คุณได้รับ “พระวิญญาณแห่งความจริง” ไหม?
“พระบิดา . . . จะทรงประทานผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งแก่ท่าน, เพื่อจะอยู่กับท่านเป็นนิตย์ คือพระวิญญาณแห่งความจริง.”—โยฮัน 14:16, 17.
1. พระเยซูประทานข้อมูลสำคัญอะไรแก่เหล่าสาวกในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายที่ทรงอยู่กับพวกเขาในห้องชั้นบน?
“พระองค์เจ้าข้า, พระองค์จะไปที่ไหน?” นั่นเป็นคำถามข้อหนึ่งที่เหล่าอัครสาวกของพระเยซูถามพระองค์ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงสุดท้ายที่พระองค์ทรงอยู่กับพวกเขาในห้องชั้นบนแห่งหนึ่งในกรุงเยรูซาเลม. (โยฮัน 13:36) ขณะที่การประชุมดำเนินไป พระเยซูทรงแจ้งแก่พวกเขาว่า บัดนี้ถึงกำหนดเวลาที่พระองค์จะจากพวกเขาไปและกลับไปหาพระบิดาของพระองค์. (โยฮัน 14:28; 16:28) พระองค์จะไม่ได้อยู่กับพวกเขาเพื่อสอนและตอบคำถามพวกเขาอีกต่อไป. อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงรับรองกับพวกเขาโดยตรัสว่า “เราจะขอพระบิดา, และพระองค์จะทรงประทานผู้ช่วย [หรือผู้ปลอบประโลม] อีกผู้หนึ่งแก่ท่าน, เพื่อจะอยู่กับท่านเป็นนิตย์.”—โยฮัน 14:16.
2. พระเยซูทรงสัญญาว่าจะส่งอะไรมาให้เหล่าสาวกหลังจากที่พระองค์เสด็จจากไป?
2 พระเยซูทรงระบุตัวผู้ช่วยนั้นและอธิบายวิธีที่ผู้ช่วยนั้นจะช่วยเหล่าสาวก. พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “อย่างไรก็ดี เรามิได้บอกสิ่งเหล่านี้แก่เจ้าแต่แรก เพราะว่าเรายังอยู่กับเจ้า. แต่บัดนี้เราจะไปหาพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา . . . การที่เราจะไปนั้นก็เพื่อประโยชน์ของเจ้า. เพราะถ้าเราไม่ไป ผู้ช่วยนั้นจะไม่มาหาเจ้าเลย; แต่ถ้าเราไป เราจะใช้ผู้ช่วยนั้นมาหาเจ้า . . . เมื่อผู้นั้น คือพระวิญญาณแห่งความจริง มาถึง พระวิญญาณนั้นจะนำเจ้าทั้งหลายไปสู่ความจริงทั้งมวล.”—โยฮัน 16:4, 5, 7, 13, ล.ม.
3. (ก) “พระวิญญาณแห่งความจริง” ถูกส่งมาให้คริสเตียนในยุคแรกเมื่อไร? (ข) แง่สำคัญแง่หนึ่งที่พระวิญญาณเป็น “ผู้ช่วย” สำหรับพวกเขาคืออะไร?
3 คำสัญญานี้สำเร็จเป็นจริงในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 เมื่ออัครสาวกเปโตรกล่าวยืนยันว่า “พระเยซูนี้พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้คืนพระชนม์แล้ว ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นพยานในข้อนี้ เหตุฉะนั้นเมื่อทรงเชิดชูพระองค์ขึ้นอยู่ที่พระหัตถ์เบื้องขวาของพระเจ้า และครั้นพระองค์ได้ทรงรับพระวิญญาณบริสุทธิ์จากพระบิดาตามพระสัญญา พระองค์ได้ทรงเทฤทธิ์เดชนี้ลงมา ดังที่ท่านทั้งหลายได้ยินและเห็นแล้ว.” (กิจการ 2:32, 33, ฉบับแปลใหม่) ดังที่เราจะเห็นหลังจากนี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งได้มีการเทลงมาในวันเพนเตคอสเตทำหลายสิ่งให้สำเร็จสำหรับคริสเตียนในยุคแรก. แต่พระเยซูทรงสัญญาว่า “พระวิญญาณแห่งความจริง” จะ ‘ให้พวกเขาระลึกถึงทุกสิ่งที่พระองค์ได้กล่าวแก่พวกเขาแล้ว.’ (โยฮัน 14:26) พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทำให้พวกเขานึกขึ้นได้เกี่ยวกับงานรับใช้และคำสอนของพระเยซู แม้กระทั่งถ้อยคำทั้งหลายที่พระองค์เคยตรัส และบันทึกข้อความเหล่านี้ไว้. ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออัครสาวกโยฮันผู้ชราแล้วในช่วงปลายศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช เมื่อท่านเริ่มเขียนเรื่องราวพระธรรมกิตติคุณ. เรื่องราวนั้นรวมถึงคำแนะนำอันล้ำค่าที่พระเยซูประทานเมื่อพระองค์ทรงตั้งการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ขึ้น.—โยฮันบท 13-17.
4. “พระวิญญาณแห่งความจริง” ช่วยคริสเตียนผู้ถูกเจิมในยุคแรกอย่างไร?
4 พระเยซูทรงสัญญาแก่เหล่าสาวกรุ่นแรกด้วยว่าพระวิญญาณจะ ‘สอนพวกเขาทุกสิ่ง’ และ ‘นำพวกเขาไปสู่ความจริงทุกอย่าง.’ พระวิญญาณจะช่วยพวกเขาให้เข้าใจสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของพระคัมภีร์และช่วยพวกเขาให้รักษาเอกภาพทางความคิด, ความเข้าใจ, และจุดมุ่งหมาย. (1 โกรินโธ 2:10; เอเฟโซ 4:3) ด้วยเหตุนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ให้พลังแก่คริสเตียนในยุคแรกเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ในฐานะกลุ่ม เพื่อจ่ายแจก ‘อาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลา’ แก่คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นรายบุคคล.—มัดธาย 24:45, ล.ม.
พระวิญญาณเป็นพยาน
5. (ก) พระเยซูทรงเปิดมุมมองใหม่เช่นไรแก่เหล่าสาวกในคืนวันที่ 14 เดือนไนซานปีสากลศักราช 33? (ข) พระวิญญาณบริสุทธิ์จะมีบทบาทเช่นไรในการทำให้สำเร็จตามคำสัญญาของพระเยซู?
5 ในคืนวันที่ 14 เดือนไนซานปีสากลศักราช 33 พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกเป็นนัย ๆ ว่าในภายหลังพระองค์จะทรงรับพวกเขาและพวกเขาจะได้อยู่กับพระองค์และพระบิดาของพระองค์ในสวรรค์. พระองค์ตรัสแก่พวกเขาว่า “ในราชนิเวศแห่งพระบิดาของเรามีที่อยู่หลายแห่ง. มิฉะนั้น เราคงได้บอกเจ้าทั้งหลายแล้ว เพราะเราจะไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับเจ้า. นอกจากนั้น ถ้าเราไปจัดเตรียมที่ไว้สำหรับเจ้าทั้งหลายแล้ว เราจะมาอีกและจะรับเจ้าไปอยู่กับเรา เพื่อว่าเราอยู่ที่ไหนเจ้าจะอยู่ที่นั่นด้วย.” (โยฮัน 13:36; 14:2, 3, ล.ม.) พวกเขาจะร่วมปกครองกับพระองค์ในราชอาณาจักรของพระองค์. (ลูกา 22:28-30) เพื่อจะมีความหวังฝ่ายสวรรค์นี้ พวกเขาต้อง “บังเกิดจากพระวิญญาณ” เพื่อเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าและได้รับการเจิมเพื่อจะรับใช้เป็นกษัตริย์และปุโรหิตกับพระคริสต์ในสวรรค์.—โยฮัน 3:5-8; 2 โกรินโธ 1:21, 22; ติโต 3:5-7; 1 เปโตร 1:3, 4; วิวรณ์ 20:6.
6. (ก) การเรียกซึ่งมาจากสวรรค์เริ่มต้นเมื่อไร และมีกี่คนรับเอาการเรียกนี้? (ข) คนที่ถูกเรียกได้รับบัพติสมาเข้าส่วนในอะไร?
6 “การทรงเรียกซึ่งมาจากสวรรค์” เริ่มในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 และดูเหมือนว่าสิ้นสุดลงในช่วงกลางทศวรรษ 1930 เป็นส่วนใหญ่. (เฮ็บราย 3:1) จำนวนของคนที่ได้รับการประทับตราโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อเป็นส่วนของอิสราเอลฝ่ายวิญญาณคือ 144,000 คน ซึ่ง “ถูกซื้อจากท่ามกลางมนุษยชาติ.” (วิวรณ์ 7:4; 14:1-4, ล.ม.) คนเหล่านี้ได้รับบัพติสมาเข้าส่วนในพระกายฝ่ายวิญญาณของพระคริสต์, เข้าส่วนในประชาคมของพระองค์, และเข้าส่วนในความตายของพระองค์. (โรม 6:3; 1 โกรินโธ 12:12, 13, 27; เอเฟโซ 1:22, 23) หลังจากได้รับบัพติสมาในน้ำและได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พวกเขาเข้าสู่แนวทางแห่งการเสียสละ คือการดำเนินชีวิตที่ซื่อสัตย์มั่นคงจนกระทั่งสิ้นชีวิต.—โรม 6:4, 5.
7. เหตุใดเฉพาะคริสเตียนผู้ถูกเจิมเท่านั้นมีสิทธิ์รับเครื่องหมาย ณ การประชุมอนุสรณ์?
7 ในฐานะอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้อยู่ในสัญญาไมตรีใหม่ระหว่างพระยะโฮวากับ “ชาติอิสราเอลของพระเจ้า.” (ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.; ยิระมะยา 31:31-34) สัญญาไมตรีใหม่มีผลบังคับใช้โดยพระโลหิตที่หลั่งออกของพระคริสต์. พระเยซูตรัสถึงเรื่องนี้เมื่อทรงตั้งการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์. ลูกาบันทึกไว้ว่า “พระองค์จึงหยิบขนมปังขอบคุณและหักส่งให้แก่เขาทั้งหลายตรัสว่า, ‘นี่แหละเป็นกายของเรา ซึ่งได้ประทานให้สำหรับท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.’ เมื่อรับประทานแล้ว, จึงทรงหยิบจอกกระทำเหมือนกันตรัสว่า, ‘จอกนี้เป็นคำสัญญาใหม่โดยโลหิตของเราซึ่งจะเทไหลออกเพื่อท่านทั้งหลาย.’” (ลูกา 22:19, 20) ชนที่เหลือ ซึ่งก็ได้แก่สมาชิกแห่งชน 144,000 คนที่ยังคงเหลืออยู่บนแผ่นดินโลก คือคนที่มีสิทธิ์รับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นซึ่งเป็นเครื่องหมาย ณ การประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์.
8. ชนผู้ถูกเจิมทราบโดยวิธีใดว่าพวกเขาถูกเรียกจากสวรรค์?
8 ผู้ถูกเจิมทราบโดยวิธีใดว่า พวกเขาถูกเรียกจากสวรรค์? พวกเขามีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพยานที่ชัดเจนไม่อาจเข้าใจเป็นอื่นได้. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคนเหล่านี้ซึ่งได้รับการเรียกว่า “พระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำผู้ใด คนเหล่านั้นก็เป็นบุตรของพระเจ้า . . . พระวิญญาณเองเป็นพยานร่วมกับวิญญาณของเราว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้า. ดังนั้น ถ้าเราเป็นบุตรแล้ว เราก็เป็นทายาทด้วย: แท้จริง เป็นทายาทของพระเจ้า แต่เป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ หากแม้นเราทนทุกข์ร่วมกันเพื่อเราจะได้รับสง่าราศีร่วมกันอีกด้วย.” (โรม 8:14-17, ล.ม.) พระวิญญาณซึ่งเป็นพยานนั้นมีพลังอย่างยิ่งจนผู้ที่สงสัยแม้เพียงเล็กน้อยว่าเขาถูกเรียกจากสวรรค์ไหมสามารถลงความเห็นได้อย่างสมเหตุผลว่าเขาไม่ได้ถูกเรียก และด้วยเหตุนั้นเขาจะไม่รับเครื่องหมาย ณ การประชุมอนุสรณ์.
พระวิญญาณและแกะอื่น
9. มีการกล่าวถึงสองกลุ่มอะไรซึ่งแตกต่างกันชัดเจนในพระธรรมกิตติคุณและในพระธรรมวิวรณ์?
9 โดยคำนึงถึงว่าคริสเตียนที่ถูกเรียกให้ประกอบกันเป็นชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณนั้นมีจำนวนจำกัด พระเยซูตรัสถึงพวกเขาว่าเป็น “ฝูงเล็ก.” พวกเขาได้ถูกรับเข้าสู่ “คอก” แห่งสัญญาไมตรีใหม่ แตกต่างกับ “แกะอื่น” ซึ่งมีจำนวนที่ไม่อาจนับได้ ซึ่งพระเยซูตรัสว่าพระองค์ต้องรวบรวมด้วย. (ลูกา 12:32, ล.ม.; โยฮัน 10:16) คนเหล่านั้นที่เป็นแกะอื่นซึ่งถูกรวบรวมในเวลาอวสานจะประกอบกันเป็น “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” พร้อมกับมีความหวังจะมีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. น่าสนใจ นิมิตที่โยฮันได้รับตอนปลายศตวรรษแรกแห่งสากลศักราชแสดงความแตกต่างระหว่างชนฝูงใหญ่นี้กับสมาชิกของชาติอิสราเอลฝ่ายวิญญาณ 144,000 คน. (วิวรณ์ 7:4, 9, 14, ล.ม.) แกะอื่นได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยไหม และหากได้รับ พระวิญญาณนั้นก่อผลต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร?
10. แกะอื่นรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์” อย่างไร?
10 พระวิญญาณบริสุทธิ์มีบทบาทสำคัญในชีวิตของแกะอื่นจริง ๆ. พวกเขาแสดงเครื่องหมายแห่งการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาด้วยการรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์.” (มัดธาย 28:19) พวกเขายอมรับพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา, อ่อนน้อมอยู่ใต้อำนาจของพระคริสต์ในฐานะพระมหากษัตริย์และพระผู้ไถ่ของพวกเขา, และยอมรับการดำเนินกิจของพระวิญญาณหรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้าในชีวิตของตน. ในแต่ละวัน พวกเขาพยายามพัฒนา “ผลแห่งพระวิญญาณ” กล่าวคือ “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.”—ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.
11, 12. (ก) ผู้ถูกเจิมได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีพิเศษอย่างไร? (ข) แกะอื่นได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ในลักษณะใด?
11 แกะอื่นต้องยอมให้พระคำของพระเจ้าและพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ชำระพวกเขาให้สะอาด. ชนผู้ถูกเจิมได้รับการชำระให้สะอาดแล้วด้วยวิธีพิเศษ โดยได้รับการประกาศว่าชอบธรรมและบริสุทธิ์ในฐานะเจ้าสาวของพระคริสต์. (โยฮัน 17:17; 1 โกรินโธ 6:11; เอเฟโซ 5:23-27) ผู้พยากรณ์ดานิเอลกล่าวถึงพวกเขาว่าเป็น “เหล่าผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้าผู้สูงสุด” ซึ่งได้รับเอาราชอาณาจักรภายใต้การนำของ “บุตรของมนุษย์” คือพระคริสต์เยซู. (ดานิเอล 7:13, 14, 18, 27) ก่อนหน้านั้น พระยะโฮวาทรงประกาศแก่ชาติอิสราเอลโดยทางโมเซและอาโรนว่า “เราเป็นยะโฮวาพระเจ้าของท่านทั้งหลาย: ท่านทั้งหลายจงระวังตัวและเป็นคนบริสุทธิ์, เพราะเราเป็นบริสุทธิ์.”—เลวีติโก 11:44.
12 คำว่า “การทำให้บริสุทธิ์” โดยพื้นฐานแล้วหมายถึง “การทำหรือกระบวนการในการทำให้บริสุทธิ์, แยกออกมา, หรือกันไว้ต่างหากเพื่อการรับใช้หรือเพื่อให้พระยะโฮวาพระเจ้าทรงใช้; สภาพที่บริสุทธิ์, ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์.” วารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1938 ว่าชนจำพวกโยนาดาบ ซึ่งหมายถึงแกะอื่น “ต้องเรียนรู้ว่าการถวายตัว [การอุทิศตัว] และการทำให้บริสุทธิ์เป็นข้อเรียกร้องสำหรับทุกคนที่จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมหาชนหมู่ใหญ่และได้อยู่บนแผ่นดินโลก.” ในนิมิตเกี่ยวกับชนฝูงใหญ่ ซึ่งบันทึกไว้ในพระธรรมวิวรณ์ ได้มีการกล่าวถึงพวกเขาว่า “ได้ชำระเสื้อยาวของเขาและทำให้ขาวในพระโลหิตของพระเมษโปดก” และถวาย ‘การรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวาทั้งวันทั้งคืนในพระวิหารของพระองค์.’ (วิวรณ์ 7:9, 14, 15, ล.ม.) ด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ แกะอื่นพยายามสุดความสามารถเพื่อจะบรรลุมาตรฐานที่พระยะโฮวาทรงเรียกร้องเกี่ยวกับความบริสุทธิ์.—2 โกรินโธ 7:1.
ทำดีต่อพี่น้องของพระคริสต์
13, 14. (ก) ตามอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องแกะและแพะ ความรอดของแกะขึ้นอยู่กับอะไร? (ข) ในเวลาอวสานนี้ แกะอื่นได้ทำดีอย่างไรต่อพี่น้องของพระคริสต์?
13 พระเยซูทรงเน้นสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างแกะอื่นกับฝูงเล็กในอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ ซึ่งรวมอยู่ในคำพยากรณ์ของพระองค์เกี่ยวกับ “ช่วงอวสานของระบบนี้.” ในคำอุปมานั้น พระคริสต์ทรงแสดงอย่างชัดเจนว่าความรอดของแกะอื่นเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับการปฏิบัติของพวกเขาต่อเหล่าผู้ถูกเจิมซึ่งพระองค์ทรงเรียกว่า ‘พี่น้องของเรา.’ พระองค์ตรัสว่า “กษัตริย์จะตรัสแก่พวกเหล่านั้นทางเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์ว่า ‘มาเถิด เจ้าทั้งหลาย ซึ่งได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา จงมารับราชอาณาจักรเป็นมรดกซึ่งตระเตรียมไว้สำหรับพวกเจ้าตั้งแต่การวางรากฐานโลก . . . . แท้จริงเราบอกเจ้าทั้งหลายว่า สิ่งที่เจ้าได้ทำต่อผู้เล็กน้อยที่สุดในพี่น้องเหล่านี้ของเรา ก็เท่ากับเจ้าได้ทำต่อเรา.’”—มัดธาย 24:3, ล.ม.; 25:31-34, 40, ล.ม.
14 วลีที่ว่า “สิ่งที่เจ้าได้ทำ” หมายถึงการสนับสนุนด้วยความรักที่ให้แก่เหล่าพี่น้องผู้ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณของพระคริสต์ ซึ่งโลกของซาตานได้ปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นคนแปลกหน้า และถึงกับจับพวกเขาบางคนขังคุก. พวกเขาประสบกับความอดอยาก, ขาดแคลนเสื้อผ้า, และขาดการดูแลสุขภาพ. (มัดธาย 25:35, 36) ในเวลาอวสานนี้ นับตั้งแต่ปี 1914 ผู้ถูกเจิมหลายคนได้ประสบกับสภาพการณ์ดังกล่าว. ประวัติบันทึกในสมัยปัจจุบันของพยานพระยะโฮวาพิสูจน์ว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจากแกะอื่น สหายผู้ภักดี ตามที่คนเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นจากพระวิญญาณ.
15, 16. (ก) กิจกรรมอะไรที่แกะอื่นได้มีส่วนช่วยเป็นพิเศษแก่พี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ที่อยู่บนแผ่นดินโลก? (ข) ชนผู้ถูกเจิมได้แสดงความหยั่งรู้ค่าต่อแกะอื่นอย่างไร?
15 พี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกในเวลาอวสานนี้ได้รับการค้ำจุนอย่างขันแข็งเป็นพิเศษจากแกะอื่นในการทำหน้าที่มอบหมายที่พระเจ้าประทานเพื่อ ‘ประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรนี้ไปทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ.’ (มัดธาย 24:14, ล.ม.; โยฮัน 14:12) ขณะที่จำนวนผู้ถูกเจิมบนแผ่นดินโลกได้ลดน้อยลงไปตลอดหลายปีมานี้ จำนวนของแกะอื่นได้เพิ่มทวีขึ้นจนมีหลายล้านคน. จากจำนวนดังกล่าว หลายแสนคนรับใช้เป็นผู้เผยแพร่กิตติคุณเต็มเวลา ในฐานะไพโอเนียร์และมิชชันนารี เผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไป “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8) ส่วนคนอื่น ๆ ก็ร่วมในงานให้คำพยานมากเท่าที่พวกเขาจะทำได้และสนับสนุนงานสำคัญนี้ในทางการเงินด้วยความยินดี.
16 พี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์หยั่งรู้ค่าจริง ๆ สำหรับการสนับสนุนด้วยความภักดีจากแกะอื่นสหายของพวกเขา! ความรู้สึกของพวกเขาสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในหนังสือความปลอดภัยทั่วโลกภายใต้ “องค์สันติราช” (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งจัดเตรียมขึ้นในปี 1986 โดยชนจำพวกทาส. หนังสือนี้กล่าวว่า “นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ความสำเร็จเป็นจริงแห่งคำพยากรณ์ของพระเยซูสำหรับ ‘ช่วงอวสานของระบบนี้’ ส่วนใหญ่เนื่องมาจากบทบาทการทำงานของ ‘ชนฝูงใหญ่’ แห่ง ‘แกะอื่น’ . . . . ด้วยเหตุนั้น เรารู้สึกขอบคุณ ‘ชนฝูงใหญ่’ อย่างยิ่งซึ่งอยู่ในชาติต่าง ๆ ภาษาต่าง ๆ สำหรับส่วนมากมายเหลือล้นที่พวกเขาได้ทำในการทำให้สำเร็จตามคำพยากรณ์ [ของพระเยซู] ที่มัดธาย 24:14!”
“ไม่ถูกทำให้สมบูรณ์โดยปราศจากพวกเรา”
17. ผู้ซื่อสัตย์ในสมัยโบราณซึ่งจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายบนแผ่นดินโลก “จะไม่ถูกทำให้สมบูรณ์โดยปราศจาก” ผู้ถูกเจิมอย่างไร?
17 ในฐานะผู้ถูกเจิมคนหนึ่งและโดยที่กล่าวถึงชายหญิงผู้ซื่อสัตย์ที่มีชีวิตก่อนสมัยพระคริสต์ อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “แม้ว่ามีคำพยานกล่าวถึงความเชื่อของพวกเขา ถึงกระนั้น เขาเหล่านี้ไม่ได้รับตามคำสัญญา เพราะพระเจ้าทรงเห็นล่วงหน้าถึงสิ่งที่ดีกว่าสำหรับเรา [เหล่าผู้ถูกเจิม] เพื่อว่าพวกเขาจะไม่ถูกทำให้สมบูรณ์โดยปราศจากพวกเรา.” (เฮ็บราย 11:35, 39, 40, ล.ม.) ในช่วงรัชสมัยพันปี พระคริสต์และพวกพี่น้องที่ถูกเจิมของพระองค์ 144,000 คนที่อยู่ในสวรรค์จะทำหน้าที่เป็นกษัตริย์และปุโรหิตและกระจายผลประโยชน์แห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์บนแผ่นดินโลก. โดยวิธีนี้ แกะอื่นจะ “ถูกทำให้สมบูรณ์” ทั้งทางร่างกายและจิตใจ.—วิวรณ์ 22:1, 2.
18. (ก) ข้อเท็จจริงในคัมภีร์ไบเบิลน่าจะช่วยแกะอื่นให้หยั่งรู้ค่าอะไร? (ข) แกะอื่นคอยท่า “ให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ” โดยมีความหวังเช่นไร?
18 ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้แกะอื่นเข้าใจเหตุผลที่พระคัมภีร์ภาคภาษากรีกเน้นอย่างมากในเรื่องพระคริสต์และเหล่าพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระองค์ รวมทั้งบทบาทสำคัญของบุคคลเหล่านี้ในการทำให้พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ. ด้วยเหตุนั้น แกะอื่นจึงถือเป็นสิทธิพิเศษที่จะสนับสนุนชนจำพวกทาสที่ได้รับการเจิมในทุกวิถีทางเท่าที่เป็นไปได้ในขณะที่คอยท่า “ให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ” ณ อาร์มาเก็ดดอนและในช่วงรัชสมัยพันปี. พวกเขาสามารถตั้งตาคอยที่จะ “รอดจากอำนาจแห่งความเสื่อมเสียและจะเข้าในสง่าราศีแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.”—โรม 8:19-21.
เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการประชุมอนุสรณ์
19. “พระวิญญาณแห่งความจริง” ได้ทำอะไรเพื่อชนผู้ถูกเจิมและสหายของพวกเขา และพวกเขาจะร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นพิเศษอย่างไรในค่ำวันที่ 28 มีนาคม?
19 ในคำอธิษฐานปิดเมื่อคืนวันที่ 14 เดือนไนซานปีสากลศักราช 33 พระเยซูตรัสว่า “ข้าพเจ้าทูลขอ . . . เพื่อเขาทุกคนจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์คือพระบิดาร่วมสามัคคีกับข้าพเจ้า และข้าพเจ้าร่วมสามัคคีกับพระองค์ เพื่อเขาจะได้ร่วมสามัคคีกับพระองค์และข้าพเจ้าด้วย เพื่อโลกจะเชื่อว่าพระองค์ได้ทรงใช้ข้าพเจ้ามา.” (โยฮัน 17:20, 21, ล.ม.) ด้วยความรัก พระเจ้าทรงส่งพระบุตรให้ประทานชีวิตเพื่อความรอดของผู้ถูกเจิมและโลกแห่งมนุษยชาติที่เชื่อฟัง. (1 โยฮัน 2:2) “พระวิญญาณแห่งความจริง” ได้ทำให้เหล่าพี่น้องของพระคริสต์กับสหายของพวกเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. ในค่ำวันที่ 28 มีนาคมนี้ หลังดวงอาทิตย์ตก ชนทั้งสองจำพวกจะประชุมด้วยกันเพื่อรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์และระลึกถึงทุกสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงทำเพื่อพวกเขาโดยทางค่าไถ่ของพระบุตรผู้เป็นที่รัก พระคริสต์เยซู. ขอให้การเข้าร่วมในโอกาสสำคัญนี้เสริมสร้างเอกภาพของพวกเขาและฟื้นความตั้งใจอันแน่วแน่ของพวกเขาที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเรื่อยไป และโดยการทำอย่างนั้นจึงให้หลักฐานว่าพวกเขาชื่นชมยินดีอยู่ในหมู่คนที่พระยะโฮวาทรงรัก.
เพื่อเป็นการทบทวน
• “พระวิญญาณแห่งความจริง” ถูกส่งให้แก่คริสเตียนในยุคแรกเมื่อไร และพระวิญญาณนั้นปรากฏว่าเป็น “ผู้ช่วย” อย่างไร?
• ชนผู้ถูกเจิมทราบโดยวิธีใดว่าพวกเขาถูกเรียกจากสวรรค์?
• พระวิญญาณของพระเจ้าดำเนินกิจในชีวิตของแกะอื่นในทางใดบ้าง?
• แกะอื่นได้ทำดีต่อพี่น้องของพระคริสต์อย่างไร และเหตุใดพวกเขาจะ “ไม่ถูกทำให้สมบูรณ์โดยปราศจาก” ชนผู้ถูกเจิม?
[ภาพหน้า 21]
“พระวิญญาณแห่งความจริง” ได้หลั่งบนเหล่าสาวกในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33
[ภาพหน้า 23]
แกะอื่นได้ทำดีต่อเหล่าพี่น้องของพระคริสต์โดยการสนับสนุนพวกเขาในงานประกาศซึ่งได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้สำเร็จ