จงรับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี
“พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงปฏิบัติด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดี.”—2 ซามูเอล 22:26, ล.ม.
1. พระยะโฮวาทรงปฏิบัติอย่างไรกับผู้ที่ภักดีต่อพระองค์?
สารพัดสิ่งซึ่งพระยะโฮวาทรงกระทำเพื่อไพร่พลของพระองค์นั้น ไม่อาจจะหาสิ่งใดทดแทนได้. (บทเพลงสรรเสริญ 116:12) ของประทานจากพระองค์ทั้งฝ่ายวิญญาณและทางด้านวัตถุและพระเมตตาอันอ่อนละมุนเป็นสิ่งประเสริฐล้ำเลิศเพียงใด! กษัตริย์ดาวิดของชาติยิศราเอลโบราณตระหนักว่าพระเจ้าทรงกระทำด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดีต่อพระองค์. ดาวิดกล่าวเช่นนั้นในเพลงที่ท่านแต่ง “ขณะพระยะโฮวาทรงช่วยดาวิดให้พ้นมือบรรดาศัตรู, พ้นมือ [กษัตริย์] ซาอูล.”—2 ซามูเอล 22:1.
2. อะไรคือจุดสำคัญบางประการที่ปรากฏอยู่ในเพลงที่ดาวิดแต่ง ดังบันทึกใน 2 ซามูเอลบท 22?
2 ดาวิดเริ่มบทเพลงของท่าน (คล้ายกันกับเพลงสรรเสริญบท 18) โดยสดุดีพระยะโฮวา ในฐานะ “เป็นผู้ช่วยให้รอด” โดยได้ทรงสดับคำอธิษฐาน. (2 ซามูเอล 22:2-7) จากพระวิหารของพระองค์ในสวรรค์ พระเจ้าทรงลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยผู้รับใช้ที่ภักดีต่อพระองค์ให้พ้นมือศัตรูที่มีกำลังมาก. (ข้อ 8-19) ดาวิดได้รับบำเหน็จเช่นนั้นเพราะท่านได้ดำเนินในทางชอบธรรมและติดตามแนวทางของพระยะโฮวาอยู่เสมอ. (ข้อ 20-27) ข้อความถัดไปเป็นการจาระไนถึงการงานต่าง ๆ ลุล่วงไปได้ก็เพราะพระเจ้าประทานพละกำลัง. (ข้อ 28-43) ตอนสุดท้าย ดาวิดได้กล่าวถึงการช่วยให้รอดจากผู้หาความผิดภายในประเทศ และจากศัตรูนอกประเทศ และได้กล่าวขอบพระคุณพระยะโฮวาผู้ทรง “ประทานชัยชนะอันยิ่งใหญ่แก่พระราชาของพระองค์ และทรงสำแดงความรักมั่นคงแก่ผู้ที่ทรงเจิมของพระองค์.” (ข้อ 44-51, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงสามารถช่วยพวกเราให้รอดได้เหมือนกัน ถ้าเราติดตามแนวทางชอบธรรมและวางใจหมายพึ่งพระองค์เพื่อจะได้กำลัง.
สิ่งที่การเป็นคนภักดีหมายถึง
3. จากทัศนะของพระคัมภีร์ การที่จะภักดีหมายความอย่างไร?
3 บทเพลงของดาวิดเกี่ยวเนื่องกับการช่วยให้รอดนั้นเป็นคำรับรองที่ทำให้เราสบายใจ: “พระองค์ [พระยะโฮวา] จะทรงกระทำด้วยความภักดีต่อผู้ที่ภักดี.” (2 ซามูเอล 22:26, ล.ม.) คำคุณศัพท์ภาษาฮีบรู ชาสิดห์ʹ ที่หมายถึง “ผู้ที่ภักดี” หรือ “คนที่รักกรุณา.” (บทเพลงสรรเสริญ 18:25, ช่องหมายเหตุ) คำนาม เชʹเสดห์ ชวนให้คิดถึงความกรุณาซึ่งแนบสนิทด้วยความรักกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนกว่าสำเร็จตามจุดประสงค์แห่งความเกี่ยวพันนั้น ๆ. พระยะโฮวาทรงสำแดงความกรุณาเช่นนั้นแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ เช่นที่พวกเขากระทำต่อพระองค์. ความภักดีที่เที่ยงธรรม บริสุทธิ์อย่างนี้ได้รับการแปลในคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ว่า “ความรักกรุณา” และ “ความรักภักดี.” (เยเนซิศ 20:13; 21:23) ในคัมภีร์ภาคภาษากรีก คำ “ความภักดี” หมายถึงความบริสุทธิ์และความเคารพยำเกรง แสดงออกในรูปคำนาม โฮสิโอʹเทส และในรูปคำคุณศัพท์ โฮʹสิโอส. ความภักดีดังกล่าวรวมถึงความซื่อสัตย์และความเลื่อมใส ทั้งหมายความถึงการเป็นคนเคร่งครัดและปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจำเพาะพระเจ้า. การเป็นคนภักดีต่อพระยะโฮวาหมายถึงยึดมั่นในพระองค์ด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่เสื่อมคลาย ประหนึ่งกาวที่ติดแน่น.
4. ความภักดีของพระยะโฮวาปรากฏแจ้งอย่างไร?
4 ความภักดีในส่วนของพระยะโฮวานั้นปรากฏให้เห็นได้ในหลายทาง. อาทิ พระองค์ทรงดำเนินการพิพากษาคนชั่ว เพราะความรักอันซื่อสัตย์ต่อไพร่พลของพระองค์ผนวกเข้ากับความภักดีต่อความยุติธรรมและความชอบธรรม. (วิวรณ์ 15:3, 4; 16:5) ความภักดีต่อคำสัญญาที่กระทำแก่อับราฮามนั้นกระตุ้นพระองค์ให้อดกลั้นทนนานกับชาวยิศราเอล. (2 กษัตริย์ 13:23) คนเหล่านั้นที่ภักดีต่อพระเจ้าย่อมมั่นใจได้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์จนกระทั่งวันสุดท้ายแห่งแนวทางที่ภักดีของเขา และแน่ใจได้ว่าพระองค์จะระลึกถึงเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 37:27, 28; 97:10) พระเยซูได้รับการชูกำลังโดยความรู้ที่ว่าจิตวิญญาณของพระองค์จะไม่ถูกละไว้ในเชโอล เนื่องจากทรงเป็น “ผู้บริสุทธิ์ [ผู้ภักดี, ล.ม.]” องค์สำคัญของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 16:10; กิจการ 2:25, 27.
5. เนื่องจากพระยะโฮวาทรงภักดี พระองค์ทรงเรียกร้องอะไรจากผู้รับใช้ของพระองค์ และคำถามอะไรที่เราจะพิจารณา?
5 เนื่องจากพระเจ้ายะโฮวาทรงภักดี พระองค์เรียกร้องความภักดีจากผู้รับใช้ของพระองค์. (เอเฟโซ 4:24) ยกตัวอย่าง ผู้ชายต้องเป็นคนภักดีเพื่อจะมีคุณสมบัติรับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองในประชาคม. (ติโต 1:8) องค์ประกอบอะไรบ้างน่าจะกระตุ้นไพร่พลของพระเจ้าให้ปฏิบัติพระองค์ด้วยความภักดี?
การหยั่งรู้ค่าสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้มา
6. พวกเราน่าจะมีความรู้สึกเช่นไรต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้เรียนจากพระคัมภีร์ และเกี่ยวกับความรู้ดังกล่าว เราพึงจดจำอะไร?
6 ความรู้สึกขอบคุณสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่เรียนรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลน่าจะกระตุ้นเราให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี. อัครสาวกเปาโลเคยสนับสนุนติโมเธียวดังนี้: “ให้ท่านดำเนินต่อไปในบรรดาสิ่งที่ท่านเรียนรู้มาและในสิ่งที่ท่านถูกจูงใจให้เชื่อ ด้วยรู้แล้วว่าท่านได้เรียนจากผู้ใด และตั้งแต่เป็นทารกมา ท่านได้รู้จักคำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอาจให้ท่านได้ปัญญาถึงที่รอดได้ โดยความเชื่อเกี่ยวด้วยพระเยซูคริสต์.” (2 ติโมเธียว 3:14, 15, ล.ม.) โปรดจำไว้ว่า ความรู้ดังกล่าวมาจากพระเจ้า โดยทาง “บ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด.”—มัดธาย 24:45-47.
7. พวกผู้ปกครองน่าจะรู้สึกอย่างไรในเรื่องอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งพระเจ้าทรงจัดเตรียมโดยทางบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาด?
7 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกผู้ปกครองที่รับการแต่งตั้งน่าจะหยั่งรู้ค่าอาหารฝ่ายวิญญาณที่เป็นประโยชน์นั้นซึ่งพระเจ้าได้ทรงจัดเตรียมผ่านทางบ่าวสัตย์ซื่อ. หลายปีมาแล้วผู้ปกครองบางคนขาดความหยั่งรู้ค่าต่อสิ่งดังกล่าว. ผู้หนึ่งที่เฝ้าสังเกตได้บอกว่าผู้ปกครองเหล่านี้ “วิพากษ์วิจารณ์บทความต่าง ๆ ในวารสารหอสังเกตการณ์ ไม่ต้องการรับรองเอาว่าเป็น . . . ร่องทางความจริงที่มาจากพระเจ้า พยายามชักจูงผู้อื่นอยู่เนือง ๆ ให้ตามแนวคิดของเขา.” แต่ผู้ปกครองที่ภักดีไม่เคยจูงใจใคร ๆ ให้ปฏิเสธอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งพระเจ้าทรงจัดเตรียมผ่านทางบ่าวสัตย์ซื่อ.
8. เราควรทำอย่างไร หากบางจุดของคัมภีร์ไบเบิลซึ่งบ่าวสัตย์ซื่อและฉลาดได้นำขึ้นมาเสนอนั้น เราเองยังไม่หยั่งรู้ค่าได้อย่างเต็มที่?
8 ในฐานะพยานที่ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา พวกเราทุกคนต้องภักดีต่อพระองค์และต่อองค์การของพระองค์. เราไม่ควรแม้แต่คิดจะเลี่ยงออกไปจากความสว่างอันดีเยี่ยมของพระเจ้าแล้วติดตามแนวทางแบบออกหากอันจะนำไปสู่ความตายฝ่ายวิญญาณได้ขณะนี้และลงท้ายด้วยการถูกทำลาย. (ยิระมะยา 17:13) แต่จะว่าอย่างไร ถ้าเรารู้สึกว่ายากที่จะยอมรับหรือหยั่งรู้ค่าเต็มที่ในคำอธิบายบางประการอันเกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ซึ่งบ่าวสัตย์ซื่อนำเสนอ? ถ้าอย่างนั้น ให้เรายอมรับด้วยความถ่อมใจว่าเราได้เรียนรู้ความจริงจากที่ไหนและอธิษฐานขอสติปัญญาเพื่อจัดการกับการทดลองนั้นจนกว่าจะถึงขั้นยุติลงโดยที่เรื่องราวได้รับการชี้แจงให้กระจ่างในหนังสือที่พิมพ์ออก.—ยาโกโบ 1:5-8.
จงหยั่งรู้ค่าภราดรภาพของคริสเตียน
9. พระธรรม 1 โยฮัน 1:3-6 ชี้ให้เห็นอย่างไรว่าคริสเตียนจำต้องมีน้ำใจเป็นมิตรไมตรี?
9 การหยั่งรู้ค่าจากใจจริงสำหรับน้ำใจแห่งความเป็นมิตรท่ามกลางภราดรภาพของคริสเตียนนั้นเป็นสิ่งหนุนใจพวกเราอีกขั้นหนึ่งในการรับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี. ที่จริง สัมพันธภาพระหว่างพวกเรากับพระเจ้าและพระคริสต์ไม่อาจมั่นคงอยู่ได้ทางฝ่ายวิญญาณถ้าไม่มีน้ำใจดังกล่าว. อัครสาวกโยฮันกำชับคริสเตียนผู้ถูกเจิมดังนี้: “ซึ่งเราได้เห็นและได้ยินเราได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลาย, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ร่วมสามัคคีธรรมกับเราด้วย แท้จริงเราก็ร่วมสามัคคีธรรมกับพระบิดาและกับพระบุตรของพระองค์, คือพระเยซูคริสต์. . . . ถ้าเราจะว่า ‘เรามีใจร่วมสามัคคีธรรมกับพระองค์,’ และยังประพฤติอยู่ในความมืด, เราก็พูดมุสา, และไม่ได้ประพฤติตามความจริง.” (1 โยฮัน 1:3-6) หลักการนี้ใช้ได้กับคริสเตียนทุกคน ไม่ว่าความหวังของเขาอยู่ทางภาคสวรรค์หรือทางแผ่นดินโลก.
10. แม้นว่านางยุโอเดียและนางซันตุเคดูเหมือนว่ามีปัญหาซึ่งยากที่คนทั้งสองจะแก้ไขได้ กระนั้นเปาโลมีทัศนะเช่นไรต่อสตรีเหล่านี้?
10 ที่จะคงไว้ซึ่งน้ำใจแห่งความเป็นมิตรนั้นจำเป็นต้องใช้ความพยายาม. อาทิ นางยุโอเดียและนางซุนตุเคดูเหมือนว่ายากที่จะแก้ไขปัญหาระหว่างคนทั้งสอง. ฉะนั้น เปาโลจึงได้ตักเตือนเขา “ให้ปรองดองกันในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” ท่านกล่าวเพิ่มว่า “แท้จริงข้าพเจ้าอ้อนวอนท่านผู้เป็นเพื่อนร่วมแอกด้วยกันจริง ๆ ให้ช่วยผู้หญิงเหล่านั้น, เพราะว่าเขาได้ทำการในกิตติคุณด้วยกันกับข้าพเจ้าและกับเกลเมด้วย, ทั้งคนอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมการด้วยกันกับข้าพเจ้า, ซึ่งมีชื่ออยู่ในหนังสือสำหรับชีวิตนั้น.” (ฟิลิปปอย 4:2, 3) ผู้หญิงเหล่านั้นที่เลื่อมใสในพระเจ้าได้ร่วมต่อสู้เคียงข้างกับเปาโลและคนอื่น ๆ “ในกิตติคุณ” และท่านแน่ใจว่าพวกเขาอยู่ในจำพวกนั้น ‘ซึ่งมีชื่ออยู่ในหนังสือแห่งชีวิต.’
11. ถ้าคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ภักดีเผชิญปัญหาฝ่ายวิญญาณ คงจะดีหากจดจำสิ่งใดไว้เสมอ?
11 คริสเตียนไม่ติดเครื่องหมายแสดงสิทธิพิเศษที่เขาทำงานในองค์การของพระยะโฮวาและวิธีที่เขารับใช้พระองค์ด้วยความภักดี. ถ้าเขามีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งฝ่ายวิญญาณ คงเป็นการขาดความรักเพียงใดหากจะมองข้ามงานรับใช้ที่เขาเคยปฏิบัติพระยะโฮวานานหลายปี! ทำนองเดียวกัน ผู้ที่ได้ชื่อว่า “เป็นเพื่อนร่วมแอกด้วยกัน” ซึ่งเป็นพี่น้องผู้ภักดีเต็มใจช่วยเหลือคนอื่น. ถ้าคุณเป็นผู้ปกครอง คุณเป็น “เพื่อนร่วมแอกด้วยกัน” พร้อมจะช่วยด้วยความเมตตาสงสารไหม? ขอให้พวกเราทุกคนทำอย่างที่พระเจ้าทรงกระทำ คือพิจารณาดูการงานอันดีที่เพื่อนร่วมความเชื่อของเราได้กระทำ และจงช่วยแบ่งเบาภาระของพวกเขาด้วยน้ำใจอันเปี่ยมด้วยความรัก.—ฆะลาเตีย 6:2; เฮ็บราย 6:10.
ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่จะไป
12. เมื่อคำตรัสของพระเยซูทำให้ ‘ศิษย์หลายคนคิดท้อไม่ไปกับพระองค์อีกต่อไป’ เปโตรได้แสดงตัวในฐานะอะไร?
12 เราย่อมต้องการอย่างยิ่งจะรับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดีร่วมกับองค์การของพระองค์ หากเราระลึกว่าไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์. เมื่อคำแถลงของพระเยซูเป็นเหตุให้ ‘ศิษย์ของพระองค์หลายคนท้อถอย’ พระองค์ตรัสถามเหล่าอัครสาวกดังนี้: “ท่านทั้งหลายจะกลับถอยไปด้วยหรือ?” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์เจ้าข้า, พวกข้าพเจ้าจะกลับไปหาผู้ใดเล่า? คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์นั้นมีอยู่ที่พระองค์, และข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อและมารู้แล้วว่าพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า.”—โยฮัน 6:66-69.
13, 14. (ก) เหตุใดลัทธิยูดายในศตวรรษแรกไม่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า? (ข) คนหนึ่งที่เป็นพยานพระยะโฮวานานหลายปีได้กล่าวอย่างไรเกี่ยวกับองค์การของพระเจ้าทางแผ่นดินโลก?
13 “คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์” ไม่อาจจะพบได้ในลัทธิยูดายแห่งศตวรรษแรก. บาปใหญ่หลวงของลัทธินี้ได้แก่การปฏิเสธพระเยซูฐานะเป็นพระมาซีฮา. ลัทธิยูดายไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามไม่ได้ยึดเอาเฉพาะหลักในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. ลัทธิซาดูกายก็ปฏิเสธสภาพความเป็นอยู่ของทูตสวรรค์ ทั้งไม่เชื่อเรื่องการเป็นขึ้นจากตายด้วย. ถึงแม้พวกฟาริซายไม่เห็นพ้องกับพวกเขาในเรื่องเหล่านี้ เขาก็ผิดอยู่แล้วโดยกระทำให้พระคำของพระเจ้าโมฆะ สืบเนื่องจากประเพณีต่าง ๆ ของเขาที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์. (มัดธาย 15:1-11; กิจการ 23:6-9) ชาวยิวตกเป็นทาสแก่คำสอนตามประเพณีนิยม และจึงเป็นการยากสำหรับหลายคนจะรับรองเอาพระเยซูคริสต์. (โกโลซาย 2:8) ความร้อนรนเพื่อ ‘ประเพณีอันสืบเนื่องมาแต่บรรพบุรุษ’ ได้ทำให้เซาโล (เปาโล) ด้วยความโง่เขลากลายเป็นผู้กดขี่ข่มเหงสาวกของพระคริสต์อย่างร้ายกาจ.—ฆะลาเตีย 1:13, 14, 23.
14 ลัทธิยูดายไม่เป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า แต่พระยะโฮวาทรงอวยพรองค์การที่ประกอบด้วยสาวกแห่งพระบุตรของพระองค์—‘ชนจำพวกหนึ่งที่ร้อนรนเพื่อการงานอันดี.’ (ติโต 2:14) องค์การที่ว่านี้ยังคงสภาพอยู่ และพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งที่ได้รับใช้เป็นเวลานานพูดถึงองค์การนี้ว่า “หากมีสักอย่างหนึ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉัน นั่นคือการอยู่ใกล้ชิดกับองค์การของพระยะโฮวาซึ่งประจักษ์แก่ตา. ประสบการณ์ของฉันตอนแรก ๆ นั้นเป็นบทเรียนสอนฉันให้รู้ว่าการชักเหตุผลของมนุษย์นั้นไม่น่าวางใจ. ครั้นฉันได้ปรับความคิดในจุดนี้แล้ว ฉันตัดสินใจแน่วแน่ที่จะอยู่ใกล้ชิดกับองค์การที่ซื่อสัตย์นี้. เราจะรับพระพรและความโปรดปรานจากพระยะโฮวาได้ทางอื่นไหม?” ไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่จะประสบความโปรดปรานของพระเจ้าและชีวิตนิรันดร์.
15. เหตุใดควรร่วมมือกับองค์การอันประจักษ์ได้ของพระยะโฮวา และร่วมมือกับคนเหล่านั้นที่แบกความรับผิดชอบในองค์การ?
15 หัวใจของเราน่าจะกระตุ้นเราให้ร่วมมือกับองค์การของพระยะโฮวา เพราะเราตระหนักว่าองค์การนี้เท่านั้นที่พระองค์ทรงชี้นำโดยพระวิญญาณของพระองค์ และเป็นองค์การที่ประกาศพระนามและพระประสงค์ของพระองค์จนเป็นที่รู้จัก. จริงอยู่ บรรดาผู้ที่แบกความรับผิดชอบภายในองค์การเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์. (โรม 5:12) แต่ “พระยะโฮวาทรงพิโรธ” ต่ออาโรนและมิระยามเมื่อเขาพาลพูดใส่ร้ายโมเซ และลืมไปว่าหาใช่ตัวเองไม่ แต่โมเซต่างหากเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงมอบหน้าที่รับผิดชอบให้. (อาฤธโม 12:7-9) เวลานี้ คริสเตียนที่ภักดีร่วมมือกับ “คนเหล่านั้นซึ่งนำหน้า” เพราะนี้แหละเป็นสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้อง. (เฮ็บราย 13:7, 17, ล.ม.) พยานหลักฐานแสดงความซื่อสัตย์ภักดีของเรารวมไปถึงการเข้าร่วมประชุมคริสเตียนเป็นประจำและแสดงความคิดเห็นซึ่ง ‘ส่งเสริมคนอื่นเพื่อเป็นเหตุให้บังเกิดใจรักซึ่งกันและกันและกระทำการดี.’—เฮ็บราย 10:24, 25.
จงเสริมสร้างซึ่งกันและกัน
16. ความปรารถนาจะทำสิ่งใดเพื่อผู้อื่นซึ่งก็น่าจะกระตุ้นเราเช่นกันให้รับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดี?
16 ความปรารถนาจะเป็นผู้เสริมสร้างคนอื่นก็น่าจะกระตุ้นเราให้รับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดี. เปาโลเขียนว่า “ความรู้ทำให้อวดดี แต่ความรักก่อร่างสร้างขึ้น.” (1 โกรินโธ 8:1, ล.ม.) เนื่องจากความรู้บางอย่างอาจจะทำให้เจ้าของอวดดีในความรู้ที่ตนมี เปาโลคงต้องหมายความว่าความรักเสริมสร้างคนที่แสดงคุณลักษณะเช่นนั้น. หนังสือที่แต่งโดยศาสตราจารย์ไวส์และอิงลิชพูดว่า “คนที่มีความสามารถรักได้มากก็มักจะได้รับความรักตอบแทน. ความสามารถจะแสดงอัธยาสัยไมตรีและการคำนึงถึงผู้อื่นในทุกแง่มุมของชีวิต . . . ย่อมก่อผลกระทบเชิงสร้างเสริมแก่คนนั้นที่แสดงอากัปกิริยาดังกล่าว ทั้งยังมีผลที่ดีต่อผู้ที่เป็นฝ่ายรับด้วย และดังนั้นจึงเป็นที่น่าพอใจยินดีของทั้งสองฝ่าย.” โดยการแสดงความรัก เราก่อร่างสร้างผู้อื่นและตัวเอง ดังคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจการ 20:35.
17. ความรักก่อร่างสร้างขึ้นอย่างไร และจะกีดกันเราไว้จากการทำเช่นไร?
17 ที่พระธรรม 1 โกรินโธ 8:1 เปาโลใช้คำกรีก อะกาʹเป หมายความถึงความรักที่มีหลักการ. ความรักแบบนี้เสริมสร้าง เพราะความรักประเภทนี้อดกลั้นทนนานและกรุณา ทนรับและทนเอาทุกสิ่ง และไม่ล้มเหลวเลย. ความรักที่ว่านี้ขจัดความรู้สึกต่าง ๆ ที่อาจก่อผลเสีย เช่นการถือดีและการอิจฉา. (1 โกรินโธ 13:4-8) ความรักประเภทนี้จะกีดกันเราจากการบ่นว่าพี่น้องของเรา ซึ่งก็เป็นคนไม่สมบูรณ์เหมือนเรานี้แหละ. ความรักประเภทนี้จะป้องกันเราเพื่อจะไม่เป็นเหมือน “คนดูหมิ่นพระเจ้า” ซึ่ง “เล็ดลอดเข้ามา” อยู่ท่ามกลางคริสเตียนแท้ในศตวรรษแรก. คนเหล่านี้ “ได้เพิกเฉยต่อตำแหน่งผู้เป็นนายและพูดหยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี” คงเป็นการพูดใส่ร้ายบุคคลเหล่านั้นเช่นคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่เป็นผู้ดูแล ซึ่งได้รับมอบงานในตำแหน่งสูง. (ยูดา 3, 4, 8, ล.ม.) ด้วยความภักดีต่อพระยะโฮวา จงอย่าได้ยอมแพ้การทดลองที่จะทำสิ่งใด ๆ ทำนองนั้น.
จงต่อต้านพญามาร
18. ซาตานอยากทำอะไรแก่ไพร่พลของพระยะโฮวา แต่ทำไมมันไม่อาจจะทำเช่นนั้นได้?
18 ความรู้ที่ว่าซาตานต้องการทำลายเอกภาพของพวกเราฐานะเป็นไพร่พลของพระเจ้าเช่นนั้น ควรเพิ่มพูนความตั้งใจแน่วแน่ของเรายิ่งขึ้นให้รับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดี. ซาตานคงอยากกำจัดไพร่พลของพระเจ้าให้หมดสิ้นด้วยซ้ำไป และบางครั้งคนที่รับใช้พญามารทางแผ่นดินโลกก็ฆ่าผู้นมัสการแท้. แต่พระเจ้าจะไม่ปล่อยซาตานสังหารพวกเขาสิ้นทุกคน. พระเยซูได้สิ้นพระชนม์เพื่อ “จะได้ทรงทำลายผู้นั้นที่มีอำนาจแห่งความตายคือมาร.” (เฮ็บราย 2:14) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาณาเขตปกครองของซาตานถูกจำกัดเสียแล้วตั้งแต่มันถูกขับออกจากสวรรค์ภายหลังพระคริสต์ขึ้นครองเป็นกษัตริย์ในปีสากลศักราช 1914. และเมื่อถึงเวลากำหนดของพระยะโฮวา พระเยซูจะทรงทำลายซาตานและองค์การของมัน.
19. (ก) เมื่อหลายปีมาแล้ว วารสารนี้เคยให้คำเตือนอะไรในเรื่องความพยายามของซาตาน? (ข) ที่จะเลี่ยงหลุมพรางของซาตาน เราพึงระมัดระวังอะไรเมื่อเกี่ยวข้องกับเพื่อนร่วมความเชื่อ?
19 ครั้งหนึ่งวารสารนี้เคยเตือนว่า “ถ้าซาตานตัวชั่วร้ายสามารถก่อความวุ่นวายท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้าได้ สามารถทำให้พวกเขาทะเลาะวิวาทต่อสู้กันได้ หรือทำให้เขาแสดงน้ำใจอันเห็นแก่ตัวออกมาหรือปลูกฝังน้ำใจแบบนั้นซึ่งจะนำไปสู่การทำลายความรักต่อพวกพี่น้อง ด้วยวิธีนั้น ซาตานก็สังหารพวกเขาได้สำเร็จ.” (เดอะว็อชเทาเวอร์ ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 1921 หน้า 134) จงอย่ายอมให้พญามารทำลายเอกภาพของเรา อาจจะเป็นโดยการชักนำเราให้กล่าวใส่ร้ายหรือต่อสู้กัน. (เลวีติโก 19:16) อย่าให้โอกาสซาตานหลอกเราได้ จนถึงขั้นที่ตัวเราเองยังความเสียหายแก่คนเหล่านั้นที่รับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี หรือทำให้ชีวิตของพวกเขาลำบากมากขึ้น. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 2:10, 11.) แทนที่จะทำเช่นนั้น ให้เรานำคำพูดของเปโตรมาใช้เป็นประโยชน์ที่ว่า “จงรักษาสติของท่านไว้. จงระวังระไวให้ดี. พญามาร ปรปักษ์ของท่านทั้งหลาย เที่ยวเดินไปเหมือนสิงโตแผดเสียงร้อง เสาะหาคนที่มันจะขย้ำกลืนเสีย. แต่จงยืนหยัดต่อต้านมัน มั่นคงในความเชื่อ.” (1 เปโตร 5:8, 9, ล.ม.) โดยยืนหยัดต่อต้านซาตาน พวกเราสามารถธำรงเอกภาพซึ่งอุดมด้วยพระพรไว้ได้ในฐานะที่เป็นไพร่พลของพระยะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 133:1-3.
จงวางใจในพระเจ้าด้วยการอธิษฐานอย่างจริงจัง
20, 21. การวางใจในพระยะโฮวาด้วยคำอธิษฐานอย่างจริงจังนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับการรับใช้พระองค์ด้วยความภักดี?
20 การวางใจในพระเจ้าด้วยการอธิษฐานอย่างเลื่อมใสจริงจังย่อมช่วยให้เรารับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดีอยู่เรื่อยไป. เมื่อเราเห็นว่าพระองค์ทรงตอบคำอธิษฐานของเรา เราก็ยิ่งใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น. ความวางใจในพระเจ้าด้วยการอธิษฐานอย่างเลื่อมใสเช่นนั้นได้รับการสนับสนุน ตอนที่เปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาให้ชายทั้งหลายอธิษฐานในที่ประชุมทุกแห่ง, ด้วยยกมืออันบริสุทธิ์, ปราศจากโทโสและการเถียงกัน.” (1 ติโมเธียว 2:8) ยกตัวอย่าง เป็นเรื่องสำคัญเพียงใดที่พวกผู้ปกครองตั้งจิตตั้งใจอธิษฐานด้วยความวางใจในพระเจ้า! การแสดงความภักดีต่อพระยะโฮวาเช่นนั้นเมื่อประชุมปรึกษากันเกี่ยวกับการงานของประชาคมจะช่วยป้องกันการโต้เถียงกันไม่จบสิ้นและการบันดาลโทสะที่อาจเป็นได้.
21 การอธิษฐานแสดงความวางใจในพระเจ้ายะโฮวาจะช่วยเราเอาใจใส่สิทธิพิเศษต่าง ๆ ในงานรับใช้พระองค์. ชายคนหนึ่งซึ่งได้รับใช้พระยะโฮวามาหลายทศวรรษด้วยความซื่อสัตย์สามารถพูดได้ว่า “การที่เราเต็มใจรับงานใด ๆ ที่มอบหมายแก่เราในองค์การของพระเจ้าที่มีอยู่ทั่วโลก และเราอยู่ประจำหน้าที่ตามการมอบหมาย ไม่สะทกสะท้าน ทำให้พระเจ้าทรงปลื้มพระหฤทัยอย่างยิ่งที่เราบากบั่นทำด้วยความจริงใจ. ถึงแม้ภารกิจที่มอบหมายดูเหมือนเป็นงานที่ใช้กำลังกายอย่างหนักที่ไม่ค่อยมีหน้ามีตา แต่บ่อยครั้งปรากฏให้เห็นว่าถ้าไม่มีใครทำงานนี้อย่างซื่อสัตย์ การบริการด้านอื่น ๆ ที่สำคัญก็ไม่อาจดำเนินการได้. ฉะนั้น ถ้าเราถ่อมใจโดยมุ่งสนใจถวายเกียรติแด่พระนามของพระยะโฮวา ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เมื่อนั้นแหละเราจะแน่ใจได้ว่า เราจะ ‘ตั้งมั่นคง ไม่สะทกสะท้าน มีงานของพระยะโฮวาให้ทำบริบูรณ์’ ตลอดไป.”—1 โกรินโธ 15:58.
22. พระพรมากมายที่เราได้รับจากพระยะโฮวาน่าจะมีผลกระทบความภักดีของเราอย่างไร?
22 ไม่ว่าเราทำอะไรก็ตามในงานรับใช้พระยะโฮวา แน่ละ เราไม่สามารถทดแทนสิ่งที่พระองค์กระทำเพื่อพวกเราได้เลย. พวกเราปลอดภัยเพียงไรภายในองค์การของพระเจ้า ห้อมล้อมด้วยผู้คนซึ่งล้วนแต่เป็นมิตรของพระองค์! (ยาโกโบ 2:23) พระยะโฮวาทรงอวยพรพวกเราให้มีเอกภาพอันเกิดขึ้นจากความรักที่หยั่งรากลึกระหว่างพวกพี่น้องซึ่งซาตานเองไม่สามารถถอนรากทำลายเสียได้. เหตุฉะนั้น จงให้เราติดสนิทกับพระบิดาของเราผู้ภักดีซึ่งสถิตในสวรรค์ และให้เราทำงานร่วมกันในฐานะที่เป็นไพร่พลของพระองค์. จงให้เรารับใช้พระยะโฮวาด้วยความภักดีแต่บัดนี้และสืบ ๆ ไปชั่วนิจนิรันดร์.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ที่จะภักดีนั้นหมายความอย่างไร?
▫ องค์ประกอบอะไรบ้างซึ่งน่าจะกระตุ้นเราให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดี?
▫ เหตุใดเราต้องต่อต้านพญามาร?
▫ การอธิษฐานอาจช่วยเราอย่างไรที่จะเป็นผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวา?
[รูปภาพหน้า 23]
ผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวาไม่ยอมให้พญามาร ศัตรูซึ่งเป็นดุจสิงโตทำลายเอกภาพของเขา