ดำเนินโดยความเชื่อ มิใช่ตามที่ตาเห็น!
“ด้วยว่าเราดำเนินโดยความเชื่อ, มิใช่ตามที่เราได้เห็น.”—2 โกรินโธ 5:7.
1. อะไรที่แสดงว่าอัครสาวกเปาโลดำเนินโดยความเชื่อ มิใช่ตามที่ตาเห็น?
ปีนั้นคือปีสากลศักราช 55. เวลาผ่านไปราว 20 ปีนับตั้งแต่ที่ชายชื่อเซาโล ผู้ข่มเหงคริสเตียน ได้เข้ามานับถือศาสนาคริสเตียน. ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาที่ผ่านไปนั้นทำให้ความเชื่อที่ท่านมีต่อพระเจ้าอ่อนลงไป. แม้ว่าท่านไม่เห็นสิ่งต่าง ๆ ในสวรรค์ด้วยตาของท่าน ท่านก็ยังคงมีความเชื่อที่มั่นคง. ด้วยเหตุนั้น เมื่อเขียนถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิม ซึ่งมีความหวังจะไปสวรรค์ อัครสาวกเปาโลจึงกล่าวว่า “เราดำเนินโดยความเชื่อ, มิใช่ตามที่เราได้เห็น.”—2 โกรินโธ 5:7.
2, 3. (ก) เราแสดงอย่างไรว่าเราดำเนินโดยความเชื่อ? (ข) การดำเนินตามที่ตาเห็นหมายความว่าอะไร?
2 การดำเนินโดยความเชื่อเรียกร้องการวางใจอย่างเต็มเปี่ยมในพระปรีชาสามารถของพระเจ้าที่จะชี้นำชีวิตของเรา. เราต้องเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงรู้จริง ๆ ว่าอะไรจะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 119:66) เมื่อเราตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตและลงมือทำตามการตัดสินใจเหล่านั้น เราจะคำนึงถึง “ความเป็นจริงต่าง ๆ ที่เราไม่เห็น.” (เฮ็บราย 11:1, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) ความจริงต่าง ๆ ดังกล่าวรวมถึง “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ตามคำสัญญา. (2 เปโตร 3:13, ล.ม.) ในทางตรงกันข้าม การดำเนินตามที่ตาเห็นหมายความว่า เราดำเนินชีวิตโดยอาศัยแต่สิ่งที่เรารับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส. การดำเนินชีวิตอย่างนั้นนับว่าอันตราย เพราะอาจนำไปสู่การเพิกเฉยพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอย่างสิ้นเชิง.—บทเพลงสรรเสริญ 81:12; ท่านผู้ประกาศ 11:9.
3 ไม่ว่าเราจะเป็นสมาชิกของ “แกะฝูงเล็ก” ซึ่งได้รับการทรงเรียกไปสวรรค์ หรือเป็นสมาชิกของ “แกะอื่น” ซึ่งมีความหวังจะอยู่บนแผ่นดินโลก เราแต่ละคนพึงใส่ใจคำแนะนำที่ให้เราดำเนินโดยความเชื่อ ไม่ใช่ตามที่ตาเห็น. (ลูกา 12:32, ล.ม.; โยฮัน 10:16) ให้เรามาดูกันว่าการทำตามคำแนะนำที่มีขึ้นโดยการดลใจข้อนี้จะป้องกันเราไว้อย่างไรจากการ “เพลิดเพลินชั่วคราวกับบาป,” จากบ่วงแร้วของการนิยมวัตถุ, และจากการไม่คำนึงถึงอวสานของระบบนี้. และเราจะพิจารณาด้วยถึงอันตรายของการดำเนินตามที่ตาเห็น.—เฮ็บราย 11:25, ล.ม.
ปฏิเสธการ “เพลิดเพลินชั่วคราวกับบาป”
4. โมเซตัดสินใจเลือกเช่นไร และเพราะเหตุใด?
4 ขอลองมโนภาพดูว่าชีวิตของโมเซบุตรที่เกิดแต่อัมรามนั้นอาจเป็นเช่นไร. เนื่องจากถูกเลี้ยงดูให้เจริญวัยในหมู่เชื้อพระวงศ์ของอียิปต์โบราณ โมเซจึงสามารถที่จะได้อำนาจ, ความมั่งคั่ง, และอิทธิพล. โมเซจะคิดหาเหตุผลอย่างนี้ก็ได้: ‘เราได้เรียนรู้มาเป็นอย่างดีในเรื่องความรู้ต่าง ๆ ที่ถือกันว่าสูงส่งของอียิปต์ อีกทั้งยังมีอำนาจที่จะสั่งการและทำประการใดก็ได้. หากเราอยู่ในราชสำนักต่อไป เราสามารถใช้ตำแหน่งของเราเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวฮีบรูของเราที่ถูกกดขี่ได้!’ (กิจการ 7:22) แทนที่จะคิดอย่างนั้น โมเซเลือกที่จะถูก “เคี่ยวเข็ญร่วมกับประชาชนของพระเจ้า.” เพราะเหตุใด? อะไรกระตุ้นโมเซหันหลังให้แก่ทุกสิ่งที่อียิปต์มีเสนอให้? คัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบว่า “โดยความเชื่อ [โมเซ] ออกจากอียิปต์ แต่มิใช่ว่ากลัวความกริ้วของกษัตริย์ ด้วยว่าท่านยืนหยัดมั่นคงต่อ ๆ ไปประหนึ่งเห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.” (เฮ็บราย 11:24-27, ล.ม.) ความเชื่อของโมเซที่ว่าพระยะโฮวาจะประทานบำเหน็จอย่างแน่นอนแก่ผู้ที่ประพฤติอย่างชอบธรรม ช่วยให้ท่านต้านทานบาปและการปล่อยตัวและการเพลิดเพลินชั่วคราวกับการบาป.
5. ตัวอย่างของโมเซกระตุ้นเราอย่างไร?
5 บ่อยครั้ง เราก็ต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากเช่นกัน เช่น ‘ฉันควรเลิกการกระทำหรือนิสัยบางอย่างที่ไม่ลงรอยอย่างครบถ้วนกับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลไหม? ฉันควรรับเอางานที่ดูเหมือนจะให้ผลตอบแทนด้านวัตถุมาก แต่ขัดขวางความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของฉันไหม?’ ตัวอย่างของโมเซกระตุ้นเราไม่ให้ตัดสินใจในแบบที่สะท้อนถึงการมีสายตาสั้นแบบโลกนี้ ตรงกันข้าม เราควรแสดงความเชื่อในพระปัญญาที่มองการณ์ไกลของ “ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา”—พระยะโฮวาพระเจ้า. เช่นเดียวกับโมเซ ขอให้เราถือว่าสัมพันธภาพที่มีกับพระยะโฮวามีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ก็ตามที่โลกนี้เสนอให้.
6, 7. (ก) เอซาวแสดงอย่างไรว่าเขาเลือกที่จะดำเนินตามที่ตาเห็น? (ข) เราได้ตัวอย่างเตือนใจอะไรจากเอซาว?
6 ขอเปรียบเทียบโมเซกับเอซาว บุตรของยิศฮาคปฐมบรรพบุรุษ. เอซาวเลือกที่จะสนองความต้องการของตนในทันที. (เยเนซิศ 25:30-34) เนื่องจาก “ไม่หยั่งรู้คุณค่าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เอซาวสละสิทธิ์บุตรหัวปีของตน “เพื่อแลกกับอาหารมื้อเดียว.” (เฮ็บราย 12:16, ล.ม.) เขาไม่คำนึงว่าการตัดสินใจของเขาที่จะขายสิทธิบุตรหัวปีจะมีผลกระทบเช่นไรต่อสัมพันธภาพระหว่างเขากับพระยะโฮวา หรือการกระทำของเขาจะส่งผลเช่นไรต่อลูกหลานของตนเอง. เขาขาดวิสัยทัศน์ฝ่ายวิญญาณ. เอซาวไม่สนใจไยดีคำสัญญาอันล้ำค่าของพระเจ้า โดยมองว่าคำสัญญาเหล่านั้นไม่มีค่าอะไรมากนัก. เขาดำเนินตามที่ตาเห็น ไม่ใช่ดำเนินโดยความเชื่อ.
7 เอซาวเป็นตัวอย่างเตือนใจพวกเราในทุกวันนี้. (1 โกรินโธ 10:11) เมื่อเราเผชิญการตัดสินใจ ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ เราต้องไม่หลงไปกับคำโฆษณาชวนเชื่อของโลกซาตานที่ว่า สิ่งใดที่คุณต้องการคุณต้องได้ในทันที. เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันมีแนวโน้มอย่างเอซาวไหมเมื่อฉันทำการตัดสินใจ? การมุ่งติดตามสิ่งที่ฉันต้องการในขณะนี้หมายถึงการผลักให้ผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณอยู่ในอันดับรองไหม? การตัดสินใจเลือกของฉันทำให้เสี่ยงต่อการที่ฉันจะสูญเสียมิตรภาพที่มีกับพระเจ้าและบำเหน็จที่จะได้รับในอนาคตไหม? ฉันวางตัวอย่างแบบใดแก่คนอื่น?’ ถ้าการตัดสินใจเลือกของเราแสดงให้เห็นว่าเราหยั่งรู้ค่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระยะโฮวาก็จะอวยพรเรา.—สุภาษิต 10:22.
หลีกเลี่ยงบ่วงแร้วของวัตถุนิยม
8. คริสเตียนในเมืองลาโอดิเคียได้รับคำเตือนอะไร และทำไมจึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับเรา?
8 ในวิวรณ์ที่ประทานแก่อัครสาวกโยฮันตอนปลายศตวรรษแรก พระเยซูคริสต์ผู้ทรงสง่าราศีได้แจ้งข่าวสารแก่ประชาคมที่ตั้งอยู่ในเมืองลาโอดิเคีย (ละโอดีไกอะ) ในเอเชียไมเนอร์. ข่าวสารนั้นคือคำเตือนพวกเขาให้พ้นจากการนิยมวัตถุ. แม้ว่าคริสเตียนในลาโอดิเคียจะร่ำรวยด้านวัตถุ แต่พวกเขาก็ยากจนด้านวิญญาณ. แทนที่จะดำเนินต่อ ๆ ไปโดยความเชื่อ พวกเขาปล่อยให้สมบัติวัตถุทำให้พวกเขาตาบอดฝ่ายวิญญาณ. (วิวรณ์ 3:14-18) วัตถุนิยมก่อผลอย่างเดียวกันนั้นในทุกวันนี้. มันทำให้ความเชื่อของเราอ่อนลง และทำให้เราเลิก “วิ่ง” เพื่อชีวิต “ด้วยความเพียรอดทน.” (เฮ็บราย 12:1, ล.ม.) ถ้าเราไม่ระวัง “ความสนุกสนานของชีวิตนี้” อาจบดบังกิจกรรมต่าง ๆ ฝ่ายวิญญาณจนถึงขั้นที่ “ปิดคลุมไว้มิด.”—ลูกา 8:14, ล.ม.
9. ความอิ่มใจพอใจและความหยั่งรู้ค่าต่ออาหารฝ่ายวิญญาณให้การปกป้องเราอย่างไร?
9 เคล็ดลับสำหรับการได้รับการปกป้องฝ่ายวิญญาณคือการมีความอิ่มใจพอใจแทนที่จะตักตวงประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่และสร้างความมั่งมีด้านวัตถุแก่ตัวเอง. (1 โกรินโธ 7:31; 1 ติโมเธียว 6:6-8) เมื่อเราดำเนินโดยความเชื่อ ไม่ใช่ตามที่ตาเห็น เราประสบความยินดีในอุทยานฝ่ายวิญญาณในปัจจุบัน. เมื่อเราได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณที่อุดมคุณค่า เราจึงอยาก “โห่ร้องด้วยความชื่นชมยินดีเพราะสภาพหัวใจที่ดี” มิใช่หรือ? (ยะซายา 65:13, 14, ล.ม.) นอกจากนั้น เรายังมีความชื่นชมยินดีที่ได้คบหากับเหล่าผู้ที่สำแดงผลของพระวิญญาณของพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) เป็นสิ่งสำคัญสักเพียงไรที่เราพบความอิ่มใจพอใจและความสดชื่นในสิ่งที่พระยะโฮวาจัดเตรียมให้เราด้านวิญญาณ!
10. คำถามอะไรบ้างที่เราควรถามตัวเอง?
10 คำถามบางข้อที่เราควรถามตัวเองคือ ‘สิ่งฝ่ายวัตถุอยู่ในอันดับไหนในชีวิตของฉัน? ฉันกำลังใช้สมบัติวัตถุที่ฉันมีเพื่อใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานหรือเพื่อส่งเสริมการนมัสการแท้? อะไรก่อความอิ่มใจแก่ฉันมากที่สุด—การศึกษาพระคัมภีร์และมิตรภาพ ณ การประชุมคริสเตียน หรือว่าใช้วันสุดสัปดาห์ในที่ที่ไม่ต้องเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของคริสเตียน? ฉันกันเวลาหลาย ๆ สุดสัปดาห์ไว้เพื่อนันทนาการ แทนที่จะใช้เวลาเหล่านั้นสำหรับงานประกาศและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนมัสการอันบริสุทธิ์ไหม?’ การดำเนินโดยความเชื่อหมายความว่าเราหมกมุ่นในงานราชอาณาจักร ด้วยความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมในคำสัญญาของพระยะโฮวา.—1 โกรินโธ 15:58.
คำนึงถึงจุดอวสานอยู่เสมอ
11. การดำเนินโดยความเชื่อช่วยเราอย่างไรให้คำนึงถึงจุดอวสานอยู่เสมอ?
11 การดำเนินโดยความเชื่อจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงทัศนะแบบมนุษย์ที่ว่าจุดอวสานยังอยู่อีกไกลหรือจะไม่มาเลย. ต่างจากคนช่างสงสัยซึ่งดูเบาคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล พวกเรามองออกว่าเหตุการณ์ของโลกกำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไรตามที่พระคำของพระเจ้าบอกไว้ล่วงหน้าสำหรับสมัยของเรา. (2 เปโตร 3:3, 4) ตัวอย่างเช่น เจตคติและพฤติกรรมของผู้คนทั่วไปให้หลักฐานมิใช่หรือว่าเรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “สมัยสุดท้าย”? (2 ติโมเธียว 3:1-5, ล.ม.) ด้วยตาแห่งความเชื่อ เราเห็นว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเพียงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นซ้ำอีก. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เหตุการณ์เหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็น “หมายสำคัญแห่งการประทับของ [พระคริสต์] และช่วงอวสานของระบบ.”—มัดธาย 24:1-14, ล.ม.
12. คำตรัสของพระเยซูที่บันทึกไว้ในลูกา 21:20, 21 สำเร็จเป็นจริงอย่างไรในศตวรรษแรก?
12 ขอพิจารณาเหตุการณ์หนึ่งในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชซึ่งมีความคล้ายคลึงกับในสมัยของเรา. ขณะเมื่ออยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์เตือนสาวกของพระองค์ดังนี้: “เมื่อท่านเห็นกองทัพมาตั้งล้อมรอบกรุงยะรูซาเลม, เมื่อนั้นท่านจงรู้ว่าความพินาศของกรุงนั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว. เวลานั้นให้คนทั้งหลายที่อยู่ในแขวงยูดายหนีไปยังภูเขา และคนทั้งหลายที่อยู่ในกรุงให้ออกไป.” (ลูกา 21:20, 21) ในความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์นี้ แม่ทัพเซสติอุส กัลลุสนำทหารโรมันมาล้อมกรุงเยรูซาเลมในปี ส.ศ. 66. แต่กองทัพโรมันถอนทัพออกไปโดยมิได้คาดหมาย เป็นการให้สัญญาณและเปิดโอกาสแก่คริสเตียนในกรุงนั้น “หนีไปยังภูเขา.” ในปี ส.ศ. 70 กองทัพโรมันหวนกลับมาอีก คราวนี้บุกทะลวงกรุงเยรูซาเลมและทำลายพระวิหารของกรุงนั้น. โยเซฟุสรายงานว่ามีชาวยิวมากกว่าหนึ่งล้านคนเสียชีวิต และ 97,000 คนตกเป็นเชลย. การพิพากษาลงโทษจากพระเจ้าตกแก่พวกยิวและระบบของพวกเขา. ส่วนผู้ที่ดำเนินโดยความเชื่อและเอาใจใส่คำเตือนของพระเยซูรอดพ้นความหายนะ.
13, 14. (ก) ในอีกไม่ช้าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น? (ข) ทำไมเราควรตื่นตัวอยู่เสมอต่อเหตุการณ์ที่สำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล?
13 สิ่งคล้าย ๆ กันกำลังจะเกิดขึ้นในสมัยของเรา. บางส่วนในสหประชาชาติจะมีบทบาทในการสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้า. เช่นเดียวกับที่กองทัพโรมันในศตวรรษแรกได้รับการจัดตั้งเพื่อรักษาพักซ์ โรมานา (สันติภาพแห่งโรม) สหประชาชาติในทุกวันนี้ก็ได้รับการจัดตั้งเพื่อจะรักษาสันติภาพ. แม้ว่ากองทัพโรมันพยายามจะดูแลรักษาความสงบสุขในระดับหนึ่งตลอดทั่วโลกเท่าที่รู้จักกันในตอนนั้น แต่กองทัพนี้ก็กลายมาเป็นผู้ทำลายล้างกรุงเยรูซาเลม. ในสมัยนี้ก็เช่นเดียวกัน คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลบ่งชี้ว่า กองกำลังทหารภายในสหประชาชาติจะมองศาสนาว่าเป็นตัวการก่อความไม่สงบ และจะดำเนินการล้างผลาญกรุงเยรูซาเลมโดยนัยสมัยปัจจุบัน ซึ่งก็ได้แก่ คริสต์ศาสนจักร รวมทั้งส่วนที่เหลือทั้งหมดของบาบิโลนใหญ่ด้วย. (วิวรณ์ 17:12-17) ถูกแล้ว การทำลายล้างจักรวรรดิโลกทั้งสิ้นแห่งศาสนาเท็จกำลังใกล้เข้ามา.
14 การทำลายล้างศาสนาเท็จเป็นช่วงแรกของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. ในช่วงท้ายของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ ส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดของโลกชั่วนี้จะถูกทำลาย. (มัดธาย 24:29, 30; วิวรณ์ 16:14, 16) การดำเนินโดยความเชื่อทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอต่อคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่สำเร็จเป็นจริง. เราไม่ถูกหลอกให้คิดว่าองค์การใด ๆ ของมนุษย์ เช่น สหประชาชาติ เป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่จะทำให้เกิดสันติภาพและความปลอดภัยที่แท้จริง. ดังนั้นแล้ว แนวทางชีวิตของเราควรแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อมั่นว่า ‘วันใหญ่ของพระยะโฮวามาใกล้แล้ว’ มิใช่หรือ?—ซะฟันยา 1:14, ล.ม.
ดำเนินตามที่ตาเห็น—เป็นอันตรายอย่างไร?
15. ทั้ง ๆ ที่ได้รับการอวยพรจากพระเจ้า ชาติอิสราเอลกลับตกเข้าสู่บ่วงแร้วอะไร?
15 สิ่งที่เกิดขึ้นกับชนชาติอิสราเอลโบราณแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการปล่อยให้การดำเนินตามที่ตาเห็นมาทำให้ความเชื่ออ่อนลง. แม้ว่าได้เห็นภัยพิบัติสิบประการที่ทำให้พระเท็จของอียิปต์ต้องอับอายขายหน้า และต่อมาได้รับการช่วยให้รอดพ้นจากทะเลแดงอย่างน่าตื่นตาตื่นใจก็ตาม ชาวอิสราเอลก็ยังไม่เชื่อฟังด้วยการสร้างรูปลูกวัวทองคำและเริ่มกราบไหว้บูชารูปเคารพนั้น. พวกเขาขาดความอดทนและเหนื่อยหน่ายที่จะรอโมเซ ซึ่ง “ล่าช้าอยู่ไม่ลงมาจากภูเขา.” (เอ็กโซโด 32:1-4, ฉบับแปลใหม่) การขาดความอดทนกระตุ้นพวกเขาบูชารูปเคารพที่เห็นได้ด้วยตา. การที่พวกเขาดำเนินโดยอาศัยสิ่งที่มองเห็นเป็นการหลู่เกียรติพระยะโฮวาและยังผลให้ “ประมาณสามพันคน” ถูกสำเร็จโทษ. (เอ็กโซโด 32:25-29) เป็นเรื่องน่าเศร้าสักเพียงไรเมื่อผู้นมัสการพระยะโฮวาในทุกวันนี้ตัดสินใจในแบบที่แสดงว่าไม่วางใจพระยะโฮวาและขาดความมั่นใจในพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่จะทำตามที่ทรงสัญญา!
16. ชาวอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างไรจากการดำเนินตามที่ตามองเห็น?
16 สิ่งที่ปรากฏภายนอกก่อผลกระทบที่เสียหายอย่างอื่นแก่ชาวอิสราเอลด้วย. การดำเนินโดยอาศัยแต่สิ่งที่มองเห็นทำให้พวกเขากลัวศัตรูจนตัวสั่น. (อาฤธโม 13:28, 32; พระบัญญัติ 1:28) การดำเนินในวิธีดังกล่าวทำให้พวกเขาสงสัยในอำนาจที่พระเจ้ามอบแก่โมเซ และบ่นเกี่ยวกับสภาพชีวิตของตน. การขาดความเชื่อเช่นนี้ทำให้พวกเขาชอบอียิปต์ที่อยู่ใต้อำนาจวิญญาณชั่วมากกว่าแผ่นดินตามคำสัญญา. (อาฤธโม 14:1-4; บทเพลงสรรเสริญ 106:24) พระยะโฮวาคงต้องปวดร้าวพระทัยสักเพียงไรเมื่อทรงเห็นประชาชนของพระองค์ไม่ได้แสดงความนับถือเลยต่อพระมหากษัตริย์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตาของพวกเขา!
17. อะไรเป็นเหตุให้ชาวอิสราเอลปฏิเสธการชี้นำจากพระยะโฮวาในสมัยซามูเอล?
17 ในสมัยผู้พยากรณ์ซามูเอล อิสราเอลชาติซึ่งเป็นที่โปรดปรานก็ตกเข้าสู่บ่วงแร้วของการดำเนินตามที่ตาเห็นอีกครั้งหนึ่ง. ประชาชนอยากมีกษัตริย์ที่พวกเขาเห็นได้ด้วยตา. ถึงแม้พระยะโฮวาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ของพวกเขา แต่นั่นก็ไม่พอที่จะทำให้พวกเขาดำเนินโดยความเชื่อ. (1 ซามูเอล 8:4-9) พวกเขาปฏิเสธอย่างโง่เขลาที่จะรับเอาการชี้นำที่ไร้ข้อผิดพลาดของพระยะโฮวา และอยากจะเป็นเหมือนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบ ซึ่งเป็นการกระทำที่นำผลเสียหายมาสู่ตนเอง.—1 ซามูเอล 8:19, 20.
18. เราได้เรียนบทเรียนอะไรบ้างเกี่ยวกับอันตรายของการดำเนินโดยอาศัยสิ่งที่มองเห็น?
18 ฐานะผู้รับใช้พระยะโฮวาในปัจจุบัน เราทะนุถนอมสัมพันธภาพอันดีที่เรามีกับพระเจ้า. เรากระหายที่จะเรียนรู้บทเรียนอันมีค่าจากเหตุการณ์ในอดีตและนำมาใช้กับชีวิตของเรา. (โรม 15:4) เมื่อชาวอิสราเอลดำเนินโดยอาศัยสิ่งที่มองเห็น พวกเขาลืมไปว่าพระเจ้ากำลังชี้นำพวกเขาผ่านทางโมเซอยู่. ถ้าเราไม่ระวัง เราก็อาจจะลืมได้เช่นกันว่าพระยะโฮวาพระเจ้ากับผู้ยิ่งใหญ่กว่าโมเซ ซึ่งก็ได้แก่ พระเยซูคริสต์ กำลังชี้นำประชาคมคริสเตียนในปัจจุบัน. (วิวรณ์ 1:12-16) เราต้องระวังการมีความเห็นแบบมนุษย์ต่อองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก. การมีทัศนะอย่างนั้นอาจนำไปสู่การมีน้ำใจช่างบ่น และสูญเสียความหยั่งรู้ค่าต่อตัวแทนของพระยะโฮวาและต่ออาหารฝ่ายวิญญาณที่จัดเตรียมโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.”—มัดธาย 24:45, ล.ม.
จงตั้งใจแน่วแน่ที่จะดำเนินโดยความเชื่อ
19, 20. คุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำอะไร และเพราะเหตุใด?
19 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เรามีการปล้ำสู้ ไม่ใช่กับเลือดและเนื้อ แต่ต่อสู้กับการปกครอง ต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ต่อสู้กับผู้ครอบครองโลกแห่งความมืดนี้ ต่อสู้กับอำนาจวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” (เอเฟโซ 6:12, ล.ม.) ศัตรูตัวเอ้ของเราก็คือซาตานพญามาร. เป้าหมายของมันคือทำลายความเชื่อของเราที่มีต่อพระยะโฮวา. มันจะทำทุกวิถีทางเพื่อเบี่ยงเบนความตั้งใจมุ่งมั่นของเราที่จะรับใช้พระเจ้า. (1 เปโตร 5:8) อะไรจะป้องกันไม่ให้เราถูกหลอกลวงโดยสิ่งที่ปรากฏภายนอกในระบบของซาตาน? การดำเนินด้วยความเชื่อ ไม่ใช่ตามที่ตาเห็นนั่นเอง! ความไว้วางใจและความมั่นใจในคำสัญญาของพระยะโฮวาจะป้องกันไม่ให้ ‘ความเชื่อของเราอับปาง.’ (1 ติโมเธียว 1:19, ล.ม.) ฉะนั้น ในทุกทางที่ทำได้ ให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะดำเนินโดยความเชื่อต่อ ๆ ไป และมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะได้รับพระพรจากพระยะโฮวา. และขอให้เราเฝ้าอธิษฐานอยู่ทุกเวลา เพื่อเราจะรอดพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า.—ลูกา 21:36.
20 ขณะที่เราดำเนินโดยความเชื่อ ไม่ใช่ตามที่ตาเห็น เรามีแบบอย่างอันยอดเยี่ยม. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระคริสต์ได้ทรงรับทนทุกข์ทรมานเพื่อท่านทั้งหลาย ให้เป็นแบบอย่างแก่ท่าน, เพื่อท่านจะได้ตามรอยพระบาทของพระองค์.” (1 เปโตร 2:21) บทความถัดไปจะพิจารณาว่าเราจะดำเนินต่อ ๆ ไปอย่างที่พระคริสต์ทรงดำเนินได้อย่างไร.
คุณจำได้ไหม?
• คุณเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างของโมเซและเอซาวในเรื่องการดำเนินโดยความเชื่อ ไม่ใช่ตามที่ตาเห็น?
• อะไรเป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการนิยมวัตถุ?
• การดำเนินโดยความเชื่อช่วยเราอย่างไรให้หลีกเลี่ยงทัศนะที่ว่าจุดอวสานยังอยู่อีกไกล?
• ทำไมการดำเนินตามที่ตาเห็นจึงอันตราย?
[ภาพหน้า 17]
โมเซดำเนินโดยความเชื่อ
[ภาพหน้า 18]
นันทนาการทำให้คุณไม่ได้ร่วมกิจกรรมตามระบอบของพระเจ้าอยู่บ่อยครั้งไหม?
[ภาพหน้า 20]
การเอาใจใส่พระคำของพระเจ้าปกป้องคุณอย่างไร?