พระยะโฮวาให้กำลังใจเราทุกครั้งที่เจอความยากลำบาก
“พระเจ้าที่คอยให้กำลังใจ . . . พระองค์ให้กำลังใจเราทุกครั้งที่เจอความยากลำบาก”—2 คร. 1:3, 4
1, 2. พระยะโฮวาให้กำลังใจเราอย่างไรตอนที่ต้องเจอกับปัญหา? และมีคำสัญญาอะไรในคัมภีร์ไบเบิล?
พี่น้องชายโสดคนหนึ่งคิดเกี่ยวกับข้อคัมภีร์ที่ 1 โครินธ์ 7:28 ที่บอกว่าคนที่แต่งงาน “จะมีความยุ่งยากในชีวิต” พี่น้องชายคนนี้ไปคุยกับผู้ดูแลสูงอายุคนหนึ่งที่แต่งงานแล้วและถามว่า “‘ความยุ่งยาก’ มันหมายถึงอะไรเหรอครับ? ถ้าผมแต่งงานแล้วต้องเจอความยุ่งยากอย่างนั้นผมจะทำยังไง?” ก่อนที่จะตอบคำถาม ผู้ดูแลชวนให้พี่น้องชายคนนั้นคิดถึงคำพูดของอัครสาวกเปาโลอีกข้อหนึ่งซึ่งบอกว่า พระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าที่คอยให้กำลังใจในทุกสถานการณ์ พระองค์ให้กำลังใจเราทุกครั้งที่เจอความยากลำบาก”—2 คร. 1:3, 4
2 เรารู้ว่าพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นพ่อรักเรา พระองค์ให้กำลังใจตอนที่เราต้องเจอกับปัญหา คุณอาจคิดถึงประสบการณ์ของตัวคุณเอง คุณคงจำได้ว่าพระยะโฮวาเคยช่วยเหลือและแนะนำคุณอย่างไรทางคัมภีร์ไบเบิล เรามั่นใจได้ว่าพระองค์อยากให้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเหมือนกับที่ผู้รับใช้ในสมัยก่อนได้รับ—อ่านเยเรมีย์ 29:11, 12
3. เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถามอะไร?
3 ปกติแล้ว ตอนที่เราเจอกับปัญหาหรือความยากลำบากต่าง ๆ เราอาจอดทนได้ง่ายกว่าถ้ารู้ว่าสาเหตุของปัญหานั้นคืออะไร ดังนั้น ให้เรามาดูกันว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามีปัญหาในชีวิตคู่และชีวิตครอบครัว? และมีตัวอย่างอะไรจากสมัยคัมภีร์ไบเบิลและสมัยของเราที่ช่วยให้รู้ว่าเราจะได้รับกำลังใจจากที่ไหน? ให้เรามาคุยกันเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้และดูว่าเราจะอดทนเมื่อเจอกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไร
ปัญหาในชีวิตคู่
4, 5. สามีและภรรยาอาจต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง?
4 หลังจากพระยะโฮวาพาเอวาไปหาอาดัม พระองค์บอกว่า “ผู้ชายจะจากพ่อแม่ไปผูกพันใกล้ชิดกับภรรยา แล้วทั้งสองจะเป็นหนึ่งเดียว” (ปฐก. 2:24) แน่นอน เราทุกคนในทุกวันนี้ไม่สมบูรณ์แบบ (รม. 3:23) เพราะอย่างนี้ เมื่อผู้ชายกับผู้หญิงแต่งงานกัน พวกเขาก็คาดหมายได้ว่าจะมีปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต ตัวอย่างเช่น ก่อนแต่งงาน ผู้หญิงก็ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าหลังจากแต่งงานแล้ว สามีจะเป็นผู้นำของภรรยา (1 คร. 11:3) ในช่วงแรก ๆ สามีอาจรู้สึกว่ายากที่จะต้องพูดหรือแนะนำอะไรบางอย่างกับภรรยา ส่วนภรรยาก็อาจรู้สึกยากที่จะเชื่อฟังสามีแทนที่จะเชื่อฟังพ่อแม่ นอกจากนั้น คู่สมรสที่เพิ่งแต่งงานกันใหม่ ๆ อาจเข้ากับพ่อแม่ของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ นี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน
5 ลองคิดดูสิว่าทั้งสามีและภรรยาจะรู้สึกอย่างไรตอนที่รู้ว่าพวกเขากำลังจะมีลูก ถึงแม้พวกเขาอาจดีใจมาก แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้กังวลด้วย พวกเขาอาจเป็นห่วงว่าการตั้งท้องจะมีปัญหาอะไรไหม หรือลูกในท้องจะสมบูรณ์แข็งแรงไหม ไหนจะค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นอีก และหลังจากที่ลูกเกิด ทั้งสองคนก็ต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่าง ผู้หญิงอาจต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลลูกที่ยังเล็ก นี่อาจทำให้สามีภรรยาไม่ได้สนใจและเอาใจใส่กันมากเหมือนเมื่อก่อน คนที่เป็นพ่อก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นด้วย เขาต้องพยายามเตรียมสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ให้กับภรรยาและลูก
6-8. สามีภรรยาอาจรู้สึกอย่างไรถ้าพวกเขาไม่สามารถมีลูกได้?
6 คู่แต่งงานบางคู่อาจมีปัญหาอื่น พวกเขาอาจอยากมีลูกมากแต่ไม่สามารถมีได้ ถ้าภรรยาไม่สามารถตั้งท้องได้ เธออาจรู้สึกเสียใจและเจ็บปวด (สภษ. 13:12) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การแต่งงานและการมีลูกเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้หญิง นี่เป็นเหตุผลที่ราเชลภรรยาของยาโคบเสียใจมาก พี่สาวของเธอมีลูกหลายคน แต่เธอกลับมีลูกไม่ได้ (ปฐก. 30:1, 2) ในทุกวันนี้ผู้คนในบางประเทศเชื่อว่าต้องมีลูกเยอะ ๆ หลายคนชอบถามพี่น้องมิชชันนารีว่าทำไมพวกเขาไม่มีลูก แม้พี่น้องจะพยายามอธิบายอย่างดีที่สุดแล้ว แต่บางคนก็ยังบอกพวกเขาว่า “ไม่เป็นไรนะ เราจะอธิษฐานเผื่อ”
7 ขอคิดถึงอีกตัวอย่างหนึ่ง พี่น้องหญิงคนหนึ่งในอังกฤษอยากมีลูกมาตลอด เมื่อรู้ว่าเธอไม่สามารถมีลูกได้ เธอรู้สึกแย่มาก เธอกับสามีเลยตัดสินใจรับเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม ถึงอย่างนั้นบางครั้งเธอก็ยังรู้สึกเสียใจอยู่ เธอบอกว่า “ฉันรู้อยู่แล้วว่าการมีลูกบุญธรรมก็ไม่เหมือนการมีลูกของตัวเองจริง ๆ”
8 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผู้หญิง “จะอยู่รอดปลอดภัยด้วยการมีลูก” (1 ทธ. 2:15) แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะมีชีวิตตลอดไปเพราะเธอมีลูก ถ้าอย่างนั้นข้อคัมภีร์นี้หมายความว่าอย่างไร? คนเป็นแม่จะยุ่งมากกับการดูแลลูกและดูแลบ้าน นี่ทำให้เธอไม่มีเวลาไปทำสิ่งไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการซุบซิบนินทาคนอื่นหรือไปยุ่งเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง (1 ทธ. 5:13) ถึงแม้จะเป็นอย่างนั้น เธอก็อาจมีปัญหาอื่น ๆ ในชีวิตคู่หรือในครอบครัว
9. ปัญหาอีกอย่างของบางคนที่แต่งงานแล้วคืออะไร?
9 ปัญหาอีกอย่างของบางคนที่แต่งงานแล้วก็คือ ความตายของคู่สมรส หลายคนที่ต้องทนกับปัญหาที่หนักหนาสาหัสนี้ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้กับพวกเขา ถึงอย่างนั้น คริสเตียนมีความเชื่อเต็มร้อยในเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย และความหวังนี้ให้กำลังใจพวกเขาอย่างมาก (ยน. 5:28, 29) ในคัมภีร์ไบเบิล พระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นพ่อสัญญาหลายเรื่องที่ให้กำลังใจเราเมื่อต้องเจอกับปัญหา ตอนนี้ ขอเรามาดูด้วยกันว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวารู้สึกอย่างไรกับกำลังใจที่พวกเขาได้รับจากพระองค์ และเรื่องนี้ช่วยพวกเขาอย่างไร
กำลังใจเมื่อต้องอดทนกับปัญหา
10. ฮันนาห์ได้รับกำลังใจอย่างไร? (ดูภาพแรก)
10 เอลคานาห์มีภรรยาชื่อฮันนาห์กับเปนินนาห์ เขารักฮันนาห์มาก แต่ฮันนาห์มีลูกไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เธออยากมีลูกมาก ส่วนเปนินนาห์ภรรยาอีกคนกลับมีลูกหลายคน (อ่าน 1 ซามูเอล 1:4-7) ยิ่งไปกว่านั้น “ทุกปี” เปนินนาห์ชอบเยาะเย้ยฮันนาห์เรื่องที่เธอมีลูกไม่ได้ นี่ทำให้ฮันนาห์ทุกข์ใจมาก แล้วเธอทำอย่างไร? ฮันนาห์อธิษฐานถึงพระยะโฮวา เธอถึงกับไปที่สถานนมัสการและอธิษฐานเป็นเวลานาน ฮันนาห์ขอให้พระยะโฮวาช่วยเธอให้มีลูกและเธอมั่นใจว่าพระองค์จะช่วย หลังจากอธิษฐานจบ ฮันนาห์รู้สึกดีขึ้นมากและ “หน้าตาก็ไม่เศร้าอีกต่อไป” (1 ซม. 1:12, 17, 18) ฮันนาห์มั่นใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยเธอแน่ ๆ พระองค์อาจจะให้เธอมีลูก หรือไม่ก็จะให้กำลังใจเธอด้วยวิธีอื่น
11. การอธิษฐานให้กำลังใจเราได้อย่างไร?
11 เราจะต้องเจอกับปัญหาอยู่เรื่อย ๆ เพราะเราไม่สมบูรณ์แบบและมีชีวิตอยู่ในโลกของซาตาน (1 ยน. 5:19) แต่เรามีที่พึ่ง เราอธิษฐานถึงพระยะโฮวาได้เพราะพระองค์เป็น “พระเจ้าที่คอยให้กำลังใจในทุกสถานการณ์” ฮันนาห์ก็ทำอย่างนั้น เธอระบายความรู้สึกที่แท้จริงกับพระเจ้าและขอให้พระองค์ช่วย คล้ายกัน เมื่อเราต้องเจอกับปัญหา เราต้องทำมากกว่าแค่พูดถึงปัญหาของเรากับพระยะโฮวา เราต้องขอร้องให้พระองค์ช่วยและต้องระบายความรู้สึกจริง ๆ ของเราออกมา—ฟป. 4:6, 7
12. อะไรช่วยอันนาให้มีความสุขทั้ง ๆ ที่มีปัญหา?
12 เราอาจรู้สึกเสียใจมากเพราะเราไม่มีลูกหรือเพราะคนที่เรารักตายจากไป แต่เราสามารถมีกำลังใจได้ ลองคิดถึงตัวอย่างของอันนาที่มีชีวิตอยู่ในสมัยของพระเยซู เธอแต่งงานได้แค่ 7 ปีสามีก็ตายและดูเหมือนว่าเธอจะไม่มีลูกเลย แต่อะไรช่วยเธอให้มีกำลังใจ? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เธอมาที่วิหารเสมอไม่เคยขาด” ถึงแม้อันนาจะอายุ 84 ปีแล้ว แต่เธอยังไปที่วิหารเพื่ออธิษฐานและนมัสการพระยะโฮวาเสมอ (ลก. 2:37) นี่ทำให้เธอมีกำลังใจและมีความสุขได้ทั้ง ๆ ที่มีปัญหา
13. เมื่อญาติพี่น้องทำให้เราผิดหวัง เพื่อนแท้ช่วยให้เรามีกำลังใจได้อย่างไร?
13 เรายังได้กำลังใจจากพี่น้องคริสเตียนที่เป็นเพื่อนแท้ของเราด้วย (สภษ. 18:24) ตอนที่พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่ชื่อพอลลาอายุ 5 ขวบ แม่ของเธอเลิกรับใช้พระยะโฮวา พอลลาเสียใจมาก การรับมือกับปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ไพโอเนียร์คนหนึ่งที่ชื่อแอนได้ให้ความรักความเอาใจใส่และให้กำลังใจเธอ พอลลาเล่าว่า “ถึงแอนไม่ได้เป็นญาติของฉัน แต่เธอก็รักและเอาใจใส่ฉันจริง ๆ สิ่งนี้ช่วยฉันได้มากและทำให้ฉันรับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไปได้” หลังจากนั้น แม่ของพอลลากลับมารับใช้พระยะโฮวาอีกครั้ง พอลลามีความสุขมาก แอนก็มีความสุขที่ได้ช่วยพอลลาให้รับใช้พระยะโฮวาต่อ ๆ ไป
14. เราได้ประโยชน์อะไรถ้าเราให้กำลังใจคนอื่น?
14 ถ้าเรายุ่งอยู่กับการทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น เราก็จะลืมปัญหาของตัวเอง ตัวอย่างเช่น พี่น้องหญิงหลายคนทั้งที่แต่งงานแล้วและยังไม่ได้แต่งงานรู้ว่าตอนที่พวกเธอประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้ากับคนอื่น พวกเธอก็กำลังทำงานกับพระยะโฮวาและทำสิ่งที่พระองค์อยากให้ทำ การทำอย่างนี้ทำให้พวกเธอมีความสุข ที่จริง เราทุกคนสามารถแสดงว่าเราเป็นห่วงคนอื่นโดยการบอกข่าวดีกับพวกเขา นอกจากนั้น ถ้าเราทำดีกับพี่น้อง เราก็จะสนิทกับพวกเขามากขึ้น (ฟป. 2:4) เปาโลก็ทำแบบนั้น เขาสนใจคนอื่นเหมือน “แม่ลูกอ่อนทะนุถนอมลูกของตัวเอง” เปาโลปลอบใจและให้กำลังใจพวกพี่น้อง “เหมือนที่พ่อทำกับลูก”—อ่าน 1 เธสะโลนิกา 2:7, 11, 12
ให้กำลังใจครอบครัว
15. ใครมีหน้าที่สอนเด็ก ๆ เรื่องพระยะโฮวา?
15 เราจะให้กำลังใจพี่น้องที่มีครอบครัวในประชาคมของเราได้อย่างไร? บางครั้ง พี่น้องใหม่ ๆ อาจขอให้เราสอนลูกของเขาเรื่องพระยะโฮวาหรือถึงขั้นศึกษาพระคัมภีร์กับลูกของเขา แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระยะโฮวาให้พ่อแม่มีหน้าที่สอนและอบรมลูก (สภษ. 23:22; อฟ. 6:1-4) ถึงแม้ว่าคนอื่น ๆ อาจช่วยสอนได้ในบางกรณี แต่เป็นเรื่องสำคัญมากที่พ่อแม่จะสอนลูกด้วยตัวเอง พ่อแม่ต้องคุยกับลูกเป็นประจำ
16. เราต้องจำอะไรไว้เสมอตอนที่ช่วยเด็ก ๆ?
16 ถ้ามีพ่อหรือแม่มาขอให้เราศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับลูกของเขา เราต้องจำไว้ว่าเราไม่ควรทำตัวเป็นพ่อแม่ซะเอง บางครั้งเราอาจศึกษากับเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้เป็นพยานพระยะโฮวา ดังนั้น ตอนที่ศึกษากับเด็กที่ไม่ใช่ลูกของเรา เราน่าจะศึกษากับพวกเขาที่บ้านโดยมีพ่อแม่ของพวกเขาอยู่ด้วย หรือศึกษาในที่ที่มีพี่น้องคริสเตียนที่โตเป็นผู้ใหญ่อยู่ด้วย หรืออาจศึกษาในที่สาธารณะก็ได้ ถ้าเราทำอย่างนี้ เราก็จะไม่ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่ามีการทำอะไรเสีย ๆ หาย ๆ และเมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่ก็อาจสอนลูกเรื่องพระยะโฮวาเองได้
17. เด็ก ๆ จะเป็นกำลังใจให้คนในครอบครัวได้อย่างไร?
17 เด็ก ๆ ที่เรียนรู้ที่จะรักพระยะโฮวาสามารถเป็นกำลังใจให้คนในครอบครัวของเขาได้ด้วย พวกเขาจะทำอย่างนั้นได้โดยนับถือพ่อแม่และพยายามช่วยเหลือพ่อแม่ในเรื่องต่าง ๆ นอกจากนั้น ถ้าเด็ก ๆ รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา ทั้งครอบครัวก็จะได้รับกำลังใจด้วย ลองคิดถึงเหตุการณ์ก่อนน้ำท่วมโลก ลาเมคซึ่งเป็นคนที่นมัสการพระยะโฮวาพูดถึงโนอาห์ลูกชายของเขาว่า “ลูกคนนี้จะช่วยลดงานหนัก และช่วยให้ความเหนื่อยยากซึ่งเกิดจากแผ่นดินที่ถูกพระยะโฮวาสาปแช่งนั้นลดลง” คำพยากรณ์นี้เกิดขึ้นจริงหลังน้ำท่วมโลกเมื่อพระยะโฮวาไม่สาปแช่งแผ่นดินอีกต่อไป (ปฐก. 5:29; 8:21) ในทุกวันนี้ เด็ก ๆ ที่รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาก็เป็นกำลังใจให้คนในครอบครัวของพวกเขาได้ และสามารถช่วยครอบครัวให้อดทนกับปัญหาในตอนนี้และในอนาคตได้ด้วย
18. อะไรจะช่วยเราให้อดทนเมื่อต้องเจอกับปัญหา?
18 ประชาชนของพระยะโฮวาในทุกวันนี้สามารถได้กำลังใจโดยอธิษฐาน คิดใคร่ครวญตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล และใกล้ชิดกับพี่น้องคริสเตียน (อ่านสดุดี 145:18, 19) เรารู้ว่าพระยะโฮวาพร้อมเสมอที่จะให้กำลังใจเรา และพระองค์จะช่วยเราให้อดทนกับปัญหาทุกอย่างแน่นอน