ทำไมจึงรักษาสัญญาของคุณ?
“ลงคะแนนเสียงให้คนที่สัญญาน้อยที่สุด เขาจะทำให้ผิดหวังน้อยที่สุด” เบอร์นาร์ด บารุค อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีได้กล่าวไว้เช่นนั้น. ในโลกทุกวันนี้ดูเหมือนว่าไม่มีการรักษาสัญญาที่ทำไว้. สัญญานั้นอาจเป็นคำปฏิญาณในการสมรส, ข้อตกลงในธุรกิจ, หรือคำมั่นสัญญาที่จะใช้เวลามากขึ้นกับลูก. สิ่งที่บอกเป็นนัยโดยคติพจน์ที่คุ้นเคยกันได้ถูกมองข้ามอย่างกว้างขวางที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่การรักษาสัญญา.”
แน่นอน หลายคนไม่ตั้งใจจะรักษาคำสัญญาของเขาเลย. คนอื่นด่วนให้คำมั่นสัญญาที่ไม่สามารถทำตามได้หรือมิฉะนั้นก็ไม่รักษาคำสัญญาของเขาเพียงเพราะการทำเช่นนี้ปรากฏว่าเป็นแนวทางง่ายที่สุดที่จะดำเนิน.
เป็นที่ยอมรับว่า การรักษาสัญญาอาจเป็นเรื่องยากหากสภาพการณ์ที่ไม่ได้มองเห็นล่วงหน้าเกิดขึ้น. แต่การไม่รักษาคำสัญญาก่อความเสียหายมากจริง ๆ ไหม? คุณควรถือว่าคำสัญญาของคุณเป็นเรื่องสำคัญไหม? การพิจารณาดูตัวอย่างของพระยะโฮวาพระเจ้าอย่างสั้น ๆ จะช่วยเราเห็นเหตุผลที่ควรถือว่าเรื่องนี้สำคัญ.
พระยะโฮวาทรงปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์
เรานมัสการพระเจ้าซึ่งพระนามของพระองค์นั่นเองเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลบ่อยครั้งชื่อบ่งบอกถึงตัวบุคคล. นี่เป็นจริงด้วยกับพระนามยะโฮวาซึ่งหมายความว่า “พระองค์ผู้ทรงบันดาลให้เป็น.” (เอ็กโซโด 3:14) ดังนั้น พระนามของพระเจ้ารวมเอาแนวคิดที่ว่าพระเจ้าจะทรงปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์และทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ.
จริงตามพระนามของพระองค์ พระยะโฮวาทรงรักษาคำสัญญาทุกประการที่ทำไว้กับชาติยิศราเอลโบราณ. เกี่ยวกับคำสัญญาเหล่านี้ กษัตริย์ซะโลโมทรงยอมรับว่า “จงสรรเสริญพระยะโฮวา. ผู้ได้ทรงให้พวกยิศราเอลพลไพร่ของพระองค์มีที่หยุดพัก, ตามสรรพสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้แล้ว: ในสรรพสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้โดยโมเซผู้ทาสของพระองค์มิได้ขาดสักคำเดียวเลย.”—1 กษัตริย์ 8:56.
พระยะโฮวาเป็นที่น่าเชื่อถือถึงขนาดที่อัครสาวกเปาโลสามารถให้เหตุผลไว้ว่า “เมื่อพระเจ้าได้ทรงทำสัญญาไว้กับอับราฮามนั้น, โดยเหตุที่ไม่มีใครเป็นใหญ่กว่าพระองค์ที่พระองค์จะทรงให้คำปฏิญาณได้นั้น. พระองค์ก็ได้ทรงให้คำปฏิญาณแก่พระองค์เอง.” (เฮ็บราย 6:13) ถูกแล้ว พระนามและบุคลิกลักษณะของพระยะโฮวานั่นเองเป็นการรับประกันว่าพระองค์จะไม่ผิดคำสัญญาของพระองค์ ถึงแม้นั่นอาจทำให้พระองค์สูญเสียอย่างมากมายก็ตาม. (โรม 8:32) ข้อเท็จจริงที่ว่าพระยะโฮวาทรงปฏิบัติตามคำสัญญาของพระองค์นั้นทำให้เรามีความหวังซึ่งเป็นสมอสำหรับจิตวิญญาณหรือชีวิตของเรา.—เฮ็บราย 6:19.
คำสัญญาของพระยะโฮวาและอนาคตของเรา
ความหวัง, ความเชื่อ, และชีวิตทั้งสิ้นของเราล้วนขึ้นอยู่กับความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำสัญญาของพระยะโฮวา. เรายึดมั่นกับความหวังอะไร? “มีฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ ซึ่งเรากำลังรอท่าอยู่ตามคำสัญญา [ของพระเจ้า] และซึ่งความชอบธรรมจะดำรงอยู่ที่นั่น.” (2 เปโตร 3:13, ล.ม.) เช่นเดียวกัน พระคัมภีร์ให้เรามีรากฐานสำหรับความเชื่อที่ว่า “จะมีการกลับเป็นขึ้นจากตายทั้งของคนชอบธรรมและคนไม่ชอบธรรม.” (กิจการ 24:15, ล.ม.) และเราสามารถแน่ใจได้ว่า มีอะไรมากกว่าชีวิตในปัจจุบันนี้. ที่จริง สิ่งที่อัครสาวกโยฮันเรียกว่า “คำสัญญา” คือ “ชีวิตนิรันดร์.” (1 โยฮัน 2:25) แต่คำสัญญาของพระยะโฮวาในพระคำของพระองค์มิได้จำกัดอยู่แค่อนาคต. คำสัญญาเหล่านั้นให้ความหมายแก่ชีวิตประจำวันของเราในขณะนี้ทีเดียว.
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตใกล้คนทั้งปวงที่ร้องทูลต่อพระองค์ . . . และจะทรงสดับเสียงร้องขอความช่วยเหลือของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:18, 19, ล.ม.) พระเจ้าทรงรับรองกับเราด้วยว่า “พระองค์ทรงประทานแรงแก่ผู้ที่อิดโรย, ส่วนผู้ที่อ่อนเปลี้ย, พระองค์ทรงประทานกำลังให้.” (ยะซายา 40:29) และช่างเป็นการปลอบประโลมใจเสียจริง ๆ ที่ทราบว่า ‘พระเจ้าจะไม่ทรงให้เราถูกล่อใจเกินที่เราจะทนได้ และเมื่อทรงยอมให้เราถูกล่อใจนั้น พระองค์จะจัดทางออกให้ด้วย’! (1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.) หากเราได้ประสบความสำเร็จเป็นจริงของคำสัญญาเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่งด้วยตัวเองแล้ว เราทราบว่าเราสามารถไว้วางใจพระยะโฮวาได้อย่างเต็มที่. เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เราได้รับจากคำสัญญาหลายข้อที่พระเจ้าทรงสัญญาและรักษานั้น เราควรมองดูคำสัญญาของเราต่อพระองค์นั้นอย่างไร?
การรักษาสัญญาที่เราทำต่อพระเจ้า
การที่เราอุทิศตัวต่อพระเจ้าเป็นสัญญาสำคัญที่สุดซึ่งเราสามารถทำได้อย่างไม่ต้องสงสัย. โดยปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ เราแสดงให้เห็นว่าต้องการรับใช้พระยะโฮวาตลอดไป. ถึงแม้พระบัญญัติของพระเจ้าไม่เป็นภาระหนัก อาจไม่ใช่ง่ายเสมอไปที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ เนื่องจากเราดำเนินชีวิตในระบบชั่วนี้. (2 ติโมเธียว 3:12; 1 โยฮัน 5:3) แต่ถ้าเรา “เอามือจับคันไถ” และเข้ามาเป็นผู้รับใช้ที่อุทิศตัวของพระยะโฮวาและสาวกของพระเยซูคริสต์แล้ว เราก็ไม่ควรหวนคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ของโลกที่เราได้ละไว้เบื้องหลังนั้นเลย.—ลูกา 9:62.
เมื่อเราอธิษฐานถึงพระยะโฮวา เราอาจรู้สึกได้รับการกระตุ้นให้สัญญากับพระองค์ว่าเราจะต่อสู้เพื่อเอาชนะข้ออ่อนแอ, ปลูกฝังคุณลักษณะแบบคริสเตียน, หรือเพิ่มพูนบางด้านของกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้า. อะไรจะช่วยเราให้ทำตามคำสัญญาเหล่านี้โดยตลอดรอดฝั่ง?—เทียบกับท่านผู้ประกาศ 5:2-5.
คำสัญญาที่จริงใจเกิดจากหัวใจเช่นเดียวกันกับจิตใจ. เพราะฉะนั้น ขอให้เรายืนยันคำสัญญาของเรากับพระยะโฮวาโดยการเปิดหัวใจต่อพระองค์ในคำอธิษฐาน บรรยายถึงความกลัว, ความปรารถนา, และความอ่อนแอของเราอย่างซื่อตรง. การอธิษฐานเกี่ยวกับคำสัญญาจะทำให้เรามีความตั้งใจแน่วแน่ยิ่งขึ้นที่จะรักษาคำสัญญานั้น. เราควรถือว่าคำสัญญาของเรากับพระเจ้านั้นเป็นเหมือนหนี้. เมื่อเป็นหนี้ก้อนโต ต้องค่อย ๆ ผ่อนชำระหนี้นั้น. เช่นเดียวกัน สัญญาหลายอย่างที่เราทำกับพระยะโฮวาจะต้องใช้เวลาเพื่อจะทำให้สำเร็จ. แต่โดยการถวายสิ่งที่เราทำได้แด่พระองค์เป็นประจำ เราแสดงให้เห็นว่า เราหมายความตามที่เราพูด และพระองค์จะอวยพระพรเราตามนั้น.
เราสามารถแสดงว่าเราถือว่าคำสัญญาของเราเป็นเรื่องสำคัญโดยการอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนั้นบ่อย ๆ บางทีทุกวัน. การทำเช่นนี้จะแสดงให้พระบิดาของเราทางภาคสวรรค์เห็นว่าเราเป็นคนจริงใจและจะเป็นข้อเตือนใจเป็นประจำด้วย. ดาวิดได้วางตัวอย่างที่ดีไว้ให้เราในเรื่องนี้. ท่านได้ทูลวิงวอนพระยะโฮวาในบทเพลงว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ขอพระองค์ทรงฟังคำร้องทูลของข้าพเจ้า, และทรงเงี่ยพระกรรณสดับคำอธิษฐานของข้าพเจ้า. ข้าพเจ้าจะร้องเพลงสรรเสริญพระนามของพระองค์เป็นนิตย์เพื่อข้าพเจ้าจะได้แก้บนของข้าพเจ้าให้สำเร็จได้ทุกวัน.”—บทเพลงสรรเสริญ 61:1, 8.
การรักษาสัญญาของเราสร้างความไว้วางใจ
ถ้าสัญญาที่ทำกับพระเจ้าไม่ควรถือเป็นเรื่องเล่น ๆ แล้ว ก็อาจพูดอย่างเดียวกันได้กับสัญญาที่เราทำต่อเพื่อนคริสเตียน. เราไม่ควรปฏิบัติกับพระยะโฮวาอย่างหนึ่ง และกับพี่น้องของเราอีกอย่างหนึ่ง. (เทียบกับ 1 โยฮัน 4:20.) ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูตรัสว่า “เพียงให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ คำว่าไม่ ของเจ้าก็ไม่.” (มัดธาย 5:37, ล.ม.) การทำให้แน่ใจว่าคำของเราเป็นที่ไว้วางใจได้เสมอนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่จะ ‘ทำการดีต่อผู้ที่สัมพันธ์กับเราในความเชื่อ.’ (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) ที่เรารักษาสัญญาทุกอย่างนั้นเสริมสร้างความไว้วางใจ.
บ่อยครั้งความเสียหายที่เกิดจากการไม่รักษาสัญญานั้นขยายตัวขึ้นเมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน. ไม่ว่าเป็นการชำระหนี้, การให้บริการ, หรือการทำตามข้อตกลงทางการค้าก็ตาม คริสเตียนควรรักษาสัญญา. นี่ทำให้พระเจ้าพอพระทัยและเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันซึ่งจำเป็นทีเดียวหากพวกพี่น้องจะ “อยู่ร่วมกันเป็นเอกภาพ.”—บทเพลงสรรเสริญ 133:1, ล.ม.
อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อตกลงอาจก่อผลเสียหายแก่ประชาคมอีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยโดยตรง. ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “การโต้เถียงเรื่องธุรกิจ—มักเกิดจากการที่อย่างน้อยฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามข้อตกลง—บ่อยครั้งกลายเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป. ผลก็คือ พี่น้องถูกแบ่งแยก และเกิดบรรยากาศตึงเครียดในหอประชุม.” เป็นเรื่องสำคัญเพียงไรที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับข้อตกลงใด ๆ ก็ตามที่เราทำนั้นแล้วเขียนเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร!a
ควรใช้ความระมัดระวังด้วยเมื่อขายผลิตภัณฑ์ราคาแพงหรือเสนอการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเองเป็นฝ่ายได้รับผลกำไรจากการดำเนินการนั้น. เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องระมัดระวังทีเดียวที่จะไม่พูดเกินความจริงเกี่ยวกับผลประโยชน์ของสินค้าบางอย่างหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพหรือสัญญาผลตอบแทนที่ไม่ตรงกับสภาพจริงในการลงทุน. ความรักควรกระตุ้นคริสเตียนให้อธิบายอย่างครบถ้วนถึงความเสี่ยงใด ๆ ที่พัวพันอยู่ด้วย. (โรม 12:10) เนื่องจากพี่น้องส่วนใหญ่มีประสบการณ์จำกัดในด้านธุรกิจ พวกเขาอาจไว้ใจคำแนะนำของเราเพียงเพราะเราสัมพันธ์กับเขาในความเชื่อ. คงเป็นเรื่องน่าเศร้าสักเพียงไรถ้าความไว้ใจเช่นนี้ถูกบ่อนทำลาย!
ในฐานะคริสเตียน เราไม่สามารถรับเอากิจปฏิบัติทางธุรกิจที่ไม่ซื่อสัตย์หรือที่มองข้ามผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของคนอื่น. (เอเฟโซ 2:2, 3; เฮ็บราย 13:18) เพื่อได้รับความพอพระทัยของพระยะโฮวาฐานะ ‘ผู้พักอยู่ในพลับพลาของพระองค์’ เราต้องเป็นคนไว้ใจได้. “เมื่อให้สัตย์สาบานแล้วถึงจะเสียประโยชน์ก็ไม่กลับถ้อยคืนคำ.”—บทเพลงสรรเสริญ 15:1, 4.
ผู้วินิจฉัยยิพธาในยิศราเอลได้ปฏิญาณไว้ว่าถ้าพระเจ้าทรงประทานให้ท่านมีชัยชนะเหนือพวกอำโมนแล้ว ท่านจะถวายคนแรกที่พบท่านภายหลังกลับจากการสู้รบนั้นเป็นเครื่องบูชาเผาแด่พระยะโฮวา. ปรากฏว่าผู้นั้นคือลูกคนเดียวของยิพธา แต่ท่านก็มิได้กลับคำ. โดยความยินยอมด้วยน้ำใสใจจริงของลูกสาว ท่านได้ถวายเธอเพื่อการรับใช้อย่างถาวรในสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า—การเสียสละที่ทำให้เจ็บปวดและสูญเสียหลายประการอย่างไม่ต้องสงสัย.—วินิจฉัย 11:30-40.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ดูแลในประชาคมมีความรับผิดชอบที่จะทำตามข้อตกลงของเขา. ตามที่ 1 ติโมเธียว 3:2 (ล.ม.) กล่าวไว้นั้น ผู้ดูแลควร “เป็นคนที่ไม่มีใครติเตียนได้.” คำนี้แปลจากคำภาษากรีกที่หมายความว่า “ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งไว้ได้, ไม่มีที่ตำหนิ, อยู่เหนือคำตำหนิ.” คำนี้ “หมายถึงไม่เพียงแต่การที่ชายคนนั้นมีชื่อเสียงดีเท่านั้น แต่หมายความว่าเขาสมควรได้รับชื่อเสียงเช่นนั้นด้วย.” (อะ ลิงกวิสทิก คี ทู เดอะ กรีก นิว เทสทาเมนต์) เนื่องจากผู้ดูแลต้องเป็นคนที่ไม่มีใครติเตียนได้ คำสัญญาของเขาควรเชื่อถือได้เสมอ.
วิธีอื่นที่จะรักษาสัญญาของเรา
เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อสัญญาที่เราทำกับคนเหล่านั้นซึ่งไม่ใช่เพื่อนคริสเตียน? พระเยซูตรัสว่า “ให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวง . . . เพื่อเขาจะได้เห็นการดีของท่าน, แล้วจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์.” (มัดธาย 5:16) โดยพิสูจน์ว่าเราปฏิบัติตามที่พูด เราอาจทำให้คนอื่นสนใจข่าวสารคริสเตียนของเรา. แม้จะมีความเสื่อมลงทั่วโลกในเรื่องมาตรฐานความซื่อสัตย์ คนส่วนใหญ่ยังคงเห็นคุณค่าของความซื่อสัตย์มั่นคง. การรักษาสัญญาของเราเป็นวิธีหนึ่งที่จะแสดงความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้านและดึงดูดใจผู้รักความชอบธรรม.—มัดธาย 22:36-39; โรม 15:2.
ระหว่างปีรับใช้ 1998 พยานพระยะโฮวาใช้เวลามากกว่าหนึ่งพันล้านชั่วโมงประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าต่อสาธารณชน. (มัดธาย 24:14) อาจมีการเพิกเฉยต่องานประกาศนี้ในบางครั้งหากเราไม่รักษาคำพูดของเราในการดำเนินธุรกิจหรือในเรื่องอื่น. เนื่องจากเราเป็นตัวแทนของพระเจ้าแห่งความจริง จึงเป็นการถูกต้องที่ผู้คนจะคาดหมายให้เราปฏิบัติอย่างซื่อตรง. โดยการเป็นคนไว้ใจได้และซื่อตรง เรา “ประดับโอวาทของพระเจ้าผู้ทรงเป็นที่รอดของเราทุกประการ.”—ติโต 2:10.
ในงานรับใช้ เรามีโอกาสรักษาคำพูดของเราเมื่อกลับไปเยี่ยมคนเหล่านั้นที่แสดงความสนใจในข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. หากเราบอกว่าจะกลับไปเยี่ยม เราก็ควรทำเช่นนั้น. การกลับไปตามที่เราได้สัญญาเป็นวิธีหนึ่ง ‘ที่จะไม่กีดกันความดีไว้จากคนเหล่านั้นที่ควรจะได้ความดีนั้น.” (สุภาษิต 3:27) พี่น้องหญิงคนหนึ่งอธิบายดังนี้: “หลายครั้ง ดิฉันพบคนสนใจที่บอกว่าพยานฯ ได้สัญญาว่าจะกลับมาเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้มา. แน่นอน ดิฉันรู้ว่าเจ้าของบ้านอาจไม่อยู่บ้านหรือสภาพแวดล้อมอาจทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะกลับไปหาเขา. แต่ดิฉันไม่อยากให้ใครพูดอย่างนั้นเกี่ยวกับตัวดิฉัน ดังนั้น ดิฉันจึงพยายามสุดความสามารถที่จะพบคนนั้นที่บ้านอีก. ดิฉันคิดว่าถ้าตัวเองทำให้ใครสักคนผิดหวัง นั่นจะสะท้อนถึงพระยะโฮวาและพี่น้องทั้งหมดในทางไม่ดี.”
ในบางกรณี เราอาจรู้สึกมีแนวโน้มที่จะไม่กลับไปอีกเพราะเราลงความเห็นว่าคนนั้นไม่สนใจจริง ๆ. พี่น้องหญิงคนเดียวกันนี้อธิบายว่า “ดิฉันไม่พยายามจะตัดสินว่าเขาสนใจมากหรือน้อย. ประสบการณ์ของตัวดิฉันเองสอนว่า ความประทับใจครั้งแรกมักผิดพลาด. ดังนั้น ดิฉันพยายามมองในแง่บวก ถือว่าแต่ละคนมีศักยภาพจะเข้ามาเป็นพี่น้อง.”
ในงานรับใช้คริสเตียนและในขอบเขตอื่นหลายประการ เราต้องแสดงให้เห็นว่าคำพูดของเราเชื่อถือได้. จริงอยู่ บางสิ่งพูดง่ายกว่าทำ. บุรุษผู้ฉลาดให้ข้อสังเกตไว้ว่า “คนโดยมากมักจะประกาศคุณความดีของตนเอง; แต่คนสัตย์ซื่อแท้ ๆ ใครเล่าจะหาพบ?” (สุภาษิต 20:6) ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ เราสามารถเป็นคนซื่อสัตย์และสัตย์จริงต่อคำพูดของเรา.
พระพรอันอุดมจากพระเจ้า
การจงใจให้คำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ เป็นการไม่ซื่อสัตย์และอาจเปรียบได้กับการเขียนเช็คโดยไม่มีเงินในธนาคารที่จะเบิกได้. แต่เราได้รับผลตอบแทนและพระพรสักเพียงไรเมื่อรักษาคำสัญญา! พระพรอย่างหนึ่งสำหรับการเป็นคนไว้วางใจได้ก็คือสติรู้สึกผิดชอบที่ดี. (เทียบกับกิจการ 24:16.) แทนที่จะถูกรบกวนด้วยความรู้สึกเสียใจ เรารู้สึกพอใจและสงบสุข. ยิ่งกว่านั้น โดยการรักษาคำพูด เราส่งเสริมเอกภาพของประชาคม ซึ่งขึ้นอยู่กับการไว้ใจกันและกัน. “ถ้อยคำสัตย์จริง” ของเราแนะนำตัวเราฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าแห่งความจริงอีกด้วย.—2 โกรินโธ 6:3, 4, 7.
พระยะโฮวาทรงซื่อสัตย์ต่อคำตรัสของพระองค์ และพระองค์ทรงเกลียดชัง “ลิ้นพูดปด.” (สุภาษิต 6:16, 17) โดยเลียนแบบพระบิดาของเราทางภาคสวรรค์ เราได้รับการชักนำให้ใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น. ดังนั้นแล้ว เรามีเหตุผลดีที่จะรักษาคำสัญญาของเรา.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูบทความเรื่อง “เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร!” ในตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1983, หน้า 13-15.
[รูปภาพหน้า 10]
ยิพธารักษาคำสัญญาของท่าน ถึงแม้การทำเช่นนั้นก่อความปวดร้าวก็ตาม
[รูปภาพหน้า 11]
หากคุณสัญญาว่าจะกลับไปเยี่ยมอีก จงเตรียมตัวอย่างดีที่จะทำเช่นนั้น