“บอกปัดเรื่องเท็จ”
คัมภีร์ไบเบิลเต็มด้วยประสบการณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน. เราไม่เพียงแต่ชอบการอ่านเรื่องเหล่านี้เท่านั้น แต่เราได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้นด้วย. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงประชาคมคริสเตียนในกรุงโรมว่า “สิ่งสารพัดที่เขียนไว้แล้วคราวก่อนนั้นก็ได้เขียนไว้เพื่อสั่งสอนเราทั้งหลาย เพื่อเราทั้งหลายได้มีความหวังโดยความเพียรและความชูใจตามคำที่เขียนไว้แล้วนั้น.”—โรม 15:4.
เปาโลเองมีส่วนร่วมในการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงเปาโลกับบาระนาบาในตอนจบของการเดินทางเป็นมิชชันนารีครั้งแรกว่า “เมื่อมาถึง [ที่อันติโอเกีย มณฑลซีเรีย] แล้วท่านทั้งสองได้เรียกประชุมคริสต์จักร, และได้เล่าให้เขาฟังถึงเหตุการณ์ทั้งปวงซึ่งพระเจ้าได้ทรงโปรดให้ท่านกระทำนั้น.” (กิจการ 14:27) ไม่ต้องสงสัยว่า พวกพี่น้องได้รับการหนุนกำลังใจอย่างมากมายจากประสบการณ์เหล่านี้.
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ประสบการณ์ทุกเรื่องเป็นสิ่งที่เสริมสร้างขึ้น. ภายใต้การดลใจ เปาโลได้เตือนติโมเธียวให้ “บอกปัดเรื่องเท็จซึ่งละเมิดสิ่งบริสุทธิ์และซึ่งหญิงชราเล่ากัน.” (1 ติโมเธียว 4:7, ล.ม.) และท่านเขียนถึงติโตว่า คริสเตียนผู้ภักดีไม่ควร “เชื่อตามนิยายของพวกยูดาย, และคำบังคับบัญชาของมนุษย์ซึ่งให้หันไปจากความจริง.”—ติโต 1:14.
เรื่องเท็จหรือนิยายเหล่านี้คืออะไร? ทั้งสองคำมาจากคำภาษากรีก มึʹธอส (“เทพนิยาย”). สารานุกรมอินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล แจ้งว่า คำนี้พรรณนาถึง “เรื่องราว (ทางศาสนา) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริง.”
โลกในสมัยของเปาโลเต็มไปด้วยเรื่องดังกล่าว. ตัวอย่างหนึ่งคือหนังสืออธิกธรรมโทบิต ซึ่งดูเหมือนจะเขียนสองร้อยกว่าปีก่อนสมัยของเปาโล. เรื่องนี้เล่าถึงโทบิต ชาวยิวผู้เคร่งศาสนาคนหนึ่งซึ่งตาบอดเมื่อมูลนกหล่นใส่ตาของเขา. ต่อมา เขาได้ใช้โทบิยาห์บุตรชายไปเก็บหนี้. ระหว่างทาง โดยการชี้นำของทูตสวรรค์ โทบิยาห์ได้หัวใจ, ตับ, และดีของปลามา. จากนั้น เขาได้พบกับหญิงม่ายซึ่งถึงแม้สมรสมาแล้วเจ็ดครั้งก็ตาม ยังเป็นสาวพรหมจารีอยู่เพราะสามีแต่ละคนถูกวิญญาณชั่วสังหารในคืนวันแต่งงาน. โดยการสนับสนุนของทูตสวรรค์ โทบิยาห์ได้สมรสกับเธอ แล้วขับปิศาจออกโดยการเผาหัวใจและตับของปลา. ภายหลังโทบิยาห์ได้ทำให้ตาของบิดามองเห็นได้ดังเดิมด้วยดีปลา.
ปรากฏชัดว่าเรื่องราวนี้ไม่เป็นความจริง. นอกจากลักษณะแบบเพ้อฝันและการชวนให้ถือโชคลางแล้ว ยังเป็นเรื่องที่มีความผิดพลาด. ตัวอย่างเช่น เรื่องราวบอกว่า โทบิตได้รู้เห็นทั้งการกบฏของตระกูลต่าง ๆ ทางเหนือกับการเนรเทศพวกยิศราเอลไปยังนีนะเว อันเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของยิศราเอลที่ห่างกัน 257 ปี. ถึงกระนั้น เรื่องนั้นบอกว่าโทบิตอายุ 158 ปีในตอนที่เขาตาย.—โทบิต 1:4, 10; 14:11, พระวจนะสำหรับยุคใหม่.
นิทานดังกล่าวขัดกันกับ “แบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” ที่เป็นความจริงซึ่งผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าได้ประกาศ. (2 ติโมเธียว 1:13, ล.ม.) เรื่องเหล่านั้นเป็นผลิตผลจากจินตนาการ, ขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์, เรื่องประเภทที่เล่าโดยหญิงชราซึ่งไม่เลื่อมใสพระเจ้า. นี้เป็นเรื่องที่คริสเตียนพึงบอกปัด.
ทดลองถ้อยคำแห่งความจริง
เรื่องราวคล้าย ๆ กันมีมากมายในทุกวันนี้. เปาโลเขียนว่า “จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ [คน] จะไม่ยอมรับฟังคำสอนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ . . . เขาจะบ่ายหูจากความจริง แต่แล้วเขาจะหันไปยังเรื่องเท็จ.” (2 ติโมเธียว 4:3, 4, ล.ม.) ในบางส่วนของแผ่นดินโลก เรื่องเกี่ยวกับปาฏิหาริย์แพร่หลายและเป็นที่นิยม. เพราะฉะนั้น คริสเตียนจึง “ทดลองถ้อยคำ” ของเรื่องทางศาสนาเพื่อดูว่าเรื่องเหล่านั้นสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิลหรือไม่.—โยบ 12:11, ฉบับแปลใหม่.
ปรากฏชัดว่า หลายเรื่องไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์. ตัวอย่างเช่น ในหลายส่วนของแผ่นดินโลก เป็นธรรมดาที่ได้ยินเรื่องซึ่งสนับสนุนความคิดเห็นที่ว่า จิตวิญญาณมนุษย์เป็นอมตะ. เรื่องเหล่านี้พรรณนาว่า คนเราตายอย่างไร แต่แล้วก็ปรากฏอีกครั้งในร่างของทารกที่เกิดใหม่, เป็นวิญญาณ, เป็นสัตว์, หรือเป็นบุคคลในสถานที่ต่างกัน.
อย่างไรก็ดี พระวจนะของพระเจ้าแสดงว่า จิตวิญญาณมนุษย์มิใช่เป็นอมตะ จิตวิญญาณตายได้. (ยะเอศเคล 18:4) ยิ่งกว่านั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า คนตายปราศจากชีวิตอยู่ในหลุมฝังศพ ไม่สามารถคิด, พูด, หรือทำสิ่งใด ๆ ได้. (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; โรม 6:23) ด้วยเหตุนี้ คนเหล่านั้นซึ่งถูกชักจูงด้วยเรื่องเท็จที่ส่งเสริมความคิดเห็นที่ว่า จิตวิญญาณเป็นอมตะนั้น “หันไป” จาก “คำสอนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” ของคัมภีร์ไบเบิล ตามที่เปาโลกล่าวไว้นั้น.
เรื่องเกี่ยวกับปาฏิหาริย์
เรื่องอื่น ๆ เพ่งเล็งอยู่ที่การกระทำของพวกแม่มดและหมอผี. ตัวอย่างเช่น ในส่วนต่าง ๆ ของแอฟริกากล่าวกันว่า คนที่มีพลังชั่วร้ายเหล่านี้มีอำนาจอันน่าสะพึงกลัว สามารถทำให้ตัวเองหรือคนอื่นกลายเป็นงู, ลิง, และนก สามารถบินไปในอากาศเพื่อทำให้ภารกิจของเขาสำเร็จได้ ปรากฏตัวและหายตัวได้ ผ่านทะลุฝาผนังได้ และสามารถมองเห็นวัตถุที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินได้.
การที่เรื่องดังกล่าวมีมากมายจริง ๆ พร้อมกับการเชื่อในเรื่องเหล่านั้นอย่างกว้างขวาง อาจชักจูงบางคนในประชาคมคริสเตียนให้เชื่อว่าเรื่องนั้นเป็นความจริง. เขาอาจอ้างเหตุผลว่า ขณะที่มนุษย์ธรรมดาทำสิ่งเช่นนั้นไม่ได้ คนเหล่านั้นที่ได้รับอำนาจเหนือมนุษย์จากกายวิญญาณ คือพวกผีปิศาจทำได้. สิ่งที่ดูเหมือนเป็นพื้นฐานสำหรับการลงความเห็นเช่นนี้คือ 2 เธซะโลนิเก 2:9, 10 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า “การอยู่ของคนละเลยกฎหมายนั้นเป็นไปตามการดำเนินงานของซาตานพร้อมกับการอิทธิฤทธิ์ทุกอย่างและสัญลักษณ์ปลอมและเหตุการณ์ประหลาด และพร้อมด้วยอุบายหลอกลวงอันไม่เป็นธรรมทุกอย่างสำหรับคนเหล่านั้นที่จะพินาศ เป็นการตอบสนองเนื่องจากเขาไม่ยอมรับความรักต่อความจริงเพื่อเขาจะรอดได้.”
ขณะที่เป็นความจริงที่ข้อคัมภีร์นี้แสดงว่าซาตานสามารถทำการอิทธิฤทธิ์ได้ก็ตาม ข้อนี้กล่าวว่าซาตานยังเป็นผู้ริเริ่ม “สัญลักษณ์ปลอมและเหตุการณ์ประหลาด” อีกด้วย เช่นเดียวกับ “อุบายหลอกลวงอันไม่เป็นธรรม.” คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นอย่างไม่ละลดว่าซาตานเป็นผู้หลอกลวงตัวสำคัญซึ่ง “ลวงมนุษย์โลกทั้งปวง.” (วิวรณ์ 12:9) มันเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำให้คนเชื่อเรื่องที่ไม่จริง.
เพราะเหตุนี้ แม้แต่คำให้การและการเปิดเผยของคนเหล่านั้นซึ่งได้เข้าไปพัวพันในลัทธิภูตผีปิศาจและเวทมนตร์คาถานั้นบ่อยครั้งก็ไม่น่าเชื่อถือเลยทีเดียว. ผู้คนดังกล่าวอาจเชื่ออย่างจริงใจว่า เขาได้เห็น, ได้ยิน, หรือประสบเหตุการณ์บางอย่าง ทว่า ที่จริงแล้วเขาไม่ได้ประสบ. ตัวอย่างเช่น มีคนเหล่านั้นที่คิดว่า เขาได้ติดต่อกับวิญญาณของคนตาย. แต่เขาเข้าใจผิด ถูกหลอก เป็นเหยื่อของกลลวงของซาตาน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าคนตาย “ลงไปสู่ที่สงัด.”—บทเพลงสรรเสริญ 115:17, ฉบับแปลใหม่.
เมื่อคำนึงถึงประวัติในการหลอกลวงของพญามาร ควรถือว่า ความจริงของเรื่องปาฏิหาริย์นั้นเป็นที่น่าสงสัยในทุกกรณี. ส่วนใหญ่เป็นการปั้นเรื่องขึ้นจากจินตนาการแบบถือโชคลาง ซึ่งรับการขยายความเนื่องจากการเล่าซ้ำอยู่เรื่อย ๆ.
การพูดซ้ำเรื่องดังกล่าวส่งเสริมผลประโยชน์ของซาตานพญามาร พ่อของการมุสา. (โยฮัน 8:44) เรื่องเหล่านั้นกระตุ้นความสนใจในกิจปฏิบัติที่ลึกลับซึ่งเป็นที่น่าสะอิดสะเอียนสำหรับพระยะโฮวา. (พระบัญญัติ 18:10-12) เรื่องนั้นทำให้คนติดกับใยแห่งความกลัวและการถือโชคลาง. ไม่น่าประหลาดใจที่เปาโลได้แนะนำคริสเตียน “ไม่ให้ . . . ใส่ใจในเรื่องนิยายต่าง ๆ.”—1 ติโมเธียว 1:3, 4.
ปฏิเสธพยานหลักฐานของพวกผีปิศาจ
แต่จะว่าอย่างไรหากเรื่องนั้นดูเหมือนเป็นความจริง? บางครั้งมีการเล่าประสบการณ์เรื่องพวกวิญญาณหรือผู้ที่เชื่อเรื่องวิญญาณยอมรับความสูงสุดของพระยะโฮวาและการที่พวกพยานของพระองค์พูดความจริง. คริสเตียนควรพูดซ้ำเรื่องดังกล่าวไหม?
ไม่ เขาไม่ควรพูดซ้ำ. คัมภีร์ไบเบิลแจ้งว่า เมื่อพวกวิญญาณโสโครกร้องตะโกนว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้านั้น พระองค์ “ทรงกำชับห้ามมันมิให้แพร่งพรายว่าพระองค์คือผู้ใด.” (มาระโก 3:12, ฉบับแปลใหม่) ในทำนองเดียวกัน เมื่อผีปิศาจที่ทำนายได้นั้นกระตุ้นหญิงสาวคนหนึ่งให้ชี้ตัวเปาโลกับบาระนาบาว่าเป็น “ทาสของพระเจ้าสูงสุด” และเป็นผู้ประกาศ “ทางรอด” นั้น เปาโลได้ขับผีนั้นออกจากเธอ. (กิจการ 16:16-18, ฉบับแปลใหม่) ทั้งพระเยซู, เปาโล และผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ต่างก็ไม่ยอมให้ภูตผีปิศาจยืนยันเรื่องพระประสงค์ของพระเจ้าหรือผู้รับใช้ที่ทรงเลือกของพระองค์.
เป็นที่น่าสังเกตด้วยเช่นกันว่า พระเยซูคริสต์เคยอยู่ในแดนวิญญาณก่อนพระองค์เสด็จมายังแผ่นดินโลก. พระองค์ทรงรู้จักซาตานเป็นส่วนตัว. ถึงกระนั้น พระเยซูก็มิได้ให้ความสำราญแก่พวกสาวกของพระองค์ด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมของซาตาน ทั้งพระองค์มิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่พญามารทำได้และทำไม่ได้. ซาตานกับภูตผีปิศาจมิใช่มิตรสหายของพระเยซู. พวกมันเป็นผู้ถูกขับไล่, ตัวกบฏ, ผู้เกลียดชังสิ่งที่บริสุทธิ์, และเป็นศัตรูของพระเจ้า.
คัมภีร์ไบเบิลบอกเราถึงสิ่งที่จำเป็นต้องทราบ. พระคัมภีร์อธิบายว่าภูตผีปิศาจเป็นใคร, พวกมันนำประชาชนไปผิดทางอย่างไร, และเราจะหลีกเลี่ยงพวกมันได้อย่างไร. พระคัมภีร์แสดงว่าพระยะโฮวาและพระเยซูทรงมีอำนาจมากกว่าภูตผีปิศาจ. และพระคัมภีร์แนะนำเราว่า หากเรารับใช้พระยะโฮวาอย่างภักดีแล้ว พวกวิญญาณชั่วไม่สามารถทำความเสียหายถาวรใด ๆ แก่เราได้.—ยาโกโบ 4:7.
ดังนั้นแล้ว ด้วยเหตุผลที่ดี คริสเตียนบอกปัดเรื่องเท็จ เรื่องที่เพียงแต่ส่งเสริมผลประโยชน์ของบรรดาผู้ต่อต้านพระเจ้า. พระเยซู “เป็นพยานถึงความจริง” ฉันใด พวกสาวกของพระองค์ในทุกวันนี้ก็เป็นฉันนั้น. (โยฮัน 18:37) พวกเขาเอาใจใส่ฟังคำตักเตือนในคัมภีร์ไบเบิลอย่างสุขุมที่ว่า “สิ่งใดที่จริง . . . ก็จงใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้.”—ฟิลิปปอย 4:8.
[รูปภาพหน้า 31]
คริสเตียนแท้ต้องหลีกเลี่ยงการสำแดงเรื่องลึกลับทุกอย่างโดยเคร่งครัด