พระธรรมเล่มที่ 1—เยเนซิศ
ผู้เขียน: โมเซ
สถานที่เขียน: ถิ่นทุรกันดาร
เขียนเสร็จ: 1513 ก.ส.ศ.
ครอบคลุมระยะเวลา: “ในตอนเริ่มต้น” จนถึงปี 1657 ก.ส.ศ.
1. ในเยเนซิศกล่าวถึงเรื่องสำคัญ ๆ อะไรบ้าง?
ลองนึกภาพว่าคุณหยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งซึ่งมีเพียงห้าสิบบทสั้น ๆ และในหนึ่งหรือสองหน้าแรกคุณก็พบบันทึกที่ถูกต้องเพียงบันทึกเดียวเกี่ยวกับประวัติแรกสุดของมนุษย์และบันทึกที่แสดงถึงสัมพันธภาพของมนุษย์กับพระเจ้าพระผู้สร้างของตน อีกทั้งกับแผ่นดินโลกและสิ่งมีชีวิตนับไม่ถ้วนบนแผ่นดินโลก! ในไม่กี่หน้านี้คุณยังได้รับความหยั่งเห็นเข้าใจลึกซึ้งถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในการให้มนุษย์อยู่บนแผ่นดินโลก. เมื่อคุณอ่านต่ออีกหน่อย คุณก็ค้นพบสาเหตุที่มนุษย์ตายรวมทั้งสาเหตุที่มีสภาพการณ์ยากลำบากในปัจจุบัน และคุณยังได้รับความกระจ่างเกี่ยวด้วยพื้นฐานที่แท้จริงสำหรับความเชื่อและความหวัง กระทั่งเกี่ยวกับการระบุเครื่องมือที่พระองค์ทรงใช้เพื่อการช่วยให้รอด—นั่นคือพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญา. หนังสือน่าทึ่งซึ่งมีเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ได้แก่ เยเนซิศ เล่มแรกของพระธรรมหกสิบหกเล่มในคัมภีร์ไบเบิล.
2. ชื่อ “เยเนซิศ” หมายความว่าอะไร และเยเนซิศเป็นส่วนแรกของสิ่งใด?
2 “เยเนซิศ” หมายถึง “ตอนเริ่มต้น; การกำเนิด” ชื่อนี้มาจากพระคัมภีร์ฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ ของพระธรรมนี้. ในฉบับสำเนาต่าง ๆ ที่เป็นภาษาฮีบรูเรียกชื่อตามคำขึ้นต้นที่ว่า เบเรชิทʹ หมายถึง “ในตอนเริ่มต้น” (ภาษากรีก เอน อาร์คีʹ). เยเนซิศเป็นพระธรรมเล่มแรกในชุดเพนทาทุก (คำภาษากรีกที่เอามาใช้ในภาษาอังกฤษหมายถึง “ห้าม้วน” หรือ “ชุดห้าเล่ม”). ดูเหมือนในตอนแรกชุดนี้เป็นเล่มเดียวที่เรียกว่า โทราห์ (พระบัญญัติ) หรือ “หนังสือบัญญัติของโมเซ” แต่ภายหลังถูกแบ่งออกเป็นห้าม้วนเพื่อสะดวกแก่การใช้.—ยโฮ. 23:6, ล.ม.; เอษ. 6:18.
3. (ก) ใครเป็นผู้ประพันธ์พระธรรมเยเนซิศ แต่ใครเขียน? (ข) โมเซอาจได้รับข้อมูลที่ท่านรวมไว้ในเยเนซิศมาอย่างไร?
3 พระยะโฮวาพระเจ้าเป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ไบเบิล แต่พระองค์ทรงดลใจโมเซให้เขียนพระธรรมเยเนซิศ. โมเซได้ข้อมูลที่ท่านบันทึกในเยเนซิศจากไหน? บางส่วนท่านอาจได้รับโดยตรงโดยการเปิดเผยจากพระเจ้าและบางส่วนได้โดยการถ่ายทอดด้วยวาจาภายใต้การทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์. อาจเป็นไปได้เช่นกันว่า โมเซมีเอกสารที่บรรพชนเก็บรักษาไว้อันเป็นบันทึกล้ำค่าที่ทรงคุณประโยชน์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษยชาติ.a
4. (ก) โมเซเขียนเสร็จที่ไหนและเมื่อไร? (ข) โมเซอาจได้เนื้อหาที่ท่านรวมไว้ในส่วนท้ายของเยเนซิศมาโดยวิธีใด?
4 อาจเป็นได้ว่า โมเซซึ่งได้รับการดลใจได้เสร็จสิ้นงานเขียนของท่านในถิ่นทุรกันดารซีนายเมื่อปี 1513 ก.ส.ศ. (2 ติโม. 3:16; โย. 5:39, 46, 47) โมเซได้ข้อมูลสำหรับส่วนสุดท้ายของเยเนซิศจากที่ไหน? เนื่องจากเลวีทวดของโมเซเป็นพี่ชายร่วมบิดาของโยเซฟ รายละเอียดส่วนนี้คงเป็นที่รู้จักกันดีในครอบครัวของท่านเอง. ช่วงชีวิตของเลวีอาจคาบเกี่ยวกับช่วงชีวิตของอัมรามบิดาของโมเซด้วยซ้ำ. นอกจากนั้น พระวิญญาณของพระยะโฮวาย่อมรับรองการบันทึกที่ถูกต้องของพระคัมภีร์ส่วนนี้อีกด้วย.—เอ็ก. 6:16, 18, 20; อาฤ. 26:59.
5. หลักฐานอะไรในพระคัมภีร์พิสูจน์ว่าโมเซเป็นผู้เขียน?
5 ไม่มีข้อสงสัยว่าใครเขียนพระธรรมเยเนซิศ. คำกล่าวที่ว่า “หนังสือบัญญัติของโมเซ” และการอ้างอิงที่คล้ายกันถึงพระธรรมห้าเล่มแรกในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเยเนซิศเป็นหนึ่งในนั้น มีให้เห็นบ่อยครั้งนับตั้งแต่สมัยยะโฮซูอะผู้สืบตำแหน่งของโมเซเป็นต้นมา. แท้จริง มีการอ้างถึงโมเซประมาณ 200 ครั้งในพระธรรมยี่สิบเจ็ดเล่มที่เขียนหลังจากนั้น. พวกยิวไม่เคยสงสัยในเรื่องที่ว่าโมเซเป็นผู้เขียน. พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกกล่าวถึงโมเซหลายครั้งว่าเป็นผู้เขียน “[พระ] บัญญัติ” พระเยซูคริสต์เองเป็นพยานสำคัญในข้อนี้. โมเซได้เขียนตามพระบัญชาของพระยะโฮวาโดยตรงและภายใต้การดลใจจากพระองค์.—เอ็ก. 17:14; 34:27; ยโฮ. 8:31; ดานิ. 9:13; ลูกา 24:27, 44.
6. อะไรบ่งชี้ว่าการเขียนเริ่มขึ้นในตอนต้นประวัติศาสตร์มนุษย์?
6 พวกช่างสงสัยบางคนถามว่า โมเซและปู่ย่าตายายของท่านรู้จักเขียนหนังสือได้อย่างไร? การเขียนเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของมนุษย์ในสมัยหลังมิใช่หรือ? เห็นได้ชัดว่าการเขียนเริ่มขึ้นในตอนต้นประวัติศาสตร์มนุษย์ อาจก่อนมหาอุทกภัยในสมัยโนฮาซึ่งเกิดขึ้นในปี 2370 ก.ส.ศ. มีหลักฐานแสดงถึงความสามารถในการเขียนของมนุษย์ในตอนเริ่มแรกไหม? ถึงแม้เป็นความจริงที่ว่า นักโบราณคดีได้กำหนดอายุแผ่นดินเหนียวที่ตนขุดพบว่ามีอยู่ก่อนปี 2370 ก.ส.ศ. แต่วันเวลานั้นก็เป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น. อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าคัมภีร์ไบเบิลเผยให้เห็นชัดเจนว่า การสร้างเมืองต่าง ๆ, การพัฒนาเครื่องดนตรี, และการหลอมเครื่องมือโลหะเริ่มมีนานแล้วก่อนมหาอุทกภัย. (เย. 4:17, 21, 22) ดังนั้น จึงสมเหตุสมผลที่มนุษย์คงไม่ค่อยมีความยุ่งยากเท่าไรในการพัฒนาวิธีการเขียน.
7. มีหลักฐานอะไรของทางโลกที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกและที่เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์มนุษย์สามเชื้อสาย ดังมีพรรณนาในบันทึกของคัมภีร์ไบเบิล?
7 ในอีกหลายกรณี ปรากฏว่าเยเนซิศสอดคล้องลงรอยอย่างน่าทึ่งกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว. เฉพาะในเยเนซิศเท่านั้นที่มีบันทึกที่เป็นความจริงและตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหาอุทกภัยและผู้รอดชีวิต ถึงแม้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับมหาอุทกภัยและการที่มนุษย์รอดชีวิต (ในหลายกรณีเนื่องจากได้รับการคุ้มครองในเรือลำหนึ่ง) จะมีอยู่ในตำนานต่าง ๆ ของครอบครัวมนุษย์หลายเชื้อสาย. เรื่องราวในเยเนซิศยังบอกแหล่งที่อยู่ดั้งเดิมของมนุษยชาติเชื้อสายต่าง ๆ ซึ่งสืบวงศ์ตระกูลมาจากบุตรชายสามคนของโนฮาคือ เซม, ฮาม, และยาเฟธ.b ตามคำกล่าวของ ดร. เมลวิน จี. ไคล์ จากวิทยาลัยเทววิทยาซีเนียที่มิสซูรีในสหรัฐอเมริกา “ที่ว่าจากจุดศูนย์กลางแห่งหนึ่งในเมโสโปเตเมีย เชื้อสายของฮามได้ย้ายถิ่นฐานไปทางตะวันตกเฉียงใต้, เชื้อสายของยาเฟธไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ, และเชื้อสายของเซมไปทาง ‘ทิศตะวันออก’ ยัง ‘เมืองซีนาร’ เรื่องนี้ไม่มีใครโต้แย้งได้เลย.”c
8. มีหลักฐานอะไรอื่นอีกบ้างที่พิสูจน์ความน่าเชื่อถือของเยเนซิศ?
8 ความเชื่อถือได้ที่ว่าเยเนซิศเป็นส่วนแห่งบันทึกของพระเจ้านั้นเห็นได้เช่นกันจากความสอดคล้องกันภายใน อีกทั้งการที่พระธรรมนี้ลงรอยอย่างเต็มที่กับส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. ความตรงไปตรงมาสะท้อนถึงผู้เขียนที่เกรงกลัวพระยะโฮวาและรักความจริงและเขียนโดยไม่ลังเลใจเกี่ยวกับบาปของชาติยิศราเอลและคนที่เด่นในชาตินี้ด้วย. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความถูกต้องแม่นยำโดยตลอดของคำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริง ดังที่จะแสดงไว้ในตอนท้ายของบทนี้ ทำให้เยเนซิศเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เด่นแห่งหนังสือที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระยะโฮวาพระเจ้า.—เย. 9:20-23; 37:18-35; ฆลา. 3:8, 16.
เนื้อเรื่องในเยเนซิศ
9. (ก) เยเนซิศบทแรกบอกเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับการทรงสร้างของพระเจ้า? (ข) บทที่สองให้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับมนุษย์?
9 การทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก และการเตรียมแผ่นดินโลกให้มนุษย์อยู่อาศัย (1:1–2:25). เห็นได้ว่าย้อนไปในช่วงเวลาหลายพันล้านปี เยเนซิศเริ่มต้นด้วยถ้อยคำเรียบง่ายน่าประทับใจดังนี้: “ในตอนเริ่มต้นพระเจ้าได้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก.” (ล.ม.) ประโยคเริ่มต้นอันเต็มไปด้วยความหมายนี้ระบุว่า พระเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้างและสิ่งทรงสร้างที่เป็นวัตถุของพระองค์คือฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก. ด้วยถ้อยคำที่สง่างามและเลือกสรรอย่างดี บทแรกให้รายละเอียดทั่ว ๆ ไปในเรื่องงานทรงสร้างอันเกี่ยวข้องกับแผ่นดินโลก. งานนี้ได้สำเร็จเสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาหกช่วงที่เรียกว่าวัน แต่ละวันเริ่มในตอนเย็น ซึ่งเป็นตอนที่งานทรงสร้างสำหรับช่วงนั้นยังไม่ชัดแจ้ง และจบลงด้วยความสว่างในตอนเช้า เมื่อความสง่างามของงานทรงสร้างได้ปรากฏชัด. ใน “วัน” ต่าง ๆ ตามลำดับ ปรากฏมีแสงสว่าง; ชั้นบรรยากาศอันไพศาล; แผ่นดินแห้งและพืชพรรณ; ดวงสว่างที่แบ่งวันและคืน; ปลาและสัตว์ปีก; สัตว์บกและสุดท้ายก็มนุษย์. ณ ที่นี้พระเจ้าทำให้รู้ถึงกฎที่พระองค์วางไว้ควบคุมชนิดต่าง ๆ เป็นสิ่งกั้นขวางที่ผ่านไม่ได้ซึ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ที่ชนิดหนึ่งจะวิวัฒน์ไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง. โดยที่ทรงสร้างมนุษย์ตามแบบพระฉายของพระองค์ พระเจ้าทรงประกาศพระประสงค์สามประการสำหรับมนุษย์บนแผ่นดินโลก นั่นคือ: บรรจุแผ่นดินโลกให้เต็มไปด้วยลูกหลานที่ชอบธรรม, ดูแลควบคุมแผ่นดินโลก, และครอบครองสิ่งทรงสร้างที่เป็นสัตว์. พระยะโฮวาทรงอวยพร “วัน” ที่เจ็ดและประกาศให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ถึงตอนนี้พระองค์จึง ‘ทรงหยุดพักจากการงานทั้งปวงที่พระองค์ทรงทำ.’ เรื่องราวถัดจากนั้นให้ภาพระยะใกล้หรือที่ขยายชัดขึ้นในเรื่องงานทรงสร้างของพระเจ้าเกี่ยวกับมนุษย์. ตอนนี้พรรณนาถึงสวนเอเดนและที่ตั้งของสวน, กล่าวถึงกฎหมายของพระเจ้าเกี่ยวกับต้นไม้ต้องห้าม, บอกถึงการที่อาดามตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ แล้วจึงบอกเรื่องการสมรสรายแรกที่พระยะโฮวาทรงจัดขึ้นโดยสร้างภรรยาจากร่างกายของอาดามเองและพาไปให้อาดาม.
10. เยเนซิศชี้แจงอย่างไรในเรื่องที่มาของบาปและความตาย และในตอนนี้มีการแจ้งให้ทราบพระประสงค์สำคัญอะไร?
10 บาปและความตายเข้ามาในโลก; “พงศ์พันธุ์” ที่มีบอกไว้ล่วงหน้าว่าเป็นผู้ช่วยให้รอด (3:1–5:5). หญิงนั้นกินผลไม้ต้องห้ามแล้วชักชวนสามีให้ร่วมกับเธอในการขืนอำนาจ และดังนั้นสวนเอเดนจึงเป็นมลทินเนื่องจากการไม่เชื่อฟัง. ทันทีนั้นเองพระเจ้าทรงชี้ถึงแนวทางที่พระประสงค์ของพระองค์จะบรรลุความสำเร็จดังนี้: “พระยะโฮวาพระเจ้าจึงตรัสแก่งู [ซาตาน ผู้ยุยงให้กบฏซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา] ว่า “ . . . เราจะให้เจ้ากับหญิงและพงศ์พันธุ์ของเจ้ากับพงศ์พันธุ์ของนางเป็นศัตรูกัน. เขาจะบดขยี้หัวของเจ้าและเจ้าจะบดขยี้ส้นเท้าของเขา.” (3:14, 15, ล.ม.) มนุษย์ถูกขับออกจากสวนให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์และตรากตรำทำงานด้วยเหงื่อไหลไคลย้อยท่ามกลางต้นไม้ที่มีหนาม. ในที่สุด เขาต้องตายและกลับเป็นดินซึ่งเขาถูกสร้างขึ้นมา. เฉพาะลูกหลานของเขาเท่านั้นที่อาจมีความหวังในพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาได้.
11. ผลร้ายของบาปยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างไรภายนอกสวนเอเดน?
11 ผลร้ายของบาปยังคงมีต่อไปนอกสวนเอเดน. คายิน บุตรชายคนแรกที่เกิดมาได้กลายเป็นผู้ฆ่าเฮเบลน้องชายของตนซึ่งเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. พระยะโฮวาทรงเนรเทศคายินไปยังดินแดนแห่งการลี้ภัย ที่ซึ่งเขาให้กำเนิดลูกหลานซึ่งต่อมาภายหลังถูกกวาดล้างโดยมหาอุทกภัย. อาดามให้กำเนิดบุตรชายอีกคนหนึ่งชื่อ เซธ ซึ่งเป็นบิดาของฮะโนค; ช่วงเวลานี้เองที่มนุษย์เริ่มร้องออกพระนามพระยะโฮวาด้วยความหน้าซื่อใจคด. อาดามตายเมื่ออายุ 930 ปี.
12. แผ่นดินโลกถูกทำให้เสียหายอย่างไรในสมัยของโนฮา?
12 มนุษย์และทูตสวรรค์ที่ชั่วช้าทำให้แผ่นดินโลกเสียหาย; พระเจ้าทรงบันดาลมหาอุทกภัย (5:6–11:9). ตอนนี้บอกลำดับวงศ์ตระกูลของเซธ. ผู้ที่เด่นท่ามกลางลูกหลานของเซธคือฮะโนคซึ่งทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดย “ดำเนินกับพระเจ้า [“เที่ยงแท้,” ล.ม.].” (5:22) ชายที่มีความเชื่อเด่นคนต่อไปก็คือเหลนของฮะโนคชื่อโนฮา ซึ่งเกิดหลังจากการสร้างอาดาม 1,056 ปี. ในช่วงเวลานี้เองมีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งทำให้ความรุนแรงบนแผ่นดินโลกเพิ่มขึ้น. ทูตสวรรค์ของพระเจ้าได้ละทิ้งที่อยู่ทางภาคสวรรค์มาสมรสกับบุตรสาวที่สวยงามของมนุษย์. การอยู่กินโดยไม่ได้รับอนุญาตเช่นนี้ทำให้เกิดมนุษย์พันธุ์ผสมร่างยักษ์ที่เรียกกันว่าเนฟิลิม (หมายความว่า “ผู้โค่นล้ม”) ซึ่งสร้างชื่อเสียงแก่ตัวเอง ไม่ใช่แก่พระเจ้า. ดังนั้น พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่โนฮาว่า พระองค์จะกวาดล้างมนุษย์และสัตว์เนื่องจากความชั่วที่ไม่รู้จบสิ้นของมนุษยชาติ. โนฮาเท่านั้นเป็นที่พอพระทัยของพระยะโฮวา.
13. ตอนนี้พระยะโฮวาทรงทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยวิธีใด?
13 โนฮาให้กำเนิดเซม, ฮาม, และยาเฟธ. ขณะที่ความรุนแรงและการทำให้แผ่นดินโลกเสียหายดำเนินต่อไป พระยะโฮวาทรงเปิดเผยแก่โนฮาว่า พระองค์จะทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์โดยใช้น้ำท่วมใหญ่ และพระองค์ทรงบัญชาให้โนฮาสร้างนาวาเพื่อรักษาชีวิต โดยบอกรายละเอียดแบบแปลนก่อสร้างแก่ท่าน. โนฮาเชื่อฟังทันทีและรวบรวมแปดคนในครอบครัวตน พร้อมทั้งสัตว์และนกต่าง ๆ; แล้วในปีที่ 600 ในชีวิตท่าน (2370 ก.ส.ศ.) มหาอุทกภัยจึงเริ่มต้น. ฝนเทลงมาติดต่อกัน 40 วันจนท่วมเลยยอดเขาสูงทั้งหลายขึ้นไปถึง 15 ศอก (ประมาณ 7 เมตร). ในที่สุด พอหลังจากนั้นหนึ่งปี โนฮาก็สามารถนำครอบครัวของตนออกจากนาวา สิ่งแรกที่เขาทำก็คือ ถวายเครื่องบูชาครั้งใหญ่เพื่อขอบพระคุณพระยะโฮวา.
14. บัดนี้พระยะโฮวาทรงบัญชาและทำสัญญาไมตรีอะไร และในบั้นปลายชีวิตของโนฮาเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง?
14 ตอนนี้ พระยะโฮวาทรงอวยพรโนฮาและครอบครัวพร้อมทั้งบัญชาให้พวกเขาบรรจุแผ่นดินโลกให้เต็มด้วยลูกหลานของตน. พระเจ้าทรงออกกฎอนุญาตให้รับประทานเนื้อสัตว์ได้ แต่สั่งให้ละเว้นจากเลือดซึ่งเป็นจิตวิญญาณหรือชีวิตของเนื้อหนัง และทรงกำหนดให้ประหารชีวิตผู้ที่ฆ่าคน. สัญญาไมตรีของพระเจ้าที่จะไม่นำน้ำมาท่วมแผ่นดินโลกอีกได้รับการยืนยันด้วยการปรากฏของรุ้งบนท้องฟ้า. ต่อมา ฮามแสดงความไม่นับถือต่อโนฮาผู้พยากรณ์ของพระเจ้า. เมื่อทราบเรื่องนี้ โนฮาจึงแช่งสาปคะนาอันบุตรของฮาม แต่ท่านให้พรอีกโดยบอกว่า เซมจะได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษ และยาเฟธก็จะได้รับพรด้วย. โนฮาสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้ 950 ปี.
15. มนุษย์พยายามสร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ตนเองอย่างไร และพระยะโฮวาทรงขัดขวางความตั้งใจของพวกเขาอย่างไร?
15 ลูกชายทั้งสามของโนฮาปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าที่ให้เพิ่มทวีเผ่าพันธุ์ โดยให้กำเนิด 70 ครอบครัวซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์มนุษย์ปัจจุบัน. นิมโรดหลานชายของฮามไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในนั้น เห็นได้ว่าเพราะเขากลายเป็น “พรานผู้มีกำลังมากต่อต้านพระยะโฮวา.” (10:9, ล.ม.) เขาตั้งอาณาจักรหนึ่งขึ้นและเริ่มสร้างเมืองต่าง ๆ. สมัยนั้นทั้งแผ่นดินโลกมีภาษาเดียว. แทนที่จะกระจายไปอยู่อาศัยและเพาะปลูกทั่วแผ่นดินโลก ผู้คนกลับตัดสินใจที่จะสร้างเมืองหนึ่งขึ้นพร้อมทั้งหอที่มียอดสูงเสียดฟ้าเพื่อพวกเขาเองจะได้สร้างชื่อเสียงโด่งดัง. แต่พระยะโฮวาทรงขัดขวางความตั้งใจของพวกเขาโดยทำให้ภาษาของเขาสับสน และโดยวิธีนี้จึงทำให้พวกเขากระจัดกระจายไป. เมืองนั้นมีชื่อว่า บาเบล (หมายความว่า “ความสับสนวุ่นวาย”).
16. (ก) เหตุใดลำดับวงศ์ตระกูลของเซมจึงสำคัญ? (ข) เป็นไปอย่างไรที่อับรามถูกเรียกว่า “มิตรสหายของพระยะโฮวา” และท่านได้รับพระพรอะไรบ้าง?
16 การปฏิบัติของพระเจ้าต่ออับราฮาม (11:10–25:26). มีการสืบเสาะเรื่องเชื้อสายที่สำคัญตั้งแต่เซมถึงอับรามบุตรเธรา ซึ่งให้การเชื่อมโยงลำดับวันเดือนปีต่าง ๆ ด้วย. แทนที่จะแสวงหาชื่อเสียงให้ตนเอง อับรามแสดงความเชื่อในพระเจ้า. ท่านออกจากเมืองอูระในคัลเดียตามพระบัญชาของพระเจ้า และเมื่ออายุ 75 ปี จึงได้ข้ามแม่น้ำยูเฟรทิสมุ่งไปยังแผ่นดินคะนาอัน นมัสการออกพระนามของพระยะโฮวา. เนื่องด้วยความเชื่อและการเชื่อฟัง ท่านจึงถูกเรียกว่า “มิตรสหาย [ผู้เป็นที่รัก] ของพระยะโฮวา” และพระเจ้าทรงตั้งสัญญาไมตรีของพระองค์กับท่าน. (ยโก. 2:23, ล.ม.; 2 โคร. 20:7, ล.ม.; ยซา. 41:8) พระเจ้าทรงคุ้มครองอับรามและภรรยาระหว่างอยู่ในอียิปต์ช่วงสั้น ๆ. เมื่อกลับไปอยู่ที่คะนาอัน อับรามแสดงถึงความใจกว้างและรักสันติโดยยอมให้โลตผู้เป็นหลานชายและผู้ร่วมนมัสการเลือกเอาส่วนดีที่สุดของแผ่นดินนั้นไป. ต่อมา ท่านช่วยโลตจากกษัตริย์สี่องค์ที่จับโลตไป. ครั้นแล้ว ขณะกลับจากการสู้รบ อับรามพบมัลคีเซเด็ก กษัตริย์แห่งซาเลม ผู้ซึ่งในฐานะเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจึงอวยพรอับราม และอับรามถวายหนึ่งในสิบแก่มัลคีเซเด็ก.
17. พระเจ้าทรงขยายความสัญญาไมตรีของพระองค์อย่างไร และมีการเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพงศ์พันธุ์ของอับราฮาม?
17 ต่อมาพระเจ้าทรงปรากฏแก่อับราม ประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นโล่ปกป้องอับรามและขยายความสัญญาไมตรีของพระองค์โดยเปิดเผยว่า พงศ์พันธุ์ของอับรามจะมีจำนวนดุจดวงดาวบนท้องฟ้า. พระองค์ทรงแจ้งแก่อับรามว่า พงศ์พันธุ์ของท่านจะต้องทนทุกข์อยู่เป็นเวลา 400 ปี แต่พระเจ้าจะทรงช่วยให้รอด พร้อมกับลงโทษชาติที่ข่มเหง. เมื่ออับรามอายุได้ 85 ปี ซารายภรรยาของท่านซึ่งยังไม่มีบุตรได้ยกฮาฆารสาวใช้ชาวอียิปต์ให้ท่านเพื่อท่านจะมีบุตรกับนาง. ยิศมาเอลเกิดมาและถูกมองว่าคงจะเป็นทายาท. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงประสงค์ต่างออกไป. เมื่ออับรามอายุได้ 99 ปี พระยะโฮวาทรงเปลี่ยนชื่อท่านเป็นอับราฮาม เปลี่ยนชื่อซารายเป็นซารา และสัญญาว่าซาราจะมีบุตรชาย. พระเจ้าทรงประทานสัญญาไมตรีเกี่ยวกับพิธีสุหนัตแก่อับราฮาม และท่านให้คนในครัวเรือนของท่านรับสุหนัตทันที.
18. เหตุการณ์อะไรเป็นเรื่องเด่นที่สุดในชีวิตของโลต?
18 ตอนนี้ พระเจ้าทรงแจ้งให้อับราฮามสหายของพระองค์ทราบถึงความตั้งพระทัยจะทำลายเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์เนื่องจากการบาปหนักหนาของชาวเมืองนั้น. ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาเตือนโลตและช่วยท่านกับภรรยารวมทั้งลูกสาวสองคนให้หนีจากเมืองโซโดม. แต่ภรรยาของโลตซึ่งมัวรีรอหันไปดูสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังจึงกลายเป็นเสาเกลือ. เพื่อให้มีบุตรสืบตระกูล ลูกสาวของโลตสองคนจึงมอมเหล้าองุ่นบิดา และด้วยการสมสู่กับบิดาพวกนางจึงกำเนิดบุตรสองคน ซึ่งมาเป็นบิดาของชนชาติโมอาบกับอัมโมน.
19. อับราฮามรับการทดสอบอะไรซึ่งเกี่ยวข้องกับพงศ์พันธุ์ได้อย่างประสบผลสำเร็จ และพระยะโฮวาทรงเปิดเผยอะไรเพิ่มเติมเมื่อทรงยืนยันคำสัญญาของพระองค์?
19 พระเจ้าทรงปกป้องนางซาราไม่ให้เป็นมลทินเนื่องด้วยอะบีเมเล็กแห่งชาวฟะลิศตีม. ยิศฮาค ทายาทตามคำสัญญาได้กำเนิดเมื่ออับราฮามอายุ 100 ปี และซาราประมาณ 90 ปี. หลังจากนั้นราวห้าปี ยิศมาเอลซึ่งมีอายุ 19 ปี พูดเยาะเย้ยยิศฮาคผู้เป็นทายาท ซึ่งยังผลให้นางฮาฆารกับยิศมาเอลถูกขับไล่ด้วยความเห็นชอบจากพระเจ้า. หลายปีต่อมา พระเจ้าทรงทดสอบอับราฮามโดยบัญชาให้ท่านถวายยิศฮาคบุตรของตนเป็นเครื่องบูชาบนภูเขาลูกหนึ่งแห่งโมรียา. ความเชื่ออันยิ่งใหญ่ที่อับราฮามมีในพระยะโฮวาไม่สั่นคลอน. ท่านตั้งใจจะถวายผู้ที่เป็นทั้งบุตรและทายาท แต่พระยะโฮวาทรงยับยั้งไว้และจัดเตรียมแกะตัวผู้ให้เป็นเครื่องบูชาแทน. อีกครั้งหนึ่ง พระยะโฮวาทรงยืนยันถึงคำมั่นสัญญาของพระองค์กับอับราฮามโดยตรัสว่า พระองค์จะทรงให้พงศ์พันธุ์ของอับราฮามเพิ่มจำนวนขึ้นให้มากดุจดวงดาวบนท้องฟ้าและดุจเม็ดทรายตามชายทะเล. พระองค์ทรงเผยให้ทราบว่า พงศ์พันธุ์นี้จะยึดประตูเมืองของข้าศึกและทุกชาติบนแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้รับพระพรอย่างแน่นอนโดยทางพงศ์พันธุ์นั้น.
20. อับราฮามได้แสดงความรอบคอบอย่างไรในการหาภรรยาให้ยิศฮาค และท่านทำให้ยิศฮาคเป็นทายาทคนเดียวโดยวิธีใด?
20 นางซาราสิ้นชีพเมื่ออายุได้ 127 ปี และถูกฝังในทุ่งซึ่งอับราฮามซื้อจากบุตรหลานของเฮธ. ตอนนี้อับราฮามส่งคนต้นเรือนไปหาภรรยาให้ยิศฮาคจากประเทศของญาติพี่น้องของตน. พระยะโฮวาทรงนำทางคนรับใช้นั้นให้ไปยังครอบครัวบะธูเอลบุตรนาโฮร และได้มีการตระเตรียมให้ริบะคากลับไปพร้อมกับเขา. ริบะคาไปด้วยความเต็มใจพร้อมกับคำอวยพรจากครอบครัวของนางและมาเป็นเจ้าสาวของยิศฮาค. ส่วนอับราฮามมีภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อคะตูราซึ่งให้กำเนิดบุตรชายแก่ท่านหกคน. อย่างไรก็ดี ท่านได้ให้ทรัพย์สมบัติแก่บุตรเหล่านี้และส่งพวกเขาออกไป และให้ยิศฮาคเป็นทายาทของท่านแต่ผู้เดียว. แล้วเมื่ออายุ 175 ปี อับราฮามก็สิ้นชีวิต.
21. ยิศฮาคกับริบะคามีบุตรชายฝาแฝดได้อย่างไร?
21 ดังที่พระยะโฮวาทรงบอกไว้ล่วงหน้า ยิศมาเอลพี่ชายร่วมบิดาของยิศฮาคมาเป็นต้นตระกูลของชนชาติใหญ่ โดยมีบุตรสิบสองคนของเขาเป็นหัวหน้าตระกูลต่าง ๆ. เป็นเวลา 20 ปีที่ริบะคาเป็นหมัน แต่ยิศฮาคอ้อนวอนพระยะโฮวาอย่างไม่ลดละ และนางให้กำเนิดบุตรฝาแฝดคือเอซาวกับยาโคบ ซึ่งพระยะโฮวาเคยบอกนางไว้ว่าพี่ชายจะรับใช้น้องชาย. ตอนนี้ยิศฮาคอายุได้ 60 ปี.
22. เอซาวและยาโคบมองดูสัญญาไมตรีที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮามอย่างไร และทั้งนี้มีผลประการใด?
22 ยาโคบกับบุตร 12 คน (25:27–37:1). เอซาวโตขึ้นเป็นคนชอบล่าสัตว์. เนื่องด้วยไม่หยั่งรู้ค่าสัญญาไมตรีกับอับราฮาม วันหนึ่งเขากลับจากล่าสัตว์และขายสิทธิบุตรหัวปีให้กับยาโคบโดยแลกกับอาหารเพียงคำเดียว. เอซาวยังแต่งงานกับผู้หญิงชาวเฮธสองคน (และหลังจากนั้นกับหญิงชาวยิศมาเอลด้วย) ซึ่งเป็นผู้ทำให้บิดามารดารู้สึกขมขื่น. ด้วยความช่วยเหลือจากมารดา ยาโคบปลอมตัวเป็นเอซาวเพื่อที่จะได้พรของบุตรหัวปี. เอซาวซึ่งไม่ได้เปิดเผยให้ยิศฮาครู้ว่าเขาได้ขายสิทธิบุตรหัวปีไปแล้ว ตอนนี้วางแผนจะฆ่ายาโคบเมื่อรู้ว่ายาโคบได้ทำอะไรไป ดังนั้น ริบะคาจึงแนะนำให้ยาโคบหนีไปหาลาบานพี่ชายของนางที่เมืองฮาราน. ก่อนยาโคบจากไป ยิศฮาคให้พรท่านอีกครั้งและสั่งให้หาภรรยา ไม่ใช่หญิงนอกศาสนา แต่ให้หาจากครัวเรือนฝ่ายมารดาของท่าน. ที่เบธเอล ระหว่างเดินทางไปฮาราน ท่านเห็นพระยะโฮวาในความฝัน พระองค์ทรงยืนยันคำสัญญาที่พระองค์ทำเกี่ยวกับท่าน.
23. (ก) ยาโคบมีบุตรชายถึง 12 คนได้อย่างไร? (ข) ทำไมรูเบ็นสูญเสียสิทธิบุตรหัวปี?
23 ที่ฮาราน ยาโคบทำงานให้ลาบานและแต่งงานกับเลอาและราเฮลบุตรสาวสองคนของลาบาน. แม้ว่าที่ยาโคบมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนเนื่องจากอุบายของลาบาน พระเจ้าก็ทรงอวยพรการสมรสนั้นโดยให้ยาโคบมีบุตรชาย 12 คนและบุตรสาวหนึ่งคนจากภรรยาทั้งสองและสาวใช้อีกสองคนของพวกนางชื่อซีละพาและบีละฮา. พระเจ้าทรงดูแลให้ฝูงสัตว์ของยาโคบเพิ่มขึ้นอย่างมากแล้วสั่งให้ยาโคบกลับไปยังดินแดนบรรพบุรุษของตน. ลาบานไล่ตามไป แต่เขาทั้งสองทำสัญญาไมตรีกันในที่ซึ่งเรียกว่า ฆาเลดและหอสังเกตการณ์ (ภาษาฮีบรู ฮามมิตสพาʹ). เมื่อยาโคบเดินทางต่อไป ยาโคบได้รับการรับรองจากทูตสวรรค์และตอนกลางคืนยาโคบปล้ำสู้กับทูตสวรรค์องค์หนึ่งผู้ซึ่งในที่สุดก็อวยพรท่านและเปลี่ยนชื่อท่านจากยาโคบเป็นยิศราเอล. ยาโคบพบปะเจรจาอย่างสันติกับเอซาวแล้วเดินทางไปยังเซเค็ม. ที่นี่เองดีนาบุตรสาวของท่านถูกลูกชายเจ้าเมืองฮีวีข่มขืน. ซีโมนและเลวีพี่ชายของเธอจึงแก้แค้นโดยฆ่าพวกผู้ชายในเมืองเซเค็ม. การนี้ทำให้ยาโคบไม่พอใจเพราะทำให้ท่านซึ่งเป็นตัวแทนของพระยะโฮวามีชื่อเสียงไม่ดีในดินแดนนั้น. พระเจ้าทรงบอกให้ยาโคบไปยังเบธเอลเพื่อสร้างแท่นบูชาที่นั่น. ระหว่างเดินทางออกจากเบธเอล ราเฮลตายขณะคลอดเบนยามินบุตรชายคนที่สิบสองของยาโคบ. รูเบ็นข่มขืนสาวใช้ของราเฮ็ลชื่อบีละฮาซึ่งเป็นมารดาของบุตรชายสองคนของยาโคบ และด้วยเหตุนี้ เขาจึงเสียสิทธิบุตรหัวปี. หลังจากนั้นไม่นานยิศฮาคก็เสียชีวิตเมื่ออายุ 180 ปี แล้วเอซาวกับยาโคบฝังศพท่าน.
24. เพราะเหตุใดเอซาวกับครัวเรือนของท่านจึงย้ายไปอยู่แถบภูเขาเซอีร?
24 เอซาวกับครัวเรือนของเขาย้ายไปยังแถบภูเขาเซอีร เนื่องจากทรัพย์สมบัติของเอซาวและยาโคบได้เพิ่มมากขึ้นจนทั้งสองอยู่ด้วยกันไม่ได้อีกต่อไป. มีการให้รายชื่อลูกหลานของเอซาวรวมทั้งพวกเจ้านายและกษัตริย์องค์ต่าง ๆ ของอะโดม. ส่วนยาโคบยังอยู่ที่คะนาอันต่อไป.
25. เหตุการณ์อะไรบ้างทำให้โยเซฟกลายเป็นทาสในอียิปต์?
25 ไปยังอียิปต์เพื่อรักษาชีวิตไว้ (37:2–50:26). เนื่องด้วยความโปรดปรานของพระยะโฮวาและความฝันที่พระองค์ทรงบันดาลแก่โยเซฟ พี่ชายทั้งหลายจึงชังโยเซฟ. พวกเขาวางแผนฆ่าโยเซฟ แต่แล้วขายโยเซฟให้กับพ่อค้าชาวยิศมาเอลที่เดินทางผ่านมาแทน. พวกพี่ชายเอาเสื้อของโยเซฟจุ่มเลือดแพะแล้วเอาไปให้ยาโคบดูเพื่อเป็นหลักฐานว่าเด็กหนุ่มอายุ 17 ปีผู้นั้นได้ถูกสัตว์ร้ายฆ่า. โยเซฟถูกพาไปอียิปต์และขายให้โพติฟา หัวหน้าราชองครักษ์ของฟาโรห์.
26. ทำไมเรื่องราวการกำเนิดของเพเร็ศจึงสำคัญ?
26 บท 38 เปลี่ยนเรื่องไปชั่วขณะหนึ่งเพื่อบอกเรื่องการกำเนิดของเพเร็ศ (เฟเร็ธ) จากนางธามารผู้ใช้กลอุบายทำให้ยูดาพ่อผัวมีเพศสัมพันธ์กับตน ซึ่งที่จริงเป็นพันธะของบุตรชายของยูดา. เรื่องราวในตอนนี้เน้นอีกครั้งว่า พระคัมภีร์บันทึกเหตุการณ์แต่ละอย่างซึ่งนำไปสู่การกำเนิดของพงศ์พันธุ์แห่งคำทรงสัญญาไว้อย่างละเอียด. เพเร็ศบุตรชายของยูดาได้เป็นบรรพบุรุษคนหนึ่งของพระเยซู.—ลูกา 3:23, 33.
27. โยเซฟกลายเป็นนายกรัฐมนตรีของอียิปต์โดยวิธีใด?
27 ในระหว่างนั้น พระยะโฮวาทรงอวยพรแก่โยเซฟซึ่งอยู่ในอียิปต์ และโยเซฟได้มีตำแหน่งสูงในบ้านของโพติฟา. แต่แล้ว ก็เกิดเรื่องยุ่งยากกับท่านเมื่อท่านไม่ยอมทำให้พระนามของพระเจ้าเสื่อมเสียด้วยการทำผิดประเวณีกับภรรยาโพติฟา ท่านจึงถูกให้ร้ายและถูกจำคุก. ที่นั่น พระยะโฮวาทรงใช้ท่านให้แก้ฝันของเพื่อนนักโทษสองคนซึ่งเป็นพนักงานรินเหล้าองุ่นถวายและพนักงานเครื่องเสวยของฟาโรห์. ต่อมา เมื่อฟาโรห์ทรงสุบินซึ่งทำให้พระองค์กังวลมาก มีคนทูลให้ฟาโรห์ทราบถึงความสามารถของโยเซฟ ท่านจึงถูกนำตัวออกจากคุกมาเฝ้าฟาโรห์โดยด่วน. โดยถวายเกียรติแด่พระเจ้า โยเซฟแก้ฝันว่านั่นเป็นการบอกล่วงหน้าถึงเจ็ดปีที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งจะติดตามด้วยเจ็ดปีที่กันดารอาหาร. ฟาโรห์ยอมรับว่า ‘พระวิญญาณของพระเจ้า’ อยู่กับโยเซฟและแต่งตั้งโยเซฟให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการกับสถานการณ์นั้น. (เย. 41:38) โยเซฟซึ่งตอนนั้นอายุ 30 ปีบริหารงานอย่างชาญฉลาดโดยสะสมอาหารในช่วงเจ็ดปีที่อุดมสมบูรณ์. ครั้นแล้วช่วงที่มีการขาดแคลนอาหารทั่วโลก ท่านขายธัญญาหารแก่ประชาชนชาวอียิปต์และแก่คนชาติอื่นที่มาซื้ออาหารที่อียิปต์ด้วย.
28. เหตุการณ์อะไรบ้างนำไปสู่การย้ายครัวเรือนของยาโคบไปอยู่อียิปต์?
28 ในที่สุด ยาโคบส่งบุตรชายสิบคนไปซื้อข้าวที่อียิปต์. โยเซฟจำพวกเขาได้ แต่พวกเขาจำโยเซฟไม่ได้. โยเซฟยึดซีโมนไว้เป็นตัวประกันและสั่งให้พวกเขาพาน้องชายคนสุดท้องมาด้วยเมื่อเดินทางมาซื้อข้าวครั้งต่อไป. เมื่อพี่ชายทั้งเก้าคนมาพร้อมกับเบนยามิน โยเซฟจึงเปิดเผยตัวเอง ให้อภัยความผิดของพี่ชายสิบคน แล้วสั่งพวกเขาให้พายาโคบย้ายมาอยู่อียิปต์เพื่อสวัสดิภาพของพวกเขาในช่วงกันดารอาหาร. ฉะนั้น ยาโคบพร้อมด้วยลูกหลานหกสิบหกคนจึงย้ายไปอยู่ที่อียิปต์. ฟาโรห์ทรงประทานที่ดินส่วนที่ดีที่สุดคือแผ่นดินโฆเซนให้พวกเขาอยู่.
29. ยาโคบได้บอกถึงชุดคำพยากรณ์สำคัญอะไรขณะที่ท่านใกล้จะสิ้นชีวิต?
29 เมื่อยาโคบใกล้สิ้นชีวิต ท่านอวยพรแก่เอฟรายิมและมะนาเซบุตรของโยเซฟ แล้วเรียกให้บุตร 12 คนของท่านเองมารวมกันเพื่อบอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา “ในเวลาภายหน้า.” (49:1) ตอนนี้เองที่ท่านแจ้งคำพยากรณ์ชุดหนึ่งอย่างละเอียดซึ่งคำพยากรณ์ทุกข้อได้สำเร็จเป็นจริงมาแล้วอย่างน่าทึ่ง.d ในคำพยากรณ์ชุดนี้ท่านบอกล่วงหน้าว่า ไม้ธารพระกรแห่งการปกครองจะอยู่กับตระกูลของยูดาจนกว่าซีโล (หมายความว่า “ท่านผู้มีสิทธิ์”) คือพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาจะมา. หลังจากอวยพรแก่หัวหน้าสิบสองตระกูลและสั่งเสียเกี่ยวกับการฝังศพของท่านในแผ่นดินแห่งคำสัญญาแล้ว ยาโคบจึงสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 147 ปี. โยเซฟยังคงดูแลเอาใจใส่พวกพี่ชายและครัวเรือนของพวกเขาต่อไปจนกระทั่งท่านเองสิ้นชีวิตเมื่ออายุ 110 ปี ตอนนี้เองท่านได้กล่าวถึงความเชื่อของตนที่ว่า พระเจ้าจะทรงนำพวกยิศราเอลให้กลับไปยังดินแดนของพวกเขาอีกและขอให้นำกระดูกของตนไปยังแผ่นดินแห่งคำสัญญาด้วย.
เหตุที่เป็นประโยชน์
30. (ก) เยเนซิศให้พื้นฐานอะไรไว้สำหรับความเข้าใจพระธรรมเล่มหลัง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล? (ข) เยเนซิศชี้ไปยังเป้าหมายที่ถูกต้องอะไร?
30 เพราะเป็นตอนเริ่มต้นของพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า เยเนซิศจึงเป็นประโยชน์อย่างประมาณค่ามิได้ในการแนะนำพระประสงค์อันรุ่งโรจน์ของพระยะโฮวาพระเจ้า. เยเนซิศให้พื้นฐานที่ดีจริง ๆ สำหรับความเข้าใจพระธรรมเล่มหลัง ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล! พูดอย่างกว้าง ๆ เยเนซิศพรรณนาตอนเริ่มต้นและตอนสิ้นสุดของโลกอันชอบธรรมในสวนเอเดน, การก่อตัวของโลกยุคแรกแห่งคนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าและภัยพิบัติที่มากวาดล้าง รวมทั้งการเริ่มต้นของโลกชั่วยุคปัจจุบัน. ที่เด่นก็คือ เยเนซิศกำหนดสาระสำคัญสำหรับพระคัมภีร์ทั้งเล่ม ซึ่งก็คือการพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาเป็นฝ่ายถูกโดยทางราชอาณาจักรซึ่งปกครองโดย “พงศ์พันธุ์” ตามคำสัญญา. เยเนซิศบอกสาเหตุที่มนุษย์ต้องตาย. ตั้งแต่เยเนซิศ 3:15 เป็นต้นไป—โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบันทึกเกี่ยวกับการปฏิบัติของพระเจ้าต่ออับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบ—เยเนซิศเสนอความหวังเรื่องชีวิตในโลกใหม่ภายใต้ราชอาณาจักรของพงศ์พันธุ์. เยเนซิศเป็นประโยชน์ในการชี้ให้เห็นเป้าหมายที่ถูกต้องสำหรับมนุษยชาติทั้งสิ้น—คือเป็นผู้รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงและเป็นผู้ทำให้พระนามพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—โรม 5:12, 18; เฮ็บ. 11:3-22, 39, 40; 12:1; มัด. 22:31, 32.
31. โดยใช้แผนภูมิที่ให้ไว้ จงแสดงว่าเยเนซิศมี (ก) คำพยากรณ์ที่สำคัญ ๆ และ (ข) หลักการที่ทรงคุณค่า.
31 พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญทุกอย่างรวมทั้งบุคคลเด่น ๆ ทุกคนที่มีบันทึกในเยเนซิศ. ยิ่งกว่านั้น ดังที่แสดงไว้โดยตลอดในพระคัมภีร์ คำพยากรณ์ต่าง ๆ ที่บันทึกไว้ในเยเนซิศสำเร็จเป็นจริงอย่างไม่ผิดพลาด. คำพยากรณ์หนึ่งคือ “สี่ร้อยปี” แห่งความลำบากของพงศ์พันธุ์อับราฮาม เริ่มต้นเมื่อยิศมาเอลพูดเยาะเย้ยยิศฮาคในปี 1913 ก.ส.ศ. และสิ้นสุดด้วยการช่วยให้รอดจากอียิปต์ในปี 1513 ก.ส.ศ.e (เย. 15:13) ตัวอย่างคำพยากรณ์สำคัญอื่น ๆ และความสำเร็จเป็นจริงมีแสดงไว้ในแผนภูมิของส่วนนี้. นอกจากนั้น ที่มีประโยชน์มากมายในการเสริมความเชื่อและความเข้าใจคือหลักการของพระเจ้าที่มีกล่าวเป็นครั้งแรกในเยเนซิศ. ผู้พยากรณ์สมัยโบราณ เช่นเดียวกับพระเยซูและสาวกของพระองค์ ต่างอ้างถึงและใช้ข้อความจากพระธรรมเยเนซิศบ่อยครั้ง. เราควรทำตามตัวอย่างของพวกเขา และการศึกษาจากแผนภูมิในส่วนนี้น่าจะช่วยในเรื่องนี้.
32. ข้อมูลสำคัญอะไรที่เยเนซิศมีบันทึกไว้ในเรื่องการสมรส, ลำดับวงศ์ตระกูล, และการคำนวณเวลา?
32 เยเนซิศเปิดเผยชัดเจนมากในเรื่องพระทัยประสงค์และจุดประสงค์ของพระเจ้าเรื่องการสมรส, ความสัมพันธ์อย่างถูกต้องระหว่างสามีภรรยา, และหลักการเรื่องการเป็นประมุขและการฝึกอบรมในครอบครัว. พระเยซูเองทรงใช้รายละเอียดดังกล่าวโดยยกข้อความจากเยเนซิศสองบทแรกมากล่าวในคำตรัสตอนหนึ่งของพระองค์ที่ว่า “พวกท่านไม่ได้อ่านหรือว่า, พระผู้ทรงสร้างมนุษย์แต่เดิมได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง, และตรัสว่า, ‘เพราะเหตุนั้นบุรุษจึงต้องละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา, และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน’?” (มัด. 19:4, 5; เย. 1:27; 2:24) บันทึกในเยเนซิศสำคัญยิ่งในการให้ลำดับวงศ์ตระกูลครอบครัวมนุษย์และในการคำนวณเวลาที่มนุษย์อยู่บนแผ่นดินโลกด้วย.—เย. บท 5, 7, 10, 11.
33. จงบอกหลักการและกิจปฏิบัติบางอย่างในสังคมต้นตระกูลซึ่งสำคัญต่อการเข้าใจคัมภีร์ไบเบิล.
33 นอกจากนั้น ผลประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับนักศึกษาพระคัมภีร์คือการศึกษาเรื่องสังคมที่ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งเยเนซิศให้ไว้. สังคมแบบนี้เป็นรูปแบบชุมชนที่ปกครองแบบครอบครัวซึ่งดำเนินการท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้าตั้งแต่สมัยโนฮาจนกระทั่งมีการประทานพระบัญญัติ ณ ภูเขาซีนาย. รายละเอียดหลายอย่างที่อยู่ในสัญญาไมตรีโดยพระบัญญัติมีการปฏิบัติอยู่แล้วในสังคมแบบนี้. หลักการต่าง ๆ เช่น การที่ชุมชนร่วมกันรับพร (18:32), ความรับผิดชอบร่วมของชุมชน (19:15), โทษประหารชีวิต รวมทั้งความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดและชีวิต (9:4-6), และการที่พระเจ้าเกลียดชังการยกย่องมนุษย์ (11:4-8) ได้ส่งผลกระทบมนุษย์ตลอดประวัติศาสตร์. การปฏิบัติและสำนวนทางกฎหมายหลายอย่างช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์หลังจากนั้นมา จนกระทั่งสมัยพระเยซู. กฎหมายของสังคมต้นตระกูลที่ควบคุมการอารักขาบุคคลและทรัพย์สิน (เย. 31:38, 39; 37:29-33; โย. 10:11, 15; 17:12; 18:9) และวิธีโอนทรัพย์สิน (เย. 23:3-18), รวมทั้งกฎหมายควบคุมการรับมรดกของคนที่ได้รับสิทธิบุตรหัวปี (48:22) ต่างก็เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ถ้าเราจะรู้เรื่องภูมิหลังซึ่งจำเป็นเพื่อได้รับความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล. กิจปฏิบัติอื่น ๆ ในสังคมต้นตระกูลที่รวมอยู่ในพระบัญญัติก็คือ เครื่องบูชาชนิดต่าง ๆ, การทำสุหนัต (ซึ่งให้ไว้เป็นครั้งแรกกับอับราฮาม), การทำสัญญาไมตรี, การสมรสกับน้องเขย (38:8, 11, 26), และการปฏิญาณเพื่อยืนยันเรื่องใดเรื่องหนึ่ง.—22:16; 24:3.f
34. บทเรียนอะไรบ้างที่ทรงคุณค่าต่อคริสเตียนซึ่งจะเรียนรู้ได้จากการศึกษาเยเนซิศ?
34 เยเนซิศ พระธรรมเล่มแรกในคัมภีร์ไบเบิลให้บทเรียนมากมายเรื่องความซื่อสัตย์มั่นคง, ความเชื่อ, ความสัตย์ซื่อ, ความเชื่อฟัง, ความนับถือ, มารยาทที่ดี, และความกล้าหาญ. นี่เป็นเพียงบางตัวอย่าง: ความเชื่อและความกล้าหาญของฮะโนคในการดำเนินกับพระเจ้าขณะเผชิญศัตรูที่โหดเหี้ยม; ความชอบธรรม, การปราศจากข้อผิดพลาด, และการเชื่อฟังอย่างไม่สงสัยของโนฮา; ความเชื่อของอับราฮาม, ความแน่วแน่, และความเพียรอดทน, ความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัว และผู้สอนพระบัญชาของพระเจ้าแก่บุตรของตน, ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ, และความรักของท่าน; การที่ซารายอมอยู่ใต้อำนาจสามีผู้เป็นประมุขและความขยันขันแข็งของนาง; ความอ่อนโยนของยาโคบและความห่วงใยที่ท่านมีต่อคำสัญญาของพระเจ้า; ความเชื่อฟังที่โยเซฟมีต่อบิดา, ความซื่อตรงทางศีลธรรม, ความกล้าหาญ, ความประพฤติที่ดีขณะอยู่ในคุก, ความนับถือต่ออำนาจที่สูงกว่า, ความถ่อมในการถวายเกียรติแด่พระเจ้า, และการให้อภัยด้วยความเมตตาต่อพวกพี่ชาย; ความปรารถนาอันแรงกล้าของบรรดาคนเหล่านี้ที่จะทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ลักษณะนิสัยอันเป็นแบบอย่างเหล่านี้ปรากฏเด่นในชีวิตของผู้ที่ดำเนินกับพระเจ้าระหว่างระยะเวลาที่ยาวนานถึง 2,369 ปีนับแต่การสร้างอาดามจนถึงความตายของโยเซฟ ดังที่มีบันทึกในพระธรรมเยเนซิศ.
35. ในการเสริมสร้างความเชื่อ เยเนซิศชี้ไปยังสิ่งใด?
35 จริงทีเดียว เรื่องราวในเยเนซิศเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความเชื่อ โดยให้ตัวอย่างยอดเยี่ยมในด้านความเชื่อ คือคุณสมบัติที่ผ่านการทดสอบแล้วของความเชื่อซึ่งแสวงหาเมืองที่พระเจ้าทรงก่อและสร้างขึ้น คือรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งพระองค์เริ่มเตรียมไว้นานแล้วโดยทางพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญา ผู้นำหน้าในการทำให้พระนามอันใหญ่ยิ่งของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.—เฮ็บ. 11:8, 10, 16.
[เชิงอรรถ]
a การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 919-920; เล่ม 2 หน้า 1212.
b การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 328-329.
c ประวัติศาสตร์ในคัมภีร์ไบเบิลตามการค้นพบทางโบราณคดี (ภาษาอังกฤษ) 1934 ดี. อี. ฮาร์ต-เดวีส์ หน้า 5.
d หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) 1962 หน้า 360-374, 392-408.
e การหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 1 หน้า 460-461, 776.
f หอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) 1952 หน้า 432-445.
[แผนภูมิหน้า 21]
เยเนซิศ—มีขึ้นโดยการดลใจและเป็นประโยชน์
ข้อคัมภีร์ใน หลักการ อ้างอิงโดย
เยเนซิศ ผู้เขียนคนอื่น
1:27; 2:24 ความศักดิ์สิทธิ์, มัด. 19:4, 5
ความถาวรของสายสมรส
2:7 มนุษย์เป็นจิตวิญญาณ 1 โก. 15:45
2:22, 23 ตำแหน่งประมุข 1 ติโม. 2:13;
9:4 ความศักดิ์สิทธิ์ของเลือด กิจ. 15:20, 29
20:3 การเล่นชู้ผิด 1 โก. 6:9
24:3; 28:1-8 สมรสกับผู้เชื่อถือเท่านั้น 1 โก. 7:39
28:7 การเชื่อฟังบิดามารดา เอเฟ. 6:1
คำพยากรณ์ที่สำเร็จเป็นจริงและคำกล่าวเชิงพยากรณ์ที่คล้ายคลึงกัน
12:1-3; การระบุตัวพงศ์พันธุ์ ฆลา. 3:16, 29
22:15-18 ของอับราฮาม
14:18 มัลคีเซเด็กเป็นภาพเล็งถึงพระคริสต์ เฮ็บ. 7:13-15
16:1-4, 15 ความหมายของซารา, ฆลา. 4:21-31
ฮาฆาร, ยิศมาเอล, ยิศฮาค
17:11 ความหมายของการรับสุหนัต โรม 2:29
49:1-28 พรที่ยาโคบให้ ยโฮ. 14:1–21:45
แก่ 12 ตระกูล
49:9 สิงโตแห่งตระกูลยูดา วิ. 5:5
ข้ออื่น ๆ ที่ผู้พยากรณ์, พระเยซู, และสาวกใช้—ในอุทาหรณ์, ในคำอธิบาย, หรือเป็นตัวอย่าง—ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นมากขึ้นถึงความน่าเชื่อถือของพระธรรมเยเนซิศ
1:1 พระเจ้าทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก ยซา. 45:18; วิ. 10:6
1:26 มนุษย์ถูกสร้างตามแบบพระฉายของพระเจ้า 1 โก. 11:7
1:27 มนุษย์ถูกสร้างเป็นชายและหญิง มัด. 19:4; มโก. 10:6
2:2 พระเจ้าหยุดพักในวันที่เจ็ด เฮ็บ. 4:4
3:1-6 งูล่อลวงฮาวา 2 โก. 11:3
3:20 มนุษย์ทั้งสิ้นกำเนิดจากบิดามารดาคู่แรก กิจ. 17:26
4:8 คายินฆ่าเฮเบล ยูดา 11; 1 โย. 3:12
4:9, 10 โลหิตของเฮเบล มัด. 23:35
บท 5, 10, 11 ลำดับวงศ์ตระกูล ลูกาบท 3
5:29 โนฮา ยเอศ. 14:14; มัด. 24:37
6:13, 17-20 มหาอุทกภัย ยซา. 54:9; 2 เป. 2:5
12:1-3, 7 สัญญาไมตรีกับอับราฮาม ฆลา. 3:15-17
15:6 ความเชื่อของอับราฮาม โรม 4:3; ยโก. 2:23
15:13, 14 การอาศัยชั่วคราวในอียิปต์ กิจ. 7:1-7
18:1-5 น้ำใจต้อนรับ เฮ็บ. 13:2
19:24, 25 โซโดมและโกโมร์ราห์ถูกทำลาย 2 เป. 2:6; ยูดา 7
19:26 ภรรยาของโลต ลูกา 17:32
20:7 อับราฮามผู้พยากรณ์ เพลง. 105:9, 15
21:9 ยิศมาเอลเยาะเย้ยยิศฮาค ฆลา. 4:29
22:10 อับราฮามตั้งใจถวายยิศฮาค เฮ็บ. 11:17
25:23 ยาโคบกับเอซาว โรม 9:10-13; มลคี. 1:2, 3
25:32-34 เอซาวขายสิทธิ เฮ็บ. 12:16, 17
บุตรหัวปี
28:12 บันไดแห่งการสื่อสารกับสวรรค์ โย. 1:51
37:28 โยเซฟถูกขายไปอียิปต์ เพลง. 105:17
41:40 โยเซฟถูกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพลง. 105:20, 21