จงมีกำลังใจขึ้น
“จงมีกำลังใจขึ้นและกล่าวว่า ‘พระยะโฮวาเป็นผู้ช่วยของข้าพเจ้า.’”—เฮ็บราย 13:6, ล.ม.
1. คนเหล่านั้นที่เรียนรู้ความจริงของพระเจ้าในศตวรรษแรกได้แสดงความกล้าหาญอย่างไร?
ตอนนั้นเป็นศตวรรษที่หนึ่งสากลศักราช. มาซีฮาที่ผู้คนรอคอยเนิ่นนานก็มาปรากฏ. ท่านผู้นี้สั่งสอนศิษย์ของตนเป็นอย่างดี ทั้งยังได้เริ่มงานเผยแพร่อันสำคัญยิ่ง. ถึงเวลาแล้วที่ผู้คนจะได้ยินข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ดังนั้น ชายหญิงผู้ซึ่งเรียนรู้ความจริงจึงมีใจกล้าในการประกาศข่าวประเสริฐ.—มัดธาย 28:19, 20.
2. ทำไมทุกวันนี้พยานพระยะโฮวาจึงต้องมีใจกล้า?
2 สมัยนั้นราชอาณาจักรยังไม่ได้รับการสถาปนา. แต่พระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นกษัตริย์ได้ทรงพยากรณ์ถึงการประทับของพระองค์ที่ไม่ปรากฏแก่ตาในอนาคตด้วยอำนาจแห่งราชอาณาจักร. ในระหว่างการประทับนั้นจะเกิดสงคราม, การอดอยาก, โรคระบาด, แผ่นดินไหวอย่างที่ไม่มียุคไหนเทียบได้, และการประกาศข่าวดีไปทั่วโลก. (มัดธาย 24:3-14; ลูกา 21:10, 11) ในฐานะเป็นพยานพระยะโฮวา เราจำต้องมีความกล้าหาญที่จะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ รวมทั้งการข่มเหงที่เราประสบ. ด้วยเหตุนี้จึงนับว่าเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวด้วยผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีความกล้าหาญในศตวรรษแรก.
มีใจกล้าเลียนแบบพระคริสต์
3. ใครให้ตัวอย่างความกล้าที่ดีเยี่ยม และมีการกล่าวอะไรถึงท่านผู้นี้ที่เฮ็บราย 12:1-3?
3 พระเยซูคริสต์ทรงวางตัวอย่างอันเยี่ยมยอดในเรื่องความกล้า. หลังจากได้กล่าวถึงพยานพระยะโฮวาที่กล้าหาญ “เมฆกลุ่มใหญ่” ก่อนยุคคริสเตียนแล้ว อัครสาวกเปาโลได้มุ่งไปที่พระเยซู โดยกล่าวว่า “เมื่อเรามีเมฆกลุ่มใหญ่แห่งพยานล้อมรอบเรา จงให้เราปลดของหนักทุกอย่างและบาปที่เข้าติดพันเราโดยง่ายนั้น และการวิ่งแข่งซึ่งกำหนดไว้สำหรับพวกเรานั้น ให้เราวิ่งด้วยความอดทน ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซู ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์พร้อมทุกประการนั้น. เพราะเห็นแก่ความยินดีซึ่งมีอยู่ตรงหน้า พระองค์ยอมทนหลักทรมาน ไม่คำนึงถึงความละอาย แล้วพระองค์ได้เสด็จนั่งเบื้องขวาพระที่นั่งของพระเจ้า. จริงทีเดียว จงเอาใจใส่พิจารณาพระองค์ผู้ได้ทรงอดทนเอากับการกล่าวขัดแย้งโดยคนบาปทั้งหลายผู้ซึ่งกล่าวอย่างที่ขัดกับผลประโยชน์ของตนเองเช่นนั้น เพื่อท่านจะได้ไม่เบื่อระอาและปล่อยตัวหยุดกลางคัน.”—เฮ็บราย 12:1-3, ล.ม.
4. พระเยซูแสดงความกล้าอย่างไรเมื่อซาตานได้ล่อใจพระองค์?
4 หลังจากการรับบัพติสมาและการคิดรำพึง, การอธิษฐาน, และการอดอาหารในป่ากันดาร 40 วัน, พระเยซูได้ต่อต้านซาตานอย่างกล้าหาญ. เมื่อพญามารได้ทดลองพระองค์ โดยให้เปลี่ยนก้อนหินเป็นขนมปัง พระเยซูทรงปฏิเสธเพราะการที่จะทำสิ่งอัศจรรย์ให้สมความปรารถนาส่วนตัวเช่นนั้นนับว่าผิด. พระเยซูตรัสว่า “มีคำเขียนไว้ว่า ‘มนุษย์จะเลี้ยงชีพด้วยขนมปังแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ด้วยคำตรัสทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวา.’” เมื่อซาตานท้าให้พระองค์กระโดดจากหอคอยหลังคาโบสถ์ พระเยซูไม่ยอมทำตาม เพราะการทดลองพระเจ้าให้ช่วยชีวิตจากการกระทำที่เป็นการปลิดชีพตัวเองเช่นนั้นนับว่าเป็นบาป. พระคริสต์ตรัสดังนี้: “ยังมีคำเขียนไว้อีกว่า ‘เจ้าต้องไม่ลองดีพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า.’” ซาตานได้เสนออาณาจักรทั้งสิ้นของโลกแก่พระองค์ แลกกับ ‘การกราบไหว้’ เพียงครั้งเดียว แต่พระเยซูก็จะไม่ออกหากแล้วสนับสนุนการท้าทายของพญามารที่ว่า มนุษย์ย่อมไม่ธำรงความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเมื่อถูกทดลอง. ดังนั้น พระเยซูทรงแถลงว่า “อ้ายซาตาน! จงไปเสียให้พ้น! เพราะมีคำเขียนไว้ว่า ‘พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้านั่นแหละ ที่เจ้าต้องนมัสการ และแด่พระองค์ผู้เดียวที่เจ้าต้องถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์.’” ตอนนั้น ผู้ล่อลวง “จึงละพระองค์ไปจนถึงโอกาสเหมาะ.”—มัดธาย 4:1-11, ล.ม.; ลูกา 4:13.
5. อะไรจะช่วยเราต้านทานการล่อใจ?
5 พระเยซูทรงยอมอยู่ใต้อำนาจพระยะโฮวาและได้ต่อต้านซาตาน. เช่นเดียวกัน ถ้าเรา ‘ยอมตัวอยู่ใต้พระเจ้าและต่อต้านพญามาร มันจะหนีไปจากเรา.’ (ยาโกโบ 4:7, ล.ม.) เหมือนพระเยซู พวกเราสามารถต้านทานการล่อใจได้อย่างกล้าหาญ หากเราใช้พระคัมภีร์ให้เป็นประโยชน์ บางทีอาจถึงกับยกข้อคัมภีร์ขึ้นมาใช้ในเวลาที่ถูกล่อใจให้ทำบางสิ่งซึ่งเป็นบาป. เป็นไปได้ไหมที่เราจะยอมจำนนต่อการล่อใจให้กระทำโจรกรรมถ้าในตอนนั้นเราพูดซ้ำข้อกฎหมายของพระเจ้ากับตัวเองว่า “อย่าลักทรัพย์”? คริสเตียนสองคนจะพลาดพลั้งกระทำผิดศีลธรรมทางเพศได้ไหมหากคนหนึ่งกล่าวอ้างข้อคัมภีร์ด้วยใจกล้าว่า “อย่าล่วงประเวณี”?—โรม 13:8-10; เอ็กโซโด 20:14, 15.
6. โดยวิธีใดพระเยซูทรงเป็นผู้ชนะโลกอย่างกล้าหาญ?
6 ในฐานะเป็นคริสเตียนที่โลกเกลียดชัง เราย่อมละเว้นน้ำใจแบบโลกและการกระทำที่ชั่วของโลกได้. พระเยซูตรัสแก่สาวกของพระองค์ดังนี้: “ในโลกนี้เจ้ามีความทุกข์ลำบาก แต่จงกล้าหาญเถิด! เราชนะโลกแล้ว.” (โยฮัน 16:33, ล.ม.) พระองค์ชนะโลกโดยไม่ได้กลายเป็นอย่างโลก. ตัวอย่างของพระองค์ในฐานะที่เป็นผู้ชนะและผลแห่งแนวทางของพระองค์ที่คงรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงอยู่เสมอนั้นสามารถเสริมกำลังใจให้เราเลียนแบบพระองค์โดยการรักษาตัวให้อยู่ต่างหากจากโลกนี้ และรักษาตัวปราศจากมลทินแห่งโลก.—โยฮัน 17:16.
มีใจกล้าเผยแพร่ต่อ ๆ ไป
7, 8. อะไรจะช่วยเราประกาศต่อ ๆ ไปทั้งที่มีการข่มเหง?
7 พระเยซูและเหล่าสาวกของพระองค์หมายพึ่งพระเจ้าเพื่อมีใจกล้าประกาศต่อ ๆ ไป แม้มีการข่มเหง. พระคริสต์ทรงปฏิบัติงานรับใช้จนสำเร็จด้วยความกล้าหาญแม้มีการข่มเหง และภายหลังวันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 เหล่าสาวกที่ถูกข่มเหงก็ยังคงประกาศข่าวดี แม้ว่าพวกผู้นำศาสนาชาวยิวพยายามจะให้เขาเลิก. (กิจการ 4:18-20; 5:29) พวกสาวกได้อธิษฐานดังนี้: “พระยะโฮวา ขอโปรดพินิจดูการขู่ของเขา และขอโปรดให้ผู้ทาสของพระองค์กล่าวคำของพระองค์ต่อไปด้วยใจกล้า.” และเกิดอะไรขึ้น? บันทึกกล่าวว่า “เมื่อเขาอธิษฐานแล้ว, ที่ซึ่งเขาประชุมอยู่นั้นได้หวั่นไหว, และพวกเขาทุก ๆ คนได้ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และกล่าวพระคำของพระเจ้าด้วยความกล้าหาญ.”—กิจการ 4:24-31, ล.ม.
8 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ไม่ตอบรับข่าวดี บ่อยครั้งจึงจำเป็นต้องมีความกล้าเพื่อประกาศแก่พวกเขาต่อ ๆ ไป. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถูกข่มเหง ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจำต้องมีความกล้าที่พระเจ้าประทานเพื่อให้คำพยานอย่างทั่วถึง. (กิจการ 2:40; 20:24) ฉะนั้น เปาโล ซึ่งเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรที่กล้าหาญจึงกำชับผู้ร่วมงานคนหนุ่มที่มีประสบการณ์น้อยกว่าท่านดังนี้: “พระเจ้าไม่ได้ทรงประทานน้ำใจขลาดกลัว แต่น้ำใจที่มีพลัง มีความรักและมีสติมั่นคงแก่เรา. เหตุฉะนั้น อย่าละอายเรื่องคำพยานเกี่ยวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา ทั้งเรื่องข้าพเจ้าผู้ซึ่งถูกจองจำเพราะเห็นแก่พระองค์ แต่ท่านจงรับส่วนของท่านในความยากลำบากเพราะเห็นแก่ข่าวดีโดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระเจ้า.” (2 ติโมเธียว 1:7, 8, ล.ม.) ถ้าเราทูลอธิษฐานขอความกล้า เราจะสามารถประกาศต่อไป และแม้แต่การข่มเหงก็จะไม่ปล้นความยินดีไปเสียจากเราในฐานะที่เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร.—มัดธาย 5:10-12.
มีใจกล้าจะอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา
9, 10. (ก) คนยิวและคนต่างชาติสมัยศตวรรษแรกได้ทำอะไรเพื่อเข้ามาเป็นสาวกที่รับบัพติสมาของพระคริสต์? (ข) ทำไมการที่เข้ามาเป็นคริสเตียนต้องมีความกล้าหาญ?
9 ชาวยิวและคนต่างชาติจำนวนมากในศตวรรษแรกมีความกล้าละประเพณีที่ขัดกับหลักพระคัมภีร์ และเข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์ที่ได้รับบัพติสมา. ไม่นานภายหลังวันเพ็นเตคอสเต ปีสากลศักราช 33 “ศิษย์ก็ได้ทวีขึ้นเป็นอันมากในกรุงยะรูซาเลม, และพวกปุโรหิตเป็นอันมากก็ได้เชื่อฟังในศาสนา.” (กิจการ 6:7) ชาวยิวเหล่านั้นมีความกล้าที่จะตัดสายสัมพันธ์ทางศาสนาและรับรองพระเยซูในฐานะทรงเป็นพระมาซีฮา.
10 เริ่มต้นในปีสากลศักราช 36 ชาวต่างชาติหลายคนมาเป็นคนเชื่อพระเจ้า. เมื่อโกระเนเลียว, คนในครอบครัวของเขา, และคนอื่นที่เป็นชาวต่างชาติได้ฟังข่าวดี พวกเขารับรองข่าวดีโดยทันที ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ และ “รับบัพติสมาในพระนามพระเยซูคริสต์.” (กิจการ 10:1-48) ที่เมืองฟิลิปปอย ผู้คุมชาวต่างชาติพร้อมทั้งคนในครอบครัวได้เข้ามาเป็นคริสเตียนทันทีทันใด และ “ในขณะนั้น [โดยไม่ชักช้า, ล.ม.] นายคุกก็ได้รับบัพติศมาพร้อมทั้งครัวเรือนของเขา.” (กิจการ 16:25-34) ที่จะทำได้ถึงขั้นนั้นต้องมีความกล้า เนื่องจากสมัยนั้นคริสเตียนเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่เป็นที่นิยม, แถมถูกข่มเหงด้วย. คริสเตียนทุกวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น. แต่หากคุณยังไม่ได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าและยังไม่รับบัพติสมาเป็นพยานคนหนึ่งของพระยะโฮวา ถึงเวลาหรือยังที่คุณจะทำตามขั้นตอนเหล่านี้ที่ต้องอาศัยความกล้าหาญ?
กล้าหาญในครัวเรือนที่นับถือศาสนาต่างกัน
11. นางยูนิเกและติโมเธียวได้วางตัวอย่างที่ดีอะไรเกี่ยวกับการมีความกล้าหาญ?
11 นางยูนิเกและติโมเธียวบุตรชายเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความเชื่อด้วยใจกล้าในครัวเรือนที่นับถือศาสนาต่างกัน. ถึงแม้นางยูนิเกมีสามีชาวนอกรีต แต่นางได้สอนบุตรชายตั้งแต่เป็นทารกให้ “รู้จักคำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์.” (2 ติโมเธียว 3:14-17) ครั้นนางได้มาเป็นคริสเตียนแล้ว นางได้แสดง ‘ความเชื่อโดยไม่มีอาการหน้าซื่อใจคดใด ๆ’ (2 ติโมเธียว 1:5, ล.ม.) นอกจากนั้น นางมีกำลังใจที่จะถ่ายทอดคำสอนคริสเตียนให้แก่ติโมเธียว ในขณะเดียวกันก็แสดงความนับถือตำแหน่งประมุขของสามีผู้ไม่มีความเชื่อ. แน่นอน นางได้รับรางวัลตอบแทนความเชื่อและความกล้า เมื่อบุตรชายของนางซึ่งได้รับการสอนเป็นอย่างดีได้ถูกเลือกให้ร่วมเดินทางไปในงานเผยแพร่กับเปาโล. เรื่องนี้นับว่าสามารถให้กำลังใจแก่บิดามารดาคริสเตียนผู้ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้าย ๆ กัน.
12. ติโมเธียวเติบโตขึ้นเป็นคนชนิดใด และเวลานี้ปรากฏว่ามีใครเป็นเหมือนท่าน?
12 แม้ติโมเธียวอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่นับถือศาสนาต่างกัน แต่ท่านรับรองศาสนาคริสเตียนด้วยใจกล้า และมาเป็นมนุษย์ฝ่ายวิญญาณซึ่งเปาโลสามารถกล่าวถึงท่านว่า “ข้าพเจ้าหวังใจในพระเยซูเจ้าว่า ไม่ช้าไม่นานข้าพเจ้าจะใช้ติโมเธียวไปหาพวกท่าน [ชาวเมืองฟิลิปปอย], เพื่อเมื่อข้าพเจ้าได้ยินถึงสภาพของท่านทั้งหลาย, ข้าพเจ้าจะได้ความชื่นชูใจ, เพราะว่าข้าพเจ้าไม่มีผู้ใดที่มีน้ำใจเหมือนติโมเธียวนั้น, ซึ่งจะเอาใจใส่ในการงานของท่านทั้งหลายโดยแท้. . . . ท่านทั้งหลายทราบคำพยานกล่าวถึงเขาว่า, บุตรย่อมปรนนิบัติบิดาฉันใด, เขาได้ปรนนิบัติด้วยกันกับข้าพเจ้าในการประกาศกิตติคุณฉันนั้น.” (ฟิลิปปอย 2:19-22) ทุกวันนี้ เด็กชายหญิงหลายคนในครัวเรือนที่นับถือศาสนาต่างกันรับรองเอาศาสนาคริสเตียนแท้อย่างกล้าหาญ. เช่นเดียวกันกับติโมเธียว พวกเขาแสดงหลักฐานพิสูจน์ตัวเอง และเราต่างก็ชื่นชมเพียงใดที่เด็กเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนแห่งองค์การของพระยะโฮวา!
มีใจกล้า ‘พลีชีวิตของเรา’
13. อะกุลากับปริศกิลาแสดงความกล้าในทางใด?
13 อะกุลาและปริศกิลาภรรยาของเขาได้วางตัวอย่างไว้ โดย ‘ยอมพลีชีวิตของตัวเอง’ เพื่อเพื่อนร่วมความเชื่อ. บุคคลทั้งสองได้ต้อนรับเปาโลให้พักที่บ้านของเขา ทำงานด้วยกันโดยการเย็บกระโจม และได้ช่วยท่านในการสร้างประชาคมใหม่ขึ้นที่เมืองโกรินโธ. (กิจการ 18:1-4) ในช่วง 15 ปีแห่งมิตรภาพที่มีต่อกัน คนทั้งสองได้เสี่ยงชีวิตของตนเพื่อเปาโลในวิธีที่ไม่ได้มีการชี้แจงไว้. ตอนนั้นพวกเขาอยู่ในโรม เมื่อเปาโลสั่งพวกคริสเตียนที่นั่นดังนี้: “ขอคำนับปริศกิลาและอะกุลาผู้ร่วมมือด้วยกันกับข้าพเจ้าในการของพระคริสต์ เขาผู้ได้ยอมพลีชีวิตของตนเพื่อจะป้องกันชีวิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอบคุณเขาทั้งสอง, และมิใช่ข้าพเจ้าคนเดียว, แต่คริสต์จักรทั้งปวงของพวกต่างประเทศก็ขอบคุณเขาด้วย”—โรม 16:3, 4.
14. โดยการเสี่ยงชีวิตเพื่อเปาโล อะกุรากับปริศกิลาได้ปฏิบัติสอดคล้องกับบัญญัติใหม่อะไร?
14 โดยการยอมพลีชีวิตเพื่อเปาโล อะกุลากับปริศกิลาได้กระทำตามคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เราให้บัญญัติใหม่ไว้แก่เจ้าทั้งหลาย คือว่าให้เจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน; เรารักเจ้าทั้งหลายมาแล้วอย่างไร เจ้าจงรักกันและกันอย่างนั้นด้วย.” (โยฮัน 13:34, ล.ม.) บัญญัตินี้ “ใหม่” ในแง่ที่ว่าคลุมกว้างไกลกว่าข้อเรียกร้องในบัญญัติของโมเซที่ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง. (เลวีติโก 19:18) บัญญัติใหม่เรียกร้องความรักที่ให้สละตัวเอง ซึ่งคงจะหมายความลึกซึ้งขนาดพลีชีวิตเพื่อผู้อื่น ดังที่พระเยซูได้กระทำ. เทอร์ทูเลียนนักเขียนสมัยศตวรรษที่สองและที่สามสากลศักราช ได้ยกคำพูดของชาวโลกเกี่ยวกับคริสเตียนลงไว้เมื่อเขาเขียนดังนี้: “‘ดูซิ’ พวกเขาว่า ‘คริสเตียนรักซึ่งกันและกันมากปานใด . . . และพวกเขาพร้อมจะตายแทนกัน.’” (หนังสือการแก้ต่าง บท 39 วรรค 7) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะที่มีการข่มเหง พวกเราอาจจะต้องแสดงความรักฉันพี่น้อง โดยเสี่ยงชีวิตของเราอย่างกล้าหาญเพื่อจะไม่เป็นเหตุให้เพื่อนร่วมความเชื่อต้องถูกทำร้ายร่างกายหรือถึงแก่ความตายด้วยน้ำมือของศัตรู.—1 โยฮัน 3:16.
ความกล้าหาญทำให้มีความยินดี
15, 16. ตามที่กล่าวในกิจการบท 16 อาจเชื่อมความกล้าหาญเข้ากับความยินดีอย่างไร?
15 เปาโลกับซีลาให้หลักฐานว่าการแสดงความกล้าในยามที่มีการทดลองอาจทำให้มีความยินดี. โดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในเมืองฟิลิปปอย เปาโลกับซีลาถูกโบยด้วยไม้เรียวต่อหน้าสาธารณชนและถูกนำตัวใส่ขื่อคา. กระนั้น ท่านทั้งสองก็ไม่ตกใจกลัวดูเศร้าหมองแต่อย่างใด. ทั้งที่ท่านตกอยู่ในสภาพอันยากลำบาก ท่านยังคงมีความกล้าหาญที่พระเจ้าประทานให้และความยินดีซึ่งความกล้าหาญนำมาสู่คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์.
16 ประมาณเที่ยงคืน เปาโลกับซีลาก็อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า. ทันใดนั้นเองเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จนคุกสะเทือนสะท้าน ทำให้เครื่องจำจองก็หลุดจากตัวเขาสิ้นทุกคน และทำให้ประตูคุกเปิดอ้า. ผู้คุมที่ตระหนกตกใจและครัวเรือนของเขาได้ฟังการให้คำพยานอย่างกล้าหาญ ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับบัพติสมาเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา. ผู้คุมคนนี้ “แสดงความยินดีเป็นที่ยิ่ง พร้อมกับครอบครัวของตนเพราะได้เชื่อถือพระเจ้าแล้ว.” (กิจการ 16:16-34) เปาโลกับซีลาคงประสบความปีติยินดีสักเพียงไร! เมื่อเราพิจารณาเรื่องนี้อีกทั้งตัวอย่างอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวด้วยความกล้าหาญ พวกเราในฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะสามารถคงความกล้าหาญไว้ได้อย่างไร?
มีกำลังใจต่อ ๆ ไป
17. ดังที่แสดงไว้ในเพลงสรรเสริญบท 27 การคอยท่าพระยะโฮวาเกี่ยวข้องอย่างไรกับความกล้า?
17 การคอยท่าพระยะโฮวาจะช่วยเราคงความกล้าหาญตลอดไป. ดาวิดร้องเพลงว่า “จงคอยท่าพระยะโฮวา: จงตั้งข้อให้แข็งและทำใจไว้ให้กล้าหาญ; จงคอยท่าพระยะโฮวาเถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:14) บทเพลงสรรเสริญ 27 แสดงว่าดาวิดหมายพึ่งพระยะโฮวาเสมือนเป็น “กำลังวังชา” แห่งชีวิตของท่าน. (ข้อ 1) การที่ดาวิดได้เห็นวิธีดำเนินการของพระเจ้าในอดีตกับพวกศัตรูของท่านจึงเป็นกำลังใจแก่ท่าน. (ข้อ 2, 3) การหยั่งรู้ค่าต่อศูนย์นมัสการของพระยะโฮวาก็เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่ง. (ข้อ 4) การไว้วางใจว่าพระยะโฮวาทรงสงเคราะห์, คุ้มครอง, และช่วยให้รอดก็ทำให้ดาวิดมีกำลังใจเช่นกัน. (ข้อ 5-10) อนึ่ง คำแนะนำซึ่งมีมาเรื่อย ๆ เกี่ยวกับหลักการต่าง ๆ แห่งแนวทางที่ชอบธรรมของพระยะโฮวาก็เป็นคุณประโยชน์ด้วย. (ข้อ 11) การอธิษฐานด้วยความมั่นใจว่าท่านจะรับการช่วยให้รอดจากศัตรู เพิ่มเข้ากับความเชื่อและความหวัง ได้ช่วยดาวิดให้มีกำลังใจ. (ข้อ 12-14) พวกเราสามารถเสริมความกล้าของเราให้ยิ่ง ๆ ขึ้นในทำนองเดียวกัน จึงแสดงว่าเรา “คอยท่าพระยะโฮวา” อย่างแท้จริง.
18. (ก) อะไรแสดงว่าการสมาคมคบหาเป็นประจำกับเพื่อนผู้นมัสการพระยะโฮวาย่อมจะช่วยเราคงไว้ซึ่งความกล้า? (ข) การประชุมคริสเตียนมีความสำคัญอย่างไรต่อการเสริมกำลังใจ?
18 การสมาคมคบหาเป็นประจำกับเพื่อนที่นมัสการพระยะโฮวาย่อมช่วยเราให้คงไว้ซึ่งความกล้าหาญ. ในคราวที่เปาโลได้อุทธรณ์ต่อซีซาร์และเดินทางไปกรุงโรม เพื่อนร่วมความเชื่อได้ไปพบท่านที่ตลาดของอัปปีโอและบ้านไตรภัตตาคาร. บันทึกกล่าวว่า “เมื่อเปาโลเห็นเขาแล้วท่านจึงขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าและมีใจชื่นบานขึ้น [มีกำลังใจขึ้น, ล.ม.].” (กิจการ 28:15) ด้วยการที่เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ เราก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของเปาโลที่ว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกัน เพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการงานที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่จงชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) การชูใจซึ่งกันและกันหมายความอย่างไร? การชูใจ หมายความว่า “ปลุกเร้าให้มีใจกล้า, หรือทำให้เกิดความหวัง.” (พจนานุกรมเว็บสเตอร์ส ไนนท์ นิว คอลลิจิเอต) เราสามารถทำได้มากที่จะปลุกเร้าเพื่อนคริสเตียนให้มีกำลังใจขึ้น และทำนองเดียวกัน เมื่อเขามีกำลังใจก็ย่อมเสริมคุณสมบัตินี้ในตัวเราด้วย.
19. พระคัมภีร์และสรรพหนังสือคริสเตียนเกี่ยวข้องอย่างไรกับการคงไว้ซึ่งความกล้า?
19 ที่จะคงไว้ซึ่งความกล้า เราต้องศึกษาพระวจนะของพระเจ้าเป็นประจำ และใช้คำแนะนำจากพระวจนะนั้นในชีวิตของเรา. (พระบัญญัติ 31:9-12; ยะโฮซูอะ 1:8) การศึกษาที่เราทำเป็นประจำนั้นควรรวมเอาสรรพหนังสือคริสเตียนที่ยึดเอาพระคัมภีร์เป็นหลัก เพราะคำแนะนำที่ดีซึ่งถูกจัดเตรียมไว้จะช่วยเราเผชิญการทดสอบความเชื่อด้วยความกล้าตามที่พระเจ้าประทาน. จากบันทึกในพระคัมภีร์ พวกเราได้เห็นว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวามีความกล้าหาญอย่างไรภายใต้สภาพการณ์ต่าง ๆ. ตอนนี้ เราอาจยังไม่รู้ว่าความรู้นั้นจะช่วยเราโดยวิธีใด แต่พระวจนะของพระเจ้ามีฤทธิ์ และสิ่งใดที่เราเรียนจากพระวจนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เราเสมอ. (เฮ็บราย 4:12) ยกตัวอย่าง ถ้าการกลัวหน้ามนุษย์เริ่มส่งผลกระทบงานเผยแพร่ของเรา เราอาจจำได้ว่าฮะโนคมีใจกล้าเพียงใดที่ได้ประกาศข่าวสารของพระเจ้าแก่คนที่ดูหมิ่นพระองค์.—ยูดา 14, 15.
20. เหตุใดจึงอาจกล่าวได้ว่าการอธิษฐานเป็นเรื่องสำคัญหากเราจะคงความกล้าในฐานะเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา?
20 ที่จะคงไว้ซึ่งความกล้าในฐานะที่เป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวา, เราต้องพากเพียรอธิษฐานเสมอ. (โรม 12:12) พระเยซูทรงมีกำลังใจอดทนกับการทดลอง เพราะพระองค์ “ได้ถวายคำวิงวอนและคำขอร้องด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหลถึงพระองค์ผู้ซึ่งสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตาย และพระองค์ได้รับการสดับด้วยความพอพระทัยเนื่องด้วยพระองค์เกรงกลัวพระเจ้า.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) โดยการอยู่ใกล้พระเจ้าด้วยการอธิษฐาน เราจะไม่เป็นเหมือนชาวโลกที่ขลาดกลัว ซึ่งบั้นปลายของเขาคือ “ความตายที่สอง.” ซึ่งไม่มีการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (วิวรณ์ 21:8) การคุ้มครองจากพระเจ้าและชีวิตในโลกใหม่นั้นมีไว้สำหรับผู้รับใช้ที่กล้าหาญของพระองค์.
21. ทำไมพยานที่ภักดีของพระยะโฮวาจึงมีกำลังใจ?
21 ในฐานะเป็นพยานฯที่ภักดีของพระยะโฮวา เราต้องไม่กลัวภูตผีและคนที่เป็นศัตรู เพราะว่าเรามีการเกื้อหนุนจากพระเจ้าและมีตัวอย่างความกล้าหาญของพระเยซูผู้ชนะโลก. การสมาคมคบหาที่เสริมสร้างฝ่ายวิญญาณกับไพร่พลของพระยะโฮวาก็เช่นกันช่วยเราให้มีความกล้าหาญ. อนึ่ง ความกล้าหาญของเรารับการเสริมสร้างโดยการชี้นำและคำแนะนำที่มาจากพระคัมภีร์และสรรพหนังสือคริสเตียน. และบันทึกมากมายในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับผู้รับใช้ของพระเจ้าในอดีตช่วยเราให้ดำเนินตามแนวทางของพระองค์อย่างกล้าหาญ. ฉะนั้น ในสมัยสุดท้ายอันวิกฤตเช่นนี้ ให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์. ถูกแล้ว ให้ไพร่พลทั้งสิ้นของพระยะโฮวามีกำลังใจขึ้น!
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ตัวอย่างของพระเยซูทำให้เรามีความกล้าได้อย่างไร?
▫ อะไรได้ทำให้พระเยซูกับเหล่าสาวกของพระองค์มีใจกล้าทำงานเผยแพร่มิได้หยุดหย่อน?
▫ ทำไมคนยิวและคนต่างชาติต้องมีใจกล้าที่จะเข้ามาอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา?
▫ นางยูนิเกและติโมเธียวได้เป็นตัวอย่างอะไรเกี่ยวกับความกล้า?
▫ มีหลักฐานอะไรแสดงว่าความกล้าหาญนำมาซึ่งความยินดีแม้ในขณะที่ถูกข่มเหง?
[รูปภาพหน้า 18]
เช่นเดียวกับพระเยซู เราสามารถต้านทานการล่อใจได้ หากเราปฏิบัติตามและกล่าวอ้างข้อพระคัมภีร์ต่าง ๆ