บิดามารดาและบุตรทั้งหลายจงให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรก!
“จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์.”—ท่านผู้ประกาศ 12:13, ล.ม.
1. บิดามารดาและบุตรจะต้องพัฒนาความเกรงกลัวชนิดใด และการทำเช่นนี้ย่อมนำผลประการใดมาสู่ตน?
คำพยากรณ์ข้อหนึ่งกล่าวถึงพระเยซูคริสต์ว่า “ความชื่นชมจะมีแก่ผู้นั้นในความเกรงกลัวพระยะโฮวา.” (ยะซายา 11:3, ล.ม.) ประการสำคัญที่สุด ความเกรงกลัวของพระองค์เป็นความเคารพและความยำเกรงต่อพระเจ้าอย่างสุดซึ้ง กลัวจะไม่เป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้า เพราะพระองค์รักพระเจ้า. บิดามารดาและบุตรจำต้องพัฒนาความเกรงกลัวพระเจ้าเช่นนั้นตามแบบพระคริสต์ ซึ่งจะนำความชื่นชมยินดีมาสู่พวกเราดังในกรณีของพระเยซู. พวกเขาต้องให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตโดยการเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์. ดังผู้เขียนพระคัมภีร์คนหนึ่งพูดว่า “นี่คือพันธะทั้งสิ้นของมนุษย์.”—ท่านผู้ประกาศ 12:13, ล.ม.
2. ข้อบัญญัติอะไรที่นับว่าสำคัญที่สุด และพระบัญญัตินี้ได้ให้ไว้แก่ใครเป็นอันดับแรก?
2 บัญญัติข้อสำคัญที่สุดในบรรดาพระบัญญัติทั้งสิ้นคือเราควร ‘รักพระยะโฮวาสุดหัวใจ สุดจิตวิญญาณ และสุดกำลังวังชาของเรา’ นั้น ให้ไว้กับบิดามารดาเป็นอันดับแรก. ทั้งนี้เห็นได้จากถ้อยคำแห่งพระบัญญัติที่กล่าวต่อจากนั้นว่า “จงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้ [ถ้อยคำว่าด้วยการรักพระยะโฮวา] และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทาง, หรือนอนลง, และตื่นขึ้น.” (พระบัญญัติ 6:4-7; มาระโก 12:28-30) เพราะฉะนั้น บิดามารดาได้รับพระบัญชาที่จะให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรก ด้วยการที่บิดามารดาเองรักพระองค์ และสั่งสอนบุตรของตนให้ทำอย่างเดียวกัน.
หน้าที่รับผิดชอบของคริสเตียน
3. พระเยซูได้ทรงแสดงให้เห็นอย่างไรถึงความสำคัญของการเอาใจใส่พวกเด็กเล็ก ๆ?
3 พระเยซูทรงแสดงให้เห็นความสำคัญของการให้การเอาใจใส่แม้แต่เด็กเล็ก ๆ. โอกาสหนึ่งเมื่อจวนถึงเวลาที่พระเยซูจะเสร็จสิ้นภารกิจรับใช้ทางแผ่นดินโลก ประชาชนต่างก็พาเด็กเล็ก ๆ มาหาพระองค์. ดูเหมือนเหล่าสาวกคิดว่าพระเยซูทรงมีงานมาก ไม่ควรที่ใคร ๆ จะรบกวนพระองค์ พวกเขาจึงพยายามห้ามปรามประชาชน. แต่พระเยซูทรงตำหนิสาวกของพระองค์ว่า “จงยอมให้เด็กเล็ก ๆ ทั้งหลายมาหาเรา อย่าห้ามเขาเลย.” พระเยซูถึงกับ “อุ้มเด็กเล็ก ๆ เหล่านั้น” จึงเป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญในการให้ความสนใจแก่เด็กเล็ก ๆ ในวิธีที่ทำให้ซาบซึ้งใจ.—ลูกา 18:15-17; มาระโก 10:13-16.
4. ใครได้รับพระบัญชาที่จะ “ทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก” และทั้งนี้มีข้อเรียกร้องให้เขาทำอะไร?
4 อนึ่ง พระเยซูทรงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สาวกของพระองค์มีความรับผิดชอบไม่เฉพาะจะสอนบุตรตัวเอง แต่สอนผู้อื่นด้วย. หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์และได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว พระเยซู “ทรงปรากฏแก่พวกพี่น้องกว่าห้าร้อยคนในคราวเดียว”—รวมไปถึงคนที่เป็นบิดามารดาด้วย. (1 โกรินโธ 15:6) ดูเหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ณ ภูเขาในแขวงฆาลิลาย ซึ่งอัครสาวก 11 คนก็ไปรวมกันอยู่ที่นั่นด้วย. พระเยซูทรงกระตุ้นเตือนทุกคนที่นั่นว่า “เหตุฉะนั้น จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก. . . . สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:16-20, ล.ม.) ไม่มีเหตุผลสมควรที่คริสเตียนคนใด ๆ จะละเลยพระบัญชาข้อนี้! การที่บิดามารดาจะปฏิบัติหน้าที่นี้ให้ลุล่วง จำเป็นที่เขาจะต้องเอาใจใส่บุตรของตน ทั้งมีส่วนร่วมทำการเผยแพร่และสั่งสอนสาธารณชนด้วย.
5. (ก) อะไรแสดงว่า อัครสาวกส่วนใหญ่หรืออาจจะทุกคนเป็นผู้ที่แต่งงานแล้วและอาจมีบุตรด้วย? (ข) ประมุขครอบครัวจำต้องรับคำแนะนำอะไรอย่างจริงจัง?
5 ที่สำคัญ แม้แต่พวกอัครสาวกยังต้องจัดหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวให้สมดุลกับพันธะหน้าที่เกี่ยวด้วยการเผยแพร่ รวมทั้งการบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า. (โยฮัน 21:1-3, 15-17; กิจการ 1:8) ทั้งนี้เนื่องจากส่วนใหญ่หรืออาจจะทุกคนในพวกเขาแต่งงานแล้ว. ฉะนั้น อัครสาวกเปาโลจึงได้ชี้แจงว่า “ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิ์ที่จะพาภรรยาซึ่งเป็นคริสเตียนไปไหน ๆ ด้วยกันเหมือนอย่างพวกอัครสาวกอื่น ๆ และพี่น้องทั้งหลายขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเกฟาหรือ?” (1 โกรินโธ 9:5; มัดธาย 8:14) อัครสาวกบางคนอาจมีบุตรก็ได้. นักประวัติศาสตร์สมัยต้น เช่น ยูเซบิอุส บอกว่าอัครสาวกเปโตรมีบุตร. คริสเตียนบิดามารดาทุกคนในสมัยแรกจำเป็นต้องเอาใจใส่ฟังคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์ที่ว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่จัดหามาเลี้ยงคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.”—1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.
หน้าที่รับผิดชอบอันดับแรก
6. (ก) คริสเตียนผู้ปกครองซึ่งแต่งงานมีครอบครัวแล้วเผชิญการท้าทายอะไร? (ข) อะไรคือหน้าที่รับผิดชอบอันดับแรกของผู้ปกครอง?
6 คริสเตียนผู้ปกครองที่มีครอบครัวสมัยนี้อยู่ในสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับของพวกอัครสาวก. เขาจะต้องจัดหน้าที่รับผิดชอบในการเอาใจใส่ต่อสิ่งจำเป็นฝ่ายวิญญาณและฝ่ายร่างกายของครอบครัวให้สมดุลกับพันธะหน้าที่ที่จะทำการเผยแพร่แก่สาธารณชนและบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า. กิจกรรมด้านไหนต้องมาก่อน? วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 มีนาคม 1964 ให้ข้ออรรถาธิบายดังนี้: “พันธะหน้าที่ประการแรก [ของบิดา] คือพันธะหน้าที่ต่อครอบครัว และที่จริง เขาคงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ดูแลในประชาคมได้อย่างเหมาะสม ถ้าเขาไม่ได้เอาใจใส่พันธะหน้าที่นี้.”
7. บิดาที่เป็นคริสเตียนจัดพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกโดยวิธีใด?
7 ฉะนั้น บิดาทั้งหลายต้องให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกโดยการเอาใจใส่เชื่อฟังพระบัญชาที่ให้ ‘อบรมลูก ๆ ของตนด้วยการตีสอนและการปรับความคิดจิตใจตามหลักการของพระยะโฮวา.’ (เอเฟโซ 6:4, ล.ม.) หน้าที่รับผิดชอบนี้จะมอบไว้กับคนอื่นให้ทำแทนไม่ได้ ถึงแม้บิดาอาจได้รับมอบหมายงานด้านอื่นด้วยในประชาคมคริสเตียน. บิดาทั้งหลายที่อยู่ในฐานะดังกล่าวจะสามารถเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของตนได้อย่างไร คือจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ด้านร่างกาย, ด้านวิญญาณ, และทางด้านอารมณ์ให้แก่สมาชิกครอบครัว และในเวลาเดียวกันก็เอาใจใส่ดูแลประชาคม?
ให้การสนับสนุนที่จำเป็น
8. ภรรยาคริสเตียนผู้ปกครองอาจสนับสนุนสามีได้อย่างไร?
8 เห็นได้ชัดว่าผู้ปกครองผู้มีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่างในครอบครัวย่อมจะได้ประโยชน์หากมีการสนับสนุน. วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับที่ได้อ้างถึงก่อนหน้านี้บอกว่าภรรยาคริสเตียนสามารถให้การสนับสนุนสามีได้. วารสารนั้นกล่าวดังนี้: “ภรรยาอาจทำให้การตระเตรียมงานมอบหมายต่าง ๆ ของสามีเป็นไปอย่างสะดวกเท่าที่จะเป็นไปได้ และช่วยประหยัดเวลาอันมีค่าของสามีและของเธอเอง ด้วยการจัดตารางเวลาที่ดีภายในบ้าน, เตรียมอาหารเสร็จตรงเวลา, พร้อมจะออกจากบ้านไปประชุมประชาคมตรงเวลา . . . ภายใต้การชี้นำของสามี ภรรยาคริสเตียนสามารถทำได้มากในอันที่จะอบรมสั่งสอนบุตรไปในทางที่เขาควรดำเนินเพื่อเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวา.” (สุภาษิต 22:6) ใช่แล้ว ภรรยาถูกสร้างให้เป็น “คู่เคียง” และสามีของเธอย่อมจะยินดีรับเอาการช่วยเหลือจากภรรยาด้วยความซาบซึ้ง. (เยเนซิศ 2:18) การช่วยเหลือของเธอจะช่วยเขาให้เอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของเขาทั้งต่อครอบครัวและต่อประชาคมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.
9. ใครในประชาคมเธซะโลนิเกได้รับการสนับสนุนให้ช่วยสมาชิกอื่น ๆ ในประชาคม?
9 อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะภรรยาของคริสเตียนผู้ปกครองที่สามารถจะมีส่วนร่วมกิจกรรมซึ่งสนับสนุนผู้ดูแลที่ต้อง “บำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้า” และดูแลครอบครัวของตนเองด้วย. (1 เปโตร 5:2, ล.ม.) มีใครอีกไหมจะทำได้? อัครสาวกเปาโลได้กระตุ้นพวกพี่น้องในประชาคมเธซะโลนิเกให้นึกถึงคนเหล่านั้นที่ “ดูแล” เขา. กระนั้น เปาโลดำเนินเรื่องต่อและกล่าวแก่พวกพี่น้องกลุ่มเดียวกัน—โดยเฉพาะที่ไม่ใช่ผู้ดูแล—ดังนี้: “พี่น้องทั้งหลาย เรากระตุ้นท่านให้ตักเตือนคนเกะกะ พูดปลอบโยนผู้ที่หดหู่ใจ เกื้อหนุนคนที่อ่อนแอ อดกลั้นทนนานต่อคนทั้งปวง.”—1 เธซะโลนิเก 5:12-14, ล.ม.
10. การช่วยเหลือกันด้วยความรักของพวกพี่น้องทุกคนเป็นผลดีเช่นไรต่อประชาคม?
10 เป็นสิ่งที่ดีเพียงใดเมื่อพี่น้องในประชาคมมีความรักซึ่งกระตุ้นเขาให้พูดปลอบโยนผู้ที่หดหู่ใจ, เกื้อหนุนคนที่อ่อนแอ, ตักเตือนคนที่เกะกะ, และอดกลั้นทนนานต่อคนทั้งปวง! พวกพี่น้องที่เธซะโลนิเกซึ่งเพิ่งได้รับเอาความจริงของพระคัมภีร์ ทั้งที่ต้องทนรับการยากลำบากมากมาย ได้เอาคำแนะนำของเปาโลไปใช้ในทางปฏิบัติ. (กิจการ 17:1-9; 1 เธซะโลนิเก 1:6; 2:14; 5:11) ลองคิดถึงผลดีจากการร่วมมือกันด้วยความรักของพวกเขาซึ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งและก่อเอกภาพในประชาคม! ในทำนองคล้ายกัน เมื่อพี่น้องสมัยนี้ปลอบโยน, สนับสนุน, และเตือนสติกันและกัน นั่นทำให้พวกผู้ปกครองซึ่งบ่อยครั้งมีครอบครัวที่เขาต้องเอาใจใส่รู้สึกว่า การเอาใจใส่ต่อหน้าที่รับผิดชอบด้านการบำรุงเลี้ยงง่ายขึ้นมากทีเดียว.
11. (ก) เหตุใดมีเหตุผลที่จะลงความเห็นว่าพวกสตรีถูกนับรวมอยู่ในคำว่า “พี่น้อง” ด้วย? (ข) สมัยนี้สตรีคริสเตียนอาวุโสสามารถให้การช่วยเหลือเช่นไรแก่สตรีที่อ่อนวัยกว่า?
11 ที่อัครสาวกเปาโลได้พูดกับ “พวกพี่น้อง” เหล่านั้นนับรวมเอาสตรีด้วยหรือเปล่า? แน่นอน เพราะมีสตรีจำนวนมากเข้ามาเชื่อถือ. (กิจการ 17:1, 4; 1 เปโตร 2:17; 5:9) พวกสตรีเหล่านั้นสามารถให้ความช่วยเหลือรูปแบบใด? มีหญิงสาวในประชาคมบางแห่งซึ่งมีปัญหาด้านการควบคุม “แรงกระตุ้นทางเพศ” หรือเป็น “ผู้ที่ท้อใจ.” (1 ติโมเธียว 5:11-13, ล.ม.) สตรีบางคนสมัยนี้ก็อาจมีปัญหาคล้าย ๆ กัน. สิ่งที่เขาต้องการอย่างยิ่งคือขอเพียงแค่มีคนสนใจฟังเขา หรือร่วมความรู้สึก. บ่อยครั้ง สตรีคริสเตียนที่อาวุโสอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ดีที่สุด. ตัวอย่างเช่น เธอสามารถพูดคุยปัญหาต่าง ๆ กับสตรีด้วยกัน ซึ่งลำพังผู้ชายคริสเตียนอาจไม่เหมาะจะจัดการ. เมื่อเน้นคุณค่าการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว เปาโลเขียนดังนี้: “ให้สตรีสูงอายุ . . . เป็นผู้สอนสิ่งที่ดี; เพื่อทำให้ผู้หญิงที่อ่อนวัยได้สติให้รักสามีของตน, ให้รักบุตรของตน, ให้เป็นคนมีสุขภาพจิตดี, ให้เป็นคนบริสุทธิ์, เป็นคนทำงานที่บ้าน, เป็นคนดี, ยอมอยู่ใต้สามีของตน เพื่อจะไม่มีผู้ใดลบหลู่พระวจนะของพระเจ้า.”—ติโต 2:3-5, ล.ม.
12. เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ทุกคนในประชาคมต้องปฏิบัติตามการชี้นำของผู้ใด?
12 ช่างเป็นพระพรอย่างแท้จริงที่มีพี่น้องหญิงที่ถ่อมใจอยู่ในประชาคม เมื่อพวกเธอให้ความร่วมมือสนับสนุนสามีและผู้ปกครอง! (1 ติโมเธียว 2:11, 12; เฮ็บราย 13:17, ล.ม.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกผู้ปกครองซึ่งแบกหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวได้รับประโยชน์ เมื่อทุกคนต่างก็ร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยน้ำใจรักใคร่ และเมื่อทุกคนเชื่อฟังการชี้นำของผู้บำรุงเลี้ยงที่รับการแต่งตั้ง.—1 เปโตร 5:1, 2, ล.ม.
บิดามารดาทั้งหลายคุณให้อะไรมาเป็นอันดับแรก?
13. บิดาจำนวนไม่น้อยล้มเหลวในเรื่องครอบครัวอย่างไร?
13 หลายปีมาแล้ว นักแสดงที่โด่งดังคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “ผมเห็นพวกที่ประสบความสำเร็จหลายคนทำธุรกิจกับคนนับร้อย ๆ พวกเขารู้วิธีจัดการกับทุกสถานการณ์ วิธีการตักเตือนและให้รางวัลในโลกธุรกิจ. แต่ธุรกิจสำคัญที่สุดที่เขาดำเนินอยู่ก็คือครอบครัวของตัวเอง เขากลับไม่ประสบความสำเร็จ.” ทำไมล่ะ? เพราะเขาถือเอาธุรกิจการค้าและผลประโยชน์อื่น ๆ มาก่อนครอบครัว และเพิกเฉยต่อคำแนะนำที่มาจากพระเจ้ามิใช่หรือ? พระคำของพระเจ้าแจ้งไว้ว่า “ถ้อยคำเหล่านี้, ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้ . . . จงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้า” และต้องสอนทุกวันเป็นประจำ. บิดามารดาจำต้องให้เวลาของเขาอย่างไม่อั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความรักและความอาทรอันลึกซึ้ง.—พระบัญญัติ 6:6-9.
14. (ก) บิดามารดาควรเอาใจใส่ดูแลบุตรอย่างไร? (ข) การอบรมเด็กอย่างเหมาะสมรวมถึงสิ่งใด?
14 คัมภีร์ไบเบิลเตือนใจเราว่า บุตรคือมรดกจากพระยะโฮวา. (บทเพลงสรรเสริญ 127:3) คุณเอาใจใส่ดูแลบุตรของคุณฐานะเป็นสมบัติของพระเจ้า ของประทานที่พระองค์ทรงมอบให้อยู่ในความอารักขาของคุณไหม? บุตรของคุณคงจะตอบสนองถ้าคุณอุ้มหรือกอดเขา ซึ่งโดยวิธีนี้แสดงถึงความรักและความสนใจของคุณ. (มาระโก 10:16) แต่ที่จะ “ฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น” ย่อมเรียกร้องไม่เพียงแต่การกอดหรือจูบลูก. ที่จะมีสติปัญญาไว้พร้อมเพื่อหลีกเลี่ยงหลุมพรางต่าง ๆ ในชีวิต บุตรต้องได้รับการตีสอนด้วยความรักด้วย. บิดาหรือมารดาแสดงความรักแท้ก็โดยการ “เฆี่ยนตีสั่งสอน.”—สุภาษิต 13:1, 24; 22:6.
15. อะไรแสดงให้เห็นว่าการตีสอนของบิดามารดาเป็นสิ่งจำเป็น?
15 ความจำเป็นในเรื่องการตีสอนของบิดามารดานั้นเห็นได้จากคำพรรณนาของอาจารย์ที่ปรึกษาในโรงเรียนแห่งหนึ่งเกี่ยวกับเด็กนักเรียนที่เข้ามาหาที่ห้องทำงานของเธอว่า “เด็กพวกนั้นน่าสงสาร, เป็นเด็กที่ซึม, ไม่มั่นใจตัวเอง. พวกเขาร้องไห้ขณะที่เล่าว่าความเป็นจริงคืออย่างไร. หลายคน—มากกว่าที่คิด—เคยพยายามฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เพราะเขามีความสุขเหลือหลายจนรับไม่ไหว แต่เพราะเขาไม่มีความสุขเลย, ไม่ได้รับการเหลียวแล, และถูกโถมทับด้วยแรงกดดันเนื่องจากในวัยเยาว์เช่นนั้น เขา ‘ต้องดูแลตนเอง’ และนั่นก็หนักเกินจะรับไหว.” เธอกล่าวเสริมว่า “มันเป็นสิ่งที่น่าตระหนกสำหรับเด็กหนุ่มสาวที่คิดว่าตนจะต้องรับผิดชอบเรื่องราวต่าง ๆ.” จริงอยู่ เด็ก ๆ อาจพยายามหลบหลีกหรือปฏิเสธการว่ากล่าวตีสอน แต่จริง ๆ แล้ว เขาหยั่งรู้ค่าการชี้นำและข้อจำกัดจากบิดามารดา. พวกเขามีความสุขที่บิดามารดาคอยเอาใจใส่ดูแลด้วยการวางข้อกำหนดให้เขา. “สำหรับผมแล้วเหมือนยกภูเขาออกจากอก.” นี่คือคำพูดของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งบิดามารดาของเขาได้ทำดังกล่าว.
16. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับเด็กบางคนที่ได้รับการเลี้ยงดูในบ้านของคริสเตียน? (ข) เหตุใดความดื้อรั้นของเด็กคนหนึ่งไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเป็นเพราะบิดามารดาให้การอบรมสั่งสอนไม่ดี?
16 กระนั้น ทั้ง ๆ ที่มีบิดามารดาซึ่งรักเขาและให้การอบรมเลี้ยงดูเขาเป็นอย่างดี แต่เด็กวัยรุ่นบางคน ก็เหมือนบุตรสุรุ่ยสุร่ายในอุทาหรณ์ของพระเยซู ปฏิเสธการชี้นำของบิดามารดาและหลงผิดไป. (ลูกา 15:11-16) อย่างไรก็ดี ที่เป็นเช่นนั้นคงไม่หมายความว่า บิดามารดาไม่ได้ปฏิบัติสมกับความรับผิดชอบที่ตนต้องอบรมสั่งสอนบุตรอย่างเหมาะสม ดังสุภาษิต 22:6 ชี้นำไว้. ข้อความที่ว่า ‘ฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤติ แล้วเขาจะไม่ออกไปจากทางนั้น’ เป็นการให้หลักทั่วไป. น่าเสียดาย เหมือนบุตรสุรุ่ยสุร่ายคนนั้น เด็กบางคนจะ ‘ดูหมิ่นไม่เชื่อฟังบิดามารดา.’—สุภาษิต 30:17.
17. บิดามารดาของเด็กที่ดื้อรั้นอาจจะหาคำปลอบใจได้จากแหล่งใด?
17 บิดาของลูกชายที่ดื้อรั้นคนหนึ่งรำพันดังนี้: “ผมพยายามแล้วพยายามเล่าเพื่อจะเข้าถึงหัวใจของลูก. ผมไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะพยายามหลายวิธีแล้ว. มันไม่ได้ผล.” ได้แต่หวังว่า เมื่อเวลาผ่านไป ลูกที่ดื้อรั้นเช่นนั้นจะนึกได้ถึงการอบรมตีสอนด้วยความรักที่เขาได้รับจากบิดามารดาและจะกลับมาเหมือนบุตรสุรุ่ยสุร่าย. กระนั้น ข้อเท็จจริงยังมีอยู่ บุตรบางคนดื้อรั้นและประพฤติผิดศีลธรรม ยังความปวดร้าวใจอย่างหนักแก่บิดามารดา. ผู้เป็นบิดามารดาอาจได้รับการปลอบประโลมเมื่อรู้ว่า แม้แต่ครูผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยเห็นได้ประสบว่ายูดา อิศการิโอด ศิษย์ที่ติดตามพระองค์อยู่นานก็ยังทรยศพระองค์. และไม่ต้องสงสัย พระยะโฮวาเองทรงเศร้าพระทัยมากเพียงใดเมื่อบุตรกายวิญญาณหลายองค์ได้ปฏิเสธคำแนะนำของพระองค์ และตั้งตัวเป็นกบฏทั้ง ๆ ที่พระเจ้าไม่มีความผิดเลย.—ลูกา 22:47, 48; วิวรณ์ 12:9.
บุตรทั้งหลาย—คุณจะทำให้ผู้ใดพอใจ?
18. เด็กทั้งหลายจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าเขาให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรก?
18 พระยะโฮวาทรงกระตุ้นเตือนคุณทั้งหลายซึ่งเป็นเยาวชนดังนี้: “จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (เอเฟโซ 6:1, ล.ม.) เด็กหนุ่มสาวรับเอาพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกก็โดยการประพฤติดังกล่าว. อย่าเป็นคนเขลา! พระคำของพระเจ้าว่าดังนี้: “คนโฉดเขลามักประมาทคำสั่งสอนของบิดาตน.” และคุณไม่ควรเลยที่จะสำคัญผิดด้วยความทะนงคิดว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้โดยไม่ต้องรับคำตีสอน. ข้อเท็จจริงคือ “มีคนชนิดหนึ่งที่ตาของตนเห็นว่าเป็นคนบริสุทธิ์, แต่เขาหาได้ชำระล้างความโสโครกจากใจของเขาไม่.” (สุภาษิต 15:5; 30:12) ฉะนั้น จงเชื่อฟังการชี้นำจากพระเจ้า ที่ให้ “ฟัง,” “รักษาไว้,” “อย่าลืม,” “สนใจ,” “จงรักษา,” และ “อย่าละทิ้ง” ข้อบัญญัติต่าง ๆ และการตีสอนของบิดามารดา.—สุภาษิต 1:8; 2:1; 3:1; 4:1; 6:20.
19. (ก) เด็กทั้งหลายมีเหตุผลที่หนักแน่นอะไรบ้างที่จะเชื่อฟังพระยะโฮวา? (ข) คนหนุ่มสาวทั้งหลายจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าตนสำนึกในพระกรุณาคุณของพระเจ้า?
19 คุณมีเหตุผลอันหนักแน่นที่จะเชื่อฟังพระยะโฮวา. พระองค์ทรงรักคุณ และพระองค์ประทานข้อบัญญัติต่าง ๆ รวมทั้งบัญญัติที่สั่งบุตรให้เชื่อฟังบิดามารดาของตน เพื่อป้องกันคุณและช่วยคุณมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข. (ยะซายา 48:17) นอกจากนั้น พระองค์ทรงประทานพระบุตรให้ลงมาวายพระชนม์เพื่อคุณจะรอดพ้นบาปและความตายและมีชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 3:16) คุณสำนึกในพระกรุณาคุณไหม? พระเจ้าทอดพระเนตรจากสวรรค์ ทรงพิจารณาดูหัวใจของคุณว่าคุณรักพระองค์และหยั่งรู้ค่าการจัดเตรียมของพระองค์หรือไม่. (บทเพลงสรรเสริญ 14:2) ซาตานก็เฝ้าดูอยู่เหมือนกัน และมันเย้ยพระเจ้า โดยการอ้างว่าคุณจะไม่เชื่อฟังพระองค์. เมื่อใดคุณไม่เชื่อฟังพระเจ้า ซาตานจะยินดีปรีดา แต่พระยะโฮวา “ทรงเศร้าพระทัย.” (บทเพลงสรรเสริญ 78:40, 41) พระยะโฮวาทรงขอร้องคุณดังนี้: “ศิษย์ [บุตรชาย, ล.ม.] ของเราเอ๋ย, จงมีปัญญาขึ้น, และกระทำให้ใจของเรามีความยินดี [โดยเชื่อฟังเรา]; เพื่อเราจะมีคำตอบคนที่ตำหนิเราได้.” (สุภาษิต 27:11) ปัญหาคือว่า คุณจะทำให้ผู้ใดพอใจ ซาตานหรือพระยะโฮวา?
20. เด็กสาวคนหนึ่งคงไว้ซึ่งความกล้าหาญโดยวิธีใดที่จะรับใช้พระยะโฮวาแม้จะอยู่ในสภาพที่เธอรู้สึกหวาดกลัว?
20 ไม่ง่ายที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเมื่อเผชิญความกดดันที่ซาตานและโลกของมันก่อให้เกิดแก่คุณ. การทำเช่นนั้นอาจทำให้คุณหวั่นกลัว. เด็กสาวคนหนึ่งบอกว่า “ความหวั่นกลัวก็เหมือนกับความรู้สึกหนาว. คุณสามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้.” เธอชี้แจงว่า “เมื่อคุณหนาว คุณก็ใส่เสื้อกันหนาว. ถ้ายังไม่หายหนาว คุณก็ใส่ทับเข้าไปอีกตัวหนึ่ง. และใส่อะไรทับเข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหายหนาว และคุณไม่รู้สึกหนาวต่อไป. ดังนั้น การทูลอธิษฐานต่อพระยะโฮวาขณะที่คุณหวั่นกลัวก็เหมือนกับการใส่เสื้อกันหนาวเมื่อคุณหนาว. หลังจากอธิษฐานแล้ว ถ้าดิฉันยังหวั่นกลัวอยู่ ดิฉันจะอธิษฐานอีก แล้วอธิษฐานอีก จนกระทั่งไม่รู้สึกหวั่นกลัวอีกต่อไป. การทำแบบนี้ได้ผล. มันช่วยดิฉันพ้นความยุ่งยาก!”
21. พระยะโฮวาจะทรงสนับสนุนพวกเราอย่างไรถ้าเราพยายามจัดให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา?
21 ถ้าเราพยายามจริงจังเพื่อให้พระเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา พระยะโฮวาจะทรงสนับสนุนเราเสมอ. พระองค์จะเพิ่มกำลังแก่เรา จะทรงจัดทูตสวรรค์ช่วยเราเมื่อถึงคราวจำเป็น อย่างที่ได้ทรงกระทำเพื่อพระบุตรของพระองค์. (มัดธาย 18:10; ลูกา 22:43) บิดามารดาทั้งหลายและผู้เป็นบุตรทุกคน จงมีใจกล้า. จงมีความเกรงกลัวเยี่ยงพระคริสต์ แล้วคุณจะประสบความชื่นชมยินดี. (ยะซายา 11:3) ใช่แล้ว “จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์. เพราะนี่คือพันธะทั้งสิ้นของมนุษย์.”—ท่านผู้ประกาศ 12:13, ล.ม.
คุณตอบได้ไหม?
▫ สาวกสมัยแรกของพระเยซูจำเป็นต้องทำหน้าที่รับผิดชอบอะไรให้สมดุล?
▫ บิดามารดาคริสเตียนต้องปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบอะไรให้ครบถ้วน?
▫ การช่วยเหลืออะไรมีไว้สำหรับคริสเตียนผู้ปกครองที่มีครอบครัว?
▫ พี่น้องหญิงอาจปฏิบัติงานรับใช้อะไรที่ให้คุณค่าในประชาคม?
▫ เด็กทั้งหลายจำเป็นต้องเชื่อฟังคำแนะนำและการชี้นำอะไร?
[รูปภาพหน้า 15]
บ่อยครั้งสตรีอาวุโสสามารถให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่สตรีที่อ่อนวัยกว่า
[รูปภาพหน้า 17]
บิดามารดาที่มีบุตรดื้อรั้นอาจได้รับการปลอบประโลมอะไรจากพระคัมภีร์?