ความรักฉันพี่น้องดำเนินงานอยู่
จุดเด่นต่าง ๆ จากพระธรรมฟิเลโมน
พระเยซูคริสต์ประทาน “บัญญัติใหม่” แก่พวกสาวกของพระองค์ที่ว่าพวกเขาควรรักกันและกันเหมือนดังที่พระองค์ทรงรักพวกเขา. (โยฮัน 13:34, 35) เนื่องด้วยความรักเช่นนั้น พวกเขาคงพร้อมจะตายแทนกันและกันด้วยซ้ำ. ถูกแล้ว ความรักฉันพี่น้องแรงกล้าและดำเนินงานขนาดนั้น.
อัครสาวกเปาโลมั่นใจว่าความรักฉันพี่น้องจะกระตุ้นฟิเลโมน คริสเตียนที่สมทบกับประชาคมที่โกโลซาย เมืองหนึ่งในเอเชียไมเนอร์. ความรักได้กระตุ้นฟิเลโมนอยู่แล้วให้เปิดบ้านของเขาเพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมคริสเตียน. โอเนซิโมทาสของฟิเลโมนได้หนีไป บางทีอาจขโมยเงินไปใช้เป็นทุนในการเดินเรือไปยังกรุงโรม ที่ซึ่งต่อมาเขาได้พบเปาโล แล้วยอมรับหลักการคริสเตียน.
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ ณ กรุงโรมราว ๆ ปีสากลศักราช 60-61 เปาโลได้เขียนจดหมายถึงฟิเลโมนเป็นอันดับแรก. จดหมายนั้นอ้อนวอนฟิเลโมนให้ยอมรับโอเนซิโมที่กลับมานั้นด้วยน้ำใจแห่งความรักฉันพี่น้อง. จงอ่านจดหมายนี้ แล้วคุณจะพบว่านั่นเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความรักใคร่และความผ่อนหนักผ่อนเบา—คุณลักษณะที่พลไพร่ของพระยะโฮวาอาจเลียนแบบได้ทีเดียว.
คำชมเชยในเรื่องความรักและความเชื่อ
ในการพูดกับฟิเลโมนและคนอื่น ๆ ทีแรกเปาโลให้คำชมเชย. (ข้อ 1-7) อัครสาวกได้ยินถึงความรักที่ฟิเลโมนมีต่อพระคริสต์ และสิทธชนทั้งปวงอยู่เรื่อย ๆ และได้ยินถึงความเชื่อของเขา. ทั้งนี้กระตุ้นให้เปาโลขอบพระคุณพระยะโฮวา และนำความยินดีและความชูใจเป็นอันมากมายให้ท่าน. เราชมเชยเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นส่วนตัว ผู้ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความรักและความเชื่อไหม? เราน่าจะทำเช่นนั้น.
คำตักเตือนโดยอาศัยความรักเป็นสิ่งพึงปรารถนาเสมอในการปฏิบัติกับเพื่อนคริสเตียน ดังที่ถ้อยคำของเปาโลเผยให้เห็นนั้น. (ข้อ 8-14) หลังจากการเริ่มเรื่องอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาแล้ว อัครสาวกกล่าวว่าถึงแม้ท่านอาจบัญชาฟิเลโมน “ให้ทำสิ่งที่สมควร” ได้ ท่านกลับเลือกที่จะตักเตือนเขาแทน. ให้ทำอะไร? เอาละ ให้ยอมรับทาสโอเนซิโมกลับมาด้วยท่าทีที่กรุณา! เปาโลคงใคร่จะหน่วงเหนี่ยวการรับใช้ที่เป็นประโยชน์ของโอเนซิโมไว้ แต่คงไม่ทำเช่นนั้นโดยปราศจากการยินยอมของฟิเลโมน.
เหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่าไม่ราบรื่นปรากฏว่าเป็นประโยชน์อยู่เนือง ๆ ดังที่เปาโลได้ชี้แจงต่อไป. (ข้อ 15-21) ที่จริง เกิดผลดีเมื่อโอเนซิโมได้หนีไป. ทำไม? เพราะบัดนี้ฟิเลโมนสามารถรับเขากลับคืนมาในฐานะพี่น้องคริสเตียนที่มีความเต็มใจ ซื่อสัตย์ มิใช่ฐานะทาสที่ไม่เต็มใจ บางทีไม่ซื่อตรง. เปาโลขอให้ฟิเลโมนต้อนรับโอเนซิโมกลับมา เช่นที่เปาโลอาจได้การต้อนรับ. หากโอเนซิโมได้ทำผิดกับฟิเลโมนในประการใด ๆ อัครสาวกก็จะชดใช้ให้. เพื่อทำให้ฟิเลโมนยังคงเต็มใจยิ่งขึ้นที่จะทำตาม เปาโลเตือนให้เขาระลึกว่าเขาเองเป็นหนี้อัครสาวกในการเข้ามาเป็นคริสเตียน. เนื่องจากเหตุนี้ เปาโลแน่ใจว่าฟิเลโมนคงจะทำมากกว่าที่เขาถูกขอร้องให้ทำด้วยซ้ำ. ช่างเป็นคำอ้อนวอนที่ผ่อนหนักผ่อนเบา เปี่ยมด้วยความรักเสียนี่กระไร! นี้เป็นวิธีที่เราน่าจะปฏิบัติกับเพื่อนคริสเตียนอย่างแท้จริง.
เปาโลจบจดหมายของท่านด้วยความหวัง คำคำนับ และความปรารถนาดี. (ข้อ 22-25) ท่านหวังว่าโดยคำอธิษฐานของคนอื่น ๆ เผื่อท่าน ในไม่ช้าท่านจะได้รับการปล่อยจากที่คุมขัง. (ดังที่จดหมายฉบับที่สองของเปาโลถึงติโมเธียวแสดงให้เห็นนั้น คำอธิษฐานเหล่านั้นได้รับคำตอบ.) ในการจบจดหมายของท่าน เปาโลส่งคำคำนับแสดงความปรารถนาเพื่อความกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเยซูคริสต์จะสถิตอยู่กับน้ำใจที่ฟิเลโมนกับเพื่อนผู้นมัสการพระยะโฮวาด้วยกันกับท่านนั้นได้แสดงออก.
[กรอบ/รูปภาพหน้า 27]
ดียิ่งกว่าทาส: เกี่ยวกับการกลับมาของโอเนซิโมทาสของฟิเลโมนที่หนีไปนั้น เปาโลกล่าวว่า “เพราะเหตุนั้น . . . เขาจึงได้พลัดพรากไปจากท่านสักคราวหนึ่ง เพื่อท่านจะได้เขากลับคืนเป็นนิตย์ มิใช่เป็นทาสต่อไปแต่ดีกว่าทาสอีก คือว่าเป็นพี่น้องที่รัก เขาเป็นที่รักของข้าพเจ้ามาก แต่เป็นที่รักของท่านมากยิ่งกว่านั้นอีก ทั้งในเนื้อหนังและในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (ฟิเลโมน 15, 16) ในจักรภพโรมัน รัฐบาลของจักรพรรดิได้ใช้ระบบทาสบังคับการตามกฎหมาย และเปาโลได้ยอมรับ “ผู้มีอำนาจที่สูงกว่า” เช่นนั้น. (โรม 13:1-7) ท่านหาได้สนับสนุนการกบฏของทาสไม่ หากแต่ช่วยปัจเจกบุคคลดังกล่าวให้บรรลุถึงเสรีภาพฝ่ายวิญญาณฐานะเป็นคริสเตียน. ประสานกับคำแนะนำของท่านเองที่ให้ทาสยอมอยู่ใต้อำนาจของนาย เปาโลจึงได้ส่งโอเนซิโมกลับไปหาฟิเลโมน. (โกโลซาย 3:22-24; ติโต 2:9, 10) บัดนี้โอเนซิโมดียิ่งกว่าทาสฝ่ายโลก. เขาเป็นเพื่อนร่วมความเชื่อที่รัก ผู้ซึ่งยอมอยู่ใต้อำนาจที่มีขอบเขตของฟิเลโมนฐานะทาสที่ดีขึ้น ทาสที่ถูกควบคุมโดยหลักการของพระเจ้า และแสดงความรักฉันพี่น้อง.