ใช้ความสามารถในการพูดของคุณอย่างเหมาะสม
“ขอให้ผมพูด . . . แต่สิ่งที่พระองค์พอใจ”—บทเพลงสรรเสริญ 19:14, ล.ม.
1, 2. ทำไมคัมภีร์ไบเบิลเปรียบเทียบไฟกับความสามารถในการพูดของเรา?
ในปี ค.ศ. 1871 ไฟเริ่มลุกไหม้ในป่าที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็วและไหม้ต้นไม้ในป่าไปประมาณ 2 พันล้านต้น มีคนมากกว่า 1,200 คนเสียชีวิต ที่จริง ไฟไหม้ครั้งนั้นฆ่าคนไปมากกว่าไฟไหม้ครั้งอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกา ดูเหมือนว่าต้นเพลิงเกิดจากประกายไฟเล็ก ๆ ของรถไฟที่วิ่งผ่านป่านั้น แล้วไฟก็ลุกลามใหญ่โต เหตุการณ์นี้ทำให้เรานึกถึงคัมภีร์ไบเบิลข้อหนึ่งที่บอกว่า “คิดดูสิ! ไฟนิดเดียวก็ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่!” (ยโก. 3:5) ทำไมยาโกโบผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลถึงพูดอย่างนี้?
2 ยาโกโบอธิบายว่า “ลิ้นก็เป็นเหมือนไฟ” (ยโก. 3:6) “ลิ้น” หมายถึงความสามารถในการพูด และที่ลิ้นเป็นเหมือนไฟก็เพราะสิ่งที่เราพูดสร้างความเสียหายได้มาก คำพูดของเราส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนอื่น คัมภีร์ไบเบิลถึงกับบอกว่าสิ่งที่เราพูดมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้ (สุภา. 18:21) แต่นั่นหมายความว่าเราไม่ควรพูดอะไรเลยเพราะกลัวว่าจะพูดอะไรไม่ดีไหม? ไม่ใช่อย่างนั้น ก็เหมือนกับไฟ เราคงไม่เลิกใช้ไฟเพราะกลัวจะถูกไฟไหม้ แต่เราจะใช้มันอย่างระมัดระวัง เช่น ใช้ไฟทำอาหาร ให้ความอบอุ่น และให้แสงสว่าง ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราพูดอย่างระมัดระวัง เราก็จะใช้ความสามารถนี้ยกย่องพระยะโฮวาและช่วยคนอื่นได้ด้วย—เพลง. 19:14
3. เพื่อเราจะพูดให้กำลังใจคนอื่น เราต้องรู้อะไร?
3 พระยะโฮวาให้เรามีความสามารถที่จะบอกคนอื่นว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นโดยทางคำพูดหรือท่าทาง ดังนั้น เราจะใช้ความสามารถที่ยอดเยี่ยมนี้เพื่อให้กำลังใจคนอื่นได้อย่างไร? (อ่านยาโกโบ 3:9, 10) เราต้องรู้ว่าควรพูดเมื่อไร พูดอะไร และพูดอย่างไร
เราควรพูดเมื่อไร?
4. ตอนไหนที่เราควรเงียบ?
4 ในบางครั้งก็ดีที่เราจะอยู่เงียบ ๆ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่ามี “เวลาเงียบ” (ผู้ป. 3:7, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น เราเงียบตอนที่คนอื่นพูดเพื่อแสดงว่าเราให้เกียรติเขา (โยบ 6:24) เราไม่พูดเรื่องที่เป็นความลับของคนอื่น (สุภา. 20:19) นอกจากนั้น ถ้ามีคนทำให้เราโกรธ ก็ดีกว่าที่เราจะนิ่งเงียบ—เพลง. 4:4
5. เราจะแสดงให้พระยะโฮวาเห็นได้อย่างไรว่าเราขอบคุณพระองค์ที่ให้ความสามารถในการพูด?
5 แต่ก็มีบางเวลาที่เราควรพูด (ผู้ป. 3:7) อาจจะเป็นเวลาที่เราสรรเสริญพระยะโฮวา ให้กำลังใจคนอื่น บอกเล่าความรู้สึกของตัวเอง และบอกคนอื่นว่าเราอยากให้เขาช่วยอะไร (เพลง. 51:15) ถ้าเราใช้ความสามารถในการพูดในโอกาสแบบนี้ เราก็แสดงให้พระยะโฮวาเห็นว่าเราขอบคุณพระองค์ที่ให้ความสามารถนี้กับเรา ที่จริง ก็เหมือนกับตอนที่เพื่อนให้ของขวัญพิเศษกับเรา เราคงอยากใช้ของขวัญนั้นอย่างดีที่สุด
6. ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรพูดในเวลาที่เหมาะ?
6 ทำไมเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรพูดในเวลาที่เหมาะ? สุภาษิต 25:11 บอกว่า “คำพูดที่เหมาะกับกาลเทศะเปรียบเหมือนผลแอปเปิลทำด้วยทองคำใส่ไว้ในกระเช้าเงิน” แน่นอน แอปเปิลทองคำสวยงามอยู่แล้ว แต่แอปเปิลนั้นจะสวยขึ้นไปอีกถ้ามันวางอยู่ในกระเช้าเงิน ในทำนองเดียวกัน เราอาจมีบางอย่างที่ดีที่เราอยากจะพูดกับคนอื่น แต่ถ้าเราพูดในเวลาที่เหมาะ เราก็จะช่วยคนนั้นได้มากกว่า เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?
7, 8. พี่น้องของเราในญี่ปุ่นเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูอย่างไร?
7 ถ้าเราพูดในเวลาที่ไม่เหมาะ คนฟังก็อาจจะไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับสิ่งที่เราพูด (อ่านสุภาษิต 15:23) ตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคม 2011 เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิซึ่งทำลายหลายเมืองทางตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น มีคนมากกว่า 15,000 คนเสียชีวิต ถึงแม้ว่าพยานพระยะโฮวาหลายคนสูญเสียสมาชิกครอบครัวและเพื่อน ๆ แต่พวกเขาก็อยากใช้คัมภีร์ไบเบิลช่วยคนอื่นที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็รู้ว่าผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและไม่ค่อยรู้จักคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้น แทนที่จะบอกผู้คนเกี่ยวกับความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย พี่น้องของเราปลอบใจพวกเขาและอธิบายให้พวกเขารู้ว่าทำไมเรื่องร้าย ๆ แบบนี้ถึงเกิดขึ้นกับคนดี
8 พี่น้องเหล่านั้นเลียนแบบพระเยซู ท่านรู้ว่าเมื่อไรควรจะเงียบและเมื่อไรควรจะพูด (โย. 18:33-37; 19:8-11) พระเยซูรอเวลาเหมาะ ๆ ที่จะสอนบางเรื่องกับพวกสาวก (โย. 16:12) พี่น้องในญี่ปุ่นรอเวลาที่เหมาะที่จะบอกผู้คนเกี่ยวกับความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย สองปีครึ่งหลังจากเกิดสึนามิ พวกเขาแจกจ่ายแผ่นพับคนตายแล้วจะมีชีวิตอีกได้ไหม? มีหลายคนรับแผ่นพับนั้นอ่านและได้รับกำลังใจ พวกเราก็เหมือนกัน เราควรคิดถึงวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้คนที่เราพบในเขตประกาศ เพื่อที่เราจะพูดกับพวกเขาในเวลาที่เหมาะสม
9. มีสถานการณ์ไหนอีกที่เราควรรอให้ถึงเวลาที่เหมาะที่จะพูด?
9 มีสถานการณ์ไหนอีกที่เราควรรอให้ถึงเวลาที่เหมาะที่จะพูด? บางครั้งอาจมีคนพูดให้เราโกรธ แทนที่เราจะตอบโต้ทันทีและพูดบางอย่างที่ไม่ฉลาด คงจะดีกว่าที่เราจะหยุดคิดก่อนว่า “เขาตั้งใจพูดให้ฉันโกรธไหม? ฉันจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้กับเขาไหม?” อาจดีกว่าที่เราจะไม่พูดอะไร แต่ถ้ารู้สึกว่าจำเป็นต้องคุยกับเขา เราก็น่าจะรอให้ทั้งสองฝ่ายใจเย็นลงก่อน (อ่านสุภาษิต 15:28) หรือเราอาจอยากช่วยบางคนในครอบครัวที่ไม่ใช่พยานฯให้มารู้จักพระยะโฮวา ในกรณีนี้เราต้องอดทนและคิดดี ๆ ว่าเราจะพูดอะไรกับเขา นอกจากนั้น เราควรคุยกับเขาในเวลาที่เขาพร้อมจะฟัง
เราควรพูดอะไร?
10. (ก) ทำไมเราควรระวังสิ่งที่เราพูด? (ข) การพูดแบบไหนที่เราต้องหลีกเลี่ยง?
10 สิ่งที่เราพูดอาจทำให้คนอื่นรู้สึกดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ (อ่านสุภาษิต 12:18) ผู้คนจำนวนมากในโลกของซาตานใช้ “คำพูดที่โหดร้าย” เหมือนกับ “ธนู” หรือ “ดาบ” เพื่อทำร้ายความรู้สึกคนอื่น (เพลง. 64:3) หลายคนเรียนรู้วิธีพูดแบบนี้จากหนังหรือทีวีที่เขาดู ถึงอย่างนั้น คริสเตียนไม่ควรพูดจาแบบไม่กรุณาหรือทำให้คนอื่นเจ็บ พวกเขาไม่ควรพูดอย่างนั้นถึงแม้จะพูดติดตลก ที่จริง การมีอารมณ์ขันก็ดีและช่วยให้เรื่องที่เราพูดน่าสนใจมากขึ้น แต่เราไม่ควรพูดติดตลกในแบบที่เหน็บแนมถากถางคนอื่น คือ พูดบางอย่างที่ทำให้เขารู้สึกอายหรือพูดดูถูกเขาเพื่อให้คนอื่นหัวเราะ คัมภีร์ไบเบิลสั่งคริสเตียนว่าอย่า “พูดดูถูกเหยียดหยาม” คนอื่น และยังบอกอีกว่า “อย่าให้คำหยาบคายออกมาจากปากท่านทั้งหลาย แต่ให้เป็นคำดี ๆ ที่ทำให้เจริญขึ้นตามความจำเป็นในเวลานั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ได้ยินได้ฟัง”—เอเฟ. 4:29, 31
11. อะไรจะช่วยเราให้เลือกคำพูดที่เหมาะ?
11 พระเยซูสอนว่า “ใจเต็มไปด้วยสิ่งใด ปากก็พูดตามนั้น” (มัด. 12:34) นั่นหมายความว่าสิ่งที่เราพูดสะท้อนให้เห็นว่าเรารู้สึกอย่างไรจริง ๆ ดังนั้น ถ้าเรารักและห่วงใยคนอื่นอย่างแท้จริง เราก็จะเลือกคำพูดที่เหมาะเมื่อพูดกับเขา เราจะพูดในแง่บวกและให้กำลังใจเสมอ
12. มีวิธีไหนอีกที่ช่วยเราเลือกคำพูดที่เหมาะสม?
12 เราต้องใช้ความพยายามเพื่อจะเลือกคำพูดที่เหมาะ ตัวอย่างเช่น ถึงแม้โซโลมอนเป็นกษัตริย์ที่ฉลาด แต่เขาก็ “ค้นคว้าอย่างละเอียด” เพื่อให้ข้อเขียนของเขาถูกต้องและน่าอ่าน (ผู้ป. 12:9, 10, ล.ม.) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรพูดอะไร? เราควรอ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อหาวิธีพูดแบบใหม่ ๆ เราควรเรียนความหมายของคำต่าง ๆ ที่เราไม่เข้าใจ และเรียนวิธีพูดเพื่อช่วยเหลือคนอื่นโดยดูจากตัวอย่างของพระเยซู ท่านรู้ดีว่าควรพูดอะไรเพราะพระยะโฮวาสอนท่านให้ “รู้จักที่จะใช้คำสอนให้แก่คนที่อ่อนระอาใจ” (ยซา. 50: 4) นอกจากนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะคิดก่อนว่าคำพูดของเราจะส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร (ยโก. 1:19) เราอาจถามตัวเองว่า “ถ้าฉันพูดอย่างนี้ คนฟังจะเข้าใจไหมว่าฉันพยายามจะบอกอะไร? และเขาจะรู้สึกอย่างไร?”
13. ทำไมเราควรใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย?
13 ในอิสราเอลโบราณ มีการใช้เสียงแตรเพื่อให้สัญญาณ เสียงแตรแบบหนึ่งทำให้รู้ว่าต้องมาประชุมกัน ส่วนเสียงอีกแบบหนึ่งบอกพวกทหารให้รู้ว่าเขาต้องบุกโจมตี ลองนึกภาพดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกทหารถ้าการเป่าแตรให้สัญญาณไม่ชัดเจน คัมภีร์ไบเบิลเปรียบเทียบเสียงแตรที่ชัดเจนว่าเป็นเหมือนคำพูดที่เข้าใจง่าย ถ้าเราไม่อธิบายเรื่องที่พูดให้ชัดเจน คนอื่นอาจสับสนและเชื่อผิด ๆ ถึงแม้ว่าเราอยากพูดให้คนอื่นเข้าใจชัดเจน แต่เราก็ควรหลีกเลี่ยงการพูดที่ไม่สุภาพและไม่ให้เกียรติ—อ่าน 1 โครินท์ 14:8, 9
14. มีตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าพระเยซูพูดแบบที่เข้าใจง่าย?
14 มัดธายบท 5 ถึง 7 มีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของพระเยซูในเรื่องการพูดแบบที่เข้าใจง่าย ในคำบรรยายของท่าน ท่านไม่ได้พยายามทำให้ผู้คนประทับใจโดยใช้คำพูดที่ซับซ้อนหรือใช้คำฟุ่มเฟือย และท่านไม่ได้พูดสิ่งที่ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น ที่จริง พระเยซูสอนเรื่องที่สำคัญและลึกซึ้ง แต่ท่านพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ตัวอย่างเช่น ตอนที่พระเยซูบอกพวกสาวกให้มั่นใจว่าพวกเขาไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะกินอะไรในแต่ละวัน ท่านอธิบายว่าพระยะโฮวาคอยเลี้ยงดูนกเสมอ แล้วท่านก็ถามพวกสาวกว่า “เจ้าทั้งหลายมีค่ามากกว่าพวกมันมิใช่หรือ?” (มัด. 6:26) ด้วยคำพูดง่าย ๆ แบบนี้ พระเยซูช่วยพวกสาวกให้เข้าใจบทเรียนสำคัญและได้รับกำลังใจ
เราควรพูดอย่างไร?
15. ทำไมเราต้องพูดอย่างกรุณา?
15 วิธีที่เราพูดกับคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญมากพอ ๆ กับเรื่องที่เราพูด ผู้คนชอบฟังพระเยซูเพราะท่านสอนได้น่าฟังและสอนอย่างกรุณา (ลูกา 4:22) เมื่อเราพูดอย่างกรุณา คนอื่นก็จะชอบฟังและยอมรับสิ่งที่เราพูด (สุภา. 25:15) เราจะพูดกับคนอื่นอย่างกรุณาก็ต่อเมื่อเรานับถือเขาและคำนึงถึงความรู้สึกของเขา พระเยซูก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ตอนที่ท่านเห็นฝูงชนพยายามเดินทางมาฟังท่านสอน พระเยซูยินดีให้เวลาและสอนพวกเขา (มโก. 6:34) ถึงแม้บางครั้งพระเยซูจะถูกด่า แต่ท่านก็ไม่ได้ด่าตอบ—1 เป. 2:23
16, 17. (ก) เราจะเลียนแบบพระเยซูได้อย่างไรเมื่อพูดกับครอบครัวและเพื่อน ๆ? (ดูภาพแรก) (ข) แม่คนหนึ่งได้รับผลดีอย่างไรเมื่อเธอพูดอย่างกรุณา?
16 ถึงแม้เรารักครอบครัวและเพื่อน ๆ ของเรา แต่บางครั้งเราก็อาจพูดกับพวกเขาอย่างไม่กรุณาเพราะเราสนิทกับพวกเขาอยู่แล้ว เราอาจคิดว่าเราไม่ต้องระวังวิธีที่เราพูดกับเขาก็ได้ แต่พระเยซูไม่เคยพูดกับเพื่อนของท่านอย่างไม่กรุณา เมื่อพวกสาวกเถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่ ท่านพูดแก้ไขพวกเขาอย่างกรุณา แล้วใช้ตัวอย่างของเด็กเล็ก ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนวิธีคิด (มโก. 9:33-37) ผู้ดูแลในประชาคมสามารถเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูได้โดยให้คำแนะนำคนอื่น ๆ อย่างสุภาพอ่อนโยน—กลา. 6:1
17 ถึงแม้บางครั้งมีคนพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้เราโกรธ แต่เราก็ทำให้บรรยากาศดีขึ้นได้โดยพูดอย่างกรุณา (สุภา. 15:1) ตัวอย่างเช่น ลูกชายวัยรุ่นของแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งแสร้งทำเป็นรับใช้พระยะโฮวาทั้ง ๆ ที่ทำสิ่งที่ไม่ดีอยู่ พี่น้องหญิงในประชาคมที่รู้สึกเห็นใจแม่คนนี้จึงบอกเธอว่า “แย่จังเลยนะที่เธอฝึกสอนลูกไม่สำเร็จ” หลังจากได้ยินอย่างนั้น แม่เลี้ยงเดี่ยวหยุดคิดและตอบว่า “ก็จริงที่ตอนนี้ดูเหมือนเป็นอย่างนั้น แต่ฉันกำลังฝึกสอนเขาอยู่ คงต้องพยายามต่อไปจนถึงอาร์มาเก็ดดอนนั่นแหละ ตอนนั้นเราคงรู้ว่าผลจะเป็นยังไง” แม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้ใจเย็นและตอบพี่น้องหญิงอย่างกรุณา เขาสองคนจึงเป็นเพื่อนกันต่อไปได้ นอกจากนั้น ลูกชายของเธอได้ยินสิ่งที่แม่พูด เขารู้ว่าแม่ยังเชื่อว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ลูกชายคนนี้จึงเลิกคบกับเพื่อนที่ไม่ดี เขารับบัพติสมา และต่อมาก็ได้รับใช้ที่เบเธล ไม่ว่าเราจะคุยกับพี่น้อง ครอบครัว หรือแม้แต่คนที่เราไม่รู้จัก คำพูดของเราควรเป็น “คำพูดที่แสดงความกรุณาเสมอเหมือนอาหารที่ปรุงด้วยเกลือ”—โกโล. 4:6
18. เราจะเลียนแบบตัวอย่างของพระเยซูได้อย่างไรเมื่อพูดกับคนอื่น?
18 การที่เราสามารถบอกคนอื่นว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรเป็นของขวัญที่ยอดเยี่ยมจากพระยะโฮวาจริง ๆ ถ้าเราทำตามตัวอย่างของพระเยซู เราก็จะพูดในเวลาที่เหมาะ พูดเรื่องที่เหมาะ และพูดอย่างกรุณาเสมอ ดังนั้น ขอให้เราทุกคนใช้คำพูดของเราเพื่อให้กำลังใจคนอื่น ๆ และทำให้พระยะโฮวามีความสุข