ความเพียรอดทนซึ่งนำไปสู่ชัยชนะ
“ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน เพื่อว่าเมื่อท่านกระทำให้น้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จแล้ว ท่านจะได้รับตามคำสัญญา.”—เฮ็บราย 10:36, ล.ม.
1. เหตุใดความเพียรอดทนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่รับใช้พระเจ้ายะโฮวาในสมัยปัจจุบัน?
โลกนี้ทั้งสิ้นจมอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้าองค์หนึ่งที่เป็นกบฏ. ซาตานพญามารผู้ครอบครองโลกซึ่งไม่เป็นที่ประจักษ์กำลังตั้งใจจดจ่ออยู่กับการต่อต้านพระยะโฮวา และต่อสู้การชันสูตรเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาโดยราชอาณาจักรมาซีฮา. ทั้งนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ว่า ใครก็ตามซึ่งอุทิศตัวแด่พระเจ้าและยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระองค์ในประเด็นเกี่ยวกับพระบรมเดชานุภาพจะถูกโลกนี้ต่อต้านอยู่เรื่อยไป. (โยฮัน 15:18-20; 1 โยฮัน 5:19) ด้วยเหตุนี้ พวกเราทุกคนจึงต้องเตรียมตัวที่จะอดทนจนกว่าโลกนี้พ่ายแพ้ยับเยินในอาร์มาเก็ดดอน. ที่จะอยู่ท่ามกลางคนของพระเจ้าซึ่งชนะโลกโดยความเชื่อและด้วยความซื่อสัตย์มั่นคง เราจำต้องเพียรอดทนจนถึงที่สุด. (1 โยฮัน 5:4) เราจะทำได้อย่างไร?
2, 3. พระเจ้ายะโฮวาและพระเยซูคริสต์ทรงเป็นตัวอย่างที่ประเสริฐยิ่งอย่างไรในด้านความอดกลั้นทนนาน?
2 ประการหนึ่ง เราสามารถจะหาการหนุนใจจากตัวอย่างความเพียรอดทนสองตัวอย่างที่เด่น. ตัวอย่างเหล่านี้ได้แก่ใคร? ตัวอย่างหนึ่งได้แก่พระเยซูคริสต์ ผู้ “ทรงบังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” ผู้ทรงพากเพียรทำงานรับใช้พระเจ้าด้วยความซื่อสัตย์ตั้งแต่พระองค์เริ่มดำรงชีวิตในกาลก่อน นานมาแล้ว. การที่พระเยซูปฏิบัติพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ไม่ละลดเช่นนั้นพระองค์จึงเป็นตัวอย่างแก่สรรพชีวิตที่ประกอบด้วยเชาวน์ปัญญาซึ่งถูกสร้างขึ้นภายหลังเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลก. (โกโลซาย 1:15, 16) อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างวิเศษยิ่งในด้านความอดทนนานคือพระเจ้ายะโฮวา พระองค์ทรงทนทานต่อการขัดขืนสากลบรมเดชานุภาพของพระองค์ และจะทรงอดทนต่อไปจนกระทั่งพระองค์ดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติประเด็นเรื่องพระบรมเดชานุภาพ.
3 พระยะโฮวาได้ทรงอดทนในวิถีทางที่เป็นตัวอย่างในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเกียรติศักดิ์และความรู้สึกอันแรงกล้าส่วนพระองค์. พระองค์ทรงยับยั้งความพิโรธทั้ง ๆ ที่มีการยั่วยุอย่างหนัก และทรงเหนี่ยวรั้งพระองค์เองไม่ทรงปฏิบัติการตอบโต้ผู้ที่สบประมาทพระองค์—รวมทั้งซาตานพญามารด้วย. พวกเราขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ทรงอดพระทัยได้นานและทรงเมตตา. หากขาดคุณลักษณะดังกล่าว พวกเราคงจะไม่ชื่นชมกับการมีชีวิตอยู่แม้เพียงระยะสั้น ๆ. โดยความอดกลั้นทนนานพระเจ้ายะโฮวาทรงสำแดงให้ประจักษ์ชัดว่าจะหาใครเทียบเท่าพระองค์ไม่ได้เลย.
4, 5. (ก) อุทาหรณ์ของเปาโลเรื่องช่างปั้นหม้อแสดงให้เห็นความอดกลั้นทนนานและความเมตตาของพระเจ้าอย่างไร? (ข) จะปรากฏให้เห็นอย่างไรว่า ความเมตตาของพระเจ้าไม่ไร้ประโยชน์?
4 อัครสาวกเปาโลได้ชี้ถึงความอดกลั้นและความเมตตาของพระเจ้าเมื่อท่านพูดว่า “ส่วนช่างปั้นหม้อไม่มีสิทธิจะเอาดินก้อนเดียวกันมาปั้นเป็นภาชนะที่สวยงามอันหนึ่ง และภาชนะใช้สอยอันหนึ่งหรือ? และถ้าโดยทรงประสงค์จะสำแดงการลงพระอาญา และทรงให้ฤทธิ์เดชของพระองค์ปรากฏ พระเจ้าได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้ช้านานต่อผู้เหล่านั้นที่เป็นภาชนะอันสมควรแก่การลงพระอาชญา ซึ่งเตรียมไว้สำหรับความพินาศ เพื่อจะได้ทรงสำแดงพระสิริอันอุดมของพระองค์แก่บรรดาผู้ที่เป็นภาชนะแห่งพระเมตตา ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ก่อนให้สมกับศักดิ์ศรี คือเราทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงเรียกมาแล้ว มิใช่จากยิวพวกเดียว แต่จากพวกต่างชาติด้วยก็จะว่าอะไรเล่า?”—โรม 9:21-24, ฉบับแปลใหม่.
5 ดังที่ถ้อยคำเหล่านี้แสดงให้เห็น ในยุคปัจจุบันอันเป็นช่วงแห่งความอดกลั้นพระทัยของพระองค์ พระยะโฮวาทรงดำเนินตามวัตถุประสงค์อันดียิ่งของพระองค์ และทรงสำแดงพระเมตตาต่อภาชนะอันหมายถึงมนุษย์จำพวกหนึ่ง. พระองค์ทรงเตรียมภาชนะเหล่านี้ไว้ให้สมศักดิ์ศรีชั่วนิรันดร์ และจึงทำลายจุดมุ่งหมายชั่วร้ายของซาตานพญามารผู้ต่อต้านสำคัญของพระองค์ และพลพรรคทั้งสิ้นของซาตานด้วย. ใช่ว่ามนุษย์ทั้งปวงได้กลายเป็นภาชนะอันสมควรแก่การลงอาชญา เตรียมไว้สำหรับความพินาศก็หาไม่. ทั้งนี้เป็นการพูดในแง่ดีเกี่ยวด้วยความอดกลั้นพระทัยของพระเจ้าองค์สูงสุด. พระเมตตาของพระองค์จะไม่ไร้ผล. พระเมตตาของพระองค์จะบังเกิดผลคือ (1) ครอบครัวราชอาณาจักรรุ่งเรืองในพระเยซูคริสต์ พระบุตรสุดที่รักของพระยะโฮวา และ (2) เผ่าพันธุ์มนุษย์ที่กลับสู่สภาพเดิมและสมบูรณ์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน ทุกคนรับชีวิตนิรันดรเป็นมรดก.
อดทนจนถึงที่สุด
6. (ก) ทำไมคริสเตียนไม่อาจหลีกเลี่ยงการทดสอบความอดทนไปได้? (ข) “ความเพียรอดทน” ในภาษากรีก ปกติแล้วแสดงความหมายในแง่ไหน?
6 ด้วยความหวังอันมหัศจรรย์สำหรับวันข้างหน้าเช่นนี้ คำตรัสของพระเยซูแบบหนุนใจที่ว่า “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุด ผู้นั้นจะรอด” น่าจะก้องกังวานอยู่ในหูของเราตลอดเวลา. (มัดธาย 24:13) สำคัญที่เราพึงเริ่มต้นอย่างดีบนเส้นทางการเป็นสาวกคริสเตียน. แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราอดทนอย่างไร เราบรรลุ ถึงบั้นปลายดีเพียงไร. อัครสาวกเปาโลเน้นเรื่องนี้เมื่อท่านกำชับว่า “ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน เพื่อว่าเมื่อท่านกระทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จแล้ว ท่านจะได้รับตามคำทรงสัญญา.” (เฮ็บราย 10:36, ล.ม.) คำกรีกที่นำมาแปล ณ ที่นี่ว่า “ความเพียรอดทน” คือ ไฮโปโมเนʹ. ปกติแล้วคำนี้บ่งชี้ถึงความอดทนด้วยใจกล้า, มั่นคง, หรือพากเพียร ซึ่งไม่รู้สึกหมดหวังเมื่อประสบอุปสรรค, การข่มเหง, ความทุกข์ลำบาก, และการล่อใจ. หากเรามั่นหมายว่าในที่สุดจะได้ความรอด เราต้องยอมรับเอาการทดลองเพื่อพิสูจน์ความอดทนอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเตรียมตัวเพื่อความรอด.
7. เราต้องหลีกเลี่ยงความคิดหลอกตัวเองแบบไหน และตัวอย่างของใครจะช่วยเราอดทน?
7 เราไม่ควรหลอกตัวเองด้วยความคิดที่ว่า เราจะผ่านการพิสูจน์ทดลองได้อย่างรวดเร็ว. เพื่อตอบประเด็นเกี่ยวกับพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าและความซื่อสัตย์มั่นคงของมนุษย์ให้สิ้นสงสัย พระยะโฮวาไม่ได้สงวนพระองค์เอง. พระองค์ทรงทนทานกับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่น่าชื่นชมทั้ง ๆ ที่พระองค์จะกำจัดให้หมดไปทันทีก็ย่อมได้. พระเยซูคริสต์ทรงเป็นตัวอย่างความเพียรอดทนเช่นเดียวกัน. (1 เปโตร 2:21; เทียบกับโรม 15:3-5.) เมื่อเรามีตัวอย่างโดดเด่นเช่นนี้อยู่ตรงหน้า แน่นอน พวกเราก็เช่นกัน เต็มใจอดทนจนถึงที่สุด.—เฮ็บราย 12:2, 3.
คุณสมบัติที่จำเป็น
8. อัครสาวกเปาโลสำแดงคุณสมบัติอะไรซึ่งพวกเราทุกคนจำต้องมี?
8 ตั้งแต่ต้นมาทีเดียว ผู้รับใช้ของพระเจ้าไม่เคยได้รับการยกเว้นจากการที่ต้องพิสูจน์ความซื่อสัตย์มั่นคงของตนด้วยการอดทน. บุคคลที่มีชื่อเด่นดังในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งดำรงตนซื่อสัตย์สุดชีวิตและมีคุณสมบัติเหมาะสมกับชีวิตในสวรรค์ต่างก็ต้องพิสูจน์ความมั่นคงทนทานมาแล้วทั้งสิ้น. ยกตัวอย่าง เซาโลแห่งเมืองตาระโซ ซึ่งเคยอยู่ในลัทธิฟาริซายได้กล่าวแก่ชาวโกรินโธดังนี้: “เพราะว่าข้าพเจ้าไม่ต่ำต้อยกว่าอัครสาวกเขื่อง ๆ เหล่านั้นในประการใดเลย ถึงข้าพเจ้าไม่วิเศษอะไรนักก็จริง. ที่จริง ลักษณะของอัครสาวกก็ได้สำแดงให้ประจักษ์แจ้งท่ามกลางท่านทั้งหลายด้วยความเพียร โดยนิมิต โดยการอัศจรรย์ และการอิทธิฤทธิ์.” (2 โกรินโธ 12:11, 12) ทั้งที่ท่านมีภารกิจมากมาย เปาโลกล่าวยกย่องงานรับใช้นั้นว่า ท่านพากเพียรอดทนมากและปรารถนาอย่างจริงจังจะไม่ทำให้งานนี้เป็นที่ติเตียนได้.—2 โกรินโธ 6:3, 4, 9.
9. (ก) ชนที่เหลือจำพวกผู้ถูกเจิมได้แสดงความอดทนอย่างไร และมีผลประการใด? (ข) อะไรกระตุ้นเราให้รับใช้พระเจ้าต่อ ๆ ไปอย่างซื่อสัตย์?
9 ในสมัยปัจจุบัน คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งรับใช้พระเจ้าก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตระหนักว่า เวลาของคนต่างประเทศจะครบกำหนดในปี 1914 และพวกเขาหลายคนคาดหมายจะได้รับบำเหน็จฝ่ายสวรรค์ในปีอันน่าจดจำนั้น. แต่ไม่เป็นตามความคาดหมาย. ดังเห็นได้จากข้อเท็จจริงเวลานี้ คนเหล่านั้นได้มีชีวิตยาวนานออกไปอีกหลายสิบปี. ในระหว่างการยืดช่วงชีวิตทางแผ่นดินโลกของเขาโดยที่มิได้คาดหมายเช่นนี้ พวกเขาได้ผ่านการกลั่นกรองโดยพระยะโฮวา. (ซะคาระยา 13:9; มาลาคี 3:2, 3) ความอดทนนานอย่างต่อเนื่องเป็นผลดีสำหรับพวกเขา. ในฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา พวกเขาชื่นชมเมื่อถูกสรรไว้เป็นไพร่พลมีชื่อตามพระนามของพระองค์. (ยะซายา 43:10-12; กิจการ 15:14) เวลานี้ หลังจากรอดผ่านสงครามโลกทั้งสองครั้งและการสู้รบย่อย ๆ อีกมากมายหลายครั้ง พวกเขาตื่นเต้นยินดีที่เขารับความช่วยเหลือในงานเผยแพร่ข่าวดี โดยชนฝูงใหญ่จำพวกแกะอื่นซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะนี้มีมากกว่าสี่ล้านคน. อุทยานฝ่ายวิญญาณซึ่งพวกเขากำลังชื่นชมอยู่นี้ได้ขยายกว้างไปทั่วแผ่นดินโลก กระทั่งไปถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกลในมหาสมุทร. การได้รับสิทธิพิเศษอันน่าพอใจเช่นนี้ ซึ่งนับวันเราก็ยิ่งหยั่งรู้ค่ามากขึ้นทุกที จึงเป็นประหนึ่งแรงกระตุ้นให้ทำงานรับใช้พระเจ้าต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสัมฤทธิ์ผลเต็มที่ทุกประการ.
10. เพื่อเราจะไม่ย่อหย่อนอ่อนกำลัง อะไรเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องรับไว้เป็นประจำ?
10 เนื่องจากบำเหน็จที่เราจะได้รับขึ้นอยู่กับความมั่นคงแน่วแน่ของเรา เราจึงต้องได้รับการตักเตือนเกี่ยวกับเรื่องสำคัญนี้อยู่เสมอ. (1 โกรินโธ 15:58; โกโลซาย 1:23) เพื่อจะไม่มีการย่อหย่อนอ่อนกำลังในท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวา เราต้องได้รับการชูใจเป็นประจำให้ยึดอยู่กับความจริงและสิทธิพิเศษอันสูงค่าในการแพร่กระจายสัจธรรม เหมือนประชาคมต่าง ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่สมัยศตวรรษแรกเคยรับคำตักเตือนเมื่อเปาโลและบาระนาบาได้กลับเยี่ยม. (กิจการ 14:21, 22) ขอให้พวกเรามั่นคงแน่วแน่ดังคำกล่าวของอัครสาวกโยฮันที่ว่าความจริงจะอยู่ในพวกเรา “และซึ่งจะดำรงอยู่กับเราเป็นนิตย์.”—2 โยฮัน 2.
คอยด้วยความอดทนอย่างแน่วแน่
11. อะไรดูเหมือนเป็นกฎที่พระเจ้ากำหนดไว้สำหรับผู้รับใช้ของพระองค์ และเรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างไรในกรณีของโยเซฟ?
11 ที่เราจะผ่านการทดสอบได้สำเร็จนั้นย่อมใช้เวลา. (ยาโกโบ 1:2-4) คอย! คอย! คอย! ดูเหมือนจะเป็นหลักเกณฑ์ที่พระเจ้าทรงใช้กับผู้รับใช้ของพระองค์ในสมัยก่อนเมื่อเขาถูกทดสอบดูความแน่วแน่ตั้งใจที่จะดำเนินโดยความเชื่อ. แต่ในที่สุด การคอยก็ปรากฏออกมาว่าเป็นบำเหน็จสำหรับผู้รับใช้เหล่านั้นที่สัตย์ซื่อ. เช่น โยเซฟคอยนานถึง 13 ปีในฐานะทาสและนักโทษ แต่ประสบการณ์นั้นได้ขัดเกลาบุคลิกของท่าน.—บทเพลงสรรเสริญ 105:17-19.
12, 13. (ก) อับราฮามเป็นตัวอย่างในด้านความซื่อสัตย์อดทนโดยวิธีใด? (ข) ความเชื่อและความอดทนของอับราฮามได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างสำหรับพวกเราอย่างไร?
12 อับราฮามมีอายุ 75 ปีแล้ว เมื่อพระเจ้าทรงเรียกท่านออกจากเมืองอูระแห่งเคเซ็ดเพื่อไปถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา. ท่านมีอายุประมาณ 125 ปี เมื่อท่านได้รับคำยืนยันเกี่ยวกับคำสัญญาของพระเจ้าด้วยคำปฏิญาณ—ซึ่งมีขึ้นทันทีภายหลังอับราฮามแสดงพลังแห่งความเชื่อของท่านโดยไปถึงขั้นถวายยิศฮาคบุตรที่รักเป็นเครื่องบูชา ท่านหยุดเพียงเมื่อทูตของพระยะโฮวาได้เหนี่ยวรั้งมือของท่านไว้และปกป้องไม่ให้ถวายเครื่องบูชานั้น. (เยเนซิศ 22:1-18) เวลาห้าสิบปีนับว่านานมากสำหรับอับราฮามจะรอคอยฐานะคนสัญจรในต่างแดน แต่ท่านก็ยังคอยต่อไปอีก 50 ปีกระทั่งสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 175 ปี. ตลอดเวลาอันยาวนานเช่นนั้น อับราฮามเป็นพยานและผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้ายะโฮวา.—บทเพลงสรรเสริญ 105:9-15.
13 ความเชื่อและความอดทนของอับราฮามถูกยกให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้รับใช้ของพระเจ้าซึ่งประสงค์รับพระพรแห่งคำสัญญาซึ่งผ่านมาทางพระเยซูคริสต์ พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม. (เฮ็บราย 11:8-10, 17–19) เกี่ยวกับพระองค์ เราอ่านที่เฮ็บราย 6:11-15 ดังนี้: “เราปรารถนาให้ท่านทั้งหลายต่างคนต่างสำแดงความอุตส่าห์เช่นเดียวกันจนถึงที่สุดปลาย จึงจะได้ความหวังใจอย่างสมบูรณ์เพื่อจะไม่ให้ท่านเป็นคนเงื่องหงอย แต่ให้ตามเยี่ยงอย่างแห่งคนเหล่านั้นที่อาศัยความเชื่อและความเพียรจึงได้รับคำสัญญาเป็นมรดก. เพราะเมื่อพระเจ้าได้ทรงทำสัญญาไว้กับอับราฮามนั้น โดยเหตุที่ไม่มีใครเป็นใหญ่กว่าที่พระองค์จะทรงให้คำปฏิญาณได้นั้น พระองค์ก็ทรงให้คำปฏิญาณแก่พระองค์เอง คือตรัสว่า ‘แท้จริง เราจะอวยพรให้แก่ท่าน และจะให้เผ่าพันธุ์ของท่านทวีมากขึ้น.’ เช่นนั้นแหละ เมื่ออับราฮามได้คอยด้วยความเพียรแล้ว ท่านก็ได้รับตามคำทรงสัญญานั้น.”
14. เหตุใดเราไม่ควรคิดว่าการทดสอบความอดทนนั้นจะไม่มีที่สิ้นสุดและบำเหน็จก็ดูเลือนราง?
14 ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมเห็นว่าเวลาล่วงผ่านไป 77 ปีแล้วตั้งแต่เวลาของคนต่างประเทศครบกำหนดปี 1914 เมื่อพวกเขาบางคนคาดหมายประชาคมคริสเตียนจะได้รับสง่าราศีในสวรรค์. ชนที่เหลือต้องคอยต่อไปนานเท่าไรเราไม่ทราบ. เช่นนั้นแล้ว สมควรไหมที่เราจะเรรวนและคิดว่าการคอยไม่มีสิ้นสุด และบำเหน็จที่จะได้ก็ยังเลือนรางอยู่? ไม่ควรคิดอย่างนั้น. เพราะนั่นจะไม่เชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าหรือไม่ได้ยกย่องพระนามของพระองค์. ในสายตาของโลกอาจเห็นว่าพระองค์ปฏิบัติไม่เป็นธรรม เมื่อทรงโปรดให้เรามีชัยชนะและประทานบำเหน็จอันได้แก่ชีวิตนิรันดร. โดยไม่คำนึงถึงเวลาจะเนิ่นนานแค่ไหน ชนที่เหลือพร้อมกับชนจำพวกแกะ สหายที่ซื่อสัตย์ ต่างก็แน่วแน่ตั้งใจคอยพระยะโฮวาปฏิบัติการตามเวลากำหนดของพระองค์. ในการแสดงความเพียรอดทนอย่างที่ถือเป็นตัวอย่างเช่นนั้น พวกเขาปฏิบัติตามแนวทางของอับราฮาม.—โรม 8:23-25.
15. (ก) หลักสำคัญของเราคืออะไร และโดยประสบการณ์อะไรพระเจ้าได้ทรงค้ำจุนพวกเราจนได้ชัยชนะ? (ข) คำตักเตือนอะไรที่เปาโลได้ให้ไว้ยังคงเหมาะกับสมัยของเรา?
15 หลักสำคัญก็ยังคงเป็นความเพียรอดทนอย่างแน่วแน่ในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. (โรม 2:6, 7) ในอดีต พระองค์ทรงสงเคราะห์พวกเราจนผ่านพ้นความทุกข์ยากสาหัสมาได้ รวมไปถึงการติดคุกและค่ายกักกัน และพระองค์ทรงนำพวกเราจนได้ชัยชนะเป็นเกียรติยศแก่พระนามและพระประสงค์ของพระองค์.a ตลอดเวลาที่เหลืออยู่เพื่อพิสูจน์ทดลองพวกเราจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ พระยะโฮวาจะทรงกระทำอย่างเดียวกัน. คำกล่าวตักเตือนของเปาโลยังคงใช้ได้อย่างเหมาะสมกับสมัยของเรา ที่ว่า “เพราะท่านทั้งหลายจะต้องมีความเพียรและความอดทนที่มั่นคง เพื่อว่าท่านจะประกอบกิจและสัมฤทธิ์ผลเต็มขนาดตามพระประสงค์ของพระเจ้า ครั้นแล้วจะได้รับบริบูรณ์ตามคำสัญญา.”—เฮ็บราย 10:36, ฉบับแปล ดิ แอมพลิไฟด์ ไบเบิล; โรม 8:37.
16. เหตุใดเราไม่ควรมองการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเป็นแนวทางที่ถูกจำกัดหรือมีเงื่อนไข?
16 ดังนั้น ตราบเท่าที่พระยะโฮวาทรงมีงานให้เราทำในโลกชั่วนี้ ตามตัวอย่างของพระเยซู เราปรารถนาจะกระทำงานนั้นจนกว่าจะเสร็จ. (โยฮัน 17:4) การอุทิศตัวของเราแด่พระยะโฮวาหาใช่ข้อตกลงว่าเราจะปฏิบัติพระองค์เพียงระยะสั้น ๆ แล้วสงครามอาร์มาเก็ดดอนจะเกิดขึ้น. การอุทิศตัวของเราหมายถึงอุทิศตลอดไป. การงานของพระเจ้าที่จัดให้เรานั้นจะไม่ยุติพร้อมกับสงครามอาร์มาเก็ดดอน. แต่เฉพาะเมื่อเราสำเร็จภารกิจที่ต้องทำให้เสร็จก่อนอาร์มาเก็ดดอนแล้ว เราจึงจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ใหญ่โตมากมายซึ่งมาตามหลังสงครามใหญ่นั้น. ครั้นแล้วนอกจากสิทธิพิเศษอันยังความสุขแก่เราที่กระทำการงานของพระองค์อย่างต่อเนื่อง เรายังจะได้รับพระพรนานาประการซึ่งเราเฝ้ารอคอยนั้นเป็นบำเหน็จตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้.—โรม 8:32.
การรักพระเจ้าช่วยเราอดทน
17, 18. (ก) ในยามที่มีความกดดัน อะไรจะช่วยเราให้อดทนอย่างที่เป็นที่พอพระทัยพระเจ้า? (ข) อะไรจะช่วยเราให้ได้ชัยชนะ และเราจะไม่พูดเรื่องอะไรเกี่ยวกับเวลาที่เหลืออยู่?
17 บางทีในยามที่รับความกดดัน เราอาจถามว่า ‘จะทนได้ต่อไปอย่างไร?’ คำตอบหรือ? โดยการรักพระเจ้าสิ้นสุดหัวใจ สุดความคิด สุดชีวิต และสุดกำลัง. “ความรักอดทนนาน และแสดงความกรุณา ความรักไม่อิจฉา ริษยาหวงแหน ไม่อวดตัว ไม่พองตัว. ความรักทนรับเอาทุกสิ่ง เชื่อทุกสิ่ง หวังทุกสิ่ง อดทนทุกสิ่ง. ความรักไม่ล้มเหลวเลย.” (1 โกรินโธ 13:4, 7, 8, ล.ม.) นอกเสียจากว่าเราอดทนเพราะเรารักพระเจ้า มิฉะนั้นแล้ว ความอดทนของเราจะไม่มีคุณค่าเลย. แต่ถ้าเราอดทนแบกภาระหนักเนื่องจากเราเลื่อมใสศรัทธาในพระยะโฮวา เมื่อนั้นแหละความเพียรอดทนของเราก่อผลคือ ความรักของเราต่อพระองค์จะลึกซึ้งยิ่งขึ้น. เพราะพระเยซูทรงรักพระเจ้าพระบิดาของพระองค์ พระเยซูจึงอดทนได้. (โยฮัน 14:30, 31; เฮ็บราย 12:2) ถ้าเจตนาแท้ของเราคือรักพระเจ้าพระบิดาของเรา มีอะไรล่ะที่เราจะทนไม่ได้?
18 ความรักที่เรามีต่อพระเจ้ายะโฮวาอย่างไม่คลอนแคลนนี้เองเป็นแรงส่งเสริมพวกเราชนะโลกในสมัยทดสอบอันยากยิ่งเช่นนี้. และพระยะโฮวาโดยพระเยซูคริสต์จะทรงประทานความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เรา ไม่ว่าระบบโลกเก่านี้จะยืดเยื้อไปอีกนานเพียงไรก็ตาม. (1 เปโตร 5:10) แน่ล่ะ เราไม่ทำนายว่าเวลายังเหลืออีกนานแค่ไหน และเราไม่กำหนดวันใดโดยเฉพาะ. เราฝากเรื่องนี้ไว้กับพระเจ้ายะโฮวาผู้รักษาเวลาองค์ใหญ่ยิ่ง.—บทเพลงสรรเสริญ 31:15.
19, 20. (ก) เราควรจะถือแต่ละวันที่เราได้อดทนนั้นเป็นอย่างไร? (ข) เราพึงหลีกเลี่ยงความโง่เขลาแบบไหน เพราะเหตุใด?
19 อย่างไรก็ดี คนชั่วอายุซึ่งมีบอกไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นพยานและจะประสบ “อวสานแห่งระบบแห่งสิ่งต่าง ๆ” นั้น ถึงตอนนี้ก็ชราภาพไปตาม ๆ กัน. (มัดธาย 24:3, 32–35) ฉะนั้น อย่าลืมว่าความอดทนของเราแต่ละวันที่ผ่านไปนั้น ซาตานกับพวกผีปีศาจเหลือเวลาน้อยไปอีกหนึ่งวันสำหรับการก่อมลภาวะในเอกภพโดยการที่มันดำรงอยู่ และหมายถึงเวลากระชั้นเข้าไปอีกวันหนึ่งเมื่อพระยะโฮวาจะไม่ทรงทนทานกับ “ภาชนะแห่งความพิโรธ ซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับความพินาศ” อีกต่อไป. (โรม 9:22) ในไม่ช้า เมื่อพระยะโฮวาหมดความอดกลั้นทนนาน พระองค์จะยังความพิโรธแก่มนุษย์ชายหญิงผู้ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. ตอนนั้น พระองค์จะทรงสำแดงให้เราเห็นว่าพระองค์ไม่พอพระทัยต่อการกระทำของพวกเขา แม้ว่าพระองค์ได้ทรงอนุญาตให้เขาดำเนินงานตลอดมากระทั่งเวลานี้.
20 คงจะเป็นความโง่เขลาอย่างยิ่งหากเราเลิกความพยายามจะสำแดงความรักเพื่อได้รับบำเหน็จอันรุ่งโรจน์โดยทางพระเยซูคริสต์. แทนที่จะทำเช่นนั้น ด้วยความซื่อสัตย์ เราปลงใจแน่วแน่จะเป็นพยานเพื่อพระยะโฮวาในยุคนี้ซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดเมื่อพระยะโฮวาจวนจะชันสูตรเชิดชูพระองค์เองอยู่แล้วฐานะเป็นองค์บรมมหิศรแห่งเอกภาพ.
[เชิงอรรถ]
a ยกตัวอย่าง คริสติน เอลิซาเบ็ต คิงเขียนว่า “มีแต่พยานฯ เท่านั้นที่รัฐบาล [นาซี] ปราบไม่สำเร็จ แม้พวกเขาได้สังหารพยานพระยะโฮวานับพัน ๆ คน แต่งานของพวกเขาดำเนินต่อไป และเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1945 กิจการของพยานพระยะโฮวายังดำเนินต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา ขณะที่ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติล่มสลาย. พยานพระยะโฮวามีจำนวนเพิ่มขึ้นและไม่เคยยอมอะลุ้มอล่วย. กระบวนการนี้มีพยานฯ ที่เสียสละเพื่อปกป้องความเชื่อศรัทธา และสู้รบอย่างมีชัยอีกครั้งหนึ่งในสงครามของพระยะโฮวาพระเจ้า.”—หนังสือ การปกครองระบอบนาซีกับศาสนาใหม่ ๆ: การศึกษาวิจัยห้ารายที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม, หน้า 193.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการทดสอบความเพียรอดทนของเรา?
▫ เราต้องการหลีกเลี่ยงความคิดหลอกตัวเองแบบไหน?
▫ เพื่อเราเองจะไม่ย่อหย่อนอ่อนกำลัง อะไรเป็นสิ่งจำเป็น?
▫ หลักสำคัญของเราคืออะไร?
▫ ในยามที่มีความกดดัน อะไรจะช่วยเราทนได้?
[รูปภาพหน้า 11]
ไพร่พลของพระเจ้า เช่นเดียวกันกับเหล่าพยานที่เมืองปอร์ต อ็อฟ สเปน ประเทศตรินิแดด เต็มใจคอยท่าพระยะโฮวาอยู่เสมอ