เร้าใจให้เกิดความรักและการงานที่ดี—โดยวิธีใด?
“ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการงานที่ดี . . . ชูใจซึ่งกันและกันและให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.”—เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.
1, 2. (ก) เหตุใดเป็นสิ่งสำคัญที่คริสเตียนสมัยแรกพึงได้รับการปลอบโยนและการหนุนกำลังใจเมื่อพวกเขาประชุมร่วมกัน? (ข) เปาโลได้ให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวด้วยความจำเป็นต้องประชุมร่วมกัน?
พวกเขาได้พบกัน ณ ที่ลับตาคน เบียดตัวอยู่ในห้องที่ปิดประตูแน่น. ส่วนข้างนอก มีอันตรายแฝงเร้นอยู่ทุกแห่ง. พระเยซูผู้นำของเขาเพิ่งถูกประหารชีวิตอย่างเปิดเผย และพระองค์ได้เตือนเหล่าสาวกว่า เขาจะได้รับการปฏิบัติไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่พระองค์ประสบ. (โยฮัน 15:20; 20:19) แต่ขณะที่พวกเขากระซิบกระซาบเรื่องพระเยซูผู้ทรงเป็นที่รักนั้น การอยู่ด้วยกันคงทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยขึ้น.
2 ขณะที่หลายปีผ่านไป คริสเตียนเผชิญความยากลำบากและการข่มเหงทุกรูปแบบ. เช่นเดียวกันกับสาวกสมัยแรก พวกเขาได้รับคำปลอบโยนและการหนุนกำลังใจจากการประชุมกัน. ด้วยเหตุนี้ อัครสาวกเปาโลจึงเขียนไว้ที่เฮ็บราย 10:24, 25 (ล.ม.) ดังนี้: “ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการงานที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.”
3. เพราะเหตุใดคุณอาจพูดได้ว่าเฮ็บราย 10:24, 25 ไม่ใช่เป็นแค่คำสั่งให้คริสเตียนประชุมกันเท่านั้น?
3 ถ้อยคำเหล่านั้นไม่เพียงแต่เป็นคำสั่งให้ร่วมประชุมกันต่อ ๆ ไป. ถ้อยคำนั้นแสดงถึงมาตรฐานซึ่งได้รับโดยการดลบันดาลจากพระเจ้าสำหรับการประชุมทุกอย่างของคริสเตียน และจริง ๆ แล้ว สำหรับโอกาสใดก็ตามเมื่อคริสเตียนคบหาสมาคมด้วยกัน. ทุกวันนี้ยิ่งกว่าแต่ก่อน เมื่อเราเห็นชัดว่า วันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา ความกดดันและอันตรายจากระบบชั่วทำให้เป็นเรื่องจำเป็นที่จะให้การประชุมต่าง ๆ ของเราเป็นที่ให้ความปลอดภัย, เป็นบ่อเกิดของกำลังและการหนุนกำลังใจสำหรับทุกคน. เราอาจทำอะไรได้เพื่อประกันเรื่องนี้? ขอให้เราพิจารณาคำพูดของเปาโลอย่างถี่ถ้วน ด้วยการตั้งคำถามสำคัญสามข้อ เช่น: “พิจารณาดูกันและกัน” หมายถึงอะไร? ‘เร้าใจกันและกันให้เกิดความรักและการงานที่ดี’ หมายถึงอะไร? ข้อสุดท้าย เราจะ “ชูใจซึ่งกันและกัน” ในยุควิกฤตนี้โดยวิธีใด?
“พิจารณาดูกันและกัน”
4. การ “พิจารณาดูกันและกัน” หมายถึงอะไร?
4 เมื่อเปาโลปลุกเร้าคริสเตียนให้ “พิจารณาดูกันและกัน” ท่านได้ใช้คำกริยาภาษากรีก คาทาโนเอʹโอ อันเป็นรูปแบบที่เสริมน้ำหนักแก่คำธรรมดา “มองออก.” พจนานุกรมทางเทววิทยาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ชี้แจงว่า คำนี้ในภาษากรีกหมายความว่า “ชี้นำความคิดของคนเราแน่วไปสู่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง.” ตามดับเบิลยู. อี. ไวน์. คำนั้นอาจหมายถึง “เข้าใจเต็มที่, พิจารณาอย่างลึกซึ้ง” ดังนั้น เมื่อคริสเตียน “พิจารณาดูกันและกัน” ไม่ใช่เพียงการมองเพียงผิวเผิน แต่เขาใช้ความสามารถทางความคิดทั้งหมด และพยายามมองให้เข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น.—เทียบกับเฮ็บราย 3:1.
5. แง่มุมอะไรบ้างของคนเราซึ่งไม่อาจสังเกตเห็นได้ในทันที และเหตุใดเราควรพิจารณาเรื่องนี้?
5 เราต้องจำไว้ว่ามีอีกหลายอย่างเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล มากยิ่งไปกว่าแค่เห็นรูปร่างหน้าตา, การงาน, และบุคลิกภาพของเขาเท่าที่ปรากฏภายนอก. (1 ซามูเอล 16:7) บ่อยครั้ง สีหน้าที่ดูเงียบสงบอาจอำพรางความรู้สึกในส่วนลึกของเขา หรืออารมณ์ขันที่ทำให้คนชอบ. นอกจากนี้ ภูมิหลังก็แตกต่างกันมากด้วย. บางคนเคยผ่านสภาพการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตของเขา คนอื่น ๆ กำลังเพียรอดทนต่อสภาพการณ์ต่าง ๆ ในขณะนี้ซึ่งยากที่เราจะสร้างมโนภาพได้. บ่อยครั้งเพียงไรที่ความขุ่นเคืองใจเมื่อเห็นนิสัยแปลก ๆ ของพี่น้องชายหญิงมลายหายไปเมื่อเราเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับภูมิหลังหรือสภาพแวดล้อมของคนนั้น.—สุภาษิต 19:11.
6. มีทางใดบ้างซึ่งเราจะทำความรู้จักมักคุ้นกันให้มากขึ้น และจะมีผลดีอะไรตามมา?
6 แน่นอน ทั้งนี้ไม่หมายความว่าเราควรสอดส่องดูเรื่องส่วนตัวคนอื่นโดยไม่มีการขอร้อง. (1 เธซะโลนิเก 4:11) กระนั้น เราก็ยังคงแสดงความสนใจซึ่งกันและกันเป็นส่วนตัวได้. ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงการทักทายกล่าวสวัสดีที่หอประชุม. คุณน่าจะเลือกเอาบางคนที่คุณอยากรู้จักเขามากขึ้น และตั้งเป้าพูดคุยกับเขาสักครู่หนึ่งก่อนการประชุมเริ่มหรือหลังจากเลิกประชุมแล้ว ดีกว่านั้นอีก “จงมีน้ำใจรับรองแขก” โดยเชิญพี่น้องสักคนหรือสองคนมารับประทานอาหารว่างกับคุณที่บ้าน. (โรม 12:13) ให้ความสนใจ. เอาใจใส่ฟังเขาพูด. เพียงแค่ถามว่าเขามารู้จักและรักพระยะโฮวาอย่างไรก็อาจเปิดเผยหลายอย่าง. กระนั้น คุณยังจะเรียนรู้ได้อีกมากโดยทำงานเผยแพร่ตามบ้านด้วยกัน. การพิจารณาดูกันและกันเช่นนี้จะช่วยเราปลูกสำนึกการเป็นเพื่อนแท้ หรือความร่วมรู้สึก.—ฟิลิปปอย 2:4; 1 เปโตร 3:8.
‘เร้าใจซึ่งกันและกัน’
7. (ก) การสั่งสอนของพระเยซูส่งผลกระทบผู้คนอย่างไร? (ข) อะไรทำให้การสอนของพระองค์มีพลังถึงขนาดนั้น?
7 เมื่อเราพิจารณาดูกันและกัน เราจะเตรียมพร้อมดีขึ้นเพื่อเร้าใจ, กระตุ้นกันและกันให้ลงมือทำ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสเตียนผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในด้านนี้. เกี่ยวกับโอกาสหนึ่ง เมื่อพระเยซูได้ตรัสแก่ฝูงชน เราอ่านว่า “ประชาชนทั้งปวงก็อัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์.” (มัดธาย 7:28) อีกคราวหนึ่ง แม้แต่ทหารหมู่หนึ่งซึ่งถูกส่งไปเพื่อจับพระองค์ ก็กลับมารายงานว่า “ไม่เคยมีผู้อื่นใดพูดเช่นนี้เลย.” (โยฮัน 7:46, ล.ม.) อะไรทำให้การสอนของพระเยซูมีพลังถึงเพียงนั้น? เป็นการแสดงแบบเร้าอารมณ์ผู้คนหรือเปล่า? ไม่ใช่ พระเยซูทรงสอนอย่างสง่าผ่าเผย. ถึงกระนั้น พระองค์ทรงมุ่งเล็งจะเข้าถึงหัวใจผู้คนที่รับฟังพระองค์. เนื่องจากพระองค์พิจารณาดู ผู้คน พระองค์ทราบอย่างถ่องแท้ว่าจะกระตุ้นจิตใจผู้คนอย่างไร. พระองค์ทรงใช้อุทาหรณ์ที่ให้ภาพชัดเจน เข้าใจง่าย ซึ่งสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างที่เป็นจริง. (มัดธาย 13:34) ในทำนองคล้ายกัน ผู้ซึ่งมีส่วน ณ การประชุมของเราควรเลียนแบบพระเยซู โดยการพูดอย่างอบอุ่น, ด้วยความกระตือรือร้นซึ่งจะกระตุ้น. เช่นเดียวกับพระเยซู เราควรเสาะหาตัวอย่างประกอบต่าง ๆ ซึ่งเหมาะกับผู้ฟังและเข้าถึงหัวใจของเขา.
8. พระเยซูทรงเร้าใจอย่างไรโดยวางตัวอย่าง และพวกเราอาจเลียนแบบพระองค์ในเรื่องนี้อย่างไร?
8 ในการรับใช้พระเจ้าของเรา พวกเราทุกคนจะเร้าใจซึ่งกันและกันได้โดยการวางตัวอย่าง. พระเยซูได้เร้าใจบรรดาผู้ที่ฟังพระองค์อย่างแน่นอน. พระองค์ทรงรักงานเผยแพร่ของคริสเตียนและยกย่องงานนี้. พระองค์ตรัสว่า งานนี้เป็นดั่งอาหารสำหรับพระองค์. (โยฮัน 4:34; โรม 11:33) ความกระตือรือร้นเช่นนี้อาจส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง. คุณจะแสดงให้เห็นเช่นเดียวกันนั้นไหมว่าคุณชื่นชมยินดีกับงานรับใช้? ขณะที่คุณจะระมัดระวังหลีกเลี่ยงการพูดในเชิงโอ้อวด จงเล่าประสบการณ์ดี ๆ ของคุณให้คนอื่นในประชาคมฟัง. คราใดที่เชิญชวนคนอื่นทำงานร่วมกับคุณ ก็จงดูว่าคุณจะช่วยเขาให้ประสบความเพลิดเพลินอย่างแท้จริงในการสนทนากับผู้คนด้วยเรื่องพระยะโฮวา พระผู้สร้างองค์ใหญ่ยิ่งของเรา.—สุภาษิต 25:25.
9. (ก) วิธีพูดเร้าใจคนอื่นแบบใดบ้างที่พึงหลีกเลี่ยง และเพราะเหตุใด? (ข) อะไรน่าจะกระตุ้นเราให้ทุ่มเทตัวเองเพื่องานรับใช้พระยะโฮวา?
9 แต่พึงระวังที่จะไม่เร้าใจผู้อื่นในทางผิด. อย่างเช่น โดยไม่ตั้งใจ เราอาจพูดให้เขาละอายใจเนื่องจากไม่ได้ทำมากกว่านี้. โดยไม่ตั้งใจเราอาจจะทำให้เขารู้สึกอับอายโดยเอาเขาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นซึ่งร่วมทำกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนอย่างโดดเด่นกว่า หรือเราอาจกระทั่งตั้งกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและดูหมิ่นคนเหล่านั้นที่ทำไม่ถึงขั้น. วิธีเหล่านี้ไม่วิธีใดวิธีหนึ่งอาจปลุกเร้าให้บางคนขันแข็งสักพักหนึ่ง แต่เปาโลไม่ได้เขียนให้ ‘เร้าให้เกิดความละอายใจ และการงานที่ดี.’ เปล่าเลย เราต้องเร้าใจให้เกิดความรัก ครั้นแล้ว การงานก็จะตามมาจากแรงกระตุ้นที่ดี. ไม่สมควรที่จะปลุกเร้าคนใดคนหนึ่งโดยการคำนึงถึงสิ่งที่คนอื่น ๆ ในประชาคมอาจคิดถึงตัวเขา หากเขาไม่ได้เป็นไปตามความคาดหมาย.—เทียบกับ 2 โกรินโธ 9:6, 7.
10. เหตุใดเราควรจดจำอยู่เสมอว่าเราไม่ใช่นายบังคับความเชื่อของคนอื่น?
10 ที่จะเร้าใจกันและกันไม่หมายถึงการควบคุมกันและกัน. แม้นอัครสาวกเปาโลได้รับอำนาจจากพระเจ้ามาก ท่านยังถ่อมใจตักเตือนประชาคมโกรินโธดังนี้: ‘เรามิใช่เป็นนายเหนือความเชื่อของท่าน.’ (2 โกรินโธ 1:24, ล.ม.) ถ้าพวกเรา เหมือนเปาโล ตระหนักด้วยความถ่อมใจว่า เราไม่มีหน้าที่วินิจฉัยผู้อื่นว่าเขาควรทำงานรับใช้พระยะโฮวามากน้อยแค่ไหน หรือที่จะควบคุมสติรู้สึกผิดชอบของผู้อื่นในเรื่องอื่น ๆ ที่เขาต้องตัดสินใจ เราจะหลีกเลี่ยงการเป็น “คนชอบธรรมเกินไป” เป็นคนขาดความยินดี, เข้มงวด, มีทัศนะในแง่ลบ, หรือเน้นแต่กฎระเบียบ. (ท่านผู้ประกาศ 7:16, ฉบับแปลใหม่) ลักษณะดังกล่าวไม่เร้าใจ แต่ก่อความหนักใจ.
11. น้ำใจแบบไหนได้กระตุ้นการบริจาคคราวที่ชาติยิศราเอลก่อสร้างพลับพลาประชุม และเรื่องนี้อาจเป็นจริงในสมัยนี้อย่างไร?
11 พวกเราอยากให้ความบากบั่นทุกอย่างอันเกี่ยวเนื่องกับงานรับใช้พระยะโฮวาดำเนินไปด้วยเจตนาเดียวกันดังที่เคยปรากฏมาแล้วในประเทศยิศราเอลโบราณเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพย์บริจาคสำหรับการก่อสร้างพลับพลาประชุม. เอ็กโซโด 35:21 มีความว่า “ทุกคนที่มีใจสมัครก็ได้นำสิ่งของมาถวายพระยะโฮวาสำหรับการนมัสการ.” คนเหล่านั้นไม่ได้ถูกบีบบังคับจากภายนอก แต่มีแรงกระตุ้นจากภายใน, จากหัวใจ. ที่จริง คำภาษาฮีบรูตามตัวอักษร ณ ที่นี้อ่านว่า “ทุกคนซึ่งหัวใจของเขายก ตนขึ้น” ก็ได้บริจาค. (เราทำให้เป็นตัวเอน) ยิ่งกว่านั้น ให้เราเพียรพยายามปลุกเร้าหัวใจซึ่งกันและกันเมื่อเรามีโอกาสอยู่ด้วยกัน. พระวิญญาณของพระยะโฮวาสามารถดำเนินการนอกเหนือจากนั้น.
‘หนุนใจซึ่งกันและกัน’
12. (ก) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ชูใจ” นั้นยังให้ความหมายอะไรอีกบ้าง? (ข) โดยวิธีใดสหายของโยบไม่ได้หนุนใจท่าน? (ค) ทำไมเราควรละเว้นจากการตัดสินกันและกัน?
12 เมื่อเปาโลเขียนว่าเราควร ‘หนุนใจซึ่งกันและกัน’ ท่านได้ใช้รูปแบบหนึ่งของคำภาษากรีก พาราคาเลʹ-โอ ซึ่งอาจหมายถึง ‘เสริมกำลัง, ปลอบโยน’ ได้เช่นกัน. ในคัมภีร์ฉบับกรีกเซ็ปตัวจินต์ มีการใช้คำเดียวกันนี้ที่โยบ 29:25 เมื่อโยบได้รับการพรรณนาว่าเป็นผู้ปลอบโยนคนโศกเศร้า. แต่ขณะที่โยบเองประสบความทุกข์ยากสาหัส ท่านไม่ได้รับการเสริมกำลังเช่นนั้นเลย. “ผู้เล้าโลม” ทั้งสามคนมัวแต่วิจารณ์ท่านและต่อปากต่อคำเสียยืดยาว พวกเขาจึงไม่เข้าใจท่านหรือไม่ร่วมความรู้สึกกับท่านเลย. ที่จริง เท่าที่เขาพูดมาโดยตลอดนั้น เขาไม่ได้ออกชื่อโยบแม้แต่ครั้งเดียว. (เทียบกับโยบ 33:1, 31.) ปรากฏชัดว่าพวกเขามองท่านเป็นตัวปัญหายิ่งกว่าเป็นตัวบุคคล. ไม่แปลกที่โยบร้องตะโกนด้วยความข้องขัดใจว่า “ถ้าจิตใจท่านอยู่ในที่ของจิตใจข้า”! (โยบ 16:4, ฉบับแปลใหม่) สมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณต้องการให้กำลังใจบางคน จงร่วมความรู้สึก! อย่าตัดสิน. ดังที่กล่าวในโรม 14:4 ว่า “ท่านคือผู้ใดเล่าจึงปรับโทษบ่าวของคนอื่น? บ่าวคนนั้นจะได้ดีหรือจะล่มจมก็สุดแล้วแต่นายของตัว. เขาคงจะได้ดีแน่นอน, ด้วยว่าพระเจ้าทรงฤทธิ์อาจให้เขาได้ดีได้.”
13, 14. (ก) ความจริงพื้นฐานอะไรที่เราต้องให้พี่น้องชายหญิงของเรามั่นใจเพื่อปลอบประโลมเขา? (ข) ดานิเอลได้รับการเสริมกำลังใจจากทูตสวรรค์โดยวิธีใด?
13 รูปศัพท์ของ พาราคาเลʹโอ และคำนามที่เกี่ยวพันกันยังได้รับการแปลว่า “ชูใจ” ที่ 2 เธซะโลนิเก 2:16, 17: “บัดนี้ขอให้องค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเราเอง, และพระเจ้าคือพระบิดาของเรา, ผู้ทรงรักเราและทรงประทานให้เรามีความชูใจนิรันดร์และความหวังอันดีโดยพระคุณ, ทรงชูใจและตั้งใจของท่านไว้ให้มั่นคงในกิจการและในวาจาอันดีทุกอย่าง.” โปรดสังเกต เปาโลเชื่อมโยงแนวคิดว่าด้วยหัวใจของเราได้รับการชูใจเข้ากับความจริงพื้นฐานที่ว่าพระยะโฮวาทรงรักเรา. ดังนั้น เราอาจให้กำลังใจและชูใจซึ่งกันและกันโดยการยืนยันความจริงพื้นฐานข้อนั้น.
14 ณ โอกาสหนึ่ง ผู้พยากรณ์ดานิเอลรู้สึกวุ่นวายใจมากหลังจากเห็นนิมิตอันน่าตระหนก จนท่านพูดดังนี้: “หน้าตาสุกใสของข้าพเจ้าก็เปลี่ยนเป็นหน้าซีด ข้าพเจ้าหมดแรง.” พระยะโฮวาทรงส่งทูตสวรรค์องค์หนึ่งซึ่งได้เตือนดานิเอลหลายครั้งให้ระลึกว่าท่านคือ “ผู้เป็นที่รักอย่างยิ่ง” ในคลองพระเนตรของพระเจ้า. ผลเป็นอย่างไร? ดานิเอลทูลทูตสวรรค์ว่า “ท่านได้ให้กำลังข้าพเจ้าแล้ว.”—ดานิเอล 10:8, 11, 19, ฉบับแปลใหม่.
15. โดยวิธีใดผู้ปกครองและผู้ดูแลเดินทางควรให้คำชมเชยอยู่ในดุลยภาพกันกับการว่ากล่าวแก้ไข?
15 ทีนี้ก็มีอีกวิธีหนึ่งที่จะหนุนกำลังใจผู้อื่น. พูดชมเชยเขา! ดูเหมือนง่ายมากที่จะเผลอมีทัศนะวิพากษ์วิจารณ์หรือเกรี้ยวกราด. จริงอยู่ บางครั้งการว่ากล่าวแก้ไขอาจเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะจากผู้ปกครองและผู้ดูแลเดินทาง. แต่คงจะเป็นคุณประโยชน์สำหรับเขา หากคนอื่นรำลึกถึงเขาเพราะเขาได้ให้การหนุนกำลังใจอย่างอบอุ่นแทนที่จะเป็นท่าทีคอยจับผิด.
16. (ก) เมื่อพูดหนุนกำลังใจคนท้อแท้ทำไมไม่พอถ้าเพียงแต่แนะนำเขาให้รับใช้พระยะโฮวามากขึ้น? (ข) พระยะโฮวาได้ช่วยเอลียาอย่างไรเมื่อท่านรู้สึกท้อแท้?
16 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาคนที่รู้สึกท้อแท้ต้องการการหนุนกำลังใจ และพระยะโฮวาทรงคาดหมายพวกเราฐานะเพื่อนคริสเตียนด้วยกันเป็นแหล่งให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราเป็นผู้ปกครอง. (สุภาษิต 21:13) เราจะทำได้อย่างไร? คำตอบสำหรับคำถามนี้อาจไม่ใช่แค่บอกเขาให้รับใช้พระยะโฮวามากขึ้น. ทำไม? นั่นอาจส่อนัยว่าความท้อแท้ของเขาเนื่องมาจากเขาทำไม่มากพอ. ปกติแล้วนั่นไม่ใช่สาเหตุ. มีอยู่คราวหนึ่ง ผู้พยากรณ์เอลียารู้สึกท้อใจมากถึงกับอยากตาย กระนั้น เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นคราวที่ท่านหมกมุ่นอยู่ในงานรับใช้พระยะโฮวาอย่างมาก. พระยะโฮวาทรงดำเนินการอย่างไรกับท่าน? พระองค์ได้ส่งทูตสวรรค์มาให้การสงเคราะห์ตามสภาพที่เป็นจริง. เอลียาแสดงออกซึ่งความรู้สึกอันลึกซึ้งของท่านต่อพระยะโฮวา ท่านระบายความในใจที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นคนไร้ค่าเยี่ยงบรรพบุรุษของท่านที่ตายแล้ว ว่าการงานทั้งสิ้นที่ทำไปก็หาประโยชน์ไม่ได้ และตัวเองก็อยู่เดียวดาย. พระยะโฮวาทรงสดับและชูใจท่านด้วยการสำแดงฤทธิ์เดชอันน่าครั่นคร้ามของพระองค์ พร้อมกับให้คำรับรองว่าท่านไม่อยู่เพียงลำพัง และการงานซึ่งท่านเริ่มต้นแล้วจะต้องสำเร็จ. พระยะโฮวายังทรงสัญญาจะให้เอลียามีเพื่อนซึ่งท่านจะฝึกอบรม แล้วในที่สุดจะรับช่วงงานต่อจากท่าน.—1 กษัตริย์ 19:1-21.
17. โดยวิธีใดผู้ปกครองอาจหนุนกำลังใจคนที่มัวแต่ประณามตัวเองมากไป?
17 ช่างเป็นการหนุนกำลังใจเสียจริง ๆ! ขอพวกเราหนุนกำลังใจคนเหล่านั้นซึ่งหดหู่ท้อแท้เช่นเดียวกัน. พยายามเข้าใจเขาโดยการฟัง! (ยาโกโบ 1:19) ให้คำปลอบใจโดยอาศัยหลักการจากคัมภีร์ไบเบิลตามความจำเป็นของแต่ละคน. (สุภาษิต 25:11; 1 เธซะโลนิเก 5:14) ที่จะหนุนกำลังใจคนเหล่านั้นซึ่งเอาแต่ประณามตัวเอง ผู้ปกครองอาจจะให้หลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิลอย่างละมุนละม่อมว่าพระยะโฮวาทรงรักเขาและถือว่าเขามีค่า.a การพิจารณาเรื่องค่าไถ่อาจเป็นแนวทางชูใจที่มีพลังแก่ผู้ที่รู้สึกว่าตนไร้ค่า. ฝ่ายคนที่รู้สึกเสียใจเพราะการบาปบางอย่างในอดีตก็อาจต้องแสดงให้เห็นว่าค่าไถ่ได้ชำระเขาหมดมลทินแล้ว หากเขากลับใจจริง ๆ และไม่หวนไปประพฤติการชั่วต่าง ๆ อีก.—ยะซายา 1:18.
18. ควรใช้คำสอนเรื่องค่าไถ่อย่างไรหนุนกำลังใจคนซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อ เช่น ถูกข่มขืน?
18 แน่นอน ผู้ปกครองย่อมจะไตร่ตรองกรณีนั้นโดยเฉพาะ เพื่อจะสอนอย่างเหมาะสม. โปรดพิจารณาตัวอย่างหนึ่ง: เครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์นั้นมีภาพเล็งถึง โดยเครื่องบูชาที่เป็นสัตว์ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ ซึ่งจำเป็นเพื่อไถ่ถอนบาปทุกอย่าง. (เลวีติโก 4:27, 28) กระนั้น ไม่มีข้อกำหนดเรียกร้อง ที่ว่า คนที่เป็นเหยื่อการข่มขืนจะต้องถวายเครื่องบูชาไถ่บาปเช่นนั้น. พระบัญญัติระบุว่า “อย่าได้ทำอะไรแก่หญิงนั้น” เป็นการลงโทษเขา. (พระบัญญัติ 22:25-27) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน หากซิสเตอร์คนหนึ่งถูกจู่โจมข่มขืน และการนี้ทำให้เธอรู้สึกว่าตนเป็นมลทินและไร้ค่า จึงสมควรจะเน้นเรื่องค่าไถ่กับเธอไหมว่าเธอต้องได้รับการชำระให้พ้นบาป? ไม่อย่างแน่นอน. เธอไม่ได้ทำบาปเนื่องมาจากถูกประทุษร้าย. ผู้ข่มขืนต่างหากเป็นฝ่ายทำบาป และจำต้องได้รับการชำระ. อย่างไรก็ดี ความรักซึ่งพระยะโฮวาและพระคริสต์ทรงสำแดงโดยการจัดเตรียมค่าไถ่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานว่าเธอไม่มีมลทินในคลองพระเนตรของพระเจ้าเพราะเหตุที่อีกคนหนึ่งกระทำบาป แต่เธอมีค่าจำเพาะพระยะโฮวาและดำรงอยู่ในความรักของพระองค์.—เทียบกับมาระโก 7:18-23; 1 โยฮัน 4:16.
19. ทำไมเราไม่ควรคาดหวังว่าการคบหากับพี่น้องชายหญิงของเราจะเป็นที่ให้การหนุนกำลังใจเสมอไป แต่อะไรน่าจะเป็นความตั้งใจแน่วแน่ของเรา?
19 ใช่แล้ว ไม่ว่าสภาพการณ์ในชีวิตเป็นอย่างไร ไม่ว่าสภาพการณ์อันขมขื่นอาจทำให้อดีตของเขามืดมน เขาควรจะสามารถประสบการชูใจในประชาคมแห่งไพร่พลของพระยะโฮวา. และเขาคงได้รับความชูใจ หากพวกเราแต่ละคนมุ่งมั่นจะพิจารณาดูกันและกัน, เร้าใจกันและกัน และหนุนใจกันและกัน เมื่อไรก็ตามที่เรามีการสมาคมคบหา. เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ บางครั้งเราแต่ละคนอาจไม่ได้ทำเช่นนั้น. เราทำให้กันและกันผิดหวังอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นครั้งคราวถึงกับทำให้คนอื่นชอกช้ำใจด้วยซ้ำ. จงพยายามอย่าเพ่งเล็งความผิดพลาดของผู้อื่นในเรื่องนี้. ถ้าคุณเพ่งเล็งอยู่กับข้อผิดพลาดต่าง ๆ คุณก็จะตกอยู่ในอันตรายที่ไปวิพากษ์วิจารณ์ประชาคมมากเกินไป และกระทั่งอาจตกหลุมพรางนั้น ซึ่งเปาโลมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะช่วยเราหลีกเลี่ยงคือละทิ้งการประชุมร่วมกัน. ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย! ขณะที่ระบบเก่านี้มีอันตรายและกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้เราปลงใจแน่วแน่จะทำสุดความสามารถเพื่อให้การพบปะคบหากัน ณ การประชุมต่าง ๆ เป็นการเสริมสร้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นวันของพระยะโฮวาใกล้เข้ามา!
[เชิงอรรถ]
a ผู้ปกครองอาจศึกษาบทความที่ให้กำลังใจจาก หอสังเกตการณ์ หรือ ตื่นเถิด! กับบุคคลดังกล่าว เช่น “คุณจะได้ประโยชน์จากความกรุณาอันไม่พึงได้รับไหม?” และ “ประสบชัยชนะในการสู้กับความซึมเศร้า.”—หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 1990.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เพราะเหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่การประชุมและการสมาคมคบหาของเราเป็นการหนุนกำลังใจในสมัยสุดท้ายนี้?
▫ ที่จะพิจารณาดูกันและกันหมายความอย่างไร?
▫ ที่จะเร้าใจซึ่งกันและกันหมายความอย่างไร?
▫ มีอะไรเกี่ยวข้องด้วยในการชูใจซึ่งกันและกัน?
▫ คนที่รู้สึกท้อแท้และระทมทุกข์อาจได้รับการชูใจอย่างไร?
[รูปภาพหน้า 16]
การมีน้ำใจต้อนรับช่วยให้เรารู้จักมักคุ้นกันดีขึ้น
[รูปภาพหน้า 18]
เมื่อเอลียารู้สึกท้อแท้ พระยะโฮวาทรงปลอบประโลมท่านอย่างกรุณา