พระยะโฮวาทรงนำบุตรมากหลายสู่สง่าราศี
“การที่พระเจ้าจะทรงพาบุตรเป็นอันมากถึงสง่าราศีนั้น, ก็สมอยู่แล้วที่ . . . จะให้ผู้ที่เป็นนายแห่งความรอดของเขานั้นได้ถึงที่สำเร็จโดยการทนทุกข์ทรมาน.”—เฮ็บราย 2:10.
1. ทำไมเราแน่ใจได้ว่า พระประสงค์ของพระยะโฮวาสำหรับมนุษยชาติจะบรรลุผลสำเร็จ?
พระยะโฮวาทรงสร้างแผ่นดินโลกให้เป็นบ้านถาวรของครอบครัวมนุษย์สมบูรณ์ซึ่งมีชีวิตไม่รู้สิ้นสุด. (ท่านผู้ประกาศ 1:4; ยะซายา 45:12, 18) จริงอยู่ อาดามบิดาแรกเดิมของเราทำบาปและด้วยเหตุนั้นจึงถ่ายทอดบาปและความตายให้กับลูกหลานของเขา. แต่พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับมนุษยชาติจะสำเร็จเป็นจริงโดยทางพระเยซูคริสต์ พงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาของพระองค์. (เยเนซิศ 3:15; 22:18; โรม 5:12-21; ฆะลาเตีย 3:16) ความรักต่อโลกแห่งมนุษยชาติกระตุ้นพระยะโฮวาให้ประทาน “พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) และความรักกระตุ้นให้พระเยซู “ประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:28) “ค่าไถ่อันมีค่าเท่าเทียมกัน” นี้ซื้อคืนสิทธิและความหวังทั้งหลายซึ่งอาดามได้ทำให้สูญไป และทำให้เป็นไปได้ที่จะมีชีวิตนิรันดร์.—1 ติโมเธียว 2:5, 6, ล.ม.; โยฮัน 17:3.
2. การใช้เครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูมีภาพเล็งถึงโดยวันไถ่โทษประจำปีของชาติยิศราเอลอย่างไร?
2 วันไถ่โทษประจำปีเป็นภาพเล็งถึงการใช้เครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. ในวันนั้น ก่อนอื่นมหาปุโรหิตของชาติยิศราเอลจะถวายโคตัวผู้เป็นเครื่องบูชาไถ่บาป และนำเลือดของโคนั้นไปที่หีบศักดิ์สิทธิ์ในห้องบริสุทธิ์ที่สุดของพลับพลาซึ่งในภายหลังเปลี่ยนเป็นพระวิหาร. การถวายนี้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเขาเอง, ครัวเรือนของเขา, และตระกูลเลวี. ในทำนองเดียวกัน พระเยซูคริสต์ทรงนำเอาคุณค่าแห่งพระโลหิตของพระองค์เพื่อปิดคลุมบาปของ “พี่น้อง” ฝ่ายวิญญาณของพระองค์ถวายแด่พระเจ้าเป็นอันดับแรก. (เฮ็บราย 2:12; 10:19-22; เลวีติโก 16:6, 11-14) นอกจากนี้ ในวันไถ่โทษนั้นมหาปุโรหิตถวายแพะเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปและนำเลือดของแพะนั้นเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ที่สุด และด้วยการทำอย่างนี้จึงไถ่โทษบาปของ 12 ตระกูลแห่งชาติยิศราเอลซึ่งไม่ได้เป็นปุโรหิต. เช่นเดียวกัน พระเยซูคริสต์ผู้เป็นมหาปุโรหิตจะทรงใช้พระโลหิตแห่งชีวิตของพระองค์เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติที่สำแดงความเชื่อ ลบล้างบาปของพวกเขาให้หมดไป.—เลวีติโก 16:15.
นำสู่สง่าราศี
3. ตามเฮ็บราย 2:9, 10 พระเจ้าได้ทรงทำอะไรตลอด 1,900 ปีที่ผ่านมา?
3 ตลอด 1,900 ปีที่ผ่านมา พระเจ้าได้ทรงทำบางสิ่งอันน่าทึ่งเกี่ยวข้องกับ “พี่น้อง” ของพระเยซู. เกี่ยวกับเรื่องนี้ อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “เราเห็นผู้หนึ่งซึ่งบังเกิดต่ำกว่าทูตสวรรค์อยู่ชั่วคราวหนึ่ง, คือพระเยซู, และเพราะพระองค์ได้ทรงรับทุกข์ทรมานจนถึงความตาย, ก็ได้ทรงรับสง่าราศีและยศศักดิ์เป็นมงกุฎ, เพื่อโดยพระคุณของพระเจ้าพระองค์จะได้ทรงชิมความตายเผื่อมนุษย์ทุกคน. ด้วยว่าในการที่ [พระยะโฮวา] พระเจ้าจะทรงพาบุตรเป็นอันมากถึงสง่าราศีนั้น, ก็สมอยู่แล้วที่พระองค์ผู้เป็นเจ้าของสิ่งสารพัตร และผู้ทรงบันดาลให้สิ่งสารพัตรบังเกิดขึ้น จะให้ผู้ที่เป็นนายแห่งความรอดของเขานั้นได้ถึงที่สำเร็จโดยการทนทุกข์ทรมาน.” (เฮ็บราย 2:9, 10) นายแห่งความรอดได้แก่พระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังอย่างสมบูรณ์แบบโดยการที่พระองค์ทรงทนทุกข์ขณะดำเนินชีวิตเป็นมนุษย์บนแผ่นดินโลก. (เฮ็บราย 5:7-10) พระเยซูทรงเป็นบุคคลแรกที่ได้รับกำเนิดเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า.
4. พระเยซูทรงได้รับกำเนิดเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าเมื่อไรและอย่างไร?
4 พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ หรือพลังปฏิบัติการของพระองค์ เพื่อให้กำเนิดพระเยซูเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระองค์ เพื่อนำพระเยซูสู่สง่าราศีทางภาคสวรรค์. ขณะที่อยู่ตามลำพังกับโยฮันผู้ให้บัพติสมา พระเยซูทรงได้รับการจุ่มตัวมิดในน้ำเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการเสนอตัวแด่พระเจ้า. กิตติคุณของลูกาบอกดังนี้: “เมื่อคนทั้งปวงได้รับบัพติศมาแล้ว, และพระเยซูทรงรับบัพติศมาด้วย, ขณะเมื่อกำลังอธิษฐานอยู่, ท้องฟ้าก็แหวกออกเป็นช่อง, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงรูปสัณฐานเหมือนนกพิราบได้ลงมาบนพระองค์, และมีพระสุรเสียงมาจากฟ้าว่า, ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา, เราชอบใจท่านมาก.” (ลูกา 3:21, 22) โยฮันเห็นพระวิญญาณบริสุทธิ์เทลงบนพระเยซูและได้ยินพระสุรเสียงของพระยะโฮวาแสดงความเห็นชอบอย่างเปิดเผยในตัวพระเยซูในฐานะบุตรที่รักของพระองค์. ตอนนั้นเองและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระยะโฮวาทรงให้กำเนิดพระเยซูเป็นบุคคลแรกในบรรดา ‘บุตรเป็นอันมากที่จะถูกนำสู่สง่าราศี.’
5. ใครเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องบูชาของพระเยซู และคนเหล่านี้มีจำนวนเท่าไร?
5 “พี่น้อง” ของพระเยซูเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับประโยชน์จากเครื่องบูชาของพระองค์. (เฮ็บราย 2:12-18) ในนิมิต อัครสาวกโยฮันเห็นพวกเขาได้รับสง่าราศีเรียบร้อยแล้วที่ภูเขาซีโอนฝ่ายสวรรค์กับพระเมษโปดก พระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์. โยฮันยังเปิดเผยจำนวนของพวกเขาด้วย ดังนี้: “ข้าพเจ้าได้เห็น และ นี่แน่ะ! พระเมษโปดกทรงยืนอยู่บนภูเขาซีโอน และกับพระองค์มีแสนสี่หมื่นสี่พันคนซึ่งมีพระนามของพระองค์และพระนามพระบิดาของพระองค์เขียนไว้ที่หน้าผากของเขา. . . . คนเหล่านี้ได้ถูกซื้อจากท่ามกลางมนุษยชาติเป็นผลแรกแด่พระเจ้าและแด่พระเมษโปดก และไม่ได้พบความเท็จใด ๆ ในปากพวกเขา; พวกเขาปราศจากตำหนิ.” (วิวรณ์ 14:1-5, ล.ม.) ดังนั้น ‘บุตรเป็นอันมากที่จะถูกนำสู่สง่าราศี’ ในสวรรค์มีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 144,001—พระเยซูและบรรดาพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระองค์.
“บังเกิดจากพระเจ้า”
6, 7. ใครซึ่งได้ “บังเกิดจากพระเจ้า” และนี่มีความหมายเช่นไรสำหรับพวกเขา?
6 คนที่พระยะโฮวาทรงให้กำเนิดเป็นผู้ที่ “บังเกิดจากพระเจ้า.” อัครสาวกโยฮันเขียนถึงคนเหล่านี้ว่า “ทุกคนที่ได้บังเกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาปเป็นอาจิณ เพราะว่า เชื้อสืบพงศ์พันธุ์ของพระองค์ [พระยะโฮวา] ยังคงอยู่ในคนเช่นนี้ และเขาจะทำบาปเป็นอาจิณไม่ได้ เพราะว่าเขาได้บังเกิดจากพระเจ้า.” (1 โยฮัน 3:9, ล.ม.) “เชื้อสืบพงศ์พันธุ์” นี้ได้แก่พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. ด้วยการทำงานร่วมกับพระคำของพระองค์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ประทานการ “บังเกิดใหม่” ให้แก่ชน 144,000 คนเพื่อรับเอาความหวังฝ่ายสวรรค์.—1 เปโตร 1:3-5, 23.
7 พระเยซูทรงเป็นบุตรของพระเจ้านับตั้งแต่การประสูติเป็นมนุษย์ แบบเดียวกับที่อาดามมนุษย์สมบูรณ์เป็น “บุตรพระเจ้า.” (ลูกา 1:35; 3:38) อย่างไรก็ตาม หลังจากพระเยซูทรงรับบัพติสมาแล้ว นับว่ามีนัยสำคัญทีเดียวที่พระยะโฮวาทรงประกาศว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา, เราชอบใจท่านมาก.” (มาระโก 1:11) โดยการประกาศอย่างนี้พร้อมกับการหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงชัดเจนว่าตอนนั้นพระเจ้าทรงให้กำเนิดพระเยซูเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระองค์. กล่าวโดยนัยแล้ว ตอนนั้นพระเยซูได้รับการประทานการ “บังเกิดใหม่” พร้อมกับมีสิทธิจะรับเอาชีวิตอีกครั้งหนึ่งเป็นพระบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าในสวรรค์. เช่นเดียวกับพระองค์ เหล่าพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระองค์ 144,000 คนก็ “บังเกิดใหม่” ด้วย. (โยฮัน 3:1-8; ดูหอสังเกตการณ์ 15 พฤศจิกายน 1992 หน้า 3-6.) นอกจากนี้ พวกเขาได้รับการเจิมจากพระเจ้าและได้รับมอบหมายให้ประกาศข่าวดีเช่นเดียวกับพระเยซู.—ยะซายา 61:1, 2; ลูกา 4:16-21; 1 โยฮัน 2:20.
ข้อพิสูจน์ในเรื่องการบังเกิด
8. มีหลักฐานอะไรพิสูจน์ถึงการกำเนิดด้วยพระวิญญาณของ (ก) พระเยซู (ข) เหล่าสาวกรุ่นแรกของพระองค์?
8 มีหลักฐานว่าพระเยซูทรงได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณ. โยฮันผู้ให้บัพติสมาเห็นพระวิญญาณหลั่งลงบนพระเยซูและได้ยินคำประกาศของพระเจ้าเกี่ยวกับฐานะบุตรฝ่ายวิญญาณของพระมาซีฮาซึ่งเพิ่งได้รับการเจิม. แต่เหล่าสาวกของพระเยซูจะทราบได้อย่างไรว่าพวกเขาได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณ? ขอสังเกตว่า ในวันที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์ตรัสดังนี้: “แท้จริง โยฮันให้รับบัพติสมาด้วยน้ำ แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับบัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่กี่วันหลังจากนี้.” (กิจการ 1:5, ล.ม.) เหล่าสาวกของพระเยซูได้รับ “บัพติสมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” ในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33. การเทพระวิญญาณดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับมี “เสียงดังมาจากฟ้าเหมือนเสียงพายุกล้า” และ “เปลวไฟสัณฐานเหมือนลิ้น” ปรากฏบนสาวกแต่ละคน. ที่โดดเด่นที่สุดคือพวกสาวกมีความสามารถ “พูดภาษาต่าง ๆ ตามที่พระวิญญาณได้ทรงโปรดให้พูด.” ดังนั้น มีหลักฐานทั้งที่เห็นได้และยินได้ซึ่งชี้ว่า หนทางสู่สง่าราศีในสวรรค์ในฐานะบุตรของพระเจ้าได้เปิดออกให้กับผู้ติดตามพระคริสต์แล้ว.—กิจการ 2:1-4, 14-21; โยเอล 2:28, 29.
9. มีหลักฐานอะไรว่าชาวซะมาเรีย, โกระเนเลียว, และคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรกได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณ?
9 ในเวลาต่อมา ฟิลิปผู้เผยแพร่ข่าวดีประกาศในซะมาเรีย. แม้ว่าชาวซะมาเรียตอบรับข่าวสารของท่านและรับบัพติสมา พวกเขาไม่มีหลักฐานซึ่งแสดงว่าพระเจ้าได้ทรงประทานการบังเกิดใหม่แก่เขาให้เป็นบุตรของพระองค์. เมื่ออัครสาวกเปโตรและโยฮันอธิษฐานและวางมือบนผู้เชื่อถือเหล่านั้น “เขาทั้งหลายก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์” ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งซึ่งคนที่ดูอยู่สามารถเห็นได้ชัด. (กิจการ 8:4-25) นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ชาวซะมาเรียที่เชื่อถือได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณให้เป็นบุตรของพระเจ้า. คล้ายคลึงกัน ในปี ส.ศ. 36 โกระเนเลียวและคนต่างชาติคนอื่น ๆ รับเอาความจริงของพระเจ้า. เปโตรและผู้เชื่อถือชาวยิวที่ไปด้วยกันกับท่าน “ก็ประหลาดใจ, เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ลงมาสวมทับคนต่างชาติด้วย. เหตุว่าเขาได้ยินคนเหล่านั้นพูดภาษาต่าง ๆ และยกยอสรรเสริญพระเจ้า.” (กิจการ 10:44-48) คริสเตียนหลายคนในศตวรรษแรกได้รับ “ของประทานฝ่ายพระวิญญาณ” เช่นการพูดภาษาต่าง ๆ. (1 โกรินโธ 14:12, 32) โดยวิธีนี้คนเหล่านี้จึงมีหลักฐานชัดเจนว่า ตนได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณ. แต่คริสเตียนในเวลาต่อมาจะทราบได้อย่างไรว่าเขาได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณหรือไม่?
พยานของพระวิญญาณบริสุทธิ์
10, 11. โดยอาศัยโรม 8:15-17 คุณจะอธิบายอย่างไรในเรื่องที่ว่าพระวิญญาณเป็นพยานถึงคนเหล่านั้นที่เป็นรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์?
10 คริสเตียนผู้ได้รับการเจิม 144,000 คนล้วนมีหลักฐานแน่ชัดว่าตนมีพระวิญญาณของพระเจ้า. ในเรื่องนี้ เปาโลเขียนว่า “ท่านทั้งหลายได้รับวิญญาณแห่งการรับเป็นบุตรชายซึ่งโดยวิญญาณนั้น เราร้องเรียกว่า: “อับบา, พระบิดา!” พระวิญญาณเองเป็นพยานร่วมกับวิญญาณของเราว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้า. ดังนั้น ถ้าเราเป็นบุตรแล้ว เราก็เป็นทายาทด้วย: แน่นอน ทายาทของพระเจ้า แต่เป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ หากว่า เราทนทุกข์ด้วยกันเพื่อเราจะได้สง่าราศีด้วยกัน.” (โรม 8:15-17, ล.ม.) คริสเตียนผู้ถูกเจิมมีความรู้สึกนึกคิดแบบบุตรต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเขา เป็นความรู้สึกอย่างเด่นชัดถึงความสัมพันธ์ฉันบุตรกับบิดา. (ฆะลาเตีย 4:6, 7) พวกเขาแน่ใจเต็มที่ว่าพระเจ้าทรงโปรดให้เขาบังเกิดเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณในฐานะรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวามีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย.
11 ภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า น้ำใจหรือเจตคติที่มีอำนาจเหนือเหล่าผู้ถูกเจิมจะผลักดันเขาให้ตอบสนองในเชิงบวกต่อสิ่งที่พระคำของพระเจ้ากล่าวเกี่ยวกับความหวังฝ่ายสวรรค์. ตัวอย่างเช่น เมื่อพวกเขาอ่านสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวเกี่ยวกับบุตรฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา เขารู้เองเลยว่าถ้อยคำเหล่านั้นกล่าวถึงตัวเขา. (1 โยฮัน 3:2) พวกเขารู้ว่าเขาได้ “รับบัพติศมาเข้าส่วนในพระเยซูคริสต์” และบัพติสมาเข้าส่วนในความตายของพระองค์. (โรม 6:3) พวกเขาเชื่อมั่นหนักแน่นว่าเขาเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งในที่สุดจะตายและได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายรับเอาสง่าราศีทางภาคสวรรค์เช่นเดียวกับพระเยซู.
12. พระวิญญาณของพระเจ้าได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นในตัวคริสเตียนผู้ถูกเจิม?
12 การได้รับกำเนิดเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณไม่ใช่ความปรารถนาที่พัฒนาขึ้นในตัวเอง. คนที่ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณไม่ต้องการไปสวรรค์เพราะถูกบีบคั้นจากความทุกข์ยากลำบากในโลก. (โยบ 14:1) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระวิญญาณของพระยะโฮวาได้ทำให้ชนผู้ถูกเจิมแท้มีความหวังและความปรารถนาซึ่งผิดแผกไปจากมนุษย์โดยทั่วไป. ชนผู้ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณเหล่านี้ทราบว่า ชีวิตนิรันดร์ในสภาพมนุษย์สมบูรณ์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานแวดล้อมด้วยครอบครัวและมิตรสหายที่เปี่ยมสุขย่อมจะเป็นชีวิตที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ. อย่างไรก็ตาม ชีวิตอย่างนั้นไม่ใช่ความปรารถนาสำคัญในหัวใจของพวกเขา. ชนผู้ถูกเจิมมีความปรารถนาและความหวังฝ่ายสวรรค์อย่างแรงกล้าถึงขนาดที่เขาเต็มใจเสียสละความหวังและความผูกพันทั้งหมดทางแผ่นดินโลก.—2 เปโตร 1:13, 14.
13. ตาม 2 โกรินโธ 5:1-5 “ความปรารถนาอย่างจริงจัง” ของเปาโลคืออะไร และนี่บ่งชี้อะไรเกี่ยวกับชนผู้ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณ?
13 ความหวังเรื่องชีวิตฝ่ายสวรรค์ที่พระเจ้าทรงประทานนั้นแรงกล้ามากในคนเหล่านี้จนความรู้สึกของเขาเหมือนกับเปาโลซึ่งเขียนดังนี้: “เรารู้อยู่ว่า, แม้เรือนดิน [“กระโจม,” ล.ม.] คือร่างกายของเรานี้จะพังทำลายเสีย, เราก็ยังมีที่อาศัยซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานให้, ที่มิได้สร้างด้วยมือมนุษย์, และซึ่งตั้งอยู่เป็นนิตย์ในสวรรค์. เพราะว่าในร่างกายนี้เรายังครวญคร่ำอยู่มีความอาลัย [“ความปรารถนาอย่างจริงจัง,” ล.ม.] ที่จะสวมที่อาศัยของเราที่มาจากสวรรค์เหมือนอย่างเสื้อ. หากว่าเมื่อเราสวมแล้ว, เราจะมิได้ขาดเสื้อสำหรับสวม. เพราะว่าเราผู้อาศัยในร่างกาย [“กระโจม,” ล.ม.] นี้จึงครวญคร่ำเป็นทุกข์อยู่ มิใช่เพราะปรารถนาจะอยู่ตัวเปล่า, แต่ปรารถนาจะสวมเสื้อ [“อยู่ในกระโจม,” ล.ม.] ใหม่นั้นต่างหาก เพื่อชีวิตจะได้กลืนร่างกายของเราซึ่งจะตายนั้นเสียหมด. แต่พระเจ้าเองเป็นผู้ที่ทรงเตรียมเราไว้สำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้, และพระองค์ได้ทรงโปรดประทานพระวิญญาณเป็นมัดจำ [“หลักประกัน,” ล.ม.] ไว้กับเรา.” (2 โกรินโธ 5:1-5) “ความอาลัย [“ความปรารถนาอย่างจริงจัง,” ล.ม.]” ของเปาโลคือที่จะได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่สวรรค์ในฐานะกายวิญญาณที่เป็นอมตะ. ในการอ้างถึงกายมนุษย์ ท่านใช้อุปมาเกี่ยวกับ “กระโจม” ซึ่งยุบพังได้ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวและบอบบางเมื่อเทียบกับบ้าน. แม้อาศัยอยู่บนแผ่นดินโลกในกายเนื้อหนังที่ต้องตาย คริสเตียนซึ่งมีพระวิญญาณเป็นหลักประกันถึงชีวิตทางภาคสวรรค์คอยท่า “ที่อาศัยซึ่งพระเจ้าทรงโปรดประทานให้” ซึ่งก็คือกายวิญญาณที่เป็นอมตะไม่รู้เปื่อยเน่า. (1 โกรินโธ 15:50-53) พวกเขาสามารถกล่าวอย่างจริงจังได้เช่นเดียวกับเปาโลที่ว่า “เรามีความมั่นใจอยากจะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า [ในสวรรค์] มากกว่าอยู่ในร่างกาย [มนุษย์] นี้.”—2 โกรินโธ 5:8.
ถูกนำเข้าสู่คำสัญญาไมตรีพิเศษ
14. เมื่อทรงตั้งการฉลองอนุสรณ์ขึ้น พระเยซูตรัสถึงคำสัญญาไมตรีอะไรเป็นอันดับแรก และคำสัญญาไมตรีนี้มีบทบาทเช่นไรเกี่ยวข้องกับยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ?
14 คริสเตียนที่ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณมั่นใจว่าเขาได้ถูกนำเข้าสู่คำสัญญาไมตรีพิเศษสองอย่าง. พระเยซูทรงอ้างถึงอย่างหนึ่งเมื่อพระองค์ใช้ขนมปังไม่มีเชื้อและเหล้าองุ่นตั้งอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระองค์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และตรัสเกี่ยวกับจอกเหล้าองุ่นดังนี้: “จอกนี้เป็นคำสัญญาใหม่โดยโลหิตของเราซึ่งจะเทไหลออกเพื่อท่านทั้งหลาย.” (ลูกา 22:20; 1 โกรินโธ 11:25) ใครร่วมเป็นภาคีในคำสัญญาไมตรีใหม่นี้? พระยะโฮวาพระเจ้าและสมาชิกยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ—คนเหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงประสงค์จะนำสู่สง่าราศีฝ่ายสวรรค์นั่นเอง. (ยิระมะยา 31:31-34; ฆะลาเตีย 6:15, 16; เฮ็บราย 12:22-24) โดยอาศัยพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูทำให้มีผลบังคับใช้ คำสัญญาไมตรีใหม่นำคนกลุ่มหนึ่งออกจากนานาชาติเพื่อเป็นประชาชนสำหรับพระนามของพระยะโฮวา และทำให้คริสเตียนที่ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ “พงศ์พันธุ์” ของอับราฮาม. (ฆะลาเตีย 3:26-29; กิจการ 15:14) คำสัญญาไมตรีใหม่นี้ตระเตรียมให้ชนยิศราเอลฝ่ายวิญญาณทั้งหมดถูกนำสู่สง่าราศีโดยได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายสู่อมตชีพในสวรรค์. โดยที่เป็น “คำสัญญาไมตรีนิรันดร์” ผลประโยชน์ของคำสัญญานี้จะยั่งยืนตลอดไป. แต่ยังคงต้องรอดูต่อไปว่าคำสัญญาไมตรีนี้จะมีบทบาทในทางอื่นอีกไหมในระหว่างรัชสมัยพันปีและหลังจากนั้น.—เฮ็บราย 13:20.
15. สอดคล้องกับลูกา 22:28-30 ผู้ติดตามที่ได้รับการเจิมของพระเยซูเริ่มถูกนำเข้าสู่คำสัญญาไมตรีอะไรอีก และเมื่อไร?
15 เหล่า “บุตรเป็นอันมาก” ที่พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้ ‘นำสู่สง่าราศี’ ยังถูกนำเป็นรายบุคคลเข้าสู่คำสัญญาไมตรีสำหรับราชอาณาจักรฝ่ายสรรค์ด้วย. เกี่ยวด้วยคำสัญญาไมตรีนี้ระหว่างพระองค์เองกับผู้ติดตามรอยพระบาทของพระองค์ พระเยซูตรัสดังนี้: “เจ้าทั้งหลายเป็นผู้ที่ได้แนบสนิทอยู่กับเราในการทดลองของเรา; และเราทำคำสัญญาไมตรีกับเจ้าทั้งหลาย เช่นเดียวกับพระบิดาของเราได้ทำคำสัญญาไมตรีกับเรา ในเรื่องราชอาณาจักร เพื่อเจ้าทั้งหลายจะกินและดื่มที่โต๊ะของเราในราชอาณาจักรของเรา และนั่งบนบัลลังก์ เพื่อจะพิพากษายิศราเอลสิบสองตระกูล.” (ลูกา 22:28-30, ล.ม.) คำสัญญาไมตรีเกี่ยวกับราชอาณาจักรนี้เริ่มต้นเมื่อสาวกของพระเยซูได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33. คำสัญญาไมตรีดังกล่าวมีผลระหว่างพระคริสต์และผู้ร่วมเป็นกษัตริย์กับพระองค์ตลอดไป. (วิวรณ์ 22:5) ดังนั้น คริสเตียนที่ได้กำเนิดด้วยพระวิญญาณจึงแน่ใจว่าเขาอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่และในคำสัญญาไมตรีสำหรับราชอาณาจักร. ด้วยเหตุนั้น ในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงมีเฉพาะชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมจำนวนค่อนข้างน้อยซึ่งยังอยู่บนแผ่นดินโลกที่รับประทานขนมปังซึ่งหมายถึงพระกายมนุษย์สมบูรณ์ของพระเยซู และดื่มเหล้าองุ่นซึ่งหมายถึงพระโลหิตที่สมบูรณ์ของพระองค์ซึ่งหลั่งออกในความตายและทำให้คำสัญญาไมตรีใหม่มีผลสมบูรณ์.—1 โกรินโธ 11:23-26; ดูหอสังเกตการณ์ 1 กุมภาพันธ์ 1989 หน้า 21-26.
ถูกเรียก, เลือกไว้, และซื่อสัตย์
16, 17. (ก) เพื่อจะถูกนำไปสู่สง่าราศี ชน 144,000 คนต้องพิสูจน์ตัวเช่นไร? (ข) ใครคือ “กษัตริย์สิบองค์” และพวกเขาปฏิบัติอย่างไรต่อชนที่เหลือบนแผ่นดินโลกนี้แห่ง “พี่น้อง” ของพระคริสต์?
16 การใช้เครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูประการแรกทำให้เป็นไปได้สำหรับชน 144,000 คนที่จะถูกเรียก สู่ชีวิตฝ่ายสวรรค์ และเลือกไว้ โดยพระเจ้าให้เป็นผู้ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณ. แน่นอน เพื่อจะถูกนำสู่สง่าราศี พวกเขาต้อง ‘กระทำสุดกำลังเพื่อให้การทรงเรียกและการเลือกสรรนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน’ และต้องพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ ตราบวันตาย. (2 เปโตร 1:10; เอเฟโซ 1:3-7; วิวรณ์ 2:10) ชนที่เหลือจำนวนเล็กน้อยแห่งผู้ถูกเจิมซึ่งยังอยู่บนแผ่นดินโลกรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของตนอยู่เสมอ แม้ถูกต่อต้านจาก “กษัตริย์สิบองค์” ซึ่งหมายถึงอำนาจทางการเมืองทั้งหมด. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งกล่าวดังนี้: “กษัตริย์เหล่านี้จะสู้รบกับพระเมษโปดก แต่พระเมษโปดกจะทรงชนะพวกเขาเพราะพระองค์ทรงเป็นเจ้านายแห่งเจ้านายทั้งหลายและกษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย. คนเหล่านั้นที่ถูกเรียกและเลือกไว้และซื่อสัตย์ด้วยกันกับพระองค์จะชนะเช่นกัน.”—วิวรณ์ 17:12-14, ล.ม.
17 ผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์ไม่อาจต่อต้านพระเยซูผู้เป็น “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย” ได้เลย เพราะพระองค์ทรงอยู่ในสวรรค์. แต่พวกเขาแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อชนที่เหลือแห่ง “พี่น้อง” ของพระองค์ซึ่งยังคงอยู่บนแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 12:17) ความเป็นปฏิปักษ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดลง ณ อาร์มาเก็ดดอน สงครามของพระเจ้า ซึ่งถึงตอนนั้นเป็นเรื่องแน่นอนว่าชัยชนะจะตกอยู่กับ “กษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลาย” และ “พี่น้อง” ของพระองค์—“คนเหล่านั้นที่ถูกเรียกและเลือกไว้และซื่อสัตย์.” (วิวรณ์ 16:14, 16) ในระหว่างนี้ คริสเตียนที่ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณมีงานที่ต้องทำมากทีเดียว. พวกเขากำลังทำอะไรในขณะนี้ ก่อนที่พระยะโฮวาจะทรงนำเขาสู่สง่าราศี?
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ใครที่พระเจ้าทรง ‘นำสู่สง่าราศีฝ่ายสวรรค์’?
▫ การ “บังเกิดจากพระเจ้า” หมายความเช่นไร?
▫ ‘พระวิญญาณเป็นพยานถึง’ คริสเตียนบางคนอย่างไร?
▫ ชนผู้ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณถูกนำเข้าสู่คำสัญญาไมตรีอะไรบ้าง?
[รูปภาพหน้า 15]
ในวันเพนเตคอสเตปี ส.ศ. 33 มีหลักฐานแสดงชัดว่าหนทางสู่สง่าราศีฝ่ายสวรรค์ได้ถูกเปิดออกแล้ว