อะไรจะช่วยเราให้ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง?
นักวิจารณ์ละครเวทีของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ไปชมละครเรื่องหนึ่ง. เขาไม่ค่อยชอบการแสดงนั้นเท่าใดนัก และต่อมาเขาได้เขียนบทวิจารณ์ว่า “ถ้าคุณสนใจจะดูอะไรที่ไร้สาระล่ะก็ อย่าพลาดไปชมการแสดงเรื่องนี้.” ภายหลัง ผู้จัดละครเรื่องนี้ได้ยกเอาคำพูดของนักวิจารณ์คนนี้ไปพิมพ์ลงในใบโฆษณา. ข้อความที่นำไปพิมพ์ก็คือ “อย่าพลาดไปชมการแสดงเรื่องนี้”! คำกล่าวของนักวิจารณ์ที่ยกไปอ้างในใบโฆษณานั้นถูกต้อง แต่เป็นการยกมากล่าวโดยไม่คำนึงถึงบริบท และโดยวิธีนี้จึงเป็นการสื่อความหมายผิดไปจากที่นักวิจารณ์ต้องการบอกอย่างสิ้นเชิง.
ตัวอย่างข้างต้นแสดงว่าบริบทของข้อความใดข้อความหนึ่งมีความสำคัญสักเพียงไร. การยกข้อความใด ๆ ขึ้นมากล่าวโดยไม่คำนึงถึงบริบทอาจบิดเบือนความหมายของข้อความนั้น เหมือนอย่างที่ซาตานได้บิดเบือนความหมายของข้อคัมภีร์เมื่อมันพยายามล่อลวงพระเยซู. (มัดธาย 4:1-11) ตรงกันข้าม การคำนึงถึงบริบทจะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของข้อความนั้นถูกต้องยิ่งขึ้น. ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราศึกษาข้อพระคัมภีร์ข้อหนึ่ง จึงนับว่าสุขุมเสมอที่จะพิจารณาบริบทของข้อนั้น เพื่อจะเข้าใจได้ดีขึ้นว่าผู้เขียนกำลังพูดถึงอะไร.
จงใช้พระคำของพระเจ้าอย่างระมัดระวัง
บริบทได้รับการนิยามในพจนานุกรมเล่มหนึ่งว่าเป็น “ข้อความส่วนที่เขียนหรือพูดก่อนหน้าหรือตามหลังคำหรือข้อความใด ๆ ซึ่งมักจะมีผลต่อความหมายหรือช่วยให้เข้าใจความหมายของคำหรือข้อความนั้น.” นอกจากนี้ บริบทยังอาจหมายถึง “สถานการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หนึ่ง ๆ.” ในความหมายหลังนี้ “บริบท” มีความหมายตรงกับ “ภูมิหลัง.” การคำนึงถึงบริบทของข้อคัมภีร์มีความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อคิดถึงสิ่งที่อัครสาวกเปาโลได้เขียนไปถึงติโมเธียวที่ว่า “จงทำสุดความสามารถเพื่อสำแดงตนให้เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า เป็นคนงานที่ไม่มีอะไรต้องอาย ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.) เพื่อจะใช้พระคำของพระเจ้าอย่างถูกต้อง เราต้องเข้าใจพระคำนั้นอย่างถูกต้อง แล้วอธิบายแก่คนอื่นอย่างซื่อตรงและแม่นยำ. ความนับถือต่อพระยะโฮวา ผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล จะกระตุ้นให้เราพยายามทำเช่นนั้น และการพิจารณาบริบทจะช่วยเราได้มากทีเดียวในเรื่องนี้.
ภูมิหลังของพระธรรมติโมเธียวฉบับสอง
เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้เราพิจารณาพระธรรมติโมเธียวฉบับสอง.a เพื่อเริ่มต้นการพิจารณา เราอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับภูมิหลังของพระธรรมเล่มนี้. ใครเป็นผู้เขียนติโมเธียวฉบับสอง? เขียนเมื่อไร? ภายใต้สภาพการณ์เช่นไร? แล้วจากนั้น เราอาจถามว่า “ติโมเธียว” ซึ่งชื่อของเขาถูกใช้เป็นชื่อของพระธรรมนี้ อยู่ในสถานการณ์เช่นไรในตอนนั้น? ทำไมเนื้อหาในพระธรรมนี้จึงจำเป็นสำหรับท่าน? คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะเพิ่มความหยั่งรู้ค่าที่เรามีต่อพระธรรมนี้ และช่วยเราให้เห็นวิธีที่พวกเราในปัจจุบันจะได้ประโยชน์จากพระธรรมเล่มนี้.
ข้อต้น ๆ ของติโมเธียวฉบับสองบอกให้เราทราบว่าพระธรรมเล่มนี้เป็นจดหมายที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงติโมเธียว. ข้ออื่น ๆ แสดงว่าขณะที่เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ ท่านกำลังถูกคุมขังเนื่องด้วยข่าวดี. เนื่องจากหลายคนทอดทิ้งท่านไป เปาโลคิดว่าจุดจบของตัวเองใกล้เข้ามาแล้ว. (2 ติโมเธียว 1:15, 16; 2:8-10; 4:6-8) ดังนั้น ท่านคงต้องได้เขียนพระธรรมเล่มนี้ระหว่างที่ถูกคุมขังครั้งที่สองในกรุงโรม ประมาณปี ส.ศ. 65. จากนั้นไม่นาน ดูเหมือนจักรพรรดิเนโรสั่งประหารชีวิตท่าน.
นั่นคือภูมิหลังของติโมเธียวฉบับสอง. อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเปาโลไม่ได้เขียนไปถึงติโมเธียวเพื่อพร่ำบ่นเกี่ยวกับความลำบากของตัวเอง. แทนที่จะทำเช่นนั้น ท่านเตือนติโมเธียวล่วงหน้าถึงสมัยที่ยุ่งยาก และสนับสนุนสหายของท่านให้หลีกเว้นจากสิ่งที่ทำให้เขว, ให้ “รับเอาพลัง” ต่อ ๆ ไป, และถ่ายทอดคำแนะนำที่ได้จากเปาโลให้แก่คนอื่น ๆ. ผลคือ คนเหล่านี้จะมีคุณวุฒิพอจะช่วยคนอื่นได้ต่อไป. (2 ติโมเธียว 2:1-7, ล.ม.) ช่างเป็นตัวอย่างอันดีเลิศจริง ๆ ในเรื่องความห่วงใยที่มีต่อผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัวแม้แต่ในยามยากลำบาก! และช่างเป็นคำแนะนำที่ดีเยี่ยมจริง ๆ สำหรับเราในทุกวันนี้!
เปาโลเรียกติโมเธียวว่า “บุตรที่รัก.” (2 ติโมเธียว 1:2) ชายหนุ่มคนนี้ถูกเอ่ยถึงบ่อย ๆ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกในฐานะเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์ภักดีของเปาโล. (กิจการ 16:1-5; โรม 16:21; 1 โกรินโธ 4:17) ตอนที่เปาโลเขียนจดหมายฉบับนี้ไปหาท่าน ดูเหมือนว่าติโมเธียวอยู่ในช่วงวัย 30 กว่าปี ซึ่งยังถือได้ว่าเป็นคนหนุ่ม. (1 ติโมเธียว 4:12) ถึงกระนั้น ติโมเธียวมีประวัติที่ดีเยี่ยมอยู่แล้วในเรื่องความซื่อสัตย์ภักดี ท่าน ‘ได้ปรนนิบัติด้วยกันกับเปาโล’ เป็นเวลาประมาณ 14 ปี. (ฟิลิปปอย 2:19-22) แม้ว่าติโมเธียวอยู่ในวัยค่อนข้างหนุ่ม เปาโลได้มอบหมายหน้าที่รับผิดชอบแก่ท่านให้แนะนำผู้ปกครองคนอื่น ๆ “ไม่ให้ . . . เถียงกันในเรื่องถ้อยคำ” แต่ให้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่สำคัญ เช่น ความเชื่อและความเพียรอดทน. (2 ติโมเธียว 2:14) ติโมเธียวยังได้รับอำนาจที่จะจัดการแต่งตั้งผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคมต่าง ๆ. (1 ติโมเธียว 5:22) อย่างไรก็ตาม ท่านอาจขาดความมั่นใจในตัวเองอยู่บ้างในเรื่องการใช้อำนาจของท่าน.—2 ติโมเธียว 1:6, 7.
ผู้ปกครองหนุ่มคนนี้เผชิญข้อท้าทายที่ยากเย็นบางอย่าง. อย่างหนึ่งก็คือ ฮุเมนายกับฟิเลโตกำลัง “ทำลายความเชื่อของบางคน” โดยสอนว่า “การซึ่งจะเป็นขึ้นมาจากตายนั้นผ่านพ้นมาแล้ว.” (2 ติโมเธียว 2:17, 18) ดูเหมือนสองคนนี้เชื่อว่ามีเฉพาะการเป็นขึ้นจากตายทางฝ่ายวิญญาณเท่านั้น และเชื่อว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นไปแล้วสำหรับคริสเตียน. เป็นไปได้ว่าพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงบริบทเมื่อยกคำกล่าวของเปาโลขึ้นมาอ้างที่ว่าคริสเตียนได้ตายแล้วในการบาปแต่ถูกทำให้มีชีวิตโดยทางพระวิญญาณของพระเจ้า. (เอเฟโซ 2:1-6) เปาโลเตือนว่าอิทธิพลของการออกหากเช่นนั้นจะมีมากขึ้น. ท่านเขียนว่า “จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่เขาจะไม่ยอมรับฟังคำสอนที่ก่อประโยชน์ . . . และเขาจะบ่ายหูจากความจริง แต่แล้วเขาจะหันไปยังเรื่องเท็จ.” (2 ติโมเธียว 4:3, 4, ล.ม.) คำเตือนล่วงหน้าของเปาโลแสดงว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับติโมเธียวที่จะต้องเอาใจใส่คำแนะนำของท่านอัครสาวก.
คุณค่าของพระธรรมเล่มนี้ในปัจจุบัน
จากที่ได้กล่าวมาแล้ว เราเห็นว่าเปาโลเขียนพระธรรมติโมเธียวฉบับสองด้วยเหตุผลอย่างน้อยที่สุดดังต่อไปนี้: (1) ท่านรู้ว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน และท่านหาทางเตรียมติโมเธียวไว้ให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาที่ท่านเองไม่สามารถจะเกื้อหนุนติโมเธียวได้อีกต่อไป. (2) ท่านใคร่จะเตรียมติโมเธียวไว้สำหรับการปกป้องประชาคมต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแล เพื่อให้พ้นจากการออกหากและอิทธิพลที่เป็นอันตรายอื่น ๆ. (3) ท่านต้องการจะสนับสนุนติโมเธียวให้หมกมุ่นอยู่กับงานรับใช้พระยะโฮวาและอาศัยความรู้ถ่องแท้จากพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจเพื่อต่อต้านคำสอนที่ผิด ๆ.
การเข้าใจภูมิหลังดังกล่าวทำให้ติโมเธียวฉบับสองมีความหมายยิ่งขึ้นสำหรับเรา. ในปัจจุบัน มีผู้ออกหากที่เป็นเหมือนฮุเมนายกับฟิเลโต ซึ่งส่งเสริมความคิดของตนเองและต้องการจะบ่อนทำลายความเชื่อของเราเช่นกัน. ยิ่งกว่านั้น บัดนี้เป็น “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” ดังที่เปาโลบอกไว้ล่วงหน้า. หลายคนประสบความเป็นจริงของคำเตือนของเปาโลที่ว่า “ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:1, 12, ล.ม.) เราจะยืนหยัดมั่นคงได้อย่างไร? เช่นเดียวกับติโมเธียว เราจำเป็นต้องเอาใจใส่คำแนะนำของคนเหล่านั้นที่ได้รับใช้พระยะโฮวามานานหลายปี. และโดยการศึกษาส่วนตัว, การอธิษฐาน, และคบหาสมาคมแบบคริสเตียน เราสามารถ “รับเอาพลังต่อ ๆ ไป” โดยพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา. นอกจากนี้ ด้วยความมั่นใจในพลังของความรู้ถ่องแท้ เราสามารถเอาใจใส่คำกระตุ้นเตือนของเปาโลที่ว่า “จงยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์.”—2 ติโมเธียว 1:13, ล.ม.
“แบบแผนแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์”
อะไรคือ “ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” ที่เปาโลกล่าวถึง? ท่านใช้สำนวนนี้เพื่อพาดพิงถึงหลักคำสอนที่ถูกต้องฝ่ายคริสเตียน. ในจดหมายที่เขียนไปถึงติโมเธียวฉบับแรก เปาโลอธิบายว่า “ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” โดยพื้นฐานแล้ว คือ “ถ้อยคำของพระเยซูคริสต์เจ้าของเรา.” (1 ติโมเธียว 6:3, ล.ม.) คนที่ติดตามแบบแผนแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์จะมีสุขภาพจิตดี มีแนวโน้มจะแสดงความรักและการคำนึงถึงผู้อื่น. เนื่องจากงานรับใช้และคำสอนของพระเยซูลงรอยกับคำสอนอื่น ๆ ที่พบในคัมภีร์ไบเบิลตลอดทั้งเล่ม สำนวนที่ว่า “ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” จึงกินความไปถึงคำสอนทุกอย่างในคัมภีร์ไบเบิล.
สำหรับติโมเธียว และเช่นกันกับคริสเตียนผู้ปกครองทุกคน แบบแผนแห่งถ้อยคำที่ก่อประโยชน์เป็น “สิ่งดีที่ฝากไว้” ซึ่งพวกเขาจะต้องดูแลรักษา. (2 ติโมเธียว 1:13, 14, ล.ม.) ติโมเธียวต้อง ‘ประกาศพระคำ ทำอย่างรีบด่วน ทั้งในยามเอื้ออำนวยและยามยากลำบาก ว่ากล่าว, ตำหนิ, กระตุ้นเตือน, ด้วยความอดกลั้นไว้นานทุกอย่าง และด้วยศิลปะแห่งการสอน.’ (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) เมื่อเราตระหนักว่าคำสอนของพวกออกหากกำลังแพร่ไปในสมัยของติโมเธียว เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมเปาโลจึงเน้นถึงความเร่งด่วนของการสอนถ้อยคำที่ก่อประโยชน์. และเรายังเข้าใจด้วยว่าติโมเธียวคงจะต้องปกป้องฝูงแกะโดยการ “ว่ากล่าว, ตำหนิ, กระตุ้นเตือน” ด้วยความอดกลั้นไว้นานและความสามารถในการสอน.
ติโมเธียวต้องประกาศพระคำแก่ใคร? บริบทชี้ว่าในฐานะผู้ปกครอง ติโมเธียวจะประกาศพระคำภายในประชาคมคริสเตียน. เมื่อคำนึงถึงความกดดันจากผู้ต่อต้าน ติโมเธียวต้องรักษาความสมดุลฝ่ายวิญญาณและกล้าที่จะประกาศพระคำของพระเจ้า ไม่ใช่ปรัชญาของมนุษย์, ความคิดส่วนตัว, หรือการคาดเดาที่ไม่เกิดประโยชน์. จริงอยู่ การทำอย่างนี้อาจก่อให้เกิดการต่อต้านจากบางคนที่อาจมีความโน้มเอียงผิด ๆ. (2 ติโมเธียว 1:6-8; 2:1-3, 23-26; 3:14, 15) อย่างไรก็ตาม โดยการติดตามคำแนะนำของเปาโล ติโมเธียวจะเป็นผู้ขัดขวางการออกหากต่อ ๆ ไป เหมือนอย่างที่เปาโลได้ทำมาแล้ว.—กิจการ 20:25-32.
ถ้อยคำของเปาโลที่ให้ประกาศพระคำใช้ได้กับการประกาศภายนอกประชาคมด้วยไหม? ใช่แล้ว ดังที่บริบทได้แสดงให้เห็น. เปาโลกล่าวต่อไปว่า “ฝ่ายท่านจงรักษาสติในทุกสิ่ง จงทนรับการร้าย จงทำงานของผู้เผยแพร่กิตติคุณ จงทำให้งานรับใช้ของท่านสำเร็จครบถ้วน.” (2 ติโมเธียว 4:5, ล.ม.) การเผยแพร่กิตติคุณ ซึ่งเป็นการประกาศข่าวดีเกี่ยวกับความรอดแก่ผู้ไม่มีความเชื่อนั้น เป็นส่วนสำคัญยิ่งของงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียน. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) และเช่นเดียวกับที่พระคำของพระเจ้าได้รับการประกาศในประชาคมแม้ใน “ยามยากลำบาก” เราก็ต้องยืนหยัดในการประกาศพระคำแก่คนนอกประชาคมแม้ในสภาพการณ์ที่ยากลำบากเช่นกัน.—1 เธซะโลนิเก 1:6.
การประกาศและการสอนของเราทั้งสิ้นอาศัยพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าเป็นพื้นฐาน. เรามีความมั่นใจอย่างเต็มที่ในคัมภีร์ไบเบิล. เปาโลบอกติโมเธียวดังนี้: “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ข้อความนี้ถูกนำขึ้นมากล่าวบ่อยครั้งอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อแสดงว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. แต่อะไรคือจุดประสงค์ที่เปาโลเขียนข้อความนี้?
เปาโลกำลังพูดกับผู้ปกครองคนหนึ่ง ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะ ‘ว่ากล่าว, จัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, ตีสอนด้วยความชอบธรรม’ ภายในประชาคม. ด้วยเหตุนั้น ท่านเตือนติโมเธียวให้วางใจในสติปัญญาแห่งพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจ ซึ่งติโมเธียวได้รับการสอนมาตั้งแต่เป็นทารก. เช่นเดียวกับติโมเธียว ผู้ปกครองทั้งหลายต้องว่ากล่าวผู้กระทำผิดเป็นครั้งคราว. เมื่อทำเช่นนั้น พวกเขาก็ควรมั่นใจเสมอที่จะใช้คัมภีร์ไบเบิล. นอกจากนี้ เนื่องจากพระคัมภีร์มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า การว่ากล่าวทุกอย่างที่อาศัยพระคัมภีร์โดยแท้แล้วเป็นการว่ากล่าวที่มาจากพระเจ้า. ใครก็ตามที่ปฏิเสธการว่ากล่าวที่อาศัยพระคัมภีร์ไม่ได้ปฏิเสธข้อชี้แนะของมนุษย์ แต่ว่ากำลังปฏิเสธคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจที่มาจากพระยะโฮวา.
พระธรรมติโมเธียวฉบับสองช่างเต็มไปด้วยสติปัญญาที่มาจากพระเจ้า! และการที่เราพิจารณาคำแนะนำในพระธรรมนี้โดยคำนึงถึงบริบททำให้พระธรรมนี้มีความหมายมากขึ้นสักเพียงไร! ในบทความนี้ เราได้พิจารณาเนื้อหาอันยอดเยี่ยมที่มีขึ้นโดยการดลใจในพระธรรมเล่มนี้เพียงคร่าว ๆ แต่ก็เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาบริบทของสิ่งที่เราอ่านในคัมภีร์ไบเบิลนั้นเป็นประโยชน์สักเพียงไร. การทำอย่างนั้นช่วยให้แน่ใจว่าเรากำลัง “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง” จริง ๆ.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูหนังสือ “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์” หน้า 296-298 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 27]
เปาโลใคร่จะเตรียมติโมเธียวไว้เพื่อปกป้องประชาคมต่าง ๆ
[ภาพหน้า 30]
เปาโลเตือนติโมเธียวให้วางใจในสติปัญญาแห่งพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจ