บิดามารดาทั้งหลายบุตรของคุณต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ
“บุตรชายหญิงของท่านจะล้อมรอบโต๊ะของท่านดุจต้นมะกอกเทศรุ่น ๆ.”—บทเพลงสรรเสริญ 128:3.
1. อาจเปรียบเทียบได้อย่างไรระหว่างการปลูกพืชกับการเลี้ยงดูบุตร?
ในหลาย ๆ ประการ เด็กเจริญเติบโตและวัฒนาเหมือนต้นไม้. ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงภรรยาว่าเป็นดุจ “เถาองุ่นที่เกิดผลดก” และเปรียบบุตรทั้งหลายของเขาว่า “จะล้อมรอบโต๊ะของท่านดุจต้นมะกอกเทศรุ่น ๆ.” (บทเพลงสรรเสริญ 128:3) เกษตรกรจะบอกคุณว่า การเพาะปลูกต้นไม้ระยะแรกที่ยังอ่อนอยู่นั้นไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวย. ทำนองเดียวกัน ใน “สมัยสุดท้าย” ที่วิกฤติเช่นนี้ จึงนับว่ายากมากที่จะเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ปรับตัวได้ดี และยำเกรงพระเจ้า.—2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.
2. โดยทั่วไปแล้ว อะไรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะเกี่ยวเก็บผลผลิตที่ดี?
2 เพื่อจะเก็บเกี่ยวผลที่ดี เกษตรกรต้องเพาะปลูกในดินดี, มีแสงแดด, และน้ำ. นอกจากเพาะปลูกและถอนวัชพืชแล้ว เขาต้องกำจัดแมลงที่ทำลายพืช และคอยเอาใจใส่ป้องกันด้านอื่น ๆ. ช่วงระหว่างฤดูปลูกกระทั่งได้เวลาเก็บเกี่ยวก็อาจมีความยุ่งยากขึ้นมา. น่าสลดใจเพียงใดเมื่อเก็บเกี่ยวพืชผลแล้วกลับใช้ไม่ได้! แต่คนปลูกคงรู้สึกอิ่มใจปานใด เมื่อเขาได้เก็บผลบริบูรณ์ หลังจากการตรากตรำทำงานหนัก!—ยะซายา 60:20-22; 61:3.
3. พืชกับเด็กต่างกันอย่างไรในด้านความสำคัญ และเด็กควรรับการเอาใจใส่ชนิดใด?
3 ชีวิตมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จและบังเกิดผลมีค่ายิ่งกว่าผลเก็บเกี่ยวของเกษตรกรอย่างแน่นอน. ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก การเลี้ยงดูบุตรจนได้ดีเช่นนั้นย่อมใช้เวลาและความบากบั่นมากกว่าการปลูกพืชไร่ที่ให้ผลอุดม. (พระบัญญัติ 11:18-21) บุตรเยาว์วัยซึ่งได้ปลูกไว้ในสวนชีวิต หากได้รดน้ำและดูแลด้วยความรัก อีกทั้งกำหนดขอบเขตอย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะเจริญเติบโตและชูช่อสะพรั่งทางด้านวิญญาณ แม้โลกนี้จะเต็มไปด้วยค่านิยมทางศีลธรรมที่เป็นเหมือนโรคพืชก็ตาม. ถ้าเด็กไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือถูกบีบคั้น เด็กจะอับเฉาภายในและอาจตายฝ่ายวิญญาณก็ได้. (โกโลซาย 3:21; เทียบกับยิระมะยา 2:21; 12:2.) อันที่จริง เด็กทุกคนจำต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ!
การเอาใจใส่เป็นประจำทุกวันตั้งแต่เป็นทารก
4. ความเอาใจใส่ชนิดใดที่เด็กต้องรับ “ตั้งแต่เป็นทารก”?
4 บิดามารดาต้องเอาใจใส่ทารกเกิดใหม่เกือบตลอดเวลา. อย่างไรก็ตาม ทารกจะต้องได้รับการเอาใจใส่เพียงแต่ด้านร่างกายและปัจจัยที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเท่านั้นไหม? อัครสาวกเปาโลเขียนไปถึงติโมเธียวผู้รับใช้ของพระเจ้าดังนี้: “ตั้งแต่เป็นทารกมา ท่านได้รู้จักคำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจให้ท่านได้ปัญญาถึงที่รอดได้.” (2 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) ดังนั้น การเอาใจใส่ที่ติโมเธียวได้รับจากมารดา แม้ตั้งแต่วัยทารกทีเดียวก็เป็นแบบฝ่ายวิญญาณด้วย. ทว่าวัยทารกเริ่มต้นเมื่อไร?
5, 6. (ก) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับทารกในครรภ์? (ข) อะไรบ่งชี้ว่าบิดามารดาควรเป็นห่วงสวัสดิภาพของทารกในครรภ์?
5 คำกรีก (เบรʹโฟส) ซึ่งอัครสาวกเปาโลได้ใช้ในที่นี้ถูกนำมาใช้กับทารกในครรภ์เช่นกัน. นางเอลีซาเบ็ต มารดาโยฮันผู้ให้บัพติสมา ได้บอกแก่มาเรียผู้เป็นญาติว่า “พอเสียงปราศรัยของท่านเข้าหูข้าพเจ้า, ทารก [เบรʹโฟส] ในครรภ์ของข้าพเจ้าก็ดิ้นด้วยความยินดี.” (ลูกา 1:44) ด้วยเหตุนี้ แม้แต่เด็กในครรภ์ก็ถูกเรียกว่าทารก และคัมภีร์ไบเบิลแสดงว่า พวกเขาตอบรับต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกครรภ์มารดา. สมควรไหมที่การดูแลทารกก่อนคลอด ซึ่งสมัยนี้มีการสนับสนุนกันบ่อย ๆ จะรวมเอาการเอาใจใส่ด้านสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของทารกในครรภ์ด้วย?
6 เรื่องนี้สมควรจะพิจารณา เนื่องจากหลักฐานแสดงว่า ทารกในครรภ์สามารถรับประโยชน์หรือไม่ก็รับผลเสียจากสิ่งที่เขาได้ยิน. ผู้อำนวยการดนตรีคนหนึ่งได้พบว่าเพลงที่เขาซ้อมอยู่นั้นดูเหมือนว่าคุ้นหูอย่างน่าประหลาด โดยเฉพาะส่วนของเชลโล. ครั้นเขาเอ่ยชื่องานเพลงนั้นกับมารดาซึ่งเป็นนักเชลโลอาชีพ เธอบอกว่างานเพลงนั้นเป็นบทประพันธ์เพลงที่เธอฝึกซ้อมระหว่างที่ตั้งครรภ์เขา. ในทำนองเดียวกัน ทารกในครรภ์อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบเมื่อมารดาติดนิสัยชอบดูละครโทรทัศน์. ดังนั้น นิตยสารการแพทย์ฉบับหนึ่งได้พูดถึง “ทารกในครรภ์ติดละครทีวี.”
7. (ก) บิดามารดาหลายคนได้ให้ความเอาใจใส่ต่อสวัสดิภาพของทารกในครรภ์โดยวิธีใด? (ข) ทารกมีความสามารถอะไรบ้าง?
7 เมื่อตระหนักถึงผลประโยชน์ของสิ่งกระตุ้นในเชิงก่อต่อทารกในครรภ์ บิดามารดาหลายคนเริ่มอ่านและร้องเพลงให้ทารกฟังและคุยกับทารกก่อนคลอดด้วยซ้ำ. คุณสามารถทำอย่างเดียวกันนั้นได้. ขณะที่ทารกอาจไม่เข้าใจถ้อยคำ กระนั้น ทารกคงได้ประโยชน์จากน้ำเสียงที่ทำให้สบายใจและสำเนียงที่ส่อความรักใคร่. หลังจากทารกคลอด เขาจะเริ่มเข้าใจถ้อยคำที่คุณพูด บางทีเข้าใจได้เร็วกว่าที่คุณคิด. ภายในเวลาสองหรือสามปี เด็กเรียนรู้ภาษาที่ซับซ้อนได้จากการได้ยินได้ฟังเท่านั้น. นอกจากนั้น ทารกสามารถจะเริ่มเรียนรู้ “ภาษาบริสุทธิ์” แห่งความจริงของคัมภีร์ไบเบิลได้.—ซะฟันยา 3:9, ล.ม.
8. (ก) ดูเหมือนคัมภีร์ไบเบิลหมายถึงอะไรเมื่อพูดว่าติโมเธียวรู้คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ “ตั้งแต่ยังเป็นทารก”? (ข) อะไรปรากฏว่าเป็นความจริงในกรณีของติโมเธียว?
8 เปาโลหมายความอย่างไรเมื่อท่านพูดว่า ติโมเธียวได้รู้จัก ‘คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เป็นทารกมา’ ? ดูเหมือนท่านหมายความว่า ติโมเธียวได้รับการฝึกฝนฝ่ายวิญญาณตั้งแต่วัยทารก ไม่ใช่เริ่มเมื่อวัยเด็ก. นี้แหละตรงกันกับความหมายของคำภาษากรีกเบรʹโฟส ซึ่งโดยทั่วไปใช้กับทารกแรกเกิด. (ลูกา 2:12, 16; กิจการ 7:19) ติโมเธียวได้รับการสั่งสอนฝ่ายวิญญาณจากนางยูนิเกมารดาของท่าน และจากนางโลอีผู้เป็นยาย นับย้อนหลังไปตั้งแต่ท่านจำความได้. (2 ติโมเธียว 1:5) ภาษิตที่ว่า ‘กิ่งถูกดัดอย่างไร ต้นไม้จะมีรูปร่างอย่างนั้น’ ใช้ได้กับติโมเธียวอย่างแน่นอน. ท่านได้รับการ ‘ฝึกสอนให้ประพฤติตามทางที่ท่านควรจะประพฤตินั้น’ และผลที่ตามมาคือ ท่านได้กลายเป็นผู้รับใช้ที่ดีของพระเจ้า.—สุภาษิต 22:6; ฟิลิปปอย 2:19-22.
ความเอาใจใส่เป็นพิเศษที่จำเป็น
9. (ก) บิดามารดาพึงหลีกเลี่ยงการกระทำอะไร และทำไม? (ข) ขณะเด็กเติบโต บิดามารดาจำต้องทำอะไร และตัวอย่างอะไรที่เขาพึงทำตาม?
9 อนึ่ง เด็กเป็นเหมือนพฤกษชาติในข้อที่ว่าไม่ใช่ทุกคนมีนิสัยใจคอเหมือนกันทุกอย่าง และไม่ใช่ทุกคนตอบรับต่อวิธีการเอาใจใส่แบบเดียวกัน. บิดามารดาที่สุขุมพึงคำนึงถึงความแตกต่างและจะไม่เปรียบเทียบเด็กคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง. (เทียบกับฆะลาเตีย 6:4.) ถ้าบุตรของคุณจะเป็นดอกไม้เบ่งบานเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีทั้งจิตใจและร่างกาย คุณจะต้องสังเกตลักษณะนิสัยที่ต่างกันของเขาเป็นรายบุคคล ปลูกฝังนิสัยที่ดีและถอนนิสัยเลว ๆ ทิ้งไป. แต่จะเป็นอย่างไร หากคุณพบจุดอ่อนหรือแนวโน้มไปในทางไม่เหมาะสม บางทีไปในทางทุจริต, วัตถุนิยม, หรือการเห็นแก่ตัว? จงแก้ไขอย่างกรุณา เหมือนพระเยซูได้ทรงแก้ไขความอ่อนแอของเหล่าอัครสาวก. (มาระโก 9:33-37) โดยเฉพาะ ชมเชยบุตรแต่ละคนเป็นประจำในลักษณะนิสัยอันดีของเขา.
10. เด็กต้องการอะไรเป็นพิเศษ และอาจจัดหาสิ่งนั้นให้เขาโดยวิธีใด?
10 สิ่งที่บุตรต้องการเป็นพิเศษคือความเอาใจใส่ด้วยความรักใคร่เป็นส่วนตัว. พระเยซูทรงแบ่งเวลาให้การเอาใจใส่เป็นพิเศษเช่นนั้นต่อเด็กเล็ก ๆ กระทั่งในระหว่างช่วงท้ายแห่งการงานรับใช้ของพระองค์เสียด้วยซ้ำ. (มาระโก 10:13-16, 32) บิดามารดาทั้งหลาย จงติดตามตัวอย่างนั้น! อย่างไม่เห็นแก่ตัว จงจัดเวลาอยู่กับบุตรของคุณ. และอย่ารู้สึกกระดากเมื่อแสดงความรักแท้ต่อบุตร. อ้าแขนโอบบุตรเหมือนพระเยซูทรงกระทำต่อเด็ก. จงสวมกอดและจูบเขาอย่างอบอุ่นและรักใคร่. เมื่อมีการสัมภาษณ์บิดามารดาซึ่งมีบุตรโตเป็นผู้ใหญ่ที่ปรับตัวได้ดีว่าจะเสนอแนะอะไรบ้างแก่บิดามารดาคู่อื่น คำตอบที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือ: ‘แสดงความรักมาก ๆ,’ ‘ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน,’ ‘สร้างความนับถือซึ่งกันและกัน,’ ‘ตั้งใจฟังจริง ๆ เมื่อเขาพูด,’ ‘ให้การชี้แนะแทนที่จะเทศน์,’ และ ‘ถือความจริงเป็นหลัก.’
11. (ก) บิดามารดาควรมองดูการให้ความเอาใจใส่บุตรของตนเป็นพิเศษอย่างไร? (ข) บิดามารดาอาจมีการสื่อสัมพันธ์กับบุตรของตนอย่างที่เป็นประโยชน์ได้ในโอกาสไหน?
11 การให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษดังกล่าวย่อมเป็นความปีติยินดี. บิดาที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งเขียนอย่างนี้: “เมื่อบุตรชายสองคนของเรายังเล็กอยู่นั้น ขั้นตอนการพาเขาเข้านอน, อ่านหนังสือให้เขาฟัง, ห่มผ้าให้เขา และกล่าวคำอธิษฐานพร้อมกันนั้นเป็นความเพลิดเพลินจริง ๆ.” การใช้เวลาด้วยกันอย่างนั้นเปิดโอกาสให้สื่อความกัน ซึ่งชูใจทั้งฝ่ายบิดามารดาและบุตร. (เทียบกับโรม 1:11, 12.) สามีภรรยาคู่หนึ่งฟังลูกชายวัยสามขวบทูลขอพระเจ้าอวยพร “วัลลี.” คืนต่อ ๆ มาลูกชายได้อธิษฐานเผื่อ “วัลลี” อีก และบิดามารดาได้กำลังใจมากทีเดียวเมื่อเขามารู้ว่า ลูกชายหมายถึงพี่น้องในประเทศมาลาวี ซึ่งตอนนั้นได้สู้ทนการข่มเหง. สตรีคนหนึ่งกล่าวว่า ‘ตอนดิฉันอายุสี่ขวบ คุณแม่ช่วยดิฉันให้จดจำข้อคัมภีร์และร้องเพลงราชอาณาจักรในขณะที่ดิฉันยืนบนเก้าอี้เพื่อช่วยเช็ดถ้วยชามที่คุณแม่กำลังล้างอยู่.’ คุณคิดออกไหมว่าเมื่อไรคุณจะสามารถพูดคุยกันอย่างที่มีประโยชน์กับลูกเล็ก ๆ ของคุณ?
12. ด้วยความสุขุม บิดามารดาคริสเตียนจะจัดเตรียมสิ่งใดสำหรับบุตร และอาจใช้วิธีใด?
12 บิดามารดาคริสเตียนที่สุขุมย่อมจัดเตรียมระเบียบการศึกษาเป็นประจำ. ถึงแม้คุณอาจใช้วิธีถาม–ตอบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่คุณจะช่วยให้การพูดคุยกันน่าเพลิดเพลินได้ไหม โดยการปรับช่วงเวลาศึกษา โดยเฉพาะให้เหมาะกับบุตรที่อายุน้อย? คุณอาจรวมเอาการวาดภาพเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล, เล่าเรื่องจากพระคัมภีร์, หรือฟังรายงานที่คุณได้ขอให้บุตรเตรียมไว้. จงทำให้พระวจนะของพระเจ้ามีรสชาติมากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อลูก ๆ จะมีความกระหายพระวจนะ. (1 เปโตร 2:2, 3) บิดาคนหนึ่งพูดว่า ‘เมื่อลูกยังเล็ก เราคลานเล่นกับเขาบนพื้นห้อง เราเล่นแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบุคคลในพระคัมภีร์. เด็ก ๆ ชอบมาก.’
13. คุณค่าของการฝึกซ้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ คืออะไร และคุณอาจฝึกซ้อมอะไรในช่วงดังกล่าว?
13 การฝึกซ้อมย่อมยังผลให้มีการสื่อสัมพันธ์ที่มีคุณค่าเช่นกัน เพราะเป็นการช่วยบุตรอายุน้อยเตรียมตัวไว้สำหรับสภาพการณ์จริงในชีวิต. ลูกสาวคนหนึ่งในครอบครัวคุสเซโรว์—ทั้งหมด 11 คนได้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าในช่วงที่ถูกพวกนาซีข่มเหง—พูดถึงคุณพ่อคุณแม่ของเธอดังนี้: “ท่านแสดงให้เราเห็นถึงวิธีวางตัวและปกป้องตัวเองโดยใช้คัมภีร์ไบเบิล. [1 เปโตร 3:15] บ่อยครั้งเราฝึกซ้อมถามตอบ.” ลองทำแบบเดียวกันดีไหม? คุณอาจซ้อมการเสนอในการประกาศ โดยให้บิดาหรือมารดาแสดงเป็นเจ้าของบ้าน. หรือในการฝึกซ้อมนั้นอาจเป็นเรื่องการรับมือกับการล่อใจซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตจริง. (สุภาษิต 1:10-15) สตรีคนหนึ่งชี้แจงว่า “การฝึกซ้อมไว้เผื่อสภาพการณ์อันยุ่งยากจะสร้างเสริมทักษะและความมั่นใจของลูก. การฝึกซ้อมอาจนับรวมเอาการแสดงบทบาทเพื่อนยื่นบุหรี่, เหล้า, หรือยาเสพย์ติดให้ลูกของคุณ.” การทำเช่นนี้จะช่วยคุณวินิจฉัยออกว่าลูกของคุณจะตอบรับเช่นไรภายใต้สภาพการณ์เช่นนั้น?
14. เหตุใดการพูดคุยกันระหว่างคุณกับบุตรด้วยความรักและเอ็นดูจึงเป็นเรื่องสำคัญ?
14 ในช่วงที่มีการสื่อสัมพันธ์กับบุตร จงขอร้องเขาด้วยความเอ็นดูทำนองเดียวกันกับผู้เขียนถ้อยคำเหล่านี้: “ศิษย์ของเราเอ๋ย, อย่าลืมโอวาทของเรา แต่จงให้ใจของเจ้ารักษาบัญญัติทั้งหลายของเรา: เพราะว่าบัญญัตินั้นจะเพิ่มวันและปีเดือนทั้งหลายแห่งชีวิตของเจ้า, กับสันติสุขให้แก่เจ้า.” (สุภาษิต 3:1, 2) บุตรของคุณคงรู้สึกซาบซึ้งใจมิใช่หรือ ถ้าคุณชี้แจงอย่างรักใคร่เอ็นดูว่า คุณเรียกร้องการเชื่อฟังก็เพราะสิ่งนี้จะทำให้เขาได้รับความสงบสุขและมีอายุยืนนาน—จริง ๆ แล้ว ถึงกับได้ชีวิตนิรันดร์ในโลกใหม่อันสงบสุขของพระเจ้า? จงคำนึงถึงอุปนิสัยใจคอเฉพาะตัวของเขาขณะหาเหตุผลจากพระวจนะของพระเจ้า. จงทำงานนี้พร้อมด้วยการอธิษฐาน และพระยะโฮวาจะทรงอวยพรความบากบั่นของคุณ. การสนทนากันด้วยความรักและใจเมตตาโดยยึดคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเช่นนี้คงจะบังเกิดผลดีและเป็นประโยชน์ยั่งยืน.—สุภาษิต 22:6.
15. บิดามารดาอาจจะช่วยบุตรของตนแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไร?
15 ถ้าแม้นไม่ได้มีการสื่อสัมพันธ์ดังกล่าวในช่วงเวลาการศึกษาตามที่วางแผนไว้ ก็อย่าปล่อยความสนใจเบี่ยงเบนไปทางอื่น. ตั้งใจฟังให้ถี่ถ้วน ไม่เพียงแต่ฟังว่าลูกของคุณพูดอะไร แต่ฟังวิธีที่เขาแสดงแนวความคิดออกมาด้วย. ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวดังนี้: “จ้องหน้าลูก, ให้ความสนใจเต็มที่. คุณต้องเข้าใจ ไม่ใช่แค่ฟัง. บิดามารดาที่พยายามบากบั่นเป็นพิเศษย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของบุตร.” ทุกวันนี้ เด็กมักเผชิญปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในโรงเรียนและที่อื่น ๆ. ในฐานะเป็นบิดามารดา ตะล่อมลูกให้พูดความในใจออกมาและช่วยเขาให้มองดูเรื่องราวต่าง ๆ ตามแง่คิดของพระเจ้า. ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็จงค้นหาคำตอบในคัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือซึ่งจัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) จงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่บุตรของคุณซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา.
จงทะนุถนอมเวลาที่อยู่ด้วยกัน
16, 17. (ก) เหตุใดเวลานี้เด็กหนุ่มสาวต้องการความเอาใจใส่และคำแนะนำเป็นพิเศษ? (ข) เด็กจะต้องรู้อะไรเมื่อรับการตีสอนจากบิดามารดา?
16 ทุกวันนี้ หนุ่มสาวต้องการความเอาใจใส่มากเป็นพิเศษยิ่งกว่าแต่ก่อน เนื่องจากเราอยู่ใน “สมัยสุดท้าย” และนี่เป็น “วิกฤตกาล.” (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.; มัดธาย 24:3-14) ไม่ว่าบิดามารดาหรือบุตรต่างก็จำต้องได้รับการปกป้องซึ่งสติปัญญาแท้ที่ “รักษาชีวิตของเจ้าของความรู้นั้นให้รอด” นั้นให้ได้. (ท่านผู้ประกาศ 7:12) เนื่องจากสติปัญญาที่มาจากพระเจ้าเกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักอย่างถูกต้อง เด็กจึงจำต้องรับการสั่งสอนเป็นประจำจากพระวจนะของพระเจ้า. เหตุฉะนั้น จงศึกษาพระคัมภีร์กับบุตรวัยเยาว์ของคุณ. จงบอกเขาเรื่องพระยะโฮวา, อธิบายให้เขารู้ข้อเรียกร้องของพระองค์โดยถี่ถ้วน, และสรรค์สร้างความคาดหวังซึ่งยังความชื่นชมยินดีไว้สำหรับความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำสัญญาอันยอดเยี่ยมของพระองค์. จงพูดเรื่องดังกล่าวที่บ้าน, ขณะที่คุณเดินไปกับลูก, ตามจริงแล้ว ทุกโอกาสที่เห็นว่าเหมาะสม.—พระบัญญัติ 6:4-7.
17 เกษตรกรรู้ดีว่าไม่ใช่ต้นพืชทุกชนิดงอกงามภายใต้สภาพการณ์อย่างเดียวกัน. พืชต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ. ทำนองเดียวกัน เด็กแต่ละคนต่างกันและต้องการความเอาใจใส่, การสั่งสอน, และการตีสอนเป็นพิเศษ. ยกตัวอย่าง การมองของบิดามารดาด้วยสีหน้าไม่พอใจอาจจะยับยั้งบุตรคนหนึ่งไม่ให้ทำผิด ขณะที่เด็กอีกคนหนึ่งอาจจำต้องรับการตีสอนที่แรงกว่า. แต่เด็กทุกคนต้องรู้เหตุผลว่า ทำไมคุณไม่พอใจถ้อยคำหรือการกระทำบางอย่าง และทั้งบิดาและมารดาควรร่วมมือกัน เพื่อว่าการตีสอนจะเสมอต้นเสมอปลาย. (เอเฟโซ 6:4) เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่บิดามารดาคริสเตียนให้การชี้นำชัดเจนประสานกับพระคัมภีร์.
18, 19. บิดามารดาคริสเตียนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรต่อบุตรของตน และอะไรอาจเป็นผลตามมาหากการทำงานนั้นได้กระทำอย่างดี?
18 เกษตรกรต้องเพาะปลูกพืชตามฤดูกาล. ถ้าเขามัวชักช้าหรือไม่ดูแลพืชสวนของตน เขาจะเก็บผลได้น้อยหรือไม่ได้เลย. เอาละ บุตรที่เยาว์วัยของคุณเป็น “พืช” ที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษในขณะนี้ ไม่ใช่เดือนหน้าหรือปีหน้า. อย่าปล่อยเวลาอันมีค่าให้ผ่านไปโดยไม่ได้ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณให้ประสานกับพระวจนะของพระเจ้า และถอนทิ้งแนวคิดทางโลกีย์ซึ่งอาจเป็นเหตุให้พวกเขาเหี่ยวเฉาและตายฝ่ายวิญญาณ. จงทะนุถนอมโมงยามและวันทั้งหลายที่คุณมีอยู่ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่จะใช้เวลากับบุตรของคุณ เพราะเวลาดังกล่าวผ่านไปอย่างรวดเร็ว. จงตั้งใจทำงานปลูกฝังคุณลักษณะเยี่ยงพระเจ้าในบุตรของคุณ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสุขในชีวิตของเขาฐานะเป็นผู้รับใช้สัตย์ซื่อของพระยะโฮวา. (ฆะลาเตีย 5:22, 23; โกโลซาย 3:12-14) ทั้งนี้ หาใช่งานของใครอื่น เป็นงานของคุณ และพระเจ้าจะทรงช่วยคุณทำงานนี้.
19 จงให้มรดกฝ่ายวิญญาณอันอุดมบริบูรณ์แก่บุตรของคุณ. จงศึกษาพระวจนะของพระเจ้ากับเขา และพักผ่อนหย่อนใจให้เป็นที่เพลิดเพลินด้วยกัน. จงพาบุตรวัยเยาว์ไปยังการประชุมคริสเตียนด้วยกัน และให้เขาอยู่ข้าง ๆ คุณขณะออกไปในงานประกาศราชอาณาจักร. จงเสริมสร้างบุตรที่รักของคุณให้มีบุคลิกภาพซึ่งพระยะโฮวาทรงชอบพระทัย, และเขาคงจะทำให้คุณปลาบปลื้มยินดีในวันข้างหน้า. จริงทีเดียว “บิดาของคนชอบธรรมจะชื่นใจยินดีมาก; และผู้ให้กำเนิดบุตรที่มีปัญญาจะมีความชื่นชมยินดีในบุตรนั้น. จงทำให้บิดามารดาของเจ้ามีความยินดี, และจงทำให้มารดาที่คลอดเจ้ามานั้นมีใจชื่นบาน.”—สุภาษิต 23:24, 25.
บำเหน็จอันอุดม
20. อะไรเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บิดามารดาของเด็กวัยรุ่นประสบความสำเร็จ?
20 การเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่มอบหมายระยะยาวที่ละเอียดซับซ้อน. การเพาะเลี้ยง ‘ต้นมะกอกเทศรุ่น ๆ ล้อมรอบโต๊ะของท่าน’ ให้เติบโตเป็นคนเกรงกลัวพระเจ้าและบังเกิดผลราชอาณาจักรเช่นนั้นถือได้ว่าเป็นโครงการ 20 ปี. (บทเพลงสรรเสริญ 128:3; โยฮัน 15:8) ปกติแล้ว โครงการนี้จะยากขึ้นเมื่อบุตรย่างเข้าสู่วัยรุ่น เมื่อเขาได้รับความกดดันมากขึ้น และบิดามารดาตระหนักถึงความจำเป็นที่จะพยายามให้จงหนัก. ทว่ากุญแจนำไปสู่ความสำเร็จคงเหมือนเดิม คือเป็นคนสดับตรับฟัง, อบอุ่น, และร่วมความรู้สึก. พึงระลึกเสมอว่า บุตรวัยเยาว์ของคุณต้องการความเอาใจใส่จริง ๆ เป็นส่วนตัว. คุณจะให้ความเอาใจใส่เช่นนั้นได้โดยแสดงความห่วงใยรักใคร่จริง ๆ เพื่อสวัสดิภาพของเขา. เพื่อจะช่วยเขา คุณต้องทุ่มเทตัวโดยยอมให้เวลา, ความรัก, และความห่วงใย ซึ่งเขาต้องการอย่างแท้จริง.
21. อาจมีบำเหน็จอะไรสืบเนื่องจากการเอาใจใส่บุตรเป็นพิเศษ?
21 บำเหน็จอันเนื่องมาจากความบากบั่นของคุณที่ดูแลเอาใจใส่ผลิตผลอันมีค่าซึ่งพระยะโฮวาทรงมอบไว้กับคุณนั้น อาจเป็นสิ่งน่าพอใจยิ่งกว่าการเก็บเกี่ยวผลอันอุดมของเกษตรกร. (บทเพลงสรรเสริญ 127:3-5) ดังนั้น บิดามารดาทั้งหลาย จงดูแลเอาใจใส่บุตรของคุณเป็นพิเศษ. จงทำเพื่อประโยชน์ของบุตรและเพื่อสง่าราศีของพระยะโฮวา พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ อาจเปรียบเทียบกันอย่างไรระหว่างการปลูกพืชกับการเลี้ยงดูบุตร?
▫ บุตรพึงได้รับการเอาใจใส่อย่างไรเป็นประจำทุกวันนับตั้งแต่เป็นทารก?
▫ บุตรต้องการความเอาใจใส่ดูแลเช่นไรเป็นพิเศษ และเขาจะได้รับโดยวิธีใด?
▫ ทำไมจึงให้ความเอาใจใส่บุตรของคุณเป็นพิเศษ?