จงแสวงหาพระพรจากพระยะโฮวาอย่างจริงจัง
“[พระเจ้า] ทรงประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.”—ฮีบรู 11:6
1, 2. (ก) ผู้คนจำนวนมากแสวงหาพระพรจากพระเจ้าอย่างไร? (ข) เหตุใดเราควรสนใจเป็นพิเศษที่จะได้รับพระพรจากพระยะโฮวา?
“ขอพระเจ้าอวยพรคุณ!” ในบางดินแดน เป็นเรื่องธรรมดาที่จะได้ยินคนที่ไม่รู้จักกันเลยพูดคำนี้เมื่อมีใครสักคนจามขึ้นมา. นักบวชในหลายศาสนาอวยพรให้แก่ผู้คน, สัตว์ต่าง ๆ, และสิ่งของที่ไม่มีชีวิต. นักท่องเที่ยวอาจถูกดึงดูดไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทางศาสนาโดยหวังว่าจะได้รับพร. นักการเมืองมักขอให้พระเจ้าอวยพรชาติของตน. คุณคิดว่าการขอพรเช่นนั้นเป็นเรื่องเหมาะสมไหม? คุณคิดว่าเขาจะได้พรไหม? ใครเป็นผู้ที่ได้รับพระพรจากพระเจ้าจริง ๆ และเพราะเหตุใด?
2 พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าว่าในสมัยสุดท้าย พระองค์จะมีประชาชนที่บริสุทธิ์สะอาดและมีสันติสุขจากทุกชาติซึ่งจะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลกแม้ว่าถูกเกลียดชังและถูกต่อต้าน. (ยซา. 2:2-4; มัด. 24:14; วิ. 7:9, 14) พวกเราที่รับเอาหน้าที่รับผิดชอบเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนนี้ต้องการได้รับพระพรจากพระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องได้รับ เพราะถ้าพระองค์ไม่อวยพร เราไม่อาจหวังได้เลยว่าจะประสบผลสำเร็จ. (เพลง. 127:1) แต่เราจะได้รับพระพรจากพระเจ้าได้อย่างไร?
พระพรตกอยู่กับคนที่เชื่อฟัง
3. ถ้าชาวอิสราเอลเชื่อฟัง ผลจะเป็นเช่นไร?
3 อ่านสุภาษิต 10:6, 7. ก่อนที่ชาติอิสราเอลจะเข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญาไม่นานนัก พระยะโฮวาทรงชี้ว่าพวกเขาจะเจริญรุ่งเรืองและจะได้รับการปกป้องถ้าพวกเขาเชื่อฟังพระสุรเสียงของพระองค์. (บัญ. 28:1, 2) พระพรของพระยะโฮวาจะไม่เพียงแค่มีมาถึงประชาชนของพระเจ้า แต่พระพรนั้นจะ “ตกอยู่” กับพวกเขา. คนเหล่านั้นที่เชื่อฟังจะได้รับพระพรอย่างแน่นอน.
4. การเชื่อฟังอย่างแท้จริงเกี่ยวข้องกับอะไร?
4 ชาวอิสราเอลต้องเชื่อฟังโดยมีทัศนคติอย่างไร? พระบัญญัติของพระเจ้ากล่าวว่าพระองค์จะไม่พอพระทัยถ้าประชาชนของพระองค์ไม่ได้รับใช้พระองค์ “ด้วยใจโสมนัสยินดี.” (อ่านพระบัญญัติ 28:45-47) พระยะโฮวาทรงสมควรได้รับการเชื่อฟังอย่างที่ออกมาจากหัวใจ ไม่ใช่การเชื่อฟังคำสั่งแบบไร้ความรู้สึกอย่างที่สัตว์หรือพวกปิศาจทำ. (มโก. 1:27; ยโก. 3:3) การเชื่อฟังพระเจ้าอย่างจริงใจเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของความรัก. สิ่งที่บ่งชี้ว่าเราเชื่อฟังอย่างแท้จริงก็คือการที่เรามีความยินดี. ความยินดีนี้เกิดมาจากความเชื่อที่ว่าพระบัญชาของพระยะโฮวาไม่เป็นภาระหนักและ “พระองค์ทรงประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่แสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง.”—ฮีบรู 11:6; 1 โย. 5:3
5. ความไว้วางใจในคำสัญญาของพระยะโฮวาจะช่วยคนเราอย่างไรให้เชื่อฟังกฎหมายที่พระบัญญัติ 15:7, 8?
5 ขอให้พิจารณาดูว่าการเชื่อฟังด้วยความไว้วางใจเช่นนั้นอาจปรากฏชัดอย่างไรด้วยการทำตามกฎหมายที่กล่าวไว้ในพระบัญญัติ 15:7, 8. (อ่าน) การยอมทำตามกฎหมายนั้นอย่างไม่เต็มใจอาจทำให้คนขัดสนได้รับความช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่นั่นจะทำให้มีสายสัมพันธ์ที่ดีและบรรยากาศที่อบอุ่นในหมู่ประชาชนของพระเจ้าไหม? ที่สำคัญกว่านั้น การทำเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเรามีความเชื่อในความสามารถของพระยะโฮวาที่จะจัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้ผู้รับใช้ของพระองค์ และเราขอบคุณสำหรับโอกาสที่จะได้เลียนแบบความเอื้อเฟื้อของพระองค์ไหม? ไม่เลย! พระเจ้าทรงสังเกตเห็นสภาพหัวใจของคนที่เอื้อเฟื้ออย่างแท้จริงและทรงสัญญาว่าจะอวยพรการกระทำและภารกิจทุกอย่างของเขา. (บัญ. 15:10) ความเชื่อในคำสัญญานั้นจะทำให้เกิดการกระทำ และจะทำให้เขาได้รับพระพรมากมาย.—สุภา. 28:20
6. ฮีบรู 11:6 น่าจะทำให้เรามั่นใจในเรื่องใด?
6 นอกจากเชื่อว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ประทานบำเหน็จแล้ว ฮีบรู 11:6 ยังเน้นคุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่จำเป็นเพื่อจะได้รับพระพรจากพระเจ้า. โปรดสังเกตว่าพระยะโฮวาประทานบำเหน็จแก่ผู้ที่ “แสวงหา พระองค์อย่างจริงจัง.” คำภาษาเดิมที่ใช้ในที่นี้หมายถึงความรู้สึกแรงกล้าและความพยายามด้วยใจจดจ่อ. หากทำเช่นนั้นเราย่อมมั่นใจได้ว่าจะได้รับพระพร! พระพรดังกล่าวมาจากพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว “ผู้ไม่ตรัสมุสา.” (ทิทุส 1:2) พระองค์ทรงแสดงให้เห็นมาหลายพันปีแล้วว่าเราสามารถไว้วางใจคำสัญญาของพระองค์ได้อย่างเต็มที่. ถ้อยคำของพระองค์ไม่เคยล้มเหลว แต่สำเร็จเป็นจริงเสมอ. (ยซา. 55:11) ดังนั้น เราสามารถเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าถ้าเราแสดงความเชื่ออย่างแท้จริง พระองค์จะประทานบำเหน็จแก่เรา.
7. เราจะได้รับพระพรอย่างแน่นอนโดยทาง “ผู้สืบเชื้อสาย” ของอับราฮามได้โดยวิธีใด?
7 ปรากฏชัดว่า พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “ผู้สืบเชื้อสาย” อันดับแรกของอับราฮาม. คริสเตียนผู้ถูกเจิมประกอบกันเป็น “ผู้สืบเชื้อสาย” อันดับรองตามที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. พวกเขาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “ป่าวประกาศคุณความดีของพระองค์ผู้ทรงเรียก [พวกเขา] ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” (กลา. 3:7-9, 14, 16, 26-29; 1 เป. 2:9) เราไม่อาจหวังได้ว่าจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาถ้าเราไม่สนใจคนเหล่านั้นที่พระเยซูทรงแต่งตั้งให้ดูแลทรัพย์สมบัติของพระองค์. หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจาก “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เราจะไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่เราอ่านในพระคำของพระเจ้าได้อย่างเต็มที่และไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อย่างไร. (มัด. 24:45-47) ด้วยการนำสิ่งที่เราเรียนรู้จากพระคัมภีร์ไปใช้ เราจะได้รับพระพรจากพระเจ้าอย่างแน่นอน.
จงจดจ่ออยู่กับพระประสงค์ของพระเจ้าเสมอ
8, 9. ปฐมบรรพบุรุษยาโคบพยายามทำอย่างที่สอดคล้องกับคำสัญญาของพระเจ้าอย่างไร?
8 แนวคิดเกี่ยวกับการพยายามอย่างแข็งขันเพื่อได้รับพระพรจากพระเจ้าอาจทำให้เรานึกถึงปฐมบรรพบุรุษยาโคบ. ท่านไม่รู้ว่าคำสัญญาที่พระเจ้าประทานแก่อับราฮามจะสำเร็จเป็นจริงอย่างไร แต่ท่านเชื่อว่าพระยะโฮวาจะอวยพรปู่ของท่านให้มีลูกหลานทวีมากขึ้น และลูกหลานของท่านจะกลายเป็นชนชาติใหญ่. ดังนั้น ในปี 1781 ก่อนสากลศักราช ยาโคบจึงเดินทางไปที่เมืองฮารานเพื่อจะหาภรรยา. ท่านไม่เพียงแค่สนใจที่จะหาใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิตที่ดีเท่านั้น แต่ท่านเสาะหาผู้หญิงที่มีทัศนะที่ดีฝ่ายวิญญาณซึ่งเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวาและคนที่จะเป็นแม่ที่ดี.
9 เรารู้ว่ายาโคบได้พบกับราเฮลซึ่งเป็นญาติกัน. ท่านรักราเฮลและยอมทำงานให้ลาบานพ่อของนางเป็นเวลาเจ็ดปีเพื่อจะได้นางมาเป็นภรรยา. นี่ไม่ใช่เป็นเพียงนิยายรักที่น่าจดจำเท่านั้น. แน่นอน ยาโคบรู้เรื่องคำสัญญาที่พระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งประทานแก่อับราฮามปู่ของท่านและที่พระองค์ได้ตรัสคำสัญญานั้นอีกครั้งหนึ่งกับยิศฮาคบิดาของท่าน. (เย. 18:18; 22:17, 18; 26:3-5, 24, 25) ต่อมา ยิศฮาคบอกยาโคบบุตรชายว่า “พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ที่สุด [จะ] ทรงอวยพระพรแก่เจ้า, ให้มีพงศ์พันธุ์ทวีมากขึ้นเป็นหลายตระกูล. ให้พรของอับราฮามอยู่กับเจ้าทั้งพงศ์พันธุ์ของเจ้าด้วย, เพื่อแผ่นดินนี้ที่เจ้าอาศัยอยู่เป็นแขกเมืองซึ่งพระเจ้าได้พระราชทานแก่อับราฮามแล้วเจ้าจะได้รับเป็นมฤดก.” (เย. 28:3, 4) ดังนั้น ความพยายามของยาโคบในการเสาะหาภรรยาที่ดีและสร้างครอบครัวสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของท่านในคำตรัสของพระยะโฮวา.
10. เหตุใดพระยะโฮวาทรงยินดีอวยพรยาโคบตามคำวิงวอนของท่าน?
10 ยาโคบไม่ได้แสวงหาความมั่งคั่งเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่อย่างสุขสบาย. ความคิดของท่านจดจ่ออยู่กับคำสัญญาของพระยะโฮวา. ท่านมุ่งทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ. ยาโคบตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อได้รับพระพรจากพระเจ้าแม้มีอุปสรรคขัดขวาง. ท่านรักษาทัศนะแบบนี้จนกระทั่งชรา และด้วยเหตุนี้พระยะโฮวาจึงอวยพรท่าน.—อ่านเยเนซิศ 32:24-29
11. เราควรพยายามทำอะไรซึ่งสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่ได้รับการเปิดเผย?
11 เช่นเดียวกับยาโคบ เราไม่รู้รายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับความสำเร็จของพระประสงค์ของพระยะโฮวา. ถึงกระนั้น โดยศึกษาพระคำของพระเจ้าเราเห็นเค้าโครงคร่าว ๆ ของสิ่งที่จะคาดหมายได้เกี่ยวกับ “วันของพระยะโฮวา.” (2 เป. 3:10, 17) ตัวอย่างเช่น เราไม่รู้แน่ว่าวันนั้นจะมาเมื่อไร แต่เรารู้ว่าใกล้จะถึงแล้ว. เราเชื่อเมื่อพระคำของพระเจ้ากล่าวว่า ถ้าเราประกาศอย่างถี่ถ้วนในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ยังเหลืออยู่ เราจะช่วยทั้งตัวเองและคนที่ฟังเราให้รอด.—1 ติโม. 4:16
12. เราอาจแน่ใจได้ในเรื่องใด?
12 เรารู้ว่าอวสานอาจมาในเวลาใดก็ได้; พระยะโฮวาไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งเราประกาศกับทุกคนบนโลกนี้เสียก่อน. (มัด. 10:23) นอกจากนั้น เราได้รับคำแนะนำที่ดีเกี่ยวกับวิธีทำงานประกาศอย่างมีประสิทธิภาพ. ด้วยความเชื่อ เราร่วมทำงานนี้อย่างสุดความสามารถโดยใช้ทรัพย์สินเงินทองที่เรามีอยู่ให้เป็นประโยชน์. เราจะประกาศในเขตที่เกิดผลมากที่สุดเสมอไหม? จริง ๆ แล้ว เราจะรู้ล่วงหน้าได้อย่างไร? (อ่านท่านผู้ประกาศ 11:5, 6) งานของเราคือการประกาศ โดยไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะอวยพรเรา. (1 โค. 3:6, 7) เราสามารถแน่ใจได้ว่าพระองค์ทรงเห็นความพยายามอย่างขันแข็งของเรา และพระองค์จะประทานคำแนะนำใด ๆ ก็ตามที่เราจำเป็นต้องได้รับโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์.—เพลง. 32:8
แสวงหาพระวิญญาณบริสุทธิ์
13, 14. มีการแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าสามารถช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ให้มีความสามารถที่จำเป็น?
13 จะว่าอย่างไรถ้าเรารู้สึกว่าไม่มีความสามารถที่จะทำงานมอบหมายให้สำเร็จหรือที่จะมีส่วนร่วมในงานประกาศ? เราควรขอพระยะโฮวาประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ช่วยเราปรับปรุงความสามารถใด ๆ ก็ตามที่เรามีในการรับใช้พระองค์. (อ่านลูกา 11:13) พระวิญญาณของพระเจ้าสามารถช่วยให้คนเรามีคุณสมบัติสำหรับงานหรือสิทธิพิเศษในการรับใช้ไม่ว่าเขาจะเคยอยู่ในสภาพการณ์หรือมีประสบการณ์เช่นไรมาก่อนก็ตาม. ตัวอย่างเช่น ทันทีหลังจากอพยพออกจากอียิปต์ พระวิญญาณของพระเจ้าช่วยให้บรรดาคนเลี้ยงแกะและทาสสามารถพิชิตศัตรูในศึกสงครามแม้ว่าพวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการสู้รบมาก่อนเลย. (เอ็ก. 17:8-13) ไม่นานหลังจากนั้น พระวิญญาณเดียวกันนี้ก็ช่วยบะซาเลลกับอะโฮลีอาบให้สามารถสร้างพลับพลาอันวิจิตรประณีตตามแบบร่างด้านสถาปัตยกรรมที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า.—เอ็ก. 31:2-6; 35:30-35
14 พระวิญญาณที่ทรงพลังนี้ช่วยเตรียมผู้รับใช้พระเจ้าในสมัยปัจจุบันให้สามารถเอาใจใส่ความจำเป็นขององค์การเมื่อพวกเขาต้องเริ่มดำเนินงานด้านการพิมพ์ด้วยตนเอง. ในจดหมายฉบับหนึ่ง บราเดอร์อาร์. เจ. มาร์ติน ผู้ดูแลโรงงานในเวลานั้น อธิบายถึงความสำเร็จในปี 1927 ว่า “ในเวลาที่เหมาะเจาะ องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดประตู; และแท่นพิมพ์โรตารีขนาดใหญ่ก็มาอยู่ในมือเรา ซึ่งเป็นมือที่ไม่รู้อะไรเลยในเรื่องการประกอบ และการทำให้มันทำงาน. แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้วิธีที่จะทำให้คนที่ทุ่มเทตัวเต็มที่ในการรับใช้พระองค์สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว . . . ในชั่วเวลาไม่กี่สัปดาห์ เราสามารถทำให้เครื่องพิมพ์นี้ส่งเสียงกระหึ่ม; และมันก็ยังคงส่งเสียงกระหึ่มอยู่ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างที่แม้แต่ผู้สร้างแท่นพิมพ์นี้ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันสามารถทำได้.” พระยะโฮวายังคงอวยพรความพยายามอย่างจริงจังเช่นนั้นจนกระทั่งทุกวันนี้.
15. โรม 8:11 ให้กำลังใจแก่คนที่เผชิญการล่อใจได้อย่างไร?
15 พระวิญญาณของพระยะโฮวาดำเนินกิจในหลาย ๆ วิธี. พระวิญญาณนี้มีให้กับผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้า และช่วยพวกเขาให้จัดการกับอุปสรรคที่ยากจะเอาชนะ. จะว่าอย่างไรถ้าเรารู้สึกว่าถูกล่อใจอย่างหนัก? เราอาจได้กำลังจากถ้อยคำของเปาโลที่โรม 7:21, 25 และ 8:11. “พระวิญญาณที่พระองค์ทรงใช้ปลุกพระเยซูขึ้นจากตาย” สามารถดำเนินกิจเพื่อประโยชน์ของเรา โดยประทานกำลังให้เราเอาชนะการต่อสู้กับความปรารถนาต่าง ๆ ทางกาย. ข้อความดังกล่าวเขียนถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ แต่หลักการที่อยู่ในข้อความนั้นใช้ได้กับผู้รับใช้ของพระเจ้าทุกคน. เราทุกคนได้รับชีวิตด้วยการแสดงความเชื่อในพระคริสต์ โดยพยายามเต็มที่ในการกำจัดความปรารถนาที่ไม่ถูกต้องให้หมดไป และโดยดำเนินชีวิตประสานกับคำแนะนำของพระวิญญาณ.
16. เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า?
16 เราจะคาดหมายได้ไหมว่าพระเจ้าจะประทานพลังปฏิบัติการแก่เราโดยที่เราเองไม่พยายามเลย? ไม่ได้แน่ ๆ. นอกจากจะอธิษฐานขอพระวิญญาณแล้ว เราต้องเลี้ยงตัวเองด้วยพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจของพระเจ้าอย่างขยันขันแข็ง. (สุภา. 2:1-6) นอกจากนั้น พระวิญญาณของพระเจ้าอยู่กับประชาคมคริสเตียน. การเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราปรารถนาจะ “ฟังสิ่งซึ่งพระวิญญาณตรัสกับประชาคมทั้งหลาย.” (วิ. 3:6) ยิ่งกว่านั้น เราต้องถ่อมใจยอมรับสิ่งที่เราเรียนรู้. สุภาษิต 1:23 แนะนำเราว่า “เจ้าจงหันมาตามคำตักเตือนของเรา. นี่แน่ะ, เราจะเทวิญญาณของเราลงที่เจ้า.” จริงทีเดียว พระเจ้าประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ “แก่คนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์ในฐานะผู้มีอำนาจปกครอง.”—กิจ. 5:32
17. ผลกระทบจากการที่พระเจ้าอวยพรความพยายามของเราอาจเปรียบได้กับอะไร?
17 แม้ว่าจำเป็นต้องพยายามอย่างจริงจังเพื่อจะได้พระพรจากพระเจ้า แต่จำไว้ว่าเพียงแค่การพยายามอย่างหนักไม่อาจเป็นเหตุให้พระยะโฮวาประทานสิ่งดีอย่างอุดมบริบูรณ์แก่ประชาชนของพระองค์. ผลกระทบจากการที่พระองค์ทรงอวยพรความพยายามของเราอาจเปรียบได้กับวิธีที่ร่างกายเราได้รับประโยชน์จากอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ. พระเจ้าทรงสร้างร่างกายของเราอย่างที่ทำให้เราสามารถชื่นชมกับอาหารและได้รับการบำรุงที่จำเป็นจากอาหาร. พระองค์ทรงจัดเตรียมอาหารให้เราด้วย. เราไม่รู้รายละเอียดทุกอย่างว่ามีการผลิตสารต่าง ๆ ที่อยู่ในอาหารอย่างไร และเราส่วนใหญ่ไม่สามารถอธิบายว่าร่างกายเราผลิตพลังงานจากอาหารที่เรากินได้อย่างไร. เรารู้แต่เพียงว่ากระบวนการดังกล่าวทำงานได้ดีและเราก็ร่วมมือกับกระบวนการนั้นด้วยการกินอาหารเข้าไป. ถ้าเราเลือกกินอาหารที่บำรุงร่างกาย ผลที่ได้รับก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก. ในทำนองเดียวกัน พระยะโฮวาทรงวางข้อเรียกร้องไว้สำหรับการได้รับชีวิตนิรันดร์ และพระองค์ประทานความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เราเพื่อจะทำตามข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้. เห็นได้ชัด พระองค์ทรงช่วยเราอย่างมากและสมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญ. ถึงกระนั้น เพื่อจะได้รับพระพร เราต้องร่วมมือกับพระองค์โดยประพฤติสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์.—ฮาฆี 2:18, 19
18. คุณตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร และเพราะเหตุใด?
18 ดังนั้น จงเอาใจใส่งานมอบหมายทุกอย่างที่ได้รับ. จงหมายพึ่งพระยะโฮวาเสมอเพื่อจะประสบความสำเร็จ. (มโก. 11:23, 24) เมื่อคุณทำอย่างนั้นคุณมั่นใจได้เลยว่า “ทุกคนที่หาจะพบ.” (มัด. 7:8) คนที่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณจะได้รับพระพรโดยการรับ “มงกุฎแห่งชีวิต” ในสวรรค์. (ยโก. 1:12) “แกะอื่น” ของพระคริสต์ ซึ่งกำลังพยายามเพื่อจะได้รับพระพรโดยทางผู้สืบเชื้อสายของอับราฮาม จะยินดีที่ได้ยินพระองค์ตรัสว่า “มาเถิด เจ้าทั้งหลายซึ่งได้รับพรจากพระบิดาของเรา จงมารับราชอาณาจักรซึ่งเตรียมไว้ให้เจ้าตั้งแต่การวางรากของโลก.” (โย. 10:16; มัด. 25:34) ใช่แล้ว “คนที่ได้พระพรจากพระยะโฮวาจะได้แผ่นดินเป็นมฤดก . . . และจะอาศัยอยู่ที่นั่นต่อไปเป็นนิตย์.”—เพลง. 37:22, 29
คุณอธิบายได้ไหม?
• การเชื่อฟังที่แท้จริงเกี่ยวข้องกับอะไร?
• เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้พระพรจากพระเจ้า?
• เราอาจได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าได้อย่างไร และพระวิญญาณดำเนินกิจเพื่อประโยชน์ของเราได้อย่างไร?
[ภาพหน้า 9]
ยาโคบปล้ำสู้กับทูตสวรรค์ เพื่อจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวา
คุณพยายามอย่างจริงจังคล้าย ๆ กันไหม?
[ภาพหน้า 10]
พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าช่วยบะซาเลลและอาโฮลีอาบให้ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม