‘โอ้พระยะโฮวา ขอทรงทดสอบข้าพเจ้า’
“พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ตรวจดูหัวใจ.” (สุภาษิต 17:3, ล.ม.) ข้อนี้น่าจะเป็นคำรับรองให้เราทุกคนสบายใจอย่างยิ่ง. เพราะเหตุใด? เพราะไม่เหมือนมนุษย์ที่พิพากษาตัดสินตามที่ตาเห็นเพียงภายนอก พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา “ทรงเห็นว่าหัวใจเป็นเช่นไร.”—1 ซามูเอล 16:7, ล.ม.
ที่จริง แม้แต่เราเองก็ใช่ว่าจะเป็นผู้ประเมินเจตนาและความโน้มเอียงในส่วนลึกที่สุดภายในใจตัวเองได้ดีเยี่ยม. เพราะเหตุใด? เพราะ “หัวใจ [ของเรา] ทรยศยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดและสิ้นคิด. ใครจะรู้จักหัวใจได้เล่า?” แต่พระเจ้าทราบ เพราะพระองค์ได้แถลงดังนี้: “เรายะโฮวาค้นดูหัวใจและตรวจดูไต.” (ยิระมะยา 17:9, 10, ล.ม.) ใช่แล้ว พระยะโฮวาทรงรู้จัก “หัวใจ”—รวมถึงแรงกระตุ้นภายในของเรา—และ “ไต” อันได้แก่ความคิดและอารมณ์ในส่วนลึกที่สุดของเรา.
ทำไมคริสเตียนถูกทดสอบ?
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เมื่อกษัตริย์ดาวิดในสมัยโบราณทูลพระเจ้าว่า “โอ้พระยะโฮวา ขอทรงตรวจดูข้าพเจ้า และทรงทดสอบข้าพเจ้า; ขอทรงกลั่นกรองไตและหัวใจของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 26:2, ล.ม.) ดาวิดปราศจากมลทินทั้งการกระทำและคำพูดไหม ท่านถึงไม่ต้องหวั่นกลัวอะไรเลยหากพระยะโฮวาทรงทดสอบท่าน? ไม่ใช่เช่นนั้น! ดาวิดไม่ต่างจากพวกเรา ท่านเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถทำได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบตามมาตรฐานของพระเจ้า. เนื่องด้วยความอ่อนแอหลายอย่างของท่าน ดาวิดได้ทำผิดร้ายแรงหลายครั้ง กระนั้น ท่าน ‘ได้ประพฤติโดยใจซื่อสัตย์.’ (1 กษัตริย์ 9:4) วิธีใด? โดยยอมรับการว่ากล่าวและทำการแก้ไขแนวทางของท่าน. ด้วยเหตุนั้น ท่านได้แสดงว่าท่านรักพระยะโฮวาอย่างแท้จริง. ท่านเปี่ยมด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าเต็มที่.
พวกเราในทุกวันนี้ล่ะ? พระยะโฮวาทรงทราบว่าเราเป็นคนไม่สมบูรณ์ และอาจพลาดผิดทั้งคำพูดและการกระทำ. แต่พระองค์ก็ไม่ทรงกำหนดวิถีชีวิตของเราโดยการใช้พระปรีชาสามารถของพระองค์เพื่อจะทราบล่วงหน้าถึงอนาคตของเรา. พระองค์ทรงสร้างเราให้มีเจตจำนงเสรี และทรงคำนึงถึงเจตจำนงเสรีของเรา—ของประทานที่ทรงมอบให้เราด้วยพระทัยเมตตา.
กระนั้นก็ตาม บางครั้งพระยะโฮวาทดสอบบุคคลภายในของเรา อีกทั้งเจตนารมณ์ของเราด้วย. พระองค์อาจให้โอกาสเราได้แสดงออกซึ่งสภาพหัวใจของเรา. นอกจากนั้น พระองค์อาจยอมให้สภาพการณ์หรืออุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ดำเนินไปเพื่อว่าความโน้มเอียงในหัวใจของเราจะปรากฏ. ทั้งนี้เปิดโอกาสแก่เราได้แสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่าเราเป็นคนเลื่อมใสและภักดีเพียงใด. การทดสอบต่าง ๆ เช่นนั้นโดยพระยะโฮวาอาจเป็นการพิสูจน์คุณภาพความเชื่อของเราว่าเราเป็นคน “ดีพร้อมไม่ขาดตกบกพร่องเลย” หรือไม่.—ยาโกโบ 1:2-4, ล.ม.
การทดสอบความเชื่อสมัยโบราณ
การทดสอบความเชื่อและเจตนารมณ์ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. ขอให้พิจารณากรณีอับราฮามปฐมบรรพบุรุษ. “พระเจ้าทรงลองใจอับราฮาม.” (เยเนซิศ 22:1) ตอนที่กล่าวถ้อยคำเหล่านี้ ความเชื่อของอับราฮามในพระเจ้าได้ถูกทดสอบอยู่แล้ว. หลายสิบปีก่อนหน้านั้น พระยะโฮวาตรัสสั่งอับราฮามพร้อมกับครอบครัวให้ย้ายออกจากเมืองอูร์อันเจริญรุ่งเรืองเข้าไปในแผ่นดินซึ่งท่านไม่รู้จัก. (เยเนซิศ 11:31; กิจการ 7:2-4) อับราฮามอาจเคยมีบ้านเรือนเป็นของตัวเองในเมืองอูร์ แต่ท่านก็ไม่ได้ซื้อบ้านเป็นที่อาศัยถาวรในประเทศคะนาอันเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านอยู่ในประเทศนั้นนานเกือบ 100 ปี. (เฮ็บราย 11:9) สถานะของอับราฮามที่ไม่อยู่เป็นที่ทำให้ท่านและครอบครัวตกอยู่ในอันตรายบางอย่าง ตั้งแต่การขาดแคลนอาหาร อันตรายจากกลุ่มติดอาวุธ และพวกป่าเถื่อนที่ครอบครองอาณาบริเวณนั้น. ตลอดระยะเวลาการอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง ความเชื่อของอับราฮามได้รับการพิสูจน์ว่ามีคุณภาพเป็นเลิศ.
ต่อมา พระยะโฮวาทรงทดสอบอับราฮามหนักกว่าเดิม. “จงพาบุตรที่รักคนเดียวของเจ้า คือ ยิศฮาค . . . ถวายเป็นเครื่องบูชาเผา.” (เยเนซิศ 22:2) อับราฮามไม่เคยคิดว่ายิศฮาคเป็นแค่บุตรชายธรรมดา ๆ. เขาเป็นบุตรคนเดียวของอับราฮามและซาราห์ภรรยาของท่าน. ยิศฮาคเป็นบุตรแห่งคำสัญญา บุตรคนเดียวที่อับราฮามหวังได้ว่า “พงศ์พันธุ์” ของท่านจะครอบครองแผ่นดินคะนาอัน และนำพระพรสู่คนเป็นอันมากตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้. ที่จริง ยิศฮาคเป็นบุตรชายคนนั้นที่อับราฮามคาดหวังไว้ และเป็นบุตรที่ถือกำเนิดโดยการอัศจรรย์จากพระเจ้า!—เยเนซิศ 15:2-4, ล.ม., 7.
คุณสามารถนึกมโนภาพได้ว่าคงยากสักปานใดสำหรับอับราฮามจะเข้าใจเหตุผลแห่งพระบัญชาครั้งนั้น. พระยะโฮวาทรงประสงค์เครื่องบูชาที่เป็นมนุษย์หรือ? ทำไมพระยะโฮวาให้อับราฮามได้ประสบความปลื้มปีติเนื่องจากมีบุตรในบั้นปลายของชีวิต ครั้นแล้วกาลต่อมากลับขอให้ท่านสละบุตรชายคนเดียวกันนี้เป็นเครื่องบูชา?a
แม้คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่อับราฮามเชื่อฟังทันที. ท่านใช้เวลาสามวันกว่าจะไปถึงภูเขาที่กำหนดไว้. ที่นั่น ท่านได้สร้างแท่นบูชาและเอาฟืนวางเรียงบนแท่น. บัดนี้มาถึงจุดสุดยอดของการทดสอบ. อับราฮามกำมีดสังหารไว้แน่น แต่ขณะลงมือจะฆ่าบุตรชาย พระยะโฮวาโดยทางทูตสวรรค์ได้ยับยั้งท่าน และตรัสว่า “เดี๋ยวนี้เรารู้ว่าเจ้าเกรงกลัวพระเจ้า, ด้วยเจ้ามิได้หวงลูกคนเดียวของเจ้าไว้จากเรา.” (เยเนซิศ 22:3, 11, 12) คิดดูสิ อับราฮามปลื้มปีติเป็นล้นพ้นเพียงไรเมื่อได้ยินถ้อยคำเหล่านั้น! การที่พระยะโฮวาทรงประเมินค่าความเชื่อของอับราฮามไว้ก่อนหน้านั้นนับว่าถูกต้อง. (เยเนซิศ 15:5, 6) แล้วอับราฮามก็ได้แกะตัวผู้มาตัวหนึ่งใช้เป็นเครื่องบูชาแทนยิศฮาค. จากนั้น พระยะโฮวาทรงยืนยันสัญญาเกี่ยวกับพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. ฉะนั้น จึงพอเข้าใจได้ที่อับราฮามได้ชื่อเป็นมิตรของพระยะโฮวา.—เยเนซิศ 22:13-18; ยาโกโบ 2:21-23.
ความเชื่อของเราถูกทดสอบเช่นเดียวกัน
พวกเราทุกคนตระหนักว่าเวลานี้ผู้รับใช้ของพระเจ้าไม่อาจหลีกพ้นการทดสอบไปได้. อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเรา การทดสอบอาจเป็นในลักษณะที่พระยะโฮวายอมให้เกิดขึ้นมากกว่าที่พระองค์จะบอกให้เราทำอะไรบางอย่าง.
อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:12, ล.ม.) การข่มเหงอาจมาจากเพื่อนนักเรียน, เพื่อนฝูง, ญาติพี่น้อง, เพื่อนบ้าน, หรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ได้รับข้อมูลอย่างผิด ๆ. การข่มเหงอาจรวมไปถึงการประทุษร้ายด้วยคำพูดหรือการกระทำ และทำให้การทำมาหากินของคริสเตียนได้รับผลกระทบ. นอกจากนั้น คริสเตียนแท้ก็ประสบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษยชาติ เช่น ความป่วยไข้, ความไม่สมหวัง, และความไม่เป็นธรรม. ความทุกข์ยากทุกอย่างดังกล่าวทดสอบความเชื่อของคนเรา.
อัครสาวกเปโตรได้นำความสนใจเข้าสู่ประโยชน์ของการทดสอบความเชื่อ โดยกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายได้รับความทุกข์โศก . . . ด้วยการทดลองหลายอย่าง เพื่อว่าคุณภาพแห่งความเชื่อของท่านทั้งหลายที่ถูกทดสอบแล้ว ซึ่งล้ำค่ากว่าทองคำที่สูญเสียไปแม้ว่าถูกพิสูจน์ด้วยไฟ จะเป็นเหตุให้เกิดการสรรเสริญและสง่าราศีและเกียรติยศในคราวการปรากฏของพระเยซูคริสต์.” (1 เปโตร 1:6, 7, ล.ม.) ใช่แล้ว ผลกระทบของการทดสอบเปรียบได้กับการถลุงทองคำด้วยไฟ. กรรมวิธีการถลุงทำให้ได้เห็นสิ่งที่เป็นทองแท้ และขจัดขี้แร่ออก. ความเชื่อของเราได้รับการถลุงคล้าย ๆ กันเมื่อเราประสบการทดสอบ.
เพื่อเป็นตัวอย่าง อุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติอาจส่งผลให้เกิดความยากลำบากตามมา. ถึงกระนั้น ผู้มีความเชื่อแท้ย่อมไม่คิดกังวลเกินควร. พวกเขาได้รับการปลอบประโลมจากคำรับรองของพระยะโฮวาดังนี้: “เราจะไม่ละท่านไว้เลยและจะไม่ทิ้งท่านเสียเลย.” (เฮ็บราย 13:5, ล.ม.) พวกเขายังคงจัดกิจกรรมที่แสดงความเลื่อมใสพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกอยู่เสมอ วางใจว่าพระยะโฮวาพระเจ้าจะอวยพรความบากบั่นพยายามเพื่อเขาจะได้รับสิ่งจำเป็นจริง ๆ. ความเชื่อค้ำจุนชีวิตพวกเขาให้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบาก ทั้งยังปกป้องเขาที่จะไม่วิตกกังวลโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีแต่จะทำให้สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น.
ข้อเท็จจริงที่ว่าการทดสอบอาจเผยให้เห็นข้ออ่อนแอบางประการในความเชื่อของเราก็เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน หากเราเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินมาตรการแก้ไขข้ออ่อนแอนั้น. เราน่าจะถามตัวเองว่า ‘ฉันจะเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งได้อย่างไร? จำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นไหมที่จะศึกษาพระคำของพระเจ้าพร้อมด้วยการอธิษฐานและคิดใคร่ครวญพระคำนั้น? ฉันฉวยประโยชน์อย่างเต็มที่ไหมจากการจัดเตรียมต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนกับเพื่อนร่วมความเชื่อ? ฉันหมายพึ่งตัวเองไหมทั้ง ๆ ที่ควรจะทูลอธิษฐานอย่างจริงจังต่อพระยะโฮวาพระเจ้าในเรื่องความกังวลของฉัน?’ อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบตัวเองเช่นนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น.
การเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งอาจจะต้องเสริมความกระหายฝ่ายวิญญาณ แสดง “ความปรารถนาจะได้น้ำนมอันไม่มีอะไรเจือปนที่เป็นของพระคำ” (1 เปโตร 2:2, ล.ม.; เฮ็บราย 5:12-14 เราควรพยายามเป็นเหมือนบุคคลที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญพรรณนาว่า “ความปีติยินดีของเขาอยู่ในพระบัญญัติของพระยะโฮวา และเขาอ่านพระบัญญัติของพระองค์ด้วยเสียงแผ่วเบาทั้งกลางวันและกลางคืน.”—บทเพลงสรรเสริญ 1:2, ล.ม.
ทั้งนี้จำเป็นต้องทำมากกว่าการอ่านคัมภีร์ไบเบิล. เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะคิดรำพึงในพระคำของพระเจ้าว่าได้บอกอะไรแก่เราและนำเอาคำแนะนำจากพระคำไปใช้. (ยาโกโบ 1:22-25) ผลก็คือ ความรักของเราต่อพระเจ้าจะเพิ่มพูน, คำอธิษฐานของเราจะเป็นลักษณะเฉพาะเจาะจง เป็นการสนทนาส่วนตัวมากขึ้น, และความเชื่อในพระองค์จะเข้มแข็งยิ่งขึ้น.
คุณค่าความเชื่อที่ถูกทดสอบแล้ว
การสำนึกว่าความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญอย่างแท้จริงในการได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าจึงกระตุ้นคนเราที่จะเสริมความเชื่อให้เข้มแข็ง. คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อ เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นที่ชอบพระทัยพระองค์ เพราะผู้ที่เข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่และพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.” (เฮ็บราย 11:6, ล.ม.) ฉะนั้น พวกเราควรแสดงความรู้สึกเหมือนชายผู้ซึ่งร้องขอพระเยซูว่า “โปรดช่วยด้วยในส่วนที่ข้าพเจ้าขาดความเชื่อ!”—มาระโก 9:24, ล.ม.
การทดสอบความเชื่อของเราอาจช่วยคนอื่นได้เหมือนกัน. ตัวอย่างเช่น เมื่อคริสเตียนสูญเสียผู้เป็นที่รักเนื่องด้วยความตาย ความเชื่อเข้มแข็งในคำสัญญาของพระเจ้าว่าด้วยการกลับเป็นขึ้นจากตายจะช่วยค้ำจุนเขา. แม้จะเศร้าเสียใจ แต่เขา “ไม่เป็นทุกข์โศกเศร้าอย่างคนอื่น ๆ ที่ไม่มีความหวัง.” (1 เธซะโลนิเก 4:13, 14, ฉบับแปลใหม่) คนอื่น ๆ เมื่อสังเกตเห็นความเชื่อของคริสเตียนเป็นกำลังค้ำชูผู้โศกเศร้าเช่นนั้น อาจได้มาตระหนักว่าเขาคงมีอะไรบางอย่างซึ่งมีคุณค่าแท้. สิ่งนี้อาจกระตุ้นหัวใจพวกเขาให้ปรารถนาจะมีความเชื่ออย่างเดียวกัน เกิดความรู้สึกอยากเรียนพระคำของพระเจ้าและเข้ามาเป็นสาวกพระเยซูคริสต์.
พระยะโฮวาทรงทราบว่าความเชื่อที่ถูกทดสอบแล้วมีคุณค่ามากยิ่ง. นอกจากนั้น การทดสอบความเชื่อจะช่วยให้รู้ว่าความเชื่อของเรามีพลังค้ำจุนจริง ๆ หรือไม่. เราได้รับการช่วยให้ตรวจสอบจุดอ่อนเกี่ยวกับความเชื่อของเรา ซึ่งช่วยเราแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ ได้. ในที่สุด เมื่อเราผ่านการทดสอบได้สำเร็จ เราอาจช่วยคนอื่นเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู. ฉะนั้น ขอให้เราทำสุดกำลังเพื่อรักษาความเชื่อให้เข้มแข็งต่อ ๆ ไป ความเชื่อชนิดที่ผ่านการทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า “จะเป็นเหตุให้เกิดการสรรเสริญและสง่าราศีและเกียรติยศในคราวการปรากฏของพระเยซูคริสต์.”—1 เปโตร 1:7, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a เกี่ยวกับนัยสำคัญของการถวายยิศฮาคเป็น “เครื่องบูชา” โปรดอ่านหอสังเกตการณ์ 1 กรกฎาคม 1989 หน้า 23-24.
[ภาพหน้า 13]
การกระทำของอับราฮาม ที่แสดงถึงความเชื่อทำให้ท่านได้เป็นมิตรของพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 15]
การทดสอบพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อของเรามีพลังค้ำจุนได้จริง
[ที่มาของภาพหน้า 12]
From the Illustrated Edition of the Holy Scriptures, by Cassell, Petter, & Galpin