จงสนับสนุนการสอนจากพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น
“จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.”—สุภาษิต 3:5, 6.
1. เราถูกแวดล้อมด้วยความรู้ของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างไร?
ในปัจจุบัน มีหนังสือพิมพ์รายวันวางจำหน่ายอยู่ทั่วโลกประมาณ 9,000 ชื่อ. ทุก ๆ ปี มีการออกหนังสือใหม่เฉพาะสหรัฐแห่งเดียวประมาณ 200,000 ฉบับ. ตามการประมาณของแหล่งหนึ่ง เมื่อถึงเดือนมีนาคม 1998 มีเว็บเพจในอินเทอร์เน็ตประมาณ 275 ล้านเว็บเพจ. กล่าวกันว่าตัวเลขจำนวนนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตรา 20 ล้านเว็บเพจต่อเดือน. ผู้คนสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเกือบจะในทุกเรื่องอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. แม้ว่าสถานการณ์เช่นนี้มีบางแง่ที่เป็นประโยชน์ แต่การมีข้อมูลอย่างอุดมล้นเหลือเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างขึ้น.
2. อาจเกิดปัญหาอะไรจากการเข้าถึงข้อมูลซึ่งมีอยู่อย่างอุดมล้นเหลือ?
2 บางคนได้กลายเป็นคนติดข้อมูลงอมแงม สนองความปรารถนาอันไม่รู้จักพอของตนอยู่เสมอที่จะเป็นคนทันยุคทันสมัย แต่กลับละเลยเรื่องที่สำคัญกว่า. คนอื่น ๆ ได้ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับความรู้ในสาขาวิชาที่ซับซ้อน แล้วก็ถือว่าตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ. โดยอาศัยความเข้าใจที่มีจำกัด เขาอาจตัดสินใจในเรื่องที่ก่อผลเสียหายต่อตัวเองหรือคนอื่น ๆ ได้. และอันตรายที่มีอยู่ตลอดคือการเปิดรับข้อมูลที่ไม่จริงหรือไม่ถูกต้อง. บ่อยครั้ง ไม่มีทางจะยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าข้อมูลซึ่งมีอยู่มากมายนั้นถูกต้องแม่นยำและสมดุลหรือไม่.
3. มีคำเตือนอะไรบ้างที่พบในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับการแสวงหาสติปัญญาของมนุษย์?
3 ความอยากรู้อยากเห็นเป็นนิสัยที่ติดตัวมนุษย์มาช้านาน. อันตรายของการผลาญเวลาไปกับการแสวงหาข้อมูลที่ไร้ประโยชน์หรือแม้แต่ที่ก่อผลเสียหายเป็นเรื่องซึ่งตระหนักกันดีในสมัยของกษัตริย์ซะโลโม. ท่านกล่าวว่า “จงรับคำเตือน: การจะทำหนังสือมากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด และการทุ่มเทกับหนังสือเหล่านั้นทำให้เนื้อหนังอิดโรยไป.” (ท่านผู้ประกาศ 12:12, ล.ม.) หลายศตวรรษต่อมา อัครสาวกเปาโลเขียนถึงติโมเธียวว่า “ซึ่งเราฝากไว้กับท่านนั้นจงเฝ้ารักษา, และจงหลีกไปเสียจากการเถียงกันนอกคอกนอกทาง [“การพูดที่ไร้สาระซึ่งละเมิดสิ่งบริสุทธิ์,” ล.ม.], และจากความรู้อันเท็จซึ่งมีข้อแย้งกันอยู่เสมอที่เขาเรียกผิดไปว่าเป็นความรู้ ซึ่งบางคนได้รับเอาไว้แล้วเลยหลงไปจากความเชื่อนั้น.” (1 ติโมเธียว 6:20, 21) ถูกแล้ว คริสเตียนในทุกวันนี้จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเปิดรับโดยไม่จำเป็นต่อแนวคิดที่ก่อผลเสียหาย.
4. ทางหนึ่งที่เราสามารถแสดงความไว้วางใจในพระยะโฮวาและการสอนของพระองค์คืออะไร?
4 ไพร่พลของพระยะโฮวาควรเอาใจใส่ถ้อยคำที่สุภาษิต 3:5, 6 ด้วย ที่ว่า “จงวางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจของเจ้า, อย่าพึ่งในความเข้าใจของตนเอง: จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.” การวางใจในพระยะโฮวาหมายรวมถึงการปฏิเสธแนวคิดใด ๆ ที่ขัดกับพระคำของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดที่มาจากการหาเหตุผลของเราเองหรือจากเพื่อนมนุษย์. เพื่อรักษาสภาพฝ่ายวิญญาณของเราไว้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะฝึกฝนความสามารถในการสังเกตเข้าใจของเรา เพื่อจะบอกได้ว่าข้อมูลใดก่อผลเสียหายและหลีกเลี่ยงข้อมูลนั้น. (เฮ็บราย 5:14) ให้เราพิจารณาด้วยกันเกี่ยวกับบางแหล่งซึ่งเป็นที่มาของข้อมูลเช่นนั้น.
โลกซึ่งถูกซาตานครอบงำ
5. แหล่งหนึ่งของแนวคิดที่ก่อผลเสียหายคืออะไร และใครอยู่เบื้องหลัง?
5 โลกของเราเป็นแหล่งซึ่งอุดมไปด้วยแนวคิดที่ก่อผลเสียหาย. (1 โกรินโธ 3:19) พระเยซูคริสต์ทรงอธิษฐานถึงพระเจ้าเพื่อเหล่าสาวกว่า “ข้าพเจ้าทูลขอพระองค์ มิให้นำพวกเขาไปจากโลก แต่ขอทรงพิทักษ์เขาไว้เพราะตัวชั่วร้าย.” (โยฮัน 17:15, ล.ม.) คำขอของพระเยซูเพื่อเหล่าสาวกจะได้รับการพิทักษ์จาก “ตัวชั่วร้าย” แสดงถึงการยอมรับว่าซาตานมีอิทธิพลในโลกนี้. การที่เราเป็นคริสเตียนไม่ได้ป้องกันเราโดยอัตโนมัติจากอิทธิพลชั่วของโลกนี้. โยฮันเขียนว่า “เรารู้ว่าเราเกิดจากพระเจ้า แต่โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้ายนั้น.” (1 โยฮัน 5:19, ล.ม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงสุดท้ายของสมัยสุดท้ายนี้ เป็นที่คาดหมายได้เลยว่าซาตานกับเหล่าผีปิศาจจะทำให้โลกนี้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่ก่อผลเสียหาย.
6. โลกบันเทิงอาจก่อให้เกิดความด้านชาทางศีลธรรมได้อย่างไร?
6 นอกจากนี้ยังคาดหมายได้ด้วยว่าข้อมูลที่ก่อผลเสียหายบางอย่างอาจดูเหมือนว่าปราศจากอันตราย. (2 โกรินโธ 11:14) เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาโลกบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นรายการทางโทรทัศน์, ภาพยนตร์, ดนตรี, และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ. หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่ายิ่งนานก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ความบันเทิงบางรูปแบบส่งเสริมกิจปฏิบัติอันเสื่อมทราม อย่างเช่น การผิดศีลธรรม, ความรุนแรง, และการใช้ยาเสพย์ติด. ในครั้งแรกที่รับชมรับฟังความบันเทิงแบบที่เสื่อมศีลธรรมยิ่งกว่าที่แล้ว ๆ มา ผู้ชมหรือผู้ฟังอาจตกตะลึง. แต่เมื่อรับความบันเทิงแบบนั้นซ้ำ ๆ หลายครั้งก็อาจทำให้เราชินชา. ขอเราอย่าได้ถือว่าความบันเทิงที่ส่งเสริมแนวคิดที่ก่อผลเสียหายเช่นนั้นเป็นเรื่องยอมรับได้หรือไม่มีพิษภัย.—บทเพลงสรรเสริญ 119:37.
7. สติปัญญาแบบใดของมนุษย์ที่อาจเซาะกร่อนความเชื่อมั่นของเราในคัมภีร์ไบเบิล?
7 ขอพิจารณาอีกแหล่งหนึ่งของข้อมูลที่อาจก่อผลเสียหาย—แนวคิดที่มีอยู่มากมายซึ่งจัดพิมพ์โดยนักวิทยาศาสตร์และผู้คงแก่เรียนบางคนที่ท้าทายความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล. (เทียบกับยาโกโบ 3:15.) เนื้อหาเช่นนั้นปรากฏบ่อย ๆ ในนิตยสารที่คนส่วนใหญ่อ่านและหนังสือที่ได้รับความนิยม และอาจเซาะกร่อนความมั่นใจในคัมภีร์ไบเบิล. บางคนรู้สึกภูมิใจในการทำให้อำนาจแห่งพระคำของพระเจ้าอ่อนลงด้วยข้อคาดเดาอันไม่รู้จักจบ. อันตรายคล้ายกันนี้มีอยู่ในสมัยของอัครสาวกด้วย ดังจะเห็นได้ชัดจากคำพูดของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “จงระวัง: อาจมีคนที่จะทำให้พวกท่านตกเป็นเหยื่อของเขาได้โดยใช้ปรัชญาและคำล่อลวงเหลวไหลตามประเพณีของมนุษย์ ตามสิ่งธรรมดาของโลกและไม่ใช่ตามพระคริสต์.”—โกโลซาย 2:8, ล.ม.
ศัตรูของความจริง
8, 9. การออกหากปรากฏให้เห็นอย่างไรในทุกวันนี้?
8 พวกออกหากอาจเป็นภัยคุกคามอีกอย่างหนึ่งต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเรา. อัครสาวกเปาโลบอกล่วงหน้าว่าการออกหากจะเกิดขึ้นท่ามกลางคนที่ประกาศตัวเป็นคริสเตียน. (กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3) สมจริงตามคำกล่าวของท่าน ภายหลังการเสียชีวิตของเหล่าอัครสาวก การออกหากครั้งใหญ่ได้ทำให้คริสต์ศาสนจักรพัฒนาขึ้นมา. ปัจจุบัน ไม่มีการออกหากครั้งใหญ่เกิดขึ้นในหมู่ไพร่พลของพระเจ้า. ถึงกระนั้น มีบางคนได้ออกไปจากกลุ่มพวกเรา และบางคนในพวกนี้มุ่งมั่นจะทำลายชื่อเสียงของพยานพระยะโฮวาด้วยการแพร่คำโกหกและข้อมูลบิดเบือน. บางคนทำงานกับกลุ่มอื่น รวมหัวกันต่อต้านการนมัสการบริสุทธิ์. โดยทำเช่นนั้น พวกเขาสนับสนุนซาตานซึ่งเป็นผู้ออกหากแรกสุด.
9 ผู้ออกหากบางคนกำลังใช้เครื่องมือสื่อสารมวลชนแบบต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งอินเทอร์เน็ต เพื่อแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา. ผลก็คือ เมื่อสุจริตชนค้นดูเกี่ยวกับความเชื่อของเรา เขาอาจพบการโฆษณาชวนเชื่อของผู้ออกหากเหล่านี้เข้าโดยบังเอิญ. แม้แต่พยานฯ บางคนก็ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ก่อผลเสียหายเช่นนี้โดยไม่ทันรู้ตัว. นอกจากนั้น บางครั้งพวกผู้ออกหากยังได้ไปร่วมรายการทางโทรทัศน์หรือวิทยุด้วย. อะไรคือแนวปฏิบัติที่ฉลาดสุขุมในเรื่องนี้?
10. อะไรคือปฏิกิริยาที่สุขุมต่อการโฆษณาชวนเชื่อของพวกออกหาก?
10 อัครสาวกโยฮันสั่งคริสเตียนว่าอย่าได้รับผู้ออกหากเข้ามาในบ้านของตน. ท่านเขียนว่า “หากผู้ใดมาหาท่านทั้งหลายและไม่นำคำสอนนี้มา อย่ารับเขาเข้ามาในเรือนของท่านหรือกล่าวทักทายเขาเลย. เพราะผู้ที่กล่าวทักทายเขาก็เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำที่ชั่วของเขา.” (2 โยฮัน 10, 11, ล.ม.) การหลีกเว้นจากการติดต่อทุกอย่างกับปรปักษ์เหล่านี้จะป้องกันเราไว้จากแนวคิดอันเสื่อมทรามของพวกเขา. การเปิดรับคำสอนออกหากทางสื่อต่าง ๆ ของเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ซึ่งมีอยู่หลากหลายเป็นอันตรายพอ ๆ กันเลยทีเดียวกับการต้อนรับตัวผู้ออกหากเองเข้ามาในบ้านของเรา. เราไม่ควรปล่อยให้ความอยากรู้อยากเห็นล่อใจเราเข้าสู่แนวทางที่นำไปสู่ความหายนะเช่นนั้น!—สุภาษิต 22:3.
ภายในประชาคม
11, 12. (ก) แหล่งที่มาของแนวคิดที่ก่อผลเสียหายในประชาคมสมัยศตวรรษแรกคืออะไร? (ข) โดยวิธีใดคริสเตียนบางคนไม่ได้สนับสนุนการสอนจากพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น?
11 ขอพิจารณาอีกแหล่งหนึ่งอันอาจเป็นที่มาของแนวคิดที่ก่อผลเสียหาย. แม้ว่าไม่ได้ตั้งใจจะสอนความเท็จ คริสเตียนที่อุทิศตัวบางคนอาจเริ่มเพาะนิสัยพูดอย่างไม่ยั้งคิด. (สุภาษิต 12:18) เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์ เราทุกคนพลาดพลั้งในบางครั้งด้วยลิ้นของเรา. (สุภาษิต 10:19; ยาโกโบ 3:8) ดูเหมือนว่า ในสมัยของอัครสาวกเปาโล มีบางคนในประชาคมที่ไม่ได้ควบคุมลิ้นของตนและเข้าไปยุ่งเกี่ยวในการทะเลาะถกเถียงกันเกี่ยวกับถ้อยคำ. (1 ติโมเธียว 2:8) แล้วก็ยังมีคนอื่นด้วยที่ยึดความเห็นของตนเองมากเกินไปและถึงกับท้าทายอำนาจของเปาโล. (2 โกรินโธ 10:10-12) น้ำใจเช่นนั้นทำให้เกิดการขัดแย้งกันโดยไม่จำเป็น.
12 บางครั้ง ความไม่ลงรอยกันเหล่านี้บานปลายกลายเป็น “การโต้เถียงกันอย่างรุนแรงด้วยเรื่องหยุมหยิม” และทำลายสันติสุขของประชาคม. (1 ติโมเธียว 6:5, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:15) เปาโลเขียนเกี่ยวกับคนที่ก่อการทะเลาะถกเถียงเหล่านั้นว่า “ถ้าผู้ใดสอนหลักคำสอนอื่นและไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คือถ้อยคำของพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา หรือกับคำสอนที่สอดคล้องกับความเลื่อมใสในพระเจ้า เขาอวดทะนงตน ไม่เข้าใจอะไรทั้งสิ้น แต่จิตใจเสื่อมด้วยการซักถามและการโต้เถียงกันเรื่องถ้อยคำ. จากสิ่งเหล่านี้จึงเกิดความอิจฉา, ความขัดเคือง, การพูดจาว่าร้าย, การสงสัยด้วยใจชั่ว.”—1 ติโมเธียว 6:3, 4, ล.ม.
13. ความประพฤติของคริสเตียนส่วนใหญ่ในสมัยศตวรรษแรกเป็นเช่นไร?
13 น่ายินดี คริสเตียนส่วนใหญ่ในสมัยของอัครสาวกเป็นคนซื่อสัตย์และยังคงเอาใจใส่เป็นพิเศษในงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. พวกเขาง่วนอยู่กับการเอาใจใส่ดูแล “ลูกกำพร้าและหญิงม่ายในความทุกข์ยากของเขา และรักษาตัวให้ปราศจากด่างพร้อยของโลก” ไม่เสียเวลาไปกับการโต้เถียงอันไร้ประโยชน์ในเรื่องถ้อยคำ. (ยาโกโบ 1:27, ล.ม.) พวกเขาหลีกเลี่ยง “การคบหาสมาคมที่ไม่ดี” แม้แต่ภายในประชาคมคริสเตียนเองเพื่อป้องกันรักษาสภาพฝ่ายวิญญาณของตน.—1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 2:20, 21.
14. หากเราไม่ระวัง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตามธรรมดาอาจทำให้เกิดการถกเถียงที่ก่อผลเสียหายได้อย่างไร?
14 คล้ายคลึงกัน สถานการณ์ตามที่พรรณนาในข้อ 11 มิได้เป็นสภาพโดยทั่วไปของประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาในทุกวันนี้. ถึงกระนั้น เราควรยอมรับว่าอาจเกิดการถกเถียงกันอย่างไร้ประโยชน์เช่นนั้นขึ้นได้. แน่นอน เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะพิจารณากันถึงเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลหรือสงสัยในบางแง่มุมที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยเกี่ยวกับโลกใหม่ตามคำสัญญา. และไม่มีอะไรผิดที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องส่วนตัว เช่นการแต่งกายและการประดับตัวหรือการเลือกความบันเทิง. อย่างไรก็ตาม หากเรากลายเป็นคนดึงดันตามความเห็นของเราเองและขุ่นเคืองเมื่อคนอื่นไม่เห็นพ้องกับเรา ผลสุดท้ายอาจเกิดการแตกแยกกันในประชาคมด้วยเรื่องหยุมหยิม. เหตุการณ์ที่เริ่มต้นด้วยการพูดคุยกันตามธรรมดาอาจกลายเป็นเรื่องที่ก่อผลเสียหายได้จริง ๆ.
รักษาสิ่งที่เราได้รับฝากไว้
15. “คำสอนของพวกผีปิศาจ” อาจก่อผลเสียหายฝ่ายวิญญาณแก่เราได้ถึงขนาดไหน และพระคัมภีร์ให้คำแนะนำอะไร?
15 อัครสาวกเปาโลเตือนว่า “พระวิญญาณได้ตรัสไว้โดยแจ่มแจ้งว่า, ภายหลังจะมีบางคนทิ้งความเชื่อเสีย, แล้วไปเชื่อฟังวิญญาณที่ล่อลวงและฟังคำสอนของพวกผีปิศาจ.” (1 ติโมเธียว 4:1) ถูกแล้ว แนวคิดที่ก่อผลเสียหายเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริง. จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่เปาโลวิงวอนติโมเธียวสหายที่รักของท่านว่า “ติโมเธียวเอ๋ย, ซึ่งเราฝากไว้กับท่านนั้นจงเฝ้ารักษา, และจงหลีกไปเสียจากการเถียงกันนอกคอกนอกทาง [“การพูดที่ไร้สาระซึ่งละเมิดสิ่งบริสุทธิ์,” ล.ม.], และจากความรู้อันเท็จซึ่งมีข้อแย้งกันอยู่เสมอที่เขาเรียกผิดไปว่าเป็นความรู้ ซึ่งบางคนได้รับเอาไว้แล้วเลยหลงไปจากความเชื่อนั้น.”—1 ติโมเธียว 6:20, 21.
16, 17. พระเจ้าทรงฝากอะไรไว้กับเรา และเราควรรักษาไว้อย่างไร?
16 ในปัจจุบัน เราจะได้รับประโยชน์จากคำเตือนด้วยความรักนี้ได้อย่างไร? ติโมเธียวได้รับฝากสิ่งมีค่าที่จะดูแลและปกป้อง. สิ่งนั้นคืออะไร? เปาโลอธิบายว่า “จงยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่ท่านได้ยินจากข้าพเจ้าด้วยความเชื่อและความรักซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์เยซู. สิ่งดีที่ฝากไว้นี้จงรักษาโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งอาศัยอยู่ในเรา.” (2 ติโมเธียว 1:13, 14, ล.ม.) ถูกแล้ว สิ่งที่ฝากไว้กับติโมเธียวนั้นรวมถึง “ถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” “คำสอนที่สอดคล้องกับความเลื่อมใสในพระเจ้า.” (1 ติโมเธียว 6:3, ล.ม.) สอดคล้องกับถ้อยคำเหล่านี้ คริสเตียนในปัจจุบันตั้งใจแน่วแน่จะรักษาความเชื่อของตนและความจริงทั้งสิ้นที่พวกเขาได้รับฝากไว้.
17 การรักษาสิ่งที่ฝากไว้นั้นหมายรวมถึงการปลูกฝังในเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่นนิสัยที่ดีในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและการเพียรอธิษฐาน ขณะเดียวกันก็ทำ “การดีต่อคนทั้งปวง แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ.” (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.; โรม 12:11-17) เปาโลเตือนสติต่อไปอีกว่า “จงติดตามความชอบธรรม ความเลื่อมใสในพระเจ้า ความเชื่อ ความรัก ความอดทน มีใจอ่อนโยน. จงเข้าในการสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อ ยึดมั่นอยู่กับชีวิตนิรันดร์ตามที่ได้ทรงเลือกท่านไว้และท่านก็ได้ให้คำประกาศอันดีอย่างเปิดเผยต่อหน้าพยานหลายคน.” (1 ติโมเธียว 6:11, 12, ล.ม.) การที่เปาโลใช้วลี “จงเข้าในการสู้อย่างดี” และ “ยึดมั่น” ทำให้เห็นได้ชัดว่า เราต้องต้านทานอย่างแข็งขัน และอย่างเด็ดเดี่ยว ต่ออิทธิพลที่ก่อผลเสียหายฝ่ายวิญญาณ.
จำเป็นต้องมีความสังเกตเข้าใจ
18. เราจะแสดงความสมดุลแบบคริสเตียนได้อย่างไรในการรับข้อมูลฝ่ายโลก?
18 แน่ละ ในการต่อสู้อย่างดีเพื่อความเชื่อนั้นจำเป็นต้องมีความสังเกตเข้าใจ. (สุภาษิต 2:11; ฟิลิปปอย 1:9) ตัวอย่างเช่น ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยข้อมูลฝ่ายโลกทุกอย่าง. (ฟิลิปปอย 4:5; ยาโกโบ 3:17) ไม่ใช่ความคิดทุกอย่างของมนุษย์ขัดแย้งกับพระคำของพระเจ้า. พระเยซูตรัสพาดพิงถึงความจำเป็นที่คนป่วยต้องปรึกษาแพทย์ที่มีคุณวุฒิซึ่งเป็นวิชาชีพฝ่ายโลกอย่างหนึ่ง. (ลูกา 5:31) แม้ว่าการรักษาทางการแพทย์ในสมัยของพระเยซูอยู่ในขั้นแรกเริ่ม แต่พระองค์ทรงยอมรับว่าเป็นประโยชน์ที่จะรับความช่วยเหลือจากแพทย์. คริสเตียนในทุกวันนี้แสดงความสมดุลในเรื่องข้อมูลฝ่ายโลก แต่พวกเขาไม่รับข้อมูลที่อาจก่อผลเสียหายฝ่ายวิญญาณแก่เขา.
19, 20. (ก) ผู้ปกครองดำเนินการด้วยการสังเกตเข้าใจอย่างไรเมื่อช่วยคนที่พูดอย่างไม่สุขุม? (ข) ประชาคมจัดการอย่างไรต่อคนที่ยืนกรานจะส่งเสริมคำสอนเท็จ?
19 การสังเกตเข้าใจยังมีความสำคัญด้วยสำหรับผู้ปกครองเมื่อมีการขอให้ช่วยคนที่พูดอย่างไม่สุขุม. (2 ติโมเธียว 2:7) บางครั้ง สมาชิกของประชาคมอาจโต้เถียงกันด้วยเรื่องหยุม ๆ หยิม ๆ และการคาดเดา. เพื่อรักษาเอกภาพของประชาคม ผู้ปกครองควรจัดการปัญหาเช่นนั้นโดยเร็ว. ในขณะเดียวกัน พวกเขาหลีกเลี่ยงการกล่าวหาว่าพี่น้องมีแรงกระตุ้นไม่ดีและไม่ด่วนสรุปถือว่าเขาเป็นผู้ออกหาก.
20 เปาโลพรรณนาถึงน้ำใจที่ควรมีในการช่วยเหลือผู้อื่น. ท่านกล่าวว่า “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณจงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนโยน.” (ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.) โดยกล่าวอย่างเจาะจงถึงคริสเตียนที่ต่อสู้อยู่กับความสงสัย ยูดาเขียนว่า “จงสำแดงความเมตตาต่อ ๆ ไปต่อบางคนที่มีความสงสัย; จงช่วยพวกเขาให้รอดโดยฉุดเขาออกจากไฟ.” (ยูดา 22, 23, ล.ม.) แน่นอน หากหลังจากได้รับคำตักเตือนหลายครั้ง คนนั้นยังยืนกรานจะส่งเสริมคำสอนเท็จ ผู้ปกครองก็จำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อปกป้องประชาคม.—1 ติโมเธียว 1:20; ติโต 3:10, 11.
บรรจุความคิดของเราด้วยสิ่งที่น่าสรรเสริญ
21, 22. เราควรพิถีพิถันในเรื่องใด และเราควรบรรจุจิตใจของเราด้วยอะไร?
21 ประชาคมคริสเตียนหลีกห่างคำพูดที่ก่อผลเสียหายซึ่ง “แผ่ลามไปเหมือนเนื้อตาย.” (2 ติโมเธียว 2:16, 17, ล.ม.; ติโต 3:9) ควรหลีกห่างทั้งคำพูดที่ส่อให้เห็นถึง “สติปัญญา” ฝ่ายโลกที่ชักนำให้หลง, การโฆษณาชวนเชื่อของพวกออกหาก, และการพูดคุยกันอย่างไม่ยั้งคิดภายในประชาคม. แม้ว่าความปรารถนาดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อาจเป็นประโยชน์ แต่ความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่มีการเหนี่ยวรั้งอาจทำให้เรารับเอาความคิดที่ก่อผลเสียหาย. เราทราบอุบายของซาตาน. (2 โกรินโธ 2:11, ล.ม.) เราทราบว่ามันกำลังพยายามอย่างหนักที่จะดึงเราให้ช้าลงในการรับใช้พระเจ้า.
22 ในฐานะผู้รับใช้ที่ดี ให้เราสนับสนุนการสอนจากพระเจ้าอย่างเหนียวแน่น. (1 ติโมเธียว 4:6) ขอให้เราใช้เวลาอย่างฉลาดสุขุมโดยพิถีพิถันในการเลือกรับข้อมูล. เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะไม่หวั่นไหวง่าย ๆ ต่อการโฆษณาชวนเชื่อที่ซาตานอยู่เบื้องหลัง. ใช่แล้ว ให้เราใคร่ครวญเสมอถึง “สิ่งใดที่จริง, สิ่งใดที่น่าเอาใจใส่อย่างจริงจัง, สิ่งใดที่ชอบธรรม, สิ่งใดที่บริสุทธิ์, สิ่งใดที่น่ารัก, สิ่งใดที่กล่าวถึงในทางดี, สิ่งใดที่มีคุณความดีและสิ่งใดที่น่าสรรเสริญ.” หากเราบรรจุจิตใจและหัวใจของเราด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่นนั้น พระเจ้าแห่งสันติสุขจะสถิตอยู่กับเรา.—ฟิลิปปอย 4:8, 9, ล.ม.
เราได้เรียนอะไรไปบ้าง?
• สติปัญญาฝ่ายโลกอาจเป็นภัยคุกคามต่อสภาพฝ่ายวิญญาณของเราอย่างไร?
• เราสามารถทำอะไรเพื่อป้องกันตัวเราเองจากข้อมูลของพวกออกหากซึ่งก่อผลเสียหาย?
• ควรหลีกเลี่ยงคำพูดแบบใดภายในประชาคม?
• คริสเตียนแสดงความสมดุลอย่างไรเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลซึ่งมีอยู่อย่างอุดมล้นเหลือในทุกวันนี้?
[ภาพหน้า 9]
วารสารและหนังสือจำนวนมากที่ผู้คนนิยมอ่านขัดแย้งกับค่านิยมแบบคริสเตียนของเรา
[ภาพหน้า 10]
คริสเตียนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้โดยไม่ดึงดันตามความคิดของตนเอง