เหตุใดจึงติดตามความชอบธรรม?
ในโลกที่รุนแรงก่อนมหาอุทกภัย บุรุษผู้หนึ่งโดดเด่นเพราะต่างออกไป. บุรุษผู้นั้นคือโนฮา. ท่านกับครอบครัวดำเนินกับพระเจ้า ขณะที่ส่วนที่เหลือนอกนั้นของมนุษยชาติไม่สนใจไยดีในพระองค์. ผลก็คือ “โนฮาเป็นคนชอบธรรม” ในยุคที่ชั่วช้านั้น และท่านกลายเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” สำหรับชาวโลกที่ไม่เอาใจใส่ฟัง.—เยเนซิศ 6:9; 2 เปโตร 2:5, ล.ม.
คราวหนึ่งราว ๆ ปี 56 แห่งสากลศักราชของเรา อัครสาวกเปาโลอยู่ในคุกที่เมืองกายซาไรอา. เมื่อถูกเรียกตัวจากคุกให้มาปรากฏต่อหน้าผู้สำเร็จราชการเฟลิกซ์ เปาโลได้ฉวยโอกาสที่จะประกาศกับข้าราชการชั้นสูงชาวโรมันคนนี้. ใจความแห่งคำพูดของท่านคืออะไร? “ท่านอ้างถึงความชอบธรรม ความอดกลั้นใจ และความพิพากษาซึ่งจะมาเบื้องหน้านั้น.” (กิจการ 24:25) ถูกแล้ว เปาโลเช่นกันเป็นผู้ประกาศความชอบธรรม.
ความห่วงใยที่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าสองคนนี้แสดงต่อความชอบธรรมนั้นนับว่าเหมาะสมอย่างแน่นอน. พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าผู้ชอบธรรมและช่วยให้รอด.” (ยะซายา 45:21) เนื่องจากเหตุนี้ สุภาษิตที่ได้รับการดลบันดาลบอกเราว่า “ทางของคนชั่วเป็นที่สะอิดสะเอียนแด่พระยะโฮวา แต่พระองค์ก็ทรงรักผู้ที่ติดตามความชอบธรรม.” (สุภาษิต 15:9) ผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้าต้องติดตามความชอบธรรม.
เป็นที่น่าเสียดาย หลายคนในทุกวันนี้มีเจตคติแบบไม่สนใจไยดีต่อคุณลักษณะเช่นนี้. พวกเขาบอกว่า ‘ฉันไม่ได้ทำความเสียหายแก่เพื่อนบ้านของฉัน ดังนั้น ฉันแน่ใจว่าพระเจ้าทรงชอบพระทัยในตัวฉัน.’ หรือเขาอาจยืนยันว่า ‘มีหลายทางที่นำไปสู่ความชอบธรรม. ทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อยตราบเท่าที่ฉันจริงใจกับศาสนาของฉัน.’ คุณคิดว่า เจตคติแบบปล่อยตามสบายเช่นนั้นเป็นที่ยอมรับเอาได้สำหรับพระเจ้าไหม?
คนอื่น ๆ อาจยกประเด็นที่ต่างกันขึ้นมา. เขาอาจทราบคำแถลงของเปาโลที่ว่า “เราได้รับการประกาศว่าชอบธรรมสืบเนื่องจากความเชื่อ.” (โรม 5:1, ล.ม.) เมื่อคำนึงถึงข้อนี้ เขาอาจสงสัยว่า ‘คริสเตียนซึ่งได้รับการประกาศว่าชอบธรรมอยู่แล้ว ควรติดตามความชอบธรรมต่อ ๆ ไปโดยวิธีใด?’ คุณจะตอบคำถามดังกล่าวนั้นอย่างไร?
พระเจ้าแห่งความชอบธรรม
ตามพจนานุกรม ความชอบธรรมคือความถูกต้องทางด้านศีลธรรม ความยุติธรรม ประสานกับกฎหมายของพระเจ้าหรือกฎศีลธรรม. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแห่งความชอบธรรม ใคร ๆ ที่ประสงค์จะทำให้พระองค์พอพระทัยต้องเป็นห่วงในเรื่องคุณลักษณะอันสำคัญนี้. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญได้กล่าวว่า “พระเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ทรงชอบธรรม. พระองค์จึงทรงรักกิจการที่ชอบธรรม. คนเที่ยงตรงจะเห็นพระพักตร์ของพระเจ้าได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 11:7, ฉบับแปลใหม่; พระบัญญัติ 32:4) อัครสาวกเปโตรกล่าวว่า “พระเนตรของพระยะโฮวาเพ่งเล็งคนชอบธรรม และพระกรรณของพระองค์สดับฟังคำอ้อนวอนของเขาทั้งหลาย.”—1 เปโตร 3:12, ล.ม.
เนื่องจากเหตุนี้ เราจะทำเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ในเรื่องนี้ไม่ได้ ดังที่พวกยิวหลายคนได้กระทำ. พวกเขาหลายคนคงเป็นสุภาพชนอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้ซึ่งไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนบ้านของตน. นอกจากนี้ เขายังเป็นคนจริงใจ—ร้อนรนด้วยซ้ำไป—ในเรื่องศาสนาของเขา. แต่ในศตวรรษแรก คนส่วนใหญ่ไม่ชอบธรรมในสายพระเนตรของพระเจ้า. เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นพยานฝ่ายเขาว่า เขามีใจร้อนรนในการปฏิบัติพระเจ้า แต่หาได้เป็นตามปัญญา [ความรู้ถ่องแท้, ล.ม.] ไม่ ด้วยว่าเขาไม่ได้รู้จักความชอบธรรมของพระเจ้า แต่ได้อุตส่าห์ที่จะตั้งความชอบธรรมของตัวเองขึ้น เขาจึงมิได้ยอมตัวอยู่ในความชอบธรรมของพระเจ้า.”—โรม 10:2, 3, ล.ม.
พวกยิวผิดพลาดไปตรงไหน? เปาโลบอกว่าพวกเขามิได้ติดตามความชอบธรรมตามความรู้ถ่องแท้. ตัวอย่างของพวกเขาที่เป็นข้อเตือนใจนั้นบอกให้เราทราบว่า เพียงแต่มีบุคลิกลักษณะที่ถูกใจและหลีกเลี่ยงการทำความเสียหายเท่านั้นยังไม่พอ. นั่นบ่งชี้ด้วยว่าหาได้มีหนทางต่างกันหลายทางที่นำไปสู่ความชอบธรรมไม่. ปรากฏชัดว่า มีอะไรบางอย่างผิดพลาดไปเกี่ยวกับหนทางที่พวกยิวส่วนใหญ่ในสมัยของอัครสาวกเลือกเอา. เราจะติดตามความชอบธรรมอย่างเป็นผลสำเร็จได้เพียงแต่ถ้าเรายอมฟังพระเจ้า. พระธรรมสุภาษิตแจ้งว่า “บุตรชายของเราเอ๋ย ถ้าเจ้ารับคำของเรา และสะสมคำบัญชาของเราไว้กับเจ้าแล้ว เจ้าจะเข้าใจความชอบธรรม และความยุติธรรม และความเที่ยงธรรม คือวิถีที่ดีทุกสาย.”—สุภาษิต 2:1, 9, ฉบับแปลใหม่.
แนวทางแห่งความชอบธรรม
ตั้งแต่โมเซเรื่อยมาจนถึงพระเยซู ความชอบธรรมเชื่อมโยงกับการเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าตามที่แถลงไว้ในกฎหมายของโมเซ. เนื่องจากชนยิศราเอลที่ไม่สมบูรณ์ไม่สามารถหลีกพ้นจากการละเมิดพระบัญชาเหล่านี้ได้ พวกเขาจึงต้องถวายเครื่องบูชาต่าง ๆ และเครื่องบูชาไถ่บาปตามที่พระบัญญัติกำหนดไว้เพื่อที่จะปกคลุมบาปของเขา. โมเซบอกพวกยิศราเอลว่า “ถ้าเราทั้งหลายอุตส่าห์ประพฤติตามพระบัญญัติทั้งหลายเหล่านี้ต่อพระพักตร์พระยะโฮวาพระเจ้าของเรา ตามถ้อยคำซึ่งพระองค์ได้ตรัสสั่งเราไว้นั้น ก็จะเป็นความชอบธรรมแก่เราทั้งหลาย.”—พระบัญญัติ 6:25.
เป็นเวลาหลายศตวรรษไม่มีใครปฏิบัติตามพระบัญญัติได้อย่างเพียบพร้อม. ถึงกระนั้น หลายคนได้พยายามอย่างจริงใจที่จะติดตามความชอบธรรมโดยทางพระบัญญัติ และพระคัมภีร์กล่าวถึงบางคนในพวกนี้ว่าเป็นคนชอบธรรม. ตัวอย่างเช่น บิดามารดาของโยฮันผู้ให้รับบัพติสมา ได้รับการพรรณนาว่าเป็นคน “ชอบธรรมจำเพาะพระเจ้า และดำเนินตามบัญญัติและกฎหมายทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ไม่มีที่ติเลย.”—ลูกา 1:6, ฉบับแปลใหม่.
อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงเปิดทางใหม่เพื่อติดตามความชอบธรรม. พระองค์ทรงรักษาพระบัญญัติของโมเซได้อย่างครบถ้วน—ผู้เดียวที่ทำได้เช่นนั้น. พระเยซูสิ้นพระชนม์บนหลักทรมาน และพระยะโฮวาทรงยอมรับคุณค่าแห่งชีวิตสมบูรณ์ของพระองค์ในฐานะเป็นค่าไถ่สำหรับมนุษยชาติ. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเครื่องบูชาภายใต้คำสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพระบัญญัติก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป. เครื่องบูชาที่สมบูรณ์ของพระเยซูปกคลุมความบาปของมวลมนุษย์ที่มีหัวใจชอบธรรม.—เฮ็บราย 10:4, 12.
คริสเตียนแท้ได้รับการประกาศว่าชอบธรรม
ดังนั้นแล้ว ตั้งแต่การวายพระชนม์และการกลับเป็นขึ้นจากตายของพระเยซู ความชอบธรรมเกี่ยวดองกับการแสดงความเชื่อในพระบุตรผู้ชอบธรรมองค์นี้ของพระเจ้า. (โยฮัน 3:16) ขณะที่พวกยิวที่อนุรักษ์นิยมในสมัยของเปาโลมิได้บรรลุความชอบธรรมเพราะพวกเขาปฏิเสธความรู้ถ่องแท้ในเรื่องพระเยซู เราอ่านเกี่ยวกับพวกคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ว่า “พวกเขาได้รับการประกาศว่าชอบธรรมนั้นโดยพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระองค์ด้วยการปลดเปลื้องด้วยค่าไถ่ที่พระเยซูคริสต์ได้ทรงชำระแล้วนั้น.”—โรม 3:24, ล.ม.
ตามบริบทนั้น ถ้อยคำเหล่านี้นำมาใช้โดยตรงกับคริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งเนื่องด้วยความเชื่อของพวกเขาในเครื่องบูชาของพระเยซูจึงได้รับการประกาศว่าชอบธรรมโดยมีเป้าหมายในการเป็นรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. แต่ทุกวันนี้ ดังที่อัครสาวกโยฮันได้มองเห็นล่วงหน้า ชนฝูงใหญ่ที่ประกอบด้วยคริสเตียนซึ่งมีความหวังทางภาคพื้นโลกปรากฏตัวออกมา. ชนเหล่านี้แสดงความเชื่อในค่าไถ่ด้วย. พวกเขา ‘ได้ล้างชำระเสื้อผ้าให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดกนั้น’ และดังนั้นจึงได้รับการประกาศว่าชอบธรรมในฐานะเป็นมิตรของพระเจ้าโดยมีเป้าหมายในการรอดผ่านความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง.—วิวรณ์ 7:9, 14; เปรียบเทียบยาโกโบ 2:21-26.
จงติดตามความชอบธรรมต่อ ๆ ไป
แต่โปรดสังเกตว่าการติดตามความชอบธรรมหาได้สิ้นสุดลงด้วยการที่เรามีความเชื่อในพระเยซูไม่. ติโมเธียวเป็นคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่อุทิศตัวเป็นเวลาหลายปีแล้วเมื่อเปาโลเขียนถ้อยคำต่อไปถึงท่าน: “จงติดตามความชอบธรรม ความเลื่อมใสในพระเจ้า ความเชื่อ ความรัก ความอดทน มีใจอ่อนโยน. จงเข้าในการปล้ำสู้อย่างดีอันเกี่ยวกับความเชื่อนั้น.” (1 ติโมเธียว 6:11, ล.ม., 12; 2 ติโมเธียว 2:22) ทำไมติโมเธียวต้อง “ติดตามความชอบธรรม” ล่ะ หากว่าพระเจ้าได้ประกาศว่าท่านชอบธรรมอยู่แล้ว?
เพราะมีการใช้คำ “ชอบธรรม” ในพระคัมภีร์ในความหมายที่กว้างขึ้นเพื่อพาดพิงถึงคนที่ดำเนินชีวิตทางด้านศีลธรรมอย่างซื่อสัตย์และพยายามสุดความสามารถของเขาที่จะเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า. บิดามารดาของโยฮันผู้ให้รับบัพติสมาเป็นคนชอบธรรมในความหมายเช่นนี้. (ลูกา 1:6) โยเซฟบิดาเลี้ยงของพระเยซู และโยเซฟแห่งบ้านอาริมาธายก็เป็นคนชอบธรรมในทำนองนี้ด้วย. (มัดธาย 1:19; ลูกา 23:50) ข้อเท็จจริงที่ว่าคริสเตียนได้รับการประกาศว่าชอบธรรมนั้นใช่ว่าปลดเปลื้องความรับผิดชอบของเขาในการติดตามความชอบธรรมในความหมายเช่นนี้ไม่. ที่จริง คริสเตียนคนใดที่เลิกดำเนินชีวิตทางด้านศีลธรรมอย่างซื่อสัตย์ หรือล้มเหลวในการเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้านั้นจะสูญเสียฐานะอันชอบธรรมจำเพาะพระยะโฮวา.
การติดตามความชอบธรรม—การท้าทาย
การติดตามความชอบธรรมเป็นการท้าทาย. ทำไม? เพราะเราทุกคนไม่สมบูรณ์และมีแนวโน้มที่หนักไปในทางความอธรรม. (เยเนซิศ 8:21; โรม 7:21-23) นอกจากนี้ เราดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่ส่งเสริมความคิดและพฤติการณ์ที่ไม่ชอบธรรมและอยู่ภายใต้การควบคุมของซาตานพญามาร “ตัวชั่วร้าย.” (1 โยฮัน 5:19; 2 โกรินโธ 4:4) ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเขียนถึงติโมเธียวนั้น เปาโลเชื่อมโยงการติดตามความชอบธรรมเข้ากับ ‘การปล้ำสู้อย่างดีอันเกี่ยวกับความเชื่อนั้น’!—1 ติโมเธียว 6:11, 12.
เราจะประสบผลสำเร็จใน “การปล้ำสู้อย่างดี” นี้ได้ไหม? ได้ ถ้าเราพัฒนาความรักด้วยน้ำใสใจจริงต่อมาตรฐานของพระยะโฮวาและความเกลียดชังต่อสิ่งที่ชั่ว. พระคัมภีร์กล่าวถึงพระเยซูว่า “พระองค์ได้ทรงรักความชอบธรรม และได้ทรงเกลียดชังการอธรรม (การละเลยกฎหมาย, ล.ม.).” (เฮ็บราย 1:9) เราควรมีเจตคติอย่างเดียวกันคือ ความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะปลูกฝังความรักต่อสิ่งที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยและรังเกียจสิ่งใด ๆ ที่ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย.
เวลาเดียวกัน เราควรจำไว้ว่าการติดตามความชอบธรรมมิใช่เป็นการแข่งขัน. หากเราถือว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นบางคน หรือหากเราภูมิใจในความชอบธรรมของเราเองแล้ว ดังนั้น เราก็เป็นเหมือนพวกฟาริซายชาวยิว. (มัดธาย 6:1-4) คนเหล่านั้นที่ติดตามความชอบธรรมอย่างประสบผลสำเร็จมีทัศนะที่ถ่อมใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับตัวเอง ‘ถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว.’—ฟิลิปปอย 2:3.
เปาโลเน้นความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ในการติดตามความชอบธรรมเมื่อท่านเขียนว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน เพื่อการว่ากล่าว เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อยเพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) หากเราศึกษาพระคัมภีร์และเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนอันเป็นที่ซึ่งมีการพิจารณาพระคัมภีร์แล้ว เราจะได้รับการอบรมในความชอบธรรม. พระคัมภีร์สามารถนวดปั้นเราเพื่อที่เราจะสวมใส่ ‘บุคลิกลักษณะใหม่ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นในความชอบธรรมและความจงรักภักดีที่แท้จริง.’—เอเฟโซ 4:24, ล.ม.
เมื่อความชอบธรรมกลายเป็นส่วนที่แยกไม่ได้จากตัวเราแล้ว เราก็จะเกลียดชังการละเลยกฎหมายอย่างแท้จริง. เราจะไม่ถูกล่อใจให้แสวงการคบหาสมาคมที่ไม่ดีของโลกนี้. (1 โกรินโธ 15:33) เราจะไม่ถูกชักจูงให้รักสิ่งต่าง ๆ ของโลกนี้ หรือปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมแบบฝักใฝ่วัตถุของโลกนี้. (สุภาษิต 16:8; 1 ติโมเธียว 6:9, 10; 1 โยฮัน 2:15-17) แน่นอน เราจะไม่ถูกดึงดูดเนื่องจากความบันเทิงแบบผิดศีลธรรมและรุนแรงซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลายจริง ๆ ในทุกวันนี้.—เอเฟโซ 5:3, 4.
พระพรของความชอบธรรม
ถูกแล้ว การติดตามความชอบธรรมในวิถีทางของพระยะโฮวาเป็นการท้าทาย แต่ความบากบั่นพยายามนับว่าคุ้มค่า. เพราะเหตุใด? เพราะนั่นนำไปสู่การที่เรามีสัมพันธภาพเฉพาะตัวกับพระยะโฮวาเอง. ช่างเป็นสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร! พระคัมภีร์บอกเราว่า “พระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงอวยพระพรต่อบ้านเรือนของผู้ชอบธรรม.” “พระยะโฮวาทรงอยู่ห่างไกลจากคนชั่ว แต่พระองค์ทรงสดับคำอธิษฐานของคนชอบธรรม.” (สุภาษิต 3:33; 15:29) นอกจากนี้ เราบรรลุถึงความเข้าใจอันบริบูรณ์เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา. “วิถีของผู้ชอบธรรมนั้นเหมือนดังแสงอรุณ ซึ่งกล้าขึ้นทุกทีจนถึงเที่ยงวัน.”—สุภาษิต 4:18.
พระคัมภีร์สัญญาเรื่องการคุ้มครองผู้ที่แสวงหาความชอบธรรมเมื่อระบบอันไม่ชอบธรรมนี้มาถึงจุดอวสาน. “บรรดาท่านทั้งหลายในแผ่นดินที่มีความสุภาพ ผู้ได้กระทำความสุจริตธรรมของพระองค์ จงแสวงหาพระยะโฮวา. แสวงหาความบริสุทธิ์ [ความชอบธรรม, ล.ม.] แสวงหาความอ่อนถ่อมจิต. เกลือกว่าท่านทั้งหลายจะปิดกำบังไว้ได้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” (ซะฟันยา 2:3) หลังจากนั้น สำหรับคนเหล่านั้นที่มีความหวังทางภาคพื้นโลก พระคัมภีร์เสนอความคาดหวังอันดีวิเศษที่ว่า “คนสัตย์ธรรม [ชอบธรรม, ล.ม.] จะได้แผ่นดินเป็นมรดก และจะอาศัยอยู่ที่นั่นต่อไปเป็นนิตย์.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:29.
ช่างเป็นเหตุผลอันยอดเยี่ยมอะไรเช่นนี้ในการติดตามความชอบธรรม! ดังที่พระเจ้าเองตรัสว่า “คนที่ประพฤติตามความชอบธรรมและความเมตตาจะประสบชีวิต ความชอบธรรมและเกียรติศักดิ์.”—สุภาษิต 21:21.