วิธีที่พระยะโฮวาทรงนำเรา
“[ขอ] ทรงนำข้าพเจ้าไปตามทางแห่งความซื่อตรง.”—บทเพลงสรรเสริญ 27:11, ล.ม.
1, 2. (ก) พระยะโฮวาทรงนำไพร่พลของพระองค์อย่างไรในปัจจุบัน? (ข) การรับประโยชน์เต็มที่จากการประชุมหมายรวมถึงอะไรด้วย?
พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งความสว่างและความจริง ดังที่เราได้พิจารณาในบทความก่อน. พระคำของพระองค์ให้ความสว่างแก่ทางของเราขณะที่เราดำเนินไปตามทางแห่งความซื่อตรง. พระยะโฮวาทรงนำเราโดยทรงสอนเราในวิถีทางของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105) เช่นเดียวกับผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญในกาลโบราณ เราตอบสนองด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อการนำของพระเจ้าและอธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอโปรดสั่งสอนข้าพเจ้าให้รู้จักวิถีทางของพระองค์ และทรงนำข้าพเจ้าไปตามทางแห่งความซื่อตรง.”—บทเพลงสรรเสริญ 27:11, ล.ม.
2 วิธีหนึ่งซึ่งพระยะโฮวาทรงสอนในปัจจุบันคือโดยทางการประชุมคริสเตียน. เรารับประโยชน์เต็มที่จากการจัดเตรียมด้วยความรักนี้ไหมโดย (1) เข้าร่วมเป็นประจำ (2) ตั้งใจฟังการประชุม และ (3) อยู่พร้อมที่จะเข้าร่วมในส่วนต่าง ๆ ที่เปิดให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม? นอกจากนั้น เราตอบสนองด้วยความหยั่งรู้ค่าไหมเมื่อเราได้รับข้อเสนอแนะที่จะช่วยเราให้รักษาตัวอยู่ใน “ทางแห่งความซื่อตรง”?
การเข้าร่วมประชุม ของคุณเป็นอย่างไร?
3. ผู้รับใช้เต็มเวลาคนหนึ่งได้สร้างนิสัยที่ดีอย่างไรในการเข้าร่วมประชุมเป็นประจำ?
3 ผู้ประกาศราชอาณาจักรบางคนได้เข้าร่วมการประชุมเป็นประจำตั้งแต่เด็ก. พยานพระยะโฮวาคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับใช้เต็มเวลาเล่าว่า “เมื่อฉันกับพี่สาวเติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 เราไม่ต้องถามพ่อแม่ว่าเราจะไปประชุมไหม. เรารู้ว่าเราจะไปแน่ ๆ เว้นแต่เมื่อป่วยเท่านั้น. ครอบครัวเราไม่เคยขาดการประชุม.” เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์หญิงอันนา พี่น้องหญิงคนนี้ “มิได้ไปจาก” สถานนมัสการพระยะโฮวา.—ลูกา 2:36, 37.
4-6. (ก) เหตุใดผู้ประกาศราชอาณาจักรบางคนขาดการประชุม? (ข) ทำไมจึงสำคัญมากที่จะเข้าร่วมการประชุม?
4 คุณเป็นคนหนึ่งไหมที่เข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ หรือว่าคุณกลายเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นครั้งคราว? คริสเตียนบางคนซึ่งคิดว่าเขาทำค่อนข้างดีอยู่แล้ว ตัดสินใจจะทำให้แน่ใจในเรื่องนี้. เป็นเวลาสองสามสัปดาห์ เขาจดไว้ทุกครั้งที่ได้เข้าร่วมการประชุม. เมื่อเขาตรวจดูบันทึกนั้นในตอนสิ้นสุดช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้ เขาก็ต้องแปลกใจกับจำนวนครั้งที่เขาได้ขาดการประชุม.
5 บางคนอาจบอกว่า ‘ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ. ปัจจุบัน ผู้คนตกอยู่ภายใต้ความกดดันมากมาย ทำให้ไม่ง่ายเลยที่เขาจะเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ.’ เป็นความจริงอย่างแน่นอนว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยที่เต็มด้วยความเครียด. ยิ่งกว่านั้น ความกดดันจะเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย. (2 ติโมเธียว 3:13) แต่นั่นทำให้การเข้าร่วมประชุมเป็นประจำสำคัญยิ่งขึ้นไปอีกมิใช่หรือ? หากไม่มีอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพฝ่ายวิญญาณค้ำจุนเราอย่างสม่ำเสมอแล้ว เราไม่อาจหวังได้ว่าจะต้านทานแรงกดดันที่ระบบนี้ก่อให้เกิดขึ้นกับเราได้. หากไม่มีการคบหาสมาคมกันเป็นประจำ เราอาจถูกล่อใจให้ละทิ้ง “วิถีของผู้ชอบธรรม” ไปโดยสิ้นเชิง! (สุภาษิต 4:18) จริงอยู่ เมื่อเรากลับถึงบ้านหลังจากที่ได้ทำงานหนักมาทั้งวัน บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าไม่อยากไปประชุมเท่าไรนัก. อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไปแม้จะเมื่อยล้า เราได้รับประโยชน์ และเราได้ให้กำลังใจแก่เพื่อนคริสเตียนด้วยกันที่หอประชุมราชอาณาจักร.
6 เฮ็บราย 10:25 แนะถึงเหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราควรเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ. ที่นั่นอัครสาวกเปาโลกระตุ้นเตือนเพื่อนคริสเตียนให้ประชุมร่วมกัน ‘ให้มากขึ้นเมื่อเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.’ ใช่แล้ว เราต้องไม่หลงลืมข้อเท็จจริงที่ว่า “วันของพระยะโฮวา” ใกล้เข้ามาแล้ว. (2 เปโตร 3:12, ล.ม.) หากเราลงความเห็นว่าอวสานของระบบนี้ยังอยู่อีกไกล เราอาจเริ่มปล่อยให้กิจกรรมส่วนตัวเข้ามาแทนที่กิจกรรมฝ่ายวิญญาณที่จำเป็น อย่างเช่นการเข้าร่วมประชุม. ถ้าอย่างนั้น ก็จะเป็นดังที่พระเยซูทรงเตือน ‘โดยไม่ทันรู้ตัววันนั้นจะมาถึงเราอย่างกะทันหัน.’—ลูกา 21:34, ล.ม.
จงเป็นผู้ฟังที่ดี
7. เหตุใดจึงสำคัญที่เด็ก ๆ จะเอาใจใส่ฟังการประชุม?
7 เพียงแค่เข้าร่วมการประชุมยังไม่พอ. เราต้องตั้งใจฟัง เอาใจใส่สิ่งที่มีการกล่าวกันที่นั่น. (สุภาษิต 7:24) นี่หมายรวมถึงเด็ก ๆ ของเราด้วย. เมื่อเด็กไปโรงเรียน เขาถูกคาดหมายว่าจะเอาใจใส่ฟังครู แม้แต่ในวิชาที่เขาไม่ชอบหรือดูเหมือนว่ายากเกินที่เขาจะเข้าใจได้. ครูทราบว่าหากเด็กพยายามเอาใจใส่ อย่างน้อยที่สุดเขาจะได้ประโยชน์บางอย่างจากบทเรียน. ถ้าอย่างนั้น ไม่สมเหตุผลหรอกหรือที่เด็กในวัยเรียนจะเอาใจใส่ฟังการสอน ณ การประชุมประชาคม แทนที่จะปล่อยเขาให้หลับทันทีที่การประชุมเริ่มขึ้น? จริงอยู่ ในบรรดาความจริงอันมีค่ายิ่งที่อยู่ในพระคัมภีร์ “มีบางข้อที่เข้าใจยาก.” (2 เปโตร 3:16) แต่เราไม่ควรประเมินความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กต่ำไป. พระเจ้าไม่ทรงทำอย่างนั้น. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล พระองค์มีพระบัญชาให้ผู้รับใช้รุ่นเยาว์ของพระองค์ ‘ฟัง, เรียนรู้, และกลัวเกรงพระยะโฮวาและเชื่อฟังประพฤติตามพระบัญญัติทั้งปวงนี้’ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าคงมีบางเรื่องซึ่งยากที่เด็กจะเข้าใจ. (พระบัญญัติ 31:12; เทียบกับเลวีติโก 18:1-30.) พระยะโฮวาทรงคาดหมายน้อยกว่านั้นไหมจากเด็ก ๆ ในปัจจุบัน?
8. บิดามารดาบางคนมีวิธีการเช่นไรเพื่อช่วยบุตรให้เอาใจใส่ฟังการประชุม?
8 บิดามารดาที่เป็นคริสเตียนตระหนักว่าความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของบุตรส่วนหนึ่งนั้นได้จากสิ่งที่เขาเรียน ณ การประชุม. ดังนั้น บิดามารดาบางคนจัดให้บุตรได้มีโอกาสงีบหลับก่อนมาประชุม เพื่อให้เขามาถึงหอประชุมในสภาพที่สดชื่นและพร้อมจะเรียนรู้. บิดามารดาบางคนอาจใช้มาตรการที่เคร่งครัดและสุขุมด้วยการจำกัดหรืองดการดูโทรทัศน์ของบุตรในคืนที่มีการประชุม. (เอเฟโซ 5:15, 16) และบิดามารดาที่ทำเช่นนั้นคอยระวังให้มีสิ่งที่ทำให้เขวน้อยที่สุด สนับสนุนบุตรให้ฟังและเรียนรู้ ตามอายุและความสามารถของเขา.—สุภาษิต 8:32.
9. อะไรอาจช่วยเราให้พัฒนาความสามารถในการฟัง?
9 พระเยซูตรัสกับพวกผู้ใหญ่ว่า “จงเอาใจใส่ว่า ท่านทั้งหลายฟังอย่างไร.” (ลูกา 8:18, ล.ม.) ในสมัยนี้ นั่นมักจะเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก. ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะฟังอย่างจดจ่อ แต่ว่าความสามารถในการฟังนั้นพัฒนาได้. ขณะที่คุณฟังคำบรรยายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของการประชุม จงพยายามแยกแนวคิดหลัก ๆ ออกมา. คาดหมายเรื่องที่ผู้บรรยายกำลังจะพูดต่อจากนั้น. มองหาจุดที่คุณจะนำไปใช้ได้ในงานรับใช้หรือในชีวิต. ทบทวนจุดต่าง ๆ ในใจเมื่อมีการพิจารณาจุดเหล่านั้น. จดบันทึกสั้น ๆ.
10, 11. บิดามารดาบางคนช่วยบุตรอย่างไรให้เป็นผู้ฟังที่ดีขึ้น และวิธีการใดที่คุณพบว่าเป็นประโยชน์?
10 นิสัยการฟังที่ดีฝึกฝนได้ดีที่สุดตอนอายุยังน้อย ๆ. แม้แต่ก่อนจะอ่านออกเขียนได้ เด็กบางคนที่ยังไม่เข้าโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากบิดามารดาให้จด “บันทึก” ในระหว่างการประชุม. พวกเขาทำเครื่องหมายบนแผ่นกระดาษเมื่อมีการใช้คำที่คุ้นหูอย่าง “พระยะโฮวา” “พระเยซู” หรือ “ราชอาณาจักร.” โดยวิธีนี้ เป็นการฝึกเด็ก ๆ ให้มีสมาธิในการฟังเรื่องราวที่กล่าวจากเวที.
11 บางครั้ง แม้แต่เด็กที่อายุมากกว่านั้นก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้ตั้งใจฟัง. เมื่อสังเกตว่าบุตรชายอายุ 11 ขวบกำลังเหม่อลอยระหว่างที่นั่งฟังการประชุมภาค ประมุขครอบครัวยื่นคัมภีร์ไบเบิลให้เด็กชายคนนี้และขอให้เขาเปิดดูข้อพระคัมภีร์ที่ผู้บรรยายอ้างถึง. ผู้เป็นบิดาจดบันทึกและคอยดูไปด้วยขณะที่บุตรชายถือคัมภีร์ไบเบิลไว้. หลังจากนั้น เด็กคนนี้ติดตามระเบียบวาระการประชุมภาคอย่างกระตือรือร้นยิ่งขึ้น.
จงให้ผู้อื่นได้ยินเสียงของคุณ
12, 13. เหตุใดจึงสำคัญที่จะร่วมร้องเพลงกับประชาคม?
12 กษัตริย์ดาวิดร้องเพลงดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, ข้าพเจ้า . . . จะเดินเวียนรอบพระแท่นของพระองค์. เพื่อข้าพเจ้าจะได้ร้องประกาศขอบพระคุณให้เขาฟัง.” (บทเพลงสรรเสริญ 26:6, 7) การประชุมรายการต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาให้โอกาสอันดีเยี่ยมแก่เราที่จะแสดงความเชื่อของเราออกมาให้ก้องดัง. วิธีหนึ่งที่เราสามารถทำอย่างนี้คือโดยการร่วมร้องเพลงกับประชาคม. นี่เป็นแง่มุมสำคัญอย่างหนึ่งแห่งการนมัสการของเรา แต่เป็นเรื่องที่อาจถูกละเลยได้ง่าย.
13 เด็กบางคนที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกได้ท่องจำเนื้อเพลงราชอาณาจักรที่จะร้องกัน ณ การประชุมแต่ละสัปดาห์. พวกเขาตื่นเต้นดีใจที่สามารถร้องเพลงด้วยกันกับผู้ใหญ่. อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้นอีกหน่อย เขาอาจไม่ค่อยอยากร่วมร้องเพลงราชอาณาจักรเท่าไรนัก. ผู้ใหญ่บางคนก็รู้สึกเขินอายด้วยที่จะร้องเพลง ณ การประชุม. กระนั้น การร้องเพลงเป็นส่วนหนึ่งแห่งการนมัสการของเรา เช่นเดียวกับที่งานประกาศเป็นส่วนหนึ่งแห่งการนมัสการของเรา. (เอเฟโซ 5:19) เราพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวาในงานประกาศ. เราสามารถถวายเกียรติแด่พระองค์ได้เช่นเดียวกันมิใช่หรือด้วยการเปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญจากใจของเรา—จะไพเราะหรือไม่ก็ไม่เป็นไร?—เฮ็บราย 13:15.
14. เหตุใดจึงควรเตรียมล่วงหน้าอย่างดีสำหรับเรื่องที่จะศึกษา ณ การประชุมประชาคม?
14 เรานำคำสรรเสริญมาสู่พระเจ้าด้วยเมื่อเราให้ความเห็นที่เสริมสร้างในส่วนต่าง ๆ ของการประชุมที่เปิดให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม. การทำอย่างนี้ต้องมีการเตรียมตัว. ต้องใช้เวลาพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ ที่ลึกซึ้งกว่าในพระคำของพระเจ้า. อัครสาวกเปาโลซึ่งเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ที่หิวกระหายความรู้ตระหนักถึงข้อนี้. ท่านเขียนว่า “โอ้ ความล้ำลึกแห่งความมั่งคั่งและพระปัญญาอีกทั้งความรู้ของพระเจ้า!” (โรม 11:33, ล.ม.) ประมุขครอบครัวทั้งหลาย เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะช่วยสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวให้ขุดค้นสติปัญญาของพระเจ้าที่เปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์. จงกันเวลาไว้เมื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับครอบครัวเพื่ออธิบายจุดยาก ๆ และช่วยครอบครัวคุณเตรียมพร้อมสำหรับการประชุม.
15. ข้อแนะอะไรบ้างซึ่งอาจช่วยในการให้ความเห็น ณ การประชุม?
15 ถ้าคุณอยากให้ความเห็นบ่อยขึ้นที่การประชุม ทำไมไม่เตรียมล่วงหน้าในจุดต่าง ๆ ที่คุณอยากจะพูดล่ะ? คำตอบไม่จำเป็นต้องละเอียดซับซ้อน. การอ่านข้อพระคัมภีร์ที่เหมาะกับเรื่องด้วยความมั่นใจหรือคำพูดที่เลือกสรรแล้วจากใจย่อมได้รับความหยั่งรู้ค่า. ผู้ประกาศบางคนขอผู้นำการศึกษาให้กันคำตอบแรกของบางข้อไว้ให้เขา เพื่อเขาจะไม่พลาดโอกาสในการแสดงความเชื่อของเขา.
ผู้ขาดประสบการณ์กลายเป็นผู้มีปัญญา
16, 17. ผู้ปกครองคนหนึ่งให้คำแนะนำอะไรแก่ผู้ช่วยงานรับใช้ และเหตุใดคำแนะนำนั้นจึงเกิดผล?
16 ณ การประชุมของพยานพระยะโฮวา เรามักได้รับการเตือนให้อ่านพระคำของพระเจ้าทุกวัน. การทำเช่นนั้นให้ความสดชื่น อีกทั้งยังช่วยเราให้ตัดสินใจอย่างสุขุม, แก้ไขข้อบกพร่องด้านบุคลิกภาพ, ต้านทานการล่อใจ, และฟื้นฟูความสมดุลฝ่ายวิญญาณหากเราได้ก้าวไปผิดทาง.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7.
17 ผู้ปกครองในประชาคมที่มีประสบการณ์อยู่พร้อมจะให้คำแนะนำจากพระคัมภีร์ที่ปรับให้เหมาะกับความจำเป็นของเรา. สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือ “ตัก” คำแนะนำนั้น “ขึ้นมา” ด้วยการขอคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์จากเขา. (สุภาษิต 20:5, ล.ม.) วันหนึ่ง ผู้ช่วยงานรับใช้หนุ่มที่กระตือรือร้นขอผู้ปกครองให้ช่วยแนะวิธีที่เขาจะเป็นประโยชน์ต่อประชาคมได้มากขึ้น. ผู้ปกครองซึ่งรู้จักชายหนุ่มคนนี้ดีเปิดพระคัมภีร์ไปที่ 1 ติโมเธียว 3:3 (ล.ม.) ซึ่งบอกว่าชายที่ได้รับการแต่งตั้งต้อง “มีเหตุผล.” เขาชี้อย่างกรุณาถึงวิธีที่ชายหนุ่มจะสามารถแสดงความมีเหตุผลในความสัมพันธ์ของเขากับผู้อื่น. พี่น้องหนุ่มคนนี้รู้สึกขุ่นเคืองเนื่องด้วยคำแนะนำอย่างตรงไปตรงมาที่เขาได้รับไหม? ไม่เลย! เขาอธิบายว่า “ผู้ปกครองใช้คัมภีร์ไบเบิล ผมจึงตระหนักว่าคำแนะนำนั้นมาจากพระยะโฮวา.” ผู้ช่วยงานรับใช้คนนี้ใช้คำแนะนำนั้นด้วยความหยั่งรู้ค่าและกำลังก้าวหน้าเป็นอย่างดี.
18. (ก) อะไรช่วยคริสเตียนวัยรุ่นคนหนึ่งให้ต้านทานการล่อใจในโรงเรียน? (ข) คุณคิดถึงพระคัมภีร์ข้อใดเมื่อเผชิญการล่อใจ?
18 พระคำของพระเจ้ายังสามารถช่วยคนหนุ่มสาวให้ “หนีเสียจากความปรารถนาซึ่งมักมีในวัยหนุ่มสาว.” (2 ติโมเธียว 2:22, ล.ม.) พยานพระยะโฮวารุ่นเยาว์คนหนึ่งซึ่งเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมปลายสามารถต้านทานการล่อใจตลอดหลายปีที่เรียนอยู่ในโรงเรียนด้วยการคิดรำพึงและใช้ข้อพระคัมภีร์บางข้อ. เธอมักจะคิดถึงคำแนะนำซึ่งบันทึกไว้ที่สุภาษิต 13:20 (ล.ม.) ว่า “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา.” สอดคล้องกับข้อนี้ เธอระวังเสมอที่จะสร้างมิตรภาพเฉพาะกับคนที่นับถืออย่างลึกซึ้งต่อหลักการของพระคัมภีร์. เธอหาเหตุผลว่า “ดิฉันไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่น. หากดิฉันเข้าไปพัวพันกับกลุ่มที่ไม่ดี ดิฉันก็คงอยากทำให้เพื่อน ๆ ชอบ และนั่นอาจนำไปสู่ความยุ่งยากได้.” คำแนะนำของเปาโลดังบันทึกไว้ที่ 2 ติโมเธียว 1:8 (ล.ม.) ช่วยเธอได้ด้วย. ท่านเขียนว่า “อย่าละอายเรื่องคำพยานเกี่ยวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา . . . แต่ท่านจงรับส่วนของท่านในความยากลำบากเพราะเห็นแก่ข่าวดี.” สอดคล้องกับคำแนะนำนั้น เธอมีความกล้าที่จะเล่าเกี่ยวกับความเชื่อของเธอตามหลักคัมภีร์ไบเบิลให้เพื่อนร่วมชั้นฟังทุกครั้งที่มีโอกาสเหมาะ. เมื่อใดก็ตามที่เธอได้รับมอบหมายให้ออกไปรายงานหน้าชั้น เธอจะเลือกเรื่องที่เธอสามารถให้คำพยานอย่างผ่อนสั้นผ่อนยาวเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า.
19. เหตุใดหนุ่มวัยรุ่นคนนี้ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันของโลก แต่อะไรให้กำลังฝ่ายวิญญาณแก่เขา?
19 หากเราหลงไปจาก “วิถีของผู้ชอบธรรม” พระคำของพระเจ้าสามารถช่วยเราได้ให้แก้ไขก้าวเดินของเรา. (สุภาษิต 4:18) หนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่งซึ่งอยู่ในแอฟริกาเรียนรู้เรื่องนี้จากประสบการณ์ของตัวเอง. เมื่อพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งมาเยี่ยมเขา เขาตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เขาชอบสิ่งที่เขาเรียนรู้ แต่ไม่นานก็เริ่มเข้าไปพัวพันกับการคบหาสมาคมไม่ดีที่โรงเรียน. ในที่สุด เขาถลำเข้าสู่แบบชีวิตที่ผิดศีลธรรม. เขายอมรับว่า “สติรู้สึกผิดชอบของผมทิ่มแทงใจผมอยู่โดยตลอด จนผมต้องเลิกเข้าร่วมการประชุม.” ต่อมา เขาเริ่มเข้าร่วมการประชุมอีกครั้ง. หนุ่มวัยรุ่นคนนี้ให้ความเห็นที่เผยถึงข้อเท็จจริงบางอย่างว่า “ผมพบว่าเหตุผลสำคัญของเรื่องทั้งหมดนี้คือผมขาดอาหารฝ่ายวิญญาณ. ผมไม่ได้ศึกษาส่วนตัว. นั่นเป็นเหตุที่ผมไม่สามารถต้านทานการล่อใจ. ดังนั้น ผมเริ่มอ่านหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ทีละเล็กทีละน้อย ผมเริ่มฟื้นฟูกำลังฝ่ายวิญญาณและชำระชีวิตของผมให้สะอาด. นี่นับเป็นคำพยานที่ดีสำหรับคนที่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผม. ผมได้รับบัพติสมา และเวลานี้ผมมีความสุข.” อะไรทำให้หนุ่มวัยรุ่นคนนี้มีกำลังที่จะเอาชนะความอ่อนแอฝ่ายเนื้อหนัง? เขาได้รับกำลังฝ่ายวิญญาณกลับมาโดยการศึกษาส่วนตัวในคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ.
20. หนุ่มสาวจะต้านทานการโจมตีของซาตานได้อย่างไร?
20 หนุ่มสาวคริสเตียนทั้งหลาย คุณกำลังถูกโจมตี! เพื่อที่คุณจะต้านทานการโจมตีของซาตานได้ คุณต้องรับอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำ. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ซึ่งท่านเองคงจะเป็นคนหนุ่มด้วย เข้าใจข้อนี้. ท่านขอบพระคุณพระยะโฮวาที่ประทานพระคำของพระองค์ เพื่อ ‘คนหนุ่มจะได้ชำระทางประพฤติของตนให้บริสุทธิ์.’—บทเพลงสรรเสริญ 119:9.
พระเจ้าทรงนำไปที่ใด เราจะติดตามไปที่นั่น
21, 22. เหตุใดเราไม่ควรลงความเห็นว่าทางของความจริงยากเกินไป?
21 พระยะโฮวาทรงนำชาติยิศราเอลออกจากอียิปต์เข้าสู่แผ่นดินแห่งคำสัญญา. เส้นทางที่พระองค์เลือกอาจดูเหมือนว่ายากลำบากโดยไม่จำเป็นในทัศนะของมนุษย์. แทนที่จะเลือกเส้นทางที่ดูเหมือนว่าง่ายกว่าโดยใช้เส้นทางเลาะเลียบฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งตรงกว่า พระยะโฮวาทรงนำไพร่พลของพระองค์ไปตามเส้นทางที่ยากลำบากในทะเลทราย. อย่างไรก็ตาม นี่นับเป็นพระกรุณาของพระเจ้าอย่างแท้จริง. แม้ว่าสั้นกว่า แต่เส้นทางเลียบฝั่งทะเลคงจะนำชาติยิศราเอลผ่านดินแดนของชาวฟะลิศตีมที่เป็นปฏิปักษ์. โดยเลือกอีกเส้นทางหนึ่ง พระยะโฮวาทรงช่วยไพร่พลของพระองค์เลี่ยงการเผชิญหน้ากับชาวฟะลิศตีมตั้งแต่ต้นมือ.
22 คล้ายกันนั้น เส้นทางซึ่งพระยะโฮวาทรงนำเราในปัจจุบันบางครั้งอาจดูเหมือนว่ายาก. แต่ละสัปดาห์ เรามีตารางเวลาสำหรับกิจกรรมฝ่ายคริสเตียนเต็มแน่น ทั้งการประชุมประชาคม, การศึกษาส่วนตัว, และการรับใช้ในเขตทำงาน. ทางอื่นอาจดูเหมือนว่าง่ายกว่า. ทว่า เฉพาะแต่เมื่อเราติดตามการทรงนำจากพระเจ้า เราจึงจะบรรลุจุดหมายปลายทางที่เรากำลังพยายามอย่างหนักที่จะไปให้ถึง. ด้วยเหตุนั้น ให้เรารับการสั่งสอนอันสำคัญยิ่งจากพระยะโฮวาต่อ ๆ ไปและรักษาตัวอยู่ใน “วิถีของผู้ชอบธรรม” ตลอดไป!—บทเพลงสรรเสริญ 27:11.
คุณอธิบายได้ไหม?
• เหตุใดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ?
• บิดามารดาจะทำอะไรได้เพื่อช่วยลูก ๆ ให้เอาใจใส่ฟัง ณ การประชุม?
• การเป็นผู้ฟังที่ดีหมายรวมถึงอะไร?
• อะไรจะช่วยเราได้ในการให้ความเห็น ณ การประชุมต่าง ๆ?
[ภาพหน้า 16, 17]
การเข้าร่วมประชุมคริสเตียนช่วยเราให้คำนึงถึงวันของพระยะโฮวาเสมอ
[ภาพหน้า 18]
มีหลายวิธีที่จะสรรเสริญพระยะโฮวา ณ การประชุมคริสเตียน