ทุกคนจะเป็นอิสระ
“ข้าพเจ้าเห็นว่าความทุกข์ลำบากในปัจจุบันนี้ไม่สมควรที่จะเอาไปเปรียบกับสง่าราศีซึ่งจะปรากฏแก่เราทั้งหลาย. ด้วยว่าสรรพสิ่งที่สร้างแล้วมีความเพียรคอยท่าปรารถนาให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ. เพราะว่าสรรพสิ่งนั้นต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจังมิใช่ตามอำเภอใจของมันเอง, แต่เป็นไปตามพระองค์ผู้ทรงบันดาลให้เข้าอยู่นั้น, ด้วยมีความหวังใจว่า สรรพสิ่งนั้นจะได้รอดจากอำนาจแห่งความเสื่อมเสียและจะเข้าในสง่าราศีแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า. ด้วยว่าเราทั้งหลายรู้อยู่ว่าบรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้นกำลังคร่ำครวญและเป็นทุกข์ลำบากเจ็บปวดด้วยกันจนทุกวันนี้.”—โรม 8:18-22.
จากตอนนี้ในจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม อัครสาวกเปาโลเสนอใจความสำคัญของสาเหตุที่ชีวิตขาดอิสรภาพแท้และมักส่อให้เห็นความว่างเปล่าและความเจ็บปวดอยู่เนือง ๆ. ท่านยังอธิบายถึงวิธีที่เราสามารถประสบเสรีภาพแท้ด้วย.
“ความทุกข์ลำบากในปัจจุบันนี้”
เปาโลมิได้ดูเบา “ความทุกข์ลำบากในปัจจุบันนี้” เมื่อท่านกล่าวว่าความทุกข์นั้น “ไม่สมควรที่จะเอาไปเปรียบกับสง่าราศีซึ่งจะปรากฏแก่เราทั้งหลาย.” ระหว่างสมัยของเปาโลเช่นเดียวกับในเวลาต่อมา คริสเตียนทนทุกข์อย่างมากมายภายใต้การปกครองแบบเผด็จการที่เข้มงวดโดยผู้มีอำนาจชาวโรมันซึ่งไม่ใส่ใจเท่าไรนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน. ครั้นโรมเข้าใจว่าคริสเตียนเป็นศัตรูของรัฐแล้ว พวกเขาก็กดขี่คริสเตียนอย่างทารุณ. นักประวัติศาสตร์เจ. เอ็ม. โรเบิร์ตกล่าวว่า “คริสเตียนหลายคนในเมืองหลวง [กรุงโรม] ถูกประหารอย่างน่าสยดสยองในสนามกีฬาหรือไม่ก็ถูกเผาทั้งเป็น.” (ประวัติศาสตร์โลกโดยสังเขป, ภาษาอังกฤษ) เกี่ยวกับคนเหล่านี้ที่ตกเป็นเหยื่อการข่มเหงของเนโร รายงานอีกแหล่งหนึ่งแจ้งว่า “บางคนถูกตอกติดกับหลัก, บางคนถูกเย็บติดกับหนังสัตว์แล้วถูกสุนัขไล่ล่า, บ้างก็ถูกราดด้วยยางมะตอยทั้งตัวแล้วจุดไฟให้ลุกไหม้เพื่อใช้เป็นคบเพลิงที่มีชีวิตเมื่อความมืดเข้าครอบงำ.”—ประวัติพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ (ภาษาอังกฤษ) โดย เอฟ. เอฟ. บรูซ.
คริสเตียนยุคแรกเหล่านั้นคงจะปรารถนาเสรีภาพพ้นจากการกดขี่เช่นนั้นอย่างแน่นอน แต่พวกเขาไม่สมัครใจจะละเมิดคำสอนของพระเยซูคริสต์เพื่อได้มาซึ่งเสรีภาพดังกล่าว. ตัวอย่างเช่น พวกเขาคงไว้ซึ่งความเป็นกลางโดยเด็ดขาดในการต่อสู้ระหว่างผู้มีอำนาจปกครองชาวโรมันกับนักรบเพื่อเสรีภาพชาวยิวอย่างพวกเซลอต. (โยฮัน 17:16; 18:36) สำหรับพวกเซลอตแล้ว “การพูดถึงการคอยท่าเวลากำหนดของพระเจ้าไม่ใช่สิ่งที่วิกฤตการณ์ในตอนนั้นเรียกร้อง.” พวกเขากล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นคือ “ปฏิบัติการแบบรุนแรงต่อศัตรู” คือโรม. (ประวัติพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่) คริสเตียนยุคแรกคิดไม่เหมือนกับพวกเขา. “การคอยท่าเวลากำหนดของพระเจ้า” เป็นทางเลือกอย่างเดียวเท่านั้นที่ตรงกับสภาพจริง. พวกเขามั่นใจว่านอกเหนือจากการแทรกแซงของพระเจ้าแล้วไม่มีอะไรจะทำให้ “ความทุกข์ลำบากในปัจจุบันนี้” สิ้นสุดตลอดไป และนำมาซึ่งเสรีภาพแท้และถาวรได้. (มีคา 7:7; ฮะบาฆูค 2:3) อย่างไรก็ตาม ก่อนเราพิจารณาว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นโดยวิธีใด อันดับแรกขอให้เราตรวจสอบดูสาเหตุที่ “สรรพสิ่งนั้นต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง.”
“ต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง”
เบนจามิน วิลสันกล่าวไว้ในดิ เอมฟาติก ไดอะกล็อตต์ ว่า คำ “สรรพสิ่งที่สร้างแล้ว” ในที่นี้มิได้หมายถึง “สิ่งทรงสร้างที่ไม่มีความคิดจิตใจและไร้ชีวิต” ดังที่บางคนชี้แนะ แต่ถ้าจะพูดให้ถูกแล้วหมายถึง “มวลมนุษยชาติ.” (เทียบกับโกโลซาย 1:23.) นี่พาดพิงถึงครอบครัวมนุษย์ทั้งสิ้น คือเราทุกคนซึ่งปรารถนาเสรีภาพ. เรา “ต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง” เนื่องจากการกระทำของบิดามารดาแรกเดิมของเรา. นั่น “มิใช่ตามอำเภอใจของ [เรา] เอง” หรือเป็นผลมาจากการเลือกส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่ทำให้สภาพเช่นนี้เกิดขึ้น. เราได้สืบทอดสภาพนั้นมา. จากทัศนะตามหลักพระคัมภีร์ รูสโซเป็นฝ่ายผิดเมื่อเขากล่าวว่า “มนุษย์เกิดมาเป็นอิสระ.” เราทุกคนเกิดมาในพันธนาการของบาปและความไม่สมบูรณ์ พอจะกล่าวได้ว่าเป็นทาสของระบบที่เต็มด้วยความข้องขัดใจและความเปล่าประโยชน์.—โรม 3:23.
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? เนื่องจากอาดามและฮาวา บิดามารดาแรกเดิมของเราต้องการเป็น “เหมือนพระเจ้า” เพื่อจะทำการตัดสินใจด้วยตัวเองโดยสิ้นเชิง ตัดสินเอาเองว่าอะไรดีและอะไรชั่ว. (เยเนซิศ [ปฐมกาล] 3:5, ฉบับแปลใหม่) เขาทั้งสองมองข้ามปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในเรื่องเสรีภาพ. เฉพาะพระผู้สร้างองค์เดียวเท่านั้นสามารถมีเสรีภาพครบถ้วน. พระองค์ทรงเป็นสากลองค์บรมมหิศร. (ยะซายา 33:23; วิวรณ์ 4:11) เสรีภาพของมนุษย์ต้องหมายถึงเสรีภาพภายในขอบเขต. ด้วยเหตุนั้น สาวกยาโกโบจึงสนับสนุนคริสเตียนในสมัยของท่านให้ “กฎหมายอันสมบูรณ์แห่งเสรีภาพ” ควบคุมพวกเขาไว้.—ยาโกโบ 1:25, ล.ม.
เป็นการสมควรที่พระยะโฮวาทรงขับไล่อาดามและฮาวาออกจากสากลครอบครัวของพระองค์ และผลก็คือเขาทั้งสองตาย. (เยเนซิศ 3:19) แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับลูกหลานของเขา. ด้วยความเมตตา พระยะโฮวายังคงยอมให้เขาทั้งสองกำเนิดลูก ถึงแม้ตอนนี้เขาสามารถถ่ายทอดได้เฉพาะแต่ความไม่สมบูรณ์, บาป, และความตายเท่านั้น. ดังนั้น “ความตายจึงได้ลามไปถึงคนทั้งปวง.” (โรม 5:12) ในความหมายนั้นแหละที่พระเจ้าทรงให้ “สรรพสิ่งนั้นต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง.”
“บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ”
พระยะโฮวาทรงให้สรรพสิ่งต้องเข้าอยู่ในอำนาจของอนิจจัง “ด้วยมีความหวัง” ที่ว่า สักวันหนึ่งจะมีการนำเสรีภาพกลับคืนสู่ครอบครัวมนุษย์อีกโดยทางกิจการงานของ “บุตรทั้งหลายของพระเจ้า.” “บุตรทั้งหลายของพระเจ้า” เหล่านี้คือใคร? พวกเขาคือเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ ผู้ซึ่งเกิดมาเป็นทาสของบาปและความไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับ “สรรพสิ่งที่สร้างแล้ว [มนุษย์]” ที่เหลือนอกนั้น. โดยกำเนิดพวกเขาไม่มีตำแหน่งอันชอบด้วยสิทธิในสากลครอบครัวที่สะอาดและสมบูรณ์ของพระเจ้า. แต่พระยะโฮวาทรงทำอะไรบางอย่างที่เลิศล้ำสำหรับพวกเขา. โดยทางเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงปลดปล่อยพวกเขาจากพันธนาการของบาปที่ได้รับเป็นมรดกและประกาศว่าพวกเขา “ชอบธรรม” หรือเป็นคนสะอาดทางฝ่ายวิญญาณ. (1 โกรินโธ 6:11) ครั้นแล้ว พระองค์ทรงรับพวกเขาไว้ฐานะเป็น “บุตรของพระเจ้า” ทรงนำพวกเขากลับคืนสู่สากลครอบครัวของพระองค์.—โรม 8:14-17.
ในฐานะผู้ที่พระยะโฮวาทรงรับไว้เป็นบุตร พวกเขาจะมีสิทธิพิเศษอันรุ่งโรจน์. พวกเขาจะเป็น “ปุโรหิตแด่พระเจ้าของเรา และพวกเขาจะปกครองเป็นกษัตริย์เหนือแผ่นดินโลก” เคียงข้างพระเยซูคริสต์ฐานะเป็นส่วนแห่งราชอาณาจักรหรือรัฐบาลทางภาคสวรรค์ของพระเจ้า. (วิวรณ์ 5:9, 10; 14:1-4, ล.ม.) นี่เป็นรัฐบาลที่ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างมั่นคงโดยหลักการของเสรีภาพและความยุติธรรม—ไม่ใช่โดยการกดขี่และระบบทรราช. (ยะซายา 9:6, 7; 61:1-4) อัครสาวกเปาโลกล่าวว่าเหล่าบุตรของพระเจ้านี้เป็นสหายของพระเยซู “พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม” ที่ทรงสัญญาไว้นานแล้ว. (ฆะลาเตีย 3:16, 26, 29) ในฐานะเช่นนั้น พวกเขามีบทบาทสำคัญในการทำให้คำสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮามมิตรของพระองค์นั้นสำเร็จ. ส่วนหนึ่งของคำสัญญานั้นคือว่า โดยทางพงศ์พันธุ์ (หรือ ลูกหลาน) ของอับราฮาม “ทุกชาติแห่งแผ่นดินโลกจะทำให้ตนเองได้พระพรเป็นแน่.”—เยเนซิศ 22:18, ล.ม.
พวกเขานำพระพรอะไรมาสู่มนุษยชาติ? เหล่าบุตรของพระเจ้ามีส่วนร่วมในการปลดปล่อยครอบครัวมนุษย์ทั้งสิ้นจากผลที่ร้ายแรงต่าง ๆ ของบาปเนื่องจากอาดามและนำมนุษยชาติกลับคืนสู่ความสมบูรณ์. ผู้คน “จากชาติและตระกูลและชนชาติ” สามารถทำให้ตนเองได้พระพรโดยการแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์และโดยยอมตัวอยู่ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งยังผลประโยชน์. (วิวรณ์ 7:9, 14-17; 21:1-4; 22:1, 2, ล.ม.; มัดธาย 20:28; โยฮัน 3:16) โดยวิธีนี้ “สิ่งทรงสร้างทั้งปวง” จะมี “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า” อีกครั้งหนึ่ง. นี่จะไม่ใช่เสรีภาพทางการเมืองชั่วคราวบางรูปแบบซึ่งมีขอบเขต แต่ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว เป็นเสรีภาพพ้นจากทุกสิ่งที่ได้ก่อความเจ็บปวดและความทุกข์แก่ครอบครัวมนุษย์นับตั้งแต่อาดามและฮาวาปฏิเสธพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้า. ไม่น่าแปลกใจที่อัครสาวกเปาโลสามารถพูดได้ว่า “ความทุกข์ลำบากในปัจจุบันนี้ไม่สมควรที่จะเอาไป” เปรียบกับการรับใช้อันรุ่งโรจน์ที่ชนผู้ซื่อสัตย์จะปฏิบัตินั้น!
“บุตรทั้งหลายของพระเจ้า” เริ่มต้น “ปรากฏ” เมื่อไร? ในไม่ช้านี้ทีเดียวแหละ เมื่อพระยะโฮวาจะทรงทำให้ชัดแจ้งแก่ทุกคนว่าบุตรทั้งหลายของพระเจ้าเป็นใคร. เหตุการณ์นี้จะเป็นไปคราวที่ “บุตรทั้งหลาย” เหล่านี้ได้รับการปลุกขึ้นจากตายสู่แดนวิญญาณ มีส่วนร่วมกับพระเยซูคริสต์ในการชำระล้างแผ่นดินโลกให้ปราศจากความชั่วและการกดขี่ ณ สงครามฮาร์-มาเกดโอนของพระเจ้า. (ดานิเอล 2:44; 7:13, 14, 27; วิวรณ์ 2:26, 27; 16:16; 17:14; 19:11-21, ล.ม.) เราเห็นหลักฐานเพิ่มขึ้นรอบตัวเราว่าเราอยู่ในช่วงปลายของ “สมัยสุดท้าย” คราวที่ความอดกลั้นพระทัยของพระเจ้าเป็นเวลานานต่อการขืนอำนาจและความชั่วที่เป็นผลสืบเนื่องนั้นจะสิ้นสุดลง.—2 ติโมเธียว 3:1-5; มัดธาย 24:3-31.
ถูกแล้ว เป็นความจริงดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้ว่า “บรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้นกำลังคร่ำครวญและเป็นทุกข์ลำบากเจ็บปวดด้วยกันจนทุกวันนี้”—แต่ก็ไม่นานไปกว่านี้มากนัก. ผู้คนนับล้านที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้จะเห็น “สิ่งสารพัตรจะตั้งขึ้นใหม่, ตามซึ่งพระเจ้าได้ตรัสไว้โดยปากบรรดาศาสดาพยากรณ์บริสุทธิ์ของพระองค์ตั้งแต่กาลโบราณมา” รวมทั้งการนำสันติภาพ, เสรีภาพ, และความยุติธรรมกลับคืนสู่ครอบครัวมนุษย์ทั้งสิ้น.—กิจการ 3:21.
เสรีภาพแท้ในที่สุด
คุณต้องทำอะไรเพื่อได้รับ “เสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.” พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายตั้งมั่นคงอยู่ในคำของเรา เจ้าก็เป็นสาวกแท้ของเรา และเจ้าทั้งหลายจะรู้จักความจริง และความจริงจะทำให้เจ้าเป็นอิสระ.” (โยฮัน 8:31, 32, ล.ม.) นั่นเป็นกุญแจไขสู่เสรีภาพ คือโดยการเรียนรู้พระบัญชาและคำสอนของพระคริสต์ครั้นแล้วก็เชื่อฟัง. การทำเช่นนี้นำมาซึ่งเสรีภาพในระดับหนึ่งแม้แต่ขณะนี้ด้วยซ้ำ. ในอนาคตอันใกล้ นั่นจะนำมาซึ่งเสรีภาพครบถ้วนภายใต้การปกครองของพระคริสต์เยซู. แนวทางที่ฉลาดคือการรู้จัก “คำ” ของพระเยซูโดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. (โยฮัน 17:3) เช่นเดียวกับคริสเตียนยุคแรก จงคบหาสมาคมอย่างแข็งขันกับประชาคมแห่งสาวกแท้ของพระคริสต์. โดยการทำเช่นนั้น คุณสามารถได้รับประโยชน์จากความจริงที่ปลดปล่อยให้เป็นอิสระซึ่งพระยะโฮวาทรงจัดเตรียมไว้ให้โดยทางองค์การของพระองค์ในทุกวันนี้.—เฮ็บราย 10:24, 25.
ขณะที่ “คอยท่าปรารถนาให้บุตรทั้งหลายของพระเจ้าปรากฏ” คุณอาจปลูกฝังความมั่นใจอย่างที่อัครสาวกเปาโลมีในความใฝ่พระทัยและการเกื้อหนุนที่ปกป้องของพระคริสต์ แม้แต่เมื่อความทุกข์และความอยุติธรรมดูเหมือนเป็นสิ่งที่แทบจะทนไม่ได้ก็ตาม. หลังจากพิจารณาเรื่องการปรากฏแห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้าแล้ว เปาโลถามว่า “ใครผู้ใดจะให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระคริสต์เล่า? จะเป็นการยากลำบาก, หรือความทุกข์ในใจ, หรือการเคี่ยวเข็ญ, หรือการกันดารอาหาร, หรือการเปลือยกาย, หรือการถูกโพยภัย, หรือการถูกคมดาบหรือ.” (โรม 8:35) แน่นอน โดยใช้ถ้อยคำของรูสโซ คริสเตียนในสมัยของเปาโลยังคงอยู่ “ในพันธนาการ” ของพลังกดขี่ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง. พวกเขา “ถูกฆ่าเสียสิ้นวันยังค่ำ” เหมือน “ฝูงแกะสำหรับจะเอาไว้ฆ่า.” (โรม 8:36) พวกเขายอมให้เหตุการณ์นั้นทำให้ตัวเองหมดกำลังไหม?
เปาโลเขียนว่า “แต่ว่าในเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านั้น เราทั้งหลายมีชัยชนะเหลือล้นโดยพระองค์ผู้ได้ทรงรักเราทั้งหลาย.” (โรม 8:37) มีชัยชนะทั้ง ๆ ที่คริสเตียนยุคแรกต้องทนรับเหตุการณ์ทุกอย่างเช่นนั้นหรือ? เป็นไปได้อย่างไร? ท่านตอบว่า “ข้าพเจ้าเชื่อมั่นคงว่า, แม้ความตาย, หรือชีวิต, หรือทูตสวรรค์, หรือผู้มีบรรดาศักดิ์, หรือสิ่งซึ่งมีอยู่เดี๋ยวนี้, หรือสิ่งซึ่งจะเป็นมาภายหน้า, หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย, หรือความสูง, หรือความลึก, หรือสิ่งใด ๆ อื่นที่ทรงสร้างแล้ว, จะไม่อาจกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากความรักของพระเจ้าซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย.” (โรม 8:38, 39) คุณสามารถ “มีชัยชนะ” พ้นจาก “การยากลำบาก, หรือความทุกข์ในใจ, หรือการเคี่ยวเข็ญ” ใด ๆ ก็ตามซึ่งคุณอาจต้องอดทนในระหว่างนี้ได้เช่นกัน. ความรักของพระเจ้ารับประกันว่าอีกไม่นาน—ไม่ช้านี้ทีเดียวแหละ—เรา “จะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส . . . และมีเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า.”
[รูปภาพหน้า 6]
“บรรดาสรรพสิ่งที่ทรงสร้างนั้นกำลังคร่ำครวญและเป็นทุกข์ลำบากเจ็บปวดด้วยกันจนทุกวันนี้”
[รูปภาพหน้า 7]
‘สิ่งทรงสร้างนั้นจะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสและมีเสรีภาพอันรุ่งโรจน์แห่งบุตรทั้งหลายของพระเจ้า’