บท 4
เหตุใดเราควรนับถือผู้มีอำนาจ?
“จงให้เกียรติคนทุกชนิด.”—1 เปโตร 2:17.
1, 2. (ก) เหตุใดเราจึงรู้สึกว่ายากที่จะแสดงความนับถือผู้มีอำนาจ? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง?
คุณเคยสังเกตปฏิกิริยาของเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ถูกพ่อแม่สั่งให้ทำอะไรบางอย่างซึ่งจริง ๆ แล้วเขาไม่อยากทำไหม? คุณอาจเห็นการขัดแย้งได้ชัดจากสีหน้าเด็ก. เด็กได้ยินคำสั่งของพ่อแม่และรู้ว่าตัวเองควรจะเชื่อฟังพ่อแม่. แต่ในกรณีนี้เขาเพียงแค่ไม่อยาก เชื่อฟัง. เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเราทุกคนเป็นครั้งคราว.
2 ไม่ง่ายเสมอไปที่เราจะแสดงความนับถือผู้มีอำนาจ. บางครั้งคุณรู้สึกว่ายากไหมที่จะแสดงความนับถือคนที่มีอำนาจเหนือคุณอยู่บ้าง? ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่ใช่คุณคนเดียวที่รู้สึกอย่างนี้. เรามีชีวิตอยู่ในสมัยที่ความนับถือผู้มีอำนาจดูเหมือนอยู่ในขีดต่ำสุดเท่าที่เคยเป็นมา. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า เราจำเป็นต้องแสดงความนับถือต่อคนที่มีอำนาจเหนือเรา. (สุภาษิต 24:21) ที่จริง การแสดงความนับถือผู้มีอำนาจนับว่าสำคัญหากเราต้องการเป็นที่รักของพระเจ้าต่อไป. ดังนั้น เป็นธรรมดาที่เกิดคำถามบางอย่างขึ้น. เหตุใดอาจเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่เราจะนับถือผู้มีอำนาจ? เหตุใดพระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้เรานับถือผู้มีอำนาจ และอะไรจะช่วยเราให้เชื่อฟังผู้มีอำนาจ? สุดท้าย ในทางใดบ้างที่เราจะแสดงความนับถือผู้มีอำนาจ?
เหตุใดเป็นเรื่องยากที่จะแสดงความนับถือผู้มีอำนาจ?
3, 4. บาปและความไม่สมบูรณ์ได้เริ่มขึ้นโดยวิธีใด และเพราะเหตุใดลักษณะนิสัยที่ผิดบาปของเราทำให้ยากที่เราจะแสดงความนับถือผู้มีอำนาจ?
3 ขอให้เราพิจารณาสั้น ๆ ถึงเหตุผลสองประการที่ทำให้การแสดงความนับถือผู้มีอำนาจเป็นเรื่องยากจริง ๆ สำหรับเรา. ประการแรก เราไม่สมบูรณ์; ประการที่สอง คนที่มีอำนาจเหนือเราก็ไม่สมบูรณ์ด้วย. บาปและความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ได้เริ่มต้นนานมาแล้ว ย้อนไปในสวนเอเดนเมื่ออาดามกับฮาวาได้กบฏขัดขืนต่ออำนาจของพระเจ้า. ดังนั้น บาปได้เริ่มขึ้นด้วยการกบฏ. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราจึงมีแนวโน้มที่จะกบฏมาตั้งแต่เกิด.—เยเนซิศ 2:15-17; 3:1-7; บทเพลงสรรเสริญ 51:5; โรม 5:12.
4 เนื่องจากลักษณะนิสัยที่ผิดบาปของเรา พวกเราส่วนใหญ่อาจกลายเป็นคนหยิ่งยโสได้โดยง่าย ในขณะที่ความถ่อมเป็นคุณลักษณะที่หายากซึ่งเราต้องพยายามปลูกฝังและรักษาไว้. แม้แต่หลังจากรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์มาหลายปี เราอาจยอมจำนนต่อความดื้อรั้นและความหยิ่ง. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาโคราผู้ซึ่งยืนหยัดอย่างซื่อสัตย์อยู่กับประชาชนของพระยะโฮวาตลอดช่วงที่มีความยากลำบากหลายอย่าง. กระนั้น เขากระหายจะได้อำนาจมากขึ้นและก่อการกบฏอย่างไร้ยางอายต่อโมเซซึ่งเป็นคนถ่อมที่สุดในตอนนั้น. (อาฤธโม 12:3; 16:1-3) ขอให้คิดถึงกษัตริย์อุซียาด้วยเช่นกัน ความหยิ่งได้ชักนำท่านให้เข้าไปในพระวิหารของพระยะโฮวาและทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสงวนไว้สำหรับพวกปุโรหิต. (2 โครนิกา 26:16-21) บุคคลดังกล่าวถูกลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับการกบฏของเขา. กระนั้น ตัวอย่างที่ไม่ดีของพวกเขาก็เป็นข้อเตือนใจที่มีประโยชน์ต่อเราทุกคน. เราต้องต่อสู้กับความหยิ่งซึ่งทำให้ยากที่เราจะนับถือผู้มีอำนาจ.
5. มนุษย์ไม่สมบูรณ์ได้ใช้อำนาจของตนผิด ๆ อย่างไร?
5 ในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์ไม่สมบูรณ์ซึ่งมีฐานะตำแหน่งที่มีอำนาจมีส่วนอย่างมากทีเดียวในการทำให้ผู้คนขาดความนับถือต่อผู้มีอำนาจ. หลายคนได้ทำร้ายผู้อื่นทั้งทางวาจาและทางกาย หรือเป็นผู้กดขี่. ที่จริง ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ส่วนใหญ่เผยให้เห็นการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ. (ท่านผู้ประกาศ 8:9) ตัวอย่างเช่น ซาอูลเป็นคนดีที่ถ่อมใจตอนที่พระยะโฮวาทรงเลือกท่านเป็นกษัตริย์. อย่างไรก็ดี ท่านได้ยอมจำนนต่อความหยิ่งและความอิจฉาริษยา ต่อจากนั้นท่านได้ข่มเหงดาวิดบุรุษผู้ซื่อสัตย์. (1 ซามูเอล 9:20, 21; 10:20-22; 18:7-11) ภายหลังดาวิดได้มาเป็นกษัตริย์ที่ดีที่สุดองค์หนึ่งของอิสราเอลเท่าที่เคยมีมา กระนั้น ท่านได้ใช้อำนาจอย่างผิด ๆ โดยขโมยภรรยาของอูรียาชาวฮิตไทต์มาเป็นของตัวเอง แล้วส่งชายผู้ไม่มีความผิดคนนี้ไปอยู่กองหน้าเพื่อจะถูกฆ่าในการสู้รบ. (2 ซามูเอล 11:1-17) จริงทีเดียว ความไม่สมบูรณ์ทำให้ยากที่ผู้คนจะใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรม. และถ้าคนที่มีอำนาจมิได้นับถือพระยะโฮวา เขาก็ใช้อำนาจอย่างผิด ๆ มากยิ่งขึ้นอีก. หลังจากพรรณนาวิธีที่โปปบางคนของคาทอลิกได้ทำให้เกิดการข่มเหงอย่างกว้างขวางไปทั่ว รัฐบุรุษอังกฤษคนหนึ่งได้เขียนว่า “อำนาจมักทำให้เสื่อมทราม และอำนาจสิทธิ์ขาดทำให้เสื่อมทรามอย่างสิ้นเชิง.” โดยคำนึงถึงประวัติของการใช้อำนาจอย่างผิด ๆ เช่นนี้ ขอให้เราพิจารณาคำถามที่ว่า เหตุใดเราควรนับถือผู้มีอำนาจ?
เหตุใดจึงนับถือผู้มีอำนาจ?
6, 7. (ก) ความรักที่มีต่อพระยะโฮวากระตุ้นเราให้ทำอะไร และเพราะเหตุใด? (ข) การยอมรับอำนาจเกี่ยวข้องกับทัศนคติเช่นไร?
6 เหตุผลที่ดีที่สุดที่จะแสดงความนับถือผู้มีอำนาจนั้นเกิดมาจากความรัก—ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวา, ต่อเพื่อนมนุษย์, และกระทั่งต่อตัวเราเองด้วยซ้ำ. เพราะเรารักพระยะโฮวาเหนือสิ่งอื่นใด เราต้องการทำให้พระองค์มีพระทัยยินดี. (สุภาษิต 27:11; มาระโก 12:29, 30) เรารู้ว่าพระบรมเดชานุภาพ หรือสิทธิของพระองค์ที่จะปกครองเอกภพได้ถูกท้าทายบนแผ่นดินโลกตั้งแต่การกบฏในสวนเอเดนและมนุษยชาติส่วนใหญ่ได้เข้าข้างซาตานอีกทั้งปฏิเสธการปกครองของพระยะโฮวา. เราตื่นเต้นยินดีที่จะยืนหยัดอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา. เมื่อเราอ่านถ้อยคำที่เลอเลิศในวิวรณ์ 4:11 หัวใจเราได้รับการกระตุ้นให้ตอบรับด้วยความกระตือรือร้น. เราเข้าใจอย่างชัดเจนสักเพียงไรว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ปกครองที่มีสิทธิโดยชอบธรรมของเอกภพ! เราสนับสนุนพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา โดยยอมรับการปกครองของพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรา.
7 การยอมรับเช่นนั้นหมายถึงการเชื่อฟังและทำมากกว่านั้นอีก. เราพร้อมจะเชื่อฟังพระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์. อย่างไรก็ดี คงจะมีบางครั้งที่การเชื่อฟังจะเป็นเรื่องยากทีเดียวสำหรับเรา. ในตอนนั้น เช่นเดียวกับเด็กน้อยที่พรรณนาไว้ในตอนต้น เราจะต้องเรียนรู้การยอมรับอำนาจ. เราจำได้ว่าพระเยซูได้ยอมทำตามพระประสงค์ของพระบิดาแม้แต่เมื่อการทำเช่นนั้นอาจดูเหมือนว่ายากจริง ๆ. พระองค์ทูลต่อพระบิดาว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด.”—ลูกา 22:42.
8. (ก) การยอมรับอำนาจของพระยะโฮวาในทุกวันนี้มักจะเกี่ยวข้องกับอะไร และอะไรเผยให้เห็นความรู้สึกของพระยะโฮวาในเรื่องนี้? (ข) อะไรจะช่วยเราให้ฟังคำแนะนำและรับคำเตือนสติ? (ดูกรอบ “จงฟังคำแนะนำและรับคำเตือนสติ.”)
8 แน่นอน พระยะโฮวามิได้ตรัสกับเราเป็นรายบุคคลในทุกวันนี้; พระองค์ทรงใช้พระคำของพระองค์และตัวแทนที่เป็นมนุษย์ซึ่งอยู่บนแผ่นดินโลก. ดังนั้น ส่วนใหญ่เราแสดงการยอมรับอำนาจของพระยะโฮวาโดยนับถือบรรดาคนที่พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจเหนือเรา หรือคนที่พระองค์ทรงยอมให้อยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไป. หากเราขืนอำนาจของคนเหล่านี้—ตัวอย่างเช่น โดยไม่ยอมรับคำแนะนำตามหลักพระคัมภีร์และการว่ากล่าวแก้ไขจากพวกเขา—เราก็จะทำให้พระเจ้าของเราไม่พอพระทัย. เมื่อชาวอิสราเอลบ่นพึมพำและกบฏขัดขืนต่อโมเซ พระยะโฮวาทรงถือว่าการกระทำของพวกเขาเป็นการขัดขืนต่อพระองค์เอง.—อาฤธโม 14:26, 27.
9. เหตุใดความรักที่เรามีต่อเพื่อนมนุษย์กระตุ้นเราให้นับถือผู้มีอำนาจ? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.
9 นอกจากนั้น เราแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจเพราะเรารักเพื่อนมนุษย์ด้วย. เหตุใดจึงกล่าวเช่นนี้? ขอให้นึกภาพว่าคุณเป็นทหารคนหนึ่งในกองทัพ. ความสำเร็จ แม้แต่ความอยู่รอดของกองทัพ คงจะขึ้นอยู่กับการที่ทหารแต่ละคนร่วมมือกัน, เชื่อฟัง, และแสดงความนับถือต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น. หากคุณไม่เชื่อฟังคำบัญชาการ เพื่อนทหารทั้งหมดของคุณอาจตกอยู่ในอันตรายทีเดียว. จริงอยู่ กองทัพของมนุษย์ก่อความเสียหายอย่างยิ่งในโลกทุกวันนี้. แต่พระยะโฮวามีกองทัพที่ก่อแต่ผลดีเท่านั้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเจ้าหลายร้อยครั้งว่า “พระยะโฮวาเจ้าแห่งพลโยธา.” (1 ซามูเอล 1:3) พระองค์เป็นผู้บัญชาการเหนือเหล่ากายวิญญาณที่มีฤทธิ์จำนวนมากมาย. บางครั้ง พระยะโฮวาทรงเปรียบผู้รับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลกเป็นเหมือนกองทัพ. (ยะเอศเคล 37:1-10) หากเราขืนอำนาจของผู้ที่พระยะโฮวาทรงตั้งให้มีอำนาจเหนือเรา นั่นอาจทำให้เพื่อนทหารฝ่ายวิญญาณของเราตกอยู่ในอันตรายมิใช่หรือ? เมื่อคริสเตียนขืนอำนาจผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง คนอื่น ๆ ในประชาคมอาจได้รับความเสียหายเช่นกัน. (1 โครินท์ 12:14, 25, 26) เมื่อเด็กขืนอำนาจ ทั้งครอบครัวอาจได้รับผลเสียหาย. ดังนั้น เราแสดงความรักต่อเพื่อนมนุษย์โดยการนับถือและร่วมมือกับคนเหล่านั้นที่มีอำนาจ.
10, 11. ความปรารถนาอันเหมาะสมที่จะให้ตัวเองได้รับประโยชน์กระตุ้นเราอย่างไรให้เชื่อฟังผู้มีอำนาจ?
10 นอกจากนั้น เรานับถือผู้มีอำนาจเพราะการทำเช่นนั้นก็เพื่อผลประโยชน์อันดีที่สุดของเราเอง. เมื่อพระยะโฮวาบอกให้เรานับถือผู้มีอำนาจ บ่อยครั้งพระองค์ตรัสถึงผลประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการทำเช่นนั้น. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงสั่งให้เด็ก ๆ เชื่อฟังบิดามารดาเพื่อจะมีชีวิตยืนนานและมีความสุข. (พระบัญญัติ 5:16; เอเฟโซส์ 6:2, 3) พระองค์ทรงสั่งให้เราเชื่อฟังผู้ปกครองในประชาคม เพราะการไม่เชื่อฟังจะก่อผลเสียหายต่อสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า. (ฮีบรู 13:7, 17) และพระองค์ทรงบอกให้เราเชื่อฟังผู้มีอำนาจบ้านเมืองเพื่อเป็นการปกป้องตัวเราเอง.—โรม 13:4.
11 คุณคงจะเห็นด้วยมิใช่หรือว่า การทราบเหตุผลที่พระยะโฮวาประสงค์ให้เราเชื่อฟังนั้นช่วยเราให้แสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจ? ดังนั้น ขอให้เราพิจารณาว่าเราจะแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจในขอบเขตสำคัญสามประการในชีวิตได้อย่างไร.
แสดงความนับถือในวงครอบครัว
12. พระยะโฮวาทรงมอบบทบาทอะไรให้ผู้ที่เป็นสามีหรือบิดาในครอบครัว และเขาจะทำตามบทบาทนั้นโดยวิธีใด?
12 พระยะโฮวาเองทรงเป็นผู้ก่อตั้งครอบครัว. เนื่องจากเป็นพระเจ้าแห่งความมีระเบียบเสมอมา พระองค์ทรงจัดระเบียบครอบครัวเพื่อจะให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น. (1 โครินท์ 14:33) พระองค์ทรงให้ผู้ที่เป็นสามีหรือบิดามีอำนาจทำหน้าที่เป็นประมุขครอบครัว. สามีแสดงความนับถือต่อพระคริสต์เยซู ประมุขของเขา โดยเลียนแบบวิธีที่พระเยซูใช้ตำแหน่งประมุขต่อประชาคม. (เอเฟโซส์ 5:23) ดังนั้น สามีไม่ควรทิ้งหน้าที่รับผิดชอบของตน แต่ควรแบกความรับผิดชอบนั้นอย่างลูกผู้ชาย; ทั้งเขาจะไม่แสดงอำนาจบาตรใหญ่หรือเกรี้ยวกราด แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เขาแสดงความรัก, ความมีเหตุผล, และความกรุณา. เขาระลึกเสมอว่าอำนาจของตนมีขอบเขต อำนาจของเขาไม่มีวันเหนือกว่าอำนาจของพระยะโฮวา.
บิดาคริสเตียนเลียนแบบวิธีที่พระคริสต์ปฏิบัติหน้าที่ประมุข
13. ผู้ที่เป็นภรรยาหรือมารดาจะทำตามหน้าที่ของเธอในครอบครัวในวิธีที่ทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยได้อย่างไร?
13 ผู้ที่เป็นภรรยาหรือมารดาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหรือคู่เคียงของสามี. เธอได้รับมอบอำนาจในครอบครัวด้วยเช่นกัน เพราะคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง “คำสอน [“ข้อบังคับ,” ล.ม.] ของมารดาเจ้า.” (สุภาษิต 1:8) แน่นอน อำนาจของเธอเป็นรองจากอำนาจของสามี. ภรรยาคริสเตียนแสดงความนับถือต่ออำนาจสามีโดยช่วยเขาให้ทำตามหน้าที่ฐานะประมุขของครอบครัว. เธอไม่ดูเบาบทบาทของสามี ทั้งไม่ใช้วิธีการบางอย่างเพื่อชักจูงสามีให้ทำตามที่ตนต้องการ หรือแย่งตำแหน่งของเขา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เธอให้การเกื้อหนุนและร่วมมือกับเขา. เมื่อการตัดสินใจของเขาขัดแย้งกับการตัดสินใจของเธอ เธออาจแสดงความคิดเห็นด้วยความนับถือ แต่ก็ยังคงยอมรับอำนาจของเขาอยู่. หากสามีเป็นผู้ที่ไม่มีความเชื่อ เธออาจเผชิญสถานการณ์ที่ไม่ง่าย แต่ความประพฤติของเธอที่แสดงการยอมรับอำนาจอาจกระตุ้นสามีให้แสวงหาพระยะโฮวา.—1 เปโตร 3:1.
14. เด็ก ๆ จะทำให้บิดามารดาและพระยะโฮวามีความยินดีได้โดยวิธีใด?
14 เด็ก ๆ ทำให้พระทัยของพระยะโฮวามีความยินดีเมื่อพวกเขาเชื่อฟังบิดามารดา. พวกเขายังทำให้บิดามารดาได้รับเกียรติและความยินดีด้วย. (สุภาษิต 10:1) หลักการอย่างเดียวกันนั้นเกี่ยวกับการเชื่อฟังก็นำมาใช้ในครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวด้วย. เด็ก ๆ ตระหนักว่าบิดาหรือมารดาของเขาอาจยิ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากพวกเขามากขึ้น. ในครอบครัวที่สมาชิกทุกคนต่างก็ทำตามหน้าที่ที่พระเจ้ากำหนดไว้สำหรับพวกเขา ย่อมทำให้เกิดสันติสุขและความยินดีอย่างมากมาย. การทำเช่นนี้นำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวาพระเจ้า ผู้ก่อตั้งครอบครัวทั้งสิ้น.—เอเฟโซส์ 3:14, 15.
แสดงความนับถือในประชาคม
15. (ก) ในประชาคมเราอาจแสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าเรานับถืออำนาจของพระยะโฮวา? (ข) หลักการอะไรที่อาจช่วยเราให้เชื่อฟังผู้ที่นำหน้า? (ดูกรอบ “จงเชื่อฟังผู้ที่นำหน้า.”)
15 พระยะโฮวาได้ทรงแต่งตั้งพระบุตรของพระองค์เป็นผู้ปกครองเหนือประชาคมคริสเตียน. (โกโลซาย 1:13) พระเยซูเองได้ทรงมอบหมาย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ให้ดูแลประชาชนของพระเจ้าที่อยู่บนแผ่นดินโลกในการนมัสการพระเจ้า. (มัดธาย 24:45-47) คณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาเป็นตัวแทนของชนชั้นทาส. เช่นเดียวกับในประชาคมคริสเตียนศตวรรษแรก พวกผู้ปกครองในทุกวันนี้ได้รับคำสั่งและคำแนะนำจากคณะกรรมการปกครอง ทั้งโดยตรงหรือโดยผ่านทางตัวแทนต่าง ๆ เช่น ผู้ดูแลเดินทาง. เมื่อเราแต่ละคนแสดงความนับถือต่ออำนาจของคริสเตียนผู้ปกครอง เราก็กำลังเชื่อฟังพระยะโฮวา.—ฮีบรู 13:17.
16. ผู้ปกครองได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในแง่ใด?
16 ผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้เป็นคนไม่สมบูรณ์. พวกเขามีข้อบกพร่องเช่นเดียวกับเรา. กระนั้น ผู้ปกครองเป็น “ของประทานในลักษณะมนุษย์” ซึ่งทรงจัดเตรียมไว้เพื่อช่วยประชาคมให้มีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นกับพระยะโฮวา. (เอเฟโซส์ 4:8) ผู้ปกครองได้รับการแต่งตั้งโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์. (กิจการ 20:28) เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ก่อนอื่นบุคคลดังกล่าวต้องบรรลุคุณวุฒิตามที่บันทึกไว้ในพระคำของพระเจ้าที่เขียนขึ้นโดยการดลใจโดยพระวิญญาณ. (1 ติโมเธียว 3:1-7, 12; ทิทุส 1:5-9) นอกจากนี้ คณะผู้ปกครองซึ่งพิจารณาคุณวุฒิของพี่น้องชายคนหนึ่งจะอธิษฐานอย่างจริงจังขอการทรงนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา.
17. ในกิจกรรมของประชาคม เหตุใดบางครั้งผู้หญิงคริสเตียนใช้ผ้าคลุมศีรษะ?
17 ในประชาคม บางครั้งอาจไม่มีผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้ทำงานซึ่งปกติมีการมอบหมายให้พวกเขาทำ เช่น นำการประชุมเพื่อการประกาศ. ในกรณีดังกล่าว พี่น้องชายคนอื่นที่รับบัพติสมาแล้วอาจทำหน้าที่นั้น. หากหาพี่น้องชายไม่ได้จริง ๆ ก็อาจให้พี่น้องหญิงทำหน้าที่นั้นแทน. อย่างไรก็ดี เมื่อผู้หญิงทำหน้าที่ซึ่งตามปกติมอบหมายให้ผู้ชายที่รับบัพติสมาแล้วทำ เธอต้องใช้ผ้าคลุมศีรษะ.a (1 โครินท์ 11:3-10) ข้อเรียกร้องนี้มิได้ลดเกียรติของผู้หญิง. ตรงกันข้าม กลับทำให้เธอมีโอกาสแสดงความนับถือต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเกี่ยวกับตำแหน่งประมุข ทั้งในครอบครัวและในประชาคม.
แสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจบ้านเมือง
18, 19. (ก) คุณจะอธิบายหลักการที่กล่าวไว้ในโรม 13:1-7 อย่างไร? (ข) เราแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจในบ้านเมืองโดยวิธีใดบ้าง?
18 คริสเตียนแท้ยึดมั่นกับหลักการที่กล่าวไว้ในโรม 13:1-7 ด้วยเห็นแก่สติรู้สึกผิดชอบ. ขณะที่คุณอ่านข้อความตอนนั้น คุณจะเข้าใจได้ว่า “ผู้มีอำนาจปกครอง” ซึ่งมีการกล่าวถึงในข้อนั้นคือรัฐบาลต่าง ๆ ของโลก. ตราบใดที่พระยะโฮวาทรงยอมให้อำนาจปกครองโดยมนุษย์มีอยู่ต่อไป พวกเขาปฏิบัติหน้าที่สำคัญ ๆ รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในระดับหนึ่งและจัดให้มีบริการต่าง ๆ ที่จำเป็น. เราแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจเหล่านี้โดยการเชื่อฟังกฎหมาย. เราต้องทำให้แน่ใจว่าเราเสียภาษีไม่ว่าประเภทใดที่ต้องเสีย, กรอกแบบฟอร์มหรือเอกสารใด ๆ อย่างถูกต้องตามที่รัฐบาลอาจเรียกร้อง, และทำตามกฎหมายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรา, ครอบครัว, ธุรกิจ, หรือทรัพย์สินของเรา. อย่างไรก็ดี เราไม่ยอมทำตามผู้มีอำนาจในบ้านเมืองหากเขาเรียกร้องให้เราขัดขืนไม่เชื่อฟังพระเจ้า. แทนที่จะทำเช่นนั้น เราจะตอบเช่นเดียวกับเหล่าอัครสาวกในสมัยก่อนที่ว่า “พวกข้าพเจ้าต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้มีอำนาจปกครอง ไม่ใช่เชื่อฟังมนุษย์.”—กิจการ 5:28, 29; ดูกรอบ “ฉันควรเชื่อฟังอำนาจของผู้ใด?”
19 นอกจากนั้น เราแสดงความนับถือต่อผู้มีอำนาจในบ้านเมืองโดยกิริยาท่าทีที่เราปฏิบัติต่อพวกเขา. บางครั้ง เราอาจติดต่อเกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล. อัครสาวกเปาโลเคยติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจปกครอง เช่น กษัตริย์เฮโรดอะกริปปาและผู้ว่าราชการเฟสตุส. คนเหล่านี้มีข้อบกพร่องร้ายแรง แต่เปาโลได้พูดกับเขาด้วยความนับถือ. (กิจการ 26:2, 25) เราเลียนแบบตัวอย่างของเปาโล ไม่ว่าเราจะพูดกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่หรือพูดกับตำรวจในท้องถิ่น. ที่โรงเรียน เยาวชนคริสเตียนพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงความนับถืออย่างเดียวกันต่อครูและต่อเจ้าหน้าที่รวมทั้งลูกจ้างของโรงเรียน. แน่นอน เราแสดงความนับถือไม่เพียงต่อคนที่เห็นชอบกับความเชื่อของเราเท่านั้น แต่เรายังแสดงความนับถือเมื่อติดต่อเกี่ยวข้องกับคนที่ต่อต้านพยานพระยะโฮวาด้วย. ที่จริง คนทั่วไปที่ไม่มีความเชื่อน่าจะสามารถสังเกตได้ว่าเราเป็นคนที่นับถือผู้อื่น.—โรม 12:17, 18; 1 เปโตร 3:15.
20, 21. การแสดงความนับถือและการเชื่อฟังอย่างเหมาะสมต่อผู้มีอำนาจก่อผลประโยชน์อะไรบ้าง?
20 ขอเราแสดงความนับถือต่อคนอื่นอย่างไม่อั้น. อัครสาวกเปโตรได้เขียนว่า “จงให้เกียรติคนทุกชนิด.” (1 เปโตร 2:17) เมื่อผู้คนสังเกตว่าเรามีท่าทีนับถือเขาอย่างแท้จริง เขาอาจรู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง. จำไว้ว่า คุณลักษณะนี้หาได้ยากจริง ๆ ในทุกวันนี้. ฉะนั้น การแสดงความนับถือเป็นวิธีหนึ่งที่เราเอาใจใส่ฟังพระบัญชาของพระเยซูที่ว่า “จงให้ความสว่างของพวกเจ้าส่องไปต่อหน้าผู้คน เพื่อพวกเขาจะเห็นการงานอันดีของเจ้าและยกย่องสรรเสริญพระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์.”—มัดธาย 5:16.
21 ในโลกที่มืดมนนี้ คนที่มีหัวใจดีงามได้รับการชักนำมายังความสว่างฝ่ายวิญญาณ. ดังนั้น การที่เราแสดงความนับถือและการเชื่อฟังในวงครอบครัว, ในประชาคม, และในโอกาสอื่นที่ต้องติดต่อเกี่ยวข้องกับคนทั่วไป อาจประทับใจบางคนและกระตุ้นพวกเขาให้ดำเนินในความสว่างด้วยกันกับเรา. ช่างเป็นความคาดหวังที่น่ายินดีเสียจริง ๆ! แต่ถึงแม้ไม่เป็นเช่นนั้น ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้. การที่เราแสดงความนับถือต่อคนอื่นทำให้พระยะโฮวาพระเจ้าพอพระทัยและช่วยเราให้คงเป็นที่รักของพระเจ้าอยู่ต่อไป. จะมีบำเหน็จอะไรหรือที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านี้?
a ในภาคผนวกเรื่อง “การคลุมศีรษะ—เมื่อไรและเพราะเหตุใด?” มีการพิจารณาวิธีที่ใช้ได้จริงบางประการในการนำหลักการนี้มาใช้.