เยาวชนทั้งหลาย จงเลือกรับใช้พระยะโฮวา
“ในวันนี้ก็ให้เลือกหาว่าจะปฏิบัติผู้ใด.”—ยะโฮซูอะ 24:15.
1, 2. การให้บัพติสมาอย่างผิด ๆ แบบใดบ้างที่ทำกันในคริสต์ศาสนจักร?
“จงให้ [เด็ก] เป็นคริสเตียนเมื่อพวกเขาสามารถรู้จักพระคริสต์แล้ว.” นักเขียนที่ชื่อเทอร์ทูลเลียนเขียนข้อความดังกล่าวไว้เมื่อปลายศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราช. เขาคัดค้านการให้บัพติสมาแก่ทารก ซึ่งเป็นกิจปฏิบัติที่กำลังเริ่มฝังรากในศาสนาคริสเตียนที่ออกหากในสมัยของเขา. นักเขียนคริสตจักรที่ชื่อเอากุสตินไม่เห็นด้วยกับเทอร์ทูลเลียนและคัมภีร์ไบเบิล. เขาอ้างว่าการรับบัพติสมาขจัดรอยมลทินของบาปดั้งเดิมและทารกที่ตายโดยไม่ได้รับบัพติสมาจะถูกปรับโทษในไฟนรก. ความเชื่อดังกล่าวส่งเสริมให้มีการให้บัพติสมาแก่ทารกเร็วเท่าที่เป็นไปได้หลังจากคลอด.
2 คริสตจักรใหญ่ ๆ จำนวนมากแห่งคริสต์ศาสนจักรยังคงให้บัพติสมาแก่ทารกแรกเกิด. นอกจากนั้น ตลอดประวัติศาสตร์ การบังคับให้บัพติสมาแก่ “ชาวนอกรีต” ที่ถูกพิชิตเป็นกิจปฏิบัติที่ทำกันในหมู่พวกผู้ปกครองและหัวหน้าศาสนาของชาติต่าง ๆ ซึ่งอ้างว่าเป็นคริสเตียน. แต่การให้บัพติสมาแก่ทารกและการบังคับให้รับบัพติสมาแก่ผู้ใหญ่ไม่ได้อาศัยหลักในคัมภีร์ไบเบิล.
ไม่มีการอุทิศตัวโดยอัตโนมัติในทุกวันนี้
3, 4. อะไรสามารถช่วยบุตรของบิดามารดาที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าให้อุทิศตัวด้วยความสมัครใจ?
3 คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าพระเจ้าทรงถือว่าเด็กเล็กบริสุทธิ์แม้แต่เมื่อมีเพียงบิดาหรือมารดาคนเดียวที่เป็นคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์. (1 โกรินโธ 7:14) นั่นหมายความว่าเด็กเหล่านั้นเป็นผู้รับใช้ที่อุทิศตัวของพระยะโฮวาไหม? ไม่. อย่างไรก็ดี เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดาที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาได้รับการฝึกอบรมที่อาจชักนำให้เด็กเหล่านี้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาด้วยความสมัครใจได้. กษัตริย์ซะโลโมผู้ฉลาดสุขุมเขียนดังนี้: “บุตรของเราเอ๋ย จงรักษาบัญญัติของพ่อเจ้าและอย่าละทิ้งคำสั่งสอนของแม่เจ้า. . . . เมื่อเจ้าเดินมันจะนำเจ้า เมื่อเจ้านอนลงมันจะเฝ้าเจ้า และเมื่อเจ้าตื่นขึ้นมันจะพูดกับเจ้า เพราะพระบัญญัติเป็นประทีปและคำสอนเป็นสว่างและคำตักเตือนของวินัยเป็นทางแห่งชีวิต.”—สุภาษิต 6:20-23, ฉบับแปลใหม่.
4 ข้อชี้แนะจากบิดามารดาคริสเตียนช่วยปกป้องเยาวชนได้ หากพวกเขาเต็มใจทำตาม. ซะโลโมยังกล่าวไว้ด้วยว่า “บุตรที่มีปัญญาย่อมทำให้บิดาปลื้มใจยินดี; แต่บุตรโง่เขลาย่อมเป็นที่หนักอกแก่มารดาตน.” “ศิษย์ของเราเอ๋ย, จงฟังและเป็นคนมีปัญญาเถิด, และจงนำใจของตนให้ไปตามทางนั้น.” (สุภาษิต 10:1; 23:19) จริงทีเดียว เพื่อจะได้ประโยชน์จากการฝึกอบรมของบิดามารดา คุณซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องเต็มใจยอมรับคำแนะนำ, คำปรึกษา, และการตีสอน. คุณไม่ได้ฉลาดมาตั้งแต่เกิด แต่คุณสามารถทำตัวให้ “มีปัญญา” และดำเนินใน “ทางแห่งชีวิต” ด้วยความสมัครใจ.
การปรับความคิดจิตใจคืออะไร?
5. เปาโลให้คำแนะนำอะไรแก่บุตรและบิดา?
5 อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม: ‘จงให้เกียรติบิดาและมารดาของตน’ ซึ่งเป็นบัญญัติแรกพร้อมด้วยคำสัญญา: ‘เพื่อว่าเจ้าจะอยู่ดีมีสุขและเจ้าจะอยู่ยืนยงบนแผ่นดินโลก.’ และท่านทั้งหลายผู้เป็นบิดา อย่ายั่วบุตรของท่านให้ขัดเคืองใจ แต่จงอบรมเลี้ยงดูเขาต่อไปด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.”—เอเฟโซ 6:1-4, ล.ม.
6, 7. การเลี้ยงดูบุตรด้วย “การปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา” เกี่ยวข้องกับอะไร และเหตุใดการทำเช่นนั้นไม่ได้หมายถึงการที่บิดามารดาชักจูงบุตรอย่างไม่ยุติธรรม?
6 คริสเตียนที่เป็นบิดามารดาชักจูงลูก ๆ ของตนอย่างไม่ยุติธรรมไหมเมื่อพวกเขาเลี้ยงดูบุตรด้วย “การตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา”? ไม่. ใครล่ะที่จะวิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่ที่สอนลูก ๆ ในเรื่องที่เขาเห็นว่าถูกต้องและมีคุณค่าด้านศีลธรรมได้? คนที่ถือลัทธิอเทวนิยมก็ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่เขาสอนลูกของตนว่าไม่มีพระเจ้า. ชาวโรมันคาทอลิกถือว่าเป็นหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูอบรมลูกให้มีความเชื่อแบบคาทอลิก และแทบไม่เคยปรากฏว่าพวกเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่พยายามทำอย่างนั้น. ในทำนองเดียวกัน พยานพระยะโฮวาไม่ควรถูกกล่าวหาว่าครอบงำจิตใจลูก ๆ เมื่อพวกเขาเลี้ยงดูบุตรให้รับเอาทัศนะของพระยะโฮวาเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานและหลักการด้านศีลธรรม.
7 ตามที่กล่าวในพจนานุกรมเทววิทยาของคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ คำกรีกที่ใช้ในต้นฉบับซึ่งแปลไว้ว่า “การปรับความคิดจิตใจ” ที่เอเฟโซ 6:4 (ล.ม.) พาดพิงถึงกระบวนการที่ “พยายามปรับแก้จิตใจให้ถูกต้อง, แก้ไขสิ่งที่ผิด, ปรับปรุงเจตคติฝ่ายวิญญาณ.” จะว่าอย่างไรหากคนหนุ่มสาวต่อต้านการฝึกอบรมจากบิดามารดาเนื่องจากแรงกดดันจากคนรุ่นเดียวกัน หรือเพราะความปรารถนาที่จะเข้ากันได้กับคนหมู่มาก? ควรโทษใครว่าสร้างความกดดัน—บิดามารดาหรือบรรดาเพื่อน ๆ ของเยาวชน? หากเพื่อน ๆ ของเยาวชนกดดันเขาให้เสพยา, ดื่มจัด, หรือทำผิดศีลธรรม บิดามารดาควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ไหมที่ได้พยายามปรับความคิดของเด็กและช่วยเขาให้ตระหนักถึงผลเสียหายของการกระทำที่เป็นอันตรายเช่นนั้น?
8. การที่ติโมเธียวถูก “โน้มน้าวใจให้เชื่อ” เกี่ยวข้องกับอะไร?
8 อัครสาวกเปาโลเขียนถึงติโมเธียวซึ่งเป็นคนหนุ่มว่า “จงดำเนินต่อไปในสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้และสิ่งที่ท่านถูกโน้มน้าวใจให้เชื่อ โดยรู้อยู่ว่าท่านได้เรียนรู้จากผู้ใด และตั้งแต่เป็นทารกมา ท่านได้รู้จักคำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสามารถทำให้ท่านได้ปัญญาถึงที่รอดโดยความเชื่อเกี่ยวด้วยพระคริสต์เยซู.” (2 ติโมเธียว 3:14, 15, ล.ม.) ตั้งแต่ติโมเธียวยังเป็นเด็กเล็ก ๆ แม่และยายได้วางรากฐานที่มั่นคงสำหรับความเชื่อในพระเจ้าโดยอาศัยความรู้ในพระคัมภีร์บริสุทธิ์. (กิจการ 16:1; 2 ติโมเธียว 1:5) ต่อมาเมื่อแม่และยายเข้ามาเป็นคริสเตียน ทั้งสองไม่ได้บังคับติโมเธียวให้เชื่อ หากแต่ได้ “โน้มน้าวใจ” เขาด้วยการหาเหตุผลที่มีหลักฐานแน่นหนาซึ่งอาศัยความรู้ในพระคัมภีร์เป็นหลัก.
พระยะโฮวาทรงเชิญคุณให้เลือก
9. (ก) พระยะโฮวาทรงให้เกียรติสิ่งทรงสร้างที่มีสติปัญญาอย่างไร และด้วยเหตุผลใด? (ข) พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้าทรงใช้เจตจำนงเสรีของพระองค์อย่างไร?
9 พระยะโฮวาทรงสามารถสร้างสิ่งทรงสร้างที่มีสติปัญญาให้เป็นแบบหุ่นยนต์ วางโปรแกรมไว้ให้ทำเฉพาะที่เป็นพระทัยประสงค์ของพระองค์และไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่นได้. แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์ทรงให้เกียรติพวกเขาโดยให้พวกเขามีเจตจำนงเสรี. พระเจ้าของเราทรงประสงค์ให้มนุษย์อยู่ใต้อำนาจของพระองค์ด้วยความสมัครใจ. พระองค์ทรงพึงพอพระทัยที่เห็นสิ่งทรงสร้างของพระองค์ ทั้งแก่และหนุ่ม รับใช้พระองค์เพราะรักพระองค์. ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการยอมทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าด้วยความรักได้แก่พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว ซึ่งพระยะโฮวาตรัสถึงพระองค์ว่า “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก.” (มัดธาย 3:17) พระบุตรหัวปีผู้นี้ตรัสกับพระบิดาว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า, ข้าพเจ้ายินดีที่จะประพฤติตามน้ำพระทัยของพระองค์; แท้จริงพระบัญญัติของพระองค์อยู่ในใจของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 40:8; เฮ็บราย 10:9, 10.
10. พื้นฐานของการรับใช้พระยะโฮวาอย่างที่พระองค์ทรงยอมรับคืออะไร?
10 พระยะโฮวาทรงคาดหมายว่าผู้ที่รับใช้พระองค์ภายใต้การชี้นำของพระบุตรจะแสดงการยอมทำตามพระทัยประสงค์ด้วยความเต็มใจเหมือนกัน. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงที่มีความหมายเชิงพยากรณ์ดังนี้: “ไพร่พลของท่านเต็มใจสมัครจัดขบวนแห่อันประดับด้วยเครื่องบริสุทธิ์ในวันที่แสดงฤทธิ์เดชของท่าน. แล้วท่านจะได้พรรคพวกชายหนุ่มดุจน้ำค้าง, ออกมาจากครรภ์แห่งแสงอรุณ.” (บทเพลงสรรเสริญ 110:3) องค์การทั้งสิ้นของพระยะโฮวา ทั้งส่วนที่อยู่ในสวรรค์และที่อยู่บนแผ่นดินโลก ต่างทำหน้าที่โดยมีพื้นฐานของการยอมทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าด้วยความรัก.
11. เยาวชนที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดาที่อุทิศตัวแล้วเผชิญทางเลือกอะไร?
11 ดังนั้น คุณผู้เป็นเยาวชนควรเข้าใจว่าไม่มีใครไม่ว่าจะเป็นบิดามารดาหรือคริสเตียนผู้ปกครองในประชาคมจะบังคับคุณให้รับบัพติสมา. ความปรารถนาที่จะรับใช้พระยะโฮวาต้องมาจากตัวคุณเอง. ยะโฮซูอะบอกชาวอิสราเอลว่า “[จง] ปฏิบัติ [พระยะโฮวา] ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต . . . ในวันนี้ก็ให้เลือกหาว่าจะปฏิบัติผู้ใด.” (ยะโฮซูอะ 24:14-22) คล้ายกันนั้น การที่คุณเลือกจะอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและอุทิศชีวิตเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์นั้นต้องมาจากความสมัครใจของคุณเอง.
รับเอาหน้าที่รับผิดชอบของคุณ
12. (ก) แม้ว่าบิดามารดาสามารถฝึกอบรมบุตร แต่พวกเขาไม่สามารถทำอะไรเพื่อบุตรได้? (ข) เยาวชนมีความรับผิดชอบต่อพระยะโฮวาสำหรับการเลือกของตนเมื่อไร?
12 เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณผู้เป็นเยาวชนจะไม่ได้รับการปกป้องจากความซื่อสัตย์ของบิดามารดาอีกต่อไป. (1 โกรินโธ 7:14) สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “คนใดที่รู้จักกระทำการดี, และไม่ได้กระทำ, บาปจึงมีแก่คนนั้น.” (ยาโกโบ 4:17) บิดามารดาไม่สามารถรับใช้พระเจ้าเพื่อบุตรเช่นเดียวกับที่บุตรไม่สามารถรับใช้พระเจ้าเพื่อบิดามารดา. (ยะเอศเคล 18:20) คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์ไหม? คุณมีอายุมากพอที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนรู้และเริ่มมีสายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระองค์แล้วไหม? ถ้าอย่างนั้น ย่อมนับว่ามีเหตุผลมิใช่หรือที่จะคิดว่าพระเจ้าทรงถือว่าคุณสามารถตัดสินใจรับใช้พระองค์ได้?
13. คำถามอะไรบ้างที่เยาวชนซึ่งยังไม่ได้รับบัพติสมาควรถามตัวเอง?
13 คุณเป็นเยาวชนที่ยังไม่ได้รับบัพติสมาซึ่งได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาผู้เลื่อมใสพระเจ้า, เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน, และแม้กระทั่งร่วมในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไหม? ถ้าใช่ ขอให้ถามตัวเองอย่างซื่อตรงว่า ‘ทำไมฉันจึงทำสิ่งเหล่านี้? ฉันเข้าร่วมประชุมและร่วมในงานประกาศเพราะพ่อแม่คาดหมายให้ฉันทำ หรือเพราะฉันต้องการทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย?’ คุณได้พิสูจน์แก่ตัวเองไหมเกี่ยวด้วย “พระทัยประสงค์อันดี ที่น่ารับไว้และสมบูรณ์พร้อมของพระเจ้า”?—โรม 12:2, ล.ม.
ทำไมจึงจะผัดเลื่อนการรับบัพติสมาออกไป?
14. ตัวอย่างอะไรในคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าไม่ควรรอช้าอย่างไม่เหมาะสมที่จะรับบัพติสมา?
14 “มีอะไรขัดข้องไม่ให้ข้าพเจ้ารับบัพติศมา?” ชายชาวเอธิโอเปียซึ่งถามฟิลิปผู้ประกาศข่าวดีด้วยคำถามนี้เพิ่งได้เรียนรู้ว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา. แต่ชาวเอธิโอเปียผู้นี้มีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์มากพอที่จะตระหนักว่าเขาไม่ควรรอช้าในการให้ข้อพิสูจน์อย่างเปิดเผยว่านับแต่นั้นไปเขาจะรับใช้พระยะโฮวาในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมคริสเตียน และการทำเช่นนั้นทำให้เขามีความยินดีอย่างมาก. (กิจการ 8:26-39) คล้ายกัน หญิงคนหนึ่งชื่อลุเดียซึ่งได้เปิดใจและ “สนใจในถ้อยคำซึ่งเปาโลได้กล่าว” ก็ “รับบัพติศมา” ทันที รวมทั้งคนอื่นในครอบครัวด้วย. (กิจการ 16:14, 15) ในลักษณะเดียวกัน ผู้คุมคุกในเมืองฟิลิปปีได้ฟังเปาโลกับซีลา “กล่าวสั่งสอนคำของพระเจ้า” และเขา “ก็ได้รับบัพติศมาพร้อมทั้งครัวเรือนของเขา [“โดยไม่รอช้า,” ล.ม.].” (กิจการ 16:25-34) ด้วยเหตุนั้น หากว่าคุณมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์, มีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์, มีชื่อเสียงดีในประชาคม, และเข้าร่วมการประชุมและร่วมในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรเป็นประจำ ทำไมคุณจึงจะผัดเลื่อนการรับบัพติสมาออกไปล่ะ?—มัดธาย 28:19, 20.
15, 16. (ก) การหาเหตุผลอย่างไม่ถูกต้องเช่นไรที่อาจยับยั้งหนุ่มสาวบางคนไม่ให้รับบัพติสมา? (ข) การอุทิศตัวและรับบัพติสมาเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องคนหนุ่มสาวได้อย่างไร?
15 อาจเป็นได้ไหมว่าที่คุณลังเลในการทำขั้นตอนสำคัญนี้เพราะกลัวว่าต้องให้การหากพลาดพลั้งทำผิด? ถ้าเช่นนั้น ขอให้คิดอย่างนี้: คุณจะไม่สมัครสอบเพื่อได้ใบอนุญาตขับขี่ไหมเพียงเพราะกลัวว่าสักวันหนึ่งคุณอาจประสบอุบัติเหตุ? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่! เช่นเดียวกัน คุณไม่ควรลังเลที่จะรับบัพติสมาเมื่อคุณมีคุณสมบัติครบ. ที่จริง คุณจะได้รับแรงกระตุ้นอันทรงพลังให้ทำเต็มที่เพื่อต้านทานการทำผิดหากคุณได้อุทิศชีวิตแด่พระยะโฮวาและตกลงใจจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. (ฟิลิปปอย 4:13) เยาวชนทั้งหลาย ขออย่าได้คิดว่าด้วยการผัดเลื่อนการรับบัพติสมาออกไปคุณจะไม่ต้องให้การ. เมื่อถึงวัยที่พร้อมจะรับผิดชอบได้แล้ว คุณต้องให้การต่อพระยะโฮวาสำหรับวิธีที่คุณประพฤติไม่ว่าคุณจะรับบัพติสมาแล้วหรือไม่ก็ตาม.—โรม 14:11, 12.
16 พยานพระยะโฮวามากมายทั่วโลกรู้สึกว่าการตัดสินใจรับบัพติสมาเมื่ออายุยังน้อยได้ช่วยพวกเขาอย่างมาก. ลองพิจารณาตัวอย่างหนึ่งของพยานฯ วัย 23 ปีในยุโรปตะวันตก. เขาเล่าว่าการที่เขาได้รับบัพติสมาเมื่ออายุ 13 ปีกระตุ้นเขาให้ระมัดระวังเพื่อจะไม่พ่ายแพ้แก่ “ความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว.” (2 ติโมเธียว 2:22, ล.ม.) ตั้งแต่อายุยังน้อย เขาตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา. ปัจจุบัน เขารับใช้อย่างมีความสุขที่สำนักงานสาขาแห่งหนึ่งของพยานพระยะโฮวา. พระพรอันอุดมรออยู่สำหรับเยาวชนทุกคน รวมทั้งคุณด้วย ที่เลือกรับใช้พระยะโฮวา.
17. ในแง่มุมใดบ้างที่จำเป็นต้องเข้าใจว่า “น้ำพระทัยของ [พระยะโฮวา]” นั้นเป็นอย่างไร?
17 การอุทิศตัวและรับบัพติสมาเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตที่เราคำนึงถึงพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาในทุกขอบเขตแห่งกิจกรรมของเรา. การทำให้การอุทิศตัวของเราสำเร็จหมายรวมถึง ‘การซื้อโอกาสมาใช้.’ เราจะทำอย่างนั้นโดยวิธีใด? โดยแทนที่จะใช้เวลาในการติดตามสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เราอุทิศเวลานั้นให้แก่การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างจริงจัง, การเข้าร่วมประชุมเป็นประจำ, และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้ในการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.” (เอเฟโซ 5:15, 16; มัดธาย 24:14, ล.ม.) การอุทิศตัวของเราแด่พระยะโฮวาและความปรารถนาของเราที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ก่อผลดีต่อทุกแง่มุมในชีวิตเรา รวมถึงวิธีที่เราพักผ่อนหย่อนใจ, นิสัยการกินการดื่ม, และชนิดของดนตรีที่เราฟัง. คุณน่าจะเลือกการหย่อนใจแบบที่คุณจะสามารถเพลิดเพลินกับสิ่งนั้นได้ตลอดชั่วนิรันดร์มิใช่หรือ? พยานฯ หนุ่มสาวที่มีความสุขจำนวนมากพร้อมจะบอกคุณว่ามีวิธีที่ดีงามหลายวิธีที่จะสนุกเพลิดเพลินโดยที่อยู่ในขอบเขตแห่ง “น้ำพระทัยของ [พระยะโฮวา].”—เอเฟโซ 5:17-19.
“เราจะไปด้วยท่าน”
18. คำถามอะไรที่เยาวชนควรถามตัวเอง?
18 ตั้งแต่ปี 1513 ก่อนสากลศักราชจนถึงวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 พระยะโฮวาทรงมีประชาชนที่ได้รับการจัดระเบียบบนแผ่นดินโลกซึ่งพระองค์ได้เลือกให้นมัสการพระองค์และเป็นพยานของพระองค์. (ยะซายา 43:12) เยาวชนชาวอิสราเอลเกิดมาในชาตินั้น. นับตั้งแต่วันเพนเทคอสต์เป็นต้นมา พระยะโฮวาทรงมี “ชาติ” ใหม่บนแผ่นดินโลก คือชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ ซึ่งเป็น “ประชาชนสำหรับพระนามของพระองค์.” (1 เปโตร 2:9, 10, ล.ม.; กิจการ 15:14, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:16) อัครสาวกเปาโลกล่าวว่าพระคริสต์ได้ทรงชำระ “ชนชาติหนึ่งสำหรับพระองค์ซึ่งเป็นของพระองค์โดยเฉพาะ ให้มีใจแรงกล้าเพื่อการกระทำที่ดีงาม.” (ติโต 2:14, ล.ม.) คุณผู้เป็นเยาวชนมีอิสระที่จะตัดสินด้วยตัวคุณเองว่าจะพบผู้คนดังกล่าวได้ที่ไหน. ใครในทุกวันนี้ที่ประกอบกันเป็น “ชนชาติชอบธรรมซึ่งรักษาความซื่อสัตย์ไว้,” ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิล, ทำหน้าที่เป็นพยานสัตย์ซื่อของพระยะโฮวา, และประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระองค์ว่าเป็นความหวังเพียงอย่างเดียวสำหรับมนุษยชาติ? (ยะซายา 26:2-4) ขอให้ลองสังเกตดูกิจกรรมของคริสตจักรต่าง ๆ และศาสนาอื่น ๆ แล้วเทียบความประพฤติของพวกเขากับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเรียกร้องจากผู้รับใช้แท้ของพระเจ้า.
19. หลายล้านคนตลอดทั่วโลกได้มาเชื่อมั่นในเรื่องใด?
19 หลายล้านคนตลอดทั่วโลก รวมทั้งเยาวชนจำนวนมาก ได้มาเชื่อมั่นว่าชนที่เหลือที่ได้รับการเจิมของพยานพระยะโฮวาประกอบกันเป็น “ชนชาติชอบธรรม” ชาตินั้น. พวกเขากล่าวกับชนอิสราเอลฝ่ายวิญญาณเหล่านี้ว่า “เราจะไปด้วยท่าน, เพราะเราได้ยินว่าพระเจ้าอยู่กับท่านแล้ว.” (ซะคาระยา 8:23) เราหวังจริง ๆ พร้อมกับการอธิษฐานว่าคุณผู้เป็นเยาวชนจะตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งในหมู่ประชาชนของพระเจ้า และโดยวิธีนั้นจึง “เลือกเอาข้างชีวิต”—ชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่ของพระยะโฮวา.—พระบัญญัติ 30:15-20; 2 เปโตร 3:11-13.
เพื่อทบทวน
• การปรับความคิดจิตใจหมายรวมถึงอะไรบ้าง?
• การรับใช้แบบใดที่พระยะโฮวาทรงยอมรับ?
• เยาวชนที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดาที่อุทิศตัวแล้วเผชิญทางเลือกอะไร?
• เหตุใดจึงไม่ควรผัดเลื่อนการรับบัพติสมาออกไปอย่างไม่เหมาะสม?
[ภาพหน้า 26]
คุณจะฟังใคร?
[ภาพหน้า 28]
การอุทิศตัวและรับบัพติสมาเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องคุณได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 29]
มีอะไรขัดขวางคุณไม่ให้รับบัพติสมา?