จงรักษาความยินดีไว้ในยามทุกข์ยาก
“ขอให้บรรดาผู้ที่อยู่ในความอารักขาของ [พระยะโฮวา] มีใจชื่นชมยินดี, ให้เขาโห่ร้องเป็นนิตย์ด้วยใจร่าเริง.”—เพลง. 5:11
1, 2. (ก) มีอะไรบ้างที่ทำให้เกิดความทุกข์มากมายในทุกวันนี้? (ข) นอกจากความทุกข์ยากที่มนุษย์ทุกคนประสบ คริสเตียนแท้ยังต้องอดทนกับอะไรด้วย?
พยานพระยะโฮวาหนีไม่พ้นความทุกข์ยากที่เกิดกับมนุษยชาติทั้งหมด. ประชาชนของพระเจ้าหลายคนเป็นเหยื่อของอาชญากรรม, สงคราม, และความอยุติธรรมอื่น ๆ. ภัยธรรมชาติ, ความยากจน, ความเจ็บป่วย, และความตายทำให้เกิดความทุกข์มากมาย. อัครสาวกเปาโลเขียนไว้อย่างเหมาะเจาะว่า “เรารู้ว่าสิ่งทรงสร้างทั้งปวงล้วนคร่ำครวญด้วยกันและเจ็บปวดด้วยกันจนบัดนี้.” (โรม 8:22) นอกจากนั้น เรายังได้รับผลกระทบที่ไม่ดีจากความไม่สมบูรณ์ของตัวเราเอง. เราอาจกล่าวเช่นเดียวกับกษัตริย์ดาวิดในกาลโบราณว่า “การผิดของข้าพเจ้าท่วมศีรษะข้าพเจ้า; ดุจภาระอันหนักเกินที่ข้าพเจ้าจะทนได้แล้ว.”—เพลง. 38:4
2 นอกจากความทุกข์ยากที่มนุษย์ทุกคนประสบ คริสเตียนแท้ยังแบกเสาทรมานโดยนัยด้วย. (ลูกา 14:27) สาวกของพระเยซูถูกเกลียดชังและถูกข่มเหงเช่นเดียวกับพระเยซู. (มัด. 10:22, 23; โย. 15:20; 16:2) ดังนั้น เพื่อจะติดตามพระคริสต์เราต้องออกแรงแข็งขันและอดทนขณะที่เราคอยท่าพระพรที่จะมีในโลกใหม่.—มัด. 7:13, 14; ลูกา 13:24
3. เรารู้ได้อย่างไรว่าคริสเตียนไม่จำเป็นต้องดำเนินชีวิตอย่างทนทุกข์เพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า?
3 นั่นหมายความว่าคริสเตียนแท้ดำเนินชีวิตแบบที่ปราศจากความยินดีและความสุขไหม? ชีวิตเราควรมีแต่ความโศกเศร้าจนถึงวาระสุดท้ายไหม? เห็นได้ชัด พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เรามีความสุขขณะที่เรารอคอยให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริง. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาครั้งแล้วครั้งเล่าถึงผู้นมัสการแท้ว่าเป็นกลุ่มชนที่มีความสุข. (อ่านยะซายา 65:13, 14) บทเพลงสรรเสริญ 5:11 กล่าวว่า “ขอให้บรรดาผู้ที่อยู่ในความอารักขาของ [พระยะโฮวา] มีใจชื่นชมยินดี, ให้เขาโห่ร้องเป็นนิตย์ด้วยใจร่าเริง.” เป็นไปได้ที่เราจะมีความยินดี, ความสงบใจ, และความอิ่มใจแม้เมื่อมีความทุกข์ยากมากมาย. ให้เรามาพิจารณากันอีกครั้งถึงวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยเราให้เผชิญกับการทดสอบและยังคงรักษาความยินดีไว้.
พระยะโฮวา—“พระเจ้าผู้มีความสุข”
4. พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรเมื่อสิ่งทรงสร้างที่มีเชาวน์ปัญญาเพิกเฉยพระประสงค์ของพระองค์?
4 ขอพิจารณาพระยะโฮวาเป็นตัวอย่าง. ในฐานะพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่ง เอกภพทั้งสิ้นอยู่ใต้อำนาจของพระองค์. พระองค์ไม่ขาดสิ่งใดและไม่จำเป็นต้องพึ่งใคร. แต่แม้ว่าไม่มีใครมีอำนาจมากกว่าพระองค์ พระยะโฮวาคงต้องรู้สึกผิดหวังไม่น้อยเมื่อบุตรกายวิญญาณองค์หนึ่งของพระองค์ขืนอำนาจและกลายเป็นซาตาน. พระเจ้าคงต้องรู้สึกเสียพระทัยในเวลาต่อมาเมื่อทูตสวรรค์องค์อื่น ๆ จำนวนหนึ่งร่วมขืนอำนาจด้วย. นอกจากนั้น ขอให้คิดถึงความเจ็บปวดพระทัยของพระเจ้าเมื่ออาดามและฮาวา ผลงานชิ้นเอกของพระองค์ในบรรดาสิ่งทรงสร้างบนแผ่นดินโลก หันหลังให้พระองค์. นับแต่นั้นมา ลูกหลานของพวกเขาหลายพันล้านคนปฏิเสธอำนาจของพระยะโฮวา.—โรม 3:23
5. อะไรทำให้พระยะโฮวาทรงทุกข์พระทัยอย่างยิ่ง?
5 การขืนอำนาจของซาตานยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ละลด. เป็นเวลาประมาณ 6,000 ปี พระยะโฮวาทรงเห็นว่ามีการไหว้รูปเคารพ, ความรุนแรง, ฆาตกรรม, และความวิปริตทางเพศ. (เย. 6:5, 6, 11, 12) นอกจากนั้น พระองค์ทรงได้ยินคำโกหกและคำหมิ่นประมาทอันน่ารังเกียจ. แม้แต่ผู้นมัสการแท้ของพระเจ้าเองก็ทำให้พระองค์เสียพระทัยในบางครั้ง. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาสถานการณ์อย่างนั้นด้วยถ้อยคำที่ว่า “เขาเคยกบฏต่อพระองค์ในป่าเนือง ๆ รู้จักกี่ครั้ง, และได้ทำให้พระองค์เศร้าพระทัยในทะเลทราย! เขาได้ท้อถอยและทดลองพระเจ้าอีก, และได้ขัดพระทัยพระองค์ผู้บริสุทธิ์แห่งพวกยิศราเอล.” (เพลง. 78:40, 41) ไม่ต้องสงสัย พระยะโฮวาคงต้องเจ็บปวดพระทัยอย่างมากเมื่อประชาชนของพระองค์ปฏิเสธพระองค์. (ยิระ. 3:1-10) เห็นได้ชัดว่า พวกเขาได้ทำเรื่องชั่วร้าย และพระยะโฮวาทรงทุกข์พระทัยอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาทำอย่างนั้น.—อ่านยะซายา 63:9, 10
6. พระเจ้าทรงรับมืออย่างไรกับสถานการณ์ที่ทำให้เป็นทุกข์?
6 อย่างไรก็ตาม ความเสียพระทัยและความรู้สึกผิดหวังไม่ได้ทำให้พระยะโฮวาชะงักงัน. เมื่อเกิดปัญหายุ่งยากขึ้น พระยะโฮวาทรงพร้อมจะดำเนินการเพื่อลดผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด. พระองค์ยังทรงใช้มาตรการระยะยาวเพื่อให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จในที่สุด. เมื่อคำนึงถึงการกระทำในแง่บวกเหล่านี้ พระยะโฮวาทรงรอคอยด้วยความยินดีให้ถึงเวลาที่จะมีการพิสูจน์ความถูกต้องแห่งอำนาจปกครองของพระองค์ ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นพระพรสำหรับผู้นมัสการที่ภักดีของพระองค์. (เพลง. 104:31) ดังนั้น แม้ว่าทรงถูกตำหนิติเตียนมากมาย พระยะโฮวายังคงเป็น “พระเจ้าผู้มีความสุข.”—1 ติโม. 1:11; เพลง. 16:11
7, 8. เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราอาจเลียนแบบพระยะโฮวาอย่างไร?
7 จริงอยู่ เราไม่อาจเอาตัวเราไปเปรียบกับพระยะโฮวาในเรื่องความสามารถในการแก้ปัญหา. ถึงกระนั้น เราสามารถเลียนแบบพระยะโฮวาเมื่อเราเผชิญกับความทุกข์ยาก. เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกผิดหวังบ้างเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นอย่างที่เราคิด แต่เราไม่จำเป็นต้องจมอยู่กับความรู้สึกแบบนั้น. เพราะเราถูกสร้างตามแบบพระยะโฮวา เราจึงมีความสามารถในการคิดและมีสติปัญญาที่ใช้ได้จริง ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเราและจัดการในแง่บวกเมื่อไรก็ตามที่ทำได้.
8 ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยเรารับมือกับปัญหาในชีวิตก็คือการยอมรับว่ามีบางเรื่องที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้. การกระวนกระวายใจอย่างหนักด้วยเรื่องเช่นนั้นอาจทำให้ยิ่งข้องขัดใจและทำให้ความยินดีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการแท้หายไป. หลังจากที่ใช้มาตรการที่สมเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาแล้ว นับว่าดีที่สุดที่จะไม่คิดมากไปในเรื่องปัญหาของเราและมุ่งสนใจที่การพยายามทำสิ่งที่ก่อประโยชน์มากกว่า. เรื่องราวต่อไปนี้ในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นจุดนี้เป็นอย่างดี.
ความมีเหตุผลเป็นเรื่องสำคัญ
9. ฮันนาแสดงความมีเหตุผลอย่างไร?
9 ขอให้พิจารณาตัวอย่างของฮันนา ซึ่งในที่สุดเป็นมารดาของผู้พยากรณ์ซามูเอล. เธอรู้สึกท้อใจเพราะไม่สามารถให้กำเนิดบุตร. เธอถูกล้อเลียนและเย้ยหยันเพราะเธอเป็นหมัน. บางครั้ง ฮันนาท้อใจมากจนถึงกับร้องไห้และไม่ยอมรับประทานอาหาร. (1 ซามู. 1:2-7) ครั้งหนึ่ง ขณะที่เธอไปที่สถานศักดิ์สิทธิ์ของพระยะโฮวา ฮันนา “เป็นทุกข์ร้อนใจ, จึงได้อ้อนวอนพระยะโฮวา, และร้องไห้พิลาปร่ำไร.” (1 ซามู. 1:10) หลังจากที่ฮันนาระบายความรู้สึกต่อพระยะโฮวาแล้ว มหาปุโรหิตเอลีก็เข้ามาหาเธอและกล่าวว่า “จงไปเป็นสุข, ขอให้พระเจ้าของพวกยิศราเอลทรงโปรดประทาน, ตามที่เจ้าได้อธิษฐานต่อพระองค์นั้น.” (1 ซามู. 1:17) ถึงตอนนี้ ฮันนาก็ตระหนักแน่แก่ใจว่าเธอได้ทำทุกสิ่งที่เธอสามารถทำได้. การที่เธอเป็นหมันเป็นเรื่องที่เธอแก้ไขอะไรไม่ได้. ฮันนาแสดงความมีเหตุผล. แล้วเธอ “ก็ลาไปรับประทานอาหาร, โดยหน้าชื่นบานมิได้เศร้าโศกต่อไปอีก.”—1 ซามู. 1:18
10. เปาโลแสดงทัศนะที่ตรงกับความเป็นจริงอย่างไรเมื่อเผชิญกับปัญหาที่ท่านไม่สามารถแก้ไขอะไรได้?
10 อัครสาวกเปาโลแสดงทัศนคติคล้าย ๆ กันเมื่อเผชิญความทุกข์ลำบาก. ท่านมีความเจ็บปวดอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ท่านเป็นทุกข์มาก. ท่านเรียกความเจ็บปวดนั้นว่า “หนามในเนื้อหนัง.” (2 โค. 12:7) ไม่ว่าความเจ็บปวดนั้นคืออะไร เปาโลทำสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อขจัดความเจ็บปวดนั้นไป โดยอธิษฐานขอการบรรเทาจากพระยะโฮวา. เปาโลวิงวอนขอพระยะโฮวาบ่อยขนาดไหนในเรื่องนี้? สามครั้ง. หลังจากวิงวอนเป็นครั้งที่สาม พระเจ้าทรงแจ้งให้เปาโลทราบว่า “หนามในเนื้อหนัง” นั้นจะไม่หลุดไปอย่างอัศจรรย์. เปาโลยอมรับข้อเท็จจริงนี้และมุ่งเอาใจใส่ต่อไปในการรับใช้พระยะโฮวาอย่างเต็มที่.—อ่าน 2 โครินท์ 12:8-10
11. การอธิษฐานและการวิงวอนของเรามีบทบาทอย่างไรในการรับมือกับความทุกข์?
11 ตัวอย่างเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรเลิกอธิษฐานถึงพระยะโฮวาในเรื่องที่เราเป็นทุกข์. (เพลง. 86:7) ตรงกันข้าม พระคำของพระเจ้ากระตุ้นเราดังนี้: “อย่าวิตกกังวลกับสิ่งใด แต่จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ.” พระยะโฮวาจะตอบคำวิงวอนเช่นนั้นอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวต่อไปอีกว่า “แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะปกป้องหัวใจและจิตใจท่านทั้งหลายไว้โดยทางพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิป. 4:6, 7) พระยะโฮวาอาจไม่ได้ขจัดปัญหาของเราให้หมดไป แต่พระองค์ทรงสามารถตอบคำอธิษฐานของเราด้วยการปกป้องจิตใจของเราไว้. หลังจากอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งแล้ว เราอาจตระหนักว่าการปล่อยให้ความวิตกกังวลครอบงำเราเป็นอันตราย.
จงยินดีในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า
12. เหตุใดการอยู่ในสภาพที่ท้อแท้นาน ๆ จึงเป็นอันตราย?
12 สุภาษิต 24:10 ยอมรับว่า “ถ้าเจ้าป้อแป้ในวันที่มีความทุกข์ยากก็เห็นได้ว่ากำลังของเจ้านั้นน้อย.” สุภาษิตอีกข้อหนึ่งกล่าวว่า “แต่ความเศร้าใจทำให้จิตต์แตกร้าว.” (สุภา. 15:13) พี่น้องคริสเตียนบางคนท้อใจมากจนในที่สุดเลิกอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวและเลิกคิดใคร่ครวญในพระคำของพระเจ้า. คำอธิษฐานของพวกเขากลายเป็นเรื่องที่ทำพอเป็นพิธี และพวกเขาอาจปลีกตัวจากเพื่อนผู้นมัสการ. เห็นได้ชัดว่า การจมอยู่กับความคิดที่หดหู่เป็นอันตราย.—สุภา. 18:1, 14
13. มีกิจกรรมอะไรบ้างที่สามารถช่วยขจัดความท้อแท้และทำให้เรามีความยินดี?
13 ในทางตรงกันข้าม ทัศนะในแง่บวกจะช่วยเราให้มุ่งสนใจเรื่องที่ทำให้เราชื่นใจยินดี. ดาวิดเขียนว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ายินดีที่จะประพฤติตามน้ำพระทัยของพระองค์.” (เพลง. 40:8) เมื่อเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราไม่ควรเลิกทำกิจวัตรที่ดีในการนมัสการ. ที่จริง สิ่งหนึ่งที่ช่วยเยียวยาความเศร้าก็คือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุข. พระยะโฮวาทรงบอกเราว่าเราสามารถพบความสุขและความยินดีได้จากการอ่านและพินิจพิจารณาพระคำของพระองค์เป็นประจำ. (เพลง. 1:1, 2; ยโก. 1:25) เราได้รับ “ถ้อยคำที่เพราะหู” ซึ่งสามารถชูใจเราและทำให้หัวใจเราเบิกบานจากทั้งพระคัมภีร์บริสุทธิ์และการประชุมคริสเตียน.—สุภา. 12:25; 16:24
14. คำรับรองอะไรจากพระยะโฮวาที่ทำให้เรายินดีในเวลานี้?
14 พระเจ้าประทานหลายสิ่งซึ่งทำให้เรามีเหตุผลมากมายที่จะยินดี. คำสัญญาของพระองค์ในเรื่องความรอดเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เรามีความสุขจริง ๆ. (เพลง. 13:5) เรารู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราในตอนนี้ ในที่สุดพระเจ้าจะประทานบำเหน็จแก่คนที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงใจ. (อ่านท่านผู้ประกาศ 8:12) ผู้พยากรณ์ฮะบาฆูคพรรณนาถึงความเชื่อมั่นเช่นนั้นไว้อย่างงดงามเมื่อท่านเขียนว่า “ถึงแม้นต้นมะเดื่อเทศจะไม่มีดอกบาน, หรือเถาองุ่นทั้งหลายจะไม่มีลูก, หรือต้นเอลายโอนทั้งหลายจะไม่ติดผล, หรือไร่นาทั้งหลายจะไม่มีพืชเป็นอาหาร, หรือแม้นแกะทั้งหลายจะต้องพรัดพรากไปจากฝูง, หรือวัวควายทั้งหลายจะไม่มีอยู่ในคอก, ข้าพเจ้าก็ยังจะมีใจยินดีอยู่ในพระยะโฮวา. ข้าพเจ้าก็คงยินดีอยู่ในพระเจ้าผู้ช่วยให้รอดของข้าพเจ้า.”—ฮบา. 3:17, 18
“ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก!”
15, 16. จงกล่าวถึงของประทานจากพระเจ้าบางอย่างที่เราสามารถชื่นชมขณะที่รอคอยพระพรในอนาคต.
15 ขณะที่เรารอคอยอนาคตอันยอดเยี่ยม พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราชื่นชมสิ่งดีทั้งหลายที่พระองค์ประทานแก่เรา. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ข้าฯ รู้แล้วว่าไม่มีอะไรสำหรับเขาที่จะดีไปกว่าทำใจให้ชื่นชมยินดี, และกระทำดีตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่. มนุษย์ควรจะได้กินและดื่ม, กับชื่นชมความดีความงามในบรรดาการงานของเขา, นี้แหละเป็นของประทานของพระเจ้า.” (ผู้ป. 3:12, 13) ‘การกระทำดี’ รวมถึงการทำดีเพื่อผู้อื่น. พระเยซูตรัสว่าการให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ. การกระทำที่กรุณาต่อคู่สมรส, ลูก ๆ, บิดามารดา, และญาติคนอื่น ๆ ทำให้เราอิ่มใจอย่างยิ่ง. (สุภา. 3:27) การเป็นคนอ่อนโยน, มีน้ำใจรับรองแขก, และพร้อมจะให้อภัยพี่น้องฝ่ายวิญญาณทำให้เรามีความยินดีมาก และทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยด้วย. (กลา. 6:10; โกโล. 3:12-14; 1 เป. 4:8, 9) และการทำงานรับใช้ของเราให้สำเร็จด้วยน้ำใจเสียสละทำให้อิ่มใจอย่างแท้จริง.
16 ถ้อยคำในท่านผู้ประกาศที่อ้างถึงในข้อก่อนหน้านี้กล่าวถึงความเพลิดเพลินง่าย ๆ ในชีวิต เช่น การกินการดื่ม. แม้เมื่อเผชิญความทุกข์ลำบากเราสามารถยินดีในของประทานด้านวัตถุใด ๆ ก็ตามที่ได้รับจากพระยะโฮวา. นอกจากนั้น เราไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อชื่นชมกับความงามอันน่าทึ่งของดวงอาทิตย์ยามอัสดง, ทิวทัศน์อันตระการตา, การเล่นซุกซนของลูกสัตว์, และความมหัศจรรย์อื่น ๆ ในธรรมชาติ. กระนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเปี่ยมด้วยความรู้สึกครั่นคร้ามและทำให้เรายินดี. เมื่อเราใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ แบบนี้ เราก็จะรักพระยะโฮวามากขึ้น เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานสิ่งดีทุกอย่าง.
17. อะไรจะช่วยปลดเปลื้องเราอย่างสิ้นเชิงจากความทุกข์ยากทั้งหลาย และเราได้รับการปลอบโยนอะไรในระหว่างที่รอการปลดเปลื้อง?
17 ในที่สุดแล้ว ความรักที่เรามีต่อพระเจ้า, การเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์, และความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ก็จะปลดเปลื้องเราอย่างสิ้นเชิงจากความทุกข์ยากทั้งหลายของชีวิตมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์และทำให้เรามีความยินดีไม่รู้สิ้นสุด. (1 โย. 5:3) ในระหว่างที่รออยู่นั้น เราได้รับการปลอบโยนที่รู้ว่าพระยะโฮวาทรงทราบดีเกี่ยวกับทุกสิ่งที่ทำให้เราเป็นทุกข์. ดาวิดเขียนว่า “ข้าพเจ้าจะชื่นใจยินดีในพระกรุณาของพระองค์; ด้วยพระองค์ได้ทรงเห็นความทุกข์ของข้าพเจ้า; และทรงทราบความยากในใจของข้าพเจ้าแล้ว.” (เพลง. 31:7) เพราะความรักที่พระยะโฮวาทรงมีต่อเรา พระองค์จะทรงช่วยเราให้พ้นทุกข์.—เพลง. 34:19
18. เหตุใดประชาชนของพระเจ้าควรมีความยินดีอย่างเห็นได้ชัด?
18 ระหว่างที่เราคอยให้คำสัญญาต่าง ๆ ของพระองค์สำเร็จ ขอให้เราเลียนแบบพระยะโฮวา พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความสุข. ขอเราอย่าปล่อยให้ความรู้สึกในแง่ลบทำให้เราหยุดรับใช้พระเจ้า. เมื่อมีปัญหา ขอให้ความสามารถในการคิดและสติปัญญาที่ใช้ได้จริงชี้นำเรา. พระยะโฮวาจะช่วยเราให้ควบคุมอารมณ์และดำเนินการใด ๆ ที่อาจทำได้เพื่อลดผลกระทบที่ไม่ดีของเหตุการณ์อันเลวร้าย. ให้เรายินดีกับสิ่งดีทั้งหลายที่มาจากพระองค์ ทั้งทางกายและฝ่ายวิญญาณ. ด้วยการรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า เราจะสามารถชื่นชมยินดีเพราะ “ชนประเทศที่นับถือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของตนก็เป็นผาสุก!”—เพลง. 144:15
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• เมื่อรับมือกับความทุกข์ยาก เราจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างไร?
• ความมีเหตุผลช่วยเราได้อย่างไรให้รับมือกับความทุกข์ยาก?
• ในยามทุกข์ยาก เราจะยินดีในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 16]
พระยะโฮวาทรงเจ็บปวดพระทัยเพราะสิ่งเลวร้ายทั้งหลาย
[ที่มาของภาพ]
© G.M.B. Akash/Panos Pictures
[ภาพหน้า 18]
พระยะโฮวาประทานหลายสิ่งที่ช่วยให้เรารักษาความยินดี