ให้กระตือรือร้นในงานมอบหมายของคุณ
ถ้าคุณได้รับจดหมายที่เพื่อนรักเขียนให้กำลังใจคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร? ทิโมธีก็ได้รับจดหมายแบบนั้นจากเปาโลเหมือนกัน จดหมายฉบับนั้นก็คือหนังสือ 2 ทิโมธีนั่นเอง ตอนนั้นทิโมธีคงอยากรู้ว่าเปาโลเขียนอะไรถึงเขาบ้าง และเขาคงไปหาที่เงียบ ๆ เพื่อจะอ่านจดหมายนั้น บางทีทิโมธีอาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ ‘เขาจะเป็นยังไงบ้างนะ เขาจะสบายดีหรือเปล่า? เขาจะแนะนำอะไรผมบ้าง ผมจะได้เอาไปใช้ในงานรับใช้ของผม? คำแนะนำนี้จะช่วยให้ผมรับใช้ได้ดีขึ้นและช่วยคนอื่นได้มากขึ้นยังไงนะ?’ พอทิโมธีอ่านจดหมายนั้นเสร็จ เขาก็ได้คำตอบที่เขาสงสัยและได้เข้าใจเรื่องอื่น ๆ ด้วย ตอนนี้ให้เรามาดูคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับเรา
“ผมจึงอดทนทุกสิ่งต่อไป”
พอทิโมธีเริ่มอ่านจดหมายฉบับนี้ เขาก็รู้เลยว่าเปาโลรักและเป็นห่วงเขามากแค่ไหน เปาโลเรียกทิโมธีว่า “ลูกรัก” (2 ทธ. 1:2) ทิโมธีคงได้รับจดหมายนี้ประมาณปี ค.ศ. 65 ถึงตอนนั้นเขาคงจะอายุแค่ 30 กว่า ๆ แต่เขาก็เป็นผู้ดูแลที่มีประสบการณ์มาก เขาเคยทำงานรับใช้ด้วยกันกับเปาโลมากกว่า 10 ปี และได้เรียนหลายอย่างจากเปาโล
ทิโมธีคงได้รับกำลังใจมากที่ได้รู้ว่าถึงตอนนี้เปาโลจะต้องเจอกับความยากลำบากมาก แต่เขาก็ยังอดทนอย่างซื่อสัตย์ เปาโลอยู่ที่กรุงโรม เขาถูกล่ามโซ่ และอีกไม่นานก็จะถูกประหารชีวิต (2 ทธ. 1:15, 16; 4:6-8) ทิโมธีเห็นความกล้าหาญของเปาโลจากคำพูดของเปาโลที่บอกว่า “ผมจึงอดทนทุกสิ่งต่อไป” (2 ทธ. 2:8-13) เหมือนกับทิโมธี ตัวอย่างของเปาโลจะช่วยให้เราเข้มแข็งมากขึ้นได้เหมือนกัน
“กระตือรือร้นในการใช้ความสามารถ”
เปาโลบอกให้ทิโมธีมองงานรับใช้ที่เขาได้รับจากพระเจ้าว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เปาโลอยากให้ทิโมธี “กระตือรือร้นในการใช้ความสามารถที่มาจากพระเจ้า” (2 ทธ. 1:6) คำว่า “ความสามารถ” ที่เปาโลใช้ในข้อนี้มาจากคำกรีก ฆาริสมา ซึ่งหมายถึงของขวัญที่ให้ฟรี ๆ ไม่ใช่ให้เพื่อตอบแทนบุญคุณหรือตอบแทนความดีของผู้รับ ทิโมธีได้รับความสามารถนี้ตอนที่เขาถูกเลือกให้รับใช้แบบพิเศษ—1 ทธ. 4:14
แล้วทิโมธีควรทำอย่างไรกับความสามารถที่เขาได้รับ? “กระตือรือร้นในการใช้ความสามารถ” ในภาษากรีกคือ “ทำให้ความสามารถลุกโชนขึ้นเหมือนกับไฟ” พอทิโมธีอ่านเจอข้อความนี้ เขาคงนึกถึงถ่านหินที่เอาไว้ใช้ในบ้านที่เป็นแค่ถ่านแดง ๆ ซึ่งถ่านแบบนี้ต้องเขี่ยให้เปลวไฟลุกขึ้นอีกครั้งและร้อนมากขึ้น พจนานุกรมเล่มหนึ่งบอกว่าคำกริยาในภาษากรีก (อานาโศพูเระโอ) ที่เปาโลใช้หมายความว่า “คุขึ้นอีก ลุกไหม้อีก พัดให้ไฟลุก” ซึ่งหมายถึงกระตุ้นให้กระตือรือร้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเปาโลกำลังบอกทิโมธีว่า ‘ให้กระตือรือร้นในงานมอบหมายของคุณ’ ทุกวันนี้เราก็ต้องทำเหมือนกัน เราต้องทุ่มเทและกระตือรือร้นในงานรับใช้
“สิ่งมีค่านี้ที่ฝากไว้กับคุณ ให้เก็บรักษาไว้”
พอทิโมธีอ่านจดหมายของเปาโลต่อ เขาก็ไปเจอข้อความที่ช่วยให้เขารับใช้ได้ดีขึ้น เปาโลเขียนว่า “สิ่งมีค่านี้ที่ฝากไว้กับคุณ ให้เก็บรักษาไว้ด้วยความช่วยเหลือจากพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้าซึ่งอยู่ในตัวเรา” (2 ทธ. 1:14) ทิโมธีได้รับสิ่งมีค่าอะไร? ในข้อคัมภีร์ก่อนหน้านี้เปาโลพูดถึง “คำสอนที่เป็นประโยชน์” ซึ่งก็คือความจริงที่อยู่ในพระคัมภีร์ (2 ทธ. 1:13) ทิโมธีมีหน้าที่ต้องสอนความจริงให้กับพี่น้องในประชาคมและสอนคนอื่น ๆ ในเขตด้วย (2 ทธ. 4:1-5) นอกจากนั้นเขายังถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลให้เอาใจใส่ฝูงแกะของพระเจ้า (1 ปต. 5:2) เมื่อทิโมธีพึ่งพลังของพระยะโฮวาและพระคัมภีร์ เขาก็รักษาสิ่งมีค่าซึ่งก็คือความจริงที่เขาสอนได้—2 ทธ. 3:14-17
ในทุกวันนี้เราก็ได้รับสิ่งที่มีค่าด้วยเหมือนกันซึ่งก็คือการสอนความจริงให้กับคนอื่น ๆ (มธ. 28:19, 20) และเพื่อจะไม่ลืมว่าความจริงมีค่ามากแค่ไหน เราเลยต้องอธิษฐานบ่อย ๆ และศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ (รม. 12:11, 12; 1 ทธ. 4:13, 15, 16) นอกจากนั้นเราอาจจะมีงานมอบหมายอื่นด้วย เช่นบางคนอาจจะเป็นผู้ดูแลหรือผู้รับใช้เต็มเวลา สิ่งมีค่าเหล่านี้ควรทำให้เราเป็นคนถ่อมและพึ่งพระยะโฮวา ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็แสดงว่าเห็นค่าสิ่งมีค่าที่พระองค์ให้ไว้กับเรา
“ให้มอบไว้กับคนที่ซื่อสัตย์”
ทิโมธีถูกมอบหมายให้ฝึกคนอื่นให้ทำเหมือนกับเขาด้วย นี่เป็นเหตุผลที่เปาโลบอกทิโมธีว่า “สิ่งต่าง ๆ ที่คุณได้ยินจากผม . . . ให้มอบไว้กับคนที่ซื่อสัตย์ซึ่งมีความสามารถพอที่จะสอนคนอื่นได้” (2 ทธ. 2:2) เปาโลบอกทิโมธีว่าให้สอนทุกสิ่งที่เขาเคยเรียนให้กับคนอื่นด้วย ผู้ดูแลทุกคนในทุกวันนี้ก็ควรพยายามทำเหมือนกันด้วย ผู้ดูแลที่ดีจะไม่หวงวิชาหรือว่ากั๊กความรู้ไว้กับตัวเอง แต่เขาจะสอนคนอื่นให้ทำได้เหมือนกับที่เขาทำ เขาจะไม่กลัวว่าคนอื่นจะเด่นกว่าเขา จะรู้ดีกว่าเขา หรือว่าทำได้ดีกว่าที่เขาทำ ดังนั้น ผู้ดูแลจะไม่ใช่แค่สอนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานเท่านั้น แต่เขาจะช่วยคนที่เขาสอนให้รู้จักคิดและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ด้วย ซึ่งนี่จะช่วยคนที่ถูกฝึกให้เป็นคริสเตียนที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น การทำแบบนี้จะช่วยให้ “คนที่ซื่อสัตย์” ซึ่งก็คือพี่น้องที่เขาสอนเป็นประโยชน์กับประชาคมมากขึ้น
ทิโมธีคงต้องชอบและเห็นค่าจดหมายที่เขาได้รับจากเปาโลแน่ ๆ เขาคงอ่านแล้วอ่านอีกและคิดว่าจะเอาคำแนะนำเหล่านั้นมาใช้กับงานมอบหมายของเขาอย่างไร
เราก็อยากเอาคำแนะนำเหล่านี้มาใช้จริง ๆ ด้วย เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? โดยที่เราทำให้ความกระตือรือร้นในใจลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง รักษาสิ่งมีค่าที่ฝากไว้กับเรา และมอบประสบการณ์กับความรู้ที่เรามีให้กับคนอื่น ๆ ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็จะเป็นเหมือนกับที่เปาโลบอกทิโมธีว่า เรา ‘ทำงานรับใช้ของเราได้สำเร็จครบถ้วน’ แล้ว—2 ทธ. 4:5