สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าทรัพย์สมบัติแห่งอียิปต์
โมเซเป็นหนึ่งในบรรดาบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์. พระธรรมสี่เล่มของคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่เอ็กโซโดจนถึงพระบัญญัติ เกือบทั้งหมดเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อชาติอิสราเอลภายใต้การนำของโมเซ. ท่านเป็นผู้นำคนเหล่านั้นในการอพยพออกจากอียิปต์, เป็นผู้กลางในสัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ, และนำทางชาติอิสราเอลไปจนถึงชายแดนแผ่นดินตามคำสัญญา. โมเซได้รับการเลี้ยงดูมาในราชสำนักของกษัตริย์ฟาโรห์ แต่ท่านกลายมาเป็นผู้บัญชาการไพร่พลของพระเจ้าที่ได้รับการแต่งตั้งและเป็นผู้พยากรณ์, ผู้พิพากษา, และผู้เขียนที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า. กระนั้น ท่านก็เป็น “คนถ่อมใจมากยิ่งกว่าคนทั้งปวง.”—อาฤธโม 12:3, ฉบับแปลใหม่.
รายละเอียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับโมเซซึ่งคัมภีร์ไบเบิลเล่าถึงนั้นอยู่ในช่วง 40 ปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่การปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากการเป็นทาสจนถึงการเสียชีวิตของโมเซเมื่อท่านอายุ 120 ปี. ระหว่างช่วงอายุ 40 ถึง 80 ปี ท่านเป็นคนเลี้ยงแกะอยู่ในมิดยาน. อย่างไรก็ตาม แหล่งหนึ่งกล่าวว่า “บางทีช่วงที่น่าสนใจที่สุดในชีวิตของโมเซและยังคงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เป็นที่เข้าใจมากที่สุดถึงทุกวันนี้” คือช่วง 40 ปีแรกแห่งชีวิตของท่าน ตั้งแต่ท่านเกิดจนถึงเมื่อท่านหนีออกจากอียิปต์. เราสามารถเข้าใจอะไรบ้างเกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าว? สภาพการณ์ที่โมเซถูกเลี้ยงดูมามีผลต่อลักษณะนิสัยของท่านเมื่อโตขึ้นไหม? ท่านอาจอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งใดบ้าง? มีข้อท้าทายอะไรบ้างที่ท่านต้องเผชิญ? และเรื่องทั้งหมดนี้สอนอะไรแก่เรา?
การเป็นทาสในอียิปต์
พระธรรมเอ็กโซโดเล่าว่าฟาโรห์องค์หนึ่งเกิดมีความกลัวต่อพวกอิสราเอลที่ตั้งรกรากอยู่ในอียิปต์เนื่องจากพวกเขาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว. โดยเชื่อว่านี่เป็นการกระทำที่ “แยบคาย” ฟาโรห์พยายามจะลดจำนวนพวกอิสราเอลลงโดยการกดขี่พวกเขาให้เป็นทาสอย่างทารุณโดยให้นายงานฟาดพวกเขาด้วยแส้ ให้ทำงานหนัก, ทำส่วนผสมดินเหนียวสำหรับก่ออิฐ, และทำอิฐให้ครบตามอัตราที่กำหนดสำหรับแต่ละวัน.—เอ็กโซโด 1:8-14; 5:6-18.
ภาพพรรณนาดังกล่าวเกี่ยวกับอียิปต์ที่ซึ่งโมเซถือกำเนิดมานั้นสอดคล้องลงรอยเป็นอย่างดีกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์. เอกสารพาไพรัสโบราณและภาพวาดที่อุโมงค์ฝังศพอย่างน้อยภาพหนึ่งแสดงให้เห็นการทำอิฐดินเหนียวโดยพวกทาสในสหัสวรรษที่สองก่อนสากลศักราชหรือก่อนหน้านั้น. บรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบงานผลิตอิฐได้แบ่งทาสหลายร้อยคนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 6 ถึง 18 คนโดยมีนายช่างหรือหัวหน้ากลุ่มคอยควบคุมหนึ่งคน. ต้องมีการขุดดินเหนียวที่ใช้ทำอิฐและส่งฟางไปยังลานทำอิฐ. คนงานจากหลายเชื้อชาติตักน้ำและใช้จอบผสมน้ำเข้ากับดินเหนียวและฟาง. อิฐแถวแล้วแถวเล่าถูกนำออกจากพิมพ์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า. จากนั้นทาสกรรมกรก็หาบอิฐที่ตากแดดจนแห้งแล้วไปยังบริเวณที่ก่อสร้าง ซึ่งบางครั้งต้องขึ้นทางลาดชัน. ผู้ดูแลงานชาวอียิปต์ที่ถือตะบองจะนั่งหรือไม่ก็เดินผ่านคนงานเหล่านั้นช้า ๆ ขณะที่พวกเขาดูแลงาน.
บันทึกเก่าแก่ชิ้นหนึ่งกล่าวถึงอิฐจำนวน 39,118 ก้อนที่ทำโดยทาสกรรมกร 602 คน ซึ่งเท่ากับว่าเฉลี่ยแล้วคนหนึ่งจะต้องทำอิฐประมาณ 65 ก้อนต่อหนึ่งกะงาน. และเอกสารฉบับหนึ่งจากสมัยศตวรรษที่ 13 ก่อนสากลศักราชกล่าวว่า “คนงานจะทำ . . . ตามจำนวนอิฐที่กำหนดไว้ทุกวัน.” ทั้งหมดนี้คล้ายคลึงอย่างมากกับงานที่พวกอิสราเอลได้รับคำสั่งให้ทำตามที่พรรณนาไว้ในพระธรรมเอ็กโซโด.
การกดขี่ข่มเหงไม่ได้ลดจำนวนประชากรชาวฮีบรูลง. ตรงกันข้าม “ชนชาติยิศราเอลยิ่งถูกการเบียดเบียนก็ยิ่งทวีแผ่มากขึ้น. แล้วชนชาติอายฆุบโตก็ระอาใจและชิงชังเนื่องด้วยชนชาติยิศราเอล.” (เอ็กโซโด 1:10, 12) ด้วยเหตุนี้ ในขั้นแรกฟาโรห์จึงสั่งให้นางผดุงครรภ์ชาวฮีบรูให้ฆ่าทารกแรกเกิดเพศชายชาวอิสราเอลทุกคน แล้วหลังจากนั้นก็สั่งประชาชนของตนทั้งหมดทำเช่นเดียวกัน. ภายใต้สภาพการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้ โมเซ ทารกเพศชายรูปงามได้เกิดมาเป็นบุตรของโยเคเบ็ดและอัมราม.—เอ็กโซโด 1:15-22; 6:20; กิจการ 7:20.
ถูกซ่อน, ถูกพบ, และถูกรับเป็นบุตร
บิดามารดาของโมเซขัดคำสั่งฆ่าของฟาโรห์และซ่อนบุตรชายตัวน้อยของตนไว้. พวกเขาทำเช่นนั้นแม้ว่าจะมีพวกสายลับและนักสืบคอยค้นหาเด็กทารกตามบ้านไหม? เราไม่อาจรู้แน่ชัด. ไม่ว่าจะอย่างไร หลังจากผ่านไปสามเดือนบิดาและมารดาของโมเซก็ไม่สามารถจะซ่อนเขาไว้ได้อีกต่อไป. ดังนั้น มารดาผู้สิ้นหวังจึงทำตะกร้าใบหนึ่งจากต้นพาไพรัส ยาด้วยน้ำมันดินเพื่อกันน้ำเข้าแล้ววางบุตรน้อยของเธอลงในตะกร้า. ในระดับหนึ่ง โยเคเบ็ดเชื่อฟังคำสั่งของฟาโรห์ที่ให้ทิ้งทารกเพศชายแรกเกิดชาวฮีบรูทุกคนลงในแม่น้ำไนล์ แม้ว่าสิ่งที่เธอทำนั้นจะไม่เป็นไปตามความหมายที่แท้จริงของคำสั่งนั้น. มิระยาม พี่สาวของโมเซก็ยืนเฝ้าดูอยู่ใกล้ ๆ.—เอ็กโซโด 1:22–2:4.
โยเคเบ็ดจะเจตนาให้ธิดากษัตริย์ฟาโรห์มาพบโมเซเมื่อพระนางมาสรงน้ำที่แม่น้ำหรือไม่นั้นเราไม่ทราบ แต่เหตุการณ์เป็นไปดังนั้น. เจ้าหญิงทรงตระหนักว่าเด็กนี้เป็นลูกชาวฮีบรู. พระนางจะทำประการใด? พระนางจะเชื่อฟังพระราชบิดาโดยสั่งให้ฆ่าทารกนั้นไหม? ไม่เลย พระนางทรงตอบสนองอย่างที่สตรีมักทำโดยธรรมชาติ. พระนางทรงกระทำด้วยความเมตตาสงสาร.
ไม่ช้า มิระยามก็เข้ามาอยู่ข้าง ๆ. เธอทูลว่า ‘จะให้หม่อมฉันไปหาหญิงชาวฮีบรูมาเลี้ยงทารกนี้ให้พระนางไหม?’ บางคนรู้สึกว่าเหตุการณ์ตอนนี้เหลือเชื่อทีเดียว. พี่สาวของโมเซตั้งตัวอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับฟาโรห์ผู้ซึ่งวางแผนกับเหล่าที่ปรึกษาจะใช้อุบาย “แยบคาย” กับชาวฮีบรู. แน่นอนว่า สวัสดิภาพของโมเซจะได้รับการรับรองก็ต่อเมื่อเจ้าหญิงทรงเห็นชอบกับแผนการของพี่สาวโมเซเท่านั้น. “ไปหาเถิด” พระธิดากษัตริย์ฟาโรห์ตรัสตอบ แล้วมิระยามก็ไปเรียกมารดาของตนในทันที. ในข้อตกลงที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ โยเคเบ็ดได้รับการว่าจ้างให้เลี้ยงดูบุตรของเธอเองโดยได้รับการคุ้มครองจากธิดากษัตริย์.—เอ็กโซโด 2:5-9.
ความเมตตาสงสารของเจ้าหญิงต่างจากความโหดร้ายของพระราชบิดาอย่างแน่นอน. ใช่ว่าพระนางจะไม่ทรงทราบหรือทรงถูกหลอกเกี่ยวกับเด็กนั้น. ความสงสารอย่างที่เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจกระตุ้นพระนางให้รับโมเซเป็นบุตร และการที่พระนางทรงเห็นพ้องที่จะให้หาแม่นมชาวฮีบรูนั้นแสดงว่าพระนางไม่มีอคติเหมือนอย่างพระราชบิดา.
การเลี้ยงดูและการศึกษา
โยเคเบ็ด “รับทารกไปเลี้ยงไว้ เมื่อทารกเติบใหญ่ขึ้นแล้วนางก็พามาถวายพระราชธิดาของฟาโรห์ พระนางก็รับไว้เป็นพระราชบุตรของพระนาง.” (เอ็กโซโด 2:9, 10, ฉบับแปลใหม่) พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าโมเซอยู่กับบิดามารดาที่แท้จริงนานเท่าไร. บางคนคิดว่าคงต้องเป็นเวลาอย่างน้อยจนกว่าเขาจะหย่านมแล้ว คือสองหรือสามปี แต่อาจจะนานกว่านั้นก็เป็นได้. เอ็กโซโดเพียงแต่บอกว่าเขา “เติบใหญ่” มากับบิดามารดา ซึ่งอาจหมายถึงอายุเท่าใดก็ได้. ไม่ว่าอย่างไร ไม่ต้องสงสัยว่าอัมรามและโยเคเบ็ดคงต้องใช้เวลานั้นทำให้บุตรชายตระหนักถึงความเป็นชาวฮีบรูของตนและสอนเขาเกี่ยวกับพระยะโฮวา. พวกเขาจะประสบความสำเร็จมากเพียงไรในการปลูกฝังความเชื่อและความรักต่อความชอบธรรมไว้ในหัวใจของโมเซนั้น เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้.
เมื่อถูกส่งกลับไปอยู่กับพระธิดากษัตริย์ฟาโรห์ โมเซได้รับการศึกษา “ในวิชาการทุกอย่างของชาวอียิปต์.” (กิจการ 7:22, ฉบับแปลใหม่) นั่นคงจะหมายถึงการฝึกฝนที่ออกแบบมาเพื่อทำให้โมเซมีคุณสมบัติจะเข้ารับราชการ. การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายของอียิปต์นั้นรวมถึงคณิตศาสตร์, เรขาคณิต, สถาปัตยกรรม, การก่อสร้าง, อีกทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ. อาจเป็นได้ที่สมาชิกราชวงศ์ต้องการให้โมเซได้รับการสอนในเรื่องศาสนาของชาวอียิปต์ด้วย.
โมเซอาจได้รับการศึกษาแบบพิเศษพร้อมกับบุตรหลานคนอื่น ๆ ของพระราชวงศ์. ในกลุ่มผู้ซึ่งได้รับประโยชน์จากการศึกษาชั้นยอดเช่นนั้นยังมี “เหล่าบุตรของนักปกครองชาวต่างชาติที่ถูกส่งมาหรือถูกจับตัวมายังอียิปต์ฐานะเชลยเพื่อจะได้เป็น ‘อารยชน’ และภายหลังจะถูกส่งกลับไปปกครองฐานะเจ้าเมืองประเทศราช” ที่ภักดีต่อกษัตริย์ฟาโรห์. (รัชกาลแห่งทุตโมสที่ 4 โดย เบตซี เอ็ม. ไบรอัน) สถานเลี้ยงดูและฝึกอบรมซึ่งอยู่ติดกับวังทั้งหลายดูเหมือนจะเตรียมเหล่าเยาวชนเพื่อจะรับราชการในราชสำนัก.a แผ่นจารึกที่มีอายุย้อนไปถึงสมัยอียิปต์ยุคกลางและยุคใหม่เปิดเผยว่าผู้ช่วยส่วนพระองค์และข้าราชการระดับสูงหลายคนของฟาโรห์มีบรรดาศักดิ์อันทรงเกียรติว่า “ยุวชนแห่งสถานฝึกอบรม” แม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม.
ชีวิตในราชสำนักคงต้องเป็นการทดสอบสำหรับโมเซ. ชีวิตเช่นนั้นให้ความมั่งคั่ง, ความหรูหรา, และอำนาจ. นอกจากนั้นยังมีอันตรายหลายอย่างทางศีลธรรมด้วย. โมเซจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? ท่านจะภักดีต่อผู้ใด? โดยแท้แล้วท่านเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา, เป็นพี่น้องของชาวฮีบรูซึ่งถูกกดขี่ไหม, หรือว่าท่านชอบสิ่งทั้งปวงที่ชาติอียิปต์นอกรีตจะให้ได้มากกว่า?
การตัดสินใจที่สำคัญยิ่ง
เมื่ออายุ 40 ปี ซึ่งถึงตอนนั้นโมเซอาจจะกลายเป็นชาวอียิปต์เต็มตัวแล้ว ท่านได้ “ไปหาพวกพี่น้อง, เห็นเขาทำงานหนัก.” การกระทำที่ตามมาของโมเซแสดงให้เห็นว่าท่านทำเช่นนี้ไม่ใช่เพียงเพราะความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น แต่ท่านปรารถนาจะช่วยพวกเขา. เมื่อโมเซเห็นชาวอียิปต์คนหนึ่งกำลังทุบตีชาวฮีบรู ท่านก็เข้าไปขวางและฆ่าผู้กดขี่นั้น. การกระทำดังกล่าวแสดงว่าหัวใจของโมเซนั้นอยู่กับพวกพี่น้องของท่าน. ชายที่ตายนั้นคงเป็นข้าราชการคนหนึ่งซึ่งถูกฆ่าระหว่างปฏิบัติหน้าที่. ในสายตาของชาวอียิปต์แล้ว โมเซมีเหตุผลทุกประการที่จะภักดีต่อฟาโรห์. กระนั้น สิ่งที่กระตุ้นโมเซด้วยก็คือความรักต่อความยุติธรรม อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งซึ่งในวันถัดมาโมเซก็แสดงให้เห็นอีกเมื่อท่านเข้าไปห้ามชาวฮีบรูคนหนึ่งที่กำลังทุบตีเพื่อนของเขาอย่างไม่สมควร. โมเซปรารถนาอย่างยิ่งที่จะช่วยชาวฮีบรูให้เป็นอิสระจากสภาพอันขมขื่นของการเป็นทาส แต่เมื่อฟาโรห์รู้ว่าโมเซเอาใจออกหากแล้วหาช่องที่จะฆ่าท่านเสีย โมเซจึงจำต้องหนีไปมิดยาน.—เอ็กโซโด 2:11-15; กิจการ 7:23-29.b
การเลือกเวลาของโมเซที่ต้องการจะปลดปล่อยไพร่พลของพระเจ้าให้เป็นอิสระนั้นไม่ตรงกับเวลากำหนดของพระเจ้า. ถึงกระนั้น การกระทำของท่านก็เผยถึงความเชื่อ. เฮ็บราย 11:24-26 กล่าวดังนี้: “โดยความเชื่อ ครั้นโมเซวัฒนาโตขึ้นแล้ว ไม่ยอมให้เรียกว่าเป็นบุตรของธิดากษัตริย์ฟาโร คือเห็นว่าที่จะทนการเคี่ยวเข็ญด้วยกันกับพลไพร่ของพระเจ้าดีกว่ามีใจยินดีในการชั่วสักเวลาหนึ่ง.” เพราะเหตุใด? เพราะท่าน “ถือว่าความอัปยศของพระคริสต์ประเสริฐกว่าคลังทรัพย์ในประเทศอายฆุปโต ด้วยท่านเห็นแก่ประโยชน์บำเหน็จนั้น.” การใช้คำว่า “พระคริสต์” ในความหมายของ “ผู้ถูกเจิม” ซึ่งพบไม่บ่อยนักนั้น เหมาะกับโมเซในแง่ที่ว่าต่อมาภายหลังท่านได้รับหน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งจากพระยะโฮวาโดยตรง.
ลองคิดดูซิ! โมเซได้รับการเลี้ยงดูมาในแบบที่ผู้ดีชาวอียิปต์เท่านั้นจึงจะได้รับ. ตำแหน่งของท่านจะทำให้ท่านมีหน้าที่การงานที่ดีเยี่ยมและได้ความเพลิดเพลินทุกอย่างเท่าที่จะนึกออก กระนั้น ท่านก็ยังปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด. ท่านไม่คิดว่าชีวิตของท่านในราชสำนักของฟาโรห์ผู้กดขี่จะเข้ากันได้กับความรักที่ท่านมีต่อพระยะโฮวาและต่อความยุติธรรม. การมีความรู้เกี่ยวกับคำสัญญาของพระเจ้าที่ทรงให้กับบรรพบุรุษของท่านคืออับราฮาม, ยิศฮาค, และยาโคบและการคิดรำพึงเกี่ยวกับเรื่องนั้นกระตุ้นโมเซให้ปรารถนาจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้ามากกว่า. ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาทรงสามารถใช้โมเซในบทบาทที่สำคัญยิ่งเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ.
พวกเราทุกคนต่างก็ต้องเลือกว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด. เช่นเดียวกับโมเซ เราอาจเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก. ควรไหมที่คุณจะเลิกนิสัยหรือธรรมเนียมบางอย่างหรือละทิ้งสิ่งที่ดูเหมือนให้ผลประโยชน์ไม่ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้คุณต้องเสียสละมากเพียงใดก็ตาม? หากนั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องตัดสินใจในขณะนี้ จำไว้ว่าโมเซถือว่ามิตรภาพกับพระยะโฮวามีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของอียิปต์ และท่านไม่เสียใจที่คิดเช่นนั้น.
[เชิงอรรถ]
a การศึกษาเช่นนี้อาจคล้ายคลึงกับการศึกษาที่ดานิเอลและสหายของท่านได้รับเพื่อจะเข้ารับราชการในกรุงบาบิโลน. (ดานิเอล 1:3-7) เทียบกับจงเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล! บทที่ 3 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
b ความมีใจแรงกล้าเพื่อความยุติธรรมของโมเซนั้นแสดงให้เห็นอีกโดยการที่ท่านช่วยปกป้องเหล่าหญิงสาวที่เลี้ยงแกะซึ่งไม่มีทางสู้จากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในมิดยานขณะที่ท่านอยู่ในระหว่างการหลบหนี.—เอ็กโซโด 2:16, 17.
[กรอบหน้า 11]
สัญญาว่าจ้างแม่นม
โดยปกติแล้ว ผู้เป็นมารดาจะให้นมบุตรด้วยตัวเอง. อย่างไรก็ตาม ผู้คงแก่เรียนชื่อ เบรวาร์ด ไชลดส์กล่าวไว้ในวารสารว่าด้วยสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) ว่า “ในบางกรณี ครอบครัวของเหล่าผู้ดี [ทางตะวันออกใกล้] จะจ้างแม่นม. ธรรมเนียมเช่นนี้ยังเป็นเรื่องธรรมดาด้วยในบางแห่งที่มารดาไม่สามารถจะเลี้ยงดูบุตรได้หรือในที่ซึ่งไม่มีใครทราบว่ามารดาของเด็กเป็นใคร. แม่นมจะมีหน้าที่เลี้ยงดูเด็กและให้นมเด็กในระยะเวลาที่ตกลงกันไว้.” มีการค้นพบสัญญาว่าจ้างแม่นมที่ทำจากพาไพรัสหลายฉบับซึ่งอยู่มาจนถึงปัจจุบันจากโบราณสถานในตะวันออกใกล้. เอกสารเหล่านี้ให้หลักฐานเกี่ยวกับธรรมเนียมที่แพร่หลายอย่างหนึ่งในอียิปต์ ตั้งแต่ยุคซูเมอเรียนจนกระทั่งถึงยุคเฮลเลนิสติกตอนปลาย. ลักษณะจำเพาะโดยทั่วไปของเอกสารเหล่านี้ได้แก่ คำแถลงของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง, ระยะเวลาที่สัญญานี้มีผล, เงื่อนไขการทำงาน, ข้อกำหนดพิเศษเกี่ยวกับการเลี้ยงดู, ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา, ค่าจ้าง, และวิธีการจ่ายค่าจ้าง. ไชลดส์อธิบายว่า “ตามปกติแล้วการเลี้ยงดูจะกินระยะเวลาประมาณสองถึงสามปี. แม่นมจะเลี้ยงเด็กที่บ้านของเธอ แต่เป็นครั้งคราวที่เจ้าของเด็กจะขอให้นำเด็กกลับไปให้ดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง.”
[ภาพหน้า 9]
การทำอิฐในอียิปต์ไม่เปลี่ยนไปมากนักนับตั้งแต่สมัยของโมเซ ดังที่แสดงในภาพวาดโบราณ
[ที่มาของภาพ]
Above: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.; below: Erich Lessing/Art Resource, NY