พระเยซู—ผู้ปกครอง “อันสืบเนื่องมาแต่กาลดึกดำบรรพ์”
ความตื่นเต้นระทึกใจยิ่งเพิ่มมากขึ้นขณะคุณเฝ้าคอยการมาของญาติซึ่งไม่ได้เจอกันมานาน. ในที่สุดคุณก็ได้พบเขาและทักทายกันอย่างอบอุ่น. คุณตั้งอกตั้งใจฟังเขาเล่าสาเหตุที่บิดาส่งเขามาเยี่ยมคุณ. และยังไม่ทันไรเลยก็ถึงเวลาที่เขาจะต้องกลับไปบ้านเสียแล้ว. น่าเสียดายที่คุณจำใจกล่าวคำอำลาเขา. ความรู้สึกว้าวุ่นตอนที่เขาจากไปนั้นก็ลดลงเมื่อคุณรับข่าวว่าเขากลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ.
ภายหลัง เมื่อคุณค้นคว้าดูในเอกสารเก่า ๆ คุณได้มารู้ว่าเอกสารนั้นเป็นจดหมายสั้น ๆ ที่บันทึกเกียรติประวัติญาติของคุณไว้นานแล้วก่อนเขาเดินทางมาเยี่ยมคุณ. สิ่งที่เขียนในจดหมายเหล่านั้นให้ความหยั่งเห็นเข้าใจอย่างน่าสนใจแก่คุณเกี่ยวกับภูมิหลังของเขา และเป็นแรงเสริมความหยั่งรู้ค่าของคุณทั้งต่อการเยี่ยมเยือนของเขาและการงานที่เขาทำในปัจจุบัน.
“อันสืบเนื่องมาแต่กาลดึกดำบรรพ์”
จากเอกสารเก่าแก่มากมายซึ่งพอจะมีอยู่สำหรับชาวยิวในศตวรรษแรกได้แก่ข้อเขียนของมีคา ผู้พยากรณ์ของพระเจ้า ซึ่งจารึกไว้ราว ๆ เจ็ดร้อยปีก่อน. ข้อเขียนเหล่านี้มุ่งเน้นสถานที่ประสูติของพระมาซีฮา. “แต่ท่าน, บ้านเบธเลเฮ็มเอฟราธา, ซึ่งเป็นแต่หน่วยชนหมู่น้อยในหมู่บ้านจำนวนพันคนแห่งยะฮูดา, จะมีผู้หนึ่งแทนเราออกมาจากท่าน, ซึ่งจะเป็นกษัตริย์ครองยิศราเอล; อันสืบเนื่องมาแต่กาลดึกดำบรรพ์, จากดั้งเดิมโน้น.” (มีคา 5:2) ถ้อยคำนี้ได้สำเร็จเป็นจริง พระเยซูได้ประสูติที่หมู่บ้านเบธเลเฮ็มแคว้นยูเดียในปีที่ 2 ก่อนสากลศักราช ตามที่เรียกกันในปัจจุบัน. แต่เป็นไปได้อย่างไรว่าพระองค์มีเชื้อสาย “สืบเนื่องมาแต่กาลดึกดำบรรพ์”?
พระเยซูดำรงสภาพอยู่ก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์. ในจดหมายที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนชาวโกโลซาย ท่านได้พรรณนาว่า พระเยซูเป็น “แบบพระฉายของพระเจ้า ผู้ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา ได้ทรงบังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.”—โกโลซาย 1:15, ล.ม.
พระยะโฮวาผู้เป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญาทรงสร้างบุตรองค์แรกของพระองค์ “เป็นปฐมแห่งทางการ” ที่จะใช้ถ้อยคำซึ่งกษัตริย์ซะโลโมได้รับการดลใจให้บันทึกลงในพระธรรมสุภาษิต. หลังจากพระเยซูเสด็จมาอยู่บนแผ่นดินโลกระยะหนึ่ง และพระองค์ได้เสด็จกลับสวรรค์ พระองค์ให้การเป็นพยานว่า โดยแท้แล้ว พระองค์ “เป็นเบื้องต้นแห่งการทรงสร้างโดยพระเจ้า.” ฐานะที่พระปัญญาได้รับการพูดถึงเสมือนเป็นบุคคล พระเยซูซึ่งอยู่ก่อนมนุษยชาติจึงแถลงดังนี้: “ก่อน [พระยะโฮวา] ทรงจัดเตรียมให้มีฟ้าสวรรค์, เราก็เป็นอยู่ที่นั่นแล้ว.”—สุภาษิต 8:22, 23, 27; วิวรณ์ 3:14, ล.ม.
ตั้งแต่เริ่มแรก พระบุตรของพระเจ้าได้รับงานมอบหมายเป็นพิเศษ คือการเป็น “นายช่าง” เคียงข้างพระบิดาของพระองค์. ทั้งนี้ย่อมเป็นความปลาบปลื้มมากเพียงใดสำหรับพระยะโฮวา! “เราได้มาเป็นผู้ที่พระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษวันแล้ววันเล่า” สุภาษิต 8:30 (ล.ม.) ให้ข้อสังเกตและเพิ่มเติมว่า “เราชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์พระองค์ตลอดเวลา.”
ในเวลาต่อมา พระยะโฮวาได้เชิญพระบุตรหัวปีร่วมงานสร้างมนุษย์. พระองค์ตรัสว่า “จงให้เราสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของเรา.” (เยเนซิศ 1:26) ยังผลสืบเนื่องปรากฏเป็นความรักใคร่อีกแบบหนึ่งขึ้นมา. พระเยซูผู้ทรงเป็นอยู่ก่อนมนุษย์ได้ชี้แจงว่า “ความชื่นชมยินดีของเราก็คลุกคลีอยู่กับพงศ์พันธุ์ของมนุษย์.” (สุภาษิต 8:31) ตอนเริ่มต้นหนังสือกิตติคุณที่เขียนโดยอัครสาวกโยฮัน ท่านยอมรับบทบาทของพระเยซูก่อนมาเป็นมนุษย์เกี่ยวด้วยการสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงดังนี้: “สิ่งทั้งปวงเป็นขึ้นมาโดยพระองค์ และไม่มีแม้แต่สิ่งเดียวที่เป็นขึ้นโดยปราศจากพระองค์.”—โยฮัน 1:3, ล.ม.
โฆษกของพระยะโฮวา
ถ้อยคำของโยฮันมุ่งเน้นความสนใจไปที่สิทธิพิเศษอีกประการหนึ่งซึ่งพระบุตรของพระเจ้ามี นั่นคือการเป็นโฆษก. ตั้งแต่เริ่มต้น พระองค์ได้ทำหน้าที่ฐานะเป็นพระคำ. ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระยะโฮวาตรัสกับอาดาม และภายหลังเมื่อพระองค์ตรัสกับอาดามพร้อมด้วยฮาวา เป็นไปได้ว่าพระองค์ได้ตรัสผ่านพระคำ. และใครเล่าจะถ่ายทอดคำแนะนำจากพระเจ้าเพื่อสวัสดิภาพของมนุษยชาติได้ดียิ่งกว่าผู้นั้นซึ่งมีใจยินดีในพวกเขาอยู่แล้ว?—โยฮัน 1:1, 2, ล.ม.
พระคำคงต้องระทมใจสักเพียงใดเมื่อเห็นฮาวาแล้วต่อมาอาดามไม่เชื่อฟังพระผู้สร้างของเขา! และพระองค์คงปรารถนาสักปานใดที่จะบำบัดแก้ไขความยุ่งยากเลวร้ายที่ตกทอดถึงลูกหลานของเขาเพราะการไม่เชื่อฟัง! (เยเนซิศ 2:15-17; 3:6, 8; โรม 5:12) พระยะโฮวาได้ทรงแถลงแก่ซาตานซึ่งสนับสนุนฮาวาให้ขืนอำนาจดังนี้: “เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน.” (เยเนซิศ 3:15, ล.ม.) เนื่องจากได้รู้เห็นเหตุการณ์ในสวนเอเดน พระคำย่อมตระหนักว่าในฐานะเป็นส่วนสำคัญแห่ง “พงศ์พันธุ์” ของผู้หญิง พระองค์ย่อมจะตกเป็นเป้าของความเกลียดชังที่ชั่วร้าย. พระองค์ทรงทราบว่าซาตานเป็นผู้ฆ่าคน.—โยฮัน 8:44.
อยู่มาภายหลังเมื่อซาตานโต้แย้งในเรื่องความซื่อสัตย์มั่นคงของโยบผู้สัตย์ซื่อ พระคำคงต้องรู้สึกโกรธเมื่อมีการกล่าวหาผิด ๆ ให้ร้ายพระบิดาของพระองค์. (โยบ 1:6-10; 2:1-4) จริง ๆ แล้ว ในบทบาทของพระองค์ฐานะเป็นอัครทูตสวรรค์ พระคำเป็นที่รู้จักกันว่ามิคาเอล ชื่อนี้หมายความว่า “ใครจะเสมอเหมือนพระเจ้า?” และบ่งชี้ว่าพระองค์สนับสนุนพระยะโฮวามากเพียงใดเมื่อต่อสู้กับบรรดาศัตรูที่คิดแย่งตำแหน่งความเป็นพระเจ้าองค์สูงสุด.—ดานิเอล 12:1; วิวรณ์ 12:7-10.
ขณะที่ประวัติศาสตร์ยิศราเอลได้เปิดฉาก พระคำได้เฝ้าสังเกตความพยายามของซาตานที่จะชักนำมนุษย์ไปจากการนมัสการบริสุทธิ์. ภายหลังการอพยพออกจากประเทศอียิปต์ พระเจ้าตรัสแก่ชาติยิศราเอลผ่านทางโมเซดังนี้: “นี่แหละ, เราจะใช้ทูตของเราไปข้างหน้าพวกเจ้า, เพื่อรักษาพวกเจ้าตามทาง, นำไปถึงที่นั่นซึ่งเราได้เตรียมไว้. จงสนใจนำพาต่อทูตนั้นและจงเชื่อฟังคำของท่าน; อย่าทำให้ท่านโกรธเคือง; เพราะท่านจะไม่ยกความผิดของเจ้าเลย: ด้วยพระนามของเราอยู่กับท่าน.” (เอ็กโซโด 23:20, 21) ใครคือทูตองค์นี้? มีทางเป็นไปได้มากที่ทูตนั้นคือพระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์.
การอยู่ใต้อำนาจอย่างซื่อสัตย์
โมเซสิ้นชีวิตในปี 1473 ก่อนสากลศักราช และศพของท่านถูกฝัง “ที่หุบเขาในเมืองโมอาบนั้นตรงหน้าตำบลเบธฟโอร.” (พระบัญญัติ 34:5, 6) ดูเหมือนซาตานต้องการจะใช้ศพนั้น บางทีเพื่อเป็นสื่อส่งเสริมการบูชารูปเคารพ. มิคาเอลเข้าขัดขวาง แต่ก็ด้วยการนบนอบจึงได้แสดงความเคารพต่อสิทธิอำนาจของพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์. มิคาเอล ‘มิได้บังอาจที่จะนำการพิพากษามาสู่พญามารด้วยคำหยาบคาย’ แต่เตือนซาตานว่า “ขอพระยะโฮวาทรงต่อว่าเจ้าเถิด.”—ยูดา 9, ล.ม.
ถัดจากนั้น ชาติยิศราเอลเริ่มพิชิตคะนาอันแผ่นดินแห่งคำสัญญา. ใกล้กับเมืองยะริโฮนั่นเอง ยะโฮซูอะได้รับคำรับรองจากพระคำให้มั่นใจว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยดูแลชาตินี้อย่างต่อเนื่อง. ที่นั่น ยะโฮซูอะเผชิญหน้าชายผู้หนึ่งชักดาบออกมาถือไว้. ท่านจึงเดินเข้าไปใกล้คนแปลกหน้า และถามว่า “ท่านอยู่ฝ่ายเราหรืออยู่ฝ่ายศัตรู?” นึกภาพยะโฮซูอะแสดงความประหลาดใจเมื่อชายแปลกหน้าเปิดเผยฐานะตนเอง โดยกล่าวว่า “มิใช่, เรามาเป็นนายพลโยธาแห่งพระยะโฮวา.” ไม่แปลกที่ยะโฮซูอะซบหน้าลงถึงดินจำเพาะตัวแทนองค์สูงศักดิ์ของพระยะโฮวา ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่า นั่นคือพระเยซูผู้ซึ่งดำรงสภาพก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งในเวลาต่อมาจะได้เป็น “มาซีฮาผู้นำ.”—ยะโฮซูอะ 5:13-15; ดานิเอล 9:25, ล.ม.
การเผชิญหน้ากับซาตานอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยดานิเอล ผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. คราวนั้น มิคาเอลได้เข้าช่วยเหลือเพื่อนทูตสวรรค์ด้วยกันเมื่อเทพผู้พิทักษ์อาณาจักรเปอร์เซีย ‘ขัดขวาง’ ไว้ถึงสามสัปดาห์. ทูตสวรรค์องค์นี้ชี้แจงว่า “แต่มิคาเอล, อัครเทวทูต, ได้มาช่วยข้าพเจ้า, ข้าพเจ้าจึงได้ผละออกและละท่านไว้กับเทพผู้พิทักษ์อาณาจักรฟารัศ.”—ดานิเอล 10:13, 21.
เกียรติยศก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์ และขณะที่เป็นมนุษย์
ปี 778 ก่อนสากลศักราช เป็นปีที่อุซียากษัตริย์ยูดาสิ้นพระชนม์ ผู้พยากรณ์ยะซายาได้เห็นนิมิตพระยะโฮวาประทับบนพระที่นั่งอันสูงส่ง. พระยะโฮวาตรัสถามว่า “เราจะใช้ผู้ใดไป, และผู้ใดจะไปแทนเรา.” ยะซายาได้อาสา แต่พระยะโฮวาทรงเตือนท่านว่ายิศราเอลเพื่อนร่วมชาติจะไม่รับฟังคำแถลงใด ๆ จากท่าน. อัครสาวกโยฮันเปรียบชาวยิวที่ไม่เชื่อถือสมัยศตวรรษแรกเป็นเหมือนผู้คนสมัยยะซายา และให้ข้อสังเกตว่า “ยะซายาได้กล่าวอย่างนั้นเพราะท่านได้เห็นสง่าราศีของพระองค์.” สง่าราศีของใคร? ของพระยะโฮวา และของพระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์ขณะเคียงข้างพระองค์ในสวรรค์.—ยะซายา 6:1, 8-10; โยฮัน 12:37-41, ล.ม.
หลายศตวรรษต่อมาพระเยซูได้รับหน้าที่มอบหมายสำคัญที่สุดจวบจนถึงเวลานั้น. พระยะโฮวาทรงย้ายพลังชีวิตของพระบุตรที่รักของพระองค์จากสวรรค์เข้าสู่ครรภ์มาเรีย. เก้าเดือนต่อมา นางก็ให้กำเนิดทารกเพศชาย คือพระเยซู. (ลูกา 2:1-7, 21) ตามถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่กล่าวว่า “เมื่อครบกำหนดแล้ว, พระเจ้าจึงทรงใช้พระบุตรของพระองค์มา, ให้ประสูติแต่สตรี.” (ฆะลาเตีย 4:4) อัครสาวกโยฮันก็ยอมรับเช่นกันที่ว่า “พระวาทะจึงได้กลายเป็นเนื้อหนัง และทรงอยู่ท่ามกลางพวกเรา และเราได้เห็นสง่าราศีของพระองค์ คือสง่าราศีซึ่งเป็นของพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวจากพระบิดา; และพระองค์บริบูรณ์ไปด้วยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับและความจริง.”—โยฮัน 1:14, ล.ม.
พระมาซีฮาปรากฏตัว
อย่างน้อยเมื่อพระชนมายุ 12 พรรษา พระเยซูในวัยเด็กได้มาหยั่งรู้ว่าพระองค์ต้องหมกมุ่นทำงานของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์. (ลูกา 2:48, 49) ประมาณ 18 ปีหลังจากนั้น พระเยซูเสด็จไปหาโยฮันผู้ให้บัพติสมาที่แม่น้ำยาระเดน และขอรับบัพติสมา. ขณะพระเยซูทรงอธิษฐานอยู่นั้น สวรรค์ก็ได้เปิดออก และพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ลงมาบนพระองค์. นึกภาพกระแสความทรงจำไหลสู่จิตใจของพระองค์ในขณะที่ทรงรำลึกถึงอดีตหลายพันหลายหมื่นปีนับไม่ถ้วนที่พระองค์ได้ปฏิบัติงานอยู่เคียงข้างพระบิดาฐานะเป็นนายช่าง, โฆษก, นายพลโยธาแห่งกองทัพของพระเจ้า, และเป็นมิคาเอลอัครทูตสวรรค์. ครั้นแล้วพลันเกิดความยินดีปรีดาเมื่อได้ยินพระสุรเสียงของพระบิดาตรัสแก่โยฮันผู้ให้รับบัพติสมาดังนี้: “ท่านนี้เป็นบุตรที่รักของเรา เราชอบใจท่านมาก.”—มัดธาย 3:16, 17; ลูกา 3:21, 22.
โยฮันผู้ให้บัพติสมาไม่สงสัยการดำรงชีวิตของพระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน. เมื่อพระเยซูเสด็จมาใกล้ โยฮันได้ประกาศดังนี้: “ดูแน่ะ พระเมษโปดกของพระเจ้าซึ่งรับบาปของโลกไป!” และได้กล่าวเสริมว่า “ผู้นี้แหละที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงว่า ภายหลังข้าพเจ้าจะมีผู้หนึ่งมา ผู้ซึ่งได้ล้ำหน้าข้าพเจ้าไป เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนข้าพเจ้า.” (โยฮัน 1:15, 29, 30, ล.ม.) อัครสาวกโยฮันรู้เช่นกันเกี่ยวกับการดำรงอยู่ก่อนของพระเยซู. ท่านจารึกไว้ว่า “พระองค์ผู้เสด็จมาจากเบื้องบนก็อยู่เหนือผู้อื่นทั้งหมด” และ “พระองค์ผู้เสด็จมาจากสวรรค์ ก็อยู่เหนือผู้อื่นทั้งหมด. พระองค์ทรงให้คำพยานถึงสิ่งซึ่งพระองค์ทรงเห็นและได้ยิน.”—โยฮัน 3:31, 32, ล.ม.
ประมาณปีสากลศักราช 61 อัครสาวกเปาโลได้กระตุ้นเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูให้หยั่งรู้ค่าความสำคัญเต็มขนาดเกี่ยวกับการเสด็จมาในโลกของพระมาซีฮา และการงานของพระองค์ในฐานะมหาปุโรหิต. เมื่อนำความสนใจเข้าสู่บทบาทของพระเยซูฐานะเป็นโฆษกนั้น เปาโลเขียนดังนี้: “พระเจ้า . . . ในคราวที่สุดนี้ได้ตรัสแก่เราทางพระบุตร . . . .โดยพระบุตรนั้นพระองค์ได้ทรงสร้างโลกทั้งหลาย [“ระบบต่าง ๆ,” ล.ม.].” ไม่ว่าข้อความตอนนี้พาดพิงถึงบทบาทของพระเยซูฐานะเป็น “นายช่าง” ในคราวสร้างโลก หรือบ่งถึงการที่พระองค์ได้ร่วมอยู่ในการจัดเตรียมเป็นขั้น ๆ ของพระเจ้าเพื่อมนุษย์จะคืนดีกับพระองค์ ตรงนี้เปาโลให้การเป็นพยานเพิ่มเติมถึงการดำรงอยู่ของพระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์.—เฮ็บราย 1:1-6; 2:9.
ความภักดีตั้งแต่ “กาลดึกดำบรรพ์”
เปาโลได้กระตุ้นเตือนคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยสมัยศตวรรษแรกดังนี้: “จงรักษาน้ำใจอย่างนี้ไว้ในตัวท่านซึ่งน้ำใจอย่างนี้ก็มีอยู่ในพระคริสต์เยซูด้วย ผู้ซึ่งถึงแม้พระองค์ได้ดำรงอยู่ในลักษณะของพระเจ้าก็ตาม ไม่คิดจะแย่งชิง กล่าวคือการที่พระองค์จะได้เท่าเทียมกับพระเจ้า. เปล่าเลย แต่พระองค์ได้ยอมสละพระองค์เองแล้วก็รับเอาสภาพแห่งทาสและมารับเอารูปลักษณะเป็นมนุษย์. ยิ่งกว่านั้น เมื่อแลเห็นว่า พระองค์เองอยู่ในลักษณะมนุษย์แล้ว พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ และยอมเชื่อฟังจนถึงความมรณา คือความมรณาบนหลักทรมาน.” (ฟิลิปปอย 2:5-8, ล.ม.) ด้วยความรัก พระยะโฮวาทรงตอบสนองแนวทางที่ภักดีของพระเยซูโดยทรงปลุกพระองค์ให้คืนพระชนม์ ครั้นแล้วทรงต้อนรับพระองค์กลับสู่สวรรค์. ช่างเป็นตัวอย่างล้ำเลิศเสียนี่กระไรในเรื่องความซี่อสัตย์มั่นคงตลอดเวลายาวนานนิรันดร์ซึ่งพระเยซูทรงละไว้ให้พวกเรา!—1 เปโตร 2:21.
เราขอบคุณเพียงใดที่คัมภีร์ไบเบิลจัดเตรียมให้เรามองเห็นภาพหลาย ๆ แวบที่ชี้ถึงการดำรงอยู่ของพระเยซูก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์! ภาพต่าง ๆ เสริมพลังการตัดสินใจของเราอย่างแน่นอนที่จะเลียนแบบอย่างงานรับใช้อย่างภักดีของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้า. ขอให้เราโห่ร้องพระคริสต์เยซู “องค์สันติราช” ผู้ทรงอำนาจในการปกครองและทรงเป็นพระมหากษัตริย์ “อันสืบเนื่องมาแต่กาลดึกดำบรรพ์”!—ยะซายา 9:6; มีคา 5:2.
[กรอบหน้า 24]
หลักฐานแสดงถึงการดำรงอยู่ก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์
คำตรัสของพระเยซูเอง ดังแสดงไว้ข้างล่างนี้พิสูจน์ให้เห็นอย่างหนักแน่นถึงการดำรงอยู่ของพระองค์ก่อนบังเกิดเป็นมนุษย์.
▫ “ไม่มีมนุษย์ผู้ใดได้ขึ้นไปยังสวรรค์ เว้นแต่ผู้นั้นที่ลงมาจากสวรรค์ คือบุตรมนุษย์.”—โยฮัน 3:13, ล.ม.
▫ “โมเซไม่ได้ให้อาหารจากสวรรค์นั้นแก่เจ้า แต่พระบิดาของเราทรงประทานอาหารแท้ซึ่งมาจากสวรรค์ให้เจ้า. เพราะอาหารที่พระเจ้าประทาน คือผู้ที่ลงมาจากสวรรค์และประทานชีวิตให้แก่โลก . . . เราได้ลงมาจากสวรรค์ มิใช่เพื่อจะกระทำตามพระทัยประสงค์ของเรา แต่เพื่อจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ ผู้ทรงใช้เรามา.”—โยฮัน 6:32, 33, 38, ล.ม.
▫ “นี้แหละคืออาหารที่ลงมาจากสวรรค์ เพื่อว่าใคร ๆ อาจกินเข้าไปแล้วก็จะไม่ตาย. เราเป็นอาหารแห่งชีวิตซึ่งลงมาจากสวรรค์ หากผู้ใดกินอาหารนี้เขาจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป.”—โยฮัน 6:50, 51, ล.ม.
▫ “ฉะนั้น ถ้าเจ้าเห็นบุตรมนุษย์เสด็จขึ้นไปยังที่ที่ท่านอยู่แต่ก่อนนั้น เจ้าจะว่าอย่างไร?”—โยฮัน 6:62, ล.ม.
▫ “คำพยานของเราก็เป็นจริง เพราะเรารู้ว่าเรามาจากไหนและจะไปที่ไหน. . . . เจ้าทั้งหลายมาจากแดนเบื้องล่าง; เรามาจากแดนเบื้องบน. เจ้าทั้งหลายมาจากโลกนี้; เรามิได้มาจากโลกนี้.”—โยฮัน 8:14, 23, ล.ม.
▫ “ถ้าพระเจ้าเป็นพระบิดาของเจ้าทั้งหลาย เจ้าก็คงจะรักเรา เพราะเราได้มาจากพระเจ้าและอยู่นี่แล้ว. เรามิได้มาตามความริเริ่มของเราเองเลย แต่พระองค์นั้นได้ทรงใช้เรามา.”—โยฮัน 8:42, ล.ม.
▫ “เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า ก่อนอับราฮามเกิดมา เราก็เป็นอยู่แล้ว.”—โยฮัน 8:58, ล.ม.
▫ “พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงโปรดให้ข้าพเจ้าได้รับสง่าราศีเคียงข้างพระองค์ ซึ่งข้าพเจ้าเคยมีเคียงข้างพระองค์ก่อนที่มีโลก. พระบิดาเจ้าข้า ในเรื่องสิ่งซึ่งพระองค์ประทานแก่ข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้พวกเขาอยู่กับข้าพเจ้าในที่ซึ่งข้าพเจ้าอยู่ เพื่อเขาจะได้เห็นสง่าราศีของข้าพเจ้าซึ่งพระองค์ทรงประทานแก่ข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงรักข้าพเจ้าก่อนการวางรากสร้างโลก.”—โยฮัน 17:5, 24, ล.ม.
[รูปภาพหน้า 23]
ยะโฮซูอะเผชิญหน้ากับนายพลโยธาแห่งกองทัพของพระยะโฮวา