พระธรรมเล่มที่ 55—2 ติโมเธียว
ผู้เขียน: เปาโล
สถานที่เขียน: โรม
เขียนเสร็จ: ประมาณปี ส.ศ. 65
1. การข่มเหงเช่นไรปะทุขึ้นในกรุงโรมประมาณปี ส.ศ. 64 และดูเหมือนเป็นเพราะสาเหตุใด?
เปาโลถูกคุมขังในกรุงโรมอีกครั้ง. แต่สภาพการณ์ของการถูกคุมขังครั้งที่สองนี้ร้ายแรงกว่าครั้งแรกมาก. การคุมขังครั้งนี้ตกในราวปี ส.ศ. 65. เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ทั่วกรุงโรมในเดือนกรกฎาคมปี ส.ศ. 64 ซึ่งก่อความเสียหายอย่างกว้างขวางแก่ 10 ใน 14 เขตของกรุงนี้. ตามคำกล่าวของทาซิทุสนักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน จักรพรรดิเนโรไม่สามารถ “ขจัดความคิดเห็นในทางไม่ดีที่ว่าอัคคีภัยครั้งใหญ่นั้นเป็นผลเนื่องจากคำบงการ. ดังนั้น เพื่อขจัดรายงานเช่นนั้น เนโรจึงโยนความผิดและทำให้เกิดการทรมานแสนสาหัสแก่ชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกเกลียดชังเพราะสิ่งน่ารังเกียจที่พวกเขาทำซึ่งประชาชนเรียกกันว่าคริสเตียน. . . . คนมากมายถูกกล่าวหา ไม่ใช่เพราะก่ออาชญากรรมเผาเมือง แต่เพราะเกลียดชังเพื่อนมนุษย์. ความตายของพวกเขาถูกเสริมด้วยการเยาะเย้ยทุกรูปแบบ. พวกเขาถูกเอาหนังสัตว์ห่อหุ้มตัว แล้วให้สุนัขทึ้งจนตาย, หรือไม่ก็ถูกตรึงกางเขน, หรือถูกเอาไฟเผาเป็นคบเพลิงยามค่ำคืนเมื่อแสงสว่างตอนกลางวันหมดไป. เนโรให้ใช้สวนของเขาสำหรับการนั้น . . . มีคนเกิดความรู้สึกสงสาร เพราะนั่นไม่ใช่เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างที่ดูเหมือนน่าจะเป็น แต่เพื่อสนองความโหดร้ายของคนคนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาถูกสังหาร.”a
2. ภายใต้สภาพการณ์เช่นไรที่เปาโลเขียนพระธรรมติโมเธียวฉบับสอง และเหตุใดท่านจึงพูดถึงโอเนซิโฟรัสด้วยความหยั่งรู้ค่า?
2 ดูเหมือนในช่วงเวลาที่มีคลื่นการข่มเหงอย่างรุนแรงนี้เองที่เปาโลถูกคุมขังที่กรุงโรมอีกครั้ง. คราวนี้ท่านถูกล่ามโซ่. ท่านไม่คาดหมายจะได้รับการปลดปล่อย แต่คอยการตัดสินขั้นสุดท้ายและการประหารเท่านั้น. มีคนมาเยี่ยมไม่กี่คน. ที่จริง ใครก็ตามที่แสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นคริสเตียนก็เสี่ยงต่อการถูกจับและการตายเพราะถูกทรมาน. ดังนั้น เปาโลจึงเขียนด้วยความหยั่งรู้ค่าเกี่ยวกับผู้มาเยี่ยมที่มาจากเอเฟโซได้ว่า “ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานพระเมตตาแก่ครัวเรือนของโอเนซิโฟรัส เพราะเขานำความสดชื่นมาให้ข้าพเจ้าบ่อย ๆ และเขาไม่ได้ละอายเรื่องโซ่ที่ล่ามข้าพเจ้า. ตรงกันข้าม เมื่อเขามาในโรม เขาอุตส่าห์ตามหาจนพบข้าพเจ้า.” (2 ติโม. 1:16, 17, ล.ม.) โดยเขียนจดหมายภายใต้เงาแห่งความตาย เปาโลระบุตัวเองว่าเป็น “อัครสาวกของพระคริสต์เยซูโดยทางพระทัยประสงค์ของพระเจ้าตามคำสัญญาเรื่องชีวิตซึ่งร่วมสามัคคีกับพระคริสต์เยซู.” (1:1, ล.ม.) เปาโลทราบว่าชีวิตร่วมสามัคคีกับพระคริสต์รอท่านอยู่. ท่านได้ประกาศในเมืองสำคัญหลายเมืองของโลกที่รู้จักกันในสมัยนั้น จากยะรูซาเลมถึงโรม และอาจไปไกลถึงสเปนด้วยซ้ำ. (โรม 15:24, 28) ท่านได้วิ่งในเส้นทางด้วยความซื่อสัตย์จนถึงเส้นชัย.—2 ติโม. 4:6-8.
3. พระธรรมติโมเธียวฉบับสองเขียนเมื่อไร และพระธรรมนี้เป็นประโยชน์อย่างไรต่อคริสเตียนทุกยุคทุกสมัย?
3 จดหมายนี้อาจเขียนประมาณปี ส.ศ. 65 ไม่นานก่อนเปาโลพลีชีพเพื่อความเชื่อ. ติโมเธียวอาจยังอยู่ที่เอเฟโซ เพราะเปาโลสนับสนุนท่านให้อยู่ที่นั่น. (1 ติโม. 1:3) ตอนนี้เปาโลเร่งเร้าติโมเธียวสองครั้งให้มาหาท่านโดยเร็ว อีกทั้งขอให้พามาระโกมาด้วย รวมทั้งให้เอาเสื้อคลุม และม้วนหนังสือที่เปาโลฝากไว้ที่เมืองโตรอามาด้วย. (2 ติโม. 4:9, 11, 13, 21) เมื่อเขียนในเวลาคับขันมากเช่นนั้น จดหมายฉบับนี้จึงบรรจุคำชูใจที่เปี่ยมพลังสำหรับติโมเธียว และยังให้การหนุนกำลังใจที่เป็นประโยชน์แก่คริสเตียนแท้ในทุกยุคทุกสมัยนับแต่นั้นมา.
4. อะไรพิสูจน์ว่าพระธรรมติโมเธียวฉบับสองเชื่อถือได้และเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์?
4 พระธรรมติโมเธียวฉบับสองเชื่อถือได้และเป็นส่วนของสารบบพระคัมภีร์เนื่องด้วยเหตุผลที่พิจารณาแล้วในส่วนของพระธรรมติโมเธียวฉบับต้น. ผู้เขียนและผู้ให้คำอธิบายยุคแรก ๆ ซึ่งรวมทั้งโพลีคาร์ปแห่งศตวรรษที่สองสากลศักราชต่างยอมรับและใช้พระธรรมนี้.
เนื้อเรื่องในติโมเธียวฉบับสอง
5. ความเชื่อชนิดใดที่มีอยู่ในติโมเธียว และถึงกระนั้น ท่านควรทำอะไรต่อ ๆ ไป?
5 “ยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” (1:1–3:17). เปาโลบอกติโมเธียวว่าท่านไม่เคยลืมติโมเธียวเมื่อท่านอธิษฐานและท่านอยากพบติโมเธียว. ท่านระลึกถึง ‘ความเชื่อที่ปราศจากการหน้าซื่อใจคด’ ซึ่งมีอยู่ในติโมเธียวและซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วในโลอียายของท่านและยูนิเกมารดาของท่าน. ติโมเธียวควรกระตุ้นของประทานในตัวท่านให้ลุกโพลงขึ้นดั่งไฟ “เพราะว่าพระเจ้าไม่ได้ประทานน้ำใจขลาดกลัว แต่น้ำใจที่มีพลัง มีความรักและมีสุขภาพจิตดี.” ดังนั้น ให้ติโมเธียวอย่าละอายในการให้คำพยานและการทนรับการชั่วเพื่อข่าวดีเพราะพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าถูกทำให้ปรากฏชัดโดยการปรากฏของพระคริสต์เยซูผู้ช่วยให้รอด. ติโมเธียวควร “ยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” ซึ่งท่านได้ยินจากเปาโล โดยรักษาถ้อยคำนั้นไว้เหมือนเป็นสิ่งดีที่ฝากไว้.—1:5, 7, 13, ล.ม.
6. เปาโลให้คำแนะนำอะไรในเรื่องการสั่งสอน และติโมเธียวจะเป็นคนงานซึ่งเป็นที่พอพระทัยและภาชนะที่มีเกียรติได้อย่างไร?
6 ติโมเธียวต้องมอบสิ่งต่าง ๆ ที่ท่านเรียนรู้จากเปาโลแก่ “คนซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งเมื่อถึงคราวแล้ว จะเป็นคนมีคุณวุฒิพอที่จะสอนคนอื่น.” ติโมเธียวควรพิสูจน์ตัวว่าเป็นทหารที่ดีของพระคริสต์เยซู. ทหารหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องในธุรกิจ. ยิ่งกว่านั้น คนที่เอามาลัยสวมศีรษะในการกีฬาก็แข่งขันตามกติกา. เพื่อจะได้มาซึ่งความสังเกตเข้าใจ ติโมเธียวควรใคร่ครวญถ้อยคำของเปาโลเสมอ. เรื่องสำคัญที่พึงจดจำและเตือนคนอื่นให้ระลึกถึงคือ “พระเยซูคริสต์ทรงถูกปลุกขึ้นมาจากบรรดาคนตายและทรงเป็นพงศ์พันธุ์ของดาวิด” และการได้รับความรอดและสง่าราศีนิรันดร์ร่วมสามัคคีกับพระคริสต์ การปกครองเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระองค์ ล้วนแต่เป็นบำเหน็จสำหรับผู้ถูกเลือกสรรที่ได้เพียรอดทน. ติโมเธียวต้องทำอย่างสุดกำลังเพื่อแสดงตนว่าเป็นคนงานที่พระเจ้าพอพระทัย หลีกเว้นจากถ้อยคำเหลวไหลที่ละเมิดสิ่งบริสุทธิ์ ซึ่งลุกลามเหมือนเนื้อตายเน่า. เหมือนในบ้านหลังใหญ่ที่ภาชนะมีค่าถูกเก็บไว้ต่างหากจากภาชนะที่ไม่มีเกียรติ เปาโลจึงตักเตือนติโมเธียวให้ “หนีเสียจากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว แต่จงมุ่งหน้าติดตามความชอบธรรม, ความเชื่อ, ความรัก, สันติสุข, ร่วมไปกับคนเหล่านั้นที่ร้องถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยหัวใจบริสุทธิ์.” ทาสขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องเป็นคนสุภาพต่อคนทั้งปวง, มีคุณวุฒิในการสอน, สั่งสอนด้วยความอ่อนโยน.—2:2, 8, 22, ล.ม.
7. เหตุใดพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจึงเป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในสมัยสุดท้าย”?
7 “ในสมัยสุดท้าย” จะมีวิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้ และบุคคลที่แสดงความเลื่อมใสจอมปลอมต่อพระเจ้า “ที่เรียนอยู่เสมอและถึงกระนั้นก็ไม่สามารถบรรลุความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับความจริงได้เลย.” แต่ติโมเธียวได้ทำตามอย่างใกล้ชิดในด้านคำสอน, วิถีชีวิต และการถูกกดขี่ข่มเหงของเปาโลซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงช่วยท่านให้รอดพ้น. เปาโลเสริมว่า “อันที่จริง ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าร่วมกับพระคริสต์เยซูก็จะถูกข่มเหงด้วย.” อย่างไรก็ตาม ติโมเธียวควรดำเนินต่อไปในสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้ตั้งแต่เป็นทารก ซึ่งสามารถช่วยให้ท่านมีปัญญาเพื่อความรอด เพราะ “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์.”—3:1, 7, 12, 16, ล.ม.
8. เปาโลกระตุ้นติโมเธียวให้ทำอะไร และเปาโลมีความปลาบปลื้มยินดีอย่างไรในเรื่องนี้?
8 การทำให้งานรับใช้สำเร็จเต็มที่ (4:1-22). เปาโลสั่งติโมเธียวให้ “ประกาศพระคำ” ด้วยความเร่งด่วน. (4:2) จะมีเวลาที่คนเราจะไม่ยอมรับฟังคำสอนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและจะหันไปหาครูสอนเท็จ แต่ให้ติโมเธียวรักษาสติของตน ‘ทำงานของผู้เผยแพร่กิตติคุณ ทำให้งานรับใช้ของท่านสำเร็จครบถ้วน.’ โดยตระหนักว่าท่านจวนจะตาย เปาโลยินดีมากที่ท่านได้ต่อสู้อย่างดีแล้ว ได้วิ่งในแนวทางนี้จนถึงเส้นชัยและได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว. บัดนี้ท่านเพ่งมองด้วยความมั่นใจไปยังบำเหน็จ คือ “มงกุฎแห่งความชอบธรรม.”—4:5, 8, ล.ม.
9. เปาโลแสดงความมั่นใจเช่นไรในฤทธิ์เดชขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
9 เปาโลเร่งติโมเธียวให้มาหาท่านโดยเร็วและให้คำแนะนำเรื่องการเดินทาง. เมื่อเปาโลให้การสู้คดีครั้งแรกนั้นทุกคนละทิ้งท่าน แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานกำลังแก่ท่านเพื่อการประกาศจะสำเร็จครบถ้วนท่ามกลางนานาชาติ. ถูกแล้ว ท่านมั่นใจว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าจะช่วยท่านให้รอดพ้นจากการชั่วร้ายทุกอย่างและคุ้มครองท่านไว้สำหรับราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระองค์.
เหตุที่เป็นประโยชน์
10. (ก) ผลประโยชน์ประการใดโดยเฉพาะของ “พระคัมภีร์ทุกตอน” ที่มีการเน้นในพระธรรมติโมเธียวฉบับสอง และคริสเตียนควรบากบั่นเพื่อจะเป็นคนแบบไหน? (ข) อิทธิพลอะไรที่พึงหลีกเลี่ยง และจะทำเช่นนั้นอย่างไร? (ค) มีความจำเป็นเร่งด่วนอยู่เรื่อยไปในเรื่องใด?
10 “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์.” เป็นประโยชน์เพื่อสิ่งใด? เปาโลบอกเราในจดหมายถึงติโมเธียวฉบับที่สองว่า “เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม, เพื่อคนของพระเจ้าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (3:16, 17, ล.ม.) ดังนั้น มีการเน้นผลประโยชน์จากการ “สั่งสอน” ในจดหมายฉบับนี้. ผู้รักความชอบธรรมทุกคนในทุกวันนี้ควรเอาใจใส่ฟังคำแนะนำอันสุขุมในจดหมายนี้เมื่อบากบั่นเพื่อจะเป็นผู้สอนพระคำและเมื่อทำสุดกำลังเพื่อจะเป็นคนงานที่พระเจ้าพอพระทัย “ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง.” เช่นเดียวกับที่เมืองเอเฟโซในสมัยของติโมเธียว สมัยปัจจุบันก็เช่นกัน มีคนที่วุ่นวายกับ “การซักถามโง่ ๆ และขาดความรู้” ผู้ซึ่ง “เรียนอยู่เสมอและถึงกระนั้นก็ไม่สามารถบรรลุความรู้ถ่องแท้เกี่ยวกับความจริงได้เลย” และผู้ที่ปฏิเสธ “คำสอนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” เพื่อเอาใจครูที่ยอนหูพวกเขาอย่างที่พวกเขาต้องการด้วยความเห็นแก่ตัว. (2:15, 23; 3:7; 4:3, 4, ล.ม.) เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลที่ทำให้ปนเปื้อนเช่นนั้นของโลก จำเป็นจะต้อง “ยึดถือแบบแผนแห่งถ้อยคำที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ” ด้วยความเชื่อและความรัก. ยิ่งกว่านั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง “มีคุณวุฒิพอที่จะสอนคนอื่น” ทั้งภายในและภายนอกประชาคม เหมือนติโมเธียว “คนของพระเจ้า.” ความสุขมีแก่ทุกคนที่แบกหน้าที่รับผิดชอบนี้ โดยมาเป็นผู้ ‘มีคุณวุฒิที่จะสอนด้วยใจอ่อนโยน’ และเป็นผู้ประกาศพระคำ “ด้วยความอดกลั้นทนนานทุกอย่าง และด้วยศิลปะแห่งการสั่งสอน”!—1:13; 2:2, 24, 25; 4:2, ล.ม.
11. มีการให้คำแนะนำอะไรไว้เกี่ยวกับหนุ่มสาว?
11 ดังที่เปาโลกล่าว ติโมเธียวได้รู้จักหนังสือศักดิ์สิทธิ์ “ตั้งแต่เป็นทารกมา” เนื่องจากการสอนด้วยความรักของโลอีและยูนิเก. วลี “ตั้งแต่เป็นทารกมา” ยังระบุเวลาที่ควรเริ่มสั่งสอนคัมภีร์ไบเบิลแก่เด็ก ๆ ในทุกวันนี้ด้วย. แต่จะว่าอย่างไรถ้าในปีต่อ ๆ มา ไฟแห่งน้ำใจแรงกล้าในตอนแรกเริ่มค่อย ๆ มอด? คำแนะนำของเปาโลคือ ให้กระตุ้นไฟนั้นให้ลุกโพลงขึ้นอีกด้วยน้ำใจที่มี “พลัง น้ำใจแห่งความรักและแห่งสุขภาพจิตดี” รักษาไว้ซึ่งความเชื่อที่ปราศจากความหน้าซื่อใจคด. ท่านกล่าวว่า “ในสมัยสุดท้าย” จะเป็นวิกฤตกาล พร้อมด้วยปัญหาความเสเพลและคำสอนเท็จ. นั่นคือสาเหตุที่มีความจำเป็นยิ่งที่คนหนุ่ม ๆ โดยเฉพาะ และคนอื่น ๆ ทุกคน จะต้อง ‘รักษาสติของตนในทุกสิ่ง และทำให้งานรับใช้ของตนสำเร็จครบถ้วน.’—3:15; 1:5-7; 3:1-5; 4:5, ล.ม.
12. (ก) เปาโลชี้ให้มุ่งสนใจพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักรอย่างไร และท่านแสดงความหวังอะไร? (ข) ผู้รับใช้ของพระเจ้าในทุกวันนี้จะมีเจตคติเหมือนเปาโลได้อย่างไร?
12 รางวัลนับว่าคุ้มค่ากับการแข่งขัน. (2:3-7) ในเรื่องนี้ เปาโลชี้ให้มุ่งสนใจพงศ์พันธุ์แห่งราชอาณาจักร โดยกล่าวว่า “จงระลึกว่าพระเยซูคริสต์ทรงถูกปลุกขึ้นมาจากบรรดาคนตายและทรงเป็นพงศ์พันธุ์ของดาวิด ตามข่าวดี.” ความหวังของเปาโลคือ อยู่ร่วมสามัคคีกับพงศ์พันธุ์นั้น. ต่อจากนั้นมาท่านพูดถึงการประหารท่านซึ่งจวนจะมาถึงด้วยถ้อยคำแสดงชัยชนะดังนี้: “ตั้งแต่นี้ไปมีมงกุฎแห่งความชอบธรรมเก็บไว้สำหรับข้าพเจ้า ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้พิพากษาองค์ชอบธรรมจะทรงประทานแก่ข้าพเจ้าเป็นรางวัลในวันนั้น “ไม่เพียงแก่ข้าพเจ้าเท่านั้น แต่แก่ทุกคนที่รักการปรากฏของพระองค์ด้วย.” (2:8; 4:8, ล.ม.) เป็นความสุขจริง ๆ แก่ทุกคนที่สามารถมองย้อนไปยังเวลาหลายปีแห่งการรับใช้ที่ซื่อสัตย์และพูดเช่นเดียวกันนั้น! อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้เรียกร้องการรับใช้เดี๋ยวนี้ ด้วยความซื่อสัตย์มั่นคง ด้วยความรักการปรากฏของพระเยซูคริสต์ และเรียกร้องให้สำแดงความมั่นใจอย่างที่เปาโลได้ทำเมื่อท่านเขียนว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากการชั่วทุกอย่างและจะทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดเข้าสู่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระองค์. ขอพระเกียรติจงมีแด่พระองค์ตลอดไปเป็นนิตย์. อาเมน.”—4:18, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ผลงานฉบับสมบูรณ์ของทาซิทุส (ภาษาอังกฤษ) 1942 เรียบเรียงโดยโมเซส ฮาดัส หน้า 380-381.