คุณได้เข้าสู่ที่สงบสุขของพระเจ้าแล้วไหม?
“ผู้ใดที่ได้เข้าสู่การพำนักของพระเจ้าแล้ว ก็ได้พักงานของตน.”—เฮ็บราย 4:10, ฉบับแปลใหม่.
1. ทำไมการหยุดพักจึงน่าปรารถนายิ่ง?
การพักผ่อน. ช่างเป็นคำที่ไพเราะเสนาะหูจริง ๆ! ในการดำรงชีพในโลกปัจจุบันที่เร็วรี่และสับสน เราส่วนใหญ่คงเห็นพ้องว่าการได้หยุดพักเสียบ้างเป็นสิ่งน่าปรารถนาที่สุด. ไม่ว่าหนุ่มหรือสูงอายุ แต่งงานแล้วหรือเป็นโสด เพียงแค่การดำเนินชีวิตในแต่ละวันเราก็อาจรู้สึกถูกกดดันอย่างหนักและหมดเรี่ยวแรงอยู่แล้ว. สำหรับคนที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ ทางกายหรือทุพพลภาพ แต่ละวันที่ผ่านไปนับเป็นเรื่องท้าทาย. เป็นดังที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “สิ่งทรงสร้างทั้งปวงนั้นเฝ้าแต่คร่ำครวญด้วยกันและตกอยู่ในความเจ็บปวดด้วยกันจนกระทั่งบัดนี้.” (โรม 8:22, ล.ม.) คนที่หยุดพักไม่จำเป็นต้องเกียจคร้านเสมอไป. การพักผ่อนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนเรา.
2. พระยะโฮวาทรงหยุดพักตั้งแต่เมื่อไร?
2 พระยะโฮวาพระเจ้าเองทรงหยุดพักอยู่. ในพระธรรมเยเนซิศเราอ่านดังนี้: “ฟ้าและแผ่นดินและสรรพสัตว์สรรพสิ่งที่มีอยู่ในที่เหล่านั้นพระเจ้าได้ทรงสร้างให้สำเร็จดังนี้แหละ. วันที่เจ็ดพระเจ้าได้ทรงกระทำให้การงานของพระองค์ที่ทรงสร้างมาแล้วนั้นสำเร็จ; ในวันที่เจ็ดนั้นก็ได้ทรงงดการที่พระองค์ทรงกระทำมานั้นทุกประการ.” พระยะโฮวาทรงผูกความหมายพิเศษเข้ากับ “วันที่เจ็ด” เพราะบันทึกซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจกล่าวต่อไปว่า “พระเจ้าจึงได้ทรงอวยพระพรแก่วันที่เจ็ดนั้นตั้งไว้เป็นวันบริสุทธิ์ [“ศักดิ์สิทธิ์,” ล.ม.].”—เยเนซิศ 2:1-3.
พระเจ้าทรงหยุดพักจากการงานของพระองค์
3. อะไรที่ไม่อาจจะเป็นเหตุทำให้พระเจ้าทรงหยุดพัก?
3 เหตุใดพระเจ้าทรงหยุดพักใน “วันที่เจ็ด”? แน่นอน พระองค์ไม่ได้หยุดพักเพราะทรงเหน็ดเหนื่อย. พระยะโฮวาทรงมี “อานุภาพอันใหญ่ยิ่ง” และ “มิได้ทรงอิดโรยและอ่อนเปลี้ย.” (ยะซายา 40:26, 28) อีกทั้งพระเจ้ามิได้ทรงหยุดพักเพราะพระองค์ทรงต้องการช่วงพักชั่วครู่หรือพักเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะพระเยซูทรงบอกเราดังนี้: “พระบิดาของเราก็ยังทรงกระทำการอยู่จนถึงบัดนี้, และเราก็กระทำด้วย.” (โยฮัน 5:17) ไม่ว่าจะอย่างไร “พระเจ้าทรงเป็นองค์วิญญาณ” และไม่ทรงถูกจำกัดด้วยวัฏจักรแห่งกายและความจำเป็นต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่เป็นกายเนื้อหนัง.—โยฮัน 4:24, ล.ม.
4. “วันที่เจ็ด” แตกต่างจากหก “วัน” ก่อนหน้านั้นในทางใด?
4 เราจะหยั่งเห็นเข้าใจถึงเหตุผลที่พระเจ้าทรงหยุดพักใน “วันที่เจ็ด” ได้โดยวิธีใด? โดยสังเกตว่า แม้ว่าทรงพอพระทัยมากในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำให้สำเร็จในระหว่างช่วงเวลาอันยาวนานของหก “วัน” แห่งการทรงสร้างก่อนหน้านั้น แต่พระเจ้าทรงอวยพระพรเป็นพิเศษแก่ “วันที่เจ็ด” และทรงประกาศว่าเป็นวัน “ศักดิ์สิทธิ์.” คอนไซส์ ออกซฟอร์ด ดิกชันนารี นิยามคำ “ศักดิ์สิทธิ์” ว่าเป็นการ “อุทิศให้โดยเฉพาะหรือสงวนไว้เพื่อจุดมุ่งหมายโดยเฉพาะ (แด่พระเจ้าหรือเพื่อจุดประสงค์บางอย่างทางศาสนา).” ฉะนั้น การอวยพระพรของพระยะโฮวาแก่ “วันที่เจ็ด” และประกาศว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์จึงบ่งชี้ว่าวันนี้และการ “หยุดพัก” ของพระองค์ต้องมีอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับพระทัยประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ หาใช่เนื่องจากความจำเป็นใด ๆ ในส่วนของพระองค์ไม่. อะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องนั้นคืออะไร?
5. พระเจ้าทรงริเริ่มให้ดำเนินการอะไรในระหว่างหก “วัน” แรกแห่งการสร้าง?
5 ในระหว่างหก “วัน” แห่งการสร้างก่อนหน้านั้น พระเจ้าได้ทรงสร้างและเริ่มต้นวัฏจักรและกฎต่าง ๆ ที่ควบคุมความเป็นไปของแผ่นดินโลกและทุกสิ่งที่อยู่บนโลก. นักวิทยาศาสตร์ในเวลานี้กำลังเรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบไว้อย่างน่ามหัศจรรย์เพียงไร. เมื่อใกล้จะสิ้น “วันที่หก” พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์คู่แรกและให้เขาอยู่ใน “ตำบลเอเดนทางทิศตะวันออก.” ในที่สุด พระเจ้าทรงประกาศพระประสงค์ของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวมนุษย์และแผ่นดินโลกด้วยถ้อยคำเชิงพยากรณ์ดังต่อไปนี้: “จงบังเกิดทวีมากขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน; จงมีอำนาจเหนือแผ่นดิน; จงครอบครองฝูงปลาในทะเลและฝูงนกในอากาศ, กับบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตไหวกายได้ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน.”—เยเนซิศ 1:28, 31; 2:8.
6. (ก) เมื่อสิ้น “วันที่หก” พระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวด้วยทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง? (ข) “วันที่เจ็ด” นั้นศักดิ์สิทธิ์ในความหมายเช่นไร?
6 เมื่อ “วันที่หก” แห่งการสร้างสิ้นสุดลง บันทึกบอกเราดังนี้: “พระเจ้าทอดพระเนตรดูสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้นั้นเห็นว่าดีนัก.” (เยเนซิศ 1:31) พระเจ้าทรงพอพระทัยทุกสิ่งที่พระองค์ได้สร้างไว้. ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงหยุดพักหรือเลิกสร้างในส่วนที่เกี่ยวกับแผ่นดินโลก. ถึงแม้ว่าสวนอุทยานในตอนนั้นสมบูรณ์และสวยงาม แต่ก็อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เท่านั้น และมีมนุษย์เพียงสองคนบนแผ่นดินโลก. ต้องใช้เวลาที่แผ่นดินโลกและครอบครัวมนุษย์จะบรรลุสภาพที่พระเจ้าทรงประสงค์. ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงตั้ง “วันที่เจ็ด” ไว้เพื่อจะให้ทุกสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้ในหก “วัน” ก่อนหน้านั้นพัฒนาไปประสานกับพระทัยประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์. (เทียบกับเอเฟโซ 1:11.) เมื่อ “วันที่เจ็ด” สิ้นสุดลง แผ่นดินโลกจะเป็นอุทยานทั้งหมด และเป็นที่อยู่อาศัยถาวรของครอบครัวมนุษย์สมบูรณ์. (ยะซายา 45:18) มีการตั้ง “วันที่เจ็ด” ไว้โดยเฉพาะหรืออุทิศวันนี้เพื่อให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าในเรื่องเกี่ยวกับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติสำเร็จอย่างครบถ้วน. ในความหมายเช่นนี้เองที่ถือว่าวันที่เจ็ดนี้ “ศักดิ์สิทธิ์.”
7. (ก) พระเจ้าทรงหยุดพักใน “วันที่เจ็ด” ในแง่ใด? (ข) ทุกสิ่งจะเป็นเช่นไรเมื่อสิ้น “วันที่เจ็ด”?
7 ดังนั้น พระเจ้าทรงหยุดพักจากงานสร้างของพระองค์ใน “วันที่เจ็ด.” พระองค์ทรงหยุดเอาไว้เพียงเท่านั้นและปล่อยให้สิ่งที่พระองค์ทรงริเริ่มไว้ดำเนินไปตามครรลองจนกระทั่งถึงที่สำเร็จ. พระองค์ทรงมีความมั่นพระทัยเต็มเปี่ยมว่าเมื่อสิ้น “วันที่เจ็ด” ทุกสิ่งจะเป็นไปตามที่พระองค์ได้ทรงมีพระประสงค์เอาไว้ทุกประการ. มาตรแม้นเคยมีอุปสรรค อุปสรรคเหล่านั้นก็ผ่านพ้นไปแล้ว. มนุษยชาติที่เชื่อฟังทั้งหมดจะได้รับผลประโยชน์เมื่อพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเป็นจริงอย่างครบถ้วน. ไม่มีสิ่งใดจะกีดขวางไม่ให้เป็นไปตามนี้ เพราะพระเจ้าทรงอวยพระพรแก่ “วันที่เจ็ด” และพระองค์ทรงตั้งวันนี้ไว้ถือเป็นวัน “ศักดิ์สิทธิ์.” ช่างเป็นความหวังที่สดใสอะไรเช่นนี้สำหรับมนุษยชาติที่เชื่อฟัง!
ชาติยิศราเอลไม่ได้เข้าสู่การหยุดพักของพระเจ้า
8. ชาวยิศราเอลได้มาถือรักษาซะบาโตเมื่อไรและอย่างไร?
8 ชาติยิศราเอลได้รับประโยชน์จากการจัดเตรียมของพระยะโฮวาในเรื่องงานและการหยุดพัก. แม้แต่ก่อนประทานพระบัญญัติแก่ชาวยิศราเอลที่ภูเขาไซนาย พระเจ้าทรงบอกพวกเขาโดยทางโมเซว่า “จงดูเถิด, เพราะพระยะโฮวาได้ทรงโปรดให้มีวันซะบาโต, เหตุดังนั้นในวันที่หกพระองค์ได้ประทานอาหารให้พอรับประทานสองวัน; จงพักอยู่ในที่ของตนทุกคน, อย่าให้ผู้ใดออกจากที่พักในวันที่เจ็ดนั้นเลย.” ผลก็คือ “พลไพร่ทั้งปวงจึงได้งดการในวันที่เจ็ด.”—เอ็กโซโด 16:22-30.
9. เพราะเหตุใดจึงไม่มีข้อสงสัยว่าชาวยิศราเอลยินดีรับเอาการเปลี่ยนแปลงให้ถือรักษากฎหมายซะบาโต?
9 การจัดเตรียมนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวยิศราเอล ซึ่งเพิ่งได้รับการช่วยให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์. แม้ว่าชาวอียิปต์และชนชาติอื่น ๆ กำหนดเวลาโดยแบ่งเป็นช่วงห้าวันถึงสิบวัน แต่ทาสชาวยิศราเอลคงไม่ได้รับอนุญาตให้มีวันพักสักวัน. (เทียบกับเอ็กโซโด 5:1-9.) ด้วยเหตุนั้น จึงมีเหตุผลที่จะสรุปว่าไพร่พลชาวยิศราเอลคงต้องยินดีรับเอาการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแน่. แทนที่จะถือว่าข้อเรียกร้องของซะบาโตเป็นภาระหรือข้อจำกัด พวกเขาน่าจะยินดีทำตาม. ที่จริง ในเวลาต่อมาพระเจ้าทรงบอกพวกเขาว่า การถือรักษาวันซะบาโตนั้นก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงการที่พวกเขาเคยเป็นทาสในอียิปต์และการที่พระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้เป็นอิสระ.—พระบัญญัติ 5:15.
10, 11. (ก) โดยการเชื่อฟัง ชาวยิศราเอลสามารถมีความหวังในเรื่องใด? (ข) เหตุใดชาวยิศราเอลไม่ได้เข้าในที่สงบสุขของพระเจ้า?
10 หากชาวยิศราเอลที่ออกจากอียิปต์พร้อมกับโมเซเชื่อฟัง พวกเขาก็จะมีสิทธิพิเศษได้เข้าสู่ “แผ่นดินที่. . . . บริบูรณ์ด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง” ที่ทรงสัญญาไว้. (เอ็กโซโด 3:8) ที่นั่น พวกเขาจะได้หยุดพักอย่างแท้จริง ไม่เพียงเฉพาะในวันซะบาโต แต่ตลอดชีวิตของเขาเลยทีเดียว. (พระบัญญัติ 12:9, 10) อย่างไรก็ตาม เรื่องไม่ได้ออกมาอย่างนั้น. อัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับพวกเขาดังนี้: “ใครหนอครั้นได้ยินแล้ว ยังได้ขืนกระทำให้พระองค์ทรงกริ้ว? ก็ทุกคนที่โมเซได้นำออกมาจากประเทศอายฆุปโตมิใช่หรือ และพระองค์ได้ทรงพระพิโรธแก่ผู้ใดถึงสี่สิบปีเล่า? ก็มิใช่คนเหล่านั้นที่กระทำบาปและซากศพของเขาทิ้งอยู่ในป่าหรือ และพระองค์ได้ทรงปฏิญาณแก่ผู้ใดเล่าว่าเขาจะไม่ได้เข้าในที่สงบสุขของพระองค์? ก็คือคนเหล่านั้นที่ไม่เชื่อฟังมิใช่หรือ และเราก็เห็นว่าเขาไม่สามารถเข้าไปได้ก็เพราะไม่ได้เชื่อ.”—เฮ็บราย 3:16-19.
11 ช่างเป็นบทเรียนที่มีพลังอะไรเช่นนี้สำหรับเรา! เนื่องจากพวกเขาขาดความเชื่อในพระยะโฮวา คนชั่วอายุนั้นไม่ได้เข้าไปในที่สงบสุขที่พระองค์ได้ทรงสัญญาไว้สำหรับเขา. ตรงกันข้าม พวกเขาพินาศในถิ่นทุรกันดาร. พวกเขาไม่สำนึกว่าในฐานะลูกหลานของอับราฮาม พวกเขามีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้าในการจัดเตรียมพระพรสำหรับชาติทั้งสิ้นแห่งแผ่นดินโลก. (เยเนซิศ 17:7, 8; 22:18) แทนที่จะทำอย่างสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า พวกเขาเขวไปโดยสิ้นเชิงตามความปรารถนาอย่างโลกและความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว. ขอเราอย่าได้ตกเข้าสู่แนวทางเช่นนี้เลย!—1 โกรินโธ 10:6, 10.
การหยุดพักยังคงดำเนินอยู่
12. ยังคงมีความหวังอะไรสำหรับคริสเตียนในศตวรรษแรก และพวกเขาอาจได้รับตามความคาดหวังนั้นได้อย่างไร?
12 หลังจากชี้ให้เห็นการที่ชาติยิศราเอลไม่ได้เข้าในที่สงบสุขของพระเจ้าเนื่องจากขาดความเชื่อ ตอนนี้เปาโลหันมาสนใจเพื่อนร่วมความเชื่อของท่าน. ดังบันทึกไว้ที่เฮ็บราย 4:1-5 ท่านรับรองกับพวกเขาว่า “มีคำสัญญาทรงประทานไว้แล้วว่าจะให้เข้าในที่สงบสุขของ [พระเจ้า].” เปาโลกระตุ้นเตือนพวกเขาให้สำแดงความเชื่อใน “กิตติคุณ [“ข่าวดี,” ล.ม.]” เพราะ “เราทั้งหลายที่เชื่อแล้วก็เข้าในที่สงบสุขนั้น.” เนื่องจากพระบัญญัติได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู ในที่นี้เปาโลจึงมิได้กล่าวถึงการหยุดพักทางกายในวันซะบาโต. (โกโลซาย 2:13, 14) โดยยกข้อความจากเยเนซิศ 2:2 และบทเพลงสรรเสริญ 95:11 เปาโลกำลังกระตุ้นคริสเตียนชาวฮีบรูให้เข้าในที่สงบสุขของพระเจ้า.
13. เมื่อยกข้อความจากเพลงสรรเสริญบท 95 เหตุใดเปาโลจึงชี้ชวนให้สนใจคำว่า “วันนี้”?
13 โอกาสที่จะได้เข้าในที่สงบสุขของพระเจ้าน่าจะเป็น “ข่าวดี” สำหรับคริสเตียนชาวฮีบรู เช่นเดียวกับที่การหยุดพักแห่งซะบาโตน่าจะเป็น “ข่าวดี” สำหรับชาวยิศราเอลที่อยู่ก่อนพวกเขา. ฉะนั้น เปาโลกระตุ้นเตือนเพื่อนร่วมความเชื่อว่าอย่าได้ทำผิดพลาดอย่างเดียวกับชนชาติยิศราเอลในถิ่นทุรกันดาร. โดยยกข้อความจากส่วนที่เวลานี้คือบทเพลงสรรเสริญ 95:7, 8 ท่านชี้ให้สนใจคำว่า “วันนี้” แม้ว่าเวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้วนับตั้งแต่พระเจ้าได้ทรงหยุดพักจากการสร้าง. (เฮ็บราย 4:6, 7) จุดที่เปาโลต้องการชี้คืออะไร? ก็คือเรื่องที่ว่า “วันที่เจ็ด” ซึ่งพระเจ้าได้ทรงตั้งไว้โดยเฉพาะเพื่อเปิดโอกาสให้พระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวด้วยแผ่นดินโลกและมนุษยชาติสำเร็จเต็มที่ ยังคงดำเนินอยู่. ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับเพื่อนคริสเตียนของท่านจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับพระประสงค์นั้น ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่แต่การแสวงหาที่เห็นแก่ตัว. อีกครั้งหนึ่ง ท่านเตือนว่า “อย่ากระทำให้ใจของท่านแข็งกะด้างไป.”
14. เปาโลแสดงให้เห็นอย่างไรว่า “การหยุดพัก” ของพระเจ้ายังคงดำเนินอยู่?
14 นอกจากนี้ เปาโลชี้ให้เห็นด้วยว่า “ที่สงบสุข” ตามที่ทรงสัญญาไว้นั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการตั้งรกรากในดินแดนแห่งคำสัญญาภายใต้การนำของยะโฮซูอะ. (ยะโฮซูอะ 21:44) เปาโลหาเหตุผลว่า “เพราะว่าถ้ายะโฮซูอะได้พาเขาเข้ามาในที่สงบสุขแล้ว, ภายหลังนั้นพระองค์ก็คงมิได้ตรัสถึงวันอื่นอีก.” โดยคำนึงถึงเช่นนั้น เปาโลจึงกล่าวต่ออีกว่า “ยังมีซะบาโตที่สงบสุขไว้สำหรับพลไพร่ของพระเจ้า.” (เฮ็บราย 4:8, 9) “ซะบาโตที่สงบสุข” ที่ว่านี้คืออะไร?
จงเข้าในที่สงบสุขของพระเจ้า
15, 16. (ก) คำว่า “ซะบาโตที่สงบสุข” มีความหมายเช่นไร? (ข) ‘การหยุดพักจากการงานของตนเอง’ หมายความอย่างไร?
15 คำว่า “ซะบาโตที่สงบสุข” นั้นแปลจากคำภาษากรีกที่หมายถึง “การถือซะบาโต.” (คิงดอม อินเตอร์ลิเนียร์) ศาสตราจารย์ วิลเลียม เลน กล่าวดังนี้: “คำนี้มีความหมายเฉพาะตัวมันเองที่แตกต่างออกไปเล็กน้อยซึ่งเกิดจากคำสั่งเกี่ยวกับซะบาโตที่พัฒนากันมาในลัทธิยูดายซึ่งมีพื้นฐานตามเอ็กโซโด 20:8-10 ซึ่งเน้นว่าการหยุดพักและการสรรเสริญเป็นของคู่กัน . . . [คำนี้] เน้นแง่มุมพิเศษของเทศกาลและความยินดี ซึ่งแสดงออกโดยการเทิดทูนและสรรเสริญพระเจ้า.” ถ้าอย่างนั้น การหยุดพักที่ทรงสัญญาไว้นั้นก็ไม่ใช่เพียงการเป็นอิสระจากการงาน. หากแต่เป็นการเปลี่ยนจากงานหนักที่น่าเหนื่อยหน่ายและไร้จุดหมายมาเป็นการรับใช้ด้วยความยินดีที่เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า.
16 คำพูดถัดจากนั้นของเปาโลยืนยันเรื่องนี้: “เพราะว่าผู้ใดที่ได้เข้าสู่การพำนักของพระเจ้าแล้ว ก็ได้พักงานของตนเหมือนพระเจ้าได้ทรงพักพระราชกิจของพระองค์.” (เฮ็บราย 4:10, ฉบับแปลใหม่) พระเจ้ามิได้หยุดพักในวันที่เจ็ดแห่งการสร้างเนื่องจากทรงเหน็ดเหนื่อย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงหยุดจากการสร้างที่เกี่ยวกับแผ่นดินโลกเพื่อเปิดโอกาสให้พระหัตถกิจของพระองค์พัฒนาไปและบรรลุถึงสง่าราศีเต็มที่ เพื่อสรรเสริญและถวายพระเกียรติแด่พระองค์. ในฐานะส่วนหนึ่งแห่งสิ่งทรงสร้างของพระเจ้า เราควรทำตัวให้เหมาะกับการจัดเตรียมนั้น. เราควร ‘หยุดพักจากการงานของเราเอง’ กล่าวคือ เราควรเลิกเสียจากการพยายามแสดงตัวเองชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าโดยหวังจะได้ความรอด. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราควรมีความเชื่อว่าความรอดของเราขึ้นอยู่กับเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งทุกสิ่งจะถูกนำกลับเข้ามาประสานกับพระประสงค์ของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่งโดยทางเครื่องบูชานี้.—เอเฟโซ 1:8-14; โกโลซาย 1:19, 20.
พระคำของพระเจ้าทรงพลัง
17. ชาติยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนังติดตามแนวทางอะไรที่เราต้องหลีกเลี่ยง?
17 ชาวยิศราเอลไม่ได้เข้าในที่สงบสุขตามคำสัญญาของพระเจ้าเนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อฟังและขาดความเชื่อ. ด้วยเหตุนั้น เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนชาวฮีบรูดังนี้: “เหตุฉะนั้นให้เราทั้งหลายอุสส่าห์เข้าในที่สงบสุขนั้น, เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดตกหลงไปในการไม่เชื่อฟังเช่นเขาเหล่านั้นซึ่งเป็นตัวอย่าง.” (เฮ็บราย 4:11) ชาวยิวส่วนใหญ่ในศตวรรษแรกไม่ได้แสดงความเชื่อในพระเยซู และหลายคนประสบความทุกข์ลำบากอย่างยิ่งเมื่อระบบยิวถึงกาลอวสานในปีสากลศักราช 70. การที่เรามีความเชื่อเกี่ยวกับคำสัญญาในพระคำของพระเจ้านั้นช่างสำคัญสักเพียงไรในทุกวันนี้!
18. (ก) เปาโลให้เหตุผลเช่นไรสำหรับการแสดงความเชื่อในพระคำของพระเจ้า? (ข) พระคำของพระเจ้า “คมกว่าดาบสองคม” อย่างไร?
18 เรามีเหตุผลดีทีเดียวที่จะแสดงความเชื่อในพระคำของพระยะโฮวา. เปาโลเขียนดังนี้: “พระคำของพระเจ้ามีชีวิตและทรงพลัง และคมกว่าดาบสองคม และแทงทะลุกระทั่งแยกจิตวิญญาณและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก ทั้งสามารถสังเกตเข้าใจความคิดและความมุ่งหมายแห่งหัวใจ.” (เฮ็บราย 4:12, ล.ม.) ใช่แล้ว พระคำหรือข่าวสารของพระเจ้านั้น “คมกว่าดาบสองคม.” คริสเตียนชาวฮีบรูต้องจำเอาไว้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับบรรพบุรุษของพวกเขา. โดยไม่ใส่ใจในเรื่องการพิพากษาของพระยะโฮวาที่ว่าเขาจะพินาศในถิ่นทุรกันดาร พวกเขาได้พยายามเข้าสู่ดินแดนแห่งคำสัญญา. แต่โมเซเตือนพวกเขาดังนี้: “พวกอาเมเล็กแลพวกคะนาอันอยู่ข้างหน้าเจ้าในที่นั่น, แลเจ้าทั้งหลายจะล้มตายด้วยคมกระบี่.” เมื่อชาวยิศราเอลรุดหน้าต่อไปอย่างดื้อรั้น “พวกอาเมเล็กกับพวกคะนาอันที่อยู่กับเขานั้น, กรูลงมาจากภูเขาตีเอาชัยชนะแก่เขาทั้งหลายมาจนถึงตำบลฮัลมา.” (อาฤธโม 14:39-45) พระคำของพระยะโฮวาคมยิ่งกว่าดาบสองคม และใครก็ตามจงใจเพิกเฉยพระคำนั้นย่อมต้องเก็บเกี่ยวผลอย่างแน่นอน.—ฆะลาเตีย 6:7-9.
19. พระคำของพระเจ้า “แทงทะลุ” อย่างมีพลังอย่างไร และเหตุใดเราควรตระหนักว่าเราต้องให้การต่อพระเจ้า?
19 พระคำของพระเจ้าช่างมีพลังจริง ๆ “แทงทะลุกระทั่งแยกจิตวิญญาณและวิญญาณ ตลอดข้อกระดูกและไขในกระดูก”! พระคำนี้แทงทะลุความคิดและแรงกระตุ้นต่าง ๆ ของปัจเจกบุคคล กล่าวโดยนัยได้ว่าแทงทะลุตลอดถึงไขกระดูกซึ่งเป็นส่วนลึกที่สุดของกระดูก! แม้ว่าชนยิศราเอลที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสในอียิปต์ได้ตกลงจะปฏิบัติตามพระบัญญัติ พระยะโฮวาทรงทราบว่าลึกลงไปในหัวใจ พวกเขาไม่ได้หยั่งรู้ค่าการจัดเตรียมและข้อเรียกร้องของพระองค์. (บทเพลงสรรเสริญ 95:7-11) แทนที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ พวกเขาเป็นห่วงแต่การบำเรอความปรารถนาฝ่ายเนื้อหนังของตน. ฉะนั้น พวกเขาไม่ได้เข้าในที่สงบสุขตามคำสัญญาของพระเจ้า แต่ตายเสียในถิ่นทุรกันดาร. เราต้องจำเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียน เพราะ “สิ่งใดที่ไม่ได้ปรากฏแก่ [พระเจ้า] ไม่มี แต่สรรพสิ่งปรากฏแจ้งต่อพระเนตรของพระองค์ผู้ซึ่งเราต้องให้การนั้น.” (เฮ็บราย 4:13) ดังนั้น ขอให้เราทำให้การอุทิศตัวของเราแด่พระยะโฮวาถึงที่สำเร็จและไม่ “ถอยกลับไปสู่ความพินาศ.”—เฮ็บราย 10:39, ล.ม.
20. มีอะไรรออยู่ข้างหน้า และเวลานี้เราต้องทำอะไรเพื่อจะเข้าในที่สงบสุขของพระเจ้า?
20 แม้ว่า “วันที่เจ็ด” ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้าทรงหยุดพักยังคงดำเนินอยู่ แต่พระองค์ทรงเฝ้าสังเกตความคืบหน้าแห่งพระประสงค์ของพระองค์เกี่ยวกับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติ. อีกไม่นาน พระเยซูคริสต์ กษัตริย์มาซีฮา จะทรงจัดการกวาดล้างผู้ต่อต้านพระทัยประสงค์ของพระเจ้าให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินโลก ซึ่งก็รวมทั้งพญามารซาตานด้วย. ในระหว่างรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ พระเยซูและเพื่อนผู้ร่วมปกครองกับพระองค์ 144,000 คนจะนำแผ่นดินโลกและมนุษยชาติบรรลุสภาพที่พระเจ้าทรงตั้งพระประสงค์ไว้. (วิวรณ์ 14:1; 20:1-6) บัดนี้เป็นเวลาที่เราจะพิสูจน์ว่าเรายึดพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นจุดรวมแห่งชีวิต. แทนที่จะพยายามแสดงตัวชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าและส่งเสริมผลประโยชน์สำหรับตัวเอง บัดนี้เป็นเวลาที่เราจะ ‘หยุดพักจากการงานของเราเอง’ และรับใช้เพื่อผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรอย่างสุดหัวใจ. โดยการทำเช่นนั้นและรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา เราจะมีสิทธิพิเศษได้รับบำเหน็จแห่งการเข้าในที่สงบสุขของพระเจ้าตั้งแต่เวลานี้และตลอดไป.
คุณอธิบายได้ไหม?
▫ พระเจ้าทรงหยุดพักใน “วันที่เจ็ด” ด้วยจุดประสงค์ใด?
▫ ชาวยิศราเอลมีโอกาสจะได้เข้าในที่สงบสุขอะไร แต่เหตุใดพวกเขาไม่ได้เข้าไป?
▫ เราต้องทำอะไรเพื่อเข้าไปในที่สงบสุขของพระเจ้า?
▫ พระคำของพระเจ้ามีชีวิต, มีพลัง, และคมกว่าดาบสองคม อย่างไร?
[รูปภาพหน้า 16, 17]
ชาวยิศราเอลถือรักษาซะบาโต แต่พวกเขาไม่ได้เข้าในที่สงบสุขของพระเจ้า. คุณทราบไหมว่าเพราะเหตุใด?