บทความศึกษา 14
คุณกำลังทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนไหม?
“ประกาศข่าวดีต่อไป และทำงานรับใช้ของคุณให้สำเร็จครบถ้วน”—2 ทธ. 4:5, เชิงอรรถ
เพลง 57 ประกาศกับคนทุกชนิด
ใจความสำคัญa
1. ผู้รับใช้พระเจ้าทุกคนอยากทำอะไร? และทำไม? (ดูภาพหน้าปก)
พระเยซูคริสต์สั่งคนที่ติดตามท่านให้ “ไปสอนคนทุกชาติให้เป็นสาวก” (มธ. 28:19) ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าทุกคนอยากเรียนรู้ว่าจะทำงานมอบหมายนี้ให้ “สำเร็จครบถ้วน” ได้อย่างไร (2 ทธ. 4:5) ที่จริง งานนี้เป็นงานที่สำคัญกว่า คุ้มค่ากว่า และเร่งด่วนกว่างานทุกอย่าง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะทำงานรับใช้ได้มากอย่างที่อยากทำ
2. เราอาจเจอปัญหาอะไรบ้างตอนที่พยายามทำงานรับใช้ให้สำเร็จ?
2 มีกิจกรรมหลายอย่างที่จำเป็นต้องทำในชีวิตซึ่งใช้เวลาและพลังงานของเราไปมาก เราอาจต้องทำงานอาชีพหลายชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แถมยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวอีก หรือเราอาจเจ็บป่วย ซึมเศร้า หรือรู้สึกปวดนั่นปวดนี่เพราะอายุมาก ถ้าอย่างนั้น เราจะทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนและยังต้องรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างไร?
3. อะไรคือจุดสำคัญที่พระเยซูพูดในมัทธิว 13:23?
3 ถ้าสภาพการณ์ในชีวิตทำให้เราไม่สามารถรับใช้พระยะโฮวาได้มาก อย่าเพิ่งท้อ พระเยซูรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะใช้เวลาและกำลังได้เท่ากันในงานประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า (อ่านมัทธิว 13:23) ถ้าเรารับใช้พระยะโฮวาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ พระองค์ก็เห็นค่าทุกสิ่งที่เราทำ (ฮบ. 6:10-12) แต่เราอาจรู้สึกว่าเราสามารถทำมากขึ้นได้ ในบทความนี้จะดูกันว่าเราจะทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ได้อย่างไร เช่น ให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต สนใจที่งานรับใช้โดยไม่วอกแวก และพัฒนาความสามารถในการประกาศกับการสอน แต่ก่อนอื่น เราจะดูว่าการทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนหมายความว่าอย่างไร
4. การทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนหมายถึงอะไร?
4 พูดง่าย ๆ ก็คือการทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนหมายถึงการที่เราต้องประกาศและสอนคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่นี่ไม่ได้หมายถึงชั่วโมงในการรับใช้เท่านั้น สำหรับพระยะโฮวาแล้ว เหตุผลที่เราประกาศเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรารักพระยะโฮวาและรักคนอื่น เราจะทำงานรับใช้bสุดชีวิต (มก. 12:30, 31; คส. 3:23) การรับใช้พระยะโฮวาสุดชีวิตหมายถึงการทุ่มเทสุดตัว ใช้กำลังเรี่ยวแรงของเราสุดความสามารถเพื่อรับใช้พระองค์ เมื่อเราเข้าใจว่าเรามีสิทธิพิเศษขนาดไหนที่ได้ทำงานประกาศ เราจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อบอกข่าวดีกับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
5-6. คนที่ไม่ค่อยมีเวลาจะสามารถให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตได้ไหม? ขอยกตัวอย่าง
5 ขอให้นึกภาพวัยรุ่นคนหนึ่งที่ชอบเล่นกีต้าร์มาก เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่น แล้วร้านอาหารแห่งหนึ่งก็จ้างเขาไปเล่นกีต้าร์ในวันเสาร์อาทิตย์ แต่เงินที่ได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เขาเลยต้องทำงานเป็นแคชเชียร์ในร้านขายของตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ แม้ส่วนใหญ่เขาทำงานเป็นแคชเชียร์ แต่ใจเขาก็อยู่กับการเล่นกีตาร์ เขาอยากฝึกจนเก่งและใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีต้าร์มืออาชีพแล้วได้ทำงานนี้ทุกวัน ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังมีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นกีต้าร์เมื่อมีโอกาสแม้จะแค่ช่วงสั้น ๆ ก็ตาม
6 คล้ายกัน คุณอาจไม่ค่อยมีเวลาที่จะประกาศได้มากอย่างที่อยากทำ แต่คุณก็รักงานนี้มาก คุณเลยพยายามพัฒนาความสามารถในการประกาศข่าวดีในแบบที่เข้าถึงหัวใจคน แต่เพราะคุณมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง คุณเลยอาจสงสัยว่าคุณจะให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตได้อย่างไร
คุณจะให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตได้อย่างไร?
7-8. พระเยซูมองงานรับใช้อย่างไร? และเราจะเลียนแบบท่านอย่างไร?
7 ให้เรามาดูว่าพระเยซูมองงานรับใช้อย่างไร ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีมากให้กับเรา สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของท่านคือการพูดเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า (ยน. 4:34, 35) ท่านเดินหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อประกาศกับผู้คนให้มากที่สุด ท่านมองหาทุกโอกาสที่จะพูดกับผู้คนไม่ว่าจะประกาศตามที่สาธารณะหรือตามบ้าน ชีวิตพระเยซูมีแต่งานรับใช้จริง ๆ
8 เราจะเลียนแบบพระคริสต์ได้โดยหาโอกาสพูดเรื่องข่าวดีทุกที่ทุกเวลา และเต็มใจสละความสะดวกสบายส่วนตัวเพื่อทำงานประกาศ (มก. 6:31-34; 1 ปต. 2:21) บางคนในประชาคมสามารถเป็นไพโอเนียร์พิเศษ ไพโอเนียร์ประจำ และไพโอเนียร์สมทบ ส่วนคนอื่น ๆ เรียนพูดภาษาต่างประเทศหรือย้ายไปในเขตที่ต้องการผู้ประกาศมากกว่า แต่งานประกาศส่วนใหญ่ทำโดยพี่น้องที่ไม่สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ ถึงจะเป็นอย่างนั้นพวกเขาก็ทำสุดความสามารถ ไม่ว่าเราจะทำได้มากหรือน้อยพระยะโฮวาไม่เคยขอให้เราทำมากกว่าที่เราทำได้ พระองค์อยากให้เราทุกคนมีความสุขกับงานรับใช้ตอนที่เราประกาศ ‘ข่าวดีที่ยอดเยี่ยมของพระเจ้าผู้มีความสุข’—1 ทธ. 1:11; ฉธบ. 30:11
9. (ก) เปาโลให้งานประกาศเป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิตอย่างไรแม้ว่าเขาต้องทำงานอาชีพ? (ข) จากกิจการ 28:16, 30, 31 เปาโลรู้สึกอย่างไรกับงานรับใช้?
9 อัครสาวกเปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้งานประกาศเป็นงานสำคัญที่สุดในชีวิต ตอนที่เปาโลไปประกาศที่ต่างประเทศเป็นรอบที่ 2 เขาไปที่เมืองโครินธ์ ตอนนั้นเปาโลไม่ค่อยมีเงินและต้องทำงานเป็นช่างทำเต็นท์เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่เขาไม่ได้ถือว่าอาชีพทำเต็นท์เป็นงานหลัก เขาทำงานนี้เพื่อจะมีเงินไว้ใช้ในการประกาศข่าวดีกับชาวโครินธ์ “โดยไม่คิดค่าตอบแทน” (2 คร. 11:7) แม้เปาโลต้องทำงานอาชีพบ้าง แต่เขายังคงให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอและประกาศทุกวันสะบาโต หลังจากสภาพการเงินของเปาโลดีขึ้น เขาก็ทำงานประกาศได้มากขึ้น เขา “ทุ่มเทเวลาในการประกาศคำสอนของพระเจ้าและให้ชาวยิวเห็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์” (กจ. 18:3-5; 2 คร. 11:9) ต่อมา ตอนที่เขาถูกกักตัวไว้ในบ้านที่โรมตลอด 2 ปี เขาก็ประกาศกับคนที่มาหา และเขาก็เขียนจดหมายด้วย (อ่านกิจการ 28:16, 30, 31) เปาโลตั้งใจไม่ให้อะไรมาขัดขวางงานรับใช้ เขาเขียนว่า “ในเมื่อพระเจ้า . . . มอบหมายงานรับใช้นี้ให้เรา เราจึงไม่ท้อถอย” (2 คร. 4:1) เราก็เป็นเหมือนเปาโลได้ แม้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทำงานอาชีพ แต่เราก็ให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเสมอได้เหมือนกัน
10-11. ถ้าเรามีปัญหาสุขภาพ เราจะทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนได้อย่างไร?
10 ถ้าเราประกาศตามบ้านไม่ค่อยไหวเพราะอายุมากหรือมีปัญหาสุขภาพ เราก็อาจประกาศแบบอื่นได้ พี่น้องในศตวรรษแรกพูดคุยกับคนทุกที่ พวกเขาใช้ทุกโอกาสประกาศกับ “คนที่เขาเจอ” ไม่ว่าจะไปตามบ้าน ที่สาธารณะ หรือในการประกาศแบบไม่เป็นทางการ (กจ. 17:17; 20:20) แม้เราเดินไม่ค่อยไหว แต่เราก็อาจนั่งประกาศในที่ที่มีคนเดินผ่านไปมา หรืออาจประกาศแบบไม่เป็นทางการ เขียนจดหมาย หรือประกาศทางโทรศัพท์ก็ได้ ผู้ประกาศหลายคนที่ประกาศตามบ้านไม่ค่อยไหวมีความสุขมากเมื่อประกาศโดยวิธีอื่น ๆ เหล่านี้
11 แม้คุณจะมีปัญหาสุขภาพ แต่คุณก็สามารถทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนได้ ขอให้คิดถึงตัวอย่างของอัครสาวกเปาโลอีกครั้ง เขาบอกว่า “ผมมีกำลังทนได้ทุกสิ่งเพราะพระองค์ให้กำลังกับผม” (ฟป. 4:13) เปาโลต้องการกำลังจากพระเจ้าในช่วงที่ป่วยตอนไปประกาศที่ต่างประเทศครั้งหนึ่ง เขาบอกกับพี่น้องในกาลาเทียว่า “ครั้งแรกที่ผมได้ประกาศข่าวดีกับพวกคุณก็เพราะผมป่วย” (กท. 4:13) เหมือนกับเปาโล การที่คุณมีปัญหาสุขภาพอาจเปิดโอกาสให้คุณประกาศข่าวดีกับคนอื่นได้ เช่น ประกาศกับหมอ พยาบาล หรือกับคนอื่นที่มาดูแลคุณ คนเหล่านี้มักจะไม่อยู่บ้านเพราะต้องไปทำงานตอนที่พี่น้องไปประกาศที่บ้านพวกเขา
คุณจะสนใจที่งานรับใช้โดยไม่วอกแวกได้อย่างไร?
12. การ “มองที่สิ่งเดียว” หมายถึงอะไร?
12 พระเยซูบอกว่า “ตาเป็นเหมือนแสงสว่างสำหรับร่างกาย ถ้าตาของคุณมองที่สิ่งเดียว [หรือ “มองโดยไม่วอกแวก,” เชิงอรรถ] ทั้งตัวคุณก็จะสว่าง” (มธ. 6:22) ท่านหมายความว่าอย่างไร? ท่านหมายถึงเราต้องสนใจที่เป้าหมายเดียวโดยไม่วอกแวกหรือเขวไปจากเป้าหมายนั้น พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้โดยสนใจแต่งานรับใช้ และสอนสาวกให้สนใจที่งานรับใช้พระยะโฮวาและรัฐบาลของพระองค์ เราเลียนแบบพระเยซูโดยให้งานประกาศเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและ “ทำให้การปกครองของพระเจ้าและความถูกต้องชอบธรรมของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต”—มธ. 6:33
13. อะไรจะช่วยให้เราสนใจและทุ่มเทกับงานรับใช้?
13 วิธีหนึ่งที่จะแสดงว่าเราสนใจและทุ่มเทกับงานรับใช้คือการใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อจะใช้เวลามากขึ้นในการช่วยคนอื่นให้รู้จักและรักพระยะโฮวาc ตัวอย่างเช่น เราปรับตารางงานได้ไหมเพื่อจะใช้เวลาในงานรับใช้มากขึ้นช่วงกลางสัปดาห์? เราจะลดกิจกรรมยามว่างซึ่งกินเวลาเราได้ไหม?
14. สามีภรรยาคู่หนึ่งปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อจะทุ่มเทให้กับงานรับใช้มากขึ้น?
14 ผู้ดูแลคนหนึ่งที่ชื่อเอเลียสกับภรรยาได้ทำแบบนั้น เขาเล่าว่า “ถึงเราจะยังเป็นไพโอเนียร์ไม่ได้ตอนนั้น แต่เราก็ทำอะไรบางอย่างเพื่อจะใช้เวลามากขึ้นในงานรับใช้ เช่น เราประหยัดมากขึ้น ลดกิจกรรมยามว่างที่เรารู้สึกว่าไม่จำเป็น เรายังขอนายจ้างเปลี่ยนตารางการทำงานให้เราเพื่อจะรับใช้ได้มากขึ้น ในที่สุดเราเลยประกาศตอนเย็นได้ มีนักศึกษาเพิ่มขึ้น และถึงกับออกประกาศกลางสัปดาห์ได้ 2 ครั้งต่อเดือน เรามีความสุขมากจริง ๆ ครับ”
คุณจะพัฒนาความสามารถในการประกาศและการสอนได้อย่างไร?
15-16. อย่างที่บอกไว้ใน 1 ทิโมธี 4:13, 15 เราจะพัฒนาความสามารถในการเป็นผู้ประกาศได้อย่างไร? (ดูกรอบ “เป้าหมายที่ช่วยให้ฉันทำงานรับใช้สำเร็จครบถ้วน” ด้วย)
15 อีกวิธีหนึ่งที่จะทำงานรับใช้ของเราให้สำเร็จครบถ้วนคือการพัฒนาความสามารถในการประกาศ เหมือนกับคนที่ทำงานอาชีพบางอย่างต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเป็นประจำเพื่อจะมีความรู้ความชำนาญมากขึ้น ผู้ประกาศเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าก็ต้องทำแบบนั้นด้วย เราต้องเรียนรู้ต่อไปเพื่อจะทำงานรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น—สภษ. 1:5; อ่าน 1 ทิโมธี 4:13, 15
16 แล้วเราจะทำแบบนั้นได้อย่างไร? โดยการตั้งใจเรียนรู้จากส่วนต่าง ๆ ในการประชุมชีวิตและงานรับใช้ การประชุมนี้ช่วยฝึกเราให้ปรับปรุงงานรับใช้ดีขึ้น เช่น เมื่อประธานให้คำแนะนำคนที่เป็นนักเรียน เราก็สามารถเรียนรู้จากคำแนะนำของเขาซึ่งจะช่วยเราให้ปรับปรุงงานรับใช้ และเอาคำแนะนำที่ได้ฟังไปใช้ในวันหน้า นอกจากนั้น เราอาจขอคำแนะนำจากผู้ดูแลกลุ่มการประกาศหรืออาจขอไปรับใช้กับเขาก็ได้ หรือเราอาจทำงานรับใช้กับผู้ประกาศที่มีประสบการณ์ ไพโอเนียร์ หรือผู้ดูแลหมวด ยิ่งเราใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในส่วน “เครื่องมือสำหรับการสอน” ได้เก่งขึ้น เราก็ยิ่งมีความสุขกับงานประกาศและการสอนมากขึ้น
17. คุณจะได้ประโยชน์อะไรถ้าทำงานรับใช้สำเร็จครบถ้วน?
17 เรารู้สึกเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่พระยะโฮวาให้โอกาสเราเป็น “เพื่อนร่วมงาน” ของพระองค์ (1 คร. 3:9) เมื่อคุณ ‘มองออกว่าอะไรสำคัญกว่า’ และทุ่มเทกับงานรับใช้ คุณจะ “นมัสการพระยะโฮวาอย่างมีความสุข” (ฟป. 1:10; สด. 100:2) และเพราะคุณเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า คุณเลยมั่นใจได้ว่าพระองค์จะให้กำลังที่คุณจำเป็นต้องมีเพื่อจะทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วนแม้เจอปัญหาหรือมีข้อจำกัด (2 คร. 4:1, 7; 6:4) ไม่ว่าสภาพการณ์ของคุณจะทำให้ประกาศได้มากหรือน้อย คุณก็สามารถมีความสุขและ “ภูมิใจกับตัวเอง” ที่รับใช้สุดชีวิต (กท. 6:4) เมื่อคุณทำงานรับใช้ให้สำเร็จครบถ้วน ก็แสดงว่าคุณรักพระยะโฮวาและรักคนอื่น “ถ้าทำอย่างนั้น คุณจะช่วยทั้งตัวเองและคนที่ฟังคุณให้รอด”—1 ทธ. 4:16
เพลง 58 หาคนที่ชอบความสงบสุข
a เราได้รับงานมอบหมายให้ประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าและสอนคนให้เป็นสาวก บทความนี้จะดูว่าเราจะทำงานนี้ให้สำเร็จครบถ้วนได้อย่างไรแม้เจอปัญหาหลายอย่าง นอกจากนั้นเราจะเรียนว่า เราจะเป็นผู้ประกาศที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นในงานประกาศได้อย่างไร
b อธิบายคำศัพท์ การทำงานรับใช้หมายถึงการประกาศ การสอน การสร้างและดูแลรักษาหอประชุมกับอาคารต่าง ๆ ขององค์การ รวมทั้งงานบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติ—2 คร. 5:18, 19; 8:4
c ดู 7 วิธีในกรอบ “วิธีทำให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น” ในหอสังเกตการณ์ เดือนกรกฎาคม 2016 น. 10
d คำอธิบายภาพ พี่น้องหญิงทำส่วนการกลับเยี่ยมในการประชุมกลางสัปดาห์ หลังจากประธานการประชุมให้คำแนะนำ เธอก็จดลงในจุลสารการสอน และเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในงานรับใช้ช่วงสุดสัปดาห์