การแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการประชุมคริสเตียน
“ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกัน.”—เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.
1, 2. (ก) เหตุใดการเข้าร่วมการประชุมของคริสเตียนแท้จึงเป็นสิทธิพิเศษ? (ข) พระเยซูทรงอยู่ด้วย ณ การประชุมของสาวกพระองค์ในแง่ใด?
ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่ได้เข้าร่วมการประชุมคริสเตียน ไม่ว่าจะมีผู้นมัสการพระยะโฮวาร่วมประชุมจำนวนไม่ถึงสิบคนหรือหลายพันคน เพราะพระเยซูตรัสดังนี้: “มีสองหรือสามคนร่วมประชุมกัน ณ ที่ใดในนามของเรา เราอยู่ท่ามกลางเขาที่นั่น”! (มัดธาย 18:20, ล.ม.) จริงอยู่ เมื่อทรงสัญญาดังกล่าว พระเยซูกำลังตรัสเรื่องการพิจารณาความซึ่งคนที่นำหน้าในประชาคมจะต้องจัดการอย่างถูกต้อง. (มัดธาย 18:15-19) แต่คำตรัสของพระเยซูสามารถใช้ได้ในหลักการเกี่ยวกับการประชุมคริสเตียนทุกอย่างซึ่งเปิดและปิดด้วยคำอธิษฐานผ่านทางพระนามของพระองค์ไหม? ใช่แล้ว. อย่าลืมว่า เมื่อพระเยซูทรงมอบหมายให้สาวกของพระองค์ทำคนให้เป็นสาวก พระองค์ทรงสัญญาดังนี้: “นี่แน่ะ! เราอยู่กับเจ้าทั้งหลายตลอดไปจนกระทั่งช่วงอวสานแห่งระบบนี้.”—มัดธาย 28:20, ล.ม.
2 ไม่มีข้อสงสัยที่ว่า พระเยซูคริสต์เจ้า ผู้เป็นประมุขของประชาคมคริสเตียนทรงสนพระทัยอย่างแท้จริงในการประชุมทุกอย่างของผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ของพระองค์. นอกจากนั้น เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ทรงอยู่ด้วยกับพวกเขาโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (กิจการ 2:33; วิวรณ์ 5:6) พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสนพระทัยด้วยในการประชุมร่วมกันของเรา. จุดประสงค์หลักของการประชุมกันอย่างนั้นก็เพื่อยกย่องสรรเสริญพระเจ้า “ในที่ประชุม.” (บทเพลงสรรเสริญ 26:12) การที่เราเข้าร่วมการประชุมประจำประชาคมเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งถึงความรักของเราที่มีต่อพระองค์.
3. มีเหตุผลสำคัญอะไรบ้างที่เราหยั่งรู้ค่าการประชุมคริสเตียน?
3 มีเหตุผลที่ดีอย่างอื่นด้วยที่เราหยั่งรู้ค่าการประชุมคริสเตียน. ก่อนพระเยซูคริสต์เสด็จไปจากโลกนี้ พระองค์ทรงแต่งตั้งเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมให้ทำหน้าที่เป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ในการแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาแก่ครอบครัวแห่งความเชื่อ. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ร่องทางสำคัญในการเลี้ยงดูอาหารฝ่ายวิญญาณเช่นนั้นก็คือทางการประชุมประจำประชาคมและการประชุมที่ใหญ่กว่า—การประชุมหมวดและการประชุมภาค. พระเยซูคริสต์เจ้าทรงชี้นำทาสสัตย์ซื่อในการจัดเตรียมให้มีความรู้ที่สำคัญ ณ การประชุมเหล่านั้น เพื่อประโยชน์ของทุกคนที่ต้องการรอดผ่านอวสานของระบบชั่วนี้และได้รับชีวิตในโลกใหม่ที่ชอบธรรมของพระเจ้า.
4. “นิสัย” อะไรที่เป็นอันตรายซึ่งคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง และอะไรจะช่วยเราหลีกเลี่ยงนิสัยนี้?
4 ฉะนั้น ไม่ควรมีคริสเตียนคนใดเพาะนิสัยที่เป็นอันตรายอย่างที่อัครสาวกเปาโลสังเกตเห็น ซึ่งท่านเขียนว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) การใคร่ครวญถึงสิทธิพิเศษและผลประโยชน์ของการเข้าร่วมประชุมคริสเตียนจะช่วยเราสนับสนุนการประชุมเหล่านั้นอย่างภักดีและสุดหัวใจ.
การประชุมที่เสริมสร้าง
5. (ก) คำพูดของเราควรก่อผลอย่างไร ณ การประชุม? (ข) เหตุใดเราไม่ควรลังเลที่จะเชิญผู้สนใจให้เข้าร่วมการประชุม?
5 เนื่องจากคริสเตียนอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาให้กระทำกิจ ณ การประชุมคริสเตียน ผู้เข้าร่วมแต่ละคนควรทำอย่างดีที่สุดประสานกับพระวิญญาณและ “อย่ากระทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าเสียพระทัย.” (เอเฟโซ 4:30) เมื่ออัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนถ้อยคำดังกล่าว ท่านกำลังพิจารณาเรื่องการใช้คำพูดอย่างเหมาะสม. สิ่งที่เราพูดควร “เสริมสร้างตามความจำเป็น เพื่อจะเกิดคุณประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง” เสมอ. (เอเฟโซ 4:29) เรื่องนี้นับว่าสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมคริสเตียน. ในจดหมายของท่านถึงชาวโกรินโธ เปาโลเน้นถึงความจำเป็นที่การประชุมต่าง ๆ จะเสริมสร้าง, ให้ความรู้, และหนุนกำลังใจ. (1 โกรินโธ 14:5, 12, 19, 26, 31) ผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับประโยชน์จากการประชุมเช่นนั้น รวมถึงผู้เข้าร่วมใหม่ ๆ ด้วยซึ่งอาจเป็นได้ที่เขาจะลงความเห็นว่า “พระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางพวกท่านเป็นแน่.” (1 โกรินโธ 14:25) ด้วยเหตุนี้ เราไม่ควรลังเลที่จะเชิญผู้สนใจใหม่ ๆ ให้มาร่วมประชุมกับเรา เพราะการทำอย่างนี้จะช่วยเร่งความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของเขา.
6. มีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยทำให้การประชุมเป็นที่เสริมสร้าง?
6 ทุกคนที่ได้รับมอบหมายให้บรรยาย, สัมภาษณ์, หรือสาธิตในการประชุมคริสเตียนต้องการทำให้แน่ใจว่าคำพูดของเขาจะเสริมสร้างและสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล พระคำที่เป็นลายลักษณ์อักษรของพระเจ้า. นอกเหนือจากการใช้คำพูดที่ถูกต้อง เราควรแสดงความรู้สึกและอารมณ์ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกภาพอันเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้าและพระคริสต์. หากทุกคนที่ทำส่วนในการประชุมสำนึกถึงการสะท้อน ‘ผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า’ เช่น ความยินดี, ความอดกลั้นทนนาน, และความเชื่อ ผู้เข้าร่วมทุกคนก็จะรู้สึกว่าได้รับการเสริมสร้างอย่างแน่นอน.—ฆะลาเตีย 5:22, 23.
7. ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนจะมีส่วนช่วยให้การประชุมเป็นที่เสริมสร้างได้อย่างไร?
7 แม้ว่ามีไม่กี่คนทำส่วนในระเบียบวาระการประชุมประชาคม ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยทำให้การประชุมเป็นที่เสริมสร้าง. ผู้ฟังมีโอกาสตอบคำถามอยู่บ่อยครั้ง. นี่เป็นโอกาสที่จะประกาศความเชื่อของเราอย่างเปิดเผย. (โรม 10:9) ไม่ควรใช้โอกาสดังกล่าวส่งเสริมความคิดส่วนตัว, โอ้อวดความสำเร็จของตัวเอง, หรือวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนผู้เชื่อถือ. การทำอย่างนั้นย่อมทำให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัยมิใช่หรือ? นับว่าดีที่สุดที่จะจัดการข้อขัดแย้งกับเพื่อนผู้เชื่อถือเป็นส่วนตัวด้วยน้ำใจแห่งความรัก. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวดังนี้: “จงมีใจกรุณาต่อกัน, มีใจเมตตาอันอ่อนละมุน, ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้างเหมือนดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยใจกว้างโดยทางพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:32, ล.ม.) การประชุมคริสเตียนให้โอกาสอันยอดเยี่ยมทีเดียวที่เราจะใช้คำแนะนำที่ดีนี้! เพื่อจะทำอย่างนั้นได้ หลายคนมาประชุมก่อนเวลาและไม่รีบกลับทันทีหลังเลิกประชุม. การทำอย่างนี้ยังช่วยผู้สนใจใหม่ซึ่งมีความต้องการเป็นพิเศษในด้านความรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ. ฉะนั้น คริสเตียนผู้อุทิศตัวแล้วทุกคนมีบทบาทในการทำให้การประชุมเป็นที่เสริมสร้างโดย ‘พิจารณาและเร้าใจกันและกันเพื่อให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี.’
เตรียมตัวอย่างดี
8. (ก) บางคนเสียสละอย่างน่าชมเชยอย่างไรเพื่อเข้าร่วมการประชุม? (ข) พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างอะไรในฐานะผู้บำรุงเลี้ยงฝูงแกะ?
8 ขณะที่การเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนอาจค่อนข้างง่ายสำหรับบางคน แต่คนอื่นต้องเสียสละทุกครั้งที่เข้าร่วมประชุม. ตัวอย่างเช่น มารดาที่เป็นคริสเตียนซึ่งต้องทำงานอาชีพเพื่อช่วยหารายได้เสริมสำหรับสิ่งจำเป็นในครัวเรือน ตามปกติเมื่อกลับจากงานถึงบ้านก็เหน็ดเหนื่อย. จากนั้นเธออาจต้องหุงหาอาหารและช่วยลูก ๆ ให้เตรียมพร้อมสำหรับการประชุม. คริสเตียนคนอื่นอาจต้องเดินทางไกลเพื่อมายังการประชุม หรืออาจมีข้อจำกัดเนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยดีหรืออายุมาก. แน่นอน พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเข้าใจสถานการณ์ของแต่ละคนที่เข้าร่วมการประชุมอย่างซื่อสัตย์ แบบเดียวกับที่ผู้เลี้ยงแกะซึ่งเปี่ยมด้วยความรักเข้าใจความจำเป็นเฉพาะของแกะแต่ละตัวในฝูง. คัมภีร์ไบเบิลบอกดังนี้: “[พระยะโฮวา] จะทรงเลี้ยงฝูงแกะของพระองค์ดุจผู้เลี้ยงแกะ, พระองค์จะทรงอุ้มลูกแกะไว้ในพระพาหุ, และจะกอดไว้ในพระทรวง, และตัวแม่ลูกอ่อนพระองค์จะทรงค่อย ๆ ต้อนไปด้วยพระทัยเอ็นดู.”—ยะซายา 40:11.
9, 10. เราจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการประชุมต่าง ๆ ได้อย่างไร?
9 คนที่ต้องเสียสละอย่างมากเพื่อเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำอาจมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่เขาสามารถใช้ในการเตรียมเนื้อเรื่องที่จะมีการพิจารณา. การตามตารางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลประจำสัปดาห์ให้ทันทำให้การเข้าร่วมโรงเรียนตามระบอบของพระเจ้าเป็นประโยชน์มากขึ้น. ในทำนองเดียวกัน การเตรียมส่วนการประชุมอื่น ๆ ล่วงหน้าเช่นการศึกษาหอสังเกตการณ์ และการศึกษาหนังสือประจำประชาคม ทำให้ส่วนเหล่านี้เป็นประโยชน์มากกว่า. โดยการอ่านเนื้อเรื่องที่จะศึกษาล่วงหน้าและพิจารณาข้อพระคัมภีร์อย่างน้อยก็บางข้อที่มีการอ้างถึง คนที่มีภาระรับผิดชอบในครอบครัวซึ่งไม่ค่อยมีเวลาก็จะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายมากขึ้นในการพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลรายการสำคัญ ๆ เหล่านี้.
10 คนอื่นซึ่งอยู่ในสภาพการณ์ที่มีข้อจำกัดน้อยกว่าสามารถใช้เวลาในการเตรียมการประชุมได้มากกว่า. ตัวอย่างเช่น เขาอาจค้นคว้าข้อพระคัมภีร์ที่อ้างถึงแต่ไม่ได้ยกข้อความมา. โดยวิธีนี้ ทุกคนสามารถเตรียมตัวเพื่อได้รับประโยชน์สูงสุดจากการประชุม และมีส่วนร่วมอย่างดีในการเสริมสร้างประชาคมด้วยคำบรรยายและการให้ความเห็นของเขา. โดยเตรียมตัวอย่างดี ผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้จะวางตัวอย่างที่ดีในการให้คำตอบสั้นและตรงจุด. ด้วยความนับถือต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวา ผู้เข้าร่วมการประชุมจะหลีกเลี่ยงการทำอะไรก็ตามที่ทำให้เขวขณะที่การประชุมดำเนินอยู่.—1 เปโตร 5:3.
11. เหตุใดการมีวินัยกับตัวเองจึงจำเป็นเพื่อเตรียมตัวสำหรับการประชุม?
11 กิจกรรมและความสนุกสนานที่ไม่สำคัญต่อสุขภาพฝ่ายวิญญาณอาจกินเวลาของเรามากเกินไป. หากเป็นอย่างนั้น เราจำต้องตรวจสอบตัวเองและ “เลิกกลายเป็นคนไร้เหตุผล” ในเรื่องการใช้เวลาของเรา. (เอเฟโซ 5:17, ล.ม.) เราควรตั้งเป้าจะ ‘ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์เต็มที่’ โดยเอาเวลามาจากเรื่องที่สำคัญน้อยกว่า เพื่อใช้เวลามากขึ้นในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัวและการเตรียมสำหรับการประชุม รวมทั้งในการรับใช้ราชอาณาจักรด้วย. (เอเฟโซ 5:16, ล.ม.) ต้องยอมรับว่า การทำเช่นนี้ไม่ง่ายเสมอไปและต้องใช้วินัยกับตัวเอง. คนหนุ่มสาวที่เอาใจใส่ในเรื่องนี้กำลังวางรากฐานที่ดีสำหรับความก้าวหน้าในอนาคต. เปาโลเขียนถึงติโมเธียวเพื่อนของท่านที่มีอายุน้อยกว่าดังนี้: “จงไตร่ตรองสิ่งเหล่านี้ [คำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่ติโมเธียว] จงฝังตัวในสิ่งเหล่านี้ เพื่อความก้าวหน้าของท่านจะได้ปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง.”—1 ติโมเธียว 4:15, ล.ม.
ตัวอย่างจากพระคำของพระเจ้า
12. ครอบครัวของซามูเอลวางตัวอย่างเด่นอะไร?
12 ขอให้พิจารณาตัวอย่างที่ดีของครอบครัวซามูเอล ซึ่งเข้าร่วมเป็นประจำในการจัดเตรียมเพื่อการชุมนุมด้วยกันกับเพื่อนผู้นมัสการในคราวที่พลับพลาของพระเจ้าตั้งอยู่ที่เมืองซีโล. เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่มีข้อเรียกร้องให้เดินทางไปร่วมฉลองเทศกาลเป็นประจำทุกปี. แต่เอ็ลคานาบิดาของซามูเอลพาทั้งครอบครัว “ขึ้นไปจากเมืองของตนไปยังเมืองซีโลทุก ๆ ปีเพื่อจะนมัสการและถวายเครื่องบูชาแก่พระยะโฮวาเจ้าแห่งพลโยธา ณ ที่นั่น.” (1 ซามูเอล 1:3-5) อาจเป็นได้ว่า รามาธายิมโซฟิมบ้านเกิดของซามูเอลอยู่ใกล้ ๆ ชายฝั่งทะเลซึ่งปัจจุบันคือเมืองเรนทิส บริเวณเชิงเขาของ “แขวงซึ่งมีเขามากของเขตตระกูลเอ็ฟรายิม.” (1 ซามูเอล 1:1) ฉะนั้น การเดินทางไปเมืองซีโลคงจะเป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งสำหรับสมัยนั้นนับเป็นการเดินทางไกลที่ทำให้เหนื่อยล้าทีเดียว. นี่เป็นสิ่งที่ครอบครัวของเอ็ลคานาทำอย่างภักดี “[พวกเขา] ขึ้นไปที่พลับพลาพระยะโฮวา . . . ทุก ๆ ปี.”—1 ซามูเอล 1:7.
13. ชาวยิวที่ซื่อสัตย์วางตัวอย่างอะไรในระหว่างที่พระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก?
13 พระเยซูทรงเติบโตขึ้นมาในครอบครัวใหญ่ด้วยเช่นกัน. ทุกปีครอบครัวของพระองค์เดินทางลงใต้จากเมืองนาซาเร็ธระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรเพื่อร่วมเทศกาลปัศคาในกรุงยะรูซาเลม. มีสองเส้นทางที่พวกเขาอาจเลือกใช้ได้. เส้นทางที่ตรงกว่ามีช่วงหนึ่งที่ลาดลงสู่หุบเขาเมกิดโด ต่อจากนั้นก็ค่อย ๆ ไต่สูงขึ้นจนถึงระดับความสูงประมาณ 600 เมตรผ่านเขตซะมาเรีย แล้วจึงต่อไปถึงกรุงยะรูซาเลม. อีกเส้นทางหนึ่งที่นิยมใช้กันได้แก่เส้นทางที่พระเยซูทรงใช้ในการเดินทางเที่ยวสุดท้ายไปกรุงยะรูซาเลมในปี ส.ศ. 33. หากใช้เส้นทางนี้ พระองค์ต้องเดินลงไปตามหุบเขาจอร์แดนสู่พื้นที่ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเลจนถึง “แขวงยูดาย . . . แม่น้ำยาระเดนฟากข้างโน้น.” (มาระโก 10:1) จากจุดนี้ ถนนที่ “ขึ้นไปยังกรุงยะรูซาเลม” มีระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร รวมถึงการเดินไปตามเส้นทางที่ไต่ขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่า 1,100 เมตรด้วย. (มาระโก 10:32) ฝูงชนผู้ซื่อสัตย์ที่ร่วมฉลองเทศกาลเดินทางเป็นประจำด้วยความยากลำบากจากฆาลิลายไปยังกรุงยะรูซาเลม. (ลูกา 2:44) ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีอะไรเช่นนี้สำหรับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาในปัจจุบันที่อยู่ในประเทศมั่งคั่ง ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วหลายคนสามารถเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยวิธีการเดินทางสมัยใหม่แบบต่าง ๆ!
14, 15. (ก) นางอันนาวางตัวอย่างอะไร? (ข) เราสามารถเรียนอะไรได้จากเจตคติที่ดีซึ่งคนใหม่ ๆ บางคนที่เข้าร่วมประชุมแสดงออก?
14 อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่นางอันนาหญิงม่ายวัย 84 ปี. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่านาง “มิได้ [“ขาด,” ล.ม.] ไปจากโบสถ์เลย.” (ลูกา 2:37) นอกจากนั้น นางอันนาแสดงความห่วงใยในผู้อื่นด้วย. เมื่อได้เห็นพระกุมารเยซูและทราบว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮาตามคำสัญญา นางทำอะไร? นางขอบคุณพระเจ้าและเริ่ม “กล่าวถึงพระกุมารนั้นให้คนทั้งปวงที่คอยท่าเวลาของกรุงยะรูซาเลมจะหลุดเป็นไทยฟัง.” (ลูกา 2:38) ช่างเป็นเจตคติที่ดีซึ่งเป็นแบบอย่างจริง ๆ สำหรับคริสเตียนสมัยปัจจุบัน!
15 ใช่แล้ว เช่นเดียวกับนางอันนา การเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการประชุมของเราควรเป็นความยินดีซึ่งเราไม่ต้องการพลาด. คนใหม่หลายคนรู้สึกแบบนี้ด้วย. เมื่อได้ออกมาจากความมืดสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระเจ้า พวกเขาต้องการเรียนรู้ทุกสิ่งที่สามารถเรียนได้ และหลายคนแสดงความกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน. ในอีกด้านหนึ่ง คนที่อยู่ในความจริงมานานต้องระวังที่จะไม่ ‘ละความรักซึ่งเขาเคยมีในตอนแรก.’ (วิวรณ์ 2:4, ล.ม.) บางครั้ง ปัญหาร้ายแรงด้านสุขภาพหรือปัจจัยอื่นซึ่งเกินกว่าที่คนเราจะควบคุมได้อาจจำกัดการเข้าร่วมการประชุม. แต่อย่าปล่อยให้วัตถุนิยม, นันทนาการ, หรือการขาดความสนใจเป็นเหตุให้เราเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่มีการเตรียมตัว, ไม่กระตือรือร้น, หรือไม่สม่ำเสมอ.—ลูกา 8:14.
ตัวอย่างที่ดีที่สุด
16, 17. (ก) เจตคติของพระเยซูต่อการประชุมฝ่ายวิญญาณเป็นเช่นไร? (ข) นิสัยที่ดีอะไรที่คริสเตียนทุกคนควรพยายามจะเลียนแบบ?
16 พระเยซูทรงวางตัวอย่างเด่นที่สุดในการแสดงความหยั่งรู้ค่าสำหรับการประชุมฝ่ายวิญญาณ. เมื่อทรงเยาว์วัยมีพระชนมายุได้เพียง 12 พรรษา พระองค์ทรงแสดงออกซึ่งความรักต่อพระนิเวศของพระเจ้าในกรุงยะรูซาเลม. บิดามารดาตามหาพระองค์ไม่พบ แต่ในที่สุดทั้งสองก็พบพระองค์พิจารณาพระคำของพระเจ้าอยู่กับพวกอาจารย์ในพระวิหาร. พระเยซูทรงตอบอย่างที่เข้าใจความห่วงใยของบิดามารดาโดยถามอย่างนับถือว่า “ท่านยังไม่ทราบหรือว่า ฉันคงต้องอยู่ในราชฐานแห่งพระบิดาของฉัน?” (ลูกา 2:49) ด้วยการยอมอยู่ใต้อำนาจ พระเยซูผู้ทรงเยาว์วัยกลับไปนาซาเร็ธกับบิดามารดา. ที่นั่น พระองค์ทรงแสดงความรักที่มีต่อการประชุมเพื่อนมัสการอยู่เสมอ โดยทรงไปที่ธรรมศาลาเป็นประจำ. ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระองค์ทรงเริ่มงานรับใช้ของพระองค์ คัมภีร์ไบเบิลรายงานว่า “พระองค์เสด็จมาถึงเมืองนาซาเร็ธ, เป็นที่ซึ่งพระองค์ทรงเจริญวัยขึ้น. พระองค์เสด็จเข้าไปในธรรมศาลาในวันซะบาโตตามเคย, และทรงยืนขึ้นเพื่อจะอ่าน.” หลังจากพระเยซูทรงอ่านและอธิบายยะซายา 61:1, 2 ผู้ฟังก็เริ่ม “ประหลาดใจด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยคุณซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—ลูกา 4:16, 22.
17 การประชุมคริสเตียนในปัจจุบันเจริญรอยตามรูปแบบพื้นฐานเดียวกันนี้. หลังจากเปิดการประชุมด้วยเพลงถวายคำสรรเสริญและคำอธิษฐาน มีการอ่านและอธิบายข้อต่าง ๆ จากคัมภีร์ไบเบิล (หรือข้อพระคัมภีร์ที่ยกมาในบทความศึกษา). คริสเตียนแท้อยู่ใต้พันธะที่จะเลียนแบบธรรมเนียมที่ดีของพระเยซูคริสต์. เท่าที่สภาพการณ์ของพวกเขาอำนวย เขาพบความยินดีในการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ.
ตัวอย่างในสมัยปัจจุบัน
18, 19. พี่น้องในประเทศที่ยากจนกว่าวางตัวอย่างอันดีเยี่ยมเช่นไรในเรื่องการประชุมประชาคม, การประชุมหมวด, การประชุมภาค?
18 ในส่วนของโลกที่ยากจนกว่า พี่น้องหลายคนวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องความหยั่งรู้ค่าต่อการประชุมคริสเตียน. ที่โมซัมบิก โอร์ลานดูซึ่งเป็นผู้ดูแลภาคและอาเมลยาภรรยาของเขาต้องใช้เวลา 45 ชั่วโมงเดินเป็นระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตรข้ามภูเขาสูงลูกหนึ่งเพื่อรับใช้ที่การประชุมหมวดแห่งหนึ่ง. จากนั้น เขาต้องกลับโดยใช้เส้นทางเดิมเพื่อรับใช้ในการประชุมหมวดอีกแห่งหนึ่ง. โอร์ลานดูรายงานอย่างถ่อมตัวดังนี้: “เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลยเมื่อเทียบกับพี่น้องจากประชาคมบาวา. เพื่อเข้าร่วมการประชุมและกลับไปถึงบ้านต้องเดินเป็นเวลาหกวันระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร และในกลุ่มพวกเขามีพี่น้องชายคนหนึ่งอายุ 60 ปี!”
19 ความหยั่งรู้ค่าสำหรับการประชุมประจำประชาคมในแต่ละสัปดาห์ล่ะเป็นอย่างไร? กาชวาชวา นจามบาเป็นพี่น้องหญิงที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก อายุก็ 70 กว่าปีแล้ว. เธออยู่ที่ไคโซโซซี หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างประมาณห้ากิโลเมตรจากหอประชุมราชอาณาจักรที่หมู่บ้านรุนดุ ประเทศนามิเบีย. เพื่อเข้าร่วมการประชุม เธอเดินลัดเลาะผ่านป่าละเมาะไปกลับ 10 กิโลเมตร. มีคนถูกทำร้ายเพื่อชิงทรัพย์บนเส้นทางนี้ แต่กาชวาชวาก็ยังคงไปประชุมเป็นประจำ. ส่วนใหญ่ของระเบียบวาระการประชุมใช้ภาษาที่เธอไม่เข้าใจ. ถ้าอย่างนั้นเธอได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม? คุณยายกาชวาชวากล่าวว่า “โดยติดตามข้อพระคัมภีร์ ดิฉันพยายามปะติดปะต่อเรื่องว่าคำบรรยายพูดถึงอะไร.” แต่เธอไม่รู้หนังสือ แล้วเธอจะติดตามข้อพระคัมภีร์ได้อย่างไร? เธอตอบดังนี้: “ดิฉันคอยฟังข้อพระคัมภีร์ที่ดิฉันจำได้ขึ้นใจ.” ตลอดหลายปี เธอจำข้อพระคัมภีร์ได้หลายข้อทีเดียว. เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้คัมภีร์ไบเบิล เธอเข้าร่วมชั้นเรียนสอนอ่านเขียนซึ่งประชาคมจัดให้มีขึ้น. เธอกล่าวว่า “ดิฉันชอบเข้าร่วมประชุมมาก. มีสิ่งใหม่ ๆ ให้เรียนอยู่เสมอ. ดิฉันชอบคบหาสมาคมกับพี่น้องชายหญิง. แม้ว่าดิฉันไม่สามารถพูดกับทุกคน แต่พวกเขามาหาและทักทายดิฉันเสมอ. และสำคัญที่สุด ดิฉันรู้ว่าโดยการเข้าร่วมการประชุม ดิฉันทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี.”
20. เหตุใดเราต้องไม่ละเลยการประชุมคริสเตียน?
20 เช่นเดียวกับกาชวาชวา ผู้นมัสการพระยะโฮวาหลายล้านคนทั่วโลกแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการประชุมคริสเตียนอย่างน่าชมเชย. ขณะที่โลกของซาตานอยู่บนเส้นทางซึ่งนำไปสู่การทำลายล้าง เราไม่อาจละเลยการประชุมร่วมกัน. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้เราตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ และแสดงความหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อการประชุมประชาคม, การประชุมหมวด, และการประชุมภาค. การทำอย่างนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี แต่จะให้ประโยชน์แก่เราอย่างมากมายขณะที่เรารับเอาการสอนจากพระเจ้าซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์.—สุภาษิต 27:11; ยะซายา 48:17, 18; มาระโก 13:35-37.
คำถามทบทวน
▫ ทำไมการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนจึงเป็นสิทธิพิเศษ?
▫ ทุกคนที่เข้าร่วมสามารถมีส่วนช่วยให้การประชุมเป็นที่เสริมสร้างได้อย่างไร?
▫ พระเยซูคริสต์ทรงวางตัวอย่างเด่นเช่นไร?
▫ เราสามารถเรียนอะไรได้จากพี่น้องที่อยู่ในประเทศที่ยากจนกว่า?
[กรอบหน้า 17]
ทำไมพวกเขาชุมนุมกัน?
แต่ละปีพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลกชุมนุมกันนับจำนวนเป็นพันเป็นหมื่น ณ การประชุมใหญ่. ณ ที่นั่น พวกเขาเพลิดเพลินกับมิตรภาพและได้ยินได้ฟังระเบียบวาระที่ดีเลิศเกี่ยวกับคำสั่งสอนในคัมภีร์ไบเบิล. บางคนใช้ความพยายามมากทีเดียวเพื่อเข้าร่วมการประชุมเหล่านี้. ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วในมาลาวี คู่สมรสในวัย 65 ปีพร้อมลูกชายกับภรรยาของเขาและลูกเล็ก ๆ เดินทางโดยรถจักรยานเป็นระยะทาง 80 กิโลเมตรเพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่. พวกเขาออกจากหมู่บ้านของตนตอนหกโมงเช้าและมาถึงสถานที่ประชุมใน 15 ชั่วโมงต่อมา.
ในโมซัมบิก กลุ่มพี่น้องเดินทางสามวันโดยรถจักรยานเพื่อไปถึงการประชุมใหญ่. คืนหนึ่ง ขณะตั้งค่ายพักแรมกลางแจ้ง พวกเขาได้ยินเสียงพวกสิงโตคำรามอยู่ใกล้ ๆ. ถึงแม้พวกเขาขว้างฟืนไล่แล้วก็ตาม สิงโตก็ยังป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้นจนกระทั่งรุ่งอรุณ. พยานฯ อีกคนหนึ่งซึ่งเดินทางไปยังการประชุมเดียวกันนั้นเผชิญหน้ากับสิงโตกลางทาง. เขายืนเงียบโดยไม่ขยับเขยื้อนจนกระทั่งสิงโตเดินจากไป. ณ การประชุมใหญ่นั้น พยานฯ เหล่านี้เล่าให้กันฟังอย่างมีชีวิตชีวาถึงวิธีที่พวกเขาได้ “พ้นจากปากสิงโต.”—2 ติโมเธียว 4:17.
พยานพระยะโฮวาหลายคนใช้ความพยายามมากทีเดียวที่จะเข้าร่วมการประชุมใหญ่หรือแม้แต่การประชุมประจำสัปดาห์ของประชาคมเพื่อการนมัสการ. เพราะเหตุใด? บทความต่อไปจะช่วยคุณเข้าใจเหตุผลที่การชุมนุมร่วมกันสำคัญถึงเพียงนั้น.
[รูปภาพหน้า 18]
พยานฯ เช่นเดียวกับคนเหล่านี้ในโรมาเนียวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องความหยั่งรู้ค่าต่อการประชุมคริสเตียน