ติโต—“เพื่อนร่วมงานเพื่อประโยชน์ของท่านทั้งหลาย”
ปัญหาต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในประชาคมคริสเตียนสมัยศตวรรษแรก. ปัญหาเหล่านี้จำต้องได้รับการแก้ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความกล้าและการเชื่อฟัง. ชายผู้หนึ่งที่เคยเผชิญข้อท้าทายเหล่านี้มากกว่าหนึ่งครั้งและประสบความสำเร็จคือ ติโต. เนื่องจากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมงานกับอัครสาวกเปาโล ท่านจึงบากบั่นอย่างจริงจังเพื่อช่วยคนอื่นทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนี้ เปาโลได้แจ้งพวกคริสเตียนในเมืองโกรินโธว่าติโตคือ ‘เพื่อนร่วมงานเพื่อประโยชน์ของพวกเขา.’—2 โกรินโธ 8:23, ล.ม.
ติโตเป็นใคร? ท่านมีบทบาทอะไรในการแก้ปัญหาต่าง ๆ? และเราจะได้ประโยชน์อย่างไรจากการพิจารณาความประพฤติของท่าน?
ประเด็นการรับสุหนัต
ติโตเป็นคนกรีกที่ไม่ได้รับสุหนัต. (ฆะลาเตีย 2:3)a เนื่องจากเปาโลเรียกท่านว่า “ผู้เป็นบุตรแท้ของข้าพเจ้าตามความเชื่อซึ่งถืออย่างเดียวกัน” ติโตอาจได้เป็นบุตรฝ่ายวิญญาณคนหนึ่งของเปาโล. (ติโต 1:4; เทียบกับ 1 ติโมเธียว 1:2.) ติโตอยู่กับเปาโล, บาระนาบา, และบางคนที่มาจากอันติโอเกีย ซีเรีย คราวที่พวกเขาไปกรุงยะรูซาเลมเพื่อพิจารณาปัญหาการรับสุหนัตประมาณปี ส.ศ. 49.—กิจการ 15:1, 2; ฆะลาเตีย 2:1.
เนื่องจากการเปลี่ยนศาสนาท่ามกลางคนต่างชาติที่ไม่ได้รับสุหนัตเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในยะรูซาเลม จึงเป็นเรื่องชวนให้คิดว่าการพาติโตร่วมทางไปด้วยนั้นก็เพื่อแสดงว่าคนยิวและคนที่ไม่ใช่ยิวสามารถได้รับความโปรดปรานของพระเจ้า ไม่ว่าเขาได้รับสุหนัตหรือไม่ก็ตาม. สมาชิกบางคนในประชาคมยะรูซาเลมซึ่งเคยเป็นพวกฟาริซายมาก่อนที่ได้รับรองเอาหลักการคริสเตียนได้โต้แย้งว่า คนต่างชาติที่เปลี่ยนศาสนามีพันธะต้องรับสุหนัตและปฏิบัติตามพระบัญญัติ แต่ข้อโต้แย้งนี้ถูกโต้ต้าน. การบังคับติโตและชาวต่างชาติคนอื่นให้รับสุหนัตคงเป็นการปฏิเสธความรอดซึ่งขึ้นอยู่กับพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาและด้วยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ แทนที่จะได้ด้วยการประพฤติตามพระบัญญัติ. นอกจากนี้ ยังเป็นการปฏิเสธพยานหลักฐานที่ว่าคนต่างชาติหรือผู้คนจากนานาชาติต่างก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า.—กิจการ 15:5-12.
ถูกส่งตัวไปเมืองโกรินโธ
เมื่อประเด็นการรับสุหนัตยุติลงแล้ว เปาโลกับบาระนาบาได้รับมอบอำนาจเต็มที่ให้ประกาศแก่ชนชาติต่าง ๆ. ในเวลาเดียวกัน คนทั้งสองก็พยายามที่จะคำนึงถึงคนอนาถา. (ฆะลาเตีย 2:9, 10) อันที่จริง เมื่อชื่อติโตปรากฏอีกครั้งหนึ่งในบันทึกที่เขียนโดยการดลใจประมาณหกปีภายหลัง ตอนนั้นท่านอยู่ที่เมืองโกรินโธฐานะตัวแทนของเปาโลในการรวบรวมเงินบริจาคสำหรับสิทธชน. แต่ขณะที่ติโตปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ท่านประสบว่าตัวเองตกอยู่ภายใต้สถานการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด.
จดหมายโต้ตอบที่เปาโลเขียนไปถึงคริสเตียนชาวโกรินโธเผยให้รู้ว่าทีแรกท่านได้เขียนถึงพวกเขาว่า “อย่าคบคนที่ผิดประเวณี.” ท่านต้องกำชับเขาให้ขับไล่คนผิดประเวณีที่ไม่กลับใจออกไปให้พ้น. ใช่แล้ว เปาโลเขียนจดหมายอันมีพลังถึงพวกเขา ท่านทำเช่นนั้นด้วย “น้ำตาไหล.” (1 โกรินโธ 5:9-13; 2 โกรินโธ 2:4) ในระหว่างนั้น ติโตถูกส่งไปยังเมืองโกรินโธเพื่อช่วยรวบรวมเงินบริจาคที่นั่นสำหรับคริสเตียนชาวยูดายที่ขัดสน. อาจเป็นได้เช่นกันว่าท่านถูกส่งไปให้สังเกตการตอบรับของชาวโกรินโธเมื่อเขาได้จดหมายของเปาโลแล้ว.—2 โกรินโธ 8:1-6.
ชาวโกรินโธจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำแนะนำของเปาโล? ด้วยความร้อนใจใคร่รู้ เปาโลอาจได้ส่งติโตจากเมืองเอเฟโซข้ามทะเลอีเจียนไปยังเมืองโกรินโธ พร้อมกับคำสั่งให้รายงานกลับโดยเร็ว. ถ้าเสร็จภารกิจนั้นก่อนหมดฤดูการเดินเรือช่วงฤดูหนาว (ตกประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน) ติโตก็อาจลงเรือไปเมืองโตรอาหรือเดินทางบกระยะไกลกว่าผ่านเฮลเลสพอนต์. อาจเป็นได้ว่าเปาโลไปถึงจุดนัดพบในเมืองโตรอาก่อนวันที่ตกลงกัน. เพราะเหตุที่ช่างเงินได้ก่อความวุ่นวายจนท่านต้องออกจากเมืองเอเฟโซเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้. ภายหลังการคอยอยู่ในเมืองโตรอาด้วยความกังวลใจ เปาโลรู้ว่าติโตคงไม่มาทางเรือ. ดังนั้น เปาโลจึงมุ่งหน้าไปทางบกด้วยความหวังจะพบกันระหว่างทาง. ครั้นถึงดินแดนยุโรป เปาโลได้ใช้เส้นทางเวีย เอกนาเทีย และในที่สุดก็พบติโตในมากะโดเนีย. เปาโลรู้สึกโล่งอกและปีติยินดีเพราะข่าวจากเมืองโกรินโธเป็นข่าวดี. ประชาคมที่นั่นได้ตอบรับคำแนะนำของอัครสาวกอย่างน่าพอใจ.—2 โกรินโธ 2:12, 13; 7:5-7.
แม้ว่าเปาโลรู้สึกกังวลใจว่าคนที่ท่านใช้ไปทำงานนั้นจะได้รับการต้อนรับเช่นไร แต่พระเจ้าทรงช่วยเหลือติโตในการทำภารกิจที่ถูกมอบหมายกระทั่งสำเร็จ. ติโตได้รับการต้อนรับ “ด้วยความยำเกรงจนตัวสั่น.” (2 โกรินโธ 7:8-15) ที่จะใช้ถ้อยคำของ ดับเบิลยู. ดี. โทมัส ผู้ให้อรรถาธิบายกล่าวว่า “เราอาจสันนิษฐานได้ว่าโดยไม่ได้ลดความสำคัญของคำตำหนิอย่างรุนแรงในจดหมายของเปาโลนั้นให้เบาบางลง [ติโต] ได้ขอร้องชาวโกรินโธอย่างมีวาทศิลป์และอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาว พูดรับรองกับพวกเขาถึงการที่เปาโลได้พูดเช่นนั้นก็เพราะคำนึงถึงสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของพวกเขานั่นเอง.” ในเวลาเดียวกันติโตเกิดมีความรักต่อคริสเตียนชาวโกรินโธก็เพราะพวกเขามีน้ำใจเชื่อฟังและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี. เจตคติอันน่ายกย่องของพวกเขาปรากฏว่าเป็นแหล่งการหนุนใจแก่ท่าน.
จะว่าอย่างไรกับแง่มุมอื่นเกี่ยวด้วยภารกิจที่มอบหมายให้ติโตไปเมืองโกรินโธ—การรวบรวมเงินบริจาคสำหรับสิทธชนในแคว้นยูดาย? ติโตได้ทำหน้าที่นี้เช่นกัน อย่างที่วินิจฉัยได้จากเรื่องราวที่ปรากฏในพระธรรม 2 โกรินโธ. จดหมายฉบับที่สองนี้อาจเขียนที่เมืองมาซิโดเนีย ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ส.ศ. 55 ไม่นานภายหลังการพบกันระหว่างติโตกับเปาโล. เปาโลเขียนว่า ติโตผู้ริเริ่มดำเนินการรวบรวมเงินบริจาค เวลานี้ได้เดินทางกลับพร้อมกับผู้ช่วยที่ไม่มีการเอ่ยชื่ออีกสองคนเพื่อกระทำการนั้นให้สำเร็จ. เนื่องจากมีความสนใจอย่างแรงกล้าต่อชาวโกรินโธ ติโตจึงมีใจพร้อมจะกลับไป. ขณะที่ติโตมุ่งเดินทางกลับไปเมืองโกรินโธ ท่านคงได้นำจดหมายฉบับที่สองของเปาโลซึ่งเขียนโดยการดลใจจากพระเจ้านั้นไปให้ชาวเมืองโกรินโธด้วย.—2 โกรินโธ 8:6, 17, 18, 22.
ติโตไม่เพียงแต่เป็นคนจัดระเบียบได้ดี แต่ท่านเป็นคนประเภทที่เชื่อใจได้ทีเดียวเมื่อมอบภารกิจที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในสภาพการณ์ที่ยุ่งยาก. ท่านเป็นคนกล้า มีวุฒิภาวะและเด็ดเดี่ยว. ปรากฏชัดว่าเปาโลพิจารณาและเห็นว่าติโตมีความสามารถจัดการกับข้อท้าทายต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ตอนนั้นจาก “อัครสาวกเขื่อง ๆ เหล่านั้น” ของเมืองโกรินโธ. (2 โกรินโธ 11:5) ความประทับใจเกี่ยวกับติโตนี้ได้รับการยืนยันในพระคัมภีร์เมื่อท่านได้ปรากฏตัวครั้งถัดไป ในงานมอบหมายอีกแห่งหนึ่งซึ่งต้องใช้เวลาและความเอาใจใส่มาก.
บนเกาะเกรเต
อาจจะเป็นไปได้ระหว่างปี ส.ศ. 61 และ 64 ที่เปาโลเขียนถึงติโตซึ่งในเวลานั้นทำการเผยแพร่ที่เกาะเกรเตแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน. เปาโลทิ้งติโตไว้ที่นั่นเพื่อ “ท่านจะแก้ไขสิ่งที่บกพร่อง” และ “เพื่อจะทำการแต่งตั้งผู้เฒ่าผู้แก่ไว้ในทุกเมือง.” ชาวเกาะเกรเตโดยทั่วไปขึ้นชื่อว่า “เป็นคนพูดปดเสมอ, เป็นคนชนิดอย่างสัตว์ร้าย, เป็นคนเกียจคร้านกินเติบ.” ดังนั้น ที่เกรเตนี่เอง ติโตจำเป็นต้องลงมือดำเนินการด้วยความกล้าและเด็ดเดี่ยวอีกครั้งหนึ่ง. (ติโต 1:5, ล.ม., 10-12) เป็นงานที่ต้องรับผิดชอบหนัก เพราะคล้าย ๆ กับว่าเป็นการกำหนดอนาคตของคริสเตียนบนเกาะนี้. ภายใต้การดลใจ เปาโลได้ช่วยติโตในการมองหาผู้ดูแลที่มีศักยภาพโดยได้ชี้ลักษณะเฉพาะของชายที่มีแววจะเป็นผู้ดูแล. คุณลักษณะเหล่านั้นยังคงนำมาใช้ปฏิบัติได้เมื่อมีการพิจารณาแต่งตั้งคริสเตียนผู้ปกครอง.
พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าติโตไปจากเกาะเกรเตเมื่อไร. ท่านอยู่ที่นั่นนานพอดูจนเปาโลได้ขอให้ท่านจัดหาสิ่งจำเป็นเผื่อเซนาและอะโปโล ซึ่งระหว่างเดินทางได้แวะพักที่นั่นโดยไม่ได้มีการระบุเวลาที่แน่ชัด. แต่ติโตคงอยู่บนเกาะไม่นานนัก. เปาโลมีโครงการจะส่งอะระเตมาหรือตุคิโกไปที่นั่น และจากนั้นติโตต้องไปพบอัครสาวกที่เมืองนิโกโปลี ดูเหมือนเป็นเมืองโดดเด่นตามชื่อตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกรีซ.—ติโต 3:12, 13.
จากการอ้างอิงอย่างคร่าว ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับติโต เราได้มารู้ว่าราว ๆ ปี ส.ศ. 65 เปาโลคงได้จัดส่งท่านไปยังเขตงานมอบหมายอีกแห่งหนึ่ง. ท่านไปที่ดัลมาเตีย ภูมิภาคทางตะวันออกของทะเลเอเดรียติก ปัจจุบันนี้คือสาธารณรัฐโครเอเชีย. (2 ติโมเธียว 4:10) เราไม่ได้รับการบอกเล่าเรื่องติโตไปทำอะไรที่นั่น แต่มีสิ่งชวนให้คิดว่าท่านถูกส่งไปดูแลกิจการภายในประชาคมและทำกิจกรรมเผยแพร่ในต่างแดน. ถ้าเป็นดังกล่าว ติโตก็คงทำหน้าที่นี้ทำนองเดียวกันกับที่ท่านได้ทำที่เกาะเกรเต.
เรารู้สึกขอบคุณเพียงไรที่เรามีคริสเตียนผู้ดูแลอาวุโสอย่างติโต! ความเข้าใจหลักการคริสเตียนอย่างแจ่มแจ้งและการใช้ความพยายามอย่างกล้าหาญของพวกเขาได้ช่วยปกป้องคุ้มกันสภาพฝ่ายวิญญาณของประชาคม. ขอให้เราเอาอย่างความเชื่อของพวกเขาและพิสูจน์ตัวเยี่ยงติโตโดยการส่งเสริมผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณของเพื่อนร่วมความเชื่อของเรา.—เฮ็บราย 13:7
[เชิงอรรถ]
a ฆะลาเตีย 2:3 พรรณนาถึงติโตว่าเป็นคนกรีก (เฮลʹเลน). ข้อนี้อาจหมายความว่าท่านเป็นเชื้อสายกรีก. อย่างไรก็ตาม มีการอ้างกันว่านักเขียนชาวกรีกบางคนได้ใช้คำนี้ในรูปพหูพจน์ (เฮลʹเลเนส) เมื่ออ้างถึงคนที่ไม่ใช่เชื้อสายกรีก แต่ใช้ภาษาและมีวัฒนธรรมแบบกรีก. เป็นไปได้ที่ติโตเป็นคนกรีกในแง่นี้.
[รูปภาพหน้า 31]
ติโตเป็นเพื่อนร่วมความเชื่อที่กล้าหาญเพื่อประโยชน์ของคริสเตียนในเมืองโกรินโธและที่อื่น