จงสำแดงความเชื่อที่อาศัยความจริงเป็นหลัก
“ถ้าไม่มีความเชื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าไม่ได้เลย เพราะว่าผู้ที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ดำรงพระชนม์อยู่ และพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่คนเหล่านั้นที่แสวงหาพระองค์อย่างตั้งใจจริง.”—เฮ็บราย 11:6, ล.ม.
1, 2. ความเชื่อของอาดามได้รับการทดลองอย่างไร แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร?
ความเชื่อไม่เพียงแต่เรียกร้องให้เชื่อว่าพระเจ้าทรงเป็นอยู่. อาดามมนุษย์คนแรกไม่สงสัยการดำรงอยู่ของพระเจ้ายะโฮวา. พระเจ้าได้ติดต่อสื่อความกับอาดาม คงผ่านทางพระวาทะ พระบุตรของพระองค์. (โยฮัน 1:1-3, ล.ม.; โกโลซาย 1:15-17) ถึงกระนั้น อาดามได้สูญเสียโอกาสที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์ เพราะเขามิได้เชื่อฟังพระยะโฮวาและไม่สำแดงความเชื่อในพระองค์.
2 ความสุขซึ่งอาดามน่าจะมีในเวลาต่อมาก็ตกอยู่ในสภาพอันตรายเมื่อฮาวาภรรยาของเขาไม่ได้เชื่อฟังพระยะโฮวา. เพียงความคิดที่ว่าตนจะเสียภรรยา มนุษย์คนแรกก็เผชิญการทดลองความเชื่อ! พระเจ้าจะทรงแก้ปัญหานี้ได้ไหมในทางที่ทำให้อาดามแน่ใจว่าจะได้รับความสุขและสวัสดิภาพต่อ ๆ ไป? โดยการร่วมกับฮาวาทำผิด อาดามแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้คิดเช่นนั้น. เขาคิดจะแก้ปัญหาด้วยวิธีของเขาเอง แทนที่จะตั้งใจแสวงการชี้นำจากพระเจ้า. เพราะไม่แสดงความเชื่อในพระยะโฮวา อาดามจึงนำความตายมาสู่ตัวเขาเองและถึงลูกหลานของเขาสิ้นทุกคน.—โรม 5:12.
ความเชื่อคืออะไร?
3. คำจำกัดความของคัมภีร์ไบเบิลว่าด้วยความเชื่อต่างกันอย่างไรจากพจนานุกรมฉบับหนึ่ง?
3 พจนานุกรมเล่มหนึ่งนิยามคำความเชื่อไว้ดังนี้: “ความถือมั่นในบางสิ่งซึ่งสิ่งนั้นไม่มีข้อพิสูจน์.” แต่แทนที่จะสนับสนุนความคิดเห็นเช่นนั้น พระคัมภีร์เน้นความหมายในทางตรงกันข้าม. ความเชื่ออาศัยข้อเท็จจริง, สภาพที่เป็นจริง, ความจริงเป็นหลัก. พระคัมภีร์แจ้งดังนี้: “ความเชื่อคือความคาดหมายที่แน่นอนในสิ่งซึ่งหวังไว้ เป็นการแสดงออกเด่นชัดถึงสิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.” (เฮ็บราย 11:1, ล.ม.) คนมีความเชื่อได้รับคำรับรองว่าทุกสิ่งซึ่งพระเจ้าได้ทรงสัญญาย่อมสำเร็จเป็นจริง. หลักฐานเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นจริงที่ไม่ได้เห็นกับตานั้นหนักแน่นถึงขนาด จึงถือกันว่าความเชื่อเทียบเท่ากับหลักฐานนั้นทีเดียว.
4. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งสนับสนุนคำจำกัดความว่าด้วยความเชื่อตามหลักคัมภีร์อย่างไร?
4 ในคัมภีร์นิว เวิลด์ แทรนสเลชัน รูปที่ก่อเหตุของคำกริยา อมันʹในภาษาฮีบรูนั้นบางครั้งได้รับการแปลว่า “การสำแดงความเชื่อ.” ตามที่กล่าวในหนังสือ เธโอโลจิคัล เวิร์ด บุ๊ค อ็อฟ ดิ โอลด์ เทสตาเมนต์ “แก่นแท้ของความหมายตามรากศัพท์คือความคิดเห็นแสดงความแน่นอน . . . ต่างไปจากความเข้าใจในปัจจุบันที่ว่า ความเชื่อคือสิ่งซึ่งเป็นไปได้ หวังว่าเป็นจริงแต่ไม่แน่ใจ.” หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังอ้างว่า “คำ อาเมน หรือ ‘แท้จริง’ ที่แผลงมาจากคำนี้ถูกนำมาใช้ในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้ว่า ‘อาเมน.’ พระเยซูใช้คำนี้บ่อย (มัดธาย 5:18, 26, ฯ ลฯ) เพื่อเน้นความแน่นอนของเรื่อง.” เช่นเดียวกัน คำที่ได้รับการแปลว่า “ความเชื่อ” ในคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกหมายถึงความมั่นใจในบางสิ่งที่อาศัยข้อเท็จจริงหรือความจริงเป็นหลัก.
5. คำภาษากรีกที่ได้รับการแปล “ความคาดหมายที่แน่นอน” ในเฮ็บราย 11:1 นั้นถูกนำมาใช้ในเอกสารทางธุรกิจสมัยโบราณอย่างไร และเรื่องนี้มีความหมายเช่นไรสำหรับคริสเตียน?
5 คำภาษากรีก (ฮิโปʹสตาซิส) ซึ่งได้รับการแปล “ความคาดหมายที่แน่นอน” ในเฮ็บราย 11:1 นั้นซึ่งโดยทั่วไปพบได้ในแผ่นพาไพรัสอันเป็นเอกสารทางธุรกิจสมัยโบราณเพื่อถ่ายทอดความคิดเห็นเกี่ยวกับบางเรื่องซึ่งค้ำประกันการเป็นเจ้าของในวันข้างหน้า. ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาคือ มูลทันและมิลลิแกนเสนอคำแปลอย่างนี้: “ความเชื่อเป็นเสมือนโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ ของสิ่งต่าง ๆ ที่หวังไว้.” (คำศัพท์ของพันธสัญญาใหม่) เห็นได้ชัดว่า ถ้าคนเราถือโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เขาก็ย่อมมี “ความคาดหมายที่แน่นอน” ว่าวันหนึ่งข้างหน้าความหวังของเขาที่จะได้ครองสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะสำเร็จสมจริง.
6. อะไรคือความหมายของถ้อยคำภาษากรีกที่เฮ็บราย 11:1 ซึ่งได้รับการแปล “การแสดงออกอย่างเด่นชัด”?
6 ที่พระธรรมเฮ็บราย 11:1 คำกรีก (อิʹเลกโคส) ที่นำมาแปลว่า “การแสดงออกอย่างเด่นชัด” นั้น ชวนให้คิดเรื่องเสนอหลักฐานเพื่อแสดงให้เห็นอะไรบางสิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสิ่งนั้น ๆ ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ดูเหมือนปรากฏให้เห็น. หลักฐานที่เป็นจริงหรือที่หนักแน่นทำให้สิ่งซึ่งก่อนหน้านี้ผ่านไปโดยไม่ทันสังเกตกระจ่างชัด โดยเหตุนั้น จึงเป็นการหักล้างสิ่งซึ่งดูเหมือนว่าเป็นจริงนั้น. ดังนั้น ทั้งในคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและภาคภาษากรีก ความเชื่อจึงหาใช่ “การถือมั่นในบางสิ่งซึ่งสิ่งนั้นไม่มีข้อพิสูจน์.” ตรงกันข้าม ความเชื่ออาศัยความจริงเป็นหลัก.
อาศัยความจริงขั้นพื้นฐานเป็นหลัก
7. เปาโลและดาวิดพรรณนาอย่างไรถึงคนที่ปฏิเสธสภาพการดำรงอยู่ของพระเจ้า?
7 อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงความจริงพื้นฐานข้อหนึ่งเมื่อท่านเขียนว่า “คุณลักษณะ [ของพระผู้สร้าง] อันไม่ประจักษ์แก่ตาก็เห็นได้ชัดตั้งแต่การสร้างโลกเป็นต้นมา เพราะว่าคุณลักษณะเหล่านั้นเป็นที่เข้าใจได้โดยสิ่งทั้งปวงที่ถูกสร้างขึ้น กระทั่งฤทธานุภาพอันถาวรและความเป็นพระเจ้าของพระองค์นั้น เหตุฉะนั้น เขา [ผู้ต่อต้านความจริง] จึงไม่มีข้อที่จะแก้ตัวได้.” (โรม 1:20, ล.ม.) ถูกแล้ว “ฟ้าสวรรค์สำแดงพระรัศมีของพระเจ้า” และ “แผ่นดินโลกเต็มบริบูรณ์ไปด้วยทรัพย์อันมั่งคั่งของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 19:1; 104:24) แต่ถ้าผู้คนไม่เต็มใจจะพิจารณาหลักฐานล่ะ? ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญตรัสว่า “คนชั่วเพราะใจอหังการนึกว่าพระองค์ไม่ทรงแก้แค้น เขาเคยคิดนึกเสมอว่า ‘พระเจ้าไม่มี.’” (บทเพลงสรรเสริญ 10:4; 14:1) ในส่วนหนึ่งแล้ว ความเชื่ออาศัยความจริงพื้นฐานที่ว่าพระเจ้าทรงดำรงสภาพอยู่จริง.
8. คนเหล่านั้นที่สำแดงความเชื่อมีความมั่นใจและสามารถสังเกตเข้าใจอะไร?
8 พระยะโฮวามิใช่เพียงแต่ทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ยังเป็นที่เชื่อถือวางใจได้ และเราสามารถจะเชื่อมั่นในคำสัญญาของพระองค์ได้ด้วย. พระองค์ตรัสว่า “แท้จริงเราได้กะโครงการไว้อย่างไร ก็จะเป็นไปดังนั้น และเราได้กำหนดการอย่างไร ก็จะเกิดขึ้นอย่างนั้น.” (ยะซายา 14:24; 46:9, 10) ถ้อยแถลงนี้มิใช่ว่าไร้ความหมาย. มีข้อพิสูจน์ยืนยันว่าคำพยากรณ์ในพระวจนะของพระเจ้าได้สำเร็จสมจริงไปแล้วหลายร้อยข้อ. ด้วยความเข้าใจกระจ่างเช่นนี้ ผู้ที่สำแดงความเชื่อก็สามารถสังเกตเข้าใจได้ว่าคำพยากรณ์อีกหลายเรื่องในพระคัมภีร์กำลังจะสำเร็จสมจริงเช่นเดียวกัน. (เอเฟโซ 1:18) อาทิ พวกเขากำลังมองเห็น “สัญลักษณ์” การประทับของพระเยซูสำเร็จสมจริง รวมทั้งการประกาศที่เร่งทวีเรื่องราชอาณาจักรที่รับการสถาปนาแล้วนั้น และการแผ่ขยายการนมัสการแท้ซึ่งบอกไว้ล่วงหน้า. (มัดธาย 24:3-14; ยะซายา 2:2-4; 60:8, 22) พวกเขาทราบดีว่าในไม่ช้าชาติต่าง ๆ จะประกาศ “สันติภาพและความปลอดภัย!” แล้วไม่นานหลังจากนั้นพระเจ้าจะ “ทำลายคนเหล่านั้นที่ทำลายแผ่นดินโลก.” (1 เธซะโลนิเก 5:3; วิวรณ์ 11:18, ล.ม.) ช่างเป็นพระพรอะไรเช่นนั้นที่เรามีความเชื่อซึ่งยึดสัจธรรมเชิงพยากรณ์เป็นหลัก!
ผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
9. มีความสัมพันธ์กันอย่างไรระหว่างความเชื่อกับพระวิญญาณบริสุทธิ์?
9 ความจริงซึ่งความเชื่ออาศัยเป็นหลักพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเป็นผลงานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. (2 ซามูเอล 23:2; ซะคาระยา 7:12; มาระโก 12:36) ฉะนั้น ตามเหตุผลแล้ว ความเชื่อไม่อาจอยู่ต่างหากจากการดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์. ด้วยเหตุนี้ เปาโลได้เขียนว่า “ผลแห่งพระวิญญาณ [มี] . . . ความเชื่อ [รวมอยู่ด้วย].” (ฆะลาเตีย 5:22 ล.ม.) แต่หลายคนปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับพระเจ้า ยอมให้ชีวิตของเขาเปื้อนเปรอะด้วยราคะตัณหาและแง่คิดของเนื้อหนังอันเป็นเหตุให้พระวิญญาณของพระเจ้าเสียพระทัย. ดังนั้น “ที่เชื่อนั้นไม่ใช่ทุกคน” เนื่องจากเขาไม่มีพื้นฐานเพื่อการพัฒนาให้เกิดความเชื่อ.—2 เธซะโลนิเก 3:2; ฆะลาเตีย 5:16-21; เอเฟโซ 4:30.
10. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสมัยต้น ๆ บางคนแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขามีความเชื่อ?
10 อย่างไรก็ดี มีบางคนจากท่ามกลางลูกหลานของอาดามได้แสดงความเชื่อ. พระธรรมเฮ็บรายบท 11 เอ่ยชื่อ เฮเบล, ฮะโนค, โนฮา, อับราฮาม, ซารา, ยิศฮาค, ยาโคบ, โยเซฟ, โมเซ, ราฮาบ, ฆิดโอน, บาราค, ซิมโซน, ยิพธา, ดาวิด และซามูเอล, พร้อมกับผู้รับใช้ของพระยะโฮวาอีกมากมายซึ่งไม่มีชื่อปรากฏ ซึ่ง “มีพยานว่าเขาเป็นคนชอบธรรมเพราะความเชื่อ.” โปรดสังเกตสิ่งที่เขากระทำ “โดยความเชื่อ.” โดยความเชื่อ เฮเบล ‘นำ เครื่องบูชามาถวาย แด่พระเจ้า’ และโนฮา “จัดแจงต่อ นาวา.” โดยความเชื่อ อับราฮาม “ได้เชื่อฟัง และออกไปถึงตำบลที่จะได้รับเป็นมรดก.” และโดยความเชื่อ โมเซ “ได้ละทิ้ง ประเทศอายฆุปโต.”—เฮ็บราย 11:4, 7, 8, 27, 29, 39.
11. กิจการ 5:32 บ่งชี้สิ่งใดเกี่ยวกับบางคนที่เชื่อฟังพระเจ้า?
11 ปรากฏชัดว่า บรรดาคนเหล่านั้นซึ่งเป็นผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทำมากยิ่งกว่าเพียงเชื่อในสภาพการดำรงคงอยู่ของพระเจ้า. ด้วยการสำแดงความเชื่อ พวกเขาวางใจในพระองค์ในฐานะ “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) พวกเขาได้กระทำตามที่พระวิญญาณของพระเจ้าชี้นำให้เขากระทำ เขาประพฤติตามความรู้ถ่องแท้เกี่ยวด้วยความจริงเท่าที่เขาพบได้ในสมัยนั้น แม้รู้อย่างจำกัด. นับว่าแตกต่างจากอาดามสักเพียงใด! เขาหาได้ปฏิบัติด้วยความเชื่อที่ยึดความจริงเป็นหลัก หรือปฏิบัติสอดคล้องกับการชี้นำแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่. พระเจ้าประทานพระวิญญาณของพระองค์เฉพาะแก่คนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์.—กิจการ 5:32.
12. (ก) เฮเบลมีความเชื่อในสิ่งใด และเขาแสดงให้เห็นเรื่องนี้อย่างไร? (ข) แม้ว่าพยานของพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียนมีความเชื่อ แต่พวกเขายังไม่ได้รับสิ่งใด?
12 ไม่เหมือนอาดามผู้เป็นบิดา เฮเบลผู้ชอบธรรมมีความเชื่อ. ปรากฏว่า จากบิดามารดาของเขา เฮเบลได้ทราบคำพยากรณ์แรกสุดที่ว่า “เรา [พระเจ้ายะโฮวา] จะบันดาลให้เจ้ากับหญิงนี้และเผ่าพันธุ์ของเจ้ากับเผ่าพันธุ์ของหญิงเป็นศัตรูกัน. เผ่าพันธุ์ของหญิงจะทำให้หัวของเจ้าฟกช้ำและเจ้าจะทำให้ส้นเท้าของเขาฟกช้ำ.” (เยเนซิศ 3:15) ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าทรงสัญญาจะทำลายความชั่วและกู้ความชอบธรรมกลับคืนมาอีก. คำสัญญานี้จะสำเร็จสมจริงโดยวิธีใดนั้นเฮเบลไม่รู้. แต่ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้ประทานบำเหน็จแก่คนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์นั้นมีพลังมากถึงกับกระตุ้นเฮเบลให้ถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้า. เฮเบลคงครุ่นคิดจริงจังถึงคำพยากรณ์ข้อนั้นและเชื่อว่าการหลั่งโลหิตเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อบรรลุผลตามคำสัญญา และยกระดับมนุษยชาติกระทั่งถึงความสมบูรณ์. ฉะนั้น การที่เฮเบลถวายสัตว์เป็นเครื่องบูชาจึงเหมาะสม. ถึงแม้เขามีความเชื่อก็ตาม เฮเบลและเหล่าพยานพระยะโฮวาก่อนยุคคริสเตียน ‘ยังไม่ได้รับตามที่ทรงสัญญาไว้.’—เฮ็บราย 11:39.
การปรับปรุงความเชื่อให้สมบูรณ์พร้อม
13. (ก) อับราฮามและดาวิดเรียนรู้อะไรเกี่ยวด้วยความสมจริงแห่งคำสัญญา? (ข) ทำไมจึงกล่าวได้ว่า “ความจริงนั้นมาทางพระเยซูคริสต์”?
13 ตลอดศตวรรษต่าง ๆ มีเป็นช่วง ๆ ซึ่งพระยะโฮวาทรงเปิดเผยสัจธรรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่คำสัญญาว่าด้วย ‘พงศ์พันธุ์ของหญิง’ จะสำเร็จสมจริง. พระเจ้าตรัสกับอับราฮามดังนี้: “โดยทางพงศ์พันธุ์ของเจ้า ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่.” (เยเนซิศ 22:18, ล.ม.) ต่อมา กษัตริย์ดาวิดได้รับทราบว่าพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาจะมาทางเชื้อวงศ์ของท่าน. ครั้นถึงปีสากลศักราช 29 พงศ์พันธุ์นั้นก็ปรากฏคือพระเยซูคริสต์. (บทเพลงสรรเสริญ 89:3, 4; มัดธาย 1:1; 3:16, 17) ตรงกันข้ามกับอาดามที่ไม่มีความเชื่อ พระเยซูคริสต์ “อาดามคนสุดท้าย” นับว่าเป็นบุคคลตัวอย่างในการแสดงความเชื่อ. (1 โกรินโธ 15:45) พระองค์ทรงดำเนินชีวิตรับใช้พระยะโฮวาด้วยความเลื่อมใสและกระทำให้คำพยากรณ์มากมายที่กล่าวถึงมาซีฮาสำเร็จเป็นจริงทั้งสิ้น. ด้วยเหตุนี้ พระเยซูทรงกระทำให้ความจริงเกี่ยวกับพงศ์พันธุ์ตามคำสัญญานั้นกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น และทรงจัดสิ่งต่าง ๆ ซึ่งบัญญัติของโมเซเป็นภาพเล็งถึงนั้นสำเร็จสมจริงทุกประการ. (โกโลซาย 2:16, 17) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า “ความจริงนั้นมาทางพระเยซูคริสต์.”—โยฮัน 1:17, ล.ม.
14. เปาโลได้ชี้แจงอย่างไรแก่ชาวฆะลาเตียว่าความเชื่อเปลี่ยนมิติใหม่ไปแล้ว?
14 บัดนี้ ครั้นความจริงได้มาโดยทางพระเยซูคริสต์ พื้นฐานสำหรับก่อความเชื่อใน “คำสัญญา” จึงขยายกว้างขึ้น. ความเชื่อได้รับการเสริมให้มั่นคงยิ่งขึ้นเสมือนมองเห็นกว้างไกลมากขึ้น. ในเรื่องนี้เปาโลได้บอกแก่เพื่อนคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “แต่พระคัมภีร์ได้บ่งว่าทุกคนอยู่ในความบาป เพื่อจะประทานตามพระสัญญาแก่คนทั้งปวงที่เชื่อโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสต์เป็นหลัก. ก่อนที่ความเชื่อมานั้น เราถูกธรรมบัญญัติกักตัวไว้ ถูกกั้นเขตไว้จนความเชื่อจะปรากฏ. เพราะฉะนั้น ธรรมบัญญัติจึงควบคุมเราไว้จนพระคริสต์เสด็จมา เพื่อเราจะได้เป็นคนชอบธรรมโดยความเชื่อ. แต่บัดนี้ความเชื่อได้มาแล้ว เราจึงมิได้อยู่ใต้บังคับของผู้ควบคุมอีกต่อไปแล้ว. เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้าร่วมในพระเยซูคริสต์โดยความเชื่อ.”—ฆะลาเตีย 3:22-26, ฉบับแปลใหม่.
15. ความเชื่อจะได้รับการปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นโดยวิธีใด?
15 ชาวยิศราเอลได้แสดงความเชื่อในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงกระทำต่อพวกเขาโดยทางพระบัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรี. มาบัดนี้ความเชื่อของพวกเขาจึงต้องได้ขยายวงกว้างออกไป. โดยวิธีใด? โดยการแสดงความเชื่อในพระเยซูผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณซึ่งพระบัญญัติออกมาก็เพื่อนำเขามาถึงพระองค์. โดยวิธีนี้เท่านั้นความเชื่อของคนเหล่านั้นก่อนยุคคริสเตียนจะได้รับการปรับปรุงให้สมบูรณ์พร้อม. สำคัญเพียงไรสำหรับคริสเตียนรุ่นแรกจะ ‘หมายเอาพระเยซูเป็นผู้นำและเป็นผู้ปรับปรุง ความเชื่อของเขาให้สมบูรณ์พร้อม’! (เฮ็บราย 12:2) จริง ๆ แล้ว คริสเตียนทุกคนจำต้องทำเช่นนั้น.
16. โดยวิธีใดพระวิญญาณบริสุทธิ์หลั่งลงมามากกว่าแต่ก่อน และเพราะเหตุใด?
16 เมื่อคำนึงถึงความรู้เรื่องสัจธรรมของพระเจ้าที่ได้เพิ่มพูนขึ้นและมีผลเป็นความเชื่อที่ปรับปรุงสมบูรณ์ขึ้นแล้วเช่นนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์จะได้หลั่งลงมามากกว่าก่อน ๆ? แน่นอน. ในวันเพ็นเตคอสเตปีสากลศักราช 33 พระวิญญาณของพระเจ้า ผู้ช่วยซึ่งพระเยซูสัญญาไว้ก็ไหลหลั่งลงมาสู่สาวกทั้งหลายของพระองค์. (โยฮัน 14:26; กิจการ 2:1-4) ครั้นแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ดำเนินกิจภายในตัวของเขาด้วยวิธีการแบบใหม่อย่างไม่เคยประสบมาก่อนในฐานะน้องชายผู้ถูกเจิมของพระคริสต์. ความเชื่อของเขาซึ่งเป็นผลแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงได้รับการเสริมให้มั่นคง. ทั้งนี้เตรียมพวกเขาไว้พร้อมสำหรับงานใหญ่ที่มีอยู่เบื้องหน้าคือการสอนคนให้เข้ามาเป็นสาวก.—มัดธาย 28:19, 20.
17. (ก) ความจริงมาถึงแล้วอย่างไร และความเชื่อได้รับการปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างไรตั้งแต่ปี 1914? (ข) เรามีหลักฐานอะไรแสดงว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ดำเนินกิจมาตั้งแต่ปี 1919?
17 ความเชื่อได้มาถึงในคราวที่พระเยซูเสนอตัวรับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์เมื่อหนึ่งพันเก้าร้อยกว่าปีมาแล้ว. แต่มาบัดนี้เมื่อพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ปกครองอยู่ทางภาคสวรรค์ พื้นฐานของเราสำหรับความเชื่อ—สัจธรรมซึ่งได้เปิดเผยแล้ว—เพิ่มทวีมากขึ้น ฉะนั้น จึงปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ขึ้น. ทำนองเดียวกัน การดำเนินกิจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น. มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปี 1919 เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เพิ่มพลังชีวิตให้แก่ผู้รับใช้ที่ได้อุทิศตัวต่อพระเจ้าจากสภาพอันย่ำแย่แทบไม่ทำอะไร. (ยะเอศเคล 37:1-14; วิวรณ์ 11:7-12) ต่อจากนั้น ได้มีการวางรากอุทยานฝ่ายวิญญาณ ซึ่งหลายสิบปีต่อมาก็ยิ่งประจักษ์แจ้งและรุ่งโรจน์มากขึ้นปีแล้วปีเล่า. จะมีข้อพิสูจน์มากกว่านี้ได้ไหมถึงการดำเนินงานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า?
ทำไมจึงวิเคราะห์ความเชื่อของเรา?
18. คนสอดแนมชาวยิศราเอลต่างกันอย่างไรในเรื่องความเชื่อ?
18 ไม่นานหลังจากชนชาติยิศราเอลได้รับการช่วยจนหลุดจากสภาพทาสในอียิปต์แล้วได้มีการจัดส่งผู้ชาย 12 คนไปสอดแนมในเมืองคะนาอัน. แต่สิบคนในจำนวนนั้นขาดความเชื่อ ไม่มั่นใจในพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่จะบรรลุผลตามที่ทรงสัญญาว่าจะมอบแผ่นดินนั้นแก่ชาติยิศราเอล. คนเหล่านั้นจะเชื่อก็ต่อเมื่อตาเห็น หรือโดยสิ่งต่าง ๆ ทางวัตถุ. จาก 12 คนมีเพียงยะโฮซูอะกับคาเลบเท่านั้นได้แสดงตัวว่าเขาดำเนินโดยความเชื่อ มิใช่ตามที่ตาเห็น. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 5:7.) เพราะการสำแดงความเชื่อนี้เอง จึงมีเพียงสองคนนี้เท่านั้นจากกลุ่มคนสอดแนมที่รอดผ่านเข้าไปถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา.—อาฤธโม 13:1-33; 14:35-38.
19. ในทุกวันนี้ รากฐานสำหรับความเชื่อลึกกว่าแต่ก่อนอย่างไร กระนั้น เราควรทำประการใด?
19 เวลานี้ พวกเรากำลังยืนอยู่ตรงชายแดนโลกใหม่อันชอบธรรมของพระเจ้า. ถ้าเราจะเข้าในโลกใหม่ ความเชื่อเป็นสิ่งจำเป็น. น่ายินดีที่รากฐานแห่งความจริงที่รองรับความเชื่อนั้นลึกมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน. เรามีพระวจนะของพระเจ้าครบบริบูรณ์ มีตัวอย่างของพระเยซูคริสต์และสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์ มีการสนับสนุนจากพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณหลายล้านคน อีกทั้งการหนุนหลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน. กระนั้น เป็นสิ่งที่ดีหากเราจะวิเคราะห์ความเชื่อของเราและเริ่มลงมือเสริมความเชื่อให้มั่นคงขณะที่เรายังสามารถจะทำได้.
20. นับว่าเหมาะที่จะถามตัวเองด้วยคำถามอะไร?
20 คุณอาจพูดว่า ‘จริงซี ฉันเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นความจริง.’ แต่ความเชื่อของคุณแน่นแฟ้นแค่ไหน? ลองถามตัวเอง: ‘สำหรับฉันแล้ว ราชอาณาจักรของพระยะโฮวาทางภาคสวรรค์เป็นเรื่องจริงเหมือนรัฐบาลของมนุษย์ไหม? ฉันยอมรับและให้การสนับสนุนเต็มที่ไหมต่อองค์การของพระยะโฮวาที่เห็นประจักษ์ และคณะกรรมการปกครองขององค์การนี้? ด้วยตาแห่งความเชื่อ ฉันเข้าใจได้ไหมว่าชาติต่าง ๆ กำลังถูกต้อนเข้าสู่อาร์มาเก็ดดอน? ความเชื่อของฉันมั่นคงดีไหมพอจะเทียบได้กับความเชื่อของ “พยานหมู่ใหญ่” ที่กล่าวไว้ในเฮ็บรายบท 11?’—เฮ็บราย 12:1; วิวรณ์ 16:14-16.
21. ความเชื่อกระตุ้นบุคคลผู้มีความเชื่อให้ทำอะไร และพวกเขาได้รับพระพรอย่างไร? (รวมทั้งข้อคิดเห็นในกรอบหน้า 13 ด้วย.)
21 บรรดาผู้มีความเชื่อที่อาศัยความจริงเป็นหลักย่อมได้รับแรงกระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ. เครื่องบูชาของเฮเบลเป็นที่ยอมรับฉันใด เครื่องบูชาอันประกอบด้วยคำสรรเสริญของเขาเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าฉันนั้น. (เฮ็บราย 13:15, 16) เช่นเดียวกับโนฮาผู้ประกาศความชอบธรรมซึ่งได้เชื่อฟังพระเจ้า พวกเขาก็มุ่งติดตามแนวทางอันชอบธรรมฐานะเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร. (เฮ็บราย 11:7; 2 เปโตร 2:5) เช่นเดียวกับอับราฮาม คนเหล่านั้นที่มีความเชื่อซึ่งอาศัยความจริงเป็นหลักเชื่อฟังพระยะโฮวาแม้ภายใต้สภาพการณ์ที่ยากลำบากที่สุด. (เฮ็บราย 11:17-19) เช่นเดียวกับผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระยะโฮวาสมัยโบราณ บรรดาผู้มีความเชื่อสมัยนี้ต่างก็ได้รับพระพรและการดูแลเอาใจใส่อย่างอุดมจากพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักผู้สถิตในสวรรค์.—มัดธาย 6:25-34; 1 ติโมเธียว 6:6-10.
22. ความเชื่อจะได้รับการเสริมให้มั่นคงยิ่งขึ้นได้โดยวิธีใด?
22 หากคุณเป็นผู้รับใช้พระยะโฮวา แต่รู้สึกว่าความเชื่อของคุณชักจะอ่อนในทางใดทางหนึ่ง คุณจะทำอย่างไร? จงเสริมความเชื่อให้แน่นแฟ้นโดยหมั่นขยันศึกษาพระวจนะของพระเจ้าแล้วปล่อยน้ำแห่งความจริงซึ่งเปี่ยมอยู่ภายในหัวใจพรั่งพรูออกมาเป็นถ้อยคำจากปากของคุณ. (สุภาษิต 18:4) ถ้าคุณไม่ได้เสริมความเชื่ออย่างสม่ำเสมอ ความเชื่ออาจอ่อนลง นิ่งเฉย ถึงกับตายได้. (1 ติโมเธียว 1:19; ยาโกโบ 2:20, 26) จงตั้งใจแน่วแน่ว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับความเชื่อของคุณ. จงทูลพระยะโฮวาขอการช่วยเหลือ อธิษฐานดังนี้: “ที่ข้าพเจ้ายังขาดความเชื่อนั้น ขอโปรดช่วยให้เชื่อเถิด!”—มาระโก 9:24, ฉบับแปลใหม่.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ความเชื่อคืออะไร?
▫ ทำไมไม่อาจแยกความเชื่อไว้ต่างหากจากความจริงและพระวิญญาณบริสุทธิ์?
▫ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์ขึ้นโดยวิธีใด?
▫ ทำไมเราน่าจะวิเคราะห์ดูว่าความเชื่อของเราเข้มแข็งแค่ไหน?
[กรอบหน้า 13]
บรรดาผู้มีความเชื่อย่อม . . .
▫ พูดเรื่องพระยะโฮวา.—2 โกรินโธ 4:13.
▫ ทำการงานอย่างที่พระเยซูทรงกระทำ.—โยฮัน 14:12.
▫ เป็นแหล่งให้การหนุนใจผู้อื่น.—โรม 1:8, 11, 12.
▫ ชนะโลก.—1 โยฮัน 5:5.
▫ ไม่มีเหตุผลที่จะหวั่นกลัว.—ยะซายา 28:16.
▫ อยู่ในเส้นทางที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์.—โยฮัน 3:16.