสเตียนเป็นประจำไหมเพื่อรับอาหารฝ่ายวิญญาณที่ดีซึ่งกระตุ้นความเติบโตฝ่ายวิญญาณจากภายใน? อย่าพอใจอยู่แค่การเป็นผู้เฝ้าสังเกตเฉย ๆ เมื่อมาถึงความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ. จงดำเนินการอย่างจริงจังให้แน่ใจว่าคุณกำลังรับเอาประโยชน์เต็มที่จากอาหารฝ่ายวิญญาณที่พระยะโฮวาโปรดจัดเตรียมไว้อย่างบริบูรณ์. ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งซึ่ง ‘ยินดีในพระบัญญัติของพระยะโฮวา และอ่านบัญญัติของพระองค์ทั้งกลางวันและกลางคืนด้วยการออกเสียงเบา ๆ’ แล้วจะมีการพูดถึงคุณเช่นกันว่า “เขาเป็นดุจดังต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมทางน้ำ ซึ่งเกิดผลตามฤดูกาล ใบก็ไม่รู้เหี่ยวแห้ง และบรรดากิจการที่เขากระทำนั้นก็เจริญขึ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 1:2, 3) แต่จะทำประการใดได้เพื่อแน่ใจได้ว่าคุณจะทำความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณต่อ ๆ ไป? เรื่องนี้เราจะพิจารณากันในบทความถัดไป.
คุณตอบได้ไหม?
▫ เหตุใดจึงเหมาะกับเวลาที่เราพึงตรวจดูความก้าวหน้าของเราฝ่ายวิญญาณ?
▫ ความเติบโตฝ่ายวิญญาณเกี่ยวข้องอย่างไรกับการอยากอาหารฝ่ายวิญญาณ?
▫ คำพูดที่ว่า “ลมปากแห่งคำสั่งสอนทุกอย่าง” หมายถึงอะไร?
▫ ทำไมแต่ละคนต้องแบกภาระของตัวเอง?
▫ จะบรรลุความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณได้อย่างไร?
[รูปภาพหน้า 10]
คุณปลีกเวลาอ่านหนังสือคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลไหม?