“ที่ใหญ่ที่สุดคือความรัก”
“บัดนี้ยังคงมีความเชื่อ ความหวัง ความรัก สามอย่างนี้; แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือความรัก.”—1 โกรินโธ 13:13, ล.ม.
1. นักมนุษยศาสตร์คนหนึ่งพูดอย่างไรเกี่ยวกับความรัก?
นักมนุษยศาสตร์ที่เด่นดังคนหนึ่งของโลกเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า “เราเพิ่งเข้าใจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติว่า ความต้องการทางจิตใจขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของมนุษย์คือต้องการความรัก. ความรักเป็นจุดรวมแห่งความต้องการทุกอย่างสำหรับมนุษย์เหมือนดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางแห่งระบบสุริยะพร้อมด้วยดาวเคราะห์ที่โคจรไปรอบ ๆ. . . . เด็กซึ่งไม่เคยได้รับความรักจะต่างกันกับเด็กที่ได้รับความรักเสมอมา ทั้งในทางชีวเคมี ทางสรีระ และกระบวนการทางจิตใจ. การเติบโตของเด็กประเภทแรกก็ต่างไปจากประเภทหลัง. สิ่งที่เรารู้คือมนุษย์เราเกิดมาเพื่อมีชีวิตเหมือนกับว่าการดำรงชีวิตกับการรักเป็นอันเดียวกัน. จริงอยู่ นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่. นี้แหละคือการรับรองคำเทศน์บนภูเขา.”
2. (ก) อัครสาวกเปาโลได้แสดงให้เห็นความสำคัญของความรักนั้นโดยวิธีใด? (ข) มีคำถามอะไรควรแก่การพิจารณาขณะนี้?
2 ถูกแล้ว ดังที่ชายผู้นี้ซึ่งร่ำเรียนสูงได้ยอมรับ ความจริงเรื่องความสำคัญของความรักต่อสวัสดิภาพของมนุษย์เช่นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่. อาจเป็นเรื่องที่ชาวโลกผู้คงแก่เรียนได้มาหยั่งรู้ค่าเพียงในสมัยนี้ แต่อยู่ในพระคำของพระเจ้าพันเก้าร้อยกว่าปีมาแล้ว. เหตุฉะนั้น อัครสาวกเปาโลจึงสามารถเขียนไว้ดังนี้: “บัดนี้ยังคงมีความเชื่อ ความหวัง ความรักสามอย่างนี้; แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือ ความรัก.” (1 โกรินโธ 13:13, ล.ม.) คุณทราบไหมว่าเหตุใดความรักใหญ่กว่าความเชื่อและความหวัง? ทำไมอาจกล่าวได้ว่าความรักเป็นคุณลักษณะที่ใหญ่ยิ่งของพระเจ้าและใหญ่ที่สุดในบรรดาผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์?
ความรักสี่ชนิด
3. มีตัวอย่างอะไรในพระคัมภีร์เกี่ยวด้วยความรักระหว่างชายกับหญิง?
3 ความสามารถของมนุษย์ในการสำแดงความรักได้นั้นเป็นการแสดงออกซึ่งสติปัญญาและความห่วงใยรักใคร่ที่พระเจ้ามีต่อมวลมนุษย์. น่าสนใจทีเดียว ชาวกรีกโบราณมีสี่คำสำหรับ “ความรัก.” หนึ่งคือคำ เอʹรอส หมายถึงความรักของชายกับหญิงที่ควบคู่กับความดึงดูดระหว่างเพศ. ผู้เขียนคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกไม่มีโอกาสใช้คำ เอʹรอส ถึงแม้ฉบับแปลเซ็พตัวจินท์ใช้คำลักษณะนี้ที่สุภาษิต 7:18 และ 30:16 และมีข้ออ้างอิงอื่น ๆ เกี่ยวกับความรักของชายหญิงในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ยกตัวอย่าง เราอ่านว่า ยิศฮาค “มีความรักใคร่ [ริบะคา] มาก.” (เยเนซิศ 24:67) เราพบตัวอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความรักชนิดนี้ในกรณีของยาโคบ ซึ่งดูเหมือนว่าได้หลงรักราเฮลคนสวยตั้งแต่แรกพบ. ที่จริง “ยาโคบได้รับใช้อยู่เจ็ดปีเพราะนางสาวราเฮล แต่เห็นเป็นเหมือนน้อยวันเพราะเหตุรักนางนั้น.” (เยเนซิศ 29:9-11, 17, 20) เพลงไพเราะของกษัตริย์ซะโลโมก็เช่นเดียวกันพูดถึงความรักระหว่างชายเลี้ยงแกะกับหญิงสาว. แต่เราต้องเน้นว่าความรักประเภทนี้ซึ่งอาจเป็นแหล่งซึ่งยังให้เกิดความอิ่มใจพอใจและความยินดีมากควรจะแสดงประสานกับมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้าเท่านั้น. พระคัมภีร์แจ้งไว้ว่าเฉพาะกับความรักของภรรยาคู่สมรสของตนที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นชายจึง “รื่นเริงยินดี . . . เสมอ” ได้.—สุภาษิต 5:15-20.
4. ความรักกันในวงครอบครัวเคยมีตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร?
4 แล้วมีความรักอันแน่นแฟ้นในวงครอบครัว หรือความรักใคร่ตามธรรมชาติอาศัยความสัมพันธ์ร่วมสายโลหิตกัน ซึ่งชาวกรีกใช้คำ สตอร์เกʹ. ความรักนี้เป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “เลือดเข้มกว่าน้ำ.” เรามีตัวอย่างเหมาะของคำนี้ในความรักที่มาเรียและมาธามีต่อลาซะโรน้องชายของเธอ. ที่ว่าลาซะโรเป็นที่รักมากแค่ไหนสำหรับเธอทั้งสองนั้นเห็นได้จากการแสดงความเศร้าโศกอาลัยเหลือล้นเมื่อน้องชายพลันเสียชีวิตอย่างไม่คาดฝัน. และเขาปีติยินดีเพียงใดเมื่อพระเยซูทรงปลุกลาซะโรน้องชายสุดที่รักให้ฟื้นขึ้นมามีชีวิตอีก! (โยฮัน 11:1-44) ความรักที่มารดามีต่อบุตรเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวด้วยความรักประเภทนี้. (เทียบกับ 1 เธซะโลนิเก 2:7.) ดังนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าความรักของพระองค์ต่อซีโอนยิ่งใหญ่เพียงใดนั้น พระยะโฮวาตรัสว่าใหญ่ยิ่งกว่าที่มารดามีต่อบุตรของนาง.—ยะซายา 49:15.
5. การขาดความรักตามธรรมชาติเห็นชัดอย่างไรในปัจจุบัน?
5 สิ่งบ่งชี้ข้อหนึ่งว่าเรากำลังอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” พร้อมด้วย “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” คือการขาด “ความรักตามธรรมชาติ.” (2 ติโมเธียว 3:1, 3, ล.ม.) เพราะการขาดความรักภายในครอบครัว เด็กหนุ่มสาวบางคนหนีออกจากบ้าน และบุตรบางคนซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่เลี้ยงดูบิดามารดาที่แก่ชรา. (เทียบกับสุภาษิต 23:22.) การขาดความรักตามธรรมชาติแบบนี้ยังมองเห็นได้จากการทารุณเด็กที่มีอย่างแพร่หลาย—บิดามารดาบางรายทุบตีลูกอย่างสาหัสจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล. นอกจากนั้น การขาดความรักของบิดามารดาก็มีหลักฐานปรากฏชัดจากการที่บิดามารดาหลายคนไม่ได้ว่ากล่าวตีสอนลูก. การปล่อยลูกไปตามทางของเขาเองหาใช่หลักฐานส่อความรักไม่ แต่กลับกลายเป็นการติดตามแนวทางที่ง่ายที่สุด. บิดาที่รักลูกจริง ๆ จะตีสอนลูกเมื่อจำเป็น.—สุภาษิต 13:24; เฮ็บราย 12:5-11.
6. จงให้ตัวอย่างจากพระคัมภีร์เกี่ยวด้วยความรักใคร่ระหว่างเพื่อน.
6 แล้วก็มีคำกรีก ฟิลีʹอะ บ่งชี้ถึงความรักใคร่ (ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์) ระหว่างเพื่อน เหมือนความชอบพอรักใคร่กันระหว่างผู้ชายสองคน หรือผู้หญิงสองคนซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว. เรามีตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับความรักชนิดนี้ในความรักที่ดาวิดกับโยนาธานมีต่อกัน. เมื่อโยนาธานสิ้นชีวิตในการสู้รบ ดาวิดคร่ำครวญถึงโยนาธานด้วยคำพูดที่ว่า “โอ พี่โยนาธาน ข้าพเจ้าเศร้าโศกอาลัยถึงท่าน ท่านเป็นที่ชื่นใจของข้าพเจ้า. ความรักที่ท่านมีต่อข้าพเจ้านั้นประหลาดล้ำ ยิ่งเสียกว่าความรักของสตรี.” (2 ซามูเอล 1:26, ล.ม.) อนึ่ง เราได้เรียนรู้ว่าพระคริสต์ทรงชอบอัครสาวกโยฮันเป็นพิเศษ รู้กันว่าท่านเป็นสาวก “ซึ่งพระเยซูทรงรัก.”—โยฮัน 20:2.
7. อะไรคือลักษณะของความรักอะกาʹเป และความรักชนิดนี้ได้มีแสดงให้ปรากฏอย่างไร?
7 เปาโลใช้คำอะไรในภาษากรีกที่ 1 โกรินโธ 13:13 ซึ่งข้อนี้ท่านเอ่ยถึงความเชื่อ ความหวัง และความรัก และบอกว่า “ใหญ่ที่สุดคือความรัก”? คำนี้คือ อะกาʹเป เป็นคำเดียวกันซึ่งอัครสาวกโยฮันได้ใช้เมื่อท่านกล่าวว่า “พระเจ้าเป็นความรัก.” (1 โยฮัน 4:8, 16) นี้คือความรักที่ถูกชักนำหรือครอบงำโดยหลักการ. ความรักชนิดนี้อาจรวมเอาความรักใคร่ชอบพอเข้าไว้ด้วยหรือไม่นับรวมก็ได้ แต่ความรักแบบนี้เป็นความรู้สึกอย่างไม่เห็นแก่ตัวซึ่งอยากจะทำดีต่อคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงคุณความดีของผู้รับหรือไม่นึกถึงประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้ให้ความรักจะได้รับ. ความรักชนิดนี้แหละกระตุ้นพระเจ้าทรงสละสิ่งมีค่ายิ่งในพระหฤทัยของพระองค์ซึ่งได้แก่พระเยซูคริสต์ พระบุตรองค์เดียวที่พระเจ้าทรงให้กำเนิด “เพื่อทุกคนที่วางใจในพระองค์จะมิได้พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16) ดังที่เปาโลกล่าวเตือนใจพวกเราเป็นอย่างดีว่า “ด้วยว่าไม่ใคร่จะมีใครตายแทนคนตรง แต่ชะรอยจะมีลางคนตายแทนคนดีกระมัง. แต่ฝ่ายพระเจ้าได้ทรงสำแดงความรักของพระองค์แก่เราทั้งหลาย คือขณะเมื่อเราทั้งหลายยังเป็นคนบาปพระคริสต์ได้ทรงยอมตายแทนเรา.” (โรม 5:7, 8) ใช่แล้ว อะกาʹเป ทำดีแก่ผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงสถานะความเป็นอยู่ของเขา ทั้งไม่คำนึงถึงผู้แสดงความรักต้องเสียอะไรไปก็ตาม.
เหตุใดจึงใหญ่กว่าความเชื่อและความหวัง?
8. เหตุใดอะกาʹเป ใหญ่กว่าความเชื่อ?
8 แต่ทำไมเปาโลบอกว่าความรักชนิดนี้ (อะกาʹเป) ใหญ่กว่าความเชื่อ? ท่านเขียนไว้ที่ 1 โกรินโธ 13:2, (ล.ม.) ว่า “ถ้าข้าพเจ้ามีของประทานกล่าวคำพยากรณ์ได้ และเข้าใจข้อลึกลับอันศักดิ์สิทธิ์ และมีความรู้ทั้งสิ้น แม้ข้าพเจ้ามีความเชื่อทั้งสิ้น พอจะโยกย้ายภูเขาได้แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่เป็นอะไรเลย.” (เทียบกับมัดธาย 17:20.) ใช่แล้ว หากเราเพียงแต่บากบั่นแสวงความรู้และเพิ่มความเชื่อให้มากขึ้นเพื่อใช้สำหรับวัตถุประสงค์อย่างเห็นแก่ตัว เราก็คงจะไม่ได้ประโยชน์อันใดจากพระเจ้า. ทำนองเดียวกัน พระเยซูทรงชี้แจงว่าบางคนจะ ‘พยากรณ์โดยออกนามพระองค์ ขับผีได้โดยการออกนามพระองค์ ทั้งจะแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ ได้โดยออกนามพระองค์’ แต่เขาจะไม่ได้รับความโปรดปรานของพระองค์.—มัดธาย 7:22, 23.
9. เหตุใดความรักใหญ่กว่าความหวัง?
9 เหตุใดความรักอะกาʹเป ใหญ่กว่าความหวังด้วย? เพราะความหวังอาจเป็นในรูปของการครุ่นคิดถึงตัวเอง ห่วงแต่ผลประโยชน์ที่ตนจะได้ แต่ทว่าความรัก “ไม่แสวงผลประโยชน์สำหรับตนเอง.” (1 โกรินโธ 13:4, 5, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น ความหวัง—เช่นที่มั่นหมายว่าจะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากใหญ่ยิ่ง” เข้าสู่โลกใหม่—ครั้นเป็นจริงแล้ว ก็ไม่ต้องหวังอีกต่อไป. (มัดธาย 24:21) อย่างเปาโลกล่าวว่า “เหตุว่าเราทั้งหลายได้รอด เพราะความหวังใจ แต่ความหวังใจในสิ่งที่เราเห็นได้หาได้เป็นความหวังใจไม่ ด้วยว่าใครเล่าได้เห็นสิ่งใดแล้วยังจะคอยหวังในสิ่งนั้นอีก แต่ถ้าเราทั้งหลายคอยหวังสิ่งที่เรายังไม่เห็น เราจึงมีความเพียรคอยสิ่งนั้น.” (โรม 8:24, 25) ความรักย่อมอดทนกับทุกสิ่ง และความรักจะไม่ล้มเหลวเลย. (1 โกรินโธ 13:7, 8, ล.ม.) ฉะนั้น ความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว (อะกาʹเป) จึงใหญ่กว่าความเชื่อและความหวัง.
ใหญ่กว่าสติปัญญา ความยุติธรรม และอำนาจไหม?
10. เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่าความรักนั้นใหญ่ที่สุดในบรรดาคุณลักษณะพื้นฐานสี่ประการของพระเจ้า?
10 บัดนี้ ให้เราพิจารณาคุณลักษณะเด่นสี่ประการของพระเจ้ายะโฮวาซึ่งได้แก่สติปัญญา ความยุติธรรม อำนาจและความรัก. จะกล่าวได้ไหมว่าความรักใหญ่ยิ่งกว่าคุณลักษณะต่าง ๆ ดังกล่าว? แน่นอน เป็นอย่างนั้นจริง. ทำไม? เพราะความรักเป็นพลังกระตุ้นอยู่เบื้องหลังสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำ. เพราะเหตุนี้เอง อัครสาวกโยฮันได้เขียนอย่างนี้: “พระเจ้าเป็นความรัก.” ใช่แล้ว พระยะโฮวาเป็นแบบฉบับแห่งความรัก.” (1 โยฮัน 4:8, 16) เราไม่พบตอนใดในคัมภีร์ไบเบิลว่าพระเจ้าเป็นสติปัญญา เป็นความยุติธรรมหรืออำนาจ. แทนที่จะมีการพูดอย่างนั้น เรารับการบอกกล่าวว่าพระยะโฮวาทรงประกอบด้วยคุณลักษณะเหล่านั้น. (โยบ 12:13; บทเพลงสรรเสริญ 147:5; ดานิเอล 4:37) คุณลักษณะทั้งสี่ประการนี้มีเสมอภาคกันในพระองค์. โดยถูกกระตุ้นด้วยความรัก พระยะโฮวาจึงสัมฤทธิ์ผลตามที่พระองค์ทรงมุ่งหมายโดยการใช้หรือคำนึงถึงคุณลักษณะอื่นอีกสามประการ.
11. อะไรได้กระตุ้นพระยะโฮวาให้สร้างเอกภพ ทั้งองค์วิญญาณและมนุษย์?
11 ดังนั้นแล้ว อะไรล่ะที่ได้กระตุ้นพระยะโฮวาให้สร้างเอกภพและองค์วิญญาณทั้งปวงที่มีเชาวน์ปัญญารวมทั้งมนุษย์ด้วย? พระสติปัญญาหรืออำนาจไหม? ไม่ เพราะพระเจ้าเพียงแต่ใช้สติปัญญาและอำนาจของพระองค์ในการสร้างสรรค์. เช่นเราอ่านว่า “พระยะโฮวานั้นเองได้ทรงตั้งพิภพไว้โดยพระปัญญาของพระองค์.” (สุภาษิต 3:19, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น คุณลักษณะของพระองค์ในด้านความยุติธรรมก็หาได้ทำให้พระองค์ต้องสร้างสิ่งมีชีวิตให้มีอิสระในตัวเองไม่. ความรักของพระเจ้าต่างหากกระตุ้นพระองค์ที่จะร่วมความชื่นชมยินดีแห่งการมีชีวิตที่ประกอบด้วยเชาวน์ปัญญากับบุคคลอื่น. ความรักนี้เองซึ่งได้พบทางที่จะเพิกถอนการปรับโทษซึ่งตกแก่มนุษยชาติอย่างยุติธรรมเพราะการล่วงละเมิดของอาดาม. (โยฮัน 3:16) ใช่แล้ว ความรักนี้เองที่กระตุ้นพระยะโฮวาให้ดำริว่ามนุษย์ผู้เชื่อฟังจะอยู่ในอุทยานทางโลกนี้ซึ่งกำลังใกล้เข้ามา.—ลูกา 23:43.
12. พวกเราน่าจะมีปฏิกิริยาเช่นไรต่ออำนาจ ความยุติธรรมและความรักของพระเจ้า?
12 เนื่องด้วยฤทธานุภาพยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา เราจึงไม่กล้ายั่วพระองค์ให้เกิดความหวงแหน. เปาโลเคยถามดังนี้ “‘เราจะอุตส่าห์กระทำให้องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอิจฉาหรือ’? เรามีฤทธิ์มากกว่าพระองค์หรือ?” (1 โกรินโธ 10:22) จริงอยู่ พระเจ้ายะโฮวาทรง “เป็นผู้หวงแหน” ไม่ใช่ในทางเลวร้าย แต่ “ในการเรียกร้องความเลื่อมใสศรัทธาโดยเฉพาะ.” (เอ็กโซโด 20:5, ฉบับแปลคิง เจมส์ เวอร์ชัน) ในฐานะที่เป็นคริสเตียน พวกเรามีความครั่นคร้ามเกรงขามเมื่อพระเจ้าได้สำแดงพระสติปัญญาอันเหลือจะหยั่งได้มากมายหลายครั้ง. (โรม 11:33-35) ความเคารพอย่างสูงซึ่งพวกเรามีต่อความยุติธรรมของพระองค์จึงน่าจะทำให้เราอยู่ห่างจากการทำผิดโดยเจตนา. (เฮ็บราย 10:26-31) แต่โดยไม่สงสัย ความรักเป็นคุณลักษณะเด่นที่สุดในบรรดาคุณลักษณะสำคัญสี่อย่าง และความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัวของพระยะโฮวานี้เองได้โน้มนำเราเข้ามาหาพระองค์และกระตุ้นเราอยากทำให้พระองค์พอพระทัย อยากจะนมัสการพระองค์ และมีส่วนร่วมเชิดชูพระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์.—สุภาษิต 27:11.
ใหญ่ที่สุดในบรรดาผลแห่งพระวิญญาณ
13. ความรักอยู่ในลำดับที่เท่าไรในบรรดาผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า?
13 ความรักอยู่ลำดับที่เท่าไรในผลเก้าประการแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า ตามที่กล่าวไว้ในฆะลาเตีย 5:22, 23? ผลเก้าประการได้แก่ “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนสุภาพ, การรู้จักบังคับตน.” ด้วยเหตุผลที่ดี เปาโลจัดความรักไว้เป็นลำดับแรก. ความรักประเสริฐกว่าความยินดีหรือ ซึ่งท่านได้เอ่ยถึงคุณลักษณะถัดไป? ใช่แล้ว เพราะว่าความยินดีไม่อาจทนทานได้นานถ้าไม่มีความรัก. ที่จริง โลกนี้ขาดความยินดีเนื่องจากความเห็นแก่ตัว ขาดความรัก. แต่พยานพระยะโฮวามีความรักซึ่งกันและกัน และเขามีความรักต่อพระบิดาของเขาที่สถิตในสวรรค์. ดังนั้น เราควรคาดหมายว่าเขามีความชื่นชมยินดี และมีการบอกไว้ล่วงหน้าว่า เขาจะ “โห่ร้องด้วยความดีใจเพราะเขาอิ่มอกอิ่มใจ.”—ยะซายา 65:14.
14. ทำไมจึงกล่าวได้ว่าความรักใหญ่กว่าสันติสุขอันเป็นผลแห่งพระวิญญาณ?
14 อนึ่ง ความรักใหญ่กว่าสันติสุขซึ่งก็เป็นผลแห่งพระวิญญาณ. เพราะเหตุที่โลกขาดความรัก โลกจึงเต็มไปด้วยการปะทะกันและสู้รบกัน. แต่ไพร่พลของพระยะโฮวาอยู่ร่วมอย่างสันติตลอดทั่วแผ่นดินโลก. ถ้อยแถลงของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญเป็นจริงในกรณีของพวกเขาที่ว่า “พระยะโฮวาจะทรงอวยพระพรแก่พลไพร่ของพระองค์ให้มีความสงบสุข.” (บทเพลงสรรเสริญ 29:11) พยานฯมีสันติสุขเช่นนี้เพราะเขามีเอกลักษณ์ของคริสเตียนแท้นั่นคือความรัก. (โยฮัน 13:35) ความรักอย่างเดียวสามารถขจัดปัจจัยทุกอย่างซึ่งก่อการแตกแยก ไม่ว่าแตกแยกทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์หรือทางวัฒนธรรม. ความรักเป็น “เครื่องเชื่อมสามัคคีที่ดีพร้อม.”—โกโลซาย 3:14, ล.ม.
15. บทบาทสำคัญที่สุดของความรักปรากฏให้เห็นชัดอย่างไรเมื่อเทียบกับผลแห่งพระวิญญาณด้านความอดกลั้นทนนาน?
15 นอกจากนั้น บทบาทอันดีเลิศของความรักย่อมเป็นที่ประจักษ์เมื่อเปรียบเทียบกับความอดกลั้นทนนาน การมีขันติทนต่อการชั่วหรือยั่วยุ. การเป็นคนอดกลั้นทนนานหมายถึงการเป็นคนอดทน ไม่โกรธง่าย. อะไรล่ะเป็นเหตุให้ผู้คนไม่อดทนและบันดาลโทสะขึ้นมาทันที? มิใช่เพราะขาดซึ่งความรักหรอกหรือ? อย่างไรก็ดี พระบิดาของเราที่สถิตในสวรรค์ทรงอดกลั้นทนนานและ “ทรงกริ้วช้า.” (เอ็กโซโด 34:6, ฉบับแปลใหม่; ลูกา 18:7) ทำไม? เพราะพระองค์ทรงรักพวกเรา และ “ไม่ปรารถนาจะให้ผู้หนึ่งผู้ใดพินาศ.”—2 เปโตร 3:9.
16. ความรักเมื่อเปรียบเทียบกับความกรุณา ความดี ความอ่อนสุภาพ และการรู้จักบังคับตนแล้ว เป็นอย่างไร?
16 ก่อนหน้านี้ เราเรียนรู้เหตุผลที่ความรักใหญ่กว่าความเชื่อ และการยกเหตุผลต่าง ๆ ล้วนแต่ใช้ได้กับผลแห่งพระวิญญาณประการอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้พูดถึง คือความกรุณา ความดี ความอ่อนสุภาพและการรู้จักบังคับตน. ผลต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นทั้งสิ้น แต่จะไม่เป็นคุณประโยชน์แก่เราเลยหากปราศจากความรัก ดังที่เปาโลได้เขียนไว้ที่ 1 โกรินโธ 13:3 ว่า “แม้ข้าพเจ้าบริจาคทรัพย์ทั้งสิ้นของข้าพเจ้าเพื่อเลี้ยงคนอื่น และแม้ข้าพเจ้าจะสละร่างกายเสียเพื่อข้าพเจ้าอาจอวดได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่เป็นอะไรเลย.” ในทางตรงกันข้าม ความรักต่างหากที่บังเกิดผลเป็นคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น ความกรุณา ความดี ความเชื่อ ความอ่อนสุภาพและการบังคับตน. ดังนั้น เปาโลได้บอกต่อไปอีกว่าความรักนั้นแสดงความกรุณาและรับเอาทุกสิ่ง เชื่อทุกสิ่ง หวังทุกสิ่ง อดทนทุกสิ่ง.” ใช่แล้ว “ความรักไม่ล้มเหลวเลย.” (1 โกรินโธ 13:4, 7, 8, ล.ม.) มีการพูดอย่างถูกต้องว่า ผลแห่งพระวิญญาณประการอื่น ๆ นั้นล้วนสำแดงแง่มุมต่าง ๆ ของความรักซึ่งถูกนำมากล่าวเป็นลำดับแรก. เพราะฉะนั้นในบรรดาผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ทั้งเก้าประการนั้น ความรักใหญ่ยิ่งจริง ๆ.
17. ถ้อยแถลงอะไรจากพระคัมภีร์สนับสนุนบทสรุปที่ว่าความรักใหญ่ที่สุดในบรรดาผลแห่งพระวิญญาณ?
17 เพื่อสนับสนุนบทสรุปที่ว่าความรักใหญ่ที่สุดในบรรดาผลแห่งวิญญาณของพระเจ้า เปาโลจึงกล่าวดังนี้: “อย่าเป็นหนี้คนหนึ่งคนใดเลย เว้นไว้ในการรักซึ่งกันและกัน เพราะว่าคนใดที่รักคนอื่นก็กระทำให้พระบัญญัติสำเร็จแล้ว . . . ทั้งพระบัญญัติอื่น ๆ ด้วยก็รวมเข้าอยู่ในข้อนี้คือ ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.’ ความรักไม่กระทำชั่วต่อเพื่อนบ้านของตัว เพราะฉะนั้นความรักทำให้พระบัญญัติสำเร็จ.” (โรม 13:8-10) นับว่าเป็นคำพูดที่เหมาะอย่างยิ่งเมื่อสาวกยาโกโบเท้าความถึงพระบัญญัติข้อนี้ว่าด้วยการรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเองเป็น “พระราชบัญญัติ” ทีเดียว.—ยาโกโบ 2:8, ล.ม.
18. มีหลักฐานอะไรแสดงอีกว่าความรักเป็นคุณลักษณะที่ใหญ่ที่สุด?
18 ยังมีหลักฐานอื่นอีกไหมที่แสดงว่าความรักเป็นคุณลักษณะที่ใหญ่ยิ่ง? มีแน่นอน. โปรดสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่ออาลักษณ์ทูลถามพระเยซูว่า “บัญญัติข้อใดเป็นเอกเป็นใหญ่ที่สุด?” อาลักษณ์ผู้นี้อาจคาดหมายเอาว่าพระเยซูคงจะยกข้อใดข้อหนึ่งจากบัญญัติสิบประการก็ได้. แต่พระเยซูทรงยกจากพระบัญญัติ 6:4, 5 แล้วตรัสว่า “พระบัญญัติที่เป็นเอกเป็นใหญ่กว่าบัญญัติทั้งปวงนั้นคือว่า ‘ดูก่อนพวกยิศราเอล จงฟังเถิด พระยะโฮวาพระเจ้าของเราเป็นพระเจ้าองค์เดียว จงรักพระองค์ [ยะโฮวา] ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า.’ ครั้นแล้วพระเยซูทรงเสริมว่า “บัญญัติที่สองนั้นคือ ‘จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง.’” พระบัญญัติอื่นที่ใหญ่กว่าพระบัญญัติทั้งสองนี้ไม่มี.”—มาระโก 12:28-31.
19. ผลแห่งความรักแบบอะกาʹเป ที่เด่นมีอะไรบ้าง?
19 อันที่จริง เปาโลมิได้กล่าวเกินจริงเลย เมื่อท่านเอ่ยถึงความเชื่อ ความหวัง และความรักแล้วบอกว่า “แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือความรัก.” การสำแดงความรักยังผลทำให้มีความสัมพันธ์อันดีกับพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ และกับคนอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งพี่น้องในประชาคมและในครอบครัวของเรา. ความรักมีผลในทางเสริมสร้างตัวเราเอง. และบทความต่อไปจะชี้ให้เห็นว่าความรักแท้สามารถให้รางวัลตอบแทนได้อย่างไร.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ความรักใหญ่กว่าความเชื่อและความหวังอย่างไร?
▫ อะกาʹเป คืออะไร และความรักชนิดนี้สำแดงให้ประจักษ์โดยวิธีใด?
▫ เหตุใดความรักเป็นคุณลักษณะอันใหญ่ยิ่งแห่งคุณลักษณะพื้นฐานสี่ประการของพระเจ้า?
▫ ความรักใญ่ยิ่งกว่าผลแห่งวิญญาณประการอื่น ๆ ในทางใดบ้าง?
[รูปภาพหน้า 13]
ความรักกระตุ้นพระเจ้าให้สร้างมนุษย์ไว้สำหรับชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลก. คุณหวังจะอยู่ที่นั่นไหม?