จงรักษาความยินดีของคุณในการรับใช้พระยะโฮวา
“จงโสมนัสยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ข้าพเจ้าขอย้ำอีกทีว่า, จงโสมนัสยินดีเถิด.”—ฟิลิปปอย 4:4.
1, 2. พี่น้องคนหนึ่งกับครอบครัวของเขารักษาความยินดีของตนไว้ได้อย่างไรแม้สูญเสียทุกสิ่งที่พวกเขามี?
เจมส์ คริสเตียนอายุ 70 ปีซึ่งอยู่ที่ประเทศเซียร์ราลีโอนทำงานหนักมาตลอดชีวิต. ขอให้นึกถึงความยินดีของเขาเมื่อในที่สุดเขาเก็บเงินไว้ได้มากพอและซื้อบ้านที่เรียบง่ายขนาดสี่ห้องหลังหนึ่ง! อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เจมส์กับครอบครัวย้ายเข้าอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่ง เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศนี้ และบ้านของเขาถูกเผาจนเหลือแต่ซาก. พวกเขาสูญเสียบ้าน แต่ไม่สูญเสียความยินดี. เพราะเหตุใด?
2 เจมส์กับครอบครัวรักษาความคิดให้เพ่งเล็งในสิ่งที่ยังคงอยู่ ไม่ใช่สิ่งที่ได้สูญเสียไป. เจมส์อธิบายว่า “แม้ในช่วงที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว เราจัดการประชุม, อ่านคัมภีร์ไบเบิล, อธิษฐานด้วยกัน, และแบ่งปันสิ่งเล็กน้อยที่เรามีแก่ผู้อื่น. เราสามารถรักษาความยินดีเพราะเรามุ่งสนใจในสัมพันธภาพอันเยี่ยมยอดที่เรามีกับพระยะโฮวา.” โดยนึกถึงพระพรต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับ ซึ่งพระพรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการมีสัมพันธภาพใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวา คริสเตียนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้สามารถ “โสมนัสยินดี . . . ต่อ ๆ ไป.” (2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.) แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะอดทนอยู่กับสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาประสบความทุกข์เดือดร้อน. แต่พวกเขาไม่เลิกยินดีในพระยะโฮวา.
3. คริสเตียนในยุคแรกรักษาความยินดีโดยวิธีใด?
3 คริสเตียนยุคแรกประสบการทดลองคล้ายกับที่เจมส์และครอบครัวประสบ. ถึงกระนั้น อัครสาวกเปาโลเขียนถ้อยคำเหล่านี้ไปถึงคริสเตียนชาวฮีบรู: “เมื่อเขาได้ปล้นชิงเอาสิ่งของของท่านไป, ท่านได้อดกลั้นไว้ด้วยใจยินดี.” ต่อจากนั้น เปาโลอธิบายถึงที่มาแห่งความยินดีของพวกเขาว่า “โดยรู้แล้วว่าท่านยังมีทรัพย์สมบัติอันถาวรดียิ่งกว่านั้นอีก.” (เฮ็บราย 10:34) ใช่แล้ว คริสเตียนเหล่านี้ในศตวรรษแรกมีความหวังที่ทรงพลัง. พวกเขาคาดหวังอย่างมั่นใจว่าจะได้รับสิ่งที่ไม่มีใครอาจปล้นชิงเอาไปได้—“มงกุฎแห่งชีวิต” ที่ร่วงโรยไม่ได้ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 2:10) ปัจจุบัน ความหวังของเราในฐานะคริสเตียน—ไม่ว่าฝ่ายสวรรค์หรือแผ่นดินโลก—สามารถช่วยเราให้รักษาความยินดีแม้เมื่อเราเผชิญสถานการณ์ที่ก่อความทุกข์ลำบาก.
“จงยินดีในความหวัง”
4, 5. (ก) เหตุใดคำแนะนำของเปาโลที่ให้ “ยินดีในความหวัง” จึงเหมาะกับเวลาสำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงโรม? (ข) อะไรอาจเป็นเหตุทำให้คริสเตียนหลงลืมความหวังของตน?
4 อัครสาวกเปาโลสนับสนุนเพื่อนร่วมความเชื่อในกรุงโรมให้ “ยินดีในความหวัง” เกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์. (โรม 12:12) นั่นเป็นคำแนะนำที่เหมาะกับเวลาสำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงโรม. เวลาผ่านไปไม่ถึงทศวรรษหลังจากที่เปาโลเขียนถึงพวกเขา พวกเขาถูกกดขี่อย่างรุนแรง และบางคนถูกทรมานจนเสียชีวิตโดยคำบัญชาของจักรพรรดิเนโร. ไม่ต้องสงสัย ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าจะประทานมงกุฎแห่งชีวิตที่ทรงสัญญาไว้ช่วยค้ำจุนพวกเขาเมื่อประสบความทุกข์ยาก. จะว่าอย่างไรสำหรับเราในทุกวันนี้?
5 ในฐานะคริสเตียน เราก็คาดหมายว่าจะถูกกดขี่ข่มเหงด้วยเช่นกัน. (2 ติโมเธียว 3:12) นอกจากนั้น เราตระหนักว่า “วาระและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า” ย่อมเกิดขึ้นกับทุกคน. (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) อุบัติเหตุอาจคร่าชีวิตผู้ที่เรารัก. ความเจ็บป่วยที่ร้ายแรงอาจทำให้บิดามารดาหรือเพื่อนสนิทเสียชีวิต. หากเราไม่รักษาความหวังเรื่องราชอาณาจักรให้แจ่มชัดอยู่เสมอ เราอาจตกอยู่ในอันตรายฝ่ายวิญญาณเมื่อมีการทดสอบความเชื่อเช่นนั้นเกิดขึ้น. ดังนั้น เราควรถามตัวเราเองว่า ‘ฉัน “ยินดีในความหวัง” ไหม? ฉันคิดรำพึงในเรื่องความหวังบ่อยเพียงไร? อุทยานที่กำลังจะมาถึงเป็นเรื่องจริงสำหรับฉันไหม? ฉันนึกภาพว่าตัวเองอยู่ที่นั่นไหม? ฉันกระตือรือร้นที่จะเห็นอวสานของระบบปัจจุบันที่กำลังจะมาถึงเหมือนเมื่อฉันได้เรียนความจริงเป็นครั้งแรกไหม?’ ควรพิจารณาคำถามสุดท้ายนี้อย่างจริงจัง. เพราะเหตุใด? เพราะหากเรามีสุขภาพดี, มีความเป็นอยู่ที่ดี, และอยู่ในส่วนของโลกที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสงคราม, การขาดแคลนอาหาร, หรือภัยธรรมชาติ เราอาจมองไม่เห็นความจำเป็นอันเร่งด่วนที่ต้องมีโลกใหม่ของพระเจ้า—อย่างน้อยก็ในเวลานี้.
6. (ก) เมื่อเปาโลและซีลาประสบความทุกข์ลำบาก ความคิดของเขามุ่งไปที่อะไร? (ข) ตัวอย่างของเปาโลและซีลาจะสนับสนุนเราได้อย่างไรในทุกวันนี้?
6 เปาโลให้คำแนะนำแก่ผู้ที่อยู่ในกรุงโรมต่อไปอีกว่าให้ “อดทนในการยากลำบาก.” (โรม 12:12) เปาโลคุ้นเคยดีกับความทุกข์ลำบาก. ครั้งหนึ่ง ท่านเห็นนิมิตที่มีชายผู้หนึ่งเชิญท่านให้ ‘มาที่มากะโดเนีย’ เพื่อช่วยผู้คนที่นั่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา. (กิจการ 16:9) ทันทีที่ได้ฟังอย่างนั้น เปาโลพร้อมกับลูกา, ซีลา, และติโมเธียวก็เดินทางไปยุโรป. มีอะไรรออยู่สำหรับมิชชันนารีที่มีใจแรงกล้าเหล่านี้? ความทุกข์ลำบาก! หลังจากที่พวกเขาได้ประกาศที่เมืองฟิลิปปอยในแคว้นมากะโดเนีย เปาโลและซีลาถูกเฆี่ยนตีและจำคุก. เห็นได้ชัด ชาวเมืองฟิลิปปอยบางคนไม่เพียงแต่ไม่สนใจข่าวสารราชอาณาจักร—พวกเขายังต่อต้านอย่างรุนแรงด้วย. เหตุการณ์ที่ผันแปรเช่นนี้ทำให้มิชชันนารีผู้มีใจแรงกล้าสูญเสียความยินดีไหม? ไม่. หลังจากที่พวกเขาถูกเฆี่ยนตีและจำคุก “ประมาณเที่ยงคืนเปาโลกับซีลาก็อธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า.” (กิจการ 16:25, 26) แน่ล่ะ ความเจ็บปวดจากการถูกเฆี่ยนตีไม่ได้ทำให้เปาโลและซีลายินดี แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่มิชชันนารีทั้งสองเพ่งเล็งความสนใจ. ความคิดของทั้งสองมุ่งไปที่พระยะโฮวาและวิธีที่พระองค์กำลังอวยพรเขา. โดยยอม “อดทนในการยากลำบาก” ด้วยความยินดี เปาโลและซีลาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพี่น้องในเมืองฟิลิปปอยและที่อื่น.
7. เหตุใดคำอธิษฐานของเราควรมีคำขอบคุณรวมอยู่ด้วย?
7 เปาโลเขียนว่า “จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.” (โรม 12:12) คุณอธิษฐานเมื่อคุณกระวนกระวายใจไหม? คุณอธิษฐานเกี่ยวกับอะไร? อาจเป็นได้ที่คุณกล่าวถึงปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะและทูลขอให้พระยะโฮวาทรงช่วย. แต่คุณสามารถกล่าวขอบคุณสำหรับพระพรที่คุณได้รับด้วย. เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา การคิดใคร่ครวญถึงความดีของพระยะโฮวาในสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงทำเพื่อเราจะช่วยเราให้ “ยินดีในความหวัง.” ดาวิด ซึ่งในชีวิตของท่านเต็มไปด้วยเรื่องยุ่งยาก เขียนดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวาพระเจ้าของข้าพเจ้า, พระองค์ทรงกระทำการอัศจรรย์มาก, พระดำริของพระองค์มีต่อพวกข้าพเจ้ามากมาย: จะหาผู้ใดเทียมพระองค์บ่มิได้; ถ้าข้าพเจ้าจะสำแดงหรือพูดถึงการเหล่านั้นก็เหลือที่จะนับได้.” (บทเพลงสรรเสริญ 40:5) เช่นเดียวกับดาวิด หากเราคิดรำพึงเป็นประจำเกี่ยวกับพระพรที่เราได้รับจากพระยะโฮวา เราจะพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ยินดี.
จงรักษาน้ำใจในแง่บวก
8. อะไรช่วยให้คริสเตียนยังคงมีความสุขเมื่อถูกกดขี่ข่มเหง?
8 พระเยซูทรงสนับสนุนเหล่าสาวกให้รักษาน้ำใจในแง่บวกเมื่อพวกเขาพบกับการทดลองหลายอย่าง. พระองค์ตรัสว่า “เมื่อเขาจะติเตียนข่มเหงและนินทาท่านทั้งหลายต่าง ๆ เป็นความเท็จเพราะเรา, ท่านก็เป็นสุข.” (มัดธาย 5:11) เรามีเหตุผลอะไรที่ทำให้มีความสุขแม้ในสถานการณ์เช่นนั้น? การที่เราสามารถยืนหยัดอดทนการต่อต้านได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตอยู่กับเรา. อัครสาวกเปโตรบอกเพื่อนคริสเตียนในสมัยของท่านว่า “ถ้าท่านถูกประมาทหมิ่นเพราะพระนามของพระคริสต์, ท่านทั้งหลายก็เป็นสุข ด้วยว่าพระวิญญาณแห่งสง่าราศีและพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 4:13, 14) โดยทางพระวิญญาณของพระองค์ พระยะโฮวาจะทรงช่วยเราด้วยเช่นกันให้อดทน ซึ่งก็จะยังผลให้เรารักษาความยินดีเอาไว้.
9. อะไรช่วยพี่น้องบางคนให้มองเห็นเหตุผลที่จะยินดีเมื่อถูกคุมขังเพราะความเชื่อของตน?
9 แม้แต่เมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เราสามารถมองเห็นเหตุผลที่จะยินดี. คริสเตียนคนหนึ่งที่ชื่อ อะดอล์ฟ ประสบด้วยตัวเองว่าเป็นอย่างนั้น. เขาอยู่ในประเทศที่งานของพยานพระยะโฮวาเคยถูกสั่งห้ามเป็นเวลาหลายปี. อะดอล์ฟกับเพื่อนอีกหลายคนถูกจับและตัดสินจำคุกระยะยาวเนื่องจากไม่ยอมปฏิเสธความเชื่อที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. ชีวิตในคุกลำบาก แต่เช่นเดียวกับเปาโลและซีลา อะดอล์ฟและเพื่อน ๆ มองเห็นเหตุผลที่จะขอบพระคุณพระเจ้า. พวกเขากล่าวว่าประสบการณ์ในคุกช่วยให้ความเชื่อของพวกเขาเข้มแข็งยิ่งขึ้น และพัฒนาคุณลักษณะแบบคริสเตียนที่มีค่า เช่น ความเอื้ออารี, ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, และความรักใคร่ฉันพี่น้อง. ตัวอย่างเช่น เมื่อคนหนึ่งได้รับห่อของจากทางบ้าน เขาแบ่งของนั้นกับเพื่อนร่วมความเชื่อ ซึ่งต่างก็ถือว่าของที่ได้รับเป็นพิเศษเหล่านี้มาจากพระยะโฮวา พระผู้สูงสุดที่ประทาน “ของประทานอันดีทุกอย่าง และของประทานอันเลิศทุกอย่าง.” การแสดงความกรุณาเช่นนั้นนำความยินดีมาสู่ทั้งผู้ให้และผู้รับ. ดังนั้น การกดขี่ที่มุ่งหมายจะทำลายความเชื่อของพวกเขากลับทำให้พวกเขาเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณยิ่งขึ้น!—ยาโกโบ 1:17; กิจการ 20:35.
10, 11. พี่น้องหญิงคนหนึ่งรับมืออย่างไรกับการถูกสอบสวนอย่างไร้ความปรานีแล้วก็ถูกขังคุกระยะยาว?
10 เอลลา ซึ่งอยู่ในประเทศที่งานราชอาณาจักรเคยถูกสั่งห้ามมาเป็นเวลานานเช่นเดียวกัน ถูกจับกุมเพราะแบ่งปันความหวังคริสเตียนแก่ผู้อื่น. เธอถูกสอบสวนอย่างไร้ความปรานีนานถึงแปดเดือน. เมื่อในที่สุดมีการพิจารณาคดีในศาล เธอถูกตัดสินให้จำคุกสิบปีในที่ที่ไม่มีผู้นมัสการพระยะโฮวาคนอื่นเลย. เวลานั้น เอลลาอายุเพียง 24 ปี.
11 แน่นอน เอลลาไม่คาดหวังที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเริ่มเป็นผู้ใหญ่ในห้องขัง. แต่เนื่องจากเธอไม่สามารถเปลี่ยนสภาพการณ์ เธอจึงตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนมุมมองของตน. ดังนั้น เธอเริ่มมองคุกว่าเป็นเขตประกาศส่วนตัว. เธอกล่าวว่า “มีงานประกาศให้ทำมากมายจนทำให้เวลาหลายปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว.” หลังจากผ่านไปห้าปีกว่า เอลลาถูกสอบสวนอีกครั้ง. โดยตระหนักว่าลูกกรงของคุกไม่ได้ทำให้เธอสูญเสียความเชื่อ ผู้สอบสวนบอกเธอว่า “เราปล่อยคุณไปไม่ได้; คุณไม่ได้เปลี่ยนเลย.” เอลลาตอบอย่างหนักแน่นว่า “แต่ดิฉันได้เปลี่ยนไปแล้ว! ตอนนี้ดิฉันมีทัศนคติที่ดีกว่า ตอนเข้าคุกใหม่ ๆ และความเชื่อของดิฉันเข้มแข็งกว่าเดิมมาก!” เธอยังกล่าวอีกด้วยว่า “หากคุณไม่ต้องการปล่อยดิฉัน ดิฉันก็จะอยู่คอยจนกว่าพระยะโฮวาทรงเห็นว่าเหมาะจะช่วยดิฉันออกไป.” เวลาห้าปีครึ่งที่ถูกกักขังไม่ได้พรากเอาความยินดีไปจากเอลลา! เธอเรียนรู้ที่จะอิ่มใจในสภาพการณ์เช่นไรก็ตามที่เธอเผชิญ. คุณสามารถเรียนรู้อะไรบางอย่างจากตัวอย่างของเธอไหม?—เฮ็บราย 13:5.
12. อะไรสามารถนำสันติสุขแห่งจิตใจมาสู่คริสเตียนที่ตกอยู่ในสภาพลำบาก?
12 อย่าได้ลงความเห็นว่าเอลลามีความสามารถเป็นพิเศษที่ทำให้เธอเผชิญข้อท้าทายเช่นนั้นได้. เมื่อกล่าวถึงช่วงที่ถูกสอบสวนหลายเดือนก่อนถูกตัดสิน เอลลายอมรับว่า “ดิฉันจำได้ว่าดิฉันสั่นจนฟันกระทบกัน และรู้สึกว่าตัวเองเหมือนนกตัวเล็ก ๆ ที่ตื่นกลัว.” อย่างไรก็ตาม เอลลามีความเชื่อเข้มแข็งในพระยะโฮวา. เธอได้เรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระองค์. (สุภาษิต 3:5-7) ผลคือ พระเจ้าทรงเป็นจริงสำหรับเธอยิ่งกว่าแต่ก่อน. เธออธิบายว่า “ทุกครั้งที่ดิฉันเข้าไปในห้องสอบสวน ดิฉันรู้สึกว่ามีสันติสุขในใจ. . . . ยิ่งสถานการณ์น่ากลัวมากเท่าไร สันติสุขก็ยิ่งลึกล้ำ.” พระยะโฮวาทรงเป็นแหล่งแห่งสันติสุขดังกล่าว. อัครสาวกเปาโลอธิบายว่า “อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใดเลย, แต่จงเสนอความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานกับการขอบพระคุณ. และสันติสุขแห่งพระเจ้า, ซึ่งเหลือที่จะเข้าใจได้, จะคุ้มครองใจและความคิดของท่านทั้งหลายไว้ในพระเยซูคริสต์.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7.
13. อะไรทำให้เราเชื่อมั่นว่าหากเกิดความทุกข์ลำบากกับเรา เราจะมีกำลังอดทนได้?
13 เอลลา ซึ่งในเวลานี้ถูกปล่อยตัวแล้ว ได้รักษาความยินดีไว้เสมอแม้ว่าประสบความยากลำบาก. เธอทำเช่นนี้ด้วยกำลังที่พระยะโฮวาประทานแก่เธอ ไม่ใช่ด้วยกำลังของเธอเอง. เป็นจริงเช่นนั้นด้วยกับอัครสาวกเปาโล ซึ่งได้เขียนไว้ว่า “เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงภูมิใจในความอ่อนแอของข้าพเจ้า, เพื่อฤทธิ์เดชของพระคริสต์จะได้สถิตอยู่ในข้าพเจ้า. . . . ด้วยว่าข้าพเจ้าอ่อนแอเมื่อใด, ข้าพเจ้าจึงแข็งแรงมากเมื่อนั้น.”—2 โกรินโธ 12:9, 10.
14. จงยกตัวอย่างวิธีที่คริสเตียนสามารถมีทัศนะในแง่บวกต่อสถานการณ์ที่ทดสอบความเชื่อและผลที่อาจเกิดขึ้น.
14 ความกดดันที่คุณเองประสบในทุกวันนี้อาจค่อนข้างต่างไปจากที่เราได้พิจารณากันในที่นี้. ถึงกระนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็นับว่ายากที่จะรับมือความกดดัน. ตัวอย่างเช่น นายจ้างของคุณอาจวิพากษ์วิจารณ์งานของคุณอย่างมาก—มากยิ่งกว่าลูกจ้างที่มีความเชื่อทางศาสนาอื่น ๆ. คุณอาจหางานอื่นทำไม่ได้. คุณจะรักษาความยินดีไว้โดยวิธีใด? ขอให้นึกถึงอะดอล์ฟกับเพื่อน ๆ ซึ่งประสบการณ์ในคุกสอนพวกเขาให้พัฒนาคุณลักษณะที่สำคัญ. หากคุณพยายามอย่างจริงใจที่จะทำให้นายจ้างพอใจ—แม้แต่นายจ้างที่ “เอาใจยาก”—คุณก็จะพัฒนาคุณลักษณะแบบคริสเตียนอย่างเช่นความอดทนและความอดกลั้นทนนาน. (1 เปโตร 2:18, ล.ม.) นอกจากนั้น คุณอาจเป็นลูกจ้างที่มีค่ามากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสที่คุณจะได้รับการว่าจ้างที่น่าพอใจกว่าในภายหลัง. ตอนนี้ ขอให้เรามาพิจารณาวิธีอื่น ๆ บางอย่างที่เราจะสามารถรักษาความยินดีของเราในการรับใช้พระยะโฮวา.
การทำชีวิตให้เรียบง่ายนำมาซึ่งความยินดี
15-17. คู่สมรสคู่หนึ่งเรียนรู้ว่าอะไรที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้ แม้ว่าไม่อาจขจัดต้นเหตุได้อย่างสิ้นเชิง?
15 คุณอาจมีทางเลือกไม่มากในเรื่องประเภทของงานฝ่ายโลกที่คุณทำหรือสถานที่ซึ่งคุณทำงาน แต่อาจมีแง่อื่น ๆ ในชีวิตซึ่งคุณควบคุมได้. ขอให้พิจารณาประสบการณ์ต่อไปนี้.
16 คู่สมรสคริสเตียนคู่หนึ่งเชิญผู้ปกครองมารับประทานอาหารที่บ้าน. ในเย็นวันนั้น สามีภรรยาคู่นี้ปรับทุกข์กับผู้ปกครองว่าช่วงหลังมานี้เขารู้สึกหนักอึ้งด้วยแรงกดดันในชีวิต. แม้ว่างานเต็มเวลาที่ทั้งสองทำเรียกร้องเวลาและความพยายามมาก แต่ทั้งคู่ก็ไม่สามารถหางานที่ดีกว่าได้. เขาสงสัยว่าจะสามารถรับมือสภาพเช่นนี้ได้อีกนานเท่าไร.
17 เมื่อขอคำแนะนำ ผู้ปกครองตอบว่า “ทำชีวิตให้เรียบง่ายสิ.” โดยวิธีใด? สามีและภรรยาคู่นี้ใช้เวลาสามชั่วโมงเพื่อไปและกลับจากที่ทำงาน. ผู้ปกครองซึ่งรู้จักคู่สมรสคู่นี้ดีแนะให้ทั้งสองคิดถึงการย้ายไปอยู่ใกล้ ๆ ที่ทำงาน จะได้ลดเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปกลับที่ทำงานในแต่ละวัน. เวลาที่ประหยัดมาได้สามารถใช้ในการดูแลเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญ—หรือเพื่อจะได้พักผ่อนบ้าง. หากความกดดันในชีวิตกำลังพรากความยินดีบางส่วนไปจากคุณ ทำไมไม่ตรวจสอบดูว่าคุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะผ่อนคลายโดยปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง?
18. เหตุใดจึงสำคัญที่จะคิดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ?
18 อีกวิธีหนึ่งในการลดความกดดันที่อาจเกิดขึ้นคือ คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ. ยกตัวอย่าง คริสเตียนคนหนึ่งตัดสินใจจะสร้างบ้าน. เขาเลือกแบบบ้านที่ซับซ้อนมาก แม้ว่าเขาไม่เคยสร้างบ้านมาก่อน. ถึงตอนนี้ เขาจึงได้ตระหนักว่าเขาสามารถเลี่ยงปัญหาหลายอย่างที่ไม่จำเป็นหากเขาได้ “พิจารณาก้าวเท้าของตน” ก่อนเลือกแบบบ้าน. (สุภาษิต 14:15, ล.ม.) คริสเตียนอีกคนหนึ่งตกลงจะค้ำประกันเงินกู้ให้เพื่อนผู้เชื่อถือคนหนึ่ง. ตามสัญญา หากผู้ยืมไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ ผู้ค้ำประกันจะต้องจ่ายแทน. ทีแรก ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แต่ต่อมาผู้ขอกู้เริ่มไม่รักษาสัญญา. ผู้ให้ยืมกลัวว่าหนี้จะสูญและเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันจ่ายคืนเงินกู้ทั้งก้อน. เรื่องนี้สร้างความกดดันอย่างมากแก่ผู้ค้ำประกัน. เหตุการณ์แบบนี้อาจเลี่ยงได้ไหมหากเขาได้พิจารณาปัจจัยทุกอย่างให้รอบคอบกว่านั้นก่อนจะตกลงค้ำประกันการกู้ยืมนั้น?—สุภาษิต 17:18.
19. มีวิธีใดบ้างที่เราสามารถลดความตึงเครียดในชีวิตของเรา?
19 เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยล้า ขออย่าได้ลงความเห็นว่าเราสามารถลดความกดดันและได้ความยินดีกลับคืนมาด้วยการลดเวลาที่ใช้ในการศึกษาพระคัมภีร์เป็นส่วนตัว, การรับใช้ในเขตประกาศ, และการเข้าร่วมการประชุม. ทั้งนี้เพราะสิ่งเหล่านี้คือแนวทางสำคัญที่เราจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระยะโฮวา ซึ่งผลพระวิญญาณประการหนึ่งคือความยินดี. (ฆะลาเตีย 5:22) กิจกรรมของคริสเตียนทำให้สดชื่นเสมอและตามปกติแล้วไม่ทำให้เหนื่อยล้าเกินไป. (มัดธาย 11:28-30) มีโอกาสมากกว่าที่กิจกรรมฝ่ายโลกหรือนันทนาการทำให้เราอ่อนเพลีย ไม่ใช่กิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. การพยายามเข้านอนไม่ดึกมากอาจช่วยฟื้นพลังขึ้นมาอีกครั้ง. การพักผ่อนเพิ่มเป็นพิเศษอีกเล็กน้อยอาจให้ประโยชน์ได้มาก. เอ็น. เอช. นอรร์ ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต เคยบอกกับมิชชันนารีบางคนว่า “เมื่อคุณรู้สึกท้อแท้ สิ่งแรกที่ควรทำคือพักผ่อน. คุณจะแปลกใจที่เห็นว่าปัญหาใดก็แล้วแต่ดูเหมือนว่าดีขึ้นมากจริง ๆ หลังจากที่คุณได้นอนเต็มอิ่มสักคืนหนึ่ง!”
20. (ก) จงสรุปถึงบางวิธีที่อาจช่วยเราให้รักษาความยินดี. (ข) คุณคิดถึงเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้คุณยินดี? (โปรดดูในกรอบหน้า 17.)
20 คริสเตียนมีสิทธิพิเศษที่ได้รับใช้ “พระเจ้าผู้ประกอบด้วยความสุข.” (1 ติโมเธียว 1:11) ดังที่เราได้เห็นแล้ว เราสามารถรักษาความยินดีไว้แม้แต่เมื่อเราถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหนักมากมาย. ขอให้เรารักษาความหวังเรื่องราชอาณาจักรให้ชัดเจนเสมอ, ปรับทัศนะของเราเมื่อจำเป็น, และทำชีวิตให้เรียบง่าย. ดังนั้น ไม่ว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไรก็ตาม เราจะตอบรับคำกล่าวของอัครสาวกเปาโล ที่ว่า “จงโสมนัสยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ข้าพเจ้าขอย้ำอีกทีว่า, จงโสมนัสยินดีเถิด.”—ฟิลิปปอย 4:4.
จงใคร่ครวญคำถามต่อไปนี้:
• เหตุใดคริสเตียนควรรักษาภาพความหวังเรื่องราชอาณาจักรไว้ให้สดใส?
• อะไรอาจช่วยเราได้ให้รักษาความยินดีเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก?
• เหตุใดเราควรพยายามทำชีวิตให้เรียบง่าย?
• บางคนได้ทำชีวิตให้เรียบง่ายโดยวิธีใดบ้าง?
[กรอบหน้า 17]
เหตุผลเพิ่มเติมที่จะยินดี
ในฐานะคริสเตียน เรามีเหตุผลหลายประการที่จะยินดี. ขอให้พิจารณาจุดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้:
1. เรารู้จักพระยะโฮวา.
2. เราได้เรียนรู้ความจริงในพระคำของพระเจ้า.
3. เราสามารถได้รับการอภัยบาปโดยอาศัยความเชื่อที่เรามีในเครื่องบูชาของพระเยซู.
4. ราชอาณาจักรของพระเจ้ากำลังปกครองอยู่—ในไม่ช้าก็จะมีโลกใหม่!
5. พระยะโฮวาได้ทรงนำเราเข้าสู่อุทยานฝ่ายวิญญาณ.
6. เรามีการคบหาสมาคมแบบคริสเตียนที่ดีงาม.
7. เรามีสิทธิพิเศษที่ได้มีส่วนร่วมในงานประกาศ.
8. เรามีชีวิตอยู่ และมีสุขภาพแข็งแรงในระดับหนึ่ง.
มีเหตุผลอะไรอีกสำหรับความยินดีซึ่งคุณสามารถกล่าวถึงได้?
[ภาพหน้า 13]
เปาโลและซีลายินดีแม้เมื่อถูกคุมขัง
[ภาพหน้า 15]
คุณเพ่งมองด้วยความคาดหมายอันน่ายินดีที่โลกใหม่ของพระเจ้าไหม?