บทความศึกษา 46
คุณดูแลรักษา ‘ความเชื่อที่เป็นโล่ใหญ่’ ของคุณอยู่ไหม?
“ให้เอาความเชื่อเป็นโล่ใหญ่”—อฟ. 6:16
เพลง 119 เราต้องมีความเชื่อ
ใจความสำคัญa
1-2. (ก) ตามที่บอกไว้ในเอเฟซัส 6:16 ทำไมเราต้องมี ‘ความเชื่อที่เป็นโล่ใหญ่’? (ข) เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามอะไรบ้าง?
คุณมี ‘ความเชื่อที่เป็นโล่ใหญ่’ ไหม? แน่นอน คุณต้องมีแน่ ๆ (อ่านเอเฟซัส 6:16) เหมือนกับโล่ใหญ่ที่ป้องกันอวัยวะส่วนใหญ่ของร่างกาย ความเชื่อก็จะป้องกันคุณจากสิ่งที่ไม่ดีในโลกนี้ เช่น การทำผิดศีลธรรม ความรุนแรง และสิ่งอื่นที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของพระเจ้า
2 แต่เพราะเราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” ความเชื่อของเราจะถูกทดสอบอยู่เรื่อย ๆ (2 ทธ. 3:1) ฉะนั้นคุณต้องตรวจสภาพโล่หรือความเชื่อของคุณว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือเปล่า แต่คุณจะทำได้อย่างไร? คุณจะถือโล่ให้แน่นและรักษาความเชื่อให้เข้มแข็งอยู่เสมอได้อย่างไร? ให้เรามาดูคำตอบด้วยกัน
ตรวจสภาพโล่ของคุณอย่างละเอียด
3. ทหารทำอะไรกับโล่ของเขา? และทำไม?
3 ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ทหารมักจะมีโล่ที่หุ้มด้วยหนัง เขาจะทาน้ำมันบนโล่เพื่อรักษาหนังและไม่ให้ส่วนที่เป็นโลหะขึ้นสนิม และถ้าเขาเจอว่ามีจุดไหนเสียหาย เขาก็จะรีบซ่อมทันทีเพื่อจะพร้อมรบเสมอ ตัวอย่างนี้คล้ายกันอย่างไรกับความเชื่อของคุณ?
4. ทำไมคุณต้องตรวจสภาพความเชื่อที่เป็นโล่ของคุณ? และคุณจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
4 เหมือนทหารที่ต้องตรวจสภาพโล่ของเขาเป็นประจำ คุณก็ต้องตรวจสภาพและดูแลรักษาความเชื่อเพื่อจะพร้อมเสมอสำหรับการสู้รบ เราเป็นคริสเตียน เราจึงอยู่ในสงครามด้านความเชื่อ ซึ่งหนึ่งในศัตรูของเราคือพวกปีศาจชั่ว (อฟ. 6:10-12) ไม่มีใครดูแลรักษาความเชื่อที่เป็นเหมือนโล่แทนคุณได้ แต่คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีความเชื่อเข้มแข็งพอตอนที่เจอกับการทดสอบ? อย่างแรก คุณต้องอธิษฐานขอให้พระเจ้าช่วย แล้วคุณก็ต้องใช้คัมภีร์ไบเบิลด้วยเพื่อช่วยให้คุณเห็นตัวเองเหมือนที่พระยะโฮวาเห็น (ฮบ. 4:12) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ขอให้วางใจพระยะโฮวาสุดหัวใจ และอย่าพึ่งความเข้าใจของตัวเอง” (สภษ. 3:5, 6) นอกจากนั้น ให้ลองคิดถึงสิ่งที่คุณเพิ่งตัดสินใจเร็ว ๆ นี้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องเงินอย่างหนัก ตอนที่หาทางแก้ คุณคิดถึงคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ฮีบรู 13:5 ไหมที่บอกว่า “เราจะไม่มีวันทิ้งเจ้า เราจะไม่ทอดทิ้งเจ้าเลย”? คำสัญญานี้ช่วยให้คุณมั่นใจไหมว่าพระยะโฮวาจะช่วยคุณ? ถ้าใช่ ก็แสดงว่าความเชื่อที่เป็นเหมือนโล่ของคุณยังอยู่ในสภาพดี
5. เมื่อคุณตรวจสภาพความเชื่อของคุณ คุณอาจเจออะไร?
5 เมื่อคุณตรวจสภาพความเชื่ออย่างละเอียด คุณอาจแปลกใจก็ได้ คุณอาจเจอจุดอ่อนที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน เช่น คุณอาจเจอว่าความกังวลมากเกินไป เรื่องโกหก หรือความท้อใจกำลังมีผลต่อความเชื่อของคุณ ถ้าคุณกำลังเป็นแบบนั้น คุณจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ความเชื่อได้รับผลเสียหายไปมากกว่านี้?
ปกป้องตัวคุณจากความกังวลมากเกินไป เรื่องโกหก และความท้อใจ
6. ความกังวลเรื่องอะไรบ้างเป็นเรื่องที่ดี?
6 เป็นเรื่องดีที่เราจะกังวลหรือเป็นห่วงในบางเรื่อง เช่น ดีที่เราจะเป็นห่วงกังวลเพราะอยากทำให้พระยะโฮวาและพระเยซูพอใจ (1 คร. 7:32) ถ้าเราทำผิดร้ายแรง เราก็กังวลเพราะอยากทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้าดีเหมือนเดิม (สด. 38:18) นอกจากนั้น เราอาจเป็นห่วงกังวลเพราะอยากทำให้คู่ของเรามีความสุข และเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับการดูแลคนในครอบครัวและพี่น้องคริสเตียนด้วย—1 คร. 7:33; 2 คร. 11:28
7. จากสุภาษิต 29:25 ทำไมเราไม่ต้องกลัวคน?
7 แต่ความกังวลมากเกินไปอาจมีผลเสียต่อความเชื่อ เช่น เราอาจกังวลตลอดว่าจะมีอาหารหรือเสื้อผ้าไม่พอ (มธ. 6:31, 32) ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็อาจสนใจแต่จะหาเงิน และอาจถึงกับกลายเป็นคนรักเงิน ซึ่งนั่นจะทำให้ความเชื่อในพระยะโฮวาอ่อนลงและความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์ก็จะมีปัญหา (มก. 4:19; 1 ทธ. 6:10) นอกจากนั้น ถ้าเรากังวลมากเกินไป แคร์ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา เราก็อาจกลัวการเยาะเย้ยต่อต้านมากกว่ากลัวว่าจะทำให้พระยะโฮวาไม่พอใจ ฉะนั้น เราต้องขอให้พระยะโฮวาช่วยให้มีความเชื่อและความกล้าหาญเพื่อจะไม่กลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา—อ่านสุภาษิต 29:25; ลก. 17:5
8. เราควรทำอย่างไรถ้าได้ยินเรื่องโกหก?
8 ซาตานเป็น “พ่อของการโกหก” มันใช้คนที่อยู่ใต้อำนาจของมันแพร่เรื่องโกหกเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพี่น้องของเรา (ยน. 8:44) เช่น คนที่ทรยศพระเจ้าโฆษณาและแพร่เรื่องโกหกกับข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับองค์การของเราทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ทางทีวี และสื่ออื่น ๆ คำโกหกเหล่านี้เป็น “ลูกธนูไฟ” ของซาตาน (อฟ. 6:16) เราควรทำอย่างไรถ้ามีคนเริ่มพูดเรื่องโกหกแบบนั้นกับเรา? เราจะไม่ฟัง เพราะอะไร? เพราะเราเชื่อในพระยะโฮวาและไว้ใจพี่น้องของเรา ที่จริง เราจะไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกับคนที่ทรยศพระเจ้าอย่างเด็ดขาด ถึงเราอาจสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่เขาพูด แต่เราก็จะไม่ฟังและไม่โต้เถียงกับเขา
9. ความท้อใจอาจมีผลอย่างไรกับเรา?
9 ความท้อใจอาจทำให้ความเชื่ออ่อนลง บางครั้งเราท้อใจเพราะเจอปัญหาหลายอย่าง เราไม่ควรทำเป็นไม่สนใจปัญหาเหล่านั้น แต่เราก็ต้องไม่จมอยู่กับปัญหาหรือเอาแต่คิดถึงเรื่องเหล่านั้น เพราะการทำแบบนั้นอาจทำให้ลืมความหวังยอดเยี่ยมที่พระเจ้าให้เรา (วว. 21:3, 4) ความท้อใจอาจถึงกับทำให้เราหมดแรง ยอมแพ้และเลิกรับใช้พระยะโฮวา (สภษ. 24:10) แต่เราเอาชนะมันได้
10. เราเรียนอะไรได้จากจดหมายของพี่น้องหญิงคนหนึ่ง?
10 ให้เรามาดูตัวอย่างของพี่น้องหญิงคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาว่าเธอรักษาความเชื่อให้เข้มแข็งอย่างไรตอนที่ต้องดูแลสามีที่ป่วยหนัก เธอเขียนจดหมายถึงสำนักงานใหญ่ว่า “บางครั้งสิ่งที่เราเจอทำให้เครียดและท้อมาก ๆ แต่ความหวังของเรายังชัดเจน ฉันรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาจริง ๆ สำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ช่วยให้เรามีความเชื่อเข้มแข็งและมีกำลังใจมากขึ้น คำแนะนำและกำลังใจแบบนี้จำเป็นมากสำหรับเรา มันช่วยให้เรารับใช้พระยะโฮวาได้ต่อไปและช่วยให้เราอดทนกับความยากลำบากต่าง ๆ ที่ซาตานใช้เพื่อทำให้ความเชื่อเราอ่อนลง” คำพูดของพี่น้องหญิงคนนี้ทำให้เรารู้ว่าเราเอาชนะความท้อใจได้ เราจะทำได้อย่างไร? มองปัญหาและความลำบากต่าง ๆ ที่คุณเจอว่าเป็นการทดสอบจากซาตานและมองว่านั่นเป็นโอกาสที่คุณจะต่อต้านมันได้ ไว้ใจพระยะโฮวาว่าพระองค์จะให้กำลังใจคุณ และให้คุณเห็นค่าหนังสือและสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหมือนอาหารบำรุงเลี้ยงความเชื่อที่พระองค์ให้กับคุณ
11. เพื่อจะรู้ว่าความเชื่อของเราเป็นอย่างไร เราควรถามตัวเองอย่างไร?
11 คุณเห็นจุดไหนในโล่ของคุณที่ต้องซ่อมแซมไหม? คุณรู้สึกว่าต้องมีความเชื่อมากขึ้นไหม? ลองสังเกตตัวคุณเองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาว่า คุณควบคุมตัวเองไม่ให้กังวลมากเกินไปได้ไหม? มีคนที่ทรยศพระเจ้าแพร่เรื่องโกหกแต่คุณก็ไม่ฟังและไม่ไปโต้เถียงกับเขาใช่ไหม? คุณรับมือกับความท้อใจได้ใช่ไหม? ถ้าคำตอบคือใช่ ก็แสดงว่าความเชื่อของคุณยังเข้มแข็งดีและโล่ใหญ่ของคุณก็ยังอยู่ในสภาพดี แต่เราต้องระวังเสมอเพราะซาตานมีอาวุธอีกหลายอย่าง ให้เรามาดูอาวุธอย่างหนึ่งของซาตานด้วยกัน
ปกป้องตัวคุณจากวัตถุนิยม
12. วัตถุนิยมอาจทำให้เราเป็นอย่างไร?
12 วัตถุนิยมอาจทำให้ความเชื่ออ่อนลงและทำให้เราสนใจอย่างอื่นมากกว่าพระยะโฮวา อัครสาวกเปาโลบอกว่า “ทหารประจำการที่อยากให้นายพอใจคงไม่มัวยุ่งอยู่กับการค้าขายหาเลี้ยงชีพ” (2 ทธ. 2:4) ทหารโรมันไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานอื่น แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาไม่ยอมฟังคำสั่งนี้?
13. ทำไมทหารต้องไม่ทำงานอย่างอื่น?
13 ให้เราลองนึกภาพทหารกองหนึ่งกำลังฝึกซ้อมการใช้ดาบ แต่มีทหารคนหนึ่งไม่มา เขาอยู่ในเมืองกำลังขายอาหารที่ตลาด พอตกเย็นทหารก็พากันตรวจสภาพอาวุธและลับดาบของพวกเขา แต่ทหารคนนั้นกลับยุ่งกับการเตรียมอาหารเพื่อขายในวันรุ่งขึ้น เช้าวันถัดไปศัตรูเข้ามาโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว คุณคิดว่าใครจะพร้อมรบและทำให้ผู้บังคับบัญชาพอใจมากกว่า? และถ้าคุณอยู่ในสนามรบด้วย คุณอยากรบข้าง ๆ คนไหน คนที่พร้อมรบแล้วหรือคนที่มัวไปสนใจเรื่องอื่น?
14. อะไรมีค่าสำหรับเราที่เป็นทหารของพระคริสต์?
14 เหมือนกับทหารที่ดี เราไม่อยากสนใจอย่างอื่นนอกจากการทำให้ผู้บังคับบัญชาของเราพอใจซึ่งก็คือพระยะโฮวากับพระเยซู สิ่งนี้สำคัญที่สุดและมีค่ามากกว่าอะไรก็ตามที่โลกของซาตานเสนอให้ เราอยากทำให้แน่ใจว่า มีเวลาและกำลังพอที่จะรับใช้พระยะโฮวาและรักษาความเชื่อที่เป็นเหมือนโล่ และอยากทำให้แน่ใจด้วยว่าเครื่องอาวุธอย่างอื่นที่พระเจ้าให้กับเรายังอยู่ในสภาพดี
15. เปาโลเตือนเราเรื่องอะไร? และทำไม?
15 เราต้องระวังอยู่เสมอ เพราะอะไร? อัครสาวกเปาโลเตือนว่า “คนที่มุ่งแต่จะร่ำรวย” จะ “ทิ้งความเชื่อไป” (1 ทธ. 6:9, 10) คำว่า “ทิ้ง” หรือบางฉบับใช้คำว่า “หลง” จากความเชื่อทำให้เห็นว่า เราอาจหลงไปสนใจอย่างอื่นและพยายามที่จะได้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นซึ่งอาจทำให้เรา “มีความต้องการมากมายที่โง่เขลาและอันตราย” ฉะนั้น แทนที่จะให้ความต้องการแบบนั้นเข้ามาในหัวใจ เราต้องมองว่ามันเป็นอาวุธที่ซาตานใช้เพื่อทำให้ความเชื่อของเราอ่อนลง
16. เรื่องราวในมาระโก 10:17-22 น่าจะทำให้เราคิดถึงคำถามอะไรบ้าง?
16 แล้วถ้าเรามีเงินเยอะ จะผิดไหมถ้าจะซื้อของที่อยากได้แต่ไม่จำเป็น? ก็คงไม่ผิด แต่ลองคิดว่า ถึงเราจะมีเงินพอที่จะซื้อ แต่เรามีเวลาและกำลังพอที่จะใช้มันและดูแลรักษามันไหม? เป็นไปได้ไหมที่เราจะรักมันมากเกินไป? และถ้าเรารักมันมาก เราจะกลายเป็นเหมือนผู้ชายคนนั้นไหมที่ปฏิเสธคำเชิญของพระเยซูให้รับใช้พระเจ้ามากขึ้น? (อ่านมาระโก 10:17-22) คงจะดีกว่ามากที่จะใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และใช้กำลังกับเวลาที่มีค่าของเราเพื่อทำตามความต้องการของพระเจ้า
ถือโล่ของคุณให้แน่น
17. เราต้องไม่ลืมอะไร?
17 เราต้องไม่ลืมว่าเรากำลังอยู่ในสงครามและเราต้องพร้อมที่จะสู้ทุกวัน (วว. 12:17) พี่น้องคนอื่นถือโล่แทนเราไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องรักษาความเชื่อให้เข้มแข็งด้วยตัวเราเอง
18. ทำไมทหารในสมัยโบราณต้องถือโล่ให้แน่น?
18 ในสมัยโบราณ ถ้าทหารคนหนึ่งสู้รบอย่างกล้าหาญ เขาจะได้รับการยกย่อง แต่ถ้าเขากลับจากการรบโดยไม่มีโล่ เขาจะรู้สึกอับอายขายหน้ามาก ทาซิทุสนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันเขียนไว้ว่า “การที่ทหารทิ้งโล่เป็นสิ่งที่น่าอัปยศอดสูที่สุด” นี่เป็นเหตุผลที่ทหารต้องถือโล่ให้แน่นในสนามรบ
19. เราจะถือโล่ของเราให้แน่นได้อย่างไร?
19 เราจะถือโล่ให้แน่นและรักษาความเชื่อให้เข้มแข็งอยู่เสมอได้โดยไปประชุมเป็นประจำและบอกชื่อของพระยะโฮวาและรัฐบาลของพระองค์ให้คนอื่นฟัง (ฮบ. 10:23-25) เราต้องอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวันและอธิษฐานขอพระยะโฮวาช่วยให้เราเอาคำแนะนำไปใช้ในทุกด้านของชีวิต (2 ทธ. 3:16, 17) ไม่มีอาวุธอะไรของซาตานจะทำให้เกิดผลเสียหายถาวรกับเราได้ (อสย. 54:17) ‘ความเชื่อที่เป็นโล่ใหญ่’ จะปกป้องเรา เราจะยืนหยัดรับใช้อย่างกล้าหาญเคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้อง และเราจะชนะการต่อสู้ในทุก ๆ วันได้ แต่ไม่ใช่แค่นั้น ที่สำคัญที่สุด เราจะได้รับเกียรติที่จะอยู่ฝ่ายพระเยซูตอนที่ท่านรบชนะซาตานและพวกที่ติดตามมัน—วว. 17:14; 20:10
เพลง 118 “ขอช่วยให้พวกเรามีความเชื่อมากขึ้น”
a ทหารต้องมีโล่คอยป้องกันตัว ความเชื่อของเราก็เป็นเหมือนโล่ เหมือนกับที่ทหารต้องดูแลโล่ของเขาอยู่เสมอ เราก็ต้องดูแลรักษาความเชื่อของเราให้เข้มแข็งอยู่เสมอ ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า เราต้องทำอะไรเพื่อจะแน่ใจว่า ‘ความเชื่อที่เป็นโล่ใหญ่’ ของเรายังอยู่ในสภาพดี
b คำอธิบายภาพ พอครอบครัวพยานฯ เห็นข่าวในทีวีเกี่ยวกับเรื่องโกหกซึ่งคนที่ทรยศพระเจ้าพูดถึงพยานฯ อย่างผิด ๆ พวกเขาปิดทีวีทันที
c คำอธิบายภาพ ในการนมัสการประจำครอบครัวหลังจากนั้น พ่อใช้คัมภีร์ไบเบิลช่วยครอบครัวให้มีความเชื่อเข้มแข็งมากขึ้น