เหตุผลที่คุณจำต้องเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน
โรซาริโอซึ่งอยู่ในอเมริกาใต้ได้รับความเพลิดเพลินจากการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเอลิซาเบ็ทมาเป็นเวลาหลายเดือน. เป็นเรื่องที่ทำให้โรซาริโอตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้ถึงราชอาณาจักรของพระเจ้าและวิธีที่ราชอาณาจักรนั้นจะนำมาซึ่งสภาพอุทยานบนแผ่นดินโลก. ถึงกระนั้น คราใดก็ตามที่เอลิซาเบ็ทเชิญเธอให้เข้าร่วมการประชุมที่หอประชุม เธอได้ปฏิเสธ. เธอรู้สึกว่าเธอสามารถศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่บ้านแล้วนำสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวไว้นั้นไปปฏิบัติ ทำเช่นนั้นโดยไม่ต้องเข้าร่วมการประชุมของประชาคม. คุณเคยสงสัยด้วยไหมว่าการประชุมคริสเตียนเป็นประโยชน์ต่อคุณจริง ๆ หรือไม่? ทำไมพระเจ้าทรงจัดเตรียมให้ไพร่พลของพระองค์ประชุมร่วมกัน?
เนื่องจากคริสเตียนในศตวรรษแรกต่างกันทีเดียวจากผู้คนรอบ ๆ ตัวเขา การคบหาสมาคมที่เหมาะสมนับว่าจำเป็นยิ่งเพื่อความอยู่รอดของเขา. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงประชาคมของชนคริสเตียนรุ่นแรกว่า ‘ท่านทั้งหลายได้กลายเป็นคนปราศจากติเตียน ในท่ามกลางคนชาติคดโกงและดื้อด้าน ท่านทั้งหลายจึงปรากฏดุจดวงสว่างต่าง ๆ ในโลก.’ (ฟิลิปปอย 2:15) ชนคริสเตียนได้ประสบช่วงแห่งความยากลำบากโดยเฉพาะในมณฑลยูดาย และเปาโลได้เขียนถึงพวกเขาว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกัน เพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการงานที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่จงชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) เราเร้าใจกันและกันให้เกิดความรักและการงานที่ดีโดยการประชุมร่วมกันอย่างไร?
วิธีที่คริสเตียน “ลับ” กันและกัน
คำภาษากรีกที่เปาโลใช้และได้รับการแปลว่า “เร้าใจ” นั้นหมายความตามตัวอักษรว่า “การลับให้คม.” สุภาษิตในคัมภีร์ไบเบิลอธิบายวิธีที่คริสเตียน “ลับ” กันและกันเมื่อกล่าวว่า “เหล็กลับเหล็กให้คมได้ฉันใด, คนเราก็ลับเพื่อนของเราให้เฉียบแหลมขึ้นได้ฉันนั้น.” (สุภาษิต 27:17; ท่านผู้ประกาศ 10:10) เราเป็นเหมือนเครื่องมือที่ต้องลับให้คมอยู่เป็นประจำ. เนื่องจากการแสดงความรักต่อพระยะโฮวา และการทำการตัดสินใจที่อาศัยความเชื่อของเราหมายถึงการเป็นคนต่างไปจากโลก เราจึงต้องดำเนินแนวทางปฏิบัติที่ต่างจากคนส่วนใหญ่ตลอดเวลา.
ความพยายามไม่ละลดที่จะเป็นคนต่างออกไปนั้นอาจทำให้ความกระตือรือร้นของเราต่อการงานที่ดีนั้นลดลงก็ได้. แต่เมื่อเราอยู่ร่วมกับคนอื่นซึ่งรักพระยะโฮวา เราลับกันและกันให้แหลมคมขึ้น—เราเร้าใจกันและกันให้เกิดความรักและการงานที่ดี. อีกด้านหนึ่ง เมื่อเราอยู่ตามลำพัง เรามักจะครุ่นคิดถึงตัวเองมากกว่า. ความคิดที่ผิดศีลธรรม, เห็นแก่ตัว, หรือความคิดที่โง่เขลาอาจเข้าสู่จิตใจของเราได้. “คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่นจงใจจะทำตามตนเอง, และค้านคติแห่งปัญญาอันถูกต้องทั้งหลาย.” (สุภาษิต 18:1) เพราะเหตุนั้น เปาโลเขียนถึงประชาคมในเมืองเธซะโลนิเกว่า “จงหนุนน้ำใจซึ่งกันและกัน, และจงต่างคนต่างก่อร่างสร้างกันขึ้น, ตามอย่างที่ท่านทั้งหลายกระทำอยู่นั้น.”—1 เธซะโลนิเก 5:11.
เมื่อโรซาริโอจบการศึกษาคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิลแล้ว เธอก็ยังยับยั้งจากการคบหากับประชาคมอยู่. ดังนั้น โดยไม่สามารถจัดเตรียมความช่วยเหลือต่อไปอีกได้ เอลิซาเบ็ทจึงเลิกไปเยี่ยมเธอ. หลายเดือนต่อมา ผู้ดูแลเดินทางคนหนึ่งได้ไปเยี่ยมโรซาริโอแล้วถามว่า “ถึงแม้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวอาจหาอาหารที่ดีได้โดยการไปรับประทานที่ภัตตาคารก็ตาม สมาชิกทุกคนจะขาดสิ่งใดไปโดยการไม่รับประทานอาหารด้วยกันที่บ้าน?” โรซาริโอตอบว่า “พวกเขาจะขาดความเป็นมิตรกันในครอบครัว.” เธอเข้าใจจุดสำคัญและเริ่มมายังการประชุมต่าง ๆ เป็นประจำ. เธอพบว่าเป็นประโยชน์มากจนกระทั่งเธออยู่เกือบทุกการประชุมนับแต่นั้นมา.
การได้ยินคนอื่นแสดงความเชื่อในเรื่องเดียวกันกับที่คุณเชื่อนั้นเป็นการหนุนกำลังใจและเป็นเช่นนั้นเมื่อเห็นว่าความเชื่อดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาสักเพียงไร. เปาโลทราบเรื่องนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว และท่านเขียนถึงประชาคมในกรุงโรมว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะเห็นหน้าท่านทั้งหลาย, หมายจะให้ของประทานฝ่ายวิญญาณจิตต์แก่ท่านบ้าง, เพื่อท่านทั้งหลายจะได้ดำรงมั่นคงอยู่, คือเพื่อข้าพเจ้ากับท่านทั้งหลายจะได้หนุนใจซึ่งกันและกันโดยความเชื่อของเราทั้งสองฝ่าย.” (โรม 1:11, 12) ที่จริง เป็นเวลาหลายปีก่อนที่เปาโลสามารถไปเยี่ยมกรุงโรมได้ และเมื่อท่านไป ก็อยู่ในฐานะผู้ต้องหาในความควบคุมของพวกโรมัน. แต่เมื่อท่านเห็นพวกพี่น้องจากกรุงโรมที่เดินจากเมืองเป็นระยะทางมากกว่า 60 กิโลเมตรเพื่อมาพบท่าน “เปาโล . . . ขอบพระเดชพระคุณพระเจ้าและมีใจชื่นบานขึ้น.”—กิจการ 28:15.
การพบอาหารฝ่ายวิญญาณในยุควิกฤต
ขณะอยู่ระหว่างการควบคุมตัวในบ้านที่กรุงโรม เปาโลได้เขียนถึงชาวฮีบรูในเรื่องการไม่ละเลยการร่วมชุมนุมกัน. เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราที่ท่านได้เพิ่มถ้อยคำที่ว่า “และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:25, ล.ม.) พยานพระยะโฮวาได้แสดงให้เห็นจากพระคัมภีร์อย่างต่อเนื่องว่าปี 1914 ส่อแสดงการเริ่มต้นแห่งสมัยอวสานของโลกนี้ และที่ว่า “วันทรงพิพากษาและวันพินาศแห่งบรรดาทุรชน” ได้ใกล้เข้ามาแล้ว. (2 เปโตร 3:7) ตามพระธรรมวิวรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล เมื่อพญามารถูกเหวี่ยงจากสวรรค์ในตอนเริ่มต้นของสมัยอวสานนั้น มันมีความโกรธยิ่งนัก และ “ออกไปทำสงครามกับผู้ที่เหลืออยู่ . . . ซึ่งปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าและมีงานเป็นพยานถึงพระเยซู.” (วิวรณ์ 12:7-17, ล.ม.) เพราะฉะนั้น การปฏิบัติตามข้อบัญญัติของพระเจ้าเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ เราจำเป็นต้องประชุมกับเพื่อนร่วมความเชื่อให้มากขึ้น. การประชุมต่าง ๆ จะช่วยเราให้เสริมสร้างความเชื่อและความรักของเราต่อพระเจ้าให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อที่จะต้านทานการโจมตีของพญามาร.
ความรักต่อพระเจ้าและความเชื่อไม่เหมือนกับอาคารที่อยู่ถาวรเมื่อถูกสร้างขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว. ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว ทั้งสองอย่างเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นพร้อมกับการบำรุงเลี้ยงอยู่เสมอ แต่ถ้าอดอยากก็จะเหี่ยวเฉาแล้วตายไป. เพราะเหตุนั้น พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำเพื่อทำให้ไพร่พลของพระองค์แข็งแรง. เราทุกคนจำเป็นต้องได้รับอาหารดังกล่าว แต่เราจะได้รับอาหารนั้นจากที่ไหนนอกเหนือจากองค์การของพระเจ้าและการประชุมต่าง ๆ ขององค์การนั้น? ไม่มีที่อื่นใด.—พระบัญญัติ 32:2; มัดธาย 4:4; 5:3.
พระเยซูทรงตั้งคำถามซึ่งอาจช่วยเราเข้าใจได้ถึงวิธีที่พระองค์ทรงบำรุงเลี้ยงประชาคมคริสเตียน. พระองค์ตรัสถามว่า “ที่จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม ซึ่งนายได้แต่งตั้งให้ดูแลคนรับใช้ทั้งหลายของท่าน ให้แจกจ่ายอาหารแก่เขาตามเวลาที่สมควร? ทาสผู้นั้นก็เป็นสุข เมื่อนายมาถึงพบเขากำลังกระทำอย่างนั้น.” (มัดธาย 24:45, 46, ล.ม.) พระเยซูทรงแต่งตั้งใครในศตวรรษแรกให้บำรุงเลี้ยงพวกสาวกของพระองค์ และผู้ซึ่งพระองค์ทรงพบว่ากำลังเลี้ยงพวกเขาอยู่อย่างซื่อสัตย์เมื่อพระองค์เสด็จกลับด้วยอำนาจแห่งราชอาณาจักร? ปรากฏชัดว่า ไม่มีมนุษย์คนใดมีชีวิตอยู่ตลอดศตวรรษเหล่านั้น. หลักฐานชี้ถึงทาสว่าเป็นประชาคมคริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ เช่นเดียวกับชาติยิศราเอลเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าในยุคก่อนคริสเตียน. (ยะซายา 43:10) ถูกแล้ว พระเยซูทรงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณของเราผ่านทางคณะคริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณทั่วโลก ซึ่งทุกวันนี้เปิดทางให้อาหารฝ่ายวิญญาณผ่านทางประชาคมแห่งพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่น.
การจัดเตรียมของพระเยซูเกี่ยวกับร่องทางสำหรับการจัดหาอาหารฝ่ายวิญญาณนั้นได้รับการพรรณนาต่อไปอีกโดยอัครสาวกเปาโลว่า “‘คราวที่พระองค์เสด็จขึ้นเบื้องสูงพระองค์ทรงนำเอาเชลยไป; พระองค์ทรงให้ของประทานในลักษณะมนุษย์.’ . . . พระองค์ได้ประทานบางคนให้เป็นอัครสาวก ให้บางคนเป็นผู้พยากรณ์ ให้บางคนเป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณ ให้บางคนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงและผู้สอน โดยมุ่งหมายที่จะปรับผู้บริสุทธิ์ให้เข้าที่อีกเพื่องานรับใช้ เพื่อการก่อร่างสร้างพระกายของพระคริสต์ จนกว่าเราทุกคนบรรลุถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความเชื่อ และในความรู้อันถ่องแท้เกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้า เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ถึงขนาดซึ่งเป็นของความบริบูรณ์แห่งพระคริสต์.”—เอเฟโซ 4:8, 11-13, ล.ม.
ประการแรก ภายในประชาคมท้องถิ่น—ณ การประชุมต่าง ๆ—ที่ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” เหล่านี้เสริมสร้างพวกพี่น้องขึ้น. ตัวอย่างเช่น ในเมืองอันติโอเกีย “ยูดากับซีลาเป็นศาสดาพยากรณ์ด้วยจึงได้กล่าวเตือนสติหนุนใจพวกพี่น้องเป็นหลายประการให้มีน้ำใจขึ้น.” (กิจการ 15:32) คำบรรยายโดยพวกผู้ชายที่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณในทุกวันนี้จะบำรุงความเชื่อของเราเช่นเดียวกันเพื่อว่าความเชื่อนั้นจะไม่เหี่ยวเฉาหรือชะงักงันไป.
อาจเป็นจริงที่ว่าเราได้ทำความก้าวหน้าเป็นอย่างดีเนื่องจากความช่วยเหลือเป็นส่วนตัวจากสมาชิกคนหนึ่งของประชาคม ถึงแม้ว่าเราอาจยังไม่ได้เริ่มต้นเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่ามีอยู่คราวหนึ่งที่ท่าน “ยังต้องการให้คนอื่นสอนท่านอีกให้รู้ถึงประถมโอวาทตอนต้น ๆ ของพระเจ้า และท่านทั้งหลาย . . . ยังต้องการกินน้ำนม ไม่ใช่อาหารแข็ง.” (เฮ็บราย 5:12) แต่คนเราจะคงอยู่ในขั้นที่กินน้ำนมตลอดไปย่อมไม่ได้. การประชุมคริสเตียนจัดเตรียมรายการเกี่ยวกับคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลอย่างต่อเนื่องซึ่งได้รับการจัดขึ้นเพื่อรักษาความรักต่อพระเจ้าและความเชื่อในพระองค์ให้คงอยู่อีกทั้งจัดเสนอความช่วยเหลือเชิงปฏิบัติในการเอา “คำแนะนำทั้งสิ้นของพระเจ้า” ไปใช้. (กิจการ 20:27, ล.ม.) นี้เป็นยิ่งกว่าน้ำนม. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวต่อไปว่า “อาหารแข็งนั้นเป็นอาหารสำหรับผู้ใหญ่, คือผู้ที่เคยฝึกหัดความคิดของเขาจนสังเกตได้ว่าไหนดีไหนชั่ว.” (เฮ็บราย 5:14) ณ การประชุมต่าง ๆ มีการพิจารณาหลายหัวเรื่องซึ่งอาจไม่ใช่ส่วนของหลักสูตรพื้นฐานของการสั่งสอนคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน เช่น การศึกษาคำพยากรณ์ที่สำคัญในคัมภีร์ไบเบิลเป็นข้อ ๆ และการพิจารณาที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถเลียนแบบพระเจ้าได้ในชีวิตของเราเอง.
ข้อเตือนใจของพระยะโฮวา—เหมือนเสียงที่อยู่ข้างหลังคุณ
โดยการศึกษาดังกล่าวของประชาคม พระยะโฮวาทรงเตือนเราเป็นประจำให้ระลึกถึงว่าเราควรเป็นบุคคลชนิดใด. ข้อเตือนใจดังกล่าวนับว่าสำคัญยิ่ง. ถ้าปราศจากข้อเตือนใจเหล่านั้น เราจะเอนเอียงไปทางความเห็นแก่ตัว, ความหยิ่งทะนง, และความโลภอย่างง่ายดาย. ข้อเตือนใจจากพระคัมภีร์จะช่วยเราให้มีสัมพันธภาพที่ประสบผลสำเร็จกับคนอื่น ๆ และกับพระเจ้าเอง. ผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญ 119:59 ได้ยอมรับว่า “ข้าพเจ้าได้คิดถึงทางประพฤติของข้าพเจ้า, แลได้หันเท้าให้กลับไปตามข้อปฏิญาณ [ข้อเตือนใจ, ล.ม.] ของพระองค์.”
ขณะที่เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ เราประสบความสำเร็จแห่งคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาผ่านทางยะซายาซึ่งกล่าวว่า “พระครูของเจ้าก็จะไม่ซ่อนตัวเสียจากเจ้า, แต่ตาของเจ้าเองก็จะได้เห็นพระครูนั้น; และ . . . หูของเจ้าก็จะได้ยินเสียงแนะมาข้างหลังของเจ้าว่า ‘ทางนี้แหละ. เดินไปเถอะ!’” พระยะโฮวาทรงเฝ้าดูความก้าวหน้าของเราและทรงแก้ไขเราด้วยความรักหากเราก้าวพลาดไป. (ยะซายา 30:20, 21; ฆะลาเตีย 6:1) และพระองค์ทรงจัดเตรียมความช่วยเหลือมากกว่านี้ด้วยซ้ำ.
การได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ผ่านทางประชาคม
โดยการเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนกับพยานพระยะโฮวาเป็นประจำ เราได้รับการชูกำลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า ซึ่งสถิตอยู่เหนือไพร่พลของพระองค์. (1 เปโตร 4:14) นอกจากนี้ ผู้ดูแลคริสเตียนในประชาคมได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. (กิจการ 20:28) พลังปฏิบัติการจากพระเจ้านี้มีผลกระทบอันทรงพลังต่อคริสเตียน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผลแห่งพระวิญญาณคือ ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นทนนาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.” (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ดำเนินงานผ่านทางองค์การของพระเจ้าจะช่วยเราอีกด้วยให้ได้รับความเข้าใจที่ชัดเจนอย่างน่าพิศวงเกี่ยวกับสิ่งที่พระยะโฮวาทรงเตรียมไว้สำหรับคนเหล่านั้นซึ่งรักพระองค์. หลังจากอธิบายว่าชนที่เด่นดังของระบบสิ่งต่าง ๆ นี้ไม่สามารถเข้าใจพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว เปาโลเขียนว่า “พระเจ้าได้ทรงสำแดงสิ่งเหล่านั้นแก่เราทั้งหลายโดยพระวิญญาณ.”—1 โกรินโธ 2:8-10.
นอกเหนือจากอาหารฝ่ายวิญญาณที่ทำให้ความเชื่อเข้มแข็งแล้ว ประชาคมจัดให้มีการอบรมสำหรับคนเหล่านั้นซึ่งประสงค์จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมหลักของประชาคม. นั้นคืออะไร?
การอบรมที่จัดเตรียมโดยประชาคม
ประชาคมคริสเตียนไม่ใช่สโมสรทางสังคมที่ผู้คนเพียงแต่เพลิดเพลินกับการบันเทิงและบางทีสนับสนุนกันและกันให้ดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น. พระเยซูทรงมอบหมายประชาคมให้นำข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปยังคนเหล่านั้นที่อยู่ในความมืดทางฝ่ายวิญญาณ. (กิจการ 1:8; 1 เปโตร 2:9) นับจากวันที่ถูกตั้งขึ้น ในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 ประชาคมคริสเตียนเป็นองค์การซึ่งประกอบด้วยเหล่าผู้ประกาศ. (กิจการ 2:4) คุณเคยมีประสบการณ์ในการพยายามที่จะบอกใครบางคนถึงพระประสงค์ของพระยะโฮวา แต่ไม่สามารถทำให้เขาเชื่อมั่นไหม? การประชุมของประชาคมจัดเตรียมการอบรมเป็นส่วนตัวในเรื่องศิลปะแห่งการสั่งสอน. โดยการศึกษาตัวอย่างต่าง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล เราเรียนรู้วิธีปูพื้นฐานโดยกล่าวถึงเรื่องที่เห็นพ้องแล้วหาเหตุผลหลังจากนั้น, วิธีใช้พระคัมภีร์เป็นพื้นฐานสำหรับการโต้แย้งตามเหตุผล, และวิธีช่วยคนอื่นให้หาเหตุผลโดยการใช้คำถามและอุทาหรณ์ต่าง ๆ. ทักษะเช่นว่าอาจช่วยคุณประสบความยินดีสุดที่จะกล่าวในการช่วยบุคคลอื่นให้เข้าใจความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.
ในโลกที่ผิดศีลธรรม, แตกแยกกันเนื่องจากการต่อสู้นี้ ประชาคมคริสเตียนเป็นที่ลี้ภัยฝ่ายวิญญาณอันแท้จริง. ถึงแม้ว่าประชาคมนั้นประกอบด้วยคนที่ไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นที่พำนักที่มีสันติสุขและความรัก. เพราะฉะนั้น จงเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมทุกรายการเป็นประจำ และประสบด้วยตัวเองถึงความจริงแห่งถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “จงดูเถอะ ซึ่งพวกพี่น้องอาศัยอยู่พร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันก็เป็นการดีและอยู่เย็นเป็นสุขมากเท่าใด! . . . พระยะโฮวาได้ทรงประทานพระพรที่นั่น, ให้ชีวิตอันเจริญเป็นนิตย์.”—บทเพลงสรรเสริญ 133:1, 3.