อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อทำให้คุณมีความสุข?
นักการเมืองที่ถูกเลือกจากประชาชนพยายามอย่างมากที่จะทำให้ประชาชนเหล่านั้นมีความสุข. ที่แท้แล้ว ตำแหน่งของเขาขึ้นอยู่กับความสุขของประชาชน. แต่วารสารข่าวฉบับหนึ่งกล่าวถึง “ประชาชนผู้เลือกตั้งที่รู้สึกผิดหวังและสิ้นความนิยม” ในโปแลนด์. นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งอธิบายว่าสหรัฐเป็นสังคม “ที่เต็มด้วยความไม่ไว้ใจในการเมืองตามแบบแผน.” นักเขียนอีกคนหนึ่งบอกให้เราทราบเรื่อง “ความเฉยเมยทางด้านการเมืองที่เพิ่มทวีขึ้นในฝรั่งเศส.” ความเฉยเมยและความไม่พอใจที่แพร่หลายเช่นนั้น—ใช่ว่าจำกัดอยู่แค่สามประเทศเหล่านี้—แสดงให้เห็นว่าพวกนักการเมืองกำลังล้มเหลวในความพยายามของพวกเขาที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข.
พวกหัวหน้าศาสนาสัญญาเรื่องความสุขด้วย หากไม่ใช่ในชีวิตนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ในชาติหน้า. ในเรื่องนี้พวกเขาอาศัยข้อสันนิษฐานที่ว่ามนุษย์มีจิตวิญญาณอมตะหรือที่เวียนว่ายตายเกิดได้ ความเห็นซึ่งผู้คนหลายคนปฏิเสธเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการและที่คัมภีร์ไบเบิลหักล้างอย่างชัดแจ้ง. โบสถ์ที่ว่างเปล่าและรายชื่อสมาชิกลดลงแสดงว่าหลายล้านคนไม่ได้ถือว่าศาสนาจำเป็นสำหรับความสุขอีกต่อไป.—เทียบกับเยเนซิศ 2:7, 17; ยะเอศเคล 18:4, 20.
คนรักเงินไม่จุใจ
หากไม่ใช่ในการเมืองหรือศาสนาแล้ว จะพบความสุขได้ที่ไหน? บางทีในแวดวงของการค้าไหม? แวดวงนั้นอ้างด้วยเช่นกันว่าสามารถจัดหาความสุขให้ได้. การค้าเสนอการอ้างเหตุผลในการสนับสนุนตัวเองโดยทางสื่อของการโฆษณา กล่าวอย่างชัดแจ้งว่า ความสุขเกิดจากการมีสิ่งของฝ่ายวัตถุและบริการทุกอย่างที่เงินอาจซื้อได้.
จำนวนของผู้คนที่แสวงหาความสุขโดยวิธีนี้ดูเหมือนจะเพิ่มทวีขึ้น. มีรายงานหลายปีมาแล้วว่า 50 % ของครอบครัวในเยอรมนีมีหนี้ท่วมตัว. ดังนั้นแล้ว ไม่น่าแปลกใจที่ ดี ไซท์ หนังสือพิมพ์เยอรมันที่มีชื่อเสียงได้ทำนายไว้ว่า “หลายครอบครัวเหล่านี้จะไม่มีทางหลุดพ้นจากหนี้สินได้เลย.” หนังสือพิมพ์นั้นอธิบายว่า “เป็นเรื่องง่ายทีเดียวที่จะเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งธนาคารเสนอโอกาสให้เบิกเกินอยู่เรื่อย ๆ—และยากจริง ๆ ที่จะออกจากบ่วงแร้วของการเป็นหนี้.”
สถานการณ์ในประเทศอุตสาหกรรมระดับสูงประเทศอื่น ๆ ก็คล้ายคลึงกัน. ไม่กี่ปีมาแล้ว เดวิด แคปโลวิตซ์ นักสังคมวิทยา ณ มหาวิทยาลัยซิตีแห่งนิวยอร์ก กะประมาณว่าในสหรัฐ ระหว่าง 20 ถึง 25 ล้านครอบครัวมีหนี้ท่วมตัว.” เขากล่าวว่า “ผู้คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว และนั่นทำลายชีวิตของเขา.”
นั่นฟังดูเหมือนแทบจะไม่ใช่ความสุขเลย! แต่เราควรคาดหมายว่าโลกการค้าจะสามารถสัมฤทธิ์ผลในสิ่งที่อีกสองอย่าง (การเมืองและศาสนา) ทำไม่ได้อย่างชัดแจ้งไหม? กษัตริย์ซะโลโมผู้มั่งคั่งได้เขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า “คนรักเงิน, ไม่อิ่มด้วยเงิน; และคนรักกำไร, ไม่รู้อิ่มด้วยความมั่งคั่ง; นี่อีกเป็นอนิจจังด้วย.”—ท่านผู้ประกาศ 5:10.
การแสวงหาความสุขในทรัพย์สมบัติฝ่ายวัตถุเป็นเหมือนการสร้างวิมานในอากาศ. การสร้างวิมานในอากาศอาจเป็นเรื่องที่ทำให้ตื่นเต้น แต่คุณจะมีปัญหาหากคุณพยายามจะอยู่ในวิมานนั้น.
ความสุขเป็นสิ่งที่บรรลุถึงได้ แต่โดยวิธีใด?
อัครสาวกเปาโลเรียกพระยะโฮวาว่า “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข.” (1 ติโมเธียว 1:11) โดยการสร้างมนุษย์ขึ้นตามแบบพระฉายของพระองค์เอง พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุขได้ประทานสมรรถนะในการเป็นคนมีความสุขให้เขาด้วย. (เยเนซิศ 1:26) แต่ความสุขของเขาต้องขึ้นอยู่กับการที่เขารับใช้พระเจ้า ดังที่ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้แสดงไว้ว่า “ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก!” (บทเพลงสรรเสริญ 144:15ข) การรับใช้พระเจ้าหมายรวมถึงอะไร และการรับใช้พระองค์นำไปสู่ความสุขแท้โดยวิธีใดนั้นอาจเข้าใจได้ดีขึ้นหากเราพิจารณาบางแห่งใน 110 แห่งที่คำ “เป็นสุข” และ “ความสุข” ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่.
การสำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ
พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าได้ตรัสในคำเทศน์บนภูเขาอันลือชื่อนั้นว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน.” (มัดธาย 5:3, ล.ม.) โลกการค้าพยายามชักนำเราให้หลงคิดว่าการซื้อของฟุ่มเฟือยเพียงพอเพื่อจะมีความสุข. โลกการค้าบอกเราว่า ความสุขคือการมีคอมพิวเตอร์ประจำบ้าน, กล้องถ่ายวีดีโอ, โทรศัพท์, รถยนต์, อุปกรณ์กีฬาล่าสุด, เสื้อผ้าแบบทันสมัย. สิ่งที่โลกการค้าไม่ได้บอกเราคือว่าประชาชนหลายสิบล้านคนในโลกขาดสิ่งเหล่านี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีความสุข. ถึงแม้อาจจะทำให้ชีวิตสบายและสะดวกขึ้นก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นสำหรับความสุข.
เช่นเดียวกับเปาโล คนเหล่านั้นที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณกล่าวว่า “ถ้าเรามีเครื่องอุปโภคบริโภค ก็ให้เราอิ่มใจด้วยของเหล่านั้นเถิด.” (1 ติโมเธียว 6:8) ทำไม? เพราะการสนองความจำเป็นฝ่ายวิญญาณเป็นสิ่งที่นำไปสู่ชีวิตถาวร.—โยฮัน 17:3.
มีอะไรผิดหรือกับการชื่นชมกับสิ่งดีต่าง ๆ ถ้าเรามีเงินซื้อสิ่งเหล่านั้น? อาจจะไม่ผิดก็ได้. กระนั้น การฝึกหัดที่จะไม่ปล่อยตามความเพ้อฝันทุกอย่าง หรือที่จะซื้ออะไร ๆ เพียงเพราะเราสามารถซื้อได้นั้นทำให้สภาพฝ่ายวิญญาณของเราเข้มแข็งขึ้น. ด้วยเหตุนี้ เราเรียนรู้ความอิ่มใจและรักษาไว้ซึ่งความสุข เช่นเดียวกับพระเยซู ถึงแม้ฐานะทางเศรษฐกิจของพระองค์ไม่ดีที่สุดตามมาตรฐานฝ่ายโลก. (มัดธาย 8:20) และเปาโลไม่ได้แสดงว่าไม่มีความสุขเมื่อท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าเรียนรู้มาแล้วว่าข้าพเจ้ามีฐานะอย่างไร, ข้าพเจ้าก็อิ่มใจอยู่อย่างนั้น. ข้าพเจ้ารู้จักที่จะเจียมตัว, และรู้จักที่จะฟุ่มเฟือยด้วย. ข้าพเจ้ารู้จักอาณัติสัญญาของการอิ่มท้อง, และของการอดอยาก ของการฟุ่มเฟือยและของการขัดสนในสิ่งสารพัตรทุกอย่าง.”—ฟิลิปปอย 4:11, 12.
การไว้วางใจในพระยะโฮวา
การรู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของคนเราบ่งชี้ถึงความเต็มใจที่จะไว้วางใจในพระเจ้า. สิ่งนี้ช่วยให้มีความสุข ดังที่กษัตริย์ซะโลโมได้อธิบายไว้ว่า “ผู้หนึ่งผู้ใดที่วางใจในพระยะโฮวาเขาก็เป็นสุข.”—สุภาษิต 16:20.
แต่ก็เป็นความจริงมิใช่หรือที่หลายคนมอบความไว้วางใจในเงินและทรัพย์สมบัติมากกว่าที่เขาไว้วางใจในพระเจ้า? โดยมองดูจากแง่คิดเช่นนี้ แทบจะไม่มีที่ไหนที่ไม่เหมาะสมยิ่งไปกว่าที่เงิน ที่จะแสดงคติพจน์ที่ว่า “เราไว้วางใจในพระเจ้า” ถึงแม้คำแถลงนั้นปรากฏอยู่บนเงินตราของสหรัฐ.
กษัตริย์ซะโลโมซึ่งไม่ขาดสิ่งดีใด ๆ ที่เงินอาจซื้อได้นั้น ได้ยอมรับว่าการวางใจในสมบัติฝ่ายวัตถุไม่ได้นำไปสู่ความสุขถาวร. (ท่านผู้ประกาศ 5:12-15) เงินในธนาคารอาจสูญไปได้โดยการล้มละลายของธนาคาร หรือเนื่องจากเงินเฟ้อ. อสังหาริมทรัพย์อาจถูกทำลายเนื่องด้วยพายุที่รุนแรง. กรมธรรม์ประกันภัย ถึงแม้ชดใช้ความสูญเสียทางวัตถุให้บางส่วน ก็ไม่อาจชดเชยความสูญเสียทางด้านความรู้สึกได้เลย. หุ้นและพันธบัตรอาจไร้ค่าฉับพลันในตลาดหุ้นที่พังครืนลงทันที. แม้แต่งานที่ได้เงินเดือนดีก็อาจหมดไปในวันพรุ่งนี้ เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ.
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผู้ที่วางใจในพระยะโฮวามองเห็นสติปัญญาของการรับฟังคำเตือนของพระเยซูที่ว่า “อย่าสะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัวในโลก, ที่ตัวหนอนและสนิมอาจทำลายเสียได้, และที่ขโมยอาจขุดช่องล้วงลักเอาไปได้. แต่จงสะสมทรัพย์สมบัติไว้ในสวรรค์, ที่หนอนหรือสนิมทำลายเสียไม่ได้, และที่ไม่มีขโมยขุดช่องล้วงลักเอาไปได้.”—มัดธาย 6:19, 20.
จะมีความรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการทราบว่าคนเราได้มอบความไว้วางใจของตนในพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ ผู้ทรงจัดเตรียมให้เสมอ?—บทเพลงสรรเสริญ 94:14; เฮ็บราย 13:5,6.
การยอมรับการว่ากล่าวของพระเจ้า
มีการยินดียอมรับคำแนะนำ แม้แต่การว่ากล่าวด้วยซ้ำ เมื่อให้ด้วยน้ำใจแห่งความรักโดยเพื่อนแท้. คนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นเพื่อนของโยบ ผู้รับใช้ของพระเจ้า เคยบอกท่านอย่างที่ถือตัวเองชอบธรรมว่า “คนที่พระเจ้าได้ทรงตีสอนก็เป็นสุข.” ถึงแม้คำแถลงนั้นเป็นความจริง สิ่งที่อะลีฟาศบอกเป็นนัยโดยถ้อยคำเหล่านี้—โยบมีความผิดในการกระทำผิดอย่างร้ายแรงนั้น—ไม่เป็นความจริง. ช่างเป็น ‘ผู้เล้าโลมอันร้ายกาจ’ อะไรเช่นนี้! แต่เมื่อพระยะโฮวาทรงว่ากล่าวโยบภายหลังด้วยวิธีที่แสดงความรัก โยบยอมรับการว่ากล่าวด้วยความถ่อมใจ และทำให้ตัวท่านเองอยู่ในแนวทางแห่งความสุขมากขึ้น.—โยบ 5:17; 16:2; 42:6, 10-17.
ทุกวันนี้ พระเจ้ามิได้ตรัสแก่ผู้รับใช้ของพระองค์โดยตรงเช่นที่พระองค์ตรัสกับโยบ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงว่ากล่าวพวกเขาโดยทางพระวจนะและองค์การที่ได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณของพระองค์. อย่างไรก็ดี คริสเตียนที่ติดตามผลประโยชน์ฝ่ายวัตถุ มักไม่มีเวลา, พลัง, หรือแนวโน้มที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำและเข้าร่วมการประชุมทุกรายการที่องค์การของพระยะโฮวาจัดเตรียม.
ตามสุภาษิต 3:11-18 คนที่พระเจ้าทรงว่ากล่าวสำนึกถึงสติปัญญาของการยอมรับเอาการว่ากล่าวเช่นนั้นดังนี้: “ความผาสุกมีแก่คนนั้นที่พบพระปัญญา, และแก่คนนั้นที่รับความเข้าใจ. เพราะว่าการหาพระปัญญามาได้นั้นก็ดีกว่าได้เงิน, และผลกำไรนั้นก็ประเสริฐกว่าทองคำบริสุทธิ์. พระปัญญามีค่ายิ่งกว่าทับทิม: และไม่มีสิ่งใด ๆ ซึ่งเจ้าพึงปรารถนาเอามาเทียมกับพระปัญญาได้. ในระยะพระหัตถ์เบื้องขวาของพระปัญญานั้นมีวันคืนอยู่ยืดยาว; และในพระหัตถ์เบื้องซ้ายมีทรัพย์มั่งคั่งและเกียรติศักดิ์. วิถีของพระปัญญานั้นคือความโสมนัส, และทางทั้งหลายของพระปัญญานั้นคือสันติสุข. พระปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่คนนั้น ๆ ที่ฉวยเอาพระองค์ไว้ได้: และทุกคนที่ยึดถือพระองค์ไว้นั้นก็จะมีความผาสุก.”
การเป็นคนบริสุทธิ์และรักสันติ
พระเยซูทรงพรรณนาถึงชนผู้มีความสุขว่าเป็นคน “ใจบริสุทธิ์” และ “สร้างสันติ.” (มัดธาย 5:8, 9, ล.ม.) แต่ในโลกที่สนับสนุนวิถีชีวิตที่ฝักใฝ่ทางวัตถุ ช่างง่ายเพียงไรที่ความปรารถนาอันเห็นแก่ตัว บางทีไม่บริสุทธิ์ด้วยซ้ำ จะงอกรากขึ้นในหัวใจของเรา! หากไม่ได้รับการชี้นำจากสติปัญญาของพระเจ้า นับว่าง่ายสักเพียงไรสำหรับเราที่จะถูกนำให้หลงเข้าสู่การแสวงหาสวัสดิภาพทางการเงินโดยวิถีทางที่น่าสงสัยซึ่งจะทำลายสัมพันธภาพที่มีสันติกับคนอื่นด้วยซ้ำ! มิใช่โดยปราศจากเหตุผล คัมภีร์ไบเบิลเตือนว่า “การรักเงินทองนั้นก็เป็นรากแห่งความชั่วทุกอย่าง และบางคนที่ได้โลภเงินทองจึงได้หลงไปจากความเชื่อนั้น, และความทุกข์เป็นอันมากจึงทิ่มแทงตัวของเขาเองให้ทะลุ.”—1 ติโมเธียว 6:10.
การรักเงินส่งเสริมทัศนะแบบเห็นแก่ตัวซึ่งปลุกเร้าความไม่อิ่มใจพอใจ, ความไม่สำนึกถึงบุญคุณ, และความโลภ. เพื่อป้องกันน้ำใจที่ผิดดังกล่าวมิให้ขยายตัวขึ้น ก่อนทำการตัดสินใจทางด้านการเงินที่สำคัญ คริสเตียนบางคนถามตัวเองด้วยคำถามดังเช่น: ฉันจำเป็นต้องมีสิ่งนั้นจริง ๆ ไหม? ฉันจำเป็นต้องซื้อของที่แพงอย่างนี้ หรือต้องมีงานที่ได้เงินเดือนสูง ที่ใช้เวลามากเช่นนี้มากกว่าคนอื่นหลายล้านคนซึ่งต้องมีชีวิตอยู่โดยปราศจากสิ่งนั้นไหม? บางทีจะดีกว่าไหมที่ฉันจะใช้เงินหรือเวลาของฉันในการเข้าส่วนในการนมัสการแท้มากขึ้น ในการสนับสนุนงานประกาศทั่วโลก หรือในการช่วยคนที่ด้อยโอกาสกว่าฉัน?
การแสดงความอดทน
การทดลองอย่างหนึ่งที่โยบต้องอดทนคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจ. (โยบ 1:14-17) ดังที่ตัวอย่างของท่านเผยให้เห็น ความอดทนเป็นสิ่งจำเป็นในทุกด้านของชีวิต. คริสเตียนบางคนต้องอดทนการข่มเหง, คนอื่นต้องทนกับการล่อใจ, ยังมีอีกบางคนที่ต้องทนกับสภาพเศรษฐกิจไม่ดี. แต่ความอดทนในทุกรูปแบบจะได้รับบำเหน็จจากพระยะโฮวา ดังที่คริสเตียนสาวกยาโกโบได้เขียนโดยกล่าวพาดพิงถึงโยบว่า “เราบอกว่า คนเหล่านั้นที่ได้อดทนก็เป็นสุข.”—ยาโกโบ 5:11, ล.ม.
การละเลยผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณเพื่อที่จะทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของเราดีขึ้นนั้นอาจนำมาซึ่งการบรรเทาทางด้านการเงินชั่วคราว แต่นั่นจะช่วยรักษาจินตนาการของเราให้แจ่มชัดเกี่ยวกับการปลดเปลื้องทางเศรษฐกิจแบบถาวรภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้าไหม? นั่นเป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่าไหม?—2 โกรินโธ 4:18.
การประสบความสุขขณะนี้และตลอดไป
บางคนโต้แย้งอย่างชัดแจ้งกับทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องสิ่งที่ต้องมีเพื่อทำให้มนุษย์มีความสุข. โดยมองข้ามผลประโยชน์ระยะยาวที่สำคัญกว่า พวกเขามองไม่เห็นผลประโยชน์ส่วนตัวเฉพาะหน้าในการทำสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำ. พวกเขาไม่สำนึกว่าการวางใจในสิ่งฝ่ายวัตถุนั้นเป็นอนิจจังและนำไปสู่ความข้องขัดใจ. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลถามอย่างถูกต้องว่า “เมื่อทรัพย์สมบัติมั่งคั่งขึ้น, คนกินก็มีคับคั่งขึ้นเป็นเงาตามตัว; และมีประโยชน์อะไรแก่คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์นั้นเล่า, นอกจากได้ชมของนั้นเล่นเป็นขวัญตาตนเท่านั้น?” (ท่านผู้ประกาศ 5:11; โปรดดูท่านผู้ประกาศ 2:4-11; 7:12 ด้วย.) ความสนใจเลือนหายไปเร็วสักเพียงไรและสิ่งที่เราคิดว่าเราต้องมีนั้นก็เก็บไว้บนหิ้งเก็บของ ไม่ได้ใช้อะไรนอกจากจะใส่ให้เต็มที่ว่างและทิ้งให้ฝุ่นจับ!
คริสเตียนแท้จะไม่ยอมให้ตัวเองถูกกดดันที่จะ ‘ให้เทียมหน้าเทียมตาคนอื่น’ ในทางวัตถุ. เขาทราบว่าคุณค่าอันแท้จริงนั้น มิได้วัดจากสิ่งที่คนเรามี หากแต่วัดจากสิ่งที่คนเราเป็น. ไม่มีข้อสงสัยในความคิดของเขาในเรื่องที่ว่าต้องมีอะไรเพื่อทำให้คนเรามีความสุข—ความสุขแท้คือ การมีสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาและการหมกมุ่นในงานรับใช้ของพระองค์เสมอ.
[รูปภาพหน้า 20]
สิ่งฝ่ายวัตถุอย่างเดียวไม่อาจนำมาซึ่งความสุขถาวรได้เลย
[รูปภาพหน้า 22]
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ความสุขมีแก่ผู้ที่รู้สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน”