การสื่อความภายในครอบรัวและในประชาคม
“ จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ ปรุงด้วยเกลือให้มีรส.”—โกโลซาย 4:6.
1. อาดามพูดอย่างไรเมื่อพระเจ้าทรงมอบฮาวาให้กับเขา?
“ไม่มีใครอยู่เป็นเกาะโดดเดี่ยว . . . ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของทวีป.” นี้คือข้อเขียนของผู้รอบรู้ซึ่งเป็นนักสังเกตการณ์หลายร้อยปีมาแล้ว. ที่เขาพูดเช่นนั้นก็เป็นเพียงการสนับสนุนถ้อยคำที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับอาดามดังนี้: “ซึ่งมนุษย์ผู้นั้นจะอยู่คนเดียวก็ไม่เหมาะ.” อาดามมีคำพูดและภาษาเป็นของประทานจากพระเจ้า เพราะเขาได้ตั้งชื่อสัตว์ทุกชนิด. แต่อาดามไม่มีใครอื่นซึ่งเขาจะติดต่อสื่อความได้. ไม่แปลกที่ว่า เมื่อพระเจ้าทรงมอบฮาวาที่น่ารักให้เป็นภรรยาของเขา อาดามเปล่งเสียงขึ้นว่า “นี้เป็นกระดูกแท้และเนื้อแท้ของเรา”! ด้วยเหตุนี้ ขณะที่ครอบครัวมนุษย์ครอบครัวแรกเริ่มต้น ตั้งแต่อาดามจึงเริ่มสื่อความกับมนุษย์.—เยเนซิศ 2:18, 23.
2. อาจเกิดความเสียหายอะไรบ้างจากการดูโทรทัศน์อย่างไม่มีการควบคุม?
2 วงครอบครัวเป็นที่เหมาะที่สุดสำหรับการสื่อความ. ที่จริง ความสำเร็จของชีวิตครอบครัวขึ้นอยู่กับสิ่งนี้. อย่างไรก็ดี ที่จะสื่อความถึงกันได้ต้องใช้เวลาและความตั้งใจ. ทุกวันนี้ โจรปล้นเวลาตัวฉกาจที่สุดตัวหนึ่งคือโทรทัศน์. มันเป็นเครื่องมือก่อความเสียหายได้อย่างน้อยสองทาง. ทางหนึ่ง มันสามารถจูงใจถึงขนาดสมาชิกครอบครัวติดรายการโทรทัศน์งอมแงม ยังผลให้การสื่อความพลอยขาดไป. อีกด้านหนึ่ง อาจใช้โทรทัศน์เป็นที่หลบฉากเมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันหรือรู้สึกเจ็บใจ. แทนที่จะหาหนทางขจัดปัญหา คู่สมรสบางคนได้เลือกเอาการไม่ยอมปริปากแล้วดูโทรทัศน์. ดังนั้น เครื่องรับโทรทัศน์อาจมีส่วนทำให้การสื่อความถึงกับชะงักลง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสิ่งทำลายการสมรสเบื้องแรกทีเดียว. สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าการควบคุมเวลาดูโทรทัศน์ให้อยู่ในอันดับรองเป็นเรื่องยาก ก็อาจจะตกลงกันว่าไม่มีโทรทัศน์ก็ดีกว่า.—มัดธาย 5:29; 18:9.
3. บางคนได้รับประโยชน์อย่างไรเมื่อเขาจำกัดเวลาดูโทรทัศน์?
3 อันที่จริง มีรายงานเข้ามาที่เล่าถึงพระพรมากมายอันเป็นผลเมื่อลดเวลาชมรายการโทรทัศน์ลงหรือถึงกับเลิกดูเลย. ครอบครัวหนึ่งเขียนอย่างนี้: “เราพูดคุยกันมากขึ้น . . . ศึกษาหาความรู้จากพระคัมภีร์มากขึ้น . . . เราเล่นเกมส์ด้วยกัน . . . เราทำกิจกรรมประกาศตามบ้านเรือนมากขึ้นในทุกด้าน.” อีกครอบครัวหนึ่ง หลังจากได้ขจัดโทรทัศน์ออกไปแล้ว พูดว่า “พวกเราไม่เพียงแต่ประหยัดเงิน [เนื่องจากเขาเคยเป็นสมาชิกของเคเบิลทีวี] แต่เราใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในฐานะครอบครัวและพบว่ามีงานที่จะทำอีกหลายอย่างซึ่งคุ้มค่ากับเวลาของเรา. เราไม่ รู้สึกเบื่อเลย.”
การมอง การพูด และการฟัง
4. คู่สมรสอาจสื่อความแสดงการหยั่งรู้ค่าต่อกันและกันโดยวิธีใด?
4 ลักษณะการติดต่อสื่อความภายในครอบครัวมีหลายแบบ. บางแบบไม่จำเป็นต้องเอ่ยวาจา. เมื่อสองคนมองหน้ากันก็ถือว่าเป็นลักษณะการสื่อความถึงกันแบบหนึ่ง. การอยู่ด้วยกันสามารถสื่อความการเอาใจใส่สนใจซึ่งกันและกัน. คู่สมรสพึงหลีกเลี่ยงการอยู่ห่างกันเป็นเวลานาน ๆ ยกเว้นเมื่อมีเหตุเหลือวิสัย. คู่สมรสสามารถสร้างความสุขให้แก่กันได้ด้วยการอยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกันตามที่เขามีพันธะผูกพันกันในสายสมรส. โดยวิธีที่เขาปฏิบัติต่อกันด้วยความรักใคร่และความนับถือ ไม่ว่าต่อหน้าบุคคลอื่นหรือเป็นการส่วนตัว ด้วยการแสดงให้เห็นความสง่าอันเหมาะสมโดยเครื่องแต่งกายและกิริยาท่าทาง เขาก็สื่อความแสดงถึงการหยั่งรู้ค่าซึ่งกันและกันอย่างเงียบ ๆ. กษัตริย์ซะโลโมผู้รอบรู้ทรงแถลงว่า “จงให้บ่อน้ำพุของเจ้านำความสุขสำราญมาสู่ตัวเจ้าเอง และจงชื่นใจยินดีด้วยกันกับภรรยาซึ่งอยู่ด้วยกันมาแต่หนุ่มสาว.”—สุภาษิต 5:18.
5, 6. ทำไมสามีควรรู้ถึงความสำคัญของการสื่อความกับภรรยาของตน?
5 อนึ่ง การสื่อความจำต้องมีการสนทนากัน โต้ตอบกัน—คุยกัน ไม่ใช่ต่อว่ากัน. ขณะที่ผู้หญิงบางคนแสดงความรู้สึกของตนได้ดีกว่าผู้ชาย แต่นั่นไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับสามีที่จะเงียบเสียทีเดียว. คริสเตียนผู้เป็นสามีพึงรู้ว่าการขาดการสื่อความเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตสมรสของหลาย ๆ คน และดังนั้น สามีควรพยายามเปิดช่องทางให้มีการสื่อความได้เสมอ. อันที่จริง เขาจะทำเช่นนั้นถ้าเขา พร้อมด้วยภรรยา เชื่อฟังคำแนะนำที่ดีซึ่งอัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ที่เอเฟโซ 5:25-33. เพื่อสามีจะรักภรรยาเหมือนรักร่างกายของตนเอง เขาก็ต้องสนใจต่อสวัสดิภาพและความสุขของภรรยา ไม่เพียงแต่สนใจเฉพาะของตัวเอง. ที่จะบรรลุข้อเรียกร้องนี้ การสื่อความเป็นสิ่งจำเป็น.
6 สามีไม่ควรมีทีท่าว่าภรรยาของตนน่าจะคาดเดาได้เองว่าตนหยั่งรู้ค่าในตัวเธอ. เขาต้องทำให้เธอแน่ใจในความรักที่เขามีต่อเธอ. สามีสามารถแสดงการหยั่งรู้ค่าได้ในหลาย ๆ ทางเช่น โดยการพูดว่าเขารักเธอและมีของกำนัลฝากเธอโดยไม่นึกฝัน รวมไปถึงการบอกกล่าวให้เธอรู้สิ่งต่าง ๆ อันอาจส่งผลกระทบถึงเธอ. นอกจากนั้น ยังเป็นการท้าทายที่จะแสดงความหยั่งรู้ค่าในความมุ่งมั่นพยายามของภรรยาไม่ว่าจะเป็นการประดับกาย หรือความขยันหมั่นเพียรของเธอที่ทำงานเพื่อครอบครัว หรือการที่เธอสนับสนุนกิจกรรมฝ่ายวิญญาณอย่างสุดหัวใจ. นอกจากนั้น เพื่อสามีจะเชื่อฟังคำแนะนำของอัครสาวกเปโตรที่ 1 เปโตร 3:7 ที่ว่า “จงอยู่กินกับภรรยาตามความรู้’ สามีต้องมีความร่วมรู้สึก ซึ่งก็แสดงให้ปรากฏโดยการสื่อความกับเธอในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองฝ่าย ให้เกียรติแก่เธอฐานะเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า.—สุภาษิต 31:28, 29.
7. ภรรยามีพันธะเช่นไรที่พึงสื่อความกับสามี?
7 ทำนองเดียวกัน ที่ภรรยาจะเชื่อฟังคำแนะนำเรื่องการอยู่ใต้อำนาจตามพระธรรมเอเฟโซ 5:22-24 นั้น เธอต้องคำนึงถึงการเปิดช่องทางไว้เสมอเพื่อสื่อความกับสามี. เธอต้องยอมให้ “ความนับถืออย่างสุดซึ้ง” ต่อสามีโดยคำพูดและการประพฤติ. เธอจะไม่กระทำสิ่งใด ๆ โดยพลการหรือไม่แยแสต่อความประสงค์ของสามี. (เอเฟโซ 5:33) ในทุก ๆ โอกาส ควรมีการปรึกษาหารือกันเป็นการส่วนตัวระหว่างสามีภรรยา.—เทียบกับสุภาษิต 15:22.
8. เพื่อเปิดทางไว้สำหรับการสื่อความ ภรรยาต้องเต็มใจทำอะไร?
8 นอกจากนี้ ภรรยาควรระมัดระวังที่จะไม่ต้องทรมานตัวเองด้วยการนิ่งไม่ปริปากเหมือนกับว่าสงสารตัวเอง. หากเกิดความไม่เข้าใจกัน ภรรยาก็ควรเลือกเวลาที่เห็นสมควรจะยกเรื่องขึ้นมาพูด. พึงเรียนจากตัวอย่างราชินีเอศเธระ. พระนางมีเรื่องสำคัญถึงเป็นถึงตายเพื่อทูลเสนอพระสวามีให้สนพระทัย. การที่พระนางได้กระทำโดยไม่เนิ่นช้าพร้อมกับความสุขุมรอบคอบ และผ่อนปรนเช่นนั้นหมายถึงความรอดสำหรับชาวยิว. พวกเรามีพันธะต่อคู่สมรสและต่อตัวเองที่จะสื่อความถ้าเรามีความยุ่งยากใจ. การผ่อนหนักผ่อนเบาและอารมณ์ขันอาจช่วยให้การสื่อความง่ายขึ้น.—เอศเธระ 4:15–5:8.
9. การฟังมีบทบาทอย่างไรในการสื่อความ?
9 สิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการใช้คำพูดเพื่อเปิดช่องสำหรับการสื่อความคือ พันธะที่แต่ละคนพึงฟังสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งตั้งใจจะพูดออกมา—และพยายามสังเกตว่ายังมีอะไรอีกซึ่งไม่ทันพูดออกมา. ข้อนี้เรียกร้องให้เอาใจใส่ฟังผู้พูด. คนเราต้องไม่เพียงแต่สังเกตเข้าใจความคิดที่ออกมาทางคำพูด แต่พึงเอาใจใส่สังเกตอารมณ์ความรู้สึกที่แฝงอยู่ในคำพูด วิธี พูด. สามีมักจะไม่ค่อยสังเกตแง่นี้. ภรรยาอาจไม่สบายใจเพราะสามีไม่รับฟัง. และในส่วนของภรรยาเองก็ต้องตั้งใจฟังให้ดีเพื่อเธอจะไม่ด่วนสรุป. “คนผู้ฉลาดแล้วจะพึงฟัง และทวีในการศึกษา.”—สุภาษิต 1:5.
การสื่อความระหว่างบิดามารดากับบุตร
10. เพื่อสื่อความกับบุตรของตนอย่างสมควร บิดามารดาต้องเต็มใจทำอะไร?
10 อนึ่ง มีสภาพการณ์ที่บิดามารดาและบุตรรู้สึกลำบากใจในการสื่อความ. การ “ฝึกสอนเด็กให้ประพฤติตามทางที่ควรจะประพฤตินั้น” เรียกร้องการสร้างสรรค์แนวทางที่จะสื่อความถึงกัน. การทำเช่นนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า “แม้เมื่อเขาแก่ชราแล้ว เขาจะไม่เดินห่างจากทางนั้น.” (สุภาษิต 22:6) ที่ว่าบิดามารดาบางคนเสียบุตรของตนไปกับโลก บางครั้งก็เกี่ยวข้องกับช่องโหว่ที่ขยายใหญ่ขึ้นเนื่องจากไม่มีการสื่อความกันขณะที่บุตรเป็นวัยรุ่น. พันธะหน้าที่ของบิดามารดาที่จะสื่อความกับบุตรเป็นประจำนั้นได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งที่พระบัญญัติ 6:6, 7 ดังนี้: “และถ้อยคำเหล่านี้ซึ่งเราสั่งไว้แก่เจ้าทั้งหลายในวันนี้ก็ให้ตั้งอยู่ในใจของเจ้าทั้งหลาย และจงอุตส่าห์สั่งสอนบุตรทั้งหลายของเจ้าด้วยถ้อยคำเหล่านี้ และเมื่อเจ้าทั้งหลายจะนั่งอยู่ในเรือน หรือเดินในหนทางหรือนอนลง และตื่นขึ้น.” แน่นอน บิดามารดาต้องใช้เวลาอยู่กับบุตรของตน! เขาต้องเต็มใจเสียสละเพื่อประโยชน์ของบุตร.
11. บิดามารดาพึงสื่อความเกี่ยวกับบางสิ่งอะไรบ้างกับบุตรของตน?
11 บิดามารดาทั้งหลาย จงสื่อความให้บุตรของคุณเข้าใจว่าพระยะโฮวาทรงรักเขาและคุณก็รักพวกเขาเช่นกัน. (สุภาษิต 4:1-4) จงแสดงให้เห็นว่า คุณเต็มใจสละความสะดวกสบายและความเพลิดเพลินเพื่อความเจริญเติบโตของเขาเอง ไม่ว่าในด้านจิตใจ อารมณ์ ร่างกายและฝ่ายวิญญาณ. สิ่งสำคัญในเรื่องนี้ได้แก่ความร่วมรู้สึก ซึ่งหมายถึงความสามารถของบิดามารดาที่จะมองสิ่งต่าง ๆ ผ่านสายตาของบุตร. โดยการแสดงความรักอย่างไม่เห็นแก่ตัว คุณที่เป็นบิดามารดาสามารถสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบุตรของคุณ และสนับสนุนบุตรของคุณให้เผยความในใจกับคุณ แทนที่เขาจะเผยความในใจกับคนรุ่นเดียวกัน.—โกโลซาย 3:14.
12. ทำไมหนุ่มสาวควรสื่อความกับพ่อแม่ของตนอย่างไม่อั้น?
12 อีกด้านหนึ่ง หนุ่มสาวทั้งหลาย คุณมีพันธะที่จะสื่อความกับบิดามารดาของคุณ. การหยั่งรู้ค่าสิ่งที่บิดามารดาได้ทำเพื่อคุณจะช่วยให้คุณเผยความในใจกับตัวท่าน. คุณจำต้องรับการช่วยเหลือเกื้อหนุนจากบิดามารดา และง่ายขึ้นสำหรับท่านที่จะให้ความช่วยเหลือและการเกื้อหนุนถ้าคุณสื่อความอย่างเป็นอิสระกับท่านทั้งสอง. ทำไมจึงถือเอาคนรุ่นเดียวกันเป็นแหล่งสำคัญที่จะได้คำแนะนำ? คนเหล่านั้นไม่ได้ทำอะไรมากเท่าไรให้คุณเมื่อเทียบกับบิดามารดาของคุณ. เขาไม่มีประสบการณ์ในชีวิตมากไปกว่าคุณ และถ้าพวกเขาไม่เป็นส่วนของประชาคมเขาก็คงไม่สนใจจริงต่อสวัสดิภาพถาวรของคุณ.
การสื่อความภายในประชาคม
13, 14. หลักการอะไรของคัมภีร์ไบเบิลหมายรวมถึงการสื่อความระหว่างคริสเตียนด้วยกัน?
13 การรักษาช่องทางไว้เพื่อสื่อความกับพี่น้องในประชาคมเป็นสิ่งท้าทายอีกอย่างหนึ่ง. เราได้รับคำตักเตือนเป็นพิเศษที่จะไม่ละเลย ‘การร่วมประชุมกัน.’ เราประชุมกันเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? “เพื่อให้เกิดใจรักและกระทำการดี.” สิ่งนี้เรียกร้องให้มีการสื่อความระหว่างกัน. (เฮ็บราย 10:24, 25) ถ้าบางคนก่อความขัดเคืองใจ ข้อนั้นไม่ใช่เหตุผลเลยที่คุณจะไม่เข้าร่วมประชุม. จงเปิดทางไว้สำหรับการสื่อความโดยปฏิบัติตามหลักการที่พระเยซูทรงแนะนำพวกเรา ดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 18:15-17. จงพูดกับผู้ที่คุณคิดว่าเขาเป็นต้นเหตุทำให้คุณไม่สบายใจ.
14 เมื่อมีความยุ่งยากกับพี่น้องคนใดคนหนึ่ง จงเชื่อฟังคำแนะนำในพระคัมภีร์ดังพบในโกโลซาย 3:13 (ล.ม.) ที่ว่า “จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้ผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น.” ข้อนี้ย่อมหมายถึงการสื่อความ แทนที่จะปฏิเสธการพูดกับบางคน. และหากคุณสังเกตเห็นว่าบางคนแสดงตัวไม่เป็นมิตร จงปฏิบัติตามคำแนะนำในมัดธาย 5:23, 24. จงสื่อความและพยายามสร้างสันติสุขกับพี่น้อง. ทั้งนี้ในส่วนของคุณก็ต้องมีความรักและความถ่อมใจ กระนั้น ตัวคุณมีพันธะทางศีลธรรมต่อตัวเองและต่อพี่น้องที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเยซู.
คำแนะนำและการหนุนใจ
15. ทำไมคริสเตียนไม่ควรละเลยการสื่อความเพื่อให้คำแนะนำเมื่ออยู่ในฐานะจะทำเช่นนั้นได้?
15 พันธะหน้าที่ในการสื่อความเกี่ยวข้องด้วยกับคำแนะนำของเปาโลที่ฆะลาเตีย 6:1, (ล.ม.) “พี่น้องทั้งหลาย ถ้าแม้นผู้ใดก้าวพลาดไปประการใดก่อนที่เขารู้ตัว ท่านทั้งหลายผู้มีคุณวุฒิทางฝ่ายวิญญาณจงพยายามปรับคนเช่นนั้นให้เข้าที่ด้วยน้ำใจอ่อนสุภาพ ขณะที่ท่านแต่ละคนเฝ้าระวังตนเอง เกรงว่าท่านจะถูกล่อใจด้วย.” ความอ่อนสุภาพน่าจะทำให้เราตอบรับการท้วงติงของบางคนในข้อที่เราทำผิดพลาดไม่ว่าทางคำพูดหรือการประพฤติ. อันที่จริง พวกเราทุกคนควรมีทัศนะอย่างเดียวกันกับดาวิดผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญ เมื่อท่านเขียนว่า “ขอให้คนชอบธรรมเฆี่ยนตีข้าพเจ้า จะเป็นคุณ และให้เขาตักเตือนข้าพเจ้า จะเป็นเหมือนน้ำมันชโลมศีรษะของข้าพเจ้า อย่าให้ศีรษะของข้าพเจ้าขัดขืนเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 141:5) พวกผู้ปกครองโดยเฉพาะควรเป็นตัวอย่างในด้านการถ่อมใจ ไม่ยืนกรานในทัศนะของตัวเอง แต่พร้อมจะรับการปรับให้เข้าที่ ระลึกอยู่เสมอว่า ‘บาดแผลที่เพื่อนทำแก่เราเพราะรักนั้นก็สุจริต.’—สุภาษิต 27:6.
16. ผู้บรรยายหนุ่ม ๆ ควรยินดีต้อนรับการสื่อความชนิดใด?
16 นับว่าเป็นแนวทางที่สุขุมและถ่อมใจสำหรับคนหนุ่มสาวที่จะแสวงหาคำแนะนำและการชี้นำจากคริสเตียนผู้อาวุโส ผู้ซึ่งคงจะมีสิ่งที่เสริมสร้างขึ้นให้แก่เรา. แม้นผู้ปกครองเองก็ได้รับประโยชน์ในวิธีนี้. ยกตัวอย่าง ผู้ปกครองคนหนึ่งพูดในคำบรรยายว่าพระพรต่าง ๆ ที่กล่าวในวิวรณ์ 7:16, 17 ที่ว่าจะไม่หิวหรือกระหายอีกเลยเช่นนั้น เป็นสิ่งที่แกะอื่นรอจะประสบในโลกใหม่. อย่างไรก็ดี ได้มีการชี้แจงว่าก่อนอื่นข้อคัมภีร์นี้ใช้ได้กับสมัยนี้. (ดูพระธรรมวิวรณ์ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! หน้า 126-128) ผู้ปกครองคนหนึ่งที่ได้ฟังคำบรรยายคิดว่าตนควรจะเอ่ยถึงเรื่องนี้กับผู้บรรยาย แต่ก่อนเขามีโอกาสทำเช่นนั้น ผู้บรรยายเองได้โทรศัพท์ขอคำแนะนำเพื่อแก้ไขปรับปรุงการบรรยายของตน. ดังนั้น ขอให้เราทำให้ง่ายขึ้นสำหรับผู้ที่อยากช่วยเรา โดยสื่อความต้องการของเราที่จะรับคำแนะนำ. อย่าให้เราเป็นคนใจน้อยหรืออ่อนไหวเกินไป.
17. การสื่อความจะเสริมสร้างพี่น้องคริสเตียนของเราได้อย่างไร?
17 กษัตริย์ซะโลโมกล่าวถึงหลักการที่อาจนำมาใช้ได้ดีกับเรื่องที่เราพิจารณาอยู่นี้. ท่านได้กล่าวว่า “อย่ากีดกันความดีไว้จากคนใด ๆ ที่เขาควรจะได้ความดีนั้น ในเมื่อเจ้ามีอำนาจอยู่ในกำมืออาจจะทำได้.” (สุภาษิต 3:27) เราเป็นหนี้ความรักพี่น้อง. เปาโลพูดว่า “อย่าเป็นหนี้คนหนึ่งคนใดเลย เว้นไว้ในการรักซึ่งกันและกัน เพราะว่าคนใดที่รักคนอื่นก็กระทำให้พระบัญญัติสำเร็จแล้ว.” (โรม 13:8) ดังนั้น จงเป็นคนใจกว้างด้วยการพูดถ้อยคำที่ชูใจผู้อื่น. ผู้รับใช้หนุ่มเพิ่งเป็นผู้บรรยายสาธารณะครั้งแรกไหม? จงกล่าวชมเขา. พี่น้องหญิงอุตส่าห์พยายามเต็มที่และได้ทำหน้าที่มอบหมายในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบการของพระเจ้าสำเร็จเป็นอย่างดีไหม? บอกให้เธอรู้ว่าคุณชื่นชมเพียงไรในความพยายามของเธอ. ปกติแล้ว พี่น้องชายหญิงของเราต่างก็พยายามทำดีที่สุดและคงจะได้รับการหนุนใจโดยคำพูดที่เราแสดงความพอใจยินดีอย่างรักใคร่.
18. เมื่อเห็นว่าบางคนมั่นใจในตัวเองเกินไป จะถือว่าเป็นความกรุณาที่จะทำประการใด?
18 ในทางกลับกัน ผู้บรรยายวัยหนุ่มอาจมีความสามารถมาก แต่เนื่องจากเป็นคนหนุ่ม เขาอาจมั่นใจในตัวเองเกินสมควร. ในกรณีนี้น่าจะใช้การสื่อความแบบไหน? คงเป็นความกรุณามิใช่หรือถ้าผู้ปกครองอาวุโสกล่าวชมเชยจุดดี ๆ ที่เขานำเสนอ แต่ขณะเดียวกัน ก็แนะนำอย่างนุ่มนวลถึงวิธีที่เขาสามารถจะสร้างความเจียมตัวสำหรับวันข้างหน้า? การสื่อความแบบนี้เป็นการแสดงความรักฉันพี่น้องและช่วยคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มให้ขจัดท่าทีไม่ดีเสียแต่ต้นมือ ก่อนที่จะกลายเป็นนิสัยที่แก้ยาก.
19. เพราะเหตุใดผู้ปกครองหรือประมุขครอบครัวควรเป็นผู้สื่อความ?
19 พวกผู้ปกครองสื่อความระหว่างกันและกับประชาคมในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งให้คุณประโยชน์—แน่นอน พึงงดเว้นไม่เปิดเผยสิ่งที่ถือเป็นความลับ เช่นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับปัญหาการพิจารณาตัดสิน. แต่การเป็นคนเก็บความลับเกินควรอาจก่อผลเป็นความไม่ไว้วางใจและท้อแท้ใจ และอาจยังผลเสียหายต่อบรรยากาศอันอบอุ่นในประชาคม—หรือในครอบครัว. ยกตัวอย่าง ทุกคนชื่นชอบเมื่อได้ฟังรายงานซึ่งก่อร่างสร้างกันขึ้น. อย่างอัครสาวกเปาโลรอโอกาสจะถ่ายทอดของประทานฝ่ายวิญญาณฉันใด ผู้ปกครองก็ควรกระตือรือร้นจะให้คำแนะนำอันเป็นการเสริมสร้างผู้อื่นเช่นกันฉันนั้น.—สุภาษิต 15:30; 25:25; โรม 1:11, 12.
20. บทความถัดไปจะพิจารณาแง่มุมอะไรเกี่ยวกับการสื่อความ?
20 ใช่แล้ว การสื่อความเป็นสิ่งสำคัญทั้งในประชาคมคริสเตียนและในครอบครัวคริสเตียน. ยิ่งกว่านั้น ยังมีอีกขอบข่ายหนึ่งซึ่งการสื่อความจะขาดเสียไม่ได้. ที่ไหน? ในงานรับใช้ของคริสเตียน. ในบทความต่อจากนี้ เราจะพิจารณาแนวทางปรับปรุงทักษะการสื่อความในกิจกรรมด้านนี้ซึ่งสำคัญมากทีเดียว.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ จะเอาชนะอุปสรรคที่มักจะกีดขวางการสื่อความภายในครอบครัวนั้นโดยวิธีใด?
▫ โดยวิธีใดสามีและภรรยาสามารถรับมือได้กับการท้าทายว่าด้วยการสื่อความ?
▫ บิดามารดาและบุตรอาจป้องกันมิให้เกิดช่องว่างระหว่างวัยได้อย่างไร?
▫ การสื่อความในประชาคมและในครอบครัวอาจกลายเป็นการเสริมสร้างได้อย่างไร?