แกะอีกฝูงหนึ่งกับคำสัญญาไมตรีใหม่
“คนต่างชาติ. . . . ทุกคนที่ถือรักษาวันซะบาโตไว้มิให้เป็นที่ดูหมิ่นและยึดคำสัญญาไมตรีของเราไว้ เราจะพาเขามายังภูเขาบริสุทธิ์ของเราด้วย.”—ยะซายา 56:6, 7, ล.ม.
1. (ก) ตามนิมิตของโยฮัน มีการทำอะไรให้สำเร็จขณะที่ลมแห่งการพิพากษาของพระยะโฮวาถูกยึดเอาไว้? (ข) โยฮันเห็นฝูงชนที่น่าทึ่งกลุ่มใด?
ในนิมิตที่สี่ในพระธรรมวิวรณ์ อัครสาวกโยฮันเห็นลมแห่งการทำลายของพระยะโฮวาถูกยึดเอาไว้ ขณะที่การประทับตราสมาชิกทั้งหมดของ “ยิศราเอลของพระเจ้า” กำลังจะเสร็จสิ้น. คนเหล่านี้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับพระพรโดยทางพระเยซู ผู้เป็นส่วนหลักแห่งพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. (ฆะลาเตีย 6:16; เยเนซิศ 22:18; วิวรณ์ 7:1-4) ในนิมิตเดียวกัน โยฮันเห็น “ชนฝูงใหญ่ ซึ่งไม่มีใครนับจำนวนได้ จากชาติและตระกูลและชนชาติและภาษาทั้งปวง . . . ร้องเสียงดังไม่หยุดว่า ‘ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์ และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.’” (วิวรณ์ 7:9, 10, ล.ม.) โดยการกล่าวว่า “ความรอดนั้นเราได้. . . . เนื่องมาจากพระเมษโปดก” ชนฝูงใหญ่แสดงว่าพวกเขาก็ได้รับพระพรโดยทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮามด้วย.
2. ชนฝูงใหญ่ปรากฏเมื่อไร และคนกลุ่มนี้ได้รับการระบุตัวอย่างไร?
2 ในปี 1935 เริ่มมีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับชนฝูงใหญ่นี้ และปัจจุบันคนเหล่านี้มีจำนวนมากกว่าห้าล้านคน. โดยได้รับการหมายไว้ให้รอดผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ สมาชิกกลุ่มนี้จะถูกแยกออกมาเพื่อรับชีวิตนิรันดร์เมื่อพระเยซูทรงแยก “แกะ” ออกจาก “แพะ.” คริสเตียนเหล่านี้ซึ่งเป็นชนฝูงใหญ่อยู่ในกลุ่ม “แกะอื่น” ตามอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องคอกแกะ. พวกเขามีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.—มัดธาย 25:31-46; โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 21:3, 4.
3. คริสเตียนผู้ถูกเจิมและแกะอื่นแตกต่างกันอย่างไรในเรื่องที่เกี่ยวกับคำสัญญาไมตรีใหม่?
3 สำหรับชน 144,000 คน พระพรแห่งคำสัญญาไมตรีกับอับราฮามได้รับการจัดการโดยทางคำสัญญาไมตรีใหม่. ในฐานะผู้มีส่วนร่วม ในคำสัญญาไมตรีนี้ พวกเขาเข้ามาอยู่ “ใต้พระคุณ [“พระกรุณาอันไม่พึงได้รับ,” ล.ม.]” และ “ใต้พระบัญญัติแห่งพระคริสต์.” (โรม 6:15; 1 โกรินโธ 9:21) ฉะนั้น เฉพาะสมาชิกแห่งชน 144,000 คนซึ่งเป็นยิศราเอลของพระเจ้าเท่านั้นที่มีส่วนอย่างถูกต้องในการรับเครื่องหมายระหว่างการฉลองอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู และพระเยซูทรงทำคำสัญญาไมตรีเพื่อราชอาณาจักรเฉพาะกับพวกเขาเท่านั้น. (ลูกา 22:19, 20, 29) สมาชิกแห่งชนฝูงใหญ่ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในคำสัญญาไมตรีใหม่. อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้สมทบกับยิศราเอลของพระเจ้าและอาศัยอยู่กับพวกเขาใน “แผ่นดิน” ของพวกเขา. (ยะซายา 66:8) ดังนั้น จึงสมเหตุผลจะกล่าวว่า พวกเขาด้วยเช่นกันเข้ามาอยู่ใต้พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาและใต้พระบัญญัติแห่งพระคริสต์. แม้ว่าไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วม ในคำสัญญาไมตรีใหม่ พวกเขาเป็นผู้รับประโยชน์ จากคำสัญญานี้.
“คนต่างชาติ” กับ “ยิศราเอลของพระเจ้า”
4, 5. (ก) ตามคำกล่าวของยะซายา คนกลุ่มใดจะรับใช้พระยะโฮวา? (ข) ยะซายา 56:6, 7 สำเร็จเป็นจริงอย่างไรกับชนฝูงใหญ่?
4 ผู้พยากรณ์ยะซายาเขียนดังนี้: “คนต่างชาติที่นำตัวเข้ามาสมทบพระยะโฮวาที่จะปรนนิบัติพระองค์และรักพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะได้เข้ามาเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ ทุกคนที่ถือรักษาวันซะบาโตไว้มิให้เป็นที่ดูหมิ่นและยึดคำสัญญาไมตรีของเราไว้ เราจะพาเขามายังภูเขาบริสุทธิ์ของเราด้วย และทำให้เขาชื่นบานอยู่ภายในราชสำนักของเราสำหรับการอธิษฐาน. เครื่องถวายเผาครบและเครื่องบูชาของเขาจะเป็นที่รับเอาไว้ได้บนแท่นของเรา.” (ยะซายา 56:6, 7, ล.ม.) ในยิศราเอล นี่หมายความว่า “คนต่างชาติ” นอกเหนือจากชาวยิวจะนมัสการพระยะโฮวา—รักพระนามพระองค์, ปฏิบัติตามเงื่อนไขของคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ, รักษาซะบาโต, และถวายเครื่องบูชา ณ พระวิหารซึ่งเป็น “ที่อธิษฐานอ้อนวอน” ของพระเจ้า.—มัดธาย 21:13.
5 ในสมัยของเรา “คนต่างชาติที่นำตัวเข้ามาสมทบพระยะโฮวา” ได้แก่ชนฝูงใหญ่. พวกเขารับใช้พระยะโฮวาร่วมกับยิศราเอลของพระเจ้า. (ซะคาระยา 8:23) พวกเขาเสนอเครื่องบูชาอันเป็นที่รับได้แบบเดียวกับที่ยิศราเอลของพระเจ้าทำ. (เฮ็บราย 13:15, 16) พวกเขานมัสการในพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า “ที่อธิษฐานอ้อนวอน” ของพระองค์. (เทียบกับวิวรณ์ 7:15.) พวกเขาถือรักษาซะบาโตประจำสัปดาห์ไหม? ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นไม่ได้รับพระบัญชาให้ทำดังกล่าว. (โกโลซาย 2:16, 17) อย่างไรก็ตาม เปาโลกล่าวแก่คริสเตียนชาวฮีบรูซึ่งได้รับการเจิมว่า “ยังมีซะบาโตที่สงบสุขไว้สำหรับพลไพร่ของพระเจ้า. ด้วยว่าคนใดที่ได้เข้าไปในที่สงบสุขของตนแล้ว, ก็ได้หยุดการงานของตนเหมือนพระเจ้าได้ทรงหยุดจากกิจการของพระองค์.” (เฮ็บราย 4:9, 10) ชาวฮีบรูเหล่านั้นเข้าไปใน “ซะบาโตที่สงบสุข” นี้ เมื่อพวกเขาน้อมตัวอยู่ใต้ “ความชอบธรรมของพระเจ้า” และเลิกจากการพยายามทำตัวเองให้ชอบธรรมโดยประพฤติตามพระบัญญัติ. (โรม 10:3, 4) คริสเตียนผู้ถูกเจิมชาวต่างชาติมีที่สงบสุขแบบเดียวกันโดยน้อมตัวเองอยู่ใต้ความชอบธรรมของพระยะโฮวา. ชนฝูงใหญ่สมทบกับพวกเขาในการหยุดพักนั้น.
6. แกะอื่นในปัจจุบันวางตัวอยู่ใต้คำสัญญาไมตรีใหม่อย่างไร?
6 นอกจากนี้ แกะอื่นวางตัวอยู่ใต้คำสัญญาไมตรีใหม่เช่นเดียวกับที่คนต่างชาติในสมัยโบราณได้วางตัวอยู่ใต้คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. โดยวิธีใด? ไม่ใช่โดยการเข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมในคำสัญญาไมตรีนั้น แต่โดยการยอมตัวอยู่ใต้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรับผลประโยชน์จากการจัดเตรียมต่าง ๆ ของคำสัญญาไมตรีใหม่. (เทียบกับยิระมะยา 31:33, 34.) เช่นเดียวกับมิตรสหายผู้ถูกเจิมของพวกเขา แกะอื่นมีกฎหมายของพระยะโฮวาเขียนไว้ ‘ในใจเขา.’ พวกเขารักและเชื่อฟังพระบัญญัติและหลักการของพระยะโฮวาอย่างแท้จริง. (บทเพลงสรรเสริญ 37:31; 119:97) เช่นเดียวกับคริสเตียนผู้ถูกเจิม พวกเขารู้จักพระยะโฮวา. (โยฮัน 17:3) จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับการรับสุหนัต? ประมาณ 1,500 ปีก่อนการทำคำสัญญาไมตรีใหม่ โมเซกระตุ้นเตือนชนยิศราเอลดังนี้: “เจ้าทั้งหลายต้องตัดหนังหุ้มหัวใจของตนเสีย.” (พระบัญญัติ 10:16; ยิระมะยา 4:4, ล.ม.) แม้ว่าการรับสุหนัตฝ่ายกายซึ่งเป็นข้อบังคับได้ผ่านพ้นไปแล้วพร้อมกับพระบัญญัติ ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นต้อง “รับพิธีสุหนัต” ที่หัวใจของตน. (โกโลซาย 2:11) ในที่สุด พระยะโฮวาทรงให้อภัยความผิดของแกะอื่นโดยอาศัย “โลหิตแห่งคำสัญญา” ที่พระเยซูทรงหลั่ง. (มัดธาย 26:28; 1 โยฮัน 1:9; 2:2) พระเจ้าไม่ได้ทรงรับเขาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณเหมือนที่พระองค์ทรงรับชน 144,000 คน. แต่พระองค์ทรงประกาศว่า แกะอื่นนั้นชอบธรรมในความหมายเดียวกับที่อับราฮามได้รับการประกาศว่าชอบธรรมในฐานะมิตรของพระเจ้า.—มัดธาย 25:46; โรม 4:2, 3; ยาโกโบ 2:23.
7. โอกาสอะไรเปิดให้แกะอื่นในปัจจุบัน ผู้ซึ่งได้รับการประกาศว่าชอบธรรมเช่นที่อับราฮามได้รับ?
7 สำหรับชน 144,000 คน การได้รับการประกาศว่าชอบธรรมเปิดทางให้พวกเขามีความหวังร่วมปกครองกับพระเยซูในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. (โรม 8:16, 17; ฆะลาเตีย 2:16) สำหรับแกะอื่น การได้รับการประกาศว่าชอบธรรมในฐานะมิตรของพระเจ้าทำให้พวกเขามีความหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน—ถ้าไม่โดยรอดชีวิตผ่านอาร์มาเก็ดดอนในกลุ่มชนฝูงใหญ่ ก็โดยทาง ‘การกลับเป็นขึ้นจากตายของคนชอบธรรม.’ (กิจการ 24:15, ล.ม.) ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่มีความหวังเช่นนั้นและได้เป็นมิตรกับองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ “พักอยู่ในพลับพลาของพระองค์”! (บทเพลงสรรเสริญ 15:1, 2) ใช่ ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นต่างก็ได้รับพระพรอันยอดเยี่ยมโดยทางพระเยซูผู้เป็นพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม.
วันไถ่โทษที่ยิ่งใหญ่
8. เครื่องบูชาในวันไถ่โทษตามพระบัญญัติเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
8 เมื่อพิจารณาคำสัญญาไมตรีใหม่ เปาโลเตือนใจผู้อ่านของท่านให้นึกถึงวันไถ่โทษประจำปีภายใต้คำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ. ในวันนั้น มีการถวายเครื่องบูชาแยกต่างหากกัน—ส่วนหนึ่งสำหรับตระกูลปุโรหิตของเลวี และอีกส่วนสำหรับ 12 ตระกูลที่ไม่ได้ทำหน้าที่ปุโรหิต. มีการอธิบายนานมาแล้วว่า นี่เป็นภาพเล็งถึงเครื่องบูชาอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูซึ่งจะให้ประโยชน์ทั้งแก่ชน 144,000 คนที่มีความหวังฝ่ายสวรรค์และหลายล้านคนซึ่งมีความหวังทางแผ่นดินโลกนี้.a เปาโลชี้ว่าในความสำเร็จเป็นจริงของวันไถ่โทษ ผลประโยชน์แห่งเครื่องบูชาของพระเยซูได้รับการจัดการโดยทางวันไถ่โทษที่ยิ่งใหญ่ภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่. ในฐานะมหาปุโรหิตแห่งวันไถ่โทษที่ยิ่งใหญ่นี้ พระเยซูทรงประทานชีวิตสมบูรณ์ของพระองค์เป็นเครื่องบูชาไถ่โทษเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความรอดนิรันดร์” สำหรับมนุษย์.—เฮ็บราย 9:11-24.
9. โดยอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ คริสเตียนผู้ถูกเจิมชาวฮีบรูสามารถรับเอาอะไร?
9 คริสเตียนชาวฮีบรูหลายคนในศตวรรษแรกยังคง “มีใจร้อนรนในการถือพระบัญญัติ [ของโมเซ].” (กิจการ 21:20) ดังนั้น เปาโลเตือนใจพวกเขาอย่างเหมาะทีเดียวว่า “[พระเยซู] จึงทรงเป็นคนกลางแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่, เพื่อเมื่อมีผู้หนึ่งตายสำหรับที่จะไถ่ความผิดของคนที่ได้ละเมิดต่อคำสัญญาไมตรีเดิมนั้นแล้ว, คนทั้งหลายที่ถูกเรียกแล้วนั้นจะได้รับมฤดกนิรันดร์ตามคำสัญญา.” (เฮ็บราย 9:15) คำสัญญาไมตรีใหม่ปลดปล่อยคริสเตียนชาวฮีบรูจากคำสัญญาไมตรีเก่าซึ่งเปิดโปงความผิดบาปของพวกเขา. ด้วยคำสัญญาไมตรีใหม่นี้ พวกเขาสามารถรับเอา “มฤดกนิรันดร์ [ฝ่ายสวรรค์] ตามคำสัญญา.”
10. ผู้ถูกเจิมและแกะอื่นขอบคุณพระเจ้าสำหรับอะไร?
10 “ทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตร” จะได้รับประโยชน์จากเครื่องบูชาไถ่. (โยฮัน 3:16, 36, ล.ม.) เปาโลกล่าวดังนี้: “พระคริสต์จึงต้องถวายพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาหนหนึ่ง, เพื่อจะได้ทรงรับเอาความบาปของคนเป็นอันมาก, แล้วพระองค์จะทรงปรากฏครั้งที่สองปราศจากความบาปแก่บรรดาคนที่คอยพระองค์ให้เขาถึงความรอด.” (เฮ็บราย 9:28) ปัจจุบัน คนที่แสวงหาพระเยซูด้วยใจจริงรวมถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมแห่งยิศราเอลของพระเจ้าที่ยังอยู่บนแผ่นดินโลกและหลายล้านคนซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นชนฝูงใหญ่ซึ่งมีมรดกอันยั่งยืนด้วย. ทั้งสองกลุ่มขอบคุณพระเจ้าสำหรับคำสัญญาไมตรีใหม่และสำหรับพระพรซึ่งให้ชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับคำสัญญาไมตรีนี้ รวมถึงวันไถ่โทษที่ยิ่งใหญ่และงานรับใช้ของพระเยซูผู้เป็นมหาปุโรหิตในห้องบริสุทธิ์ที่สุดแห่งสวรรค์.
ง่วนในการรับใช้ศักดิ์สิทธิ์
11. ด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการชำระโดยอาศัยเครื่องบูชาของพระเยซู ทั้งผู้ถูกเจิมและแกะอื่นทำอะไรอย่างมีความสุข?
11 ในจดหมายของท่านถึงชาวฮีบรู เปาโลเน้นคุณค่าที่เหนือกว่าแห่งเครื่องบูชาของพระเยซูในการจัดเตรียมภายใต้คำสัญญาไมตรีใหม่เทียบกับเครื่องบูชาไถ่บาปภายใต้คำสัญญาไมตรีเก่า. (เฮ็บราย 9:13-15, ล.ม.) เครื่องบูชาที่ดีกว่าของพระเยซูสามารถ “ชำระสติรู้สึกผิดชอบของเราให้พ้นจากการกระทำที่ตายแล้ว เพื่อเราจะถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” สำหรับคริสเตียนชาวฮีบรูแล้ว “การกระทำที่ตายแล้ว” หมายรวมถึงการ “ละเมิดต่อคำสัญญาไมตรีเดิม.” สำหรับคริสเตียนในปัจจุบัน การกระทำที่ตายแล้วรวมถึงบาปต่าง ๆ ที่กระทำในอดีตซึ่งได้มีการกลับใจอย่างแท้จริงและพระเจ้าได้ทรงให้อภัยแล้ว. (1 โกรินโธ 6:9-11) ด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการชำระ คริสเตียนผู้ถูกเจิมถวาย “การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” และชนฝูงใหญ่ก็เช่นเดียวกัน. เมื่อได้รับการชำระสติรู้สึกผิดชอบแล้วโดยอาศัย “พระโลหิตของพระเมษโปดก” พวกเขาอยู่ในพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์ทั้งวันทั้งคืน.”—วิวรณ์ 7:14, 15, ล.ม.
12. เราจะแสดงว่าเรามี “ความเชื่อมั่นเต็มที่” ได้อย่างไร?
12 นอกจากนั้น เปาโลกล่าวอีกว่า “ให้เราเข้าเฝ้าด้วยหัวใจซื่อตรงด้วยความเชื่อมั่นเต็มที่ มีหัวใจซึ่งถูกพรมชำระจากสติรู้สึกผิดชอบที่ชั่วและกายซึ่งล้างชำระด้วยน้ำสะอาด.” (เฮ็บราย 10:22, ล.ม.) เราจะแสดงว่าเรามี “ความเชื่อมั่นเต็มที่” ได้อย่างไร? เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูดังนี้: “ให้เรายึดมั่นกับการประกาศอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความหวัง [ฝ่ายสวรรค์] ของเราโดยไม่สั่นคลอน เพราะพระองค์ผู้ทรงสัญญานั้นสัตย์ซื่อ. และให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:23-25, ล.ม.) ถ้าความเชื่อของเรามีชีวิต เราก็เช่นกันจะไม่ “ละการประชุมร่วมกัน.” เราจะยินดีเร้าใจพี่น้องของเราและได้รับการเร้าใจจากพวกเขาให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี และได้รับการเสริมกำลังให้ทำงานสำคัญคือการประกาศอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความหวังของเรา ไม่ว่าจะเป็นความหวังทางแผ่นดินโลกนี้หรือทางภาคสวรรค์.—โยฮัน 13:35.
“คำสัญญาไมตรีนิรันดร์”
13, 14. คำสัญญาไมตรีใหม่เป็นนิรันดร์ในทางใด?
13 เกิดอะไรขึ้นเมื่อชน 144,000 คนกลุ่มสุดท้ายได้รับชีวิตในสวรรค์? การใช้คำสัญญาไมตรีใหม่จะยุติลงไหม? เวลานั้น จะไม่มีสมาชิกแห่งยิศราเอลของพระเจ้าเหลืออยู่บนแผ่นดินโลก. ผู้มีส่วนร่วมทุกคนในคำสัญญาไมตรีนี้จะอยู่กับพระเยซู “ในแผ่นดินแห่งพระบิดาของ [พระองค์].” (มัดธาย 26:29) แต่เราจำคำพูดของเปาโลได้ในจดหมายของท่านถึงชาวฮีบรูที่ว่า “พระเจ้าแห่งสันติสุข . . . ทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้าของเราเป็นขึ้นมาจากตาย, คือพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะอันเลิศ, โดยโลหิตแห่งคำสัญญาไมตรีนิรันดร์.” (เฮ็บราย 13:20; ยะซายา 55:3) คำสัญญาไมตรีใหม่นี้เป็นนิรันดร์ในความหมายเช่นไร?
14 ประการแรก ไม่เหมือนกับคำสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ คำสัญญาไมตรีใหม่จะไม่มีอะไรมาแทนที่. ประการที่สอง ผลการดำเนินงานของคำสัญญาไมตรีใหม่นี้ถาวร เช่นเดียวกับฐานะความเป็นกษัตริย์ของพระเยซู. (เทียบลูกา 1:33 กับ 1 โกรินโธ 15:27, 28.) ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์มีตำแหน่งถาวรในพระประสงค์ของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 22:5) และประการที่สาม แกะอื่นจะยังคงได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมของคำสัญญาไมตรีใหม่อยู่ต่อไป. ระหว่างรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ มนุษย์ที่ซื่อสัตย์จะ “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่ [พระยะโฮวา] ทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์” ต่อ ๆ ไปเช่นที่พวกเขาทำอยู่ในเวลานี้. พระยะโฮวาจะไม่ทรงรื้อฟื้นบาปในอดีตของพวกเขาซึ่งได้ทรงให้อภัยไปแล้วโดยอาศัย “โลหิตแห่งคำสัญญา” ของพระเยซู. พวกเขาจะยังคงมีฐานะชอบธรรมเป็นมิตรของพระยะโฮวาอยู่ต่อไป และกฎหมายของพระองค์จะยังคงจารึกในหัวใจของพวกเขา.
15. จงอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระยะโฮวากับผู้นมัสการของพระองค์ทางแผ่นดินโลกในโลกใหม่.
15 ถึงตอนนั้นพระยะโฮวาจะสามารถตรัสแก่ผู้รับใช้เหล่านี้ที่เป็นมนุษย์ได้ไหมว่า ‘เราเป็นพระเจ้าของเขา และพวกเขาเป็นไพร่พลของเรา’? ใช่แล้ว. “พระองค์จะสถิตกับเขา และพวกเขาจะเป็นชนชาติต่าง ๆ ของพระองค์. และพระเจ้าเองจะทรงอยู่กับเขา.” (วิวรณ์ 21:3, ล.ม.) พวกเขาจะกลายเป็น “ค่ายของเหล่าผู้บริสุทธิ์” ซึ่งก็คือตัวแทนทางแผ่นดินโลกนี้ของ “เมืองอันเป็นที่รัก” หรือเจ้าสาวฝ่ายสวรรค์ของพระเยซูคริสต์. (วิวรณ์ 14:1; 20:9; 21:2, ล.ม.) ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ก็ด้วยความเชื่อของพวกเขาใน “โลหิตแห่งคำสัญญา” ที่พระเยซูทรงหลั่ง และด้วยการยอมตัวอยู่ใต้เหล่ากษัตริย์และปุโรหิตฝ่ายสวรรค์ ซึ่งเมื่อครั้งอยู่บนแผ่นดินโลกเป็นยิศราเอลของพระเจ้า.—วิวรณ์ 5:10.
16. (ก) มีความเป็นไปได้อะไรบ้างคอยท่าคนที่ได้รับการปลุกให้มีชีวิตอีกบนแผ่นดินโลก? (ข) พระพรอะไรที่จะมีมาในตอนสิ้นสุดรัชสมัยพันปี?
16 จะว่าอย่างไรสำหรับคนตายซึ่งได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกนี้? (โยฮัน 5:28, 29) พวกเขาก็เช่นกันจะได้รับเชิญเพื่อ “ทำให้ตนเองได้พระพร” โดยทางพระเยซู พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. (เยเนซิศ 22:18, ล.ม.) พวกเขาจะต้องรักพระนามของพระยะโฮวา, รับใช้พระองค์, ถวายเครื่องบูชาซึ่งเป็นที่รับได้, และถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ในราชนิเวศน์สำหรับการอธิษฐานของพระองค์. คนที่ทำอย่างนั้นจะเข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า. (ยะซายา 56:6, 7) เมื่อถึงปลายรัชสมัยพันปี ผู้ซื่อสัตย์ทุกคนจะถูกนำสู่สภาพมนุษย์สมบูรณ์โดยการจัดการของพระเยซูคริสต์และเพื่อนปุโรหิตของพระองค์ 144,000 คน. พวกเขาจะ ชอบธรรม ไม่เพียงแค่ได้รับการประกาศว่า ชอบธรรมในฐานะมิตรของพระเจ้า. พวกเขาจะ “คืนสู่ชีวิต” ปราศจากบาปและความตายอันเป็นมรดกจากอาดามอย่างสิ้นเชิง. (วิวรณ์ 20:5; 22:2, ล.ม.) ช่างจะเป็นพระพรอะไรเช่นนั้น! จากมุมมองของเราในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเมื่อถึงตอนนั้นงานในฐานะปุโรหิตของพระเยซูและชน 144,000 คนก็จะเสร็จสิ้น. พระพรแห่งวันไถ่โทษที่ยิ่งใหญ่จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่. นอกจากนี้ พระเยซูจะทรง “มอบราชอาณาจักรให้แก่พระเจ้าและพระบิดาของพระองค์.” (1 โกรินโธ 15:24, ล.ม.) จะมีการทดสอบขั้นสุดท้ายสำหรับมนุษยชาติ แล้วซาตานและผีปิศาจพรรคพวกของมันก็จะถูกทำลายตลอดกาล.—วิวรณ์ 20:7, 10.
17. โดยคิดถึงความยินดีที่คอยเราอยู่ เราแต่ละคนควรตั้งใจจะทำอะไร?
17 หาก “คำสัญญาไมตรีนิรันดร์” จะมีบทบาท คำสัญญาไมตรีนี้จะมีบทบาทอะไรในยุคที่น่าตื่นเต้นซึ่งจะเริ่มต้นในตอนนั้น? เราไม่อยู่ในฐานะจะพูดได้. สิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงเปิดเผยแล้วนั้นนับว่าเพียงพอสำหรับขณะนี้. การเปิดเผยเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกเกรงขามทีเดียว. ขอให้คิดดูก็แล้วกัน—ชีวิตนิรันดร์ในฐานะส่วนหนึ่งของ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่”! (2 เปโตร 3:13, ล.ม.) ขออย่าให้มีสิ่งใดมาทำให้ความปรารถนาจะได้รับมรดกตามคำสัญญานั้นอ่อนลงไป. การยืนหยัดมั่นคงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย. เปาโลกล่าวดังนี้: “ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน เพื่อว่า เมื่อท่านกระทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จแล้ว ท่านจะได้รับตามคำทรงสัญญา.” (เฮ็บราย 10:36, ล.ม.) กระนั้น จำไว้ว่า ปัญหาใดก็ตามที่ต้องต่อสู้และการต่อต้านใด ๆ ที่ต้องเอาชนะ ล้วนไม่ใช่เรื่องใหญ่เมื่อเทียบกับความยินดีที่คอยท่าเราอยู่. (2 โกรินโธ 4:17) ฉะนั้น อย่าให้ใครในพวกเราเป็น “คนชนิดที่ถอยกลับไปสู่ความพินาศ.” แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ขอให้เราพิสูจน์ตัวเป็น “ชนิดที่มีความเชื่อที่จะรักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.” (เฮ็บราย 10:39, ล.ม.) ขอให้เราทุกคนไว้วางใจในพระยะโฮวาผู้ทรงเป็นพระเจ้าแห่งคำสัญญาไมตรีอย่างเต็มที่ เพื่อเราทุก ๆ คนจะได้รับพระพรชั่วนิรันดร์.
[เชิงอรรถ]
a ดูการรอดชีวิตสู่แผ่นดินโลกใหม่ (ภาษาอังกฤษ) บท 13 จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณเข้าใจไหม?
▫ นอกเหนือจากคริสเตียนผู้ถูกเจิมแล้ว ใครอีกที่ได้รับพระพรทางพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม?
▫ ในการได้รับพระพรทางคำสัญญาไมตรีใหม่ แกะอื่นเป็นเช่นเดียวกันกับผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวภายใต้คำสัญญาไมตรีเก่าอย่างไร?
▫ แกะอื่นได้รับพระพรอย่างไรทางการจัดเตรียมแห่งวันไถ่โทษที่ยิ่งใหญ่?
▫ เหตุใดเปาโลเรียกคำสัญญาไมตรีใหม่ว่า “คำสัญญาไมตรีนิรันดร์”?
[กรอบหน้า 21]
การรับใช้ศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหาร
ชนฝูงใหญ่นมัสการด้วยกันกับคริสเตียนผู้ถูกเจิมในบริเวณลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 7:14, 15; 11:2) ไม่มีเหตุผลจะลงความเห็นว่า พวกเขาอยู่ในลานที่แยกต่างหากสำหรับชนต่างชาติ. เมื่อพระเยซูทรงอยู่บนแผ่นดินโลก มีลานสำหรับชนต่างชาติในพระวิหาร. อย่างไรก็ตาม ในแบบแปลนพระวิหารของซะโลโมและของยะเอศเคลซึ่งเขียนขึ้นโดยการดลใจ ไม่มีการจัดให้มีลานสำหรับชนต่างชาติ. ในพระวิหารของซะโลโม มีลานพระวิหารชั้นนอกซึ่งชาวยิศราเอลและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิวทั้งชายและหญิงนมัสการด้วยกันที่นั่น. นี่เป็นแบบอย่างเชิงพยากรณ์ของลานพระวิหารฝ่ายวิญญาณทางแผ่น-ดินโลกนี้ ซึ่งโยฮันเห็นชนฝูงใหญ่ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น.
อย่างไรก็ตาม เฉพาะปุโรหิตและชาวเลวีเท่านั้นสามารถเข้าไปในลานพระวิหารชั้นในซึ่งมีแท่นบูชาใหญ่ตั้งอยู่ที่นั่น; เฉพาะปุโรหิตสามารถเข้าในห้องบริสุทธิ์; และเฉพาะมหาปุโรหิตเท่านั้นสามารถเข้าห้องบริสุทธิ์ที่สุด. สำหรับลานพระวิหารชั้นในและห้องบริสุทธิ์นั้นเข้าใจว่าเป็นภาพแสดงล่วงหน้าถึงสภาพพิเศษเฉพาะทางฝ่ายวิญญาณของคริสเตียนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลก. และห้องบริสุทธิ์ที่สุดเป็นภาพหมายถึงสวรรค์ ซึ่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้รับอมตชีพด้วยกันกับมหาปุโรหิตทางภาคสวรรค์ของพวกเขา.—เฮ็บราย 10:19, 20.
[รูปภาพหน้า 23]
เมื่อคิดถึงความยินดีที่คอยเราอยู่ ให้เรา “มีความเชื่อที่จะรักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่”