“ให้มอบไว้กับคนที่ซื่อสัตย์”
“ให้มอบไว้กับคนที่ซื่อสัตย์ซึ่งมีความสามารถพอที่จะสอนคนอื่นได้”—2 ทธ. 2:2
1, 2. หลายคนรู้สึกอย่างไรกับหน้าที่การงาน?
หลายคนรู้สึกว่าหน้าที่การงานจะเป็นตัวบ่งบอกว่าคนนั้นเป็นคนสำคัญหรือไม่ ในบางวัฒนธรรม เมื่อจะทำความรู้จักกัน คำถามแรก ๆ ที่มักจะถามกันก็คือ “คุณทำงานอะไร?”
2 บางครั้ง คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงผู้คนโดยบอกว่าพวกเขาทำงานอะไร ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลพูดถึง “มัทธิวคนเก็บภาษี” “ซีโมนที่เป็นช่างฟอกหนัง” และ “ลูกาซึ่งเป็นหมอที่พี่น้องรัก” (มธ. 10:3; กจ. 10:6; คส. 4:14) นอกจากนั้น บางครั้งเมื่อคัมภีร์ไบเบิลพูดถึงผู้คน ก็มักจะพูดถึงงานมอบหมายที่เขาได้รับจากพระยะโฮวา เช่น กษัตริย์ดาวิด ผู้พยากรณ์เอลียาห์ และอัครสาวกเปาโล คนเหล่านี้เห็นคุณค่างานมอบหมายที่พระยะโฮวาให้พวกเขา เราเองก็ควรเห็นคุณค่างานมอบหมายของเราในการรับใช้พระยะโฮวาเหมือนกัน
3. ทำไมคนที่อายุมากกว่าควรฝึกคนที่อายุน้อยกว่า? (ดูภาพแรก)
3 เรารักงานรับใช้พระยะโฮวาและเห็นค่างานมอบหมายต่าง ๆ ที่เราได้รับจากพระองค์ พวกเราหลายคนชอบงานมอบหมายที่ทำอยู่มากและหวังว่าจะได้ทำงานนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่พอเราเริ่มอายุมากขึ้นก็ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนตอนที่ยังอายุน้อย นี่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้รับใช้ของพระเจ้าเป็นพิเศษ (ปญจ. 1:4) ในทุกวันนี้ งานประกาศก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ และองค์การของพระยะโฮวากำลังใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้ข่าวดีไปถึงผู้คนมากเท่าที่ทำได้ บางครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่พี่น้องสูงอายุจะเรียนอะไรใหม่ ๆ (ลก. 5:39) นอกจากนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่พอเราแก่ลงก็จะไม่ค่อยมีแรง (สภษ. 20:29) ดังนั้น จึงเหมาะที่พี่น้องที่อายุมากกว่าจะฝึกคนที่อายุน้อยกว่าให้รับหน้าที่รับผิดชอบในองค์การของพระยะโฮวามากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นการแสดงความรักด้วย—อ่านสดุดี 71:18
4. ทำไมเป็นเรื่องยากสำหรับบางคนที่จะให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน? (ดูกรอบ “ทำไมเป็นเรื่องยากที่จะให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน?”)
4 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนมีอำนาจจะให้คนที่อายุน้อยกว่ามาทำหน้าที่แทนเขา พี่น้องชายบางคนรู้สึกกลัวหรือเสียใจที่คิดว่าจะต้องสูญเสียงานมอบหมายที่เขารักมาก บางคนอาจเป็นห่วงว่าถ้าไม่ได้ควบคุมดูแลงานนั้นด้วยตัวเอง งานก็จะออกมาไม่ดี ส่วนคนอื่น ๆ อาจรู้สึกว่าไม่มีเวลาที่จะฝึกคนอื่น ในอีกด้านหนึ่ง พี่น้องชายที่อายุน้อยกว่าก็ต้องอดทนรอถ้าพวกเขายังไม่ได้รับหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น
5. บทความนี้จะตอบคำถามอะไรบ้าง?
5 ดังนั้น ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่คนอายุมากกว่าจะช่วยคนอายุน้อยกว่ารับหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น? พวกเขาจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? (2 ทธ. 2:2) และทำไมคนที่อายุน้อยกว่าต้องมีความคิดที่ถูกต้องเมื่อทำงานและเรียนรู้งานจากคนที่อายุมากซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า? ก่อนอื่น ให้เรามาดูว่ากษัตริย์ดาวิดเตรียมลูกชายของเขาอย่างไรสำหรับงานที่สำคัญมาก
ดาวิดเตรียมโซโลมอนให้พร้อม
6. ดาวิดอยากทำอะไร? แต่พระยะโฮวาบอกอะไรกับเขา?
6 ดาวิดถูกตามล่าและต้องย้ายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ นานหลายปี แต่พอเขาเป็นกษัตริย์และได้อยู่ในวังที่สะดวกสบาย เขาจึงพูดกับผู้พยากรณ์นาธันว่า “เราอยู่ในวังไม้สนซีดาร์ แต่หีบสัญญาของพระยะโฮวายังอยู่ในเต็นท์” ดาวิดอยากสร้างวิหารที่สวยงามให้พระยะโฮวามาก นาธันบอกเขาว่า “เชิญท่านทำตามที่ต้องการเถอะ เพราะพระเจ้าเที่ยงแท้อยู่กับท่านแล้ว” แต่พระยะโฮวาไม่ได้อยากให้ดาวิดเป็นคนสร้างวิหาร พระองค์บอกนาธันให้ไปบอกดาวิดว่า “เจ้าจะไม่ได้เป็นคนสร้างวิหารให้เรา” ถึงแม้พระยะโฮวาสัญญากับดาวิดว่าพระองค์จะอวยพรเขาต่อ ๆ ไป แต่พระองค์จะให้โซโลมอนลูกชายของดาวิดเป็นคนสร้างวิหาร ดาวิดคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?—1 พศ. 17:1-4, 8, 11, 12; 29:1
7. ดาวิดทำอย่างไรเมื่อได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวา?
7 ถึงดาวิดอยากสร้างวิหารของพระยะโฮวามากและคำสั่งของพระองค์อาจทำให้เขาผิดหวัง แต่ดาวิดก็ยังสนับสนุนอย่างเต็มที่ในโครงการที่โซโลมอนลูกชายของเขาดูแล ดาวิดช่วยจัดระเบียบคนงาน รวบรวมเหล็ก ทองแดง เงิน ทองคำ และไม้ เขาไม่ได้เป็นห่วงว่าใครจะได้รับการยกย่องจากการสร้างวิหารนี้ ซึ่งต่อมาวิหารนี้ก็ได้ชื่อว่าวิหารของโซโลมอนไม่ใช่วิหารของดาวิด นอกจากนั้น ดาวิดยังให้กำลังใจโซโลมอนว่า “ลูกพ่อ ขอให้พระยะโฮวาอยู่กับลูก ขอให้ลูกประสบความสำเร็จและสร้างวิหารของพระยะโฮวาพระเจ้าของลูกอย่างที่พระองค์พูดไว้กับพ่อ”—1 พศ. 22:11, 14-16
8. ทำไมดาวิดอาจคิดว่าโซโลมอนไม่พร้อมที่จะสร้างวิหาร? แต่ดาวิดรู้อะไรและเขาทำอะไร?
8 อ่าน 1 พงศาวดาร 22:5 ดาวิดอาจรู้สึกว่าโซโลมอนยังไม่พร้อมที่จะดูแลโครงการที่สำคัญนี้ วิหารนี้ต้อง “ยิ่งใหญ่และสง่างาม” และโซโลมอน “อายุยังน้อยและไม่มีประสบการณ์” แต่ดาวิดรู้ว่าพระยะโฮวาจะช่วยโซโลมอนแน่นอน ดาวิดจึงทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อช่วยโซโลมอนเตรียมงานสำหรับโครงการที่ยิ่งใหญ่นี้
มีความสุขกับการฝึกคนอื่น
9. อะไรจะช่วยคนที่อายุมากให้รู้สึกดีที่ได้มอบงานให้คนที่อายุน้อยกว่าทำแทน? ขอยกตัวอย่าง
9 พี่น้องชายที่อายุมากไม่ควรหมดกำลังใจถ้าเขาต้องเอางานของเขาไปให้คนที่อายุน้อยกว่าทำแทน เราทุกคนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ก็คืองานของพระยะโฮวา ดังนั้น การฝึกพี่น้องชายที่อายุน้อยกว่าให้มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นจะช่วยให้งานนี้สำเร็จ ลองคิดถึงตัวอย่างนี้ ตอนที่คุณยังเด็ก คุณอาจดูพ่อขับรถ แต่พอคุณโตขึ้น พ่อก็อธิบายให้คุณฟังว่าพ่อขับรถอย่างไร ไม่นานคุณก็ได้ใบขับขี่และเริ่มขับรถเอง ตอนนั้นพ่อก็ยังสอนคุณอยู่ บางครั้งคุณกับพ่อก็สลับกันขับ แต่พอพ่อแก่ลงคุณก็เป็นคนขับซะส่วนใหญ่ พ่อของคุณจะโกรธไหมที่เป็นอย่างนี้? ไม่โกรธแน่ ๆ พ่อคงจะดีใจที่คุณช่วยขับรถไปไหนมาไหน คล้ายกัน พี่น้องที่อายุมากก็ดีใจและภูมิใจที่เห็นคนที่เขาฝึกพร้อมจะรับหน้าที่รับผิดชอบในองค์การของพระยะโฮวา
10. โมเสสคิดอย่างไรเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และการได้รับเกียรติ?
10 เราต้องระวังที่จะไม่อิจฉาคนอื่นที่ได้รับงานมอบหมาย เราสามารถเลียนแบบโมเสสตอนที่มีชาวอิสราเอลบางคนเริ่มทำท่าทางเหมือนผู้พยากรณ์ (อ่านกันดารวิถี 11:24-29) โยชูวาอยากจะห้ามไม่ให้พวกเขาทำอย่างนั้น แต่โมเสสบอกว่า “อิจฉาเขาแทนผมหรือ? อย่าคิดอย่างนั้น ผมอยากจะให้ประชาชนของพระยะโฮวาทุกคนเป็นผู้พยากรณ์ด้วยซ้ำ พระยะโฮวาจะได้ให้พลังของพระองค์อยู่กับพวกเขา” โมเสสรู้ว่าพระยะโฮวาดูแลงานของพระองค์ เขาอยากให้ผู้รับใช้ทุกคนได้รับงานมอบหมาย เขาไม่ได้อยากให้ใครมายกย่องให้เกียรติตัวเขา แล้วพวกเราล่ะ? เรามีความสุขเมื่อเห็นคนอื่น ๆ ได้รับงานมอบหมายจากพระยะโฮวาไหม?
11. พี่น้องชายคนหนึ่งพูดอย่างไรเกี่ยวกับการให้คนอื่นทำงานแทนเขา?
11 พี่น้องชายของเราหลายคนทำงานหนักเพื่อรับใช้พระยะโฮวามานานหลายสิบปี และพวกเขาได้ฝึกคนที่อายุน้อยกว่าให้ทำหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ลองคิดถึงพี่น้องชายคนหนึ่งที่ชื่อปีเตอร์ ซึ่งรับใช้เต็มเวลามา 74 ปีแล้ว เขารับใช้ที่สำนักงานสาขาในยุโรป 35 ปี และเป็นผู้ดูแลแผนกการรับใช้มานานหลายปี แต่ตอนนี้พี่น้องชายที่ชื่อพอลซึ่งอายุน้อยกว่า และเป็นคนที่เขาฝึกมากับมือก็มาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลแทนเขา ปีเตอร์รู้สึกเสียใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไหม? ไม่เลย ปีเตอร์พูดว่า “ผมดีใจที่มีพี่น้องชายหลายคนถูกฝึกให้มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น และพวกเขาก็ทำงานดีมาก”
เห็นค่าคนที่อายุมากกว่า
12. เราได้เรียนอะไรจากตัวอย่างของเรโหโบอัม?
12 ตอนที่เรโหโบอัมลูกชายของโซโลมอนได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ เขาขอคำแนะนำจากพวกผู้ใหญ่ว่าควรจะทำหน้าที่นี้อย่างไร แต่ต่อมาเขากลับไม่ทำตามคำแนะนำนั้น และไปทำตามคำแนะนำของพวกคนหนุ่มที่โตมาด้วยกัน การทำอย่างนั้นเกิดผลเสียหายร้ายแรง (2 พศ. 10:6-11, 19) เราได้เรียนอะไรจากเรื่องนี้? เป็นเรื่องฉลาดที่จะขอคำแนะนำจากคนที่อายุมากกว่าและมีประสบการณ์มากกว่า คนที่อายุน้อยไม่ควรรู้สึกว่าเป็นกฎตายตัวที่ต้องทำตามทุกสิ่งที่คนรุ่นเก่าทำมาตลอด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าความคิดของคนรุ่นเก่าใช้ไม่ได้ พวกเขาควรนับถือความคิดเห็นของคนที่อายุมากกว่า
13. คนที่อายุน้อยกว่าจะทำงานร่วมกับคนที่อายุมากกว่าอย่างไร?
13 บางครั้งพี่น้องชายที่อายุน้อยกว่าก็ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าพี่น้องชายที่มีอายุและประสบการณ์มากกว่า เป็นเรื่องฉลาดที่คนที่อายุน้อยจะเรียนจากคนที่อายุมาก ลองคิดถึงตัวอย่างก่อนหน้านี้ หลังจากพอลทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลแผนกแทนปีเตอร์ พอลบอกว่า “ผมมักขอคำแนะนำจากปีเตอร์และบอกคนอื่นในแผนกให้ทำอย่างนั้นด้วย”
14. เราได้เรียนอะไรจากวิธีที่ทิโมธีกับอัครสาวกเปาโลทำงานด้วยกัน?
14 ทิโมธีอายุน้อยกว่าอัครสาวกเปาโลมากแต่พวกเขาก็ทำงานด้วยกันหลายปี (อ่านฟีลิปปี 2:20-22) เปาโลบอกพี่น้องในเมืองโครินธ์ว่า “ผมส่งทิโมธีไปหาพวกคุณ เขาเป็นเหมือนลูกรักของผมและซื่อสัตย์ในการรับใช้ผู้เป็นนาย เขาจะช่วยเตือนพวกคุณว่าผมรับใช้พระคริสต์เยซูอย่างไร เหมือนที่ผมสอนอยู่ในทุกประชาคม” (1 คร. 4:17) จากข้อนี้ เราเห็นได้ชัดว่าเปาโลกับทิโมธีร่วมงานกันและสนับสนุนกันเป็นอย่างดี เปาโลให้เวลากับทิโมธี เขาสอนทิโมธีให้รู้ว่าตัวเขา “รับใช้พระคริสต์เยซูอย่างไร” ส่วนทิโมธีก็พยายามเรียนจากเปาโล เปาโลรักทิโมธีมากและมั่นใจว่าเขาจะดูแลพี่น้องในเมืองโครินธ์ได้เป็นอย่างดี ผู้ดูแลสามารถเลียนแบบอัครสาวกเปาโลเมื่อฝึกพี่น้องชายคนอื่นให้นำหน้าในประชาคม
เราแต่ละคนมีบทบาทสำคัญ
15. โรม 12:3-5 ช่วยเราอย่างไรให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลง?
15 พวกเรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่น่าตื่นเต้น องค์การของพระยะโฮวาบนโลกกำลังก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้าน นี่หมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกเรื่อย ๆ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจไม่ง่ายและมีผลกับเราเป็นส่วนตัว แต่เราควรจะถ่อมตัวและสนใจผลประโยชน์ของรัฐบาลพระเจ้าแทนที่จะสนใจผลประโยชน์ของตัวเราเอง ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็จะเป็นหนึ่งเดียวกัน เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมว่า “ผมจึงขอบอกพวกคุณทุกคนว่า อย่าคิดถึงตัวเองมากเกินไป” จากนั้น เปาโลอธิบายว่าพวกเราแต่ละคนในประชาคมมีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันเหมือนอวัยวะต่าง ๆ เขาบอกว่า “เหมือนกับที่ร่างกายของเรามีอวัยวะหลายส่วน และอวัยวะแต่ละส่วนมีหน้าที่ต่างกัน ดังนั้น ถึงแม้เรามีกันหลายคน แต่ก็เป็นเหมือนร่างกายเดียวที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์”—รม. 12:3-5
16. คริสเตียนแต่ละคนสามารถทำอะไรได้เพื่อรักษาสันติสุขและความเป็นหนึ่งเดียวในองค์การของพระยะโฮวา?
16 ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทุกคนต้องการสนับสนุนรัฐบาลของพระเจ้า และไม่ว่าถูกขอให้ทำงานอะไรพวกเขาก็จะทำ พี่น้องชายที่อายุมากกว่าควรฝึกคนที่อายุน้อยกว่า พี่น้องชายที่อายุน้อยกว่าก็ควรรับผิดชอบงานต่าง ๆ มากขึ้น เขาควรเจียมตัวและนับถือพี่น้องชายที่อายุมากกว่า พี่น้องชายทุกคนเห็นคุณค่าที่ภรรยาของพวกเขาร่วมมือและสนับสนุนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พวกเธอควรเป็นเหมือนปริสสิลลาที่ให้ความร่วมมือกับอะควิลลาสามีของเธออย่างซื่อสัตย์—กจ. 18:2
17. พระเยซูฝึกสาวกให้ทำงานอะไร?
17 พระเยซูวางตัวอย่างที่ดีที่สุดในการเต็มใจฝึกคนอื่น พระเยซูรู้ว่าท่านจะทำงานรับใช้ในโลกได้อีกไม่นาน แต่คนอื่น ๆ จะต้องทำงานนี้ต่อไป ถึงพระเยซูจะรู้ว่าสาวกของท่านไม่สมบูรณ์แบบ แต่ท่านก็มั่นใจว่าพวกเขาจะประกาศข่าวดีไปไกลกว่าที่ท่านทำด้วยซ้ำ (ยน. 14:12) พระเยซูฝึกพวกเขาอย่างดีและพวกเขาก็สามารถประกาศในทุกประเทศที่พวกเขาไปถึง—คส. 1:23
18. เราจะได้ทำงานแบบไหนในอนาคต? และในทุกวันนี้เรามีงานอะไร?
18 หลังจากพระเยซูเสียชีวิต พระยะโฮวาปลุกท่านให้ฟื้นขึ้นจากตาย มอบงานให้ท่านทำมากขึ้น และให้ท่านมีอำนาจ “อยู่เหนือการปกครองทุกแบบ อยู่เหนือผู้มีอำนาจ ผู้มีฤทธิ์ เจ้านายทุกคน” (อฟ. 1:19-21) แม้พวกเราซึ่งเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวาอาจต้องตายก่อนอาร์มาเกดโดน แต่เราจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งและได้ทำงานหลายอย่างที่มีความสุขในโลกใหม่ ส่วนในตอนนี้ เราทุกคนมีงานมอบหมายที่สำคัญก็คือการประกาศข่าวดีและการสอนคนให้เป็นสาวก ดังนั้น ไม่ว่าเราจะอายุน้อยหรืออายุมาก เราทุกคนควร “ทุ่มเทกับงานของผู้เป็นนายที่มีให้ทำมากมาย” ต่อ ๆ ไป—1 คร. 15:58